บันทึกสืบพยานคดีประวัติศาสตร์ “ขัดขวางขบวนเสด็จพระราชินี” ม.110 สู่วันฟังคำพิพากษา

วันที่ 28 มิ.ย. 2566 เวลา 9.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมและประชาชนรวม 5 ราย ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน, บุญเกื้อหนุน เป้าทอง, สุรนาถ แป้นประเสริฐ และประชาชนอีก 2 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110, ข้อหามั่วสุมกันโดยใช้กำลังประทุษร้ายทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, กีดขวางทางสาธารณะ และกีดขวางการจราจร

คดีนี้มี ศรายุทธ สังวาลย์ทอง และ พ.ต.ท.พิทักษ์ ลาดล่าย เป็นผู้กล่าวหา มูลเหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ของ “คณะราษฎร63” ราว 17.00 น. ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหลักกำลังเคลื่อนขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล บริเวณถนนพิษณุโลก ด้านหน้าของทำเนียบรัฐบาล มีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันจำนวนหนึ่งเพื่อรอคอยขบวนใหญ่ที่กำลังเดินทางมา ได้เกิดเหตุที่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ผ่านเข้ามาในที่ชุมนุม ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามากั้นแนวระหว่างผู้ชุมนุมและรถขบวนเสด็จ ก่อนขบวนจะผ่านไปได้ แต่ภายหลังมีผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์นี้จำนวน 5 คน

คดีนี้หลังจากอัยการสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 ต่อมาศาลอาญาได้นัดสืบพยานรวมทั้งหมด 16 นัด แยกเป็นพยานโจทก์ 13 นัด และพยานจำเลย 3 นัด ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยภาพรวม ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวนทั้งสิ้น 22 ปาก แยกเป็นผู้กล่าวหา 2 ปาก, เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายต่างๆ จาก สน.ดุสิต ท้องที่เกิดเหตุ จำนวน 8 ปาก, เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน 4 ปาก, เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน. หรือหน่วยอื่นๆ 4 ปาก, บุคคลทั่วไป/สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อีกรวม 4 ปาก

ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 7 ปาก นอกจากจำเลยทั้งห้าแล้ว ยังมีอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ที่ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายในสภาเรื่องปัญหาจากเหตุการณ์ขบวนเสด็จครั้งนี้ และยังนำสื่อมวลชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุเข้าเบิกความเป็นพยานด้วย

ในการต่อสู้คดี ฝ่ายโจทก์พยายามกล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้า กับคนอื่นๆ ได้พยายามขัดขวางขบวนเสด็จ โดยลงไปบนพื้นผิวจราจรบนถนนพิษณุโลก จนถึงเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ที่กำหนดใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา ไปทรงบำเพ็ญกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสาราม 

การขัดขวางขบวนดังกล่าวมี จำเลยที่ 1 (เอกชัย) จำเลยที่ 2 (บุญเกื้อหนุน) และจำเลยที่ 5 ยืนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งมีจำเลยที่ 3 (สุรนาถ) และ จำเลยที่ 4 รวมอยู่ด้วย ทั้งหมดร่วมกันใช้กำลังผลักดันแถวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน ซึ่งตั้งแถวปิดหน้ารถยนต์พระที่นั่ง โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 3 ได้สั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุมนั่งลงบนถนน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถนำขบวนเสด็จราชดำเนินเคลื่อนที่ไปข้างหน้าต่อได้ จำเลยที่ 2 มีการใช้โทรโข่งในการยุยงผู้ชุมนุม ส่วนจำเลยที่ 1, 4 และ 5 ได้ชูสัญลักษณ์สามนิ้วแสดงสัญลักษณ์ใส่ขบวนเสด็จ

ขณะที่ฝ่ายจำเลย ต่อสู้คดีว่าผู้ชุมนุมกลุ่มย่อยดังกล่าว ไม่มีใครทราบว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านในเส้นทางดังกล่าวมาก่อน แม้แต่ผู้สื่อข่าวที่รายงานสถานการณ์การชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการ ไม่มีเจ้าหน้าที่แต่งกายหรือเตรียมดำเนินการในลักษณะที่จะแสดงให้เห็นว่าจะมีขบวนเสด็จเหมือนที่เห็นได้โดยทั่วไป ทั้งเหตุการณ์ผลักดันกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าสลายการชุมนุมในพื้นที่นั้น ทำให้หลายคนพยายามเข้าผลักดันกับเจ้าหน้าที่ ไม่ได้มีการประทุษร้ายทั้งต่อขบวนเสด็จหรือเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด ทั้งขบวนเสด็จก็เคลื่อนผ่านไปได้ในเวลาไม่นาน

ฝ่ายจำเลยยังต่อสู้ว่าพื้นที่เกิดเหตุดังกล่าว ไม่ได้มีใครเป็นแกนนำการชุมนุม เพราะเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่มารอกลุ่มผู้ชุมนุมใหญ่ที่ยังเดินทางมาไม่ถึง จำเลยทั้งห้าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมหรือแกนนำ ทั้งยังไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่ได้มีการตระเตรียมใดๆ มาขัดขวางขบวนเสด็จ เพียงมาอยู่ในที่ชุมนุมเดียวกัน

ในรายละเอียดพฤติการณ์ของจำเลย กรณีการกางแขนในที่เกิดเหตุของจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นการกระทำเพื่อแสดงว่าไม่มีอาวุธ  และตั้งเป็นแนวรอรับการปะทะจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน กรณีจำเลยที่ 2 ใช้โทรโข่งในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ใช่การยุยงผู้ชุมนุม แต่เมื่อทราบว่าเป็นขบวนเสด็จ จึงพยายามแจ้งให้ผู้ชุมนุมถอยออกมา ส่วนการที่จำเลยที่ 3 กล่าวให้ผู้ชุมนุมนั่งลง เป็นเพราะต้องการลดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่เป็นการพยายามขัดขวางเส้นทางเสด็จ ขณะที่รถตู้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้ปิดกั้นเส้นทางของผู้ชุมนุม กลับมีส่วนในการทำให้ขบวนเสด็จเคลื่อนไปได้ลำบากเองด้วย

นอกจากนั้น การสืบพยานยังชี้ให้เห็น “ความไม่ปกติ” ในเหตุการณ์ดังกล่าว หลังการชุมนุมของกลุ่มราษฎรมีการประกาศล่วงหน้าถึงเกือบหนึ่งเดือน ในวันเกิดเหตุ ยังมีขบวนเสด็จไปถวายผ้าพระกฐินของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้งในหลวงรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งจากปากคำของตำรวจ ขบวนเสด็จหลายขบวนได้เปลี่ยนแปลงเส้นทางเสด็จ แต่ไม่แน่ชัดว่าเหตุใดขบวนเสด็จของพระราชินียังใช้เส้นทางที่ผ่านไปยังผู้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลระหว่างสืบพยานว่าทั้งผู้กำกับและรองผู้กำกับ สน.ดุสิต ได้รายงานผ่านทางวิทยุสื่อสารว่าไม่สามารถใช้ถนนพิษณุโลกเป็นเส้นทางเสด็จได้ แต่กลับไม่มีการเปลี่ยนเส้นทาง ทั้งการเตรียมการในการดูแลขบวนเสด็จของเจ้าหน้าที่ในที่เกิดเหตุก็เป็นไปอย่างผิดปกติ

ต่อมาเหตุการณ์นี้ ยังถูกรัฐบาลอ้างเป็นเหตุส่วนหนึ่งในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเช้าวันที่ 15 ต.ค. 2563 ด้วย ทั้งการขอออกหมายจับจำเลยที่ 1 และ 2 ของตำรวจยังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในวันถัดมาทันที หลังจากมีอดีตการ์ด กปปส. ไปแจ้งความในช่วงกลางดึกของคืนเกิดเหตุ ทั้งที่เป็นคดีสำคัญ มีรายละเอียดและพยานหลักฐานจำนวนมาก

คดีนี้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าความให้จำเลยที่ 2-3  ส่วนจำเลยรายอื่นๆ มีทีมทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่มีการสืบพยานจำนวนมาก มีอัตราโทษรุนแรง และแทบจะไม่เคยพบเคยเห็นคดีลักษณะนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชนจึงรายงานบันทึกสังเกตการณ์การสืบพยานในคดีนี้โดยละเอียด เพื่อเป็นบทบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากมุมมองของพยานปากต่างๆ

.

.

พยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.ท.พิทักษ์ ลาดล่าย ผู้กล่าวหา-ตำรวจ สน.ดุสิต

พยานเป็นตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ แต่ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่เป็นรองผู้กำกับการสืบสวน สน.ดุสิต  เกี่ยวกับคดี พยานทราบจากการข่าวว่าในวันเกิดเหตุ วันที่ 14 ต.ค. 2563 จะมีการชุมนุมของคณะราษฎร 63 โดยเป็นการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อได้แก่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การชุมนุมนี้เริ่มจัดในเวลาสายของวันดังกล่าวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบร่วมกันระหว่าง สน.สำราญราษฎร์ และ สน.ดุสิต

พยานเบิกความว่าผู้กำกับการ สน.ดุสิต ได้มีคำสั่งให้พยาน ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวน ดำเนินการหาข่าว บันทึกภาพและเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งพยานรับผิดชอบพื้นที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล และในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต ยังมีภารกิจถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จด้วย

เกี่ยวกับขบวนเสด็จ พยานเบิกความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับหมายกำหนดการมาก่อนล่วงหน้า โดยหมายขบวนเสด็จของพระราชินีมาจากกองบัญชาการตำรวจราชองครักษ์ ลงวันที่ 13 ต.ค. 2563 ซึ่งในหมายได้ระบุเส้นทางเสด็จไว้ ทั้งระบุด้วยว่าพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ จะเสด็จไปวัดราชโอรสารามและวัดอรุณราชวราราม โดยออกจากพระราชวังสวนอัมพร ผ่านลานพระราชวังดุสิต ออกถนนพิษณุโลก เพื่อไปขึ้นทางด่วนยมราช

หลังจากได้รับหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต ก็ออกแผนรองรับขบวนเสด็จ ซึ่งอยู่ในคำสั่ง สน.ดุสิต ลงวันที่ 13 ต.ค. 2563 การออกแผนถวายการรักษาความปลอดภัยเป็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกท้องที่ที่มีขบวนเสด็จผ่าน ซึ่งในแผนการถวายความปลอดภัยแผนใหญ่จะประกอบด้วยแผนของ สน.ดุสิต, สน.นางเลิ้ง, สน.พญาไท และกองบังคับการตำรวจจราจรที่ดูแลทางด่วน

ทั้งนี้ ภารกิจหลักของพยานคือการถวายอารักขาและดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีหน้าที่สืบสวน ติดตาม เฝ้าระวังกลุ่มผู้ชุมนุม พยานไปปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ในช่วงเช้า ทำหน้าที่ประจำอยู่ “จุดสูงข่ม” ซึ่งเป็นจุดที่สูงภายในอาคารของสำนักพระราชวัง สนามเสือป่า

ระหว่างปฏิบัติงาน พยานได้ตรวจตราโดยสายตา และรับรายงานความเคลื่อนไหวของขบวนเสด็จผ่านทางวิทยุ โดยตามแผนการแล้วขบวนเสด็จจะออกจากพระราชวังสวนอัมพรฯ เวลา 17:00 น. โดยพยานเบิกความว่าพบทั้งประชาชนผู้รับเสด็จและกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ พยานระบุว่าสามารถแยกออกได้ว่ากลุ่มใดเป็นประชาชนผู้รับเสด็จและกลุ่มใดเป็นผู้ชุมนุม เพราะความแตกต่างที่ว่าผู้รับเสด็จจะใส่เสื้อสีเหลือง

ต่อมาผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากสะพานผ่านฟ้ามาทางสนามม้านางเลิ้งเก่า  เข้ามาถึงพื้นที่หน้าทำเนียบบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ โดยพยานระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมาถึงที่ตรงนั้นก่อนเกิดเหตุเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ยืนกระจายกันอยู่ในบริเวณ 2 ฝั่ง และในบริเวณนั้นมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนยืนประจำอยู่ เพื่อทำหน้าที่คอยสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลได้

ในเวลาต่อมาได้รับแจ้งว่าผู้ชุมนุมพยายามเข้าขัดขวางขบวนเสด็จ ซึ่งในวันนั้นมีการสั่งการให้ดูแลขบวนเสด็จ คือระวังและดูแลไม่ให้มีคน สัตว์ สิ่งของ เข้าไปในพื้นที่ บริเวณ หรือ บนพื้นผิวจราจรที่ใช้เป็นเส้นทางเสด็จ โดยหน่วยงานที่ทำให้หน้าที่ป้องกันมีหลายหน่วย ทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ฝ่ายปราบปราม และฝ่ายสืบสวน จากทั้ง สน.ดุสิต และนครบาล

เกี่ยวกับเรื่องการใช้เส้นทางเสด็จ แม้ในวันดังกล่าวจะมีการชุมนุม แต่ยังคงไม่มีการประกาศเปลี่ยนแปลงเส้นทางขบวนเสด็จ คือใช้เส้นทางเดิมที่ออกจากสวนอัมพร ผ่านลานพระบรมรูปทรงม้า เลี้ยวซ้ายเข้าแยกมุสิกวัน ก่อนเข้าถนนพิษณุโลกเพื่อขึ้นสู่ทางด่วนยมราช

ในระหว่างที่ขบวนเสด็จกำลังจะแล่นผ่านสะพานชมัยมรุเชฐ พยานได้รับแจ้งว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งลงมาที่พื้นผิวถนนเพื่อขวางขบวนไว้ แต่อย่างไรก็ดี พยานเบิกความว่าขบวนเสด็จสามารถแล่นผ่านสะพานไปได้ขึ้นสู่ทางด่วนยมราชได้ โดยพยานได้ประจำการอยู่ที่จุดสูงข่มตลอดเวลา จนกระทั่งขบวนเสด็จกลับมาถึงเมื่อเวลาประมาณ 19:00 น.

เกี่ยวกับการแจ้งความ พยานเบิกความว่าในคืนวันที่ 14 ต.ค. 2563 ได้รับแจ้งจากผู้กำกับ สน.ดุสิต ว่ามีประชาชนคือ นายวราวุธ สวาย เข้ามาแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ชุมนุมซึ่งขัดขวางขบวนเสด็จราชินี โดยให้ดำเนินคดีกับ เอกชัย หงส์กังวาน กับพวก ในข้อหาร่วมกันกระทำการประทุษร้ายต่อเสรีภาพของราชินี ซึ่งผู้กำกับได้สั่งให้พยานดำเนินการสืบสวนเพื่อหาข้อมูลและหลักฐาน

พยานเบิกความว่า ร.ต.อ. ธราดล วงศ์เจริญยศ ซึ่งเป็นรองสารวัตรสืบสวน คือผู้รวบรวมภาพถ่ายและจัดทำรายงานเอกสารรายงานการสืบสวนส่งให้ผู้กำกับ โดยในรายงานดังกล่าวมีทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวของผู้กระทำความผิดทั้ง 5 จากนั้นฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 5

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน   

พยานทราบว่า หลังการรัฐประหาร 2557 นิสิต นักศึกษา และประชาชนมีการชุมนุมหลายครั้ง หลายเหตุการณ์ มีการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง เช่น การกินแมคโดนัลด์ การชู 3 นิ้ว และการยืนประท้วง แต่ไม่ทราบว่า ศาลมองว่าการชู 3 นิ้วเป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมาย และไม่ทราบด้วยว่าการเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 3 ข้อ เป็นการเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญหรือไหม

พยานไม่ทราบเรื่องที่มีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ดูแลขบวนเสด็จและควบคุมความสงบเรียบร้อยในโลกออนไลน์ รวมถึงเรื่องการระดมกำลังพลจากต่างจังหวัด เข้ามาควบคุมดูแลสถานการณ์ชุมนุม แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมีการตรวจค้นกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ไม่พบว่ามีสิ่งผิดกฎหมายหรืออาวุธใดๆ

พยานเบิกความในส่วนหมายกำหนดการขบวนเสด็จที่ส่งมาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 นั้น ระบุที่หัวเอกสารว่า “ลับมาก” ซึ่งหมายความเป็นเอกสารภายในที่เฉพาะผู้ปฏิบัติงานเท่านั้นที่สามารถรับรู้ได้ มิใช่บุคคลภายนอก และรับว่าผู้ชุมนุมอาจทราบได้ว่ามีหมายขบวนเสด็จ แต่ขณะเดียวกันพยานก็ระบุว่าผู้ชุมนุมอาจทราบได้เพราะมีการแจ้งประชาสัมพันธ์เรื่องการถวายผ้าพระกฐินในทุกช่องทางอยู่แล้ว แม้จะไม่มีการประชาสัมพันธ์เรื่องเส้นทางเสด็จก็ตาม

ในจุดที่เกิดเหตุมีการตั้งจุดสกัดกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย โดยใช้รถตู้ปิดช่องทางฝั่งซ้ายของถนนบนสะพานชมัยมรุเชฐ แต่พยานไม่ได้บันทึกเทปหรือวิดีโอเหตุการณ์ในช่วงที่เจ้าหน้าที่รัฐประกาศประชาสัมพันธ์ว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านเอาไว้

โดยส่วนตัวพยานในฐานะผู้ทำหน้าที่รับขบวนเสด็จค่อนข้างบ่อย พยานทราบว่าจะมีรถตำรวจนำขบวนก่อนที่รถพระที่นั่งจะมาถึง โดยรถนำขบวนจะมาก่อนประมาณ 2-3 นาที

อย่างไรก็ดี พยานยอมรับว่าในขณะเกิดเหตุการณ์ไม่มีเจ้าหน้าที่องครักษ์อยู่ในสถานที่ เพราะมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานทำหน้าที่อยู่ตรงนั้น และเท่าที่พยานทราบคือไม่มีตำรวจจากสำนักพระราชวังในบริเวณดังกล่าว และสำหรับหน้าที่ของพยานที่ต้องควบคุมดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม พบว่าไม่มีการใช้เครื่องปั่นไฟหรือเครื่องขยายเสียงในที่ดังกล่าว

เกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุ พยานเบิกความว่าจำเลยยืนอยู่ในระดับเดียวกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่อยู่ด้านหน้า แต่พยานก็เชื่อว่าจำเลยสามารถมองเห็นด้านหลังของตำรวจได้ เพราะจำเลยตัวสูง นอกจากนี้ในวิดีโอคลิปที่พยานได้รับจากลูกน้อง ปรากฏเสียงของจำเลยที่ 1 พูดถ้อยคำทำนองว่า “ให้มึงตาย ตามพ่อมึงไป” ซึ่งจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งอยู่ในห้องพิจารณาได้ลุกขึ้นทักท้วงว่าตนเองไม่ได้พูดถ้อยคำดังกล่าว

ต่อมาทนายถามย้ำว่าพยานได้รับคลิปวิดีโอที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 พูดถ้อยคำดังกล่าวจริงหรือไม่ และได้ส่งต่อให้พนักงานอัยการนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดีหรือไม่ พยานตอบว่าส่งและระบุเพิ่มเติมว่าพยานทราบเรื่องถ้อยคำของจำเลยที่ 1 จากภาพข่าวของสื่อต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อไล่ดูพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีวิดีโอดังกล่าวในบัญชีพยานหลักฐาน

ทนายถามว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ใช้โทรโข่งหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มี แต่ใช้เสียงตะโกนสั่งพรรคพวก ทั้งนี้พยานไม่ทราบด้วยว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวบีบีซีว่า พวกเขาไม่ทราบว่าในวันนั้นจะมีขบวนเสด็จ แต่ทราบข่าวจากสำนักข่าวบางกอกอินไซด์ว่าในวันนั้นจะมีกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งทราบด้วยว่าผู้ชุมนุมจะใช้เส้นทางใดบ้าง

พยานเบิกความว่าไม่ทราบว่าจำเลยทั้ง 5 มีคดีอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากคดีการเมืองหรือไม่ และไม่ทราบว่าจำเลยทั้งหมดไม่ได้เป็นคนรู้จักกันมาก่อน

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

พยานทราบเรื่องการประกาศชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 และอธิบายต่อว่าเหตุที่เลือกประกาศชุมนุมในวันดังกล่าว เพราะต้องการเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์วันที่ 14 ตุลา ซึ่งพยานเรียกว่าเป็นวันมหาวิปโยค แต่ศาลไม่ให้เบิกความในส่วนนี้ต่อเพราะไม่เกี่ยวข้องกับคดี

พยานเบิกความเกี่ยวกับการทำงานถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จของพยาน โดยตนเองทำหน้าที่ดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และทราบข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการถวายความปลอดภัยว่ามีระเบียบเรื่องการดูแลรักษาพระบรมวงศานุวงศ์ ได้แก่ พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560, ระเบียบราชองครักษ์ว่าด้วยการถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2558, ระเบียบการรักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ ราชินี และรัชทายาทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2548 และแผนรักษาความปลอดภัยของแต่ละ สน. ในพื้นที่ที่จะมีขบวนเสด็จผ่าน

ในระเบียบราชองครักษ์ 2558 ข้อ 19 กำหนดว่าผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้มีหน้าที่จัดยานพาหนะร่วมกับสมุหราชองครักษ์ จากนั้นพยานก็ขยายความว่าแผนการรักษาความปลอดภัยนั้นมีหลายระดับ ได้แก่ แผนระดับของ สน. ในท้องที่ แผนระดับกองบังคับการตำรวจนครบาล1 และแผนระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาล แล้วอธิบายด้วยว่าการบังคับใช้แผนเหล่านี้จะบังคับเรียงตามลำดับ คือ แผน สน. อยู่ใต้ แผนของกองบังคับการ ซึ่งจะอยู่ใต้แผนของกองบัญชาการอีกทีหนึ่ง

เกี่ยวกับคดีนี้ ทนายให้พยานดูเอกสารแผนการถวายความปลอดภัยของกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีข้อกำหนด 13 ข้อ ก่อนถามว่าตามแผนนี้มีการกำหนดเส้นทางสำรองไว้แล้ว โดยไม่ต้องผ่านถนนพิษณุโลกหรือไม่ พยานเบิกความว่าตามแผนรักษาความปลอดภัย ระบุว่ากรณีเกิดเหตุฉุกเฉินกับขบวนเสด็จ ผู้กำกับการและหัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่มีหน้าที่ถวายการรักษาความปลอดภัยและแสวงหาเส้นทางสำรอง  แต่จากประสบการณ์แล้ว พยานเคยเจอแต่การถวายการรักษาความปลอดภัยโดยไม่มีหมายแจ้ง ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นที่กลายเป็นคดีนี้

ต่อมาพยานกล่าวถึงวิธีการสื่อสารของเจ้าหน้าที่รัฐภายในวันดังกล่าวว่าใช้วิธีการสื่อสารผ่านเครือข่ายวิทยุ โดยมี 2 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์รามาและศูนย์ผ่านฟ้า สำหรับพยานแล้วการสื่อสารจะมีฐานะเป็นลูกข่ายของศูนย์รามา หากแต่ในช่วงเวลาที่มีขบวนเสด็จจะใช้ศูนย์ผ่านฟ้าเป็นหลัก

ทั้งนี้ ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 มีขบวนเสด็จหลายขบวนในวันเดียวกันและปรากฏว่ามีบางขบวนที่เลือกเปลี่ยนเส้นทาง คือขบวนของสมเด็จพระเทพฯ และองค์ภาฯ ซึ่งพยานทราบเพียงแต่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง แต่ไม่ทราบถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลง

สำหรับเรื่องการจัดการกำลังคน พยานชี้ว่าหน้าที่ดังกล่าวเป็นของผู้กำกับ สน.ดุสิต และในวันนั้นก็มีกำลังพลมาจากหลายหน่วยงาน และในหมายที่ระบุเพียงว่าต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดตั้งแต่พระราชวังสวนอัมพรถึงสะพานชมัยมรุเชฐนั้น พยานไม่ทราบว่าจะต้องใช้กำลังคนทั้งหมดเท่าไร

อย่างไรก็ดี พยานยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าในวันนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมเพียงแต่ยืนอยู่บนพื้นผิวจราจร ส่วนเรื่องพยายามขัดขวางขบวนเสด็จหรือไม่นั้น เป็นความเห็นของพยานเองที่ว่าผู้ชุมนุมพยายามขัดขวาง และพยานยังไม่ทราบด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สน.ดุสิต ประชาสัมพันธ์กับประชาชนว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านในวัน/เวลานั้นหรือไม่

พยานยังยอมรับว่าขบวนเสด็จของพระราชินีสามารถเคลื่อนผ่านสะพานชมัยมรุเชฐไปได้ด้วยดี ทั้งพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ และทางฝ่ายผู้ชุมนุมเองก็ไม่ตั้งเต้นท์ รถเครื่องเสียง หรือสิ่งของใดๆ ในที่เกิดเหตุ

ต่อมาในวันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04:00 น. รัฐบาลมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยมีเหตุการณ์ขัดขวางขบวนเสด็จเป็นหนึ่งในสาเหตุ ซึ่งพยานก็ทราบเรื่องนี้ หากแต่พยานไม่ทราบว่าภายหลังเหตุการณ์แล้ว จำเลยทั้ง 5 คนไปไหน หรือทำอะไร สำหรับเรื่องการโยกย้ายนายตำรวจ 3 นาย ภายหลังเหตุการณ์นี้ พยานทราบเรื่องการย้าย แต่ไม่ทราบว่าย้ายเพราะเหตุใด และไม่ทราบว่ามีการสอบสวนหรือมีรายงานการสอบสวนเกี่ยวกับการย้ายนี้หรือไม่

