บันทึกทนายความ: สรุป 11 ข้อเท็จจริงในคดีมาตรา 110 หลังศาลยกฟ้อง

หลังจากเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหาในคดีของนักกิจกรรมและประชาชนรวม 5 ราย ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน, “ฟรานซิส” บุญเกื้อหนุน เป้าทอง, “ตัน” สุรนาถ แป้นประเสริฐ และประชาชนอีก 2 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาหลัก “ประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 จากกรณีข้อกล่าวหาว่าร่วมกันขัดขวางขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พร้อมด้วยเจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ

หนึ่งในทนายความที่ว่าความให้จำเลยในคดีนี้ได้บันทึกสรุป 11 ข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้น ทั้งที่มาที่ไปของคดี บางส่วนของข้อเท็จจริงที่ได้จากการเบิกความของพยานในศาล และข้อสังเกตจากการต่อสู้คดีเกือบสามปีนี้

1. วันเกิดเหตุ 14 ตุลาคม 2563 เป็นวันนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มราษฎร ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อจะเคลื่อนขบวนมายังทำเนียบรัฐบาล การประกาศนัดชุมนุมมีมาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2563 ในขณะที่หมายกำหนดการพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 โดยในหมายกำหนดการระบุจุดหมาย แต่ไม่ระบุเส้นทางเสด็จ  แต่ในวันดังกล่าวมีผู้ชุมนุมและประชาชนบางส่วนเดินทางไปรอผู้ชุมนุมหลักของกลุ่มราษฎรอยู่ก่อนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล อันเป็นเวลาเดียวกับที่ขบวนเสด็จเคลื่อนผ่าน โดยใช้เวลาภายใน 6 นาที ผ่านบริเวณที่มีผู้ชุมนุมไปได้ หากต่อมามีผู้ถูกกล่าวหาว่าขัดขวางขบวนเสด็จ ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี จำนวน 5 คน

.

.

2.   ในการสืบพยาน เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายเบิกความทำนองเดียวกันว่า เส้นทางเสด็จเป็นความลับ แต่ผู้ที่เคยมารับเสด็จจะรู้เองว่าต้องมารอรับเสด็จที่จุดใด  และปรากฏว่าแม้แต่พยานโจทก์ ประชาชนเสื้อเหลืองที่มาเบิกความว่าอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ไม่มีใครเลยที่เจาะจงเดินทางมารับเสด็จที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หากเป็นการเดินตามเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมาจากถนนราชดำเนิน หรือผ่านมาเพื่อไปยังเส้นทางอื่น หรือกำลังเดินทางกลับ จึงบังเอิญเจอกับเหตุการณ์พอดี

3.  วันเกิดเหตุ ก่อนเวลาเสด็จ บนสะพานชมัยมรุเชษฐ์มีแนวรถตู้ 12 คัน จอดขวางถนน (เพื่อสกัดกั้นขบวนผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ที่เดินขบวนมาจากทางถนนนางเลิ้งไม่ให้ไปถึงทำเนียบรัฐบาล) พอขบวนเสด็จใกล้มาถึงจึงเปิดช่องทางจราจรไว้หนึ่งช่องทาง ด้านผู้ชุมนุมและประชาชนที่มารอขบวนผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น มีประมาณ 50-100 คน จับกลุ่มอยู่ริมถนน แต่เมื่อ คฝ. นำรถตู้มาขวางถนน คนจึงลงไปบนพื้นผิวการจราจร ก่อนเริ่มมีการตั้งแนว คฝ. ทั้งในแบบหน้ากระดานคล้องแขน และแถวตอนลึกนับสิบแถว พร้อมกับมีการดึงประชาชนบางคนออกจากถนน ผู้ชุมนุมจึงเข้าใจว่าจะมีการสลายการชุมนุมและเข้าไปประจันหน้ากับตำรวจ

4.  รายงานสถานการณ์ในวันเกิดเหตุของ สน.ดุสิต ซึ่งอยู่ในพยานหลักฐานของโจทก์ ชี้ให้เห็นว่า ในวันเดียวกันนั้น เส้นทางบนถนนพิษณุโลกจะใช้เป็นเส้นทางเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ แต่ขบวนอื่นกลับหลีกเลี่ยงเส้นทางหลัก ไปใช้เส้นทางสำรอง ไม่ได้เสด็จผ่านบริเวณดังกล่าว ในขณะที่ก่อนขบวนเสด็จของพระราชินีจะมาถึงที่เกิดเหตุ สน.ดุสิต รายงานว่าเส้นทางดังกล่าวมีผู้ชุมนุมอยู่และเสนอให้ใช้เส้นทางสำรอง แต่ศูนย์วิทยุรามายังคงยืนยันให้ใช้เส้นทางเดิม

5.  แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายโจทก์ จะเบิกความว่าได้ตรวจเส้นทางและประจำจุดตามแผนการรักษาความปลอดภัย แต่ในที่เกิดเหตุไม่ปรากฏเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แต่งกายลักษณะมารับเสด็จ ไม่มีการให้สัญญาณ ไม่มีการประกาศ ในขณะที่ความรับรู้ของเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงาน แต่ละระดับปฏิบัติการนั้น ก็มีไม่เท่ากัน แม้แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนระดับปฏิบัติการรายหนึ่ง ยังเบิกความว่าทราบภารกิจล่วงหน้าก่อนขบวนเสด็จจะมาถึงไม่เกินห้านาที

.

ภาพจากข่าวสดอิงลิช

.