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

ในการถวายการรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จจะมีการกำหนดเส้นทางเสด็จไว้ 2 เส้น ได้แก่ เส้นทางหลัก และเส้นทางสำรอง ซึ่งเส้นทางสำรองจะใช้ในกรณีที่เส้นทางหลักใช้ไม่ได้ หมายถึง มีการจราจรติดขัด มีสิ่งกีดขวาง มีการวางระเบิด หรือเกิดเหตุอันตราย   

ในวันดังกล่าว พยานตอบว่าตนไม่ได้รับแจ้งเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดการเคลียร์เส้นทางถนนพิษณุโลกหรือไม่ รวมทั้งจำไม่ได้ด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้มีการจัดแถวเพื่อเตรียมรับขบวนเสด็จด้วยหรือไม่

สำหรับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน พยานไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่กี่แถว และไม่ทราบด้วยว่ามีการใช้กำลังผลักดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมออกจากขบวนรถพระที่นั่ง รวมทั้งไม่ทราบด้วยว่ามีเหตุปะทะกันห่างจากรถพระที่นั่งเท่าไหร่ พยานไม่ทราบด้วยว่าในขณะที่เกิดเหตุมีประชาชนนั่งลงอยู่บนพื้นและถูกดันออกนอกบริเวณจนออกไปอยู่ที่ด้านข้างถนน นอกจากนี้พยานไม่ทราบด้วยว่าวิธีการนั่งลงของผู้ชุมนุมเป็นวิธีการลดความรุนแรง

พยานเบิกความต่อว่า ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 ใช้วาจาด่าทอหรือกล่าวคำหยาบคาย และจำไม่ได้ว่ามีคนเข้าถึงรถพระที่นั่งหรือไม่ แต่พยานยอมรับข้อเท็จจริงว่าไม่มีการขว้างปาสิ่งของใดๆ เข้าใส่ขบวนรถพระที่นั่ง

ในตอนท้าย พยานยอมรับว่าไม่มีข่าวหรือข้อมูลใดที่ระบุว่าจำเลยที่ 3 เป็นแกนนำหรือเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มคณะราษฎร 63 นอกจากนี้พยานไม่ทราบด้วยว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนทำงานในภาคประชาสังคม เป็นนักพัฒนาเอกชนด้านเด็ก

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานไม่รู้จักจำเลยที่ 4 เลยแม้กระทั่งในตอนสืบพยานนี้ และยอมรับด้วยว่าในเอกสารนั้น ไม่มีภาพหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 4 เลย และจากการสืบสวนหาข่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่ 19 ก.ย. จนถึง 14 ต.ค. 2563 พยานทราบข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคณะราษฎร 63 เพียงว่ามี พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และทนายความอีกคนหนึ่งซึ่งพยานจำชื่อไม่ได้ เป็นแกนนำ ส่วนจำเลยที่ 1 หรือเอกชัย หงส์กังวาน พยานจำได้เพราะเห็นข่าวการร่วมทำกิจกรรมการเมืองอยู่บ่อยครั้ง แต่ทั้งนี้ พยานไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นสมาชิกหรือแกนนำของกลุ่มราษฎร 63 หรือไม่

ในการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 4 เป็นแกนนำหรือไม่ และไม่ทราบว่าจำเลยที่ 4 เข้าร่วมการชุมนุมเมื่อไหร่ และเข้าร่วมเพราะเหตุใด จากการหาข่าว ทราบเพียงว่ามีการชุมนุมเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 3 ประการเท่านั้น ซึ่งในข้อเรียกร้องทั้งหมดไม่มีข้อใดระบุถึงการประทุษร้ายราชินี ทั้งนี้พยานเบิกความด้วยว่าถ้ามีการสืบทราบว่าจะมีการขัดขวางขบวนเสด็จ ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะมีการสื่อสารเป็นเอกสารกันภายใน เพื่อป้องกันเหตุและถวายการรักษาความปลอดภัย

เกี่ยวกับการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. 2563 พยานเบิกความว่ามีประชาชนไปร่วมการชุมนุมที่สนามหลวงเป็นจำนวนกว่าหนึ่งหมื่นคน โดยในการชุมนุมนั้นก็มีข้อเรียกร้องทั้ง 3 ประการ ทั้งยังมีการประกาศว่าจะมีการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ด้วย แต่พยานจำไม่ได้ว่าภายหลังการประกาศแล้ว ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมการรับมืออย่างไร แต่พยานระบุว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนซึ่งเกณฑ์มาจากหน่วยต่าง ๆ นั้นมีภารกิจหลักคือการควบคุมไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลได้

ในตอนท้ายพยานเบิกความว่าจากพยานหลักฐาน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 พกพาอาวุธหรือสิ่งของผิดกฎหมายเข้าร่วมการชุมนุม และไม่ปรากฏด้วยว่าจำเลยที่ 4 ได้ขว้างปาสิ่งของหรือด่าทอใส่รถพระที่นั่งของราชินี

ตอบอัยการถามติง

พยานเบิกความว่าเรื่องภาพของจำเลยที่ 1 และ 2 ที่ปรากฏว่าขวางเส้นทางขบวนเสด็จและใช้โทรโข่งพูดจาทำนองว่า “ถ้าจะให้ผ่านก็ให้ข้ามศพ” และ “เคยฟังเสียงประชาชนบ้างไหม” นั้นพยานไม่ได้รับแจ้ง แต่มีพยานปากอื่นคือ พนักงานสอบสวนรับรู้เรื่องดังกล่าว ซึ่งจะได้มาเบิกความต่อจากนี้ แล้วตอบเรื่องพยานหลักฐานที่ชี้ว่าจำเลยทำการขัดขวางขบวนเสด็จว่ามีภาพเคลื่อนไหวจากกล้อง CCTV

นอกจากนี้ยังแสดงความเห็นด้วยว่าจำเลยน่าจะรับรู้ได้จากสายตาอยู่แล้วว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านมาในเวลานั้น และสำหรับเรื่องเอกสาร พยานเบิกความว่ามีภาพของจำเลยที่ 1 และ 2 ออกมาขวางหน้าขบวนเสด็จ และภาพต่อมาก็มีจำเลยคนอื่นๆ ออกมาร่วมด้วยจนครบทั้ง 5 คน

ส่วนเรื่องการโยกย้ายนายตำรวจทั้งสาม พยานเบิกความว่ายังไม่มีการยืนยันว่าเป็นการโยกย้ายที่เนื่องมาจากการกระทำความผิดหรือไม่

.

.

พยานโจทก์ปากที่ 2 พ.ต.อ.วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์ ผู้กำกับการ สน.ดุสิต

พยานรับข้าราชการเป็นตำรวจสังกัดกองบังคับการนครบาล 6 แต่ขณะเกิดเหตุพยานอยู่ที่ สน.ดุสิต และทราบข่าวการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 63 จากสื่อออนไลน์ โดยสถานที่จัดการชุมนุมคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่รับผิดชอบ

พยานทราบเรื่องขบวนเสด็จจากนายตำรวจราชสำนักผ่านทางแฟกซ์ ซึ่งเอกสารที่ส่งมาเป็นหมายขบวนเสด็จที่พยานได้รับเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 เวลา 18:00 น. และแฟกซ์นี้มีการส่งไปหลายพื้นที่ที่ขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่าน ได้แก่ สน.นางเลิ้ง, สน.ดุสิต และสน.พญาไท

ในส่วนของ สน.ดุสิต มีเจ้าพนักงานวิทยุของ สน. เป็นผู้รับ โดยรายละเอียดของเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องเส้นทางเสด็จของพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ ซึ่งเป็นตัวแทนพระมหากษัตริย์ไปถวายกฐินที่วัดราชโอรสารามและวัดอรุณฯ

หลังจากได้รับหมายเสด็จดังกล่าวแล้ว พยานก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำแผน และพยานได้ออกเป็นคำสั่งลงวันที่ 13 ต.ค. 2563 โดยได้ระบุว่าใครทำหน้าที่ใด และประจำอยู่จุดใดบ้าง ซึ่งในแผนของพยานระบุเวลาปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน.ดุสิต ไว้เมื่อเวลา 15:00 น. ทั้งนี้ เมื่อพยานออกแผนแล้วก็นำส่งต่อไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และส่งไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อจัดทำเป็นแผนรวมใหญ่ต่อไป

ในวันที่เกิดเหตุ หลังจากที่ปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต แล้ว เวลาประมาณ 15:00 น. พยานก็ออกตรวจ เจ้าหน้าที่ซึ่งประจำอยู่ตามแต่ละจุดโดยตรวจตราเสร็จเมื่อเวลา 15:35 น. พยานเบิกความว่าเห็นประชาชนเสื้อเหลืองมารอรับเสด็จที่บริเวณฟุตบาทถนนพิษณุโลกและถนนราชดำเนิน แต่ในช่วงเวลานั้นไม่เห็นว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่

ต่อมาเมื่อเวลา 16:00 น. ฝ่ายสืบสวนแจ้งต่อพยานว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนเคลื่อนตัวมาทำเนียบฯ โดยได้รับแจ้งว่ามีการส่งตัวแทนมา ยังไม่ใช่เป็นการเคลื่อนมาทั้งขบวน เมื่อพยานทราบ ก็แจ้งให้ตำรวจที่ประจำอยู่ตามจุดต่างๆ  จัดกำลังดูแลความสงบเรียบร้อยและป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวาย ส่วนเรื่องการสื่อสารเกี่ยวกับขบวนเสด็จนั้น พยานฟังผ่านวิทยุเครือข่ายรามาเป็นสำคัญ

จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 16:00 น. เศษ พ.ต.ท.พสิษฐ์ ซึ่งเป็นลูกน้องของพยานได้รายงานเรื่องเส้นทางขบวนเสด็จเข้ามา โดยแจ้งว่าเส้นทางเสด็จในเขตพื้นที่ของพยานยังเรียบร้อยดี ยังไม่มีผู้ชุมนุมอยู่บนพื้นผิวจราจรที่จะใช้เป็นเส้นทาง โดยในขณะนั้น พยานประจำจุดหน้าสวนอัมพรฯ และคอยฟังวิทยุรายงาน

ในเวลาต่อมาพยานได้รับรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้ามาดูแลความเรียบร้อยในบริเวณขบวนเสด็จ ขณะเดียวกันก็มีการรายงานว่าและเมื่อเวลา 17:00 น. ขบวนเสด็จเริ่มเคลื่อนตัวออกจากพระที่นั่งสวนอัมพรฯ และในตอนนั้นพยานก็ได้รับรายงานด้วยว่ายังคงยืนยันเส้นทางเสด็จเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง

ต่อมาเวลาประมาณ 17:00 น. เศษๆ พยานเห็นขบวนเสด็จเคลื่อนที่ผ่านตามเส้นทาง หลังจากนั้นก็ได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐและมีบางส่วนอยู่บนสะพานด้วย

ต่อมาเมื่อพยานได้รับแจ้งจากรองผู้กำกับการสอบสวน (พยานโจทก์ปากที่ 1) ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่กลางสะพานชมัยมรุเชฐ จึงสั่งการเจ้าหน้าที่ให้ดูแลขบวนเสด็จให้สามารถเคลื่อนที่ผ่านไปได้ เพราะใกล้เวลาต้องรับขบวนเสด็จของในหลวงซึ่งกลับมาจากวัดพระแก้วแล้ว ซึ่งพยานได้สั่งการให้ พ.ต.ท.พิทักษ์ ลาดล่าย เก็บหลักฐานเหตุการณ์ไว้

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานไม่ทราบว่าสาเหตุของการชุมนุมเนื่องมาจากการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557 หรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบด้วยว่าในช่วงก่อนเกิดเหตุ รอง ผบ.ตร. ได้ประกาศแจ้งรวบรวมกำลังคนเพื่อจัดการดูแลการชุมนุม โดยพยานเบิกความว่าเพียงแค่ทราบจากสื่อออนไลน์โดยทั่วไปว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563

เกี่ยวกับเรื่องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการชู 3 นิ้ว พยานทราบว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในแล้วการชุมนุมอื่นๆ มิใช่เพิ่งมีในเหตุวันที่ 14 ต.ค. 2563 นี้ แต่พยานไม่ทราบว่าในต่างประเทศก็มีการชู 3 นิ้วด้วย อย่างไรก็ตาม พยานระบุว่า สน.ดุสิต ไม่เคยมีการดำเนินคดีกับผู้ที่ชู 3 นิ้ว ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองมาก่อน

ทั้งนี้ พยานไม่ทราบเส้นทางของกลุ่มผู้ชุมนุม และไม่ทราบด้วยว่าผู้ชุมนุมได้ประกาศผ่านสื่อออนไลน์แล้ว สำหรับเส้นทางเสด็จนั้น แม้ไม่มีการประกาศประชาสัมพันธ์ แต่ประชาชนก็รู้กันอยู่แล้วเพราะมีการเตรียมตัวรอรับเสด็จ และในตลอดเส้นทางเสด็จก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมการถวายความปลอดภัยอยู่

นอกจากนี้พยานยังระบุว่าในการเสด็จแต่ละครั้งจะมีแผนเส้นทางทั้งทางหลักและทางสำรอง โดยบอกว่าแผนถวายการอารักขานั้น มีเพียงผู้ทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงได้ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่พยานไม่ทราบว่าต้องประกาศเส้นทางเสด็จในแต่ละครั้งลงราชกิจจานุเบกษาด้วยหรือไม่

ตามรายงานการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าในขณะที่ขบวนเสด็จกำลังเคลื่อนผ่าน มีการใช้คำพูดหยาบคายและคำด่าทอจากทางฝั่งผู้ชุมนุม แต่ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเป็นจำเลยคนใดคนหนึ่งในคดีนี้หรือไม่ โดยในวันดังกล่าวไม่มีการตั้งเวทีปราศรัยหรือทำกิจกรรมการเมืองใดๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ดุสิต

ในตอนท้ายพยานเบิกความว่าตามปกติแล้ว ในช่วงก่อนขบวนเสด็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องยืนประจำจุดให้เรียบร้อยแล้ว และจะต้องมีการปิดกั้นเส้นทางเพื่อรักษาความปลอดภัยให้ขบวนเสด็จ เช่น ถ้าพื้นที่นั้นมีสะพานลอยก็จะต้องป้องกัน/ห้ามปราม มิให้ผู้ใดใช้สะพานลอยระหว่างที่มีขบวนเสด็จเคลื่อนที่ผ่าน

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานไม่ทราบว่ากลุ่มคณะราษฎร 63 ประกาศกำหนดการชุมนุม 14 ต.ค. 2563 ตั้งแต่ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 แล้ว ส่วนเรื่องแผนถวายความปลอดภัย พยานทราบว่าแผนดังกล่าวนั้นมี 3 ระดับ ได้แก่ แผนกองบัญชาการตำรวจนครบาล, แผนกองบังคับการตำรวจนครบาล แผนของสถานีตำรวจในแต่ละพื้นที่ และแต่ละแผนจะมีอำนาจไล่ลงมาแบบ Top-Down

พยานเบิกความว่าแผนรักษาความปลอดภัยลงวันที่ 7 ต.ค. 2563 นั้น เป็นแผนคาดการณ์ที่จัดทำโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในแผนดังกล่าวจะระบุพื้นที่ไข่แดง-ไข่ขาว ซึ่งไข่แดงหมายถึงพระบรมมหาราชวัง และไข่ขาวคือบริเวณโดยรอบ บริเวณเส้นทางเสด็จ ซึ่งจุดที่เกิดหตุของคดีนี้จัดเป็นพื้นที่ไข่ขาว  

ในข้อบังคับของเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล ไม่มีข้อกำหนดที่ระบุว่าต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าจะมีขบวนเสด็จ แต่มีข้อที่ระบุให้มีการซักซ้อมเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เมื่อทนายจำเลยถามว่าสำหรับการเตรียมรับเสด็จในครั้งนี้มีการซักซ้อมดังกล่าวหรือไม่ พยานตอบว่าจำไม่ได้ แล้วอธิบายเพิ่มเติมว่าตนเองจำได้ว่ามีการประชุมเพื่อเตรียมซักซ้อม แต่จำไม่ได้ว่ามีการซักซ้อมเมื่อไร

เกี่ยวกับแผนของกองบังคับการนครบาล 1 ที่ระบุให้มีการจัดวางกำลังตำรวจเพื่อรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จนั้น ได้ระบุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระมัดระวังไม่ให้มีสรรพสิ่ง อาทิ ประชาชน สัตว์ หรือสิ่งของ เข้าไปขัดขวางขบวนเสด็จ และในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินให้ผู้กำกับสถานการณ์ในวันนั้นๆ หรือหัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยให้ทำงานประสานกับตำรวจราชองครักษ์

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับแผนของ สน.ดุสิต พยานเบิกความว่ามีข้อกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำจุดตลอดเส้นทางขบวนเสด็จในทุกๆ ระยะ 50 เมตร พยานจำไม่ได้ว่ามีตำรวจทำหน้าที่ดังกล่าวจำนวนกี่นาย แต่อธิบายเพิ่มเติมว่าหากสถานการณ์มีความเสี่ยง ก็จะมีเจ้าหน้าที่มากกว่า 5 นายคอยทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม พยานยอมรับว่าตนเองไม่ได้ทำรายงานของเจ้าหน้าที่ประจำจุด แต่เมื่อปล่อยแถวไปแล้วได้ไปตรวจตราแต่ละจุดก่อนที่จะมีขบวนเสด็จ

พยานเบิกความในวันที่เกิดเหตุไม่มีการประชาสัมพันธ์ว่าจะมีขบวนเสด็จ เพราะในตอนนั้นทางเจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่ามีผู้ชุมนุมมาในพื้นที่ด้วย ทราบเพียงแต่ว่ามีประชาชนมารอรับเสด็จ โดยในตอนที่เห็นว่ามีประชาชนมารอรับเสด็จนั้น คือเวลาประมาณ 15:00 น. เศษ

ตามภาพจากกล้องวงจรปิดที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ประตู 3 ของทำเนียบรัฐบาลและบริเวณใกล้เคียง พยานอธิบายว่ากล้องถูกติดตั้งในจุดที่สูงกว่าที่คนทั่วไปจะเอื้อมถึง ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไปต้องมีความสูงมากกว่า 160 เซนติเมตร จึงจะเอื้อมถึง พยานไม่รู้ว่ารถพระที่นั่งมีความสูงเท่าไหร่ ไม่ทราบสูงกว่าระดับสายตาของคนทั่วไปหรือไม่

จากนั้นทนายให้พยานดูภาพขบวนเสด็จจากเอกสารอภิปรายของพรรคก้าวไกล โดยให้พยานอธิบายว่าเห็นอะไรบ้าง พยานตอบว่าในภาพมีรถกรุยทาง เป็นมอเตอร์ไซค์จำนวน 2 คัน รถยนต์นำขบวน 1 คัน ซึ่งพยานคาดว่าเป็นรถลำดับที่ 2 เพราะรถลำดับแรกมักเป็นรถกระบะและรถลำดับที่ 1 นี้ จะทำหน้าที่ประกาศขอร่วมมือให้ประชาชนทั่วไปทราบว่าจะมีขบวนเสด็จ พยานบอกว่ารถลำดับที่ 1 อาจจะหลุดเฟรมไปแล้ว

ทนายถามต่อว่าในภาพดังกล่าวมีสัญลักษณ์อะไรที่ระบุว่าเป็นรถนำขบวนเสด็จหรือไม่ ซึ่งพยานตอบว่าไม่มี ก่อนจะอธิบายต่อไปว่าราชองครักษ์คือผู้ทำหน้าที่นำขบวน ส่วนการถวายความปลอดภัยเป็นของตำรวจในแต่ละท้องที่ จากนั้นถามต่อว่าสมาชิกราชวงศ์ที่มีราชองครักษ์นำขบวนนั้นอยู่ในลำดับบ้าง ซึ่งพยานเองก็ไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้

เกี่ยวกับวันเกิดเหตุ มีข้อเท็จจริงว่าในพื้นที่ของพยานมีขบวนเสด็จผ่านมาหลายขบวนในวันเดียวกัน ซึ่งพยานจำรายละเอียดไม่ได้ว่ามีขบวนใดบ้าง แต่จากรายงานที่พยานจัดทำส่งผู้บังคับบัญชา ระบุว่าพื้นที่ สน.ดุสิต อยู่ในเส้นทางเสด็จของพระองค์ภาฯ หมายความว่าตามเดิมแล้ว พระองค์ภาฯ ต้องเสด็จผ่านถนนพิษณุโลกเช่นกัน แต่เมื่อใกล้เวลาเสด็จ ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง กล่าวคือเปลี่ยนไปใช้เส้นทางสำรอง เช่นเดียวกับขบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ ที่เปลี่ยนจากเส้นทางถนนพิษณุโลกไปใช้เส้นทางถนนสวรรคโลกแทน

ทั้งนี้ พยานเบิกความว่าการเปลี่ยนแปลงเส้นทางขบวนเสด็จเป็นเรื่องของราชองครักษ์ และการเสด็จทุกครั้งจะใช้เส้นทางหลักเป็นสำคัญ เพราะเป็นเส้นทางที่กำหนดไว้แล้ว มักไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง และสำหรับในวันเกิดเหตุ พยานไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดขบวนเสด็จของทั้งสององค์จึงมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง และไม่ทราบว่าทำไมขบวนเสด็จของพระราชินีไม่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง

อย่างไรก็ตาม ในเอกสารรายงานสอบสวนของเจ้าหน้าที่มีข้อความระบุว่า “313” สั่งการเรื่องการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง ซึ่งพยานไม่ทราบว่าหมายถึงใคร แต่ในเอกสารโจทก์ ระบุว่า 313 เป็นรหัสของนายตำรวจราชองครักษ์ชื่อ พล.ต.ต.พรเทพ จันทร์ชิดฟ้า (ภักดี 313) ซึ่งพยานก็ยอมรับว่าอาจจะเป็นบุคคลนี้ที่มีหน้าที่เรื่องการเปลี่ยนแปลงเส้นทางของขบวนเสด็จ

ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าวมีข้อความที่แสดงว่ารองผู้กำกับ สน.ดุสิต รายงานแจ้งว่าไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางเสด็จได้ ซึ่งต่อมาไม่นานรองผู้กำกับ สน.ดุสิต ทั้งลำดับ 1 และ 2 ก็รายงานเข้าไปอีกครั้งว่าไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางเสด็จได้ ทนายจึงถามว่าในเอกสารระบุว่ามีผู้บัญชาการคนอื่นๆ ของสน.ดุสิต แจ้งรายงานว่าไม่สามารถใช้เส้นทางเสด็จได้เมื่อเวลา 17:05 น. บุคคลดังกล่าวนี้ใช่พยานหรือไม่ ซึ่งพยานตอบว่าไม่ใช่ และจำไม่ได้ว่าเป็นใคร พร้อมทั้งบอกว่าอาจจะเป็นสารวัตรของ สน.ดุสิต ก็ได้

โดยสรุปคือมีการแจ้งรายงานเรื่องไม่สามารถใช้เส้นทางถนนพิษณุโลกเป็นเส้นทางเสด็จถึง 4 ครั้ง ในครั้งแรกคือการแจ้งเตือนของ รองผู้กำกับ สน.ดุสิต, ครั้งที่ 2 คือ ตัวพยานเอง, ครั้งที่ 3 คือ พยานและ รองผู้กำกับ สน.ดุสิต และสุดท้ายครั้งที่ 4 คือการรายงานของเจ้าหน้าที่ประจำจุดเส้นทางและผู้กำกับ สน.ดุสิต ซึ่งพยานยืนยันว่าในการรายงานครั้งสุดท้ายนี้ พยานไม่ได้เป็นผู้รายงานแต่อย่างใด

จากคำเบิกความของพยาน กล่าวได้ว่าการรายงานแจ้งว่าเส้นทางเสด็จไม่สามารถใช้ได้นั้นอยู่ในช่วงเวลาระหว่าง 17:05 – 17:15 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขบวนรถพระที่นั่งยังมาไม่ถึงจุดเกิดเหตุ ซึ่งพยานเบิกความว่าต่อมาในเวลาประมาณ 17:16 น. รถเปิดทางขบวนเสด็จแจ้งมาว่าให้เปิดช่องทางให้ขบวนเสด็จเคลื่อนที่ผ่าน  ทั้งนี้ ทนายถามว่าเหตุที่ต้องเปิดช่องทางเพราะบนสะพานชมัยมรุเชฐมีรถตู้ของเจ้าหน้าที่ คฝ. จอดขวางเส้นทางการจราจรอยู่ใช่หรือไม่ แต่พยานตอบว่าไม่รู้ ตนมองไม่เห็น และเลี่ยงที่จะตอบคำถามดังกล่าว

ทนายจึงต่อว่าในขากลับ ขบวนเสด็จของพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ ใช้เส้นทางสำรองใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ เพราะเส้นทางถนนพิษณุโลกถูกผู้ชุมนุมปิดหมดแล้ว

อย่างไรก็ดี พยานเบิกความว่านอกจากคดีนี้แล้ว ไม่มีคดีใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับขบวนเสด็จอีก และขบวนเสด็จของพระองค์อื่น ทั้งในหลวงรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเทพฯ และพระองค์ภาฯ ต่างเสด็จไปปฏิบัติพระกรณียกิจได้ตามกำหนดการ

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

โดยหน้าที่แล้วพยานจะให้แนวทาง/นโยบายในการหาข่าว ไม่มีหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อสืบหาข่าวด้วยตนเอง แต่จะมีหน้าที่วิเคราะห์ข่าวที่ได้รับการแจ้งหรือรายงานเข้ามา

สำหรับการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานทราบกำหนดการล่วงหน้าอยู่แล้ว และได้วางแผนรับมือสถานการณ์ไว้แล้วเช่นกัน แต่จากเอกสารสำนวนคดีของฝ่ายโจทก์ มาไม่ปรากฏว่ามีรายงานการสืบสวน/หาข่าวจาก สน.ดุสิต นำส่งไว้ โดยพยานยืนยันว่ามีการส่งเอกสารดังกล่าวเข้ามา ก่อนจะเปลี่ยนไปตอบใหม่ว่าพยานเองก็จำไม่ได้แน่ชัดว่าส่งเข้ามาหรือไม่ เพราะรายงานดังกล่าวมีหลายฉบับ

จากรายงานของฝ่ายข่าว ระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ ทนายถามว่าการชู 3 นิ้ว จะเท่ากับหรือเป็นการแสดงออกทางกายภาพที่หมายถึงข้อเรียกร้องทั้ง 3 นั้นหรือไม่ พยานตอบไม่แน่ใจในเจตนาของผู้ชูสามนิ้ว

ในรายงานเดียวกันได้ระบุไว้ว่าเมื่อเวลาประมาณ 17:06 น. ตำรวจนำรถตู้ไปจอดปิดเส้นทางการจราจรบนสะพานชมัยมรุเชฐ พยานระบุว่าตนเองไม่ทราบเรื่องกล่าว และมาทราบในภายหลังจากที่รถตู้ถูกนำไปปิดเส้นทางแล้ว และไม่ทราบด้วยว่าหน่วยงานใดเป็นผู้นำรถตู้ขึ้นไปจอดขวาง แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าจุดที่รถตู้จอดขวางนั้นเป็นจุดเดียวกับเส้นทางที่ขบวนเสด็จต้องผ่าน

จากนั้นทนายจึงให้ดูภาพที่มีประชาชนยืนอยู่บนสะพานลอยในขณะที่มีขบวนเสด็จเคลื่อนที่ผ่าน พยานดูแล้วเบิกความว่าในกรณีเช่นนี้ถ้าคนที่ยืนอยู่เป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานก็สามารถยืนได้ แต่ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปไม่สามารถยืนได้

จากนั้นทนายก็ถามต่อว่าในแผนการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จของ สน.ดุสิต มีคนประจำใน “จุดสูงข่ม” หลายจุดใช่ไหม จากนั้นก็ถามต่อว่าแล้วจุดดังกล่าวมีจุดที่เป็นสะพานลอยบ้างหรือไม่ พยานตอบว่าไม่รู้ว่ามีหรือไม่

เกี่ยวกับจำเลยในคดี ซึ่งเอกสารระบุว่าการชุมนุมนี้มีแกนนำ 2 คือ เอกชัย หงส์กังวาน และบุญเกื้อหนุน เป้าทอง  พยานทราบได้อย่างไรว่าจำเลยทั้งสองเป็นแกนนำของการชุมนุม พยานตอบว่าไม่ทราบ และไม่ทราบด้วยว่าแกนนำที่จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือใคร

รายงานดังกล่าวยังถูกจัดทำขึ้นในภายหลังอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ได้เติมชื่อของจำเลยที่ 3 เข้าไปด้วย ซึ่งพยานก็ตอบเพียงว่าตนเองทราบจากรายงานเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ผู้จัดทำรายงานจะทราบได้อย่างไรว่าใครเป็นใครนั้น พยานไม่ทราบ

เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในวิดีโอคลิปที่เจ้าหน้าที่ถ่ายไว้ ไม่มีตอนใดที่ระบุเลยว่าจำเลยคนใดกระทำการประทุษร้ายหรือนอนขวางขบวนเสด็จราชินี พยานจำไม่ได้ว่าในวันที่เกิดเหตุ จำเลยคนใดกระทำสิ่งใดบ้าง ก่อนจะบอกว่าขอยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามพยานหลักฐานที่มีในคดี

ทั้งนี้ ทนายขอให้พยานวาดเส้นทางสำรองเพื่อให้การสืบพยานเป็นที่สิ้นสงสัยในเรื่องเส้นทางหลักและเส้นทางรอง แต่พยานระบุว่าเส้นทางดังกล่าวมีอยู่ในเอกสารของฝ่ายโจทก์แล้ว จากนั้นเบิกความถึงการเตรียมรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติว่าหมายถึงการเตรียมคนมารอรับขบวนเสด็จ อย่างไรก็ดี พยานเบิกความว่าการเปลี่ยนเส้นทางเสด็จนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็จะยังมีประชาชนไปรับเสด็จอยู่เสมอ เพราะพวกเขาอาจสังเกตได้จากการเตรียมเส้นทางและพากันมารับเสด็จ

ต่อมาทนายความอ่านบทบรรยายซึ่งระบุว่าเกี่ยวกับเหตุนี้ มีการประกาศเกี่ยวกับการมีขบวนเสด็จแล้วใช่หรือไม่ ซึ่งพยานตอบว่าใช่ โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ประกาศ แต่พยานรับว่าไม่ได้ประกาศครอบคลุมเรื่องเส้นทางเสด็จด้วย แต่สำหรับประชาชนที่รับเสด็จเป็นประจำ ก็จะทราบกันอยู่แล้วว่าจะมีการเสด็จในเส้นทางใด พยานได้เบิกความถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำจุดว่าได้มีการใช้วาจาประชาสัมพันธ์ โดยไม่ใช้เครื่องขยายเสียง แก่ประชาชนที่มารอรับเสด็จ เพราะในขณะนั้นไม่มีสถานการณ์ใดที่ผิดปกติ จึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องขยายเสียง

พยานเบิกความว่าตนเองไม่มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยแต่คนมีการแบ่งหน้าที่กันทำงานหรือไม่ในวันที่เกิดเหตุ และตอบเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจราชองครักษ์ประจำพระองค์ราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ เป็นคนละคนกับตำรวจราชองค์รักษ์ประจำพระองค์อื่นๆ โดยพยานอธิบายว่าเจ้านายแต่ละพระองค์จะมีเจ้าหน้าที่ประจำองค์ และตำแหน่งนี้จะเป็นตำแหน่งเวียน ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดทำหน้าที่ประจำ และเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวจะสังกัดหน่วยงานใดนั้นพยานไม่ทราบ ทั้งนี้ พยานทราบเพียงแต่ว่าชื่อหน่วยงานในพระราชสำนัก

พยานจำไม่ได้ว่านายตำรวจราชสำนักที่วิทยุแจ้งยืนยันเส้นทางเสด็จเดิมคือใคร แต่รู้ว่าตำรวจประจำขบวนของพระองค์ภาฯ และสมเด็จพระเทพฯ เป็นคนละคนกับตำรวจประจำขบวนเสด็จของพระราชินี และโดยอำนาจหน้าที่ของพยานแล้วมีหน้าที่เพียงอารักขาขบวนเสด็จเท่านั้น ไม่มีอำนาจเรื่องการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง

ตอบอัยการถามติง

พยานเบิกความยืนยันว่าตามที่ได้ตอบทนายจำเลยว่า ในวันที่เกิดเหตุพยานไม่ทราบว่าเป็นขบวนเสด็จของใคร ทราบเพียงแต่ว่าเป็นขบวนเสด็จ ต่อมาเมื่อเกิดเหตุแล้วพยานจึงทราบว่าเป็นขบวนเสด็จของพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ แต่อย่างไรก็ดี พยานระบุว่าสำหรับประชาชนที่ไปรอรับเสด็จนั้น พวกเขาทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นขบวนเสด็จของใคร

ต่อมาพยานเบิกความตอบว่าจากเอกสารของทนายจำเลย ซึ่งมีภาพประชาชนรอรับเสด็จและมีพระบรมฉายาลักษณ์ในภาพดังกล่าวนั้น เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 และราชินี

สำหรับเรื่องรถตู้ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน พยานเบิกความว่าตนเองไม่ทราบว่าใครเป็นผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ จากนั้นอัยการก็ให้ดูภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ที่ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ขนาบข้างรถพระที่นั่ง ซึ่งได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการตำรวจควบคุมฝูงชน ทั้งนี้เพื่อให้พยานยืนยันว่าผู้บัญชาการเหตุการณ์ในวันดังกล่าวนั้นมีอำนาจเหนือกว่าพยาน และเพื่อยืนยันว่าเหตุการณ์ในขณะที่เกิดเหตุมีความต่อเนื่องกันหลายเหตุ

สำหรับเรื่องภาพสะพานลอยที่ทนายจำเลยที่ 2-3 นำมาถามนั้น พยานตอบว่าสะพานลอยดังกล่าวไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่พยานรับผิดชอบ

จากนั้นพยานก็เบิกความเพิ่มเติมว่าจำเลยที่ 3 หรือ สุรนาถ เป็นแกนนำ โดยแกนนำหมายถึงแกนนำในการขัดขวางขบวนเสด็จ ไม่ใช่แกนนำในการจัดการชุมนุม นอกจากนี้พยานยังเบิกความยืนยันอีกว่าการประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเรื่องจะมีขบวนเสด็จในวันดังกล่าวนั้น ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเครื่องขยายเสียงแล้ว

จากนั้นพยานก็เบิกความว่า ตนเองทราบเรื่องการย้ายนายตำรวจบังคับการตำรวจควบคุมฝูงชน หรือไม่ แต่ไม่ทราบว่าย้ายเพราะเหตุใด ก่อนที่อัยการจะถามซ้ำว่าการย้ายดังกล่าวอาจไม่เกี่ยวกับเรื่องขบวนเสด็จใช่หรือไม่ เพราะนายตำรวจคนดังกล่าวได้รับคำชมเชยจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วย

.

ภาพจากข่าวสดอิงลิช

.

พยานโจทก์ปากที่ 3 ด.ต.ธีระพล เสนาศรี ผบ.หมู่จราจร สน.ดุสิต

ในวันเกิดเหตุ พยานรับหน้าที่ถวายความปลอดภัยที่แยกสวนมิสกวัน คอยถวายความปลอดภัยให้แก่ขบวนเสด็จพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ โดยพยานชี้ว่าจุดที่ตนเองยืนอยู่ห่างจากสะพานชมัยมรุเชษฐประมาณ 400 เมตร และยืนทำหน้าที่ตั้งแต่ 14:00 – 22:00 น. และเริ่มทำหน้าที่ตัดเส้นทางการจราจร คือห้ามไม่ให้รถเข้ามาในเส้นทางเมื่อเวลา 17:30 น.

ในวันดังกล่าวเมื่อเวลาประมาณ 16:00 น. พยานได้รับแจ้งจากวิทยุว่าจะมีขบวนเสด็จในเวลา 17:30 น. จึงเร่งระบายรถออกให้พ้นเส้นทางเสด็จ พยานทราบว่าในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่เกิดเหตุยังไม่มีผู้ชุมนุม มีแต่ประชาชนที่มารอรับเสด็จ ซึ่งทราบได้เพราะใส่เสื้อเหลือง โดยคนกลุ่มนั้นอยู่บนถนนราชดำเนินนอกยังมาไม่ถึงถนนพิษณุโลก แต่ทั้งนี้พยานเบิกความว่าตนเองไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนถนนพิษณุโลก ซึ่งหมายถึงกรณีที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้

นอกจากนี้ พยานรับทราบว่าในวันดังกล่าว รองผู้กำกับการได้สั่งการให้ตรวจสอบผู้ชุมนุมว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าใด แต่พยานก็เบิกความว่าตนเองไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบผู้ชุมนุมหรือประชาชนคนใด ทั้งพยานไม่รู้จักจำเลยคนใดในคดีนี้

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่าตนต้องรับมือกับการชุมนุมและถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จอยู่บ่อยครั้ง นับเป็น 2 ภารกิจแยกกัน ต่างกรรม ต่างวาระ และในบางครั้งก็มีการชุมนุมที่ต้านกัน กล่าวคือมีทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย และฝ่ายสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ โดยพยานสังเกตได้ว่ากลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยมักสวมใส่เสื้อผ้าสีดำ ขณะที่อีกกลุ่มจะใส่สีเหลือง

สำหรับเส้นทางที่พยานรับผิดชอบในวันที่มีขบวนเสด็จนั้น พยานทำหน้าที่ในส่วนงานจราจร และไม่ได้ประสานกับหน่วยอื่นมากนัก แต่ในวันดังกล่าวนั้นพยานเห็นว่ามีหน่วยงานของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมาปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วย

พยานไม่แน่ใจว่ากลุ่มประชาชนที่มารับเสด็จเริ่มเข้าไปในพื้นที่ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่จากที่ได้ยินรายงานของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนผ่านวิทยุ คือเมื่อเวลาประมาณ 15:00 น. ซึ่งอาจผิดพลาดก็ได้ ทั้งนี้เพราะพยานทราบความเคลื่อนไหวจากกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายจากการรายงานวิทยุเท่านั้น โดยเป็นการรายงานทั่วไป ไม่ได้เจาะจงมาที่พยาน

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานเบิกความว่า เห็นมีผู้มารอรับขบวนเสด็จตั้งแต่บริเวณแยกลานพระบรมรูปทรงม้า สำหรับขบวนเสด็จที่จะผ่านในวันดังกล่าวพยานไม่ทราบว่าจะเป็นขบวนของผู้ใด

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าตนเองเป็นตำรวจราจรมาตั้งแต่ปี 2554 และในภาษาของตำรวจจราจร คำว่า “ว.10” หมายถึง การอยู่ประจำหน้าที่ ซึ่งพยานได้รับคำสั่งดังกล่าวในวันที่เกิดเหตุ พยานไม่ได้ใช้เครือข่ายวิทยุช่องเดียวกับตำรวจราชองครักษ์ แต่ใช้เครือข่ายช่อง บก.ชน.1 ซึ่งเป็นช่องภายในของ สน. ที่พยานสังกัดอยู่  ระหว่างปฏิบัติหน้าที่พยานพกวิทยุสื่อสาร 2 เครื่อง ซึ่งเครื่องหนึ่งเป็นแบบดิจิตัล และอีกแบบเป็นระบบอะนาล็อก

พยานยืนยันว่าตนเองไม่สามารถฟังเครือข่ายวิทยุของตำรวจราชองครักษ์ได้ นอกจากนี้แล้ว ยังเบิกความอีกว่ามีเครือข่ายวิทยุพิเศษสำหรับนายตำรวจพระราชสำนักและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งพยานไม่ทราบชื่อเครือข่าย และไม่ได้เข้าใช้งานเครือข่ายดังกล่าว ทั้งนี้ พยานเบิกความว่าตนเองไม่ทราบเรื่องการมีรถตู้มาจอดบนสะพานชมัยมรุเชษฐ เพราะไม่มีรายงานในช่องเครือข่ายงานจราจร แต่ได้รับเพียงการยืนยันว่าขบวนเสด็จจะใช้เส้นทางเดิม

.

พยานโจทก์ปากที่ 4 พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ รองผู้กำกับการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 8

ขณะเกิดเหตุ เป็นผู้บังคับการกองกำลังอารักขาควบคุมฝูงชน มีหน้าที่ดูแลการชุมนุม และดูแลขบวนเสด็จ โดยพยานเข้ารับตำแหน่งนี้เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563  พยานพบกับการชุมนุมของผู้เห็นต่างทางการเมืองบ่อยครั้ง สำหรับการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานทราบว่าผู้ชุมนุมมีจุดมุ่งหมายหลักคือการเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาล

พยานได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการให้เตรียมกำลังตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 กล่าวคือทราบล่วงหน้าว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 แล้ว จากนั้นพยานระบุว่าตนเองมีหน้าที่จัดกำลังเพื่อการดูแลรับผิดชอบความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งพื้นที่เฉพาะของพยานคือบริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาล พยานยังเบิกความอีกว่ามีกำลังตำรวจจากต่างจังหวัดเข้ามาร่วมด้วย เช่น ตำรวจตระเวนชายแดน

พยานมีหน้าที่ประสานงานกับหัวหน้างานสืบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยเมื่อเวลา 14:00 น. เศษ พยานได้เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมและทราบว่าผู้ชุมนุมยืนยันว่าจะเคลื่อนขบวนมาที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะผ่านทางถนนนครสวรรค์และเข้าสู่แยกเทวกรรม

เมื่อทราบดังนั้น พยานก็กำหนด “จุดหน่วงรั้ง” เพื่อชะลอการเคลื่อนตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่จำไม่ได้ว่าจุดดังกล่าวเป็นของหน่วยงานใดบ้าง และพยานก็ไม่ได้เข้าประจำจุดดังกล่าว เพราะต้องที่อยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาล

ต่อมาได้รับรายงานว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ และได้รับการประสานจาก พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้ย้ายไปดูแลที่บริเวณก่อนแยกนางเลิ้ง (บนถนนนครสวรรค์) ซึ่งพยานได้ใช้รถบัส 4 คัน ประกอบกับแผงรั้วเหล็กอีกจำนวนหนึ่งในการจัดทำจุดหน่วงรั้ง จากนั้นก็เข้าไปเจรจากับผู้ชุมนุมให้หยุดรออยู่ตรงนั้น ซึ่งผู้ชุมนุมบางส่วนก็หยุดรอ บางส่วนก็ไม่ โดยพยานเห็นมีผู้ชุมนุมจำนวน 20 – 30 คน ยืนจับกลุ่มกันอยู่ตรงหัวมุมถนนพระราม 5 ด้านทำเนียบรัฐบาลและพยายามรื้อสิ่งของ (แบริเออร์ปูน) พร้อมทั้งพยายามเข้าไปด้านในทำเนียบรัฐบาล ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็พยายามวางแบริเออร์ปูนเพิ่มเติม แต่ไม่สามารถกระทำได้

พยานเบิกความว่าต่อมา พ.ต.อ.สามารถ พรหมชาติ ก็ใช้กำลังของตำรวจตระเวนชายแดนผลักดันผู้ชุมนุมออกจากบริเวณดังกล่าว โดยผู้ชุมนุมก็เข้าปะทะและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นราว 200 – 300 คน ตัวพยานเข้าใจว่าผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าว คือกลุ่มมารอขบวนผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ที่กำลังเคลื่อนตัวมายังทำเนียบรัฐบาล

ต่อมาพยานได้รับคำสั่งจาก พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ว่าให้ใช้แนวกีดขวางโดยเอารถตู้จำนวน 12 คัน จอดขวางบนสะพานชมัยมรุเชษฐ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาลได้ โดยที่พยานและเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนสามารถรั้งผู้ชุมนุมไว้ได้เป็นระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมง 45 นาที โดยขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 17:00 น. แล้ว

หลังจากนั้นพยานก็ได้รับแจ้งทางวิทยุว่า เส้นทางที่พยานรับผิดชอบ (ถนนพิษณุโลก) จะใช้เป็นเส้นทางเสด็จของพระราชินี ทราบเบื้องต้นว่าขบวนเสด็จจะผ่านถนนพิษณุโลก ผ่านสะพานชมัยมรุเชษฐเข้าสู่แยกนางเลิ้ง แล้วไปขึ้นทางด่วนยมราช ทั้งนี้ พยานเบิกความว่าได้มีเจ้าหน้าใช้เครื่องขยายเสียงขนาดเล็ก ประกาศขอความร่วมมือในการเปิดช่องทางให้ขบวนเสด็จ

เมื่อสั่งให้มีการเปิดช่องทางที่รถตู้จอดขวางอยู่นั้น ขบวนรถพระที่นั่งก็มาถึงที่เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐแล้ว โดยมีรถกรุยทางของตำรวจจราจรแล่นนำหน้า และทำหน้าที่ขอความร่วมมือในการเปิดช่องทางให้แก่ขบวนเสด็จ จากนั้นก็ตามมาด้วยรถมอเตอร์ไซค์คู่และรถภักดี

พยานระบุว่าตนเองประสานให้มีการเปิดช่องทางใช้ขบวนเสด็จ ซึ่งในขณะนั้นมีกองกำลัง 6 กองร้อย แต่พยานไม่ได้สั่งให้กำลังทั้งหมดตั้งแถวขนานเปิดช่องทาง เพราะอีกส่วนอยู่หลังแนวรถตู้ และเมื่อเปิดช่องทางเสร็จแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุม 200–300 คน ที่เบิกความถึงในตอนแรก ก็ได้เข้าไปในช่องทางที่เปิดออก ไม่ได้มีการทำอะไรเพียงแต่กรูกันเข้าไป และในระหว่างนั้นรถกรุยทาง รถจักรยานยนต์นำทาง รถนายตำรวจพระราชสำนัก ได้มาติดอยู่ที่ตรงเชิงสะพานแล้ว ทำให้รถดังกล่าวถูกกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปห้อมล้อม ส่วนรถพระที่นั่งยังอยู่ห่างออกไป แต่ก็ไม่เกิน 3 เมตร

พยานเบิกความว่าตนใช้วิธีการปรับกำลังแถวคู่ขนาน ให้กำลังโอบล้อมปิดด้านหน้ารถพระที่นั่ง และปล่อยให้รถทั้ง 3 ด้านหน้าหลุดออกไปจากขบวน โดยพยานเองอยู่ในจุดด้านขวาของรถพระที่นั่งโดยตลอดเวลา ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลอยู่ที่ฝั่งด้านซ้ายของรถ ฝั่งด้านหน้าเป็นแนวกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

ต่อมาพยานเบิกความซ้ำอีกว่าในสถานการณ์นั้น รถพระที่นั่งเคลื่อนที่ได้ช้า เจ้าหน้าที่สร้างแนวโล่และพยายามดันผู้ชุมนุมออกเพื่อพารถพระที่นั่งเคลื่อนที่ไปซ้ำๆ ในระหว่างนั้นพยานเดินขนาบรถพระที่นั่งไปตลอด และพยานได้ยินเสียงอื้ออึงในลักษณะการตะโกนอย่างไม่พอใจ คาดว่าเป็นการตะโกนใส่รถพระที่นั่ง พยานระบุว่าตนเองอยู่ในเหตุการณ์ แต่ไม่เห็นเหตุการณ์ เพราะกำลังปฏิบัติหน้าที่

เจ้าหน้าที่ใช้เวลาประมาณ 7–8 นาที ในการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมและขบวนเคลื่อนออกไปจากสะพานชมัยมรุเชฐ โดยพยานและผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยังคงเดินควบคู่ไปกับพระที่นั่งตลอด และเมื่อถึงเชิงสะพานอีกฝั่ง ผู้ชุมนุมก็มีจำนวนน้อย รถเคลื่อนที่ไปได้ พยานก็วิ่งตามรถเพื่อส่งเสด็จถึงแยกนางเลิ้ง โดยมองเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่หลังแนวรถอีกกลุ่มใหญ่

เมื่อพยานย้อนกลับเข้าไปประจำยังจุดเดิมคือบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ก็เห็นว่าผู้ชมนุมเข้าไปอยู่เต็มบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ และแนวรถตู้ถูกเคลื่อนย้ายออกไปแล้ว พยานจึงจัดการเติมกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนอีก 3 กองร้อย เพราะต้องการป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงทำเนียบฯ ได้ จากนั้นผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ก็มาถึง และแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ก็แตกออก ผู้ชุมนุมสามารถเข้าไปถึงประตู 5 ของทำเนียบฯ ได้

หลังจากแนวกั้นสลาย พยานก็ได้รับคำสั่งให้เข้าไปดูแลความเรียบร้อยภายในทำเนียบรัฐบาล พยานเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งเวทีบนถนนพิษณุโลก หันหน้าไปทางแยกนางเลิ้ง พยานเบิกความว่าตนเองอยู่ในทำเนียบถึงเวลาประมาณ 5 ทุ่ม และพบว่ายังมีผู้ชุมนุมอยู่บ้าง แต่มีจำนวนไม่มากเท่าใด

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

ภารกิจของพยานคือการดูแลไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล และอธิบายด้วยว่าการจัดกำลังในวันดังกล่าวมีการจัดที่แตกต่างกัน ตามสถานการณ์ กล่าวคือ จัดวางกำลังเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์การชุมนุม

พยานเล่าตนเองเคยปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมในฐานะเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมาตลอดชีวิต และเบิกความว่าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จะมีลำดับความสำคัญในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน และในการขอคืนพื้นที่จะมี 2 วิธี ได้แก่ การผลักดันเพื่อขอพื้นที่คืน โดยใช้โล่ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้ในวันที่เกิดเหตุ และอีกวิธีคือ การใช้อาวุธหรืออุปกรณ์ตามลำดับ

ขณะที่เกิดเหตุ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนถวายการอารักขารถพระที่นั่งนั้น พยานเห็นว่าแนวหน้าของเจ้าหน้าที่ติดกับขบวนรถพระที่นั่งและในบางช่วงก็ถอยห่างจากขบวนรถ

ทั้งนี้ พยานเบิกความตอบอัยการว่าได้มีการเจรจากับแนวหน้าของผู้ชุมนุม ซึ่งพยานระบุว่าเป็นแกนนำ แต่เมื่อทนายจำเลยที่ 1 ถาม พยานกลับไม่เบิกความตอบว่าแกนนำคนดังกล่าวคือใคร อธิบายเพียงว่าในทุกการชุมนุมจะมีการเจรจากับแกนนำโดยตลอด และเอกชัย หรือจำเลยที่ 1 ไม่ใช่แกนนำที่พยานได้เจรจาด้วย เพราะเอกชัยไม่ได้อยู่ในกลุ่มใหญ่ แต่อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมย่อยที่แยกมาอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งมีอยู่ราว 200–300 คน เหมือนดาวกระจายที่แยกออกมารอรับผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ พยานเบิกความอีกว่าเหตุที่ไปเจรจากับแกนนำการชุมนุม เพราะทราบว่าจะมีขบวนเสด็จในวันเดียวกัน