6.  เจ้าหน้าที่บางรายอ้างว่ามีการประกาศในพื้นที่ว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางเสด็จ แต่กลับไม่ปรากฏภาพยืนยันการประกาศให้ประชาชนทราบดังกล่าวอยู่ในพยานหลักฐานคลิปภาพเคลื่อนไหวของฝ่ายโจทก์ ซึ่งมีจำนวนหลายสิบคลิปเลยสักคลิปเดียว มีเพียงคลิปการประกาศของ “รถนำทาง” ที่แจ้งขอเส้นทางให้ “ขบวน” ผ่าน โดยไม่ได้บอกว่า “ขบวนเสด็จ” และไม่ได้บอกว่า “ใครเสด็จ”

7.  เมื่อรถนำทางออกมาจากแนวเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนแล้ว คฝ. ก็ตั้งแถวปิดทึบเช่นเดิม ทำให้มองไม่เห็นทัศนวิสัยด้านหลังแนวของเจ้าหน้าที่ ไม่ทราบว่ามีรถหรือขบวนตามหลังมาอีกหรือไม่ หากดูภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวจากพยานหลักฐานโจทก์ ในมุมมองของคนที่ยืนอยู่บนถนนเอง ก็มองไม่เห็นขบวนเสด็จด้านหลัง ยกเว้นภาพที่ถ่ายจากมุมสูงหรือด้านข้าง ซึ่งจำเลยสี่คนยืนอยู่ด้านหน้าประชิดตำรวจจึงมองไม่เห็นและเมื่อเห็นว่าเป็นขบวนเสด็จก็รีบถอยออกมา ส่วนจำเลยอีกรายยืนชูสามนิ้วอยู่ด้านข้าง ไม่ได้เข้าไปขัดขวางขบวนแต่อย่างใดเลย

8. ศาลอาญา พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คนเนื่องจากข้อเท็จจริงเรื่องความรับรู้ของขบวนเสด็จไม่เท่ากัน บางคนรู้ บางคนไม่รู้ และระบุว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่ยังเตรียมการไม่เรียบร้อย โดยมีรถตู้จอดขวาง ไม่มีการประกาศแจ้ง ไม่มีสัญญาณใดๆ แต่ขบวนเสด็จก็สามารถเคลื่อนผ่านไปได้ โดยไม่มีการเข้าไปประทุษร้ายไม่มีขว้างปาสิ่งของ จึงเห็นว่าจำเลยทุกคนไม่มีเจตนาไปขัดขวางขบวนเสด็จ ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 110 ประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี ซึ่งข้อหานี้มีโทษจำคุกขั้นต่ำ สูงถึง 16 ปี

9. ผู้กล่าวโทษคดีนี้มีบุคคลที่เป็นประชาชนทั่วไป คือ ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ซึ่งมีข้อมูลว่าเคยแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 ในคดี “แม่จ่านิว”, คดีของสมบัติ ทองย้อย ทั้งยังเคยเป็น กปปส. และเคยถูกเรียกรายงานตัวโดย คสช. ศรายุทธเบิกความระบุว่าตนอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ภาพและคลิปวิดีโอที่นำมาแจ้งความนั้น กลับปรากฏว่าไม่มีของตนเองแม้แต่คลิปเดียว แต่เป็นการรวบรวมมาจากสื่อ และอ้างว่าตัวเขาเองไม่ได้ถ่ายภาพใดๆ เลยในขณะเกิดเหตุ และไม่มีใครยืนยันได้ว่าเขาอยู่ในที่เกิดเหตุ

10. คดีนี้ เอกชัย หงส์กังวาน ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนนาน 18 วัน ในขณะที่สุรนาถ แป้นประเสริฐ ถูกขัง 12 วัน โดยเขาถูกนำตัวแยกไปที่เรือนจำบางขวางด้วย (แม้หมายขังของศาลอาญาจะระบุให้คุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ) โดยสุรนาถถูกนำไปขังอยู่ภายในห้องขังแคบๆ เพียงลำพังและมีกล้องวงจรปิดส่องเข้ามาในห้องขังตลอด 24 ชั่วโมง แม้ต่อมาจะได้ประกันตัว แต่สุรนาถและครอบครัวได้รับผลกระทบทางจิตใจและต้องเยียวยารักษานานนับปี คดีนี้เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าทำไมถึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา และต้องได้รับสิทธิในการประกันตัว   เพราะหากจำเลยถูกขังตั้งแต่ถูกกล่าวหาจนศาลชั้นต้นพิพากษา นับเป็นระยะเวลาเกือบสามปี กระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถเรียกคืนวันเวลาของผู้บริสุทธิ์ที่ถูกคุมขังได้ 

11.  คดีนี้ยังไม่จบ พนักงานอัยการโจทก์ยังสามารถอุทธรณ์คดีได้ ยังต้องรอติดตามว่าอัยการจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ กล่าวอ้างอย่างไร สังคมยังต้องติดตามจับตาคดีนี้ต่อไป

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลยกฟ้องทุกข้อหา คดี ม.110 “ขัดขวางขบวนเสด็จพระราชินี” ชี้ทุกฝ่ายเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน – ตร.จัดการเส้นทางเสด็จไม่เรียบร้อยเอง

บันทึกสืบพยานคดีประวัติศาสตร์ “ขัดขวางขบวนเสด็จพระราชินี” ม.110 สู่วันฟังคำพิพากษา

เปิดคำฟ้องคดี ม.110 “ประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี” ก่อนศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัว 5 จำเลย

.

X