พยานระบุว่าระหว่างเดินขนาบข้างรถพระที่นั่ง ตนมองไม่เห็นเอกชัย และในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนไม่ได้ปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะตำรวจต้องการใช้วิธีหน่วงรั้ง

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

พยานติดตามข่าวการชุมนุมโดยตลอด และทราบว่าการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 รวมถึงทราบว่าจะมีการชุมนุมอีกในวันที่เกิดเหตุของคดีนี้ และเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 พยานได้รับมอบหมายให้ดูแลการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล

พยานเบิกความว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะต้องมีความสูง 160 เซนติเมตรขึ้นไป และต้องผ่านการอบรม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และการอบรมเรื่องวิธีการปะทะกับผู้ชุมนุม

ในวันที่เกิดเหตุ พยานอยู่ที่หน้าทำเนียบฯ ตลอดเวลา โดยได้ประสานกับตำรวจกลุ่มงานสืบสวน ซึ่งแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมและรายงานความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ขณะที่ผู้ชุมนุมมีจำนวนราว 20–30 คน ได้ใช้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนประมาณ 1 กองร้อย แต่เมื่อผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นเป็น 200–300 คน ได้เปลี่ยนมาใช้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนตั้งแถวหน้ากระดาน โดยแบ่งเป็นหน่วย หน่วยละ 5 คน และจัดวางให้ยืนซ้อนกำลัง

ในขณะที่เกิดเหตุพยานรับหน้าที่ดูแลควบคุมฝูงชนและได้รับรายงานเรื่องฝูงชนโดยเฉพาะ แต่เพราะในวันนั้นมีขบวนเสด็จทำให้พยานได้รับการรายงานเรื่องที่เกี่ยวกับขบวนเสด็จด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่มีการประกาศเรื่องเส้นทางขบวนเสด็จ เพราะถือเป็นความลับ แต่ประชาชนที่เคยเฝ้ารับเสด็จบ่อยครั้งมักทราบกันดีว่าจะมีขบวนเสด็จที่เส้นทางใด เนื่องจากมักเป็นเส้นทางประจำ ซึ่งพยานยืนยันว่าตนเองรับราชการมา 30 ปี ก็ยังไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงเส้นทางขบวนเสด็จ

อย่างไรก็ตาม พยานยอมรับว่าประชาชนที่ไม่ได้ติดตามขบวนเสด็จ ก็อาจไม่ทราบได้ว่าจะมีการเสด็จหรือไม่ แต่ก็สามารถทราบได้โดยสัญชาตญาณ เพราะขบวนเสด็จมีลักษณะเฉพาะ กล่าวคืออาจทราบได้ว่าจะมีขบวนเสด็จ แต่คงไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นขบวนเสด็จของใคร

พยานเบิกความเกี่ยวกับลักษณะของขบวนรถพระที่นั่งว่าจะมีรถติดตามอารักขา แต่พยานระบุว่านายตำรวจในราชสำนักไม่เคยมายืนอารักขาขบวนเสด็จที่ข้างถนน

พยานเบิกความต่อว่ารถพระที่นั่งเคลื่อนที่ผ่านฝูงชนไปได้ด้วยดี ภายในระยะเวลา 7–8 นาที และเหตุที่วางแนวรถตู้ค่อนไปทางลงสะพานนั้น ก็เพราะต้องการให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนอยู่ในจุดที่สูงกว่ากลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อที่จะสามารถมองเห็นผู้ชุมนุมได้ง่าย และเพื่อป้องกันการดันหรือการเคลื่อนที่รถของผู้ชุมนุม ทำให้การวางแนวรถตู้อยู่ค่อนไปทางแยกนางเลิ้ง

จากนั้นเบิกความว่าตอนประกาศขอความร่วมมือให้ขบวนเสด็จเคลื่อนที่ผ่าน จะไม่มีการบอกว่าเป็นขบวนเสด็จของใคร แต่จะแจ้งเพียงว่าขอขบวนเสด็จผ่าน และในตอนนั้นไม่มีประกาศให้เลิกการชุมนุม แต่มีประกาศในช่วงก่อนหน้านั้นแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่ผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งเริ่มเคลื่อนย้ายแท่งปูนแบริเออร์ โดยที่เรื่องการย้ายแท่งปูนไม่มีในรายงานการสืบสวน แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าตำรวจมีการประกาศข้อกฎหมายการชุมนุมในทุกจุดหน่วงรั้ง

ขณะที่ขบวนเสด็จเคลื่อนที่ผ่าน พยานมองเห็นพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ อย่างชัดเจน เพราะกระจกรถเป็นกระจกใส และมองเห็นว่าพระราชินีโบกมือให้ประชาชน แม้กระทั่งในจุดที่เกิดเหตุ ซึ่งพยานยืนยันว่าตนเองอยู่ฝั่งด้านขวาของรถ ซึ่งเป็นตำแหน่งของเจ้าฟ้าทีปังกรฯ ขณะที่พระราชินีอยู่ทางฝั่งซ้าย ซึ่งเป็นเหตุให้ตนเองไม่มั่นใจในอากัปกิริยาของพระราชินีเท่าใดนัก กล่าวคือ พยานระบุว่าเห็นพระราชินียิ้มและโบกมือจริง แต่ไม่มั่นใจว่าจะตระหนกตกใจหรือไม่ อย่างไรก็ดี พยานเบิกความอีกว่าในเวลานั้นไม่มีผู้ชุมนุมคนใดเข้าประชิดรถพระที่นั่ง

พยานกล่าวตนเองเป็นรองผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีหน้าที่ถวายอารักขาความปลอดภัยเป็นข้อแรก แม้ไม่มีใครเข้าใกล้รถพระที่นั่งแต่พยานก็ไม่ทราบเจตนาของผู้ชุมนุม ทั้งนี้ ยืนยันด้วยว่าหากมีผู้ชุมนุมคนใดจะเข้ามาก็ไม่สามารถฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้

เกี่ยวกับขบวนเสด็จ พยานระบุว่าไม่มีการประกาศให้ตั้งแถวรับขบวนเสด็จ เพราะโดยปกติแล้วสะพานไม่ใช่ภูมิทัศน์สำหรับการรับเสด็จ หากเป็นพื้นที่อื่นก็อาจมีการจัดพื้นที่ให้สามารถรับเสด็จได้

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

ทนายความยกเอกสารโจทก์ ซึ่งเป็นแผนอารักขาของกองบัญชาการนครบาล ระบุในข้อ ข. ว่า ให้กำหนดการอารักขาก่อนขบวนเสด็จไม่เกิน 2 ชั่วโมง และ ข้อ จ. ระบุให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องซักซ้อมการเตรียมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อนถามว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนทำการซักซ้อนแผนการดังกล่าวเมื่อใด โดยพยานเบิกความว่าตนเองทำหน้าที่ดูแลเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมฝูงชนหรือกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นหลัก ส่วนการถวายการอารักขาเป็นเรื่องของกองกำกับการอารักขาที่ 2 และสถานีตำรวจในแต่ละพื้นที่ สำหรับการซักซ้อนนั้น เข้าใจว่าได้ทำกันโดยตลอดอยู่แล้ว

ต่อมาถามเกี่ยวกับเครือข่ายวิทยุสื่อสาร พยานเบิกความตนเองใช้เครือข่าย “อุณาโลม” ในภารกิจการควบคุมฝูงชน ซึ่งไม่ใช่เครือข่ายของการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ ดังนั้นพยานจึงไม่ทราบว่ามีการรายงานเรื่องผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่เส้นทางเสด็จบนถนนพิษณุโลกหรือไม่ โดยพยานยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าตนเองทำหน้าที่ควบคุมดูแลฝูงชน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนเสด็จ ส่วนเรื่องการปรับแนวกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ขบวนเสด็จนั้น ก็เป็นเพราะเห็นว่าจะมีขบวนเสด็จแล้ว ซึ่งพยานเบิกความว่าตนเองรู้ว่าจะมีขบวนเสด็จในเวลาประมาณ 17:00 น. และยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าการถวายความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จเป็นภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานีประจำแต่ละท้องที่

ทนายความจำเลยขอเปิดวิดีโอคลิปพยานหลักฐาน ซึ่งมาจากกล้องวงจรปิดบนสะพานชมัยมรุเชฐ ซึ่งทำให้เห็นลำดับเวลาของเหตุการณ์ขบวนเสด็จ

–   เวลา 17:00 น. ยังไม่ปรากฏว่ามีรถตู้ในภาพวิดีโอ

–   เวลา 17:09 น. เริ่มมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้ามาตั้งแถวบนสะพานชมัยมรุเชฐ ก่อนจะมีรถตู้เข้ามาจอดขวางเต็มทุกช่องจราจรบนสะพานดังกล่าว จากภาพจะเห็นด้านหลังแนวรถตู้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยสืบสวนนอกเครื่องแบบ แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ชุมนุม

–   เวลา 17:17 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเริ่มปรับแถวเป็นหน่วย โดยพยานระบุว่าจากภาพนั้น มีกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 6 กองร้อย แต่พยานก็ไม่แน่ใจว่าได้มีเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมจากฝั่งแยกมิสกวันหรือไม่

–   เวลา 17:18 น. เป็นภาพรถตู้เริ่มเคลื่อนออกจากช่องด้านซ้ายสุดของถนนพิษณุโลก

–   เวลา 17:20 น. ปรากฏภาพรถกรุยทางมาถึงเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ฝั่งแยกมิสกวัน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเริ่มกั้นแนว ต่อมาอีกประมาณ 2 นาที เป็นภาพรถนำขบวน 3 คัน หลุดออกจากขบวนรถพระที่นั่งแล้ว และเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้เข้าล้อมรถพระที่นั่งไว้เป็นรูปตัว U โดยพยานเบิกความว่าตนเองอยู่ที่ด้านขวาของรถ แต่ถ้าดูจากในภาพจะเป็นด้านซ้าย

–   เวลา 17:23 น. รถพระที่นั่งกำลังจะผ่านคอขวดรถตู้ที่เจ้าหน้าที่เปิดช่องทางไว้ ซึ่งพยานยืนยันว่าไม่มีจุดหน่วงรั้งใดๆ ขัดขวางรถพระที่นั่งได้อีก

–    เวลา 17:26 น. ปรากฏภาพรถปิดท้ายขบวนเสด็จกำลังแล่นผ่าน โดยที่ระยะเวลาที่ขบวนเสด็จะผ่านไปได้นั้นรวมประมาณ 7 นาที

ทนายความถามต่อว่า ถ้าตำรวจไม่นำรถตู้มาจอดขวางเป็นแนวกั้น จะทำให้ขบวนเสด็จสามารถเคลื่อนที่ผ่านไปได้เร็วขึ้นหรือไม่ พยานเบิกความตอบเพียงว่าถ้านำรถตู้ออกกลุ่มผู้ชุมนุมก็จะทะลักเข้ามา แม้ทนายความจะระบุเพิ่มเติมว่าจุดที่ขบวนเสด็จเคลื่อนที่ไปช้าที่สุด คือจุดที่รถตู้จอดขวางก็ตาม

พยานเบิกความต่อไปว่าในขณะที่ขบวนเสด็จกำลังแล่นผ่าน พยานได้ยินเสียงดัง แต่จำไม่ได้ว่าเป็นเสียงอะไร หรือใครเป็นผู้พูด ทั้งนี้เพราะสมาธิของพยานอยู่ที่รถพระที่นั่ง

ภายหลังเกิดเหตุในวันที่ 15 ต.ค. 2563 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยเหตุหนึ่งเป็นเพราะมีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จของพระราชินี และพยานถูกสั่งให้ไปช่วยราชการที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งพยานก็ไม่ทราบว่าถูกย้ายไปเพราะเหตุใด แต่ก็ไม่ติดใจเพราะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา

หลังจากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการควบคุมฝูงชนในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ซึ่งพยานระบุว่าไม่ขออธิบายรายละเอียด ส่วนเรื่องการตั้งคณะกรรมการนั้นจะเกี่ยวเนื่องกับการอารักขาขบวนเสด็จหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ

อย่างไรก็ตาม พยานระบุว่าในตอนแรกที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนพยายามผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมออกนั้นได้ใช้อุปกรณ์คือโล่ แต่ในระหว่างที่ขบวนเสด็จแล่นมาถึงทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ใด นอกจากนี้ยังเบิกความอีกด้วยว่าตนเองไม่ทราบว่าการนั่งลงของกลุ่มผู้ชุมนุมคือการตรึงพื้นที่และทำไปเพื่อลดการปะทะ

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานได้รับคำสั่งให้ควบคุมดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา โดยเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนในพื้นที่การชุมนุมเป็นหลัก และอธิบายว่างานของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมี 2 หน่วยคือ หน่วยของ สน.ในท้องที่ และหน่วยเฉพาะของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเอง

ในวันที่เกิดเหตุ พยานระบุว่ามีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนถึง 6 กองร้อย จาก สน.ท้องที่นครบาล และตำรวจตระเวนชายแดน เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของการชุมนุม พยานระบุว่าตนเองทราบมาตลอดและเชื่อว่าทุกคนก็ทราบเช่นกัน

ส่วนเรื่องการเข้าประจำจุดที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลนั้น พยานได้รับมอบหมายให้ดูแล 4 จุดรอบทำเนียบรัฐบาล โดยดูแลตลอดจนกระทั่งสิ้นสุดภารกิจ และในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำได้ว่าเป็นช่วงเวลาระหว่างวันที่ 12 – 14 ต.ค. 2563 นั้น พยานไม่ได้กลับบ้านเลย อาศัยนอนในรถตู้ที่ด้านข้างทำเนียบฯ

พยานระบุว่าตนเองไม่ได้ประสานงานกับผู้ชุมนุม แต่การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้ชุมนุมอยู่ในการรับรู้ของพยานโดยตลอด และในทัศนะของพยาน มองว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลคือกลุ่มที่มารอผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวมาจากทางแยกนางเลิ้ง โดยพยานกล่าวว่านี่เป็นลักษณะปกติของการชุมนุม และหน้าที่หลักของพยานคือการควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมและดูแลทำเนียบฯ ไม่ใช่การอารักขาขบวนเสด็จ

อย่างไรก็ตาม พยานเบิกความว่าตนเองมองไม่เห็นผู้ที่มารับเสด็จในพื้นที่ระหว่างสวนมิสกวันถึงสะพานชมัยมรุเชฐ และยืนยันด้วยว่าพยานไม่ใช่หน่วยงานที่จะต้องทำหน้าที่ประกาศว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านหรือไม่ โดยบอกว่านั่นคือหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ในท้องที่

พยานเบิกความตนเองใช้วิทยุสื่อสารเครือข่ายเฉพาะของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเท่านั้น ไม่ได้เชื่อมต่อกับเครือข่ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ และอธิบายต่อไปว่าตำรวจราชสำนักกับตำรวจในท้องที่จะสื่อสารกันเพื่อถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ แต่ตนเองไม่ได้อยู่ในเครือข่ายนั้น และระหว่างที่ใช้เครือข่ายวิทยุของตนเองอยู่นั้น พยานทราบเพียงว่าจะมีขบวนเสด็จในวันดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่าจะมาถึงในเวลาใด นอกจากนี้พยานยังเบิกความว่าการจะเปลี่ยนแปลงเส้นทางขบวนเสด็จได้หรือไม่นั้น นอกเหนือจากสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ยังต้องมาจากพระราชบัณฑูรโดยเฉพาะเท่านั้น

พยานเบิกความถึง “ภักดี” ซึ่งหมายถึงนายตำรวจที่ขับรถคันที่ 3 ในขบวนเสด็จที่ต่อมาจากรถกรุยทางและรถมอเตอร์ไซค์ ว่าผู้ขับขี่หรือผู้ที่เป็นภักดีคือนายตำรวจของพระราชสำนัก และมีหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยงของเส้นทางขบวนเสด็จ

เกี่ยวกับเรื่องที่พยานถูกย้ายไปประจำที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหลังจบเหตุการณ์นั้น พยานระบุว่าจากการสอบสวนปรากฏว่าพยานไม่มีความผิดใด ทั้งยังได้รับการชมเชยว่าสามารถควบคุมดูแลสถานการณ์ได้ดี ทั้งที่การดูแลขบวนเสด็จเป็นภารกิจพิเศษที่แทรกเข้ามาไม่ใช่ภารกิจของพยานในวันนั้น

พยานยืนยันว่าไม่มีสมาชิกราชวงศ์คนใดได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บทางกายหรือจิตใจ และไม่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนคนใดที่ถูกผลักดันหรือกระทำการใดๆ ให้เกิดความบาดเจ็บโดยผู้ชุมนุม

ตอบพนักงานอัยการถามติง

อัยการถามว่าที่พยานตอบทนายจำเลยที่ 2 เรื่องไม่มีประกาศเส้นทางเสด็จ แต่ประชาชนที่มารับเสด็จจะทราบเอง ซึ่งพยานเบิกความว่าตนไม่อาจรู้ได้ว่าประชาชนที่มารับเสด็จทราบเรื่องขบวนเสด็จจากช่องทางใด ตนรู้เพียงแต่ว่าประชาชนทราบว่ามีขบวนเสด็จไปถวายกฐินพระราชทาน

อัยการให้พยานดูเอกสารซึ่งเป็นหมายในราชกิจจานุเบกษาที่ออกเมื่อ 9 ต.ค. 2563 เรื่องกำหนดการถวายกฐินพระราชทาน ซึ่งพยานระบุว่าเอกสารดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนทราบว่าอาจมีขบวนเสด็จ เพราะเอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดปรากฏไว้แล้วว่าเป็นขบวนเสด็จของใคร ในเวลาใด

นอกจากนี้ พยานยังระบุว่าบทสัมภาษณ์ของอานนท์ นำภา ต่อสื่อมวลชนให้ข้อมูลว่าได้กำหนดการชุมนุมไว้ล่วงหน้าแล้ว แม้จะมีขบวนเสด็จก็จะจัดการชุมนุมต่อไป และอานนท์ นำภา ยังได้ยอมรับในการสัมภาษณ์นั้นด้วยว่าในวันที่จะมีการชุมนุมอาจเป็นวันเดียวกับที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสด็จไปวัดพระแก้ว และยืนยันอีกว่าผู้ชุมนุมจะไม่ขัดขวางขบวนเสด็จ

พยานเบิกความว่าถ้าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนไม่ใช่ยุทธวิธีคล้องแขนและผลักดันผู้ชุมนุม ขบวนเสด็จอาจไม่สามารถเคลื่อนที่ผ่านไปได้ เพราะผู้ชุมนุมคงจะกีดขวางขบวนเสด็จ สำหรับเรื่องเวลาในการเคลื่อนขบวนเสด็จ พยานทราบว่าจะเคลื่อนในเวลา 17:00 น. แต่พยานไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัดว่าจะเคลื่อนมาเมื่อใด

ทนายจำเลยที่ 4-5 ขออนุญาตศาลถามต่อเนื่องจากพนักงานอัยการได้ยกเอกสาร ซึ่งขณะถามค้านฝ่ายทนายจำเลยไม่ได้ยกเอกสารดังกล่าวขึ้นมาแต่อย่างใด ซึ่งศาลอนุญาตให้ถามได้

ทนายจำเลยถามเรื่องการสัมภาษณ์ของอานนท์ นำภา และพยายามชี้ว่าแม้จะทราบเรื่องมีขบวนเสด็จ แต่ก็ไม่ทราบเรื่องเส้นทางในการเสด็จอยู่ดี แต่ศาลติงว่าเรื่องไม่ทราบเส้นทางนี้ได้สืบพยานกันมาตั้งแต่เช้าแล้ว และไม่ต้องการให้มีการถามในเรื่องนี้อีก เพราะศาลได้บันทึกไปแล้ว โดยสรุปศาลไม่ได้บันทึกในส่วนที่ทนายจำเลยที่ 4-5 ถามต่อ

.

ภาพจากสำนักข่าว REUTERS

.

พยานโจทก์ปากที่ 5 พ.ต.ท.โสภณ มุ่ยจั่น ผู้บังคับกองร้อยควบคุมฝูงชนจังหวัดอ่างทอง

ช่วงเกิดเหตุคดีนี้ พยานเป็นสารวัตรป้องกันและปราบปราม สภ.ไชโย จ.อ่างทอง และได้รับภารกิจพิเศษเป็นผู้บังคับกองร้อยควบคุมฝูงชน จ.อ่างทอง ที่ถูกเรียกกำลังเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ร่วมควบคุมฝูงชนในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่ 14–23 ต.ค. 2563 เนื่องจากมีการจัดการชุมนุม ซึ่งขณะนั้นพยานยังไม่ทราบตำแหน่งที่ตั้งของภารกิจ

ต่อมาวันที่ 13 ต.ค. 2563 มีการประชุมรับมอบภารกิจที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งพยานเข้าร่วมด้วย ก่อนมีการนำกำลังในกองร้อยมาที่ประจำที่สะพานชมัยมรุเชฐในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 10:00 น. และภารกิจหลักคือการควบคุมดูแลพื้นที่บริเวณเชิงสะพานชมันมรุเชฐฝั่งสำนักงาน กพ. และฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล

ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานนำกำลัง 155 คน (1 กองร้อย) เข้าประจำจุดเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อสังเกตการณ์ ควบคุมดูแลสถานการณ์ ซึ่งตัวพยานอยู่ในเหตุการณ์โดยตลอด จนกระทั่งเวลาประมาณ 14:00 น. พยานเห็นว่าเริ่มมีผู้ชุมนุมเข้ามาบริเวณถนนพิษณุโลก โดยกระจายกันมาตามถนนและฟุตบาท พยานประเมินว่ามีจำนวนประมาณ 50 คน ก่อนจะทยอยเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ จนมีจำนวนประมาณ 300 คน

จุดที่พยานประจำอยู่มีแท่งปูนแบริเออร์และแผงรั้วเหล็กวางป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าสู่ทำเนียบฯ ต่อมามีผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งพยายามรุกเข้าไปและรื้อถอนเครื่องกีดขวางดังกล่าว ซึ่งพยานไม่สามารถกีดขวางได้ จึงรายงานไปยัง พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ จากนั้นก็ได้รับคำสั่งให้นำรถตู้ 12 คัน ที่ใช้ขนกำลังมาจาก จ.อ่างทอง ไปจอดขวางเส้นทางโดยให้ปิดทุกช่องทางและหันหน้ารถไปทางแยกนางเลิ้ง เพื่อกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปยังทำเนียบฯ

ก่อนนำรถตู้มาจอดนั้น มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปในบริเวณพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว โดยมีราวๆ 200 คน และมีเอกชัย หรือจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วย ซึ่งพยานเห็นว่าเขากำลังเดินไปเดินมาอยู่หลังแนวรถตู้  ทั้งนี้ พยานทราบจากผู้บัญชาการว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านถนนพิษณุโลก และขบวนเสด็จจะเริ่มเคลื่อนในเวลา 17:00 น.

เกี่ยวกับการนำรถตู้ไปจอดขวาง พยานระบุว่าเพื่อป้องกันผู้ชุมนุมเข้ามาเพิ่ม แต่ก็เป็นการจอดทิ้งไว้ ไม่ได้มีการผลักดัน ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนสามารถข้ามเข้าไปได้ ในขณะนั้นพยานทราบว่า พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ได้รับรายงานว่าขบวนเสด็จใกล้จะมาถึงแล้ว จึงสั่งให้เคลียร์พื้นที่ โดยการผลักดันผู้ชุมนุมออกไปจากถนน

พยานเล่าว่าในการเคลียร์ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่นั้นใช้วิธีการพูดปากเปล่า และสามารถผลักดันผู้ชุมนุมออกไปได้บางส่วน ขณะนั้นพยานเริ่มมองเห็นขบวนเสด็จมาถึงที่บริเวณมุมถนนพิษณุโลกแล้ว โดยอยู่ห่างจากเชิงสะพานชมัยมรุเชฐประมาณ 100 เมตร แต่พยานก็ยังไม่สามารถเคลียร์ผู้ชุมนุมออกจากพื้นผิวเส้นทางเสด็จได้ทั้งหมด พล.ต.ต.มานพ จึงสั่งการให้มีการตั้งแถวผลักดันผู้ชุมนุมแหวกช่องให้ขบวนเสด็จสามารถผ่านไปได้

พยานเบิกความตามภาพในเอกสารว่ารถกรุยทางมาถึงเมื่อเวลาประมาณ 17:18 น. และต่อมาอีก 2 นาที ก็มีรถนำขบวนออกมาจำนวน 3 คัน ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีผู้ชุมนุมคนใดเข้าไปขัดขวาง แต่หลังจากนั้นไม่กี่นาทีก็เริ่มมีผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไป เป็นชาย 2 คน ยืนกางแขนต่อกันหน้าแถวเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ซึ่งทั้งสองเข้ามาในเวลาเดียวกับที่เจ้าหน้าที่เริ่มปรับแถวเป็นตัว U

พยานกล่าวต่อว่ารถนำขบวนเสด็จทั้ง 3 คัน เคลื่อนที่ผ่านไปได้ด้วยดี แต่รถพระที่นั่งเคลื่อนที่ไปได้ช้ามาก และในตอนนั้นพยานเห็นผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งนั่งขวางอยู่บนพื้นผิวถนนพิษณุโลก ซึ่งเห็นด้วยว่ามีผู้สั่งให้พวกเขาเหล่านั้นนั่งลง แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนสั่ง โดยที่พยานและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนก็ได้ตะโกนบอกให้ผู้ชุมนุมที่นั่งอยู่หลบออกไปให้พ้นเส้นทาง แต่ทางผู้ชุมนุมยังนิ่ง ไม่ฟัง ซ้ำยังตะโกนถ้อยคำที่จับใจความไม่ได้ พยานและเจ้าหน้าที่จึงใช้วิธีการผลักดันออกโดยหิ้ว ลาก ซึ่งใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถนำผู้ชุมนุมออกจากเส้นทางได้

พยานเบิกความว่าตนเองไม่ได้วิ่งตามขบวนเสด็จไป และเมื่อขบวนเคลื่อนผ่านไปแล้ว ผู้ชุมนุมกว่า 400 คน ก็เข้ายึดถนนพิษณุโลก ซึ่งพยานไม่ได้ทำอะไรอีก เพียงแต่กลับเข้าไปประจำจุดเดิม และไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดในหน่วยงานของพยานได้รับบาดเจ็บ

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานเบิกความผู้ชุมนุมทยอยเข้ามาบนสะพานฯ เมื่อเวลาประมาณ 13:00 น. เป็นผู้ชุมนุมกลุ่มเล็ก และไม่มีการตั้งเวที หรือนำเครื่องปั่นไฟมาวางแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีอาวุธหรือสิ่งผิดกฎหมายด้วย

ในช่วงก่อนขบวนเสด็จจะมาถึงที่เกิดเหตุ ในพื้นที่มีผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถแยกผู้ชุมนุมออกจากประชาชนทั่วไปได้ เพราะมีการปิดการจราจร ทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมีแต่ผู้ชุมนุมเป็นส่วนใหญ่

เกี่ยวกับแท่งปูนที่ผู้ชุมนุมพยายามรื้อถอนนั้นไม่ปรากฏว่ามีความเสียหายแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ พยานยอมรับว่าการนำรถตู้มาจอดขวางจะทำให้การจราจรไม่สามารถดำเนินได้ตามปกติ และสำหรับเรื่องเส้นทางเสด็จนั้น พยานได้รับทราบและรับการยืนยันจาก พล.ต.ต.มานพ จากนั้นก็นำไปแจ้งต่อลูกน้อง เพื่อเตรียมการ

พยานระบุว่านอกจากจำเลยที่ 1 แล้ว พยานไม่รู้จักใครในคดีนี้อีก และไม่รู้ว่าใครคือผู้นำในการจัดการชุมนุม ส่วนเหตุที่สามารถจดจำจำเลยที่ 1 ได้เพราะมีลักษณะพิเศษคือเสียงดัง แม้ไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียง

ในขณะที่เกิดเหตุพยานได้ยินเสียงอื้ออึง ทั้งเสียงตะโกนโดยที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ตะโกน และลูกน้องของพยานจะได้ยินเสียงเหล่านั้นหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ ทั้งระบุว่าไม่มีผู้ชุมนุมคนใดขว้างปาสิ่งของใส่ขบวนเสด็จหรือรถพระที่นั่ง และเมื่อรถพระที่นั่งสามารถผ่านแนวรถตู้ไปก็สามารถแล่นต่อไปได้โดยสะดวก ทั้งรถตู้และทรัพย์สินของตำรวจซึ่งมาจากจังหวัดอ่างทอง ไม่ได้ความเสียหายใดๆ

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

พยานได้รับคำสั่งให้มาดูแลเรื่องการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ไม่ใช่เรื่องขบวนเสด็จ และไม่ทราบว่าจะมีขบวนเสด็จจนกระทั่งในวันที่เกิดเหตุ แต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นขบวนเสด็จของใคร และในวันที่เกิดเหตุ พยานจำได้ว่ามีการประกาศขอเส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ขบวนเสด็จ แต่พยานจำถ้อยคำในประกาศไม่ได้

ต่อมาพยานเบิกความว่าระหว่างเส้นทางถนนพิษณุโลกไม่มีธงประจำพระองค์ของสมาชิกราชวงศ์คนใด แต่เมื่อขบวนเสด็จมาถึงพยานก็มองเห็นว่าเป็นขบวนเสด็จของพระราชินี และเห็นได้ชัดเจนทรงแย้มพระสรวล

เกี่ยวกับชาย 2 คนที่อยู่ด้านหน้าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน พยานระบุว่าทั้งสองยืนกางแขนจับมือกัน แต่ก็ยอมรับด้วยว่าหากยืนอยู่ที่ด้านหน้าแถวของเจ้าหน้าที่ อาจมองไม่เห็นขบวนรถที่อยู่ด้านหลัง

พยานไม่เคยทำหน้าที่ควบคุมดูแลฝูงชนในฐานะผู้บังคับการกองร้อยมาก่อน ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ แต่เคยเป็นลูกแถวควบคุมฝูงชนมาบ้าง เพราะเคยประจำในสังกัดนครบาล โดยพยานทราบว่าในวันที่เกิดเหตุผู้ชุมนุมเกรงว่าจะมีการสลายการชุมนุม กลัวการใช้แก๊สน้ำตา แต่พยานยืนยันว่าตามปกติแล้ว เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะมีขั้นตอนปฏิบัติ มิใช่ว่าจู่ๆ จะเข้าสลายการชุมนุมในทันที

เมื่อถามว่าการนั่งลงของผู้ชุมนุมหมายถึงการลดความรุนแรงจากการที่ผลักดันกันอยู่กับเจ้าหน้าที่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ใช่ เพราะเป็นการเพิ่มความยากในการผลักดันของเจ้าหน้าที่มากกว่า ซึ่งศาลแจ้งให้ไปถามคำถามนี้ในมุมของจำเลย ซึ่งเป็นผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม พยานยอมรับว่าการนำรถตู้ออกไปจากเส้นทางจะทำให้ขบวนเสด็จเคลื่อนที่ได้ดีกว่า

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานเบิกความว่านำกำลังมาจาก จ.อ่างทอง จำนวน 155 นาย แต่ในที่เกิดเหตุจะมีกำลังทั้งหมดกี่นาย พยานไม่ทราบและระบุด้วยว่ากำลังของตนเองทั้งหมดอยู่ในการจัดแถวรูปตัว U

ในการประกาศขอให้อำนวยความสะดวกแก่ขบวนเสด็จของพยานนั้น ไม่ได้กระทำโดยใช้เครื่องขยายเสียง แต่มีเสียงจากเครื่องขยายเสียงประกาศอยู่ด้วย โดยเป็นเสียงจากรถกรุยทางในขบวนเสด็จ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นคันใด

จากวิดีโอภาพจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ ในระยะ 20 วินาทีแรก พยานยังไม่เห็นว่ามีขบวนเสด็จปรากฏ จนกระทั่งวินาทีที่ 31 จึงมีภาพหัวขบวนเสด็จปรากฏขึ้นมา ซึ่งพยานระบุว่าในวันที่เกิดเหตุนั้นตนเองอยู่ในแถวเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงด้านหน้า และมองไม่เห็นจำเลยที่ 2-3

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าตำรวจปราบจลาจลหรือเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะมีการตั้งศูนย์เครือข่ายวิทยุขึ้นสำหรับผู้บัญชาการกองร้อย และรองฯ ซึ่งพยานก็ใช้เครือข่ายดังกล่าว แต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ลูกชุดจะใช้เครือข่ายของ จ.อ่างทอง การรับข่าวสารในวันที่เกิดเหตุจึงใช้วิธีการโทรเข้าเบอร์ส่วนตัวของพยานด้วย แต่ทว่าพยานก็ไม่ได้ทราบความเคลื่อนไหวของขบวนเสด็จผ่านเครือข่ายวิทยุใด

จากที่พยานเบิกความไว้ว่ามองเห็นชาย 2 คน ยืนกางแขนจับมือกัน พยานระบุว่าไม่ได้มองเห็นทั้งสองขณะที่กำลังอยู่ในแถว และไม่ทราบว่าชายทั้งสองกางแขนเพื่อขวางกั้นขบวนเสด็จหรือไม่ และในช่วงที่กำลังแหวกแถวออกเพื่อให้รถพระที่นั่งเคลื่อนที่ผ่านไปได้ พยานซึ่งอยู่ในแถวก็ไม่ทันได้สังเกตว่าใครกำลังทำอิริยาบถอย่างไร

ในระหว่างที่ขบวนรถพระที่นั่งและรถสีแดงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนเสด็จแล่นผ่าน พยานยืนหันหน้าเข้าหาขบวนเสด็จและไม่เห็นว่ามีใครเข้าไปขัดขวางเส้นทางเสด็จหรือไม่ และระหว่างนั้นผู้ชุมนุมมีการดึงดันกับเจ้าหน้าที่บ้าง แต่ไม่ถึงขึ้นที่ว่าล้มใส่แนวขบวน

พยานประจำการจนถึงเวลา 11:00 น. ของวันที่ 15 ต.ค. 2563 ซึ่งพยานเห็นว่าหลังขบวนเสด็จผ่านพ้นไปแล้ว ก็มีผู้ชุมนุมมาเพิ่มเรื่อยๆ แต่พยานไม่ทราบว่ามีการเจรจาใดๆ ระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่หรือไม่ แต่โดยภาพรวมแล้วสถานการณ์เรียบร้อยดี กระทั่งเมื่อเวลา 12:00 น. พยานและกองร้อยจึงได้รับคำสั่งให้เข้าไปพักในทำเนียบรัฐบาล โดยไม่ทราบเรื่องการสลายการชุมนุมในเวลาต่อมา คือในช่วงตีห้าของวันที่ 15 ต.ค. 2563

ทั้งนี้ ในกรณีการเคลื่อนที่ของรถพระที่นั่งในวันที่เกิดเหตุ พยานระบุว่าเป็นการเคลื่อนบ้าง หยุดบ้าง เพราะมีคนขวางทาง เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจึงต้องพยายามเคลียร์คนออกจากพื้นผิวจราจร แต่ที่ไม่นำรถตู้ออกก็เพราะเกรงว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะพากันกรูเข้ามา

.

พยานโจทก์ปากที่ 6 ส.ต.ท.วรเมฆ เมฆขลา ตำรวจสายสืบ สน.ดุสิต

พยานเป็นตำรวจสายสืบของ สน.ดุสิต ที่จริงมีตำแหน่งอยู่หน่วยงานปราบปรามยาเสพติดแต่ถูกดึงมาช่วยงานสืบสวน ตั้งแต่ พ.ค. 2563 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้รับคำสั่งจาก จากผู้กำกับ สน.ดุสิต ในขณะนั้น ให้สืบสวนหาข่าวผู้ชุมนุม โดยปะปนไปกับผู้ชุมนุมและเริ่มต้นสืบตั้งแต่ 08:00 น. และในเวลาประมาณเที่ยงวัน พยานได้พบจำเลยที่ 1 ในที่ชุมนุม โดยเห็นว่าจำเลยที่ 1 ลงมาจากรถยนต์ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พยานได้ติดตามความเคลื่อนไหวของจำเลยที่ 1 มาก่อนแล้วจึงจำได้

พยานเบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 ชูภาพหมุดคณะราษฎรจำลอง และเตรียมถ่ายภาพที่ลานพระบรมรูปฯ ซึ่งพยานก็ได้เข้าไปแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าตำรวจและเจรจากับจำเลยที่ 1 ว่าไม่ให้ถ่ายภาพดังกล่าว ต่อมาผู้กำกับ สน.ดุสิต ก็มาเชิญตัวจำเลยที่ 1 ไปทำประวัติ แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธโดยอ้างว่าจะไปพบผู้ชุมนุมที่สะพานชมัยมรุเชฐ จากนั้นผู้กำกับ สน.ดุสิต จึงนั่งรถไปกับจำเลยที่ 1 และพยานก็ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ติดตามไป

เวลา 15:00 น. พยานได้รับคำสั่งให้ไปที่สะพานชมัยมรุเชฐ เพราะผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบฯ โดยพยานได้รับคำสั่งให้ปะปนไปกับผู้ชุมนุมเพื่อหาข่าว เมื่อพยานไปถึงได้มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนประจำการอยู่แล้ว และพยานในฐานะตำรวจจาก สน.ดุสิต ทราบมาก่อนว่าจะมีขบวนเสด็จ ก็ได้ปะปนไปกับผู้ชุมนุม โดยพยานยืนประจำอยู่บนถนนนครปฐม หรือฝั่งสำนักงาน กพ.

ช่วงเวลา 17:00 น. พยานเบิกความว่าเห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและผู้ชุมนุมถกเถียงกันเรื่องทัศนะการเมือง และระบุว่าเห็นจำเลยที่ 2 ด้วย แต่ขณะพิจารณาคดี พยานไม่สามารถชี้ตัวจำเลยที่ 2 ได้

ต่อมา พยานมองเห็นรถเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจอดอยู่บนสะพาน เพื่อกันไม่ให้ผู้ชุมนุมข้ามไปฝั่งทำเนียบฯ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยมาเพิ่มเรื่อยๆ จากทางแยกนางเลิ้ง เป็นจำนวนราว 200 คน พยานระบุว่าตนเองทราบว่าผู้กำกับ สน.ดุสิต เป็นผู้จัดการพื้นที่ มีหน้าที่เคลียร์เส้นทางโดยกระทำร่วมกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน จากนั้นอธิบายว่าการปฏิบัติงานมีขั้นตอน เริ่มจากการประกาศขอพื้นที่ ซึ่งพยานบอกว่าในระหว่างประกาศ พยานมองเห็นจำเลยที่ 1 ยังอยู่ในพื้นที่

พยานกล่าวว่าตำรวจจาก สน.ดุสิต ประชาสัมพันธ์อีกครั้งหนึ่งว่าให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ แต่ไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจึงพยายามรุกคืบโดยการเดินแถวหน้ากระดานเข้าหาผู้ชุมนุม จากนั้นพยานเห็นรถนำขบวนทั้ง 3 คัน หลุดออกมาจากแถวแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน และต่อมาก็เห็นว่ารถตู้บนสะพานเปิดออกหนึ่งช่องทาง และได้ยินเสียงประกาศว่า “ขออนุญาตนะครับ มีขบวน” แต่ว่าเวลานั้นรถพระที่นั่งยังอยู่หลังแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

พยานเบิกความอีกว่าเมื่อรถนำขบวนเสด็จคันที่ 3 พ้นแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนออกมาแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ปิดแถวล้อมรถพระที่นั่ง และในขณะนั้นพยานมองเห็นชาย 2 คน ยืนกางแขนกัน แต่พยานก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ซึ่งการกระทำนั้นพยานมองว่าเป็นการขัดขวางขบวนเสด็จ

พยานเล่าว่าเมื่อรถพระที่นั่งเคลื่อนไปเรื่อยๆ แล้ว ก็มีผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งนั่งลงบนพื้นถนน ซึ่งตอนนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนรุกคืบไปได้ยาก จึงมีการขอแรงตำรวจที่ไม่ได้อยู่แนวหน้าเข้าไปช่วย ซึ่งพยานในฐานะตำรวจก็ได้เข้าไปร่วมผลักดันผู้ชุมนุมด้วย โดยมีนายตำรวจคนอื่นๆ เข้าไปช่วยกัน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5 นาที ก็สามารถผลักดันผู้ชุมนุมออกไปได้

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าทราบเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่มีต่อรัฐบาล โดยทราบจากข่าวออนไลน์ และในพื้นที่ สน.ดุสิต ก็มีการชุมนุมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุในคดีนี้ และทุกๆ การชุมนุมก็มีการชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว ตลอด

พยานกล่าวว่ารู้จักจำเลยที่ 1 จากเฟซบุ๊กของจำเลยเอง เพราะตั้งชื่อเป็นภาษาไทยและรู้ว่ามักโพสต์เกี่ยวกับข้อเรียกร้องทางการเมือง และสำหรับในเหตุการณ์นี้ พยานเล่าว่าเจอจำเลยที่ 1 ครั้งแรกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นก็มาเจออีกครั้งหนึ่งที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อเวลาประมาณ 17:00 น. เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าผู้กำกับ สน.ดุสิต ได้เชิญจำเลยที่ 1 ไปทำประวัติและถูกปฏิเสธนั้น เป็นการเชิญโดยไม่มีหมายใด

พยานเบิกความว่าปะปนไปกับผู้ชุมนุม ซึ่งไม่พบว่ามีผู้ชุมนุมคนใดมีสิ่งผิดกฎหมายใดๆ โดยระหว่างปะปนไปในการชุมนุมนั้น พยานได้ติดตามจำเลยที่ 1 ไปด้วย เพราะมีประเด็นที่น่าติดตามตั้งแต่ที่ลานพระบรมรูปฯ แต่พยานไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ติดตามจำเลยที่ 1 อยู่อีกหรือไม่ และตลอดเวลาที่ติดตามอยู่ พยานไม่เห็นว่ามีคนมาห้อมล้อมจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้โทรโข่ง

ในทางการข่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีข้อมูลว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะทำการประทุษร้ายสมาชิกราชวงศ์คนใด รวมทั้งจำเลยทั้ง 5 คนด้วย

เกี่ยวกับรถตู้บนสะพาน พยานเบิกความว่าจำได้ว่ามีรถตู้มาจอด แต่จำไม่ได้ว่ารถดังกล่าวเป็นของหน่วยงานใด และจอดในลักษณะใด

พยานเบิกความย้อนไปว่าในวันที่เกิดเหตุช่วงเวลา 15:00 น. พยานกลับไปที่ สน. ก่อน และกลับมายังที่เกิดเหตุอีกครั้ง โดยไม่ได้แจ้งใครในที่ชุมนุมเกี่ยวกับเรื่องขบวนเสด็จ ในเหตุการณ์ พยานไม่เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดถูกทำร้าย ไม่มีการทำลายสิ่งของ และไม่มีใครขว้างปาสิ่งของใส่ขบวนเสด็จ ในเวลาที่ขบวนเสด็จผ่าน ผู้ชุมนุมต่างอยู่ในอิริยาบถ ยืน นั่ง บ้างก็หันหลังในขบวนเสด็จ แต่ไม่มีใครเข้าไปถึงขบวนเสด็จ

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาข่าวเรื่องการชุมนุมเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องขบวนเสด็จ แต่ทราบว่าจะมีขบวนเสด็จในวันเดียวกัน ซึ่งจากการข่าวเกี่ยวกับผู้ชุมนุมนั้นก็มีเพียงข้อเรียกร้อง 3 ประการ และความต้องการเข้ายื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีเรื่องการประทุษร้ายใดๆ

เกี่ยวกับรถกรุยทาง พยานเบิกความว่ามีลักษณะคล้ายกับขบวนรถของรัฐมนตรี หากเห็นเพียงแค่เห็นรถนำขบวน ก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นขบวนอะไร

ในขณะที่เกิดเหตุ พยานอยู่ฝั่งซ้ายของรถพระที่นั่งและสามารถมองเห็นพระราชินีกับเจ้าฟ้าทีปังกรฯ ได้ชัดเจน เพราะอยู่ห่างจากตัวรถประมาณ 5 เมตร ทั้งนี้ พยานไม่เห็นการประดับธงประจำพระองค์ และไม่เป็นประชาชนคนใดเข้าใกล้รถพระที่นั่ง รวมทั้งรถคันอื่นๆ ในขบวน

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

เนื่องจากพยานเบิกความในตอนแรกว่ามีรถประกาศขอทางให้ขบวนเสด็จ ทนายจึงให้พยานดูวิดีโอที่มีเสียงประกาศดังกล่าว เพื่อยืนยันว่าในวันที่เกิดเหตุมีการประกาศด้วยถ้อยคำว่าอย่างไร จากนั้นพยานก็เบิกความต่อว่าที่ตนเองทราบเรื่องขบวนเสด็จก่อนที่จะถึงวันเกิดเหตุนั้น เพราะตนเองเป็นตำรวจของ สน.ดุสิต ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง สน.ดุสิต ก็ทราบเรื่องดังกล่าวด้วย แต่ประชาชนจะรับทราบเรื่องดังกล่าวนี้ด้วยหรือไม่นั้น ตนเองไม่อาจทราบได้ ทั้งเกี่ยวกับหมายเสด็จ พยานเบิกความว่าในเอกสารดังกล่าวไม่มีการระบุเส้นทางเสด็จไว้

ในวันที่เกิดเหตุ พยานสวมใส่เสื้อสีส้ม-ดำ กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ โดยปะปนไปกับผู้ชุมนุมที่สะพานชมัยมรุเชฐ แต่พยานจำไม่ได้ว่าไปถึงที่สะพานเมื่อเวลากี่โมง และจำไม่ได้ด้วยว่าผู้กำกับ สน.ดุสิต มาตรวจจุดประจำตอนเวลากี่โมง

สำหรับการโต้เถียงกันระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและผู้ชุมนุมนั้น พยานไม่เห็นการใช้ความรุนแรงถึงขั้นลงไม้ลงมือ แต่ในขณะที่มีการดึงผู้ชุมนุมออกจากเส้นทางเสด็จนั้น พยานยอมรับว่ามีการใช้กำลังดึงลากผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ และมีการตั้งแถวในลักษณะที่อาจทำให้ผู้ชุมนุมเข้าใจได้ว่าจะมีการสลายการชุมนุม

การนั่งลงบนพื้นผิวถนนของผู้ชุมนุมนั้น พยานเบิกความว่าใช้เวลานั่งอยู่ 1–2 นาที ก็ถูกเจ้าหน้าที่ดึงออก ทั้งนี้ พยานยอมรับว่าสิ่งกีดขวางเดียวบนสะพานชมัยมรุเชฐคือ รถตู้

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานเบิกความว่ามีพยานและเพื่อนที่เป็นตำรวจ สน.ดุสิต ปะปนเข้าไปกับผู้ชุมนุมทั้งหมด 7 คน แต่พยานไม่ทราบว่าจะมีสายสืบจากหน่วยอื่นอีกหรือไม่ ในการปฏิบัติงาน พยานทำงานเป็นทีม ไม่มีคู่หู แต่ละคนจะมีพิกัดของกันและกัน และในการทำงานพยานจะไม่ใช้กล้องถ่ายภาพ แต่จะใช้โทรศัพท์มือถือ สำหรับเจ้าหน้าที่สายสืบคนอื่นๆ พยานไม่ทราบว่าใช้อุปกรณ์อะไรในการทำงาน โดยในคดีนี้พยานไม่ได้เข้าจับกุมจำเลยคนใด เพียงแต่มีหน้าที่ปะปนไปสืบข่าวเท่านั้น

ทนายเปิดวิดีโอซึ่งเป็นภาพของพยานในที่เกิดเหตุ โดยพยานกำลังพยายามวิ่งมุดฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าควบคุมฝูงชนเข้าไปด้านใน โดยมีการกระซิบกับเจ้าหน้าที่ก่อนครู่หนึ่ง ซึ่งพยานอธิบายว่าตนกำลังพยายามขอทางกลุ่มผู้ชุมนุมและบอกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนว่าจะมีขบวนเสด็จ และเบิกความต่อว่าจากนั้นตนก็อยู่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐฝั่งทำเนียบรัฐบาล ไม่ได้ข้ามไปทางแยกนางเลิ้ง

ในขณะที่เกิดเหตุ พยานเบิกความว่าตนเองมองเห็นพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ อย่างชัดเจน และเชื่อว่าผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ก็สามารถเห็นได้ ส่วนเรื่องนั่งลงของผู้ชุมนุมนั้น พยานมองว่าเป็นการตั้งใจขวางเพื่อไม่ให้ขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านไปได้

.

ภาพจากสำนักข่าว REUTERS

.

พยานโจทก์ปากที่ 7 ด.ต.อริศรัญ สร้อยทอง ตำรวจขับรถนำขบวนเสด็จ 

พยานรับราชการที่กองบังคับการจราจรตั้งแต่ 2557 จนถึงปัจจุบัน ทำหน้าที่ขับรถนำขบวนเสด็จเป็นหน้าที่หลัก ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลจราจรทั่วไป พยานได้รับแจ้งจากหมายเสด็จที่ส่งมายังกองบังคับการจราจรของสมเด็จพระราชินีก่อนหน้าวันเสด็จ 4-5 วัน โดยเส้นทางที่ขับไปคือเส้นทางถนนราชดำเนินและถนนพิษณุโลก

ในวันเกิดเหตุ พยานได้เตรียมนำขบวนเสด็จ เวลา 15.00 น. โดยได้ขับรถจราจร BMW เบิกทาง ในรถมีตำรวจรวมกัน 4 นาย โดยพยานเป็นคนขับรถและใช้เครื่องขยายเสียง โดยรถเบิกทางจะมีเครื่องขยายเสียงติดอยู่หน้ารถ วิธีติดต่อคือวิทยุสื่อสาร ในการประสานงานติดต่อกับรถคันอื่น ส่วนหน่วยอื่นๆ ก็มีเครือข่ายกับวิทยุศูนย์รามาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยอื่นๆ ตลอดเส้นทาง ในช่วงเวลาระหว่าง 15.00-16.30 น. ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยดี

เวลา 17.00 น. พยานได้ประสานกับวิทยุศูนย์รามาตลอด รถของพยานอยู่คันหน้าสุดของขบวน ก่อนได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุรามาว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุม 5-10 คน แถวหน้าทำเนียบรัฐบาลในเวลา 17.01 น. และมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น พยานได้ถามผู้บังคับบัญชาว่าจะยืนยันเส้นทางเดิมหรือไม่ ผู้บังคับบัญชายืนยันให้ใช้เส้นทางเดิม เนื่องจากไม่มีเส้นทางสำรอง นอกจากนี้ผู้บังคับบัญชาได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนประสานเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเปิดช่องทางขบวนเสด็จ 

หลังจากยืนยันเส้นทางแล้ว พยานได้แจ้งศูนย์วิทยุรามาให้ คฝ. จัดกำลังซ้ายขวาให้ขบวนเสด็จวิ่งผ่าน หลังขบวนเสด็จออก พยานได้ขับรถเปิดทางมาจากพระบรมรูปทรงม้า โดยมีรถจักรยานยนต์ 2 คัน ตามด้วยรถตำรวจราชสำนักมีสัญญาณไฟ, รถพระที่นั่งของสมเด็จพระราชินี ถัดไปเป็นรถสำรองและรถตามขบวนหลายคัน พยานเบิกความยืนยันว่า ขบวนเสด็จดังกล่าวจัดตามหมายกำหนดพระราชพิธี

ต่อมา หลังพยานนำขบวนมาถึงแยกมิสกวันและถนนพิษณุโลก เห็นกลุ่ม คฝ. ยืนเรียงกันขวางถนนอยู่ พยานได้แจ้งศูนย์วิทยุรามาให้ คฝ. ตั้งแถวเปิดทาง เพื่อให้ขบวนเสด็จผ่านไป พยานเบิกความว่า กรณีเจอเหตุขัดข้อง ถ้าขบวนเสด็จผ่านไปไม่ได้ ก็จะมีการชะลอรถ แต่หากหยุดนิ่งเกิน 10-15 วินาที เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะต้องชักล้อมพระที่นั่ง แผนดังกล่าวจะต้องใช้ทุกกรณีที่ขบวนเสด็จมีการหยุดนิ่ง

ในระหว่างเกิดเหตุ ขบวนรถไหลไปเรื่อยๆ ในลักษณะไหลไปหยุดไป โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้เปิดเส้นทางหนึ่งช่องจราจรตรงกลางเลน และตำรวจได้ชักล้อมพระที่นั่งเปิดให้รถในขบวนออกไปทีละคัน พยานได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนขอให้ขบวนเสด็จผ่านไปก่อน โดยพยานประกาศตั้งแต่เห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน แล้วก็ประกาศซ้ำไปเรื่อยๆ จนถึงบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ

พยานคอยประสานให้มวลชนเปิดทางให้ขบวนเสด็จอยู่ด้านหน้า แต่ไมได้มีมวลชนขัดขวางรถของพยานและรถตำรวจไม่ให้เคลื่อนที่ พยานติดอยู่ที่สะพานชมัยมรุเชฐประมาณ 2-3 นาที ด้านซ้ายขวามีกลุ่มมวลชนที่มาชุมนุม ส่วนด้านหน้ามีรถตู้อยู่คันหนึ่ง พยานได้รับแจ้งว่าขบวนเสด็จมีการหยุดนิ่ง 1 ครั้ง 

หลังพยานรออยู่ที่สะพาน ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ในขบวนเสด็จว่าให้เบิกทางไปแยกถัดไป ตรงหน้าของพยานมีมวลชนอยู่ประมาณ 7-8 คน แต่ดูไม่ได้มีอันตรายเนื่องจากยืนกันอยู่บนทางเท้า หลังผ่านสะพานชมัยมรุเชฐไปได้ก็ทางสะดวก ไม่มีสิ่งใดกีดขวางอีก ขบวนเสด็จที่เหลือตามมาจากด้านหลัง โดยพยานได้ขับรถอยู่ที่ความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตร 

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

เกี่ยวกับการทำหน้าที่นำขบวนเสด็จ พยานจะทราบว่าต้องขับนำรถพระองค์ใดขึ้นอยู่กับหมายสั่งการในแต่ละครั้ง พยานรับว่าทราบจากสื่อว่าเส้นทางขบวนเสด็จในวันเกิดเหตุ เป็นเส้นทางเดียวกันกับที่มีการชุมนุมทางการเมือง แต่พยานไม่ทราบว่าจะมีการประกาศการชุมนุมก่อนหน้าหรือไม่

พยานรับว่า ในหมายกำหนดการขบวนเสด็จจะไม่ได้มีการระบุเส้นทางเสด็จไว้ แต่หมายสั่งการจะมีการระบุเส้นทางไว้ รวมถึงมีการประชุมว่าจะใช้เส้นทางใด โดยพยานระบุว่าจำไม่ได้ว่าผู้บังคับบัญชาทื่ยืนยันให้ใช้เส้นทางเดิมในวันเกิดเหตุนั้นเป็นใคร ตำแหน่งอะไร เนื่องจากช่วงนั้นมีความวุ่นวาย มีการใช้วิทยุหลายสาย รวมถึงพยานจำไม่ได้ว่าหมายสั่งการจะมีการระบุเส้นทางสำรองไว้ด้วยหรือไหม 

ตอนที่พยานกำลังเตรียมขบวนเสด็จ พยานไม่ทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐมีกี่คน รวมถึงไม่มีใครแจ้งว่าจะมีคนมาประทุษร้ายพระบรมวงศานุวงศ์ แต่เมื่อมาถึงบริเวณเชิงสะพานฯ แล้ว ก็เห็นว่ามีกลุ่ม คฝ. และกลุ่มผู้ชุมนุมซ้ายขวาประมาณ 30-40 คน จะมีผู้ชุมนุมคนใดขว้างปาสิ่งของใส่รถขบวนเสด็จหรือไม่ พยานไม่ทราบ เพราะว่าพยานขับนำมาก่อน แต่รถเบิกของพยานไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด 

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

พยานเบิกความรับว่า โดยปกติจะมีการเตรียมเส้นทางหลักและเส้นทางรองในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเช่นมีเหตุการณ์เพลิงไหม้ หรือเส้นทางข้างหน้าไปต่อไม่ได้  สำหรับในรถเบิกทาง มีวิทยุทั้งหมด 12 ช่อง พยานได้ใช้ช่องวิทยุผ่านฟ้าและช่องวิทยุรามาเป็นหลัก ก่อนขบวนเสด็จออกได้มีการสอบถามและยืนยันการใช้เส้นทางหลักเรียบร้อยแล้ว ถึงได้ขับรถเบิกทางออกไป 

พยานได้รับแจ้งเหตุการณ์เรื่องการชุมนุมโดยตลอด อีกทั้งยอมรับว่าจะต้องมีการยืนยันเส้นทางขบวนเสด็จว่าปลอดภัยถึงค่อยออกเดินทาง พยานรับว่าได้ประกาศกับกับประชาชนว่าขอเส้นทางให้ขบวนเสด็จผ่าน แต่ไม่ได้ประกาศว่าขบวนเสด็จเป็นของใคร ซึ่งปกติพยานจะไม่ประกาศเพราะไม่ได้มีเหตุขัดข้องอะไร

ทนายจำเลยถามค้านว่า หากเปิดให้ คฝ. ที่ชักล้อมรถพระที่นั่งเปิดทางออกแล้วให้รถวิ่ง ขบวนเสด็จจะเคลื่อนตัวได้เร็วกว่าใช่หรือไม่ พยานยอมรับว่าหาก คฝ. เปิดให้ขบวนเสด็จวิ่งผ่าน การเคลื่อนตัวจะเร็วกว่า แต่เหตุที่ต้องชักล้อมพระที่นั่ง แล้วให้รถในขบวนเคลื่อนผ่านไปทีละคัน เนื่องจากมีกลุ่มมวลชนล้อมรอบเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องชะลอความเร็วเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ในขณะเดียวกันขบวนเสด็จก็ต้องเคลื่อนไปเรื่อยๆ หยุดนิ่งไม่ได้ ซึ่งพยานรับว่าหลังขบวนเสด็จเคลื่อนออกจากจุดนั้นแล้ว ก็เดินทางต่อไปโดยสะดวก ไม่ได้มีข้าราชบริพารคนใดได้รับบาดเจ็บ 

ในขากลับพยานไม่ได้ขับไปตามเส้นทางในหมายกำหนดเดิม แต่เลือกใช้อีกเส้นทางหนึ่ง พยานรับว่าเส้นทางขบวนเสด็จสามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ต้องเป็นไปตามการแจ้งของศูนย์ใหญ่ฯ และต้องได้รับการยืนยันจากผู้บังคับบัญชา

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานมีรถเบิกทางประจำตัวอยู่ 2 คัน ซึ่งจะใช้สลับกัน โดยปกติจะใช้เบิกรถทางให้กับในหลวงและพระราชนี เฉพาะสองพระองค์ ไม่เคยเบิกรถให้คนอื่น

 เกี่ยวกับรถพระที่นั่ง พยานเบิกความว่ารถของในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีจะเป็นสีเดียวกัน รุ่นและยี่ห้อเดียวกันไม่มีสัญลักษณ์บอกว่าเป็นรถของใคร ในส่วนของรถตำรวจประจำราชสำนักจะมีข้อความติดไว้ว่า “ตำรวจราชสำนัก” ใช้นำทางได้ทุกพระองค์

ทนายจำเลยถามว่า ในวันดังกล่าว สน.ดุสิต ได้รับรายงานว่ามีการเสด็จขององค์ภาฯ ได้มีการเปลี่ยนไปเส้นทางสำรองด้วยหรือไม่ พยานยอมรับว่า มีการเปลี่ยนไปใช้เส้นทางสำรอง โดยแต่ละเส้นทางจะมีผู้รับผิดชอบดูแลต่างกันออกไป คนที่ทำหน้าที่ประสานในวันนั้นคือผู้บังคับบัญชา “ภัคดี 303” ซึ่งเป็นผู้ประสาน ทั้งนี้ในการประสานเส้นทาง จะมีการประสานกันตรงๆ และผ่านศูนย์วิทยุรามา

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานยอมรับว่า ขณะเคลื่อนรถเบิกทาง พยานได้รายงานสถานการณ์เฉพาะหน้าให้ศูนย์วิทยุรามาทราบ และศูนย์ฯ ก็เป็นผู้ประเมิน เมื่อลงความเห็นว่าปลอดภัยก็จะรายงานกลับมา ส่วนใครจะเป็นคนประเมิน พยานไม่ทราบ 

 ทนายจำเลยถามค้านว่า ในระหว่างเคลื่อนขบวนก็มีประชาชนอยู่บนถนนอยู่เป็นจำนวนมาก แยกออกหรือไม่ว่ามีใครบ้าง พยานเบิกความว่า แยกไม่ออกว่าใครเป็นผู้ชุมนุม ใครมารอรับเสด็จ หรือเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ เพราะพยานมัวแต่จดจ่ออยู่กับเส้นทางเสด็จ

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พยานรับว่าในวันเกิดเหตุ รถพระที่นั่งไม่ได้มีสัญลักษณ์ใดที่บ่งบอกว่าเป็นรถของพระราชินี ในส่วนของประชาชนที่มารอรับเสด็จจะทราบหรือไม่ใครเสด็จมา  พยานเองก็ไม่ทราบเช่นกัน  

.

พยานโจทก์ปากที่ 8 ร.ต.อ.ธราดล วงศ์เจริญยศ ฝ่ายสืบสวน สน.ดุสิต

พยานเป็นรองสารวัตรสืบสวน สน.ดุสิต ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับคดีนี้ ในวันเกิดเหตุ พยานไม่ได้อยู่ในแผนปฎิบัติการ แต่อปฏิบัตภารกิจบริเวณวัดพระแก้ว  ต่อมา วันที่ 15 ต.ค. 2563 พยานทราบว่า พนักงานสอบสวนได้ขอศาลออกหมายจับจำเลยที่ 2

 16 ต.ค. 2563 เวลา 09.00 น. บุญเกื้อหนุนได้มามอบตัวที่ สน.ดุสิต พยานจึงได้ให้ดูหมายจับและแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบ ก่อนทำบันทึกจับกุมและนำส่งพนักงานสอบสวน หลังจากนั้น พยานได้รับคำสั่งจากผู้กำกับ สน.ดุสิต ให้ตรวจดูกล้องวงจรปิดของกรุงเทพมหานคร ก่อนจะพบภาพผู้กระทำผิด 3 รายบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ได้แก่ จำเลยที่ 1-3

พยานเบิกความว่า ตามที่ปรากฎในคลิปวิดีโอ จำเลยที่ 1-2 ได้ยืนตรงและกางแขนออก ส่วนจำเลยที่ 3 ได้บอกกับผู้ชุมนุมให้นั่งลงเพื่อขัดขวาง คฝ. พยานได้จัดทำไฟล์รูปภาพและส่งให้พนักงานสอบสวน โดยทั้งหมดเป็นภาพที่ได้จากกล้องวงจรปิดหลายตัว บางส่วนรวบรวมมาจากสื่อออนไลน์ต่างๆ รวมถึงมีคลิปเสียงในที่เกิดเหตุบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ 

ในคลิปมีเสียงของตำรวจเบิกทางที่ตะโกนบอกว่า “เปิดครับ ขออนุญาตขบวนเสด็จผ่านสักครู่” และมีจำเลยที่ 2 ตะโกนว่า “ฟังเสียงประชาชนบ้างไหม” โดยใช้เครื่องขยายเสียงแบบพกพา พูดอีกว่า “คุณต้องการอะไรอีก ถ้าอยากเข้ามาก็ข้ามศพผมไปก่อน” และก็มีอีกเสียงไม่ทราบว่าใครตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนกู”

คลิปต่อมา กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการตะโกนว่า “นั่งลงๆ” พบว่าเป็นจำเลยที่ 3 พูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมและให้ผู้ชุมนุมนั่งลง ในขณะเกิดเหตุมีเสียงหลายเสียงปะปนกันไป พยานเบิกความว่า ทุกคลิปที่่ส่งมอบพนักงานสอบสวนเป็นเหตุการณ์ช่วงเวลาเดียวกัน แต่เป็นภาพคนละด้านคนละมุม ในส่วนของการรวบรวมคลิปพยานไม่ได้เป็นคนทำ  ในส่วนของจำเลยที่ 4-5 พยานไม่ทราบว่ามาเป็นจำเลยได้อย่างไร 

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานรับว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ในภาพที่จำเลยที่ 1 กางแขนอยู่บนถนน ทนายความถามว่าทราบไหมว่าเอกชัยกระทำการดังกล่าวด้วยสาเหตุใด พยานตอบไม่ทราบว่าจำเลยทำสิ่งใด และเหตุใดต้องทำเช่นนั้น แต่พบว่ามีการประจัญหน้ากันกับเจ้าหน้าที่ ก่อน คฝ. จะพาตัวออกไป

พยานเบิกความว่า จากมุมที่เจ้าหน้าที่ คฝ. และกลุ่มผู้ชุมนุมยืนอยู่ ต่างฝ่ายสามารถมองเห็นกันเองได้ แต่ไม่ทราบว่ามองเห็นในระยะใกล้-ไกลแค่ไหน และในส่วนของคลิป ไม่ได้มีการระบุเวลาว่าเกิดขึ้นเวลาใด

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน
พยานรับว่า ในคลิปที่เจ้าหน้าที่แจ้งขอให้ขบวนเสด็จผ่าน แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นขบวนเสด็จของใคร แต่ละคลิปทั้งหมดไม่ได้ระบุเวลา, ลำดับเวลา, เหตุการณ์จะลำดับอย่างไร พยานไม่ทราบ นอกจากนั้นยังไม่ได้ระบุที่มาที่ไปของคลิปที่มาจากสื่อโซเชียลมีเดียด้วย และตามคลิปไม่ได้มีการประกาศให้ยุติการชุมนุม, ให้เลิกชุมนุม หรือการประกาศข้อกำหนดการชุมนุมใดๆ 

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

ตามคลิปที่มีผู้บอกให้ผู้ชุมนุมนั่งลงนั้น จะนั่งลงเพื่ออะไร พยานไม่สามารถบอกได้ ในคลิปดังกล่าวยังมีเสียงผู้หญิงตะโกนว่า “ขบวนเสด็จหรือเปล่า?” ทนายถามว่า แสดงว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ทราบว่าจะมีขบวนเสด็จมาและเป็นขบวนเสด็จของใครใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่แน่ใจ

เกี่ยวกับการจับกุม พยานเบิกความว่า เป็นคนรับมอบตัวจำเลยที่ 2 มาแต่ไม่ได้จับกุม และในส่วนของบันทึกจับกุมที่ระบุว่าเป็นการจับกุมนั้น เป็นเพียงรูปแบบการการรายงานในการสอบสวนเท่านั้น

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความว่าได้ยื่นรายงานที่พยานทำ ซึ่งมีบันทึกภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมยืนบังขบวนเสด็จเพื่อเป็นการกีดขวางทางจราจร และจำเลยที่ 1-2 ได้ใช้เครื่องขยายเสียงและกางแขนขวางเจ้าหน้าที่ชักล้อมไม่ให้ผ่าน พร้อมกับมีการตะโกนว่าถ้าคุณจะเข้ามา ให้ข้ามศพผมไปก่อน  ในส่วนของคลิปที่เกิดเหตุ พยานได้ขอมาจากกล้องวงจรปิดของเขตราชเทวี และข่าวจากช่อง News 18

ในส่วนของจำเลยที่ 3 ที่พยานเบิกความว่าไม่ทราบว่าจำเลยนั่งลงเพื่ออะไร แต่ในสำนวนมีการบรรยายว่า ปรากฎภาพจำเลยที่ 3 ขวางเจ้าหน้าที่ที่กำลังชักล้อมรถพระที่นั่งขณะกำลังผ่านสะพานชมัยมรุเชฐ โดยดูจากลักษณะการนั่ง ซึ่งเหตุการณ์ก่อนการนั่งลง มีประชาชนประจัญหน้ากับกลุ่ม คฝ.  ส่วนก่อนเกิดเหตุที่ปรากฎตามคลิปวิดีโอ จะมีการประชาสัมพันธ์เรื่องขบวนเสด็จหรือไม่ พยานไม่ทราบ 

.

ภาพจากสำนักข่าว REUTERS

.

พยานโจทก์ปากที่ 9 นันท์สกร นพรัตน์วิมล อาสาหน่วยวชิรพยาบาล

พยานเบิกความว่าตนเป็นอาสาสมัครหน่วยแพทย์กู้ชีวิตหน่วยวชิรพยาบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บตามที่ร้องขอ และช่วยเหลือผู้ชุมนุมโดยไม่เลือกข้าง โดยพยานจะสวมเครื่องแบบในชุดสีขาวระหว่างปฎิบัติหน้าที่ 

พยานเบิกความว่า ในวันที่ 13-14 ตุลาคม สื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ว่า มีขบวนเสด็จไปที่วัดพระแก้วเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจ พยานทราบว่าจะมีกลุ่มคณะราษฎรมาชุมนุมด้วย ซึ่งวันเกิดเหตุพยานสามารถแยกออกได้ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและกลุ่มที่มารับเสด็จ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมจะใส่เสื้อหลากสี ส่วนกลุ่มที่มารับขบวนเสด็จจะใส่เสื้อเหลือง 

วันที่ 14 ต.ค. 2563 เวลา 08.00 น. พยานปฎิบัติงานในชุดกู้ชีพสีขาว ขี่มอเตอร์ไซต์ไปสนามหลวงดูแลประชาชนที่มารับเสด็จ โดยประชาชนที่มารับเสด็จได้ใส่เสื้อเหลืองทั้งหมด แต่ไม่ทราบว่าขบวนที่มาเป็นพระองค์แรกคือใคร ในช่วงเวลานั้น พยานจะยังไม่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่มีเหตุการณ์อะไร พยานได้ขับรถวิ่งไปมาระหว่างสนามหลวง-แยกคอกวัว-อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย วนไปวนมาจนถึงเที่ยง มีประชาชนบางส่วนกระจายตัวอยู่ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยรวมถึงกลุ่มคนที่มารับเสด็จ 

ขณะที่พยานปฎิบัติหน้าที่อยู่ที่แยกคอกวัวและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พยานได้ใช้วิทยุติดต่อสื่อสารร่วมกตัญญูเข้าฟังเหตุการณ์การชุมนุม ทุกอย่างเป็นไปอย่างสงบจนกระทั่งเวลา 13.30 น. ได้มีการประสานให้เตรียมเคลื่อนย้ายไปที่สนามม้านางเลิ้ง เพราะจะไปที่ทำเนียบรัฐบาล เส้นทางหลักจึงมีทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและกลุ่มคนมารับขบวนเสด็จ โดยผู้ชุมนุมจะอยู่บนพื้นผิวไปผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน ส่วนคนที่มารอรับเสด็จจะอยู่ตรงฟุตบาท ส่วนพยานจะขับรถตามขบวนไปอยู่ห่างๆ

พยานเบิกความว่า กลุ่มผู้ชุมุนุมได้เดินทางผ่านแยกผ่านฟ้า ไปแยกนางเลิ้ง นครสวรรค์มุ่งหน้าสู่ถนนพิษณุโลก ก่อนถึงแยกนางเลิ้ง ได้มี คฝ. ปิดเส้นทางอยู่ ไม่ให้ไปบริเวณถนนราชดำเนินนอกฯ ซึ่งเป็นเส้นทางขบวนเสด็จ  ต่อมา ก่อนถึงคลองผดุงกรุงเกษม พยานเห็นว่ามีกลุ่มคนที่ไปรับขบวนเสด็จถูกกลุ่มผู้ชุมนุมรุมเข้าทำร้าย พยานจึงได้วิ่งเข้าไปในวงล้อมแล้วเอาตัวบังชายชุดขาวที่ถูกทำร้ายเอาไว้ ผู้ชุมนุมจึงไม่ได้ทำร้ายชายคนนั้นต่อ พยานถึงได้ค่อยดึงตัวเขาออกมา 

พยานเบิกความต่อว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนตัวไปถึงแยกนางเลิ้ง และมี คฝ. ยืนติดถนน พยานได้ยืนอยู่หลังแนว คฝ. กับมูลนิธิร่วมกตัญญู ซึ่งขณะนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 3 คน เป็นลมอยู่บนถนนพิษณุโลก

เวลา 14.00 น. พยานได้ยืนอยู่บริเวณเส้นทางถนนพิษณุโลกไปถนนราชดำเนินนอกไปแยกนางเลิ้ง เพื่อไปรับขบวนเสด็จ ซึ่งขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามจะเดินไปที่ทำเนียบฯ และได้มีการผลักดันกับกลุ่ม คฝ. แต่ไม่สำเร็จ เพราะเส้นทางที่มุ่งสู่ถนนราชดำเนินนอก ต้องตรึงไว้เพื่อรักษาเส้นทางขบวนเสด็จ โดยพยานได้อยู่บริเวณนั้นจนถึง 16.00 น. 

ต่อมา 17.00 น. พยานได้รับแจ้งว่าตรงสะพานชมัยมรุเชฐ มีกลุ่มผู้ชุมนุมและกลุ่มคนที่มารับขบวนเสด็จมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงขับรถไปบริเวณดังกล่าว จนเวลา 17.30 น. พยานได้เดินเข้าไปที่จุดหน้าทำเนียบรัฐบาล และพบว่ามีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บเพราะไปผลักดันกับ คฝ. พยานได้ช่วยปฐมพยาบาล ในระหว่างนั้นก็มีนักข่าวมาขอสัมภาษณ์นักศึกษา

เวลา 17.45 น. พยานเห็น คฝ. และเจ้าหน้าที่ประมาณ 200 นาย แต่งกายคล้ายชุด ตชด. ตั้งแถวแล้วเดินหน้าเข้ามาบริเวณหน้าทำเนียบฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้หันหน้าไปทางสะพานชมัยมรุเชฐ พยานไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ตั้งแถวทำไม แต่คาดว่าคงสกัดผู้ชุมนุมไม่ให้เดินไปถนนราชดำเนินนอก ในขณะเกิดเหตุพยานได้ถ่ายคลิปลงเฟซบุ๊ก 1 คลิป 

ประมาณ 18.00 น. ได้มีคนตะโกนว่า “ขบวนเสด็จ อย่าให้ผ่านไปได้” พยานได้ทำการบันทึกคลิปเอาไว้เป็นคลิปที่ 2 มีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินไปประจัญหน้ากับตำรวจ มีการชูสามนิ้ว ด่าทอสถาบันฯ มีการตะโกนว่า “ออกไปๆ ไม่ให้ผ่านทางนี้” ขณะนั้นพยานยืนอยู่ฝั่งหน้าประตูทำเนียบฯ เห็นว่าเป็นขบวนเสด็จ กลุ่มตำรวจ คฝ. ค่อยๆ ชักล้อมพระที่นั่ง ขบวนเสด็จขยับไม่ได้เกือบ 10 นาที เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมล้อมรอบ และมีกลุ่มผู้ที่ใส่เสื้อเหลืองหลายคนพยายามตั้งแถวแนวเดียวกันกับ คฝ. เพื่อผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมออกไป

ในขณะที่มีการผลักดันกัน พยานเห็นจำเลยที่ 1 และได้ถ่ายคลิปเอาไว้ เอกชัยได้อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมและมีการตะโกนว่า “ขบวนเสด็จๆ” มีการกวักมือเรียกคนให้พากันมาล้อมขบวนเสด็จ และมีการชู 3 นิ้ว พยานเบิกความตามคลิปว่า เอกชัยเป็นคนแรกที่พูดว่า “ชูสามนิ้ว” พยานไม่ทราบถึงคนอื่น โดยพยานได้มอบคลิปดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนเป็นหลักฐาน ในส่วนของจำเลยคนอื่นๆ พยานไม่ทราบ ยืนยันแค่เอกชัยคนเดียว

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

ในวันเกิดเหตุพยานทราบว่า มีหมายกำหนดการของขบวนเสด็จ พยานไม่ทราบว่าเส้นทางเป็นยังไง แต่ทราบจุดมุ่งหมาย พยานเบิกความว่าคนทั่วไปจะไม่ทราบเส้นทางเสด็จ แต่คนที่ไปรับเสด็จจะทราบเส้นทางได้อัตโนมัติ โดยดูจากเจ้าหน้าที่รักษาเส้นทาง โดยปกติประชาชนทั่วไปจะไม่รู้ว่าใครเสด็จบ้างและเสด็จเส้นทางไหน และในสื่อต่างๆ ก็จะไม่มีการระบุเส้นทางแต่อย่างใด

พยานเบิกความว่า เวลา 17.00 น. พยานได้เดินมาถึงบริเวณสะพานชมัยฯ โดยมีผู้ชุมนุมอยู่ประมาณ 300 คน ตนได้เตรียมพร้อมอยู่ในบริเวณนั้น เห็นมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินไปเดินมา แต่ยังไม่ได้มีการรวมตัวเป็นกลุ่ม ในระหว่างนั้นพยานไม่ได้เห็นนักศึกษาหญิงคนนั้นพูดปราศรัยแต่อย่างใด เพียงแต่ได้รับฟังจากการสัมภาษณ์ว่าเขาขึ้นปราศรัย

ทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบหรือไม่ว่า การชู 3 นิ้วเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง พยานตอบว่าทราบ และพยานระบุว่าหลังผู้ชุมนุมปะทะกับกลุ่ม คฝ. แล้ว ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

ทนายถามว่าพยานเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมได้แก่ 1. ให้ประยุทธ์ลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3. ปฎิรูปสถาบันฯ หรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อปฎิรูปสถาบันฯ ส่วนอีกสองข้อรู้สึกเฉยๆ 

พยานเป็นอาสาสมัครกู้ภัยที่สามารถปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งได้แสดงบัตรประจำตัวในการปฎิบัติหน้าที่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนแล้ว ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เป็นอาสาสมัครของวชิรพยาบาล สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ตามต้องการโดยไม่ต้องมีใครสั่ง ในวันที่ 14 ต.ค. พยานก็ตัดสินใจออกไปปฎิบัติหน้าที่ด้วยตนเอง แต่พยานจะไม่มีสิทธิยกหามผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ในระหว่างที่มีการชุมนุม พยานก็จะรักษาระยะห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุม ตามหลัก Safety first 

ทนายจำเลยถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรจะเดินทางไปทำเนียบฯ ในวันเกิดเหตุ พยานเบิกความว่า ไม่ทราบ มาทราบภายหลังจากผ่านแยกผ่านฟ้าไปแล้ว เพราะแกนนำประกาศว่าจะไป

พยานเบิกความต่ออีกว่า ตรงสะพานชมัยมรุเชฐ เห็นว่ามีตำรวจ คฝ. ตั้งแนวเพื่อกันผู้ชุมนุม แต่พยานไม่ทราบว่าขบวนเสด็จจะผ่านมาทางนี้ กระทั่งพยานได้ยินคนตะโกนว่า “ขบวนเสด็จ” แต่พยานก็ไม่ทราบว่าเป็นพระองค์ใดเสด็จมา เพราะหากเป็นขบวนเสด็จของในหลวง จะมีธงติดหน้ารถแค่อันเดียว ส่วนพระองค์อื่นไม่มี 

ทนายจำเลยถามค้านว่าพยานเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม “ปกป้องสถาบันฯ” หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้อยู่กลุ่มปกป้องสถาบันฯ แต่เป็นพสกนิกรที่จงรักภักดีและปกป้องสถาบันฯ ทั้งนี้เพื่อนของพยานก็มีทั้งทัศนคติทางการเมืองที่ตรงกันและไม่ตรงกัน บางคนก็ต่อต้าน บางคนก็ปกป้องสถาบันฯ พยานเบิกความว่าไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับกลุ่ม ศปปส. รวมถึงเคยมีเรื่องจะฟ้องร้องกันด้วย

พยานยอมรับว่าตามคลิปวิดีโอที่พยานถ่ายไว้ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีใครเข้าไปทำร้ายขบวนเสด็จ เพราะเข้าใกล้ไม่ได้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรายล้อมอยู่ แต่ก็มีการชูสามนิ้ว และตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคาย ขณะที่ในระหว่างเกิดเหตุ พยานไม่ได้ยินว่าเจ้าหน้าที่คนไหนตะโกนว่าขบวนเสด็จผ่านมา 

ภายหลังเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ก็มีการลงข่าวทั้งในเฟซบุ๊กและสื่อโทรทัศน์ T-news ว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ พยานเบิกความว่าตนเกิดมาในรัชกาลที่ 9 นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พบว่ามีการขัดขวางขบวนเสด็จ พยานรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก

ตอบทนายจำเลยที่ 1, 4-5 ถามค้าน

พยานรับว่าจากประสบการณ์การรับเสด็จ จะต้องมีการเคลียร์เส้นทางให้ถนนโล่งก่อนเสด็จ และพยานรู้จักกับศรายุทธ สังวาลย์ทอง ผู้กล่าวหาในคดีนี้ มา 4-5 ปี โดยรู้จักกันในระหว่างขบวนรับเสด็จ ในหมู่ประชาชนที่ไปรับเสด็จ ก็จะมีทั้งต่างคนต่างมา มีทั้งรวมกลุ่มกันมา

ในคลิปที่ปรากฎภาพเอกชัยยืนขวางขบวนเสด็จ ตามความเห็นของพยาน คำว่า ‘ขวาง’ หมายถึงถ้ามีรถแล่นมาแล้วยังยืนบนถนน ก็ถือว่าเป็นการขัดขวาง พยานยังรับว่าไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่เหลือมาก่อน แต่ในเอกสารที่ให้การกับพนักงานสอบสวนมีการยืนยันว่าจำเลยที่ 1-5 ทำการขัดขวางขบวนเสด็จ โดยพยานได้ลงชื่อลายมือชื่อในเอกสาร เพราะพนักงานสอบสวนบอกให้ลง

ทนายจำเลยถามค้านว่าพยานได้ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนอย่างไรบ้าง พยานเบิกความว่า ในระหว่างเกิดเหตุเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมชู 3 นิ้ว มีเสียงด่าทอ แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นเสียงของใครบ้าง และกลุ่มผู้ชุมนุมก็เข้าไปผลักดันกับตำรวจ แต่พยานไม่ได้ให้การว่าเอกชัยเข้าไปผลักดันกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือให้การว่าจำเลยที่ 2-5 อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าว พยานรับว่าแยกไม่ออกว่าใครเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม ประชาชนทั่วไป หรือเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ แต่หากดูจากพฤติการณ์ก็พอจะดาดเดาได้ว่าเป็นผู้ชุมนุม 

ทนายจำเลยถามว่า ในขณะเกิดเหตุมี คฝ. จำนวน 600 นาย มีคนใส่เสื้อหลายสี เสื้อเหลือง ผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยืนอยู่บนถนน ถือเป็นการขัดขวางขบวนเสด็จหรือไม่ พยานตอบว่า ในส่วนของกลุ่มที่มารอรับเสด็จจะยืนอยู่ข้างถนน แต่กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามจะล้อมแนวตำรวจ โดยหลักแล้วหากทราบว่าจะมีขบวนเสด็จ ก็จะต้องถอยออกมา

ตอบพนักงานอัยการถามติง

 พยานเบิกความโดยสรุปว่า ขณะที่พยานอยู่ตรงเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เอกชัยได้ยืนอยู่ด้านหน้าของพยาน แม้ตำแหน่งจะอยู่ในระนาบเดียวกันกับ คฝ. แต่จากคำพูดของเอกชัย ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นขบวนเสด็จกำลังขับมา  ส่วนเกี่ยวกับเอกสารของพนักงานสอบสวนที่พยานลงลายมือชื่อรับรองนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เอาคลิปอื่นๆ ที่ถ่ายในที่เกิดเหตุมาให้พยานดู พยานจึงได้ลงลายมือชื่อประกอบข้อความจำเลยทั้งหมดขัดขวางขบวนเสด็จ 

.

พยานโจทก์ปากที่ 10 ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ผู้กล่าวหา

ศรายุทธ สังวาลย์ทอง พนักงานบริษัทอายุ 46 ปี พยานทราบว่ามีการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 ล่วงหน้ามาประมาณ 1 สัปดาห์ ผ่านจากสื่อสังคมออนไลน์ ประเด็นที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง พยานระบุว่าคือ ต่อต้านภาษีสถาบันฯ ปฎิรูปสถาบันฯ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 

ขณะที่พยานทราบจากทางโทรทัศน์ว่า จะมีการเสด็จพระราชดำเนินวัดพระแก้ว เนื่องจากเป็นวันครบรอบในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ก่อนที่จะเสด็จจะมีหมายกำหนดการและคนอารักขาเส้นทางเสด็จ พยานจะไปรอรับเสด็จทุกปี โดยเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. พยานยืนรอรับเสด็จ มีผู้ชุมนุมมารออยู่หน้าแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีแกนนำคือ “ไผ่ ดาวดิน” มาปักหลักปราศรัยรอการชุมนุมใหญ่ เมื่อขบวนเสด็จผ่านมา มีกลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนใส่ขบวนเสด็จ แต่วันนั้นมีผู้ชุมนุมไม่มาก ตำรวจยังดูแลเส้นทางเสด็จได้

ศรายุทธเบิกความต่อว่า วันที่ 14 ต.ค. 2563 ตนพาครอบครัวไปรับเสด็จที่บริเวณหน้ากองทัพภาค 1 ถนนราชดำเนิน ซึ่งภรรยาและลูกได้ล่วงหน้าไปรอบริเวณดังกล่าวก่อน ในวันนั้นพยานได้สวมชุดสีดำที่แยกนางเลิ้ง และเดินตามผู้ที่มารับเสด็จไปลานพระบรมรูปทรงม้าและไปแยกสวนมิสกวัน เพื่อไปพบภรรยาและลูก 

พยานไปไม่ถึงตรงสะพานชมัยมรุเชษฐ เพราะเจ้าหน้าที่เดินมาแจ้งว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านมาทางนี้ ขอความร่วมมือหลบขึ้นฟุตบาท ก่อนเวลา 17.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ 100 คน พยายามเคลื่อนขบวนเดินจากแยกมิสกวันไปยังหน้าทำเนียบฯ ช้าๆ ไม่ได้เชื่อฟังเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

พยานยืนอยู่บริเวณใกล้สะพานชมัยฯ และเห็นรถนำขบวนเสด็จและเจ้าหน้าที่เคลื่อนมาจากแยกมิสกวัน เป็นรถมอเตอร์ไซต์ และรถยนต์ 2-3 คัน มีชุด คฝ. คอยคุ้มครองขบวนเสด็จอยู่ และมีเจ้าหน้าที่ในชุดสีกากีและชุดสีดำแจ้งว่ามีขบวนเสด็จ เอกชัย จำเลยที่ 1 ที่ยืนอยู่กลางถนนหน้าทางเข้าทำเนียบฯ ตะโกนว่า ‘ขบวนเสด็จ’ พร้อมกับชูสามนิ้ว และมีจำเลยที่ 2 สะพายลำโพงถือโทรโข่งพูดว่า “ขบวนเสด็จๆ ชู 3 นิ้ว” อีกทั้งมีการปราศรัยหน้าทำเนียบก่อนขบวนเสด็จจะมา พยานได้ยินเนื้อหาการปราศรัย แต่ไม่ได้สนใจรายละเอียด

พยานเบิกความต่ออีกว่า เมื่อขบวนเสด็จมาแล้ว จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ได้เดินคล้องแขนกันอยู่บริเวณถนนหน้าทำเนียบฯ และมีผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งยืนเรียงอยู่หน้ากระดานขวางบนถนน ผลักดันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พยานได้มองดูเหตุการณ์อยู่ครู่หนึ่ง เห็นว่าไม่สามารถไปต่อได้ เลยเดินกลับมาที่สนามม้านางเลิ้ง ห่างจากสะพานชมัยฯ ราว 1 กิโลเมตร เหตุการณ์หลังจากนั้นที่สะพานชมัยมรุษเชฐ พยานไม่เห็นแล้ว

พยานเบิกความว่าตอนที่ตนอยู่แยกนางเลิ้งแล้ว เห็นว่าขบวนเสด็จต้องค่อยๆ ผ่าน เพราะว่าเจ้าหน้าที่คอยอารักขาตลอดทาง รวมถึงมีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่รออยู่บริเวณแยกนางเลิ้ง มีการด่าทอและเข้าขวางเส้นทางขบวนเสด็จ มีการตะโกนด่าขบวนเสด็จด้วยถ้อยคำหยาบคาย มีการขว้างปาสิ่งของและรองเท้า กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการปะทะกับระหว่างกลุ่มคนที่มารอรับเสด็จ และ คฝ. พยานรับว่าในเวลาดังกล่าวไม่เห็นจำเลยทั้งห้าแล้ว ภายหลังจากที่มีการปะทะกันพยานเห็นว่าขบวนเสด็จยังสามารถผ่านไปได้ 

เวลา 20.00 น. พยานได้เดินกลับไปที่กองทัพภาค 1 เพื่อเก็บของบริจาค ส่วนลูกและภรรยากลับบ้านไปก่อนแล้ว 

หลังกลับบ้านแล้ว พยานได้เปิดสื่อโทรทัศน์ที่มีการนำเสนอข่าวการขัดขวางขบวนเสด็จฯ รวมถึงรวบรวมข้อมูลในสื่อออนไลน์ต่างๆ ก่อนจะนำไปแจ้งความที่ สน.ดุสิต เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ประมาณตีสอง พร้อมกับให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พยานประสบพบเห็นด้วยตนเอง

ศรายุทธรับว่าไม่ได้ถ่ายรูปเหตุการณ์เอาไว้ แต่ได้รวบรวมคลิปมาจากที่อื่นก่อนนำมาแจ้งความ โดยพยานได้แจ้งความแค่จำเลยที่ 1 คนเดียว เพราะไม่รู้จักจำเลยคนอื่นๆ แจ้งไปตามข้อเท็จจริงว่าขวางขบวนเสด็จ ไม่ได้ระบุข้อกล่าวหาแต่อย่างใด 

ก่อนที่พยานจะลงลายมือชื่อในบันทึกประจำวัน พยานได้ตรวจสอบแล้วว่าบางส่วนตรงกับเหตุการณ์ที่พบเห็น แต่บางส่วนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะตำรวจได้บันทึกโดยเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงสะพานชมัยมรุเชฐ มารวมกับเหตุการณ์สนามม้านางเลิ้ง เป็นเหตุการณ์เดียวกัน 

พยานรับว่าพนักงานสอบสวนได้เอาภาพผู้กระทำผิดทั้งสาม จำเลยที่ 1, 2 และ 4 มาให้พยานดู และพยานได้ให้การยืนยันเพราะเห็นทั้งสามในที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยอื่นๆ พยานจำไม่ได้ โดยพยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานไม่ทราบเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของกลุ่มผู้ชุมนุมและไม่อยากรับรู้ เมื่อทนายสอบถามถึงทั้งสามข้อ พยานเบิกความว่าไม่เห็นด้วยในข้อเดียว คือการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ พยานไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. แต่รู้จักกับกลุ่มดังกล่าว โดยไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุม แต่พยานรับว่าเคยไปแจ้งความกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองมาแล้วทั้งหมด 3 คดี 

เกี่ยวกับเส้นทางขบวนเสด็จ พยานทราบจากสื่อฟรีทีวีว่า ขบวนเสด็จจะผ่านเส้นทางไหนบ้างในวันเกิดเหตุ เมื่อทนายความให้ดูเอกสารรายงานบันทึกประจำวันที่บันทึกการแจ้งความของพยาน ระบุว่าเอกชัยและกลุ่มผู้ชุมนุมได้ติดตามรถพระที่นั่งไปถึงแยกนางเลิ้ง ทำให้รถพระที่นั่งไม่สามารถเคลื่อนที่ไปได้ เกี่ยวกับข้อความนี้พยานรับว่าไม่เป็นความจริง โดยได้แจ้งตำรวจไปแล้วตั้งแต่วันที่ไปแจ้งความว่า มีเหตุการณ์ทั้งหมด 2 จุด คือแยกนางเลิ้งและสะพานชมัยมรุเชฐ แต่ไม่ได้มีการแก้ไขเอกสาร

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

ตามคำเรียกร้องของคณะราษฎรที่ต้องการจะปฎิรูปสถาบัน คำว่า “ปฎิรูป” หมายถึงทำให้ดียื่งขึ้นใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เห็นว่าจะทำให้ดีขึ้นยังไง และก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม 

พยานยอมรับว่า เคยไปแจ้งความผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง 2-3 คดี หนึ่งในนั้นคือ ‘แม่จ่านิว’ ในข้อหามาตรา 112 และ ‘สมบัติ ทองย้อย’ ในมาตรา 112 เช่นกัน พยานกล่าวว่า ใครรักหรือไม่รักสถาบัน ตนก็ไม่สามารถไปแจ้งความเอาผิดเขาได้ นอกเสียจากว่าเขาทำผิดกฎหมาย

พยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุ พยานเดินทางออกจากที่ทำงาน 16.00 น. โดยประมาณ ก่อนมุ่งหน้าไปที่กองทัพภาคที่ 1 โดยนั่งรถมอเตอร์ไซต์ จากถนนวิทยุไปจนถึงสะพานชมัยฯ ประมาณ 17.00 น. เห็นว่ามีรถตู้ขวางถนนอยู่ บริเวณกลางสะพาน และมีการเปิดถนนเพียงหนึ่งช่องทางเท่านั้น

พฤติการณ์ที่จำเลยมองว่าขัดขวางขบวนเสด็จฯ คือ จำเลย 3 ชูนิ้ว ตะโกนว่า “ขบวนเสด็จ” พยานไม่รู้จักจำเลยที่ 2 ในที่เกิดเหตุ แต่ภายหลังตำรวจได้เอาภาพ จำเลยที่ 2 และ 4 มาให้ดู บอกว่าเป็นคนที่ปรากฎตามคลิปเหตุการณ์ขัดขวางขบวนเสด็จ พยานจึงได้รู้ว่าเป็นใคร พยานไม่ได้เห็นเหตุการณ์ระหว่างผลักดันกัน เพราะได้กลับไปก่อนแล้ว ในขณะนั้นเห็นแค่จำเลยที่ 2 สะพายโทรโข่ง และพูดปราศรัยบางอย่างซึ่งพยานไม่ได้ยินว่าเป็นเรื่องอะไร

พยานเบิกความว่าในวันที่ไปแจ้งความได้มอบคลิปวิดีโอทั้ง 7 คลิป ที่รวบรวมมาให้พนักงานสอบสวน แต่พยานไม่แน่ใจว่าตนได้บอกแหล่งที่มาของคลิปไว้หรือไม่

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานรับว่าเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม กปปส. มาก่อน โดยเคยเป็นการ์ดของกลุ่ม กปปส. และหลังรัฐประหาร 2557 เคยถูกเรียกรายงานตัว ตามคำสั่ง คสช.ที่ 68/2557 โดยไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด โดยถูกพาตัวไปอยู่ในค่ายทหาร 3-4 วัน พร้อมกับแกนนำกลุ่มการเมืองหลายๆ กลุ่ม แต่ก็ไม่มีอะไร

ทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุพยานได้ถ่ายรูปตัวเองขณะไปรับเสด็จไว้บ้างหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้ถ่ายรูปหรือบันทึกคลิปไว้ ส่วนเกี่ยวกับคลิปที่อ้างว่าจำเลยทั้ง 3 คล้องแขนขัดขวางขบวนเสด็จ ศรายุทธเบิกความว่าได้ส่งมอบคลิปดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนแล้ว แต่ไม่ได้ปรากฏในชั้นศาล อีกทั้งในบันทึกประจำวันก็ระบุว่าพยานได้เซ็นมอบคลิปวิดิโอไว้เป็นหลักฐาน แต่ก็ไม่ปรากฎว่าอยู่ในสำนวนนี้

พยานเบิกความว่า ในระหว่างเกิดเหตุ พยานได้ยืนดูเหตุการณ์อยู่ห่างๆ ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือขบวนเสด็จแต่อย่างใด และไม่ได้ถ่ายรูปตัวเองในขณะเกิดเหตุไว้ จึงไม่มีใครสามารถยืนยันว่าพยานอยู่ในที่เกิดเหตุได้ 

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานรับว่าช่วงชุมนุมพันธมิตรฯ เคยร่วมชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลและสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน เนื่องจากไม่ใช่แกนนำ ส่วนการชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ก็เคยไปร่วมปิดศูนย์ราชการ

พยานรับว่าในวันเกิดเหตุได้พกพาโทรศัพท์มือถือซึ่งถ่ายภาพได้ไว้โดยตลอด แต่ไม่ได้ถ่ายรูปภาพตัวเองหรือภาพอื่นๆ เอาไว้เลย   

เกี่ยวกับทัศนคติทางการเมือง พยานรับว่าบางอย่างก็ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคณะราษฎร ทนายจำเลยถามค้านในประเด็นนี้ต่อว่า พยานเห็นด้วยกับการชุมนุมปิดสถานที่ราชการ ชุมนุมให้มีการล้มเลือกตั้ง บีบรัฐบาลให้ลาออกด้วยหรือไม่ พยานเบิกความว่ามันเป็นการขับเคลื่อนการชุมนุม พยานเห็นด้วยแค่บางเรื่องเท่านั้น 

เกี่ยวกับคลิปที่อ้างส่ง พยานรับว่าไม่ได้อ้างเจ้าของคลิปต้นทางเป็นพยาน แต่พยานได้ให้การกับพนักงานสอบสวนไปว่าได้ดาวน์โหลดคลิปมาจาก ‘นันท์สกร’ พยานโจทก์ปากก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ทำการไลฟ์สดในวันเกิดเหตุ

พยานรับว่าในวันที่ไปแจ้งความ ได้แจ้งความจำเลยที่ 1 เพราะเอกชัยชูสามนิ้วตอนขบวนเสด็จ และในส่วนของจำเลยที่ 4 พยานไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เจ้าหน้าที่ได้บอกว่าเขาเป็นใครในชั้นสอบสวน ทนายจำเลยยื่นเอกสารให้พยานดูเป็นข้อมูลทะเบียนราษฎรของจำเลยที่ 2 ที่มีการลงลายมือชื่อรับรองของพยาน พยานรับว่าไม่ได้รู้จักบุญเกื้อหนุน แต่ได้มีการลงลายมือชื่อไว้เพราะเจ้าหน้าที่สั่ง 

.

พยานโจทก์ปากที่ 11 เดชา สมฤดี สมาชิกกลุ่ม ศปปส.

พยานเป็นสมาชิกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. โดยเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานอยู่ในที่เกิดเหตุเนื่องจากไปเข้าร่วมรับเสด็จ โดยพยานทราบข่าวจากทีวี และเพื่อนในกลุ่มไลน์ส่วนตัวแจ้งข่าว พยานเตรียมใส่เสื้อเหลืองไปเข้าร่วม ผู้เข้าร่วมบางคนก็มีสัญลักษณ์ บางคนก็ไม่มี ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาได้ ไม่มีการปิดกั้น ในวันรับเสด็จฯ พยานและเพื่อนต่างคนต่างไป แต่มารวมตัวกันที่สะพานมัฆวานรังสรรค์

พยานรอรับขบวนเสด็จฯหลายขบวนในช่วงเช้า จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับ และในระหว่างนั้นก็คุยกับเพื่อนๆ เพื่อรอรถกลับบ้าน ต่อมาในช่วงบ่ายๆ พยานได้เดินเท้าไปที่สนามม้านางเลิ้ง โดยผ่านแยกมิสกวันและไปถนนพิษณุโลก พยานเบิกความว่าตนเป็นคนต่างจังหวัด และไม่ค่อยรู้เส้นทาง เมื่อเดินมาถึงใกล้สะพานชมัยมรุษเชษฐ พยานเห็นว่ามีตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุมยืนอยู่ โดยพยานยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล

พยานเบิกความว่า ชั่วครู่ถัดมา พยานเห็นรถขบวนเสด็จแล่นมา แต่กลับโดนขัดขวางโดยกลุ่มผู้ชุมนุม พยานเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทำไม่ถูกต้อง พยานกับเพื่อนจึงช่วยกันกางแขน และคล้องแขนร่วมกับเจ้าหน้าที่กันไม่ให้ผู้ชุมนุมทำร้ายคนที่อยู่ในรถ ทั้งนี้พยานไม่ทราบว่าใครที่อยู่ในรถพระที่นั่ง เพราะมีกลุ่มผู้ชุมนุมล้อมรอบรถอยู่

ตำรวจที่รักษาความปลอดภัยพยายามแหวกกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ไม่ได้มีการทำร้ายกันแต่อย่างใด และในช่วงที่พยานกับเพื่อนช่วยกันคล้องแขนกันกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ก็พยายามกันพยานออก รถพระที่นั่งไม่ขยับเป็นเวลาประมาณ 2-3 นาที ปรากฏตามคลิปหลักฐาน

ตอบทนายจำเลย 1 ถามค้าน

เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 จากที่พยานเบิกความว่า รู้ว่ามีขบวนเสด็จ แต่ไม่รู้ว่าพระองค์ไหน ในไลน์กลุ่มของพยานได้มีการแจ้งข้อมูลเรื่องขบวนเสด็จหรือไม่ พยานเบิกความว่า เคยมีการบอกข้อมูลข่าวสารในกลุ่มไลน์ แต่หายไปแล้ว ที่ผ่านมาพยานจะรู้จากในกลุ่มว่า ขบวนเสด็จฯ จะผ่านไปที่ไหนบ้าง โดยในวันเกิดเหตุพยานไม่ทราบเวลาที่ขบวนเสด็จผ่านแบบแน่นอน ทราบแค่คร่าวๆ

พยานไม่เห็นด้วยกับกลุ่มที่มีการเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 และกลุ่มที่พยานสังกัดอยู่ก็มีแนวคิดเดียวกัน พยานรับว่ากลุ่มปกป้องสถาบันฯ เคยมีการปะทะกับกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

พยานเบิกความว่า ตอนที่ตำรวจตั้งแถวบนถนนสะพานชมัยมรุเชษฐ มีประชาชนใส่เสื้อเหลือง 4-5 คน และมีนักศึกษาเยอะ บังทางข้างหน้า จนพยานมองไม่เห็น  ตอนที่ขบวนเสด็จขับผ่าน พยานไม่ทราบว่าเป็นรถของใคร แต่ก็ทำความเคารพก้มกราบ เท่าที่เห็นขณะนั้น ไม่มีใครมีอาวุธ หรือใครเข้าไปทำร้ายขบวนเสด็จ และพยานกับเพื่อนก็ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าตอนที่พยานก้มลงกราบ ไม่ทราบว่าขบวนเสด็จเป็นของใคร แต่ตอนที่พยานกับเพื่อนได้รวมตัวกันคล้องแขนคุ้มกันรถพระที่นั่ง ถึงได้รู้ว่าเป็นขบวนเสด็จของพระราชินี พยานอยู่ระหว่างกลางของตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุม ตำรวจจะล้อมรถพระที่นั่งด้านในสุด ถัดมาเป็นกลุ่มของพยาน ด้านหลังคือกลุ่มผู้ชุมนุม พยานเบิกความว่า พระราชินีไม่ได้มีท่าทีตกใจแต่อย่างใด 

พยานเคยไปออกข่าวเนชั่น และสถาบันทิศทางไทยพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บอกเล่าว่า “พระราชินีแย้มสรวลและยกนิ้วโป้งให้”

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

พยานเบิกความว่า ตนทำงานรับเหมาก่อสร้างอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันเกิดเหตุตั้งใจมารับขบวนเสด็จฯ มาทำบุญให้รัชกาลที่ 9 พยานไม่ทราบว่าขบวนเสด็จจะผ่านทางสะพานชมัยมรุเชษฐ รวมถึงไม่ทราบว่าจะมีขบวนเสด็จฯ ตามมาอีกหรือไม่ แต่พยานเห็นว่าขบวนเสด็จไม่สามารถไปได้ เนื่องจากติดกลุ่มผู้ชุมนุมด้านหน้า 

เกี่ยวกับการมาเป็นพยานในคดีนี้ ตำรวจเป็นผู้ติดต่อไป เนื่องจากมีคลิปวิดิโอที่พยานกับเพื่อนคล้องแขนล้อมขบวนเสด็จ ในการมาให้การ พยานกับพวกได้ไปให้การที่ สน.ดุสิต และ สน.พญาไท เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มอบค่าใช้จ่ายให้พยานในการมาเบิกความ

ส่วนตัวพยานไม่ได้ติดตามเรื่องการเมือง เป็นแค่ประชาชนที่ปกป้องสถาบันฯ แต่รับว่าเคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. และพยานทราบว่าในวันเกิดเหตุจะมีการชุมนุม แต่ไม่ทราบว่าจะมาชุมนุมในบริเวณดังกล่าว เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มผู้ชุมนุม พยานไม่เห็นด้วยกับข้อสาม

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุพยานไปรับเสด็จกับเพื่อนของพยาน พยานไม่รู้จักกับศรายุทธ สังวาลย์ทอง

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พยานไม่ทราบก่อนที่ขบวนเสด็จจะผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้มีการประกาศแจ้งหรือไม่ แต่พยานทราบทันทีว่าเป็นขบวนเสด็จ เพราะมีรถหวอของตำรวจและรถสีครีมที่เป็นรถพระที่นั่ง แต่ไม่ทราบว่าเป็นรถของพระองค์ใด 

.

ภาพจากสำนักข่าว REUTERS

.

พยานโจทก์ปากที่ 12 ดวงกมล สมัยสุด ประชาชนที่ไปรับเสด็จ

พยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 พยานไปรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชินี และเจ้าฟ้าทีปังกร ซึ่งมาประกอบพิธีถวายผ้ากฐิน ในวัดพระแก้ว ในการเสด็จจากพระราชดำเนินนั้นเริ่มจากสวนอัมพรไปยังเส้นทางถนนพระราชดำเนิน พยานทราบข่าวรับเสด็จล่วงหน้า 7 วัน

ต่อมา พยานไปรับเสด็จอีกในวันที่ 14 ต.ค. วันนั้นพยานใส่เสื้อเหลืองไปตั้งแต่ช่วงเที่ยง เดินทางไปแยกมิสกวัน ห่างจากบริเวณกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดแนวถนนพระราชดำเนินนอกมีประชาชนมารับขบวนเสด็จหลายขบวน 

หลังประกอบพระราชพิธีเสร็จแล้ว ขบวนเสด็จของพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรได้เสด็จกลับประมาณ 17.00 น. โดยพยานยังยืนอยู่บริเวณเดิม ก่อนเห็นเจ้าหน้าที่ คฝ. ตั้งแถวไปถนนพิษณุโลก พยานคิดว่าต้องมีเหตุเกิดขึ้นบางอย่าง เลยเดินตามเจ้าหน้าที่ คฝ. ไป

เมื่อถึงบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ตรงบนเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิด 1 ช่องทาง มีประชาชนยืนอออยู่เป็นจำนวนมาก พยานจึงไม่ทราบว่าขบวนเสด็จที่ขับมาเป็นของพระองค์ใด กลุ่มประชาชนดังกล่าวได้ยืนขวางทางขบวนเสด็จ พยานทราบว่าจะมีขบวนเสด็จเพราะพยานยืนฝั่งหน้าทำเนียบฯ และยืนอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เห็นว่าเป็นขบวนเสด็จฯ มีรถนำ และขบวนเสด็จตามด้านหลัง 

เท่าที่พยานเห็นขบวนเสด็จไม่สามารถไปได้ เนื่องจากกลุ่มประชาชนได้ยืนขวางเส้นทางขบวนเสด็จ พยานเห็นเจ้าหน้าที่ คฝ. จับมือเป็นแนวกั้นล้อมรถไว้ โดยได้ชักล้อมรถพระที่นั่งไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้ ประชาชนที่อยู่แถวนั้นได้ชู 3 นิ้ว และมีการผลักดันกัน พยานได้ใช้มือถือถ่ายภาพคลิปเหตุการณ์ไว้ เป็นภาพของผู้ชายยืนกางแขน ชื่อ “เอกชัย” เหตุที่ถ่ายภาพเอาไว้ เพราะพยานเห็นว่าเหตุการณ์ผิดปกติและขบวนเสด็จไปต่อไม่ได้ พยานได้มอบคลิปดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ

พยานเบิกความว่า ตอนที่ คฝ. ชักล้อมพระที่นั่ง กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงออกว่าไม่ต้องการให้ขบวนเสด็จผ่านไป ขบวนเสด็จหยุดอยู่ประมาณ 10 นาที และ คฝ. ได้ใช้มือผลักดันกับกลุ่มผู้ชุมนุมเพราะไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้น หลังขบวนเสด็จผ่านไปแล้ว พยานไม่ได้ตามไป แต่ได้ออกจากพื้นที่ไปพร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่ คฝ.

ต่อมา ตำรวจได้เรียกพยานไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อสอบปากคำ พยานได้มอบหลักฐานคลิปวิดีโอไว้ โดยพยานรับว่า นอกจากเอกชัยแล้ว จำเลยที่ 2-5 พยานไม่รู้จัก ไม่มีสาเหตุโกรธเคือง เพียงแต่เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ถูกต้อง

ตอบทนายจำเลย 1, 4-5 ถามค้าน

พยานเบิกความโดยสรุปว่า พยานไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ แต่เคยไปชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ มาก่อน เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม พยานไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องข้อ 3 ส่วนตัวพยานเคยไปรับเสด็จมาประมาณ 2-3 ครั้ง 

ตรงถนนพิษณุโลกบริเวณที่เกิดเหตุ มีประชาชนยืนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พยานไม่คิดว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านมาขณะนั้น ในส่วนของรูปที่เอกชัยกางแขน ตอนที่รถพระที่นั่งขับผ่าน พยานได้ถ่ายรูปเก็บไว้ แต่ ณ ตอนนั้นไม่ทราบว่าเป็นเอกชัย ก่อนหน้านี้พยานรู้จักเอกชัยอยู่ก่อนแล้วจากสื่อมวลชน เนื่องจากเป็น “คนดัง” พยานจึงจำได้ 

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

ในวันเกิดเหตุ พยานมากับเพื่อนผู้หญิงอีกสองคน เมื่อถึงบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ พยานจึงทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางไปหน้าทำเนียบรัฐบาล และเมื่อกลุ่ม คฝ. เริ่มตั้งแถว พยานจึงหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูปบริเวณโดยรอบ พยานเบิกความย้อนไปว่าสาเหตุที่เดินตาม คฝ. มาถึงสะพาน เพราะอยากรู้ว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้น และไม่คิดว่าจะมีเรื่องอันตรายอะไร 

ทนายจำเลยถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าภาพที่เอกชัยกางแขน เป็นไปเพื่อกันประชาชนไม่ให้เข้าไป พยานตอบว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะเอกชัยเป็นคนเสื้อแดง อยู่ฝั่งเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่พยานรับว่าเอกชัยไม่ได้มีอาวุธอะไร แค่ใช้ร่างกายตัวเองขวางไว้

ในตอนขบวนเสด็จมา พยานอยู่ข้างหลัง คฝ. บนถนน เห็นพระราชินีกับพระองค์เจ้าทีปังกรในรถพระที่นั่ง พระราชินีโบกมือและยิ้มแย้ม ไม่มีประชาชนคนไหนฝ่าวงล้อม คฝ. ที่ชักล้อมพระที่นั่งเข้าไปได้ 

หลังจากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์ พยานไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้การ เป็นการทำหน้าที่ของคนที่จงรักภัคดีต่อสถาบันฯ โดยพยานไปเพียงครั้งเดียว ไม่ได้มีการให้ค่ารถ ในคำให้การของพยาน พยานเขียนเองและเซ็นยืนยัน  ในความเห็นของพยานเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ พยานไม่เห็นด้วยกับข้อ 3 เนื่องจากสถาบันไม่ได้ทำความเดือดร้อนอะไร และกลุ่มคนที่มาร่วมชุมนุมคือกลุ่มที่ต้องการล้มสถาบันฯ โดยดูจากการแสดงออกต่างๆ 

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานรับว่าเท่าที่พยานเห็นก่อนมีขบวนเสด็จ ไม่ได้มีการใช้เครื่องขยายเสียงประกาศว่าจะมีขบวนเสด็จ หลังจากถ่ายภาพที่เป็นพยานหลักฐาน พยานก็ไม่ได้ถ่ายภาพอีก เพราะเหตุการณ์ชุลมุน มีเสียงเซ็งแซ่ดังอื้ออึงไปหมด ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร 

พยานไม่ได้แต่เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. แต่รับว่ารู้จัก อานนท์ กลิ่นแก้ว ที่เคลื่อนไหวกลุ่มสถาบันปกป้องฯ แต่ชื่นชมเขาที่มีแนวคิดปกป้องสถาบันเหมือนกัน

.

พยานโจทก์ปากที่ 13 วัชระ ประเสริฐกุล สมาชิกกลุ่ม ศปปส.

พยานทราบข่าวเรื่องขบวนเสด็จจากเฟซบุ๊กของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) พยานได้เดินทางจากบ้านที่ จ.กาญจนบุรี มายังกรุงเทพฯ เพื่อรับเสด็จสมาชิกราชวงศ์ โดยในข่าวสารของกลุ่ม ศปปส. ไม่ได้ระบุเส้นทางเสด็จไว้ แต่มีการนัดหมายสมาชิกให้มาพบกันที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และพยานมาถึงที่นัดพบเมื่อเวลาประมาณ 12:00 น.

พยานเล่าว่าตนเองและกลุ่ม ศปปส. จะสวมใส่เสื้อเหลืองมีตราสัญลักษณ์รูปธงชาติ แต่ลักษณะการแต่งกายดังกล่าวไม่ใช่เครื่องแบบของกลุ่ม เมื่อมาถึงที่สะพานมัฆวานฯ พยานก็เห็นว่ามีผู้มารอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก โดยยืนจับกลุ่มอยู่กันบนฟุตบาทหันหน้าไปทางลานพระบรมรูปทรงม้า และผู้ที่มารอรับเสด็จส่วนใหญ่นั้นสวมใส่เสื้อเหลืองเช่นเดียวกัน    

ขบวนเสด็จแรกที่ผ่านไปคือขบวนของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งแล่นผ่านจุดที่พยานยืนอยู่ไปเวลาประมาณ 16:00 น. จากนั้นพยานก็ได้ยินประกาศจากเจ้าหน้าที่ว่าขบวนเสด็จลำดับถัดไป คือขบวนของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยจะผ่านจุดของพยานในเวลา 16:10 น. ในระหว่างนั้น พยานได้รับแจ้งจากเพื่อนสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ว่าที่บริเวณแยกนางเลิ้ง มีกลุ่มผู้หญิงเสื้อเหลืองจำนวนหนึ่งนั่งขวางถนน ซึ่งคาดว่าเป็นการกั้นแนวไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมจากทางแยกนางเลิ้งสามารถข้ามไปสู่ฝั่งทำเนียบรัฐบาลได้ แต่ทั้งนี้พยานก็ไม่ยืนยันว่านั่นคือสาเหตุที่แท้จริงหรือไม่ เมื่อทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว พยานและเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งก็พากันยังจุดที่มีเหตุนั่งขวางถนน ซึ่งเมื่อไปถึงพยานและเพื่อนก็ยืนอยู่ด้านหลังของกลุ่มผู้หญิงที่ใส่เสื้อเหลือง

ในจุดดังกล่าว มีแถวของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนอยู่จำนวนหนึ่ง และถัดออกไปอีกก็เป็นแนวรถของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพยานไม่แน่ใจว่าเป็นรถตู้หรือรถบัส ซึ่งตามความเข้าใจของพยาน แนวกั้นดังกล่าวมีไว้เพื่อกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่จากแยกนางเลิ้งสามารถเคลื่อนไปสู่ทำเนียบรัฐบาลได้

ต่อมาพยานเบิกความว่ามีคำสั่งให้ผู้หญิงสวมเสื้อเหลืองลุกขึ้น ทำให้พยานเข้าใจว่าผู้หญิงกลุ่มดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อผู้หญิงกลุ่มดังกล่าวลุกขึ้นแล้ว ก็เริ่มมีผู้ชุมนุมมาถึงบริเวณดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาราว 17:00 น.

พยานเบิกความต่อว่ากลุ่มของตนเองมีราวๆ 20 คน สวมใส่เสื้อสีเหลืองเช่นเดียวกันทั้งหมด และบางคนในกลุ่มของพยานเริ่มมีปากเสียงกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเถียงกันเรื่องการชู 3 นิ้ว, การล้มเจ้า และการไม่เอาสถาบัน แต่สถานการณ์ดังกล่าวไม่รุนแรงจนถึงขั้นมีการใช้ความรุนแรง  ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีการวิวาท มีตำรวจนายหนึ่งวิ่งมาบอกว่าให้เคลียร์เส้นทางเพื่อให้ขบวนเสด็จผ่าน ซึ่งพยานได้ทราบจากคนในกลุ่ม ศปปส. อยู่แล้วว่าจะมีขบวนเสด็จ แต่ไม่ทราบว่าเป็นขบวนของใคร และนายตำรวจที่วิ่งมาบอกนั้นก็ไม่ได้แจ้งว่าจะเป็นขบวนเสด็จของใคร

ในบริเวณแยกนางเลิ้ง ไม่มีกลุ่มผู้รับเสด็จคนอื่นๆ มีเพียงแค่กลุ่มของพยาน ซึ่งเป็นกลุ่มแยกตัวออกมาจากกลุ่มใหญ่ตรงสะพานมัฆวานรังสรรค์ และในช่วงก่อนมีขบวนเสด็จแล่นผ่าน พยานได้ช่วยตำรวจกั้นแนวอยู่ประมาณ 10 นาที จากนั้นขบวนเสด็จก็เคลื่อนผ่าน โดยระหว่างที่ขบวนกำลังผ่าน พยานมองเห็นพระราชินี และขณะเดียวกันก็มีผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งรุกมาประชิดหลังของพยาน และพยานได้ยินเสียงผู้ชุมนุมตะโกนด่าว่า “ขี้ข้า” ขณะที่พยานตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ”

พยานกล่าวว่าเมื่อหันไปมองทางด้านหลัง พยานก็เห็นว่ามีผู้ปาสิ่งของด้วย โดยผู้ชุมนุมที่พยานมองเห็นมีอยู่ประมาณ 200 คน เพราะเสียงดังอื้ออึง พยานเบิกความด้วยว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ามาทำร้ายชายคนหนึ่งที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ซึ่งนำไปสู่การตะลุมบอน แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ขบวนเสด็จเคลื่อนที่ผ่านไปแล้ว

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานเบิกความว่า ทราบเรื่องของกลุ่มผู้หญิงเสื้อเหลืองจากการบอกปากต่อปากของสมาชิกในกลุ่ม ศปปส. จากนั้นพยานก็ไปที่แยกนางเลิ้งซึ่งเป็นจุดที่ผู้หญิงเสื้อเหลืองนั่งขวางถนนอยู่ และประจำอยู่ที่จุดดังกล่าวโดยตลอด ไม่ได้เคลื่อนย้ายไปจุดอื่นใด

เกี่ยวกับการสื่อสารของกลุ่มที่พยานเป็นสมาชิกนั้นใช้วิธีการบอกกันปากต่อปาก ไม่มีกลุ่มเฟซบุ๊กหรือกลุ่มไลน์ใดๆ และพยานไม่ได้บันทึกวิดีโอการตะโกนของกลุ่มผู้ชุมนุมเอาไว้

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าติดตามแฟนเพจเฟซบุ๊กของ ศปปส. ก่อน และภายหลังเหตุการณ์ก็สมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม และอธิบายว่าวัตถุประสงค์คือ เพื่อติดตามการรับขบวนเสด็จและเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าตนเองประกอบอาชีพอิสระ เป็นพนักงานบริษัทประกันภัย แต่ไม่ได้เป็นงานประจำ โดยส่วนตัวแล้วพยานไม่ได้มีอคติใดกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชู 3 นิ้ว หรือกลุ่มอื่นใดที่มีความเห็นทางการเมืองต่างจากกลุ่ม ศปปส. ตราบเท่าที่กลุ่มนั้นๆ ยังไม่ได้กระทำสิ่งผิดกฎหมาย

พยานเบิกความโทรศัพท์มือถือของตนเองสามารถถ่ายภาพและวิดีโอได้ แต่ในวันที่เกิดเหตุพยานไม่ได้ถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอใดๆ เก็บไว้

ในการให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวน พยานระบุว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำบันทึกคำให้การและให้พยานลงลายมือชื่อ แต่ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อพยานในเอกสารดังกล่าว อีกทั้งในระหว่างสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนไม่ได้นำวิดีโอจากกล้องวงจรปิดมาให้พยานดู มีเพียงแต่ภาพนิ่งเท่านั้น

.

พยานโจทก์ปากที่ 14 ส.ต.ต.ไวภพ นิลรัตน์ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

ส.ต.ต.ไวภพ มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนโดยตรง สังกัดกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน นครบาล ซึ่งจำไม่ได้ว่าตนเองได้รับคำสั่งเมื่อใด ในวันที่เกิดเหตุ พยานไปที่เกิดเหตุตั้งแต่เช้า เพราะทราบว่าจะมีการชุมนุม จึงไปปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชน โดยพยานและพวกไปพักคอยที่บริเวณโรงจอดรถของกองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อเวลา 16:40 น. พยานก็ออกจากจุดพักคอยไปยังบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

กองร้อยของพยานมีกำลังคน 100–150 นาย โดยพยานประจำอยู่ในกองร้อยที่ 1 รับคำสั่งตรงจากสารวัตรชัยยุทธ ที่มีตำแหน่งเป็น ผบ.ร้อย โดยเป็นคำสั่งให้พยานและเจ้าหน้าที่คนอื่นปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมข้ามสะพานชมัยมรุเชฐไปได้ ทั้งนี้ พยานระบุว่าตนเองไม่ทราบเรื่องขบวนเสด็จ

ในการเคลื่อนที่ออกจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล พยานและเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการเดินเท้า เมื่อไปถึง ก็เห็นว่ารถตู้กำลังเคลื่อนที่ไปจอดขวางบนสะพานชมัยมรุเชฐแล้ว กองร้อยของพยานประจำอยู่ที่ถนนพิษณุโลก เมื่อไปถึงทีแรกพยานยังไม่ตั้งแถว เพราะต้องรอรับคำสั่งจาก ผบ.ร้อย ก่อน ซึ่งยังไม่ออกคำสั่งใด เพราะต้องการรอดูท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุม

พยานและกองร้อยรออยู่ไม่นาน ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ทยอยฝ่าแนวรถตู้เข้ามา โดยมีแกนนำและมีผู้ใช้โทรโข่งจำนวน 1–2 อัน พยานระบุว่าแกนนำของผู้ชุมนุมที่พยานเห็นนั้นใส่เสื้อลายขวาง รูปร่างอ้วน ใช้โทรโข่ง และพูดโจมตีรัฐบาล จากนั้นพยานก็เห็นว่ามีผู้ชุมนุมราว 100–200 คน รุกคืบผ่านแนวรถตู้ ผบ.ร้อย จึงสั่งให้ตั้งแถวหน้ากระดานขวางถนนเพื่อกั้นไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถข้ามแนวรถตู้ไปได้

ลักษณะการตั้งแถวของพยานคือยืนเรียงหน้ากระดานและจับเข็มขัดของคนข้างๆ โดยตำแหน่งของพยานคือแถวแรกด้านหน้าและมีเพื่อนร่วมกองร้อยยืนซ้อนหลังเป็นจำนวนกว่า 10 แถว แถวหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 10–13 นาย ในระหว่างนั้นพยานบอกว่าตนยังไม่ได้รับแจ้งเรื่องเกี่ยวกับขบวนเสด็จ

พยานเบิกความว่าตนและเพื่อนดึงดันกับผู้ชุมนุมอยู่ราว 10 นาที จากนั้น ผบ.ร้อย ก็แจ้งเรื่องขบวนเสด็จ โดยบอกว่าจะมาทางด้านหลังของพยาน จากนั้นก็สั่งให้พยานและกองร้อยผลักดันผู้ชุมนุมออกไปทางด้านขวาของถนน ฝั่งทำเนียบฯ

ทั้งนี้ พยานไม่ได้มองทางด้านหลังของตน แต่หลังจากได้รับคำสั่งแล้ว ประมาณ 5 นาทีต่อมา ก็มีรถนำขบวนแล่นมาถึงแถวของพยาน ระหว่างนั้นก็ได้รับคำสั่งให้รักษาพื้นที่ไว้ ฝั่งผู้ชุมนุมก็เริ่มคล้องแขนกัน เพราะมีการปะทะกันอีกครั้งระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่

พยานเห็นว่าผู้ชุมนุมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และรถตู้ก็เปิดช่องทางออก 1 เส้นทาง ในขณะนั้นมีแกนนำผู้ชุมนุมคนหนึ่งที่ใส่เสื้อลายขวางได้ถอยไปอยู่ด้านหลังแนวของผู้ชุมนุม และใช้โทรโข่งพูดอะไรบางอย่างที่พยานจำไม่ได้ พยานเบิกความต่อว่า ผบ.กองร้อย ได้สั่งให้ผลักดันผู้ชุมนุมโดยการเดิน (อัด) ขึ้นไปข้างหน้า ซึ่งทางผู้ชุมนุมก็ไม่ยอมและพยายามผลักดันกลับ แต่อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สามารถผลักดันผู้ชุมนุมออกไปได้

จากนั้นพยานมองเห็นรถมอเตอร์ไซค์ในขบวนเสด็จแล่นผ่านออกมาคู่หนึ่ง ทำให้พยานรับรู้ว่าขบวนเสด็จมาถึงแล้ว เมื่อรถคู่ดังกล่าวแล่นผ่านไป พยานก็ไม่ได้สนใจกับขบวนเสด็จอีก แต่หันไปกลับไปผลักดันผู้ชุมนุมต่อ และยังคงเห็นว่าแกนนำคนดังกล่าวยังยืนอยู่ในระยะสายตา โดยพยานเห็นว่าชายคนนั้นเข้ามาคล้องแขนกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ในลักษณะสร้างกำแพงมนุษย์เพื่อประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

พยานเบิกความว่าเมื่อสามารถผลักดันผู้ชุมนุมออกไปได้แล้ว ก็ยืนรักษาพื้นที่ไว้ โดยพยานไม่ทราบว่าขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านไปแล้วหรือไม่ หลังจากนั้นประมาณ 10 นาทีต่อมา พยานก็ได้รับคำสั่งถอนกำลังและให้ไปรวมตัวกันที่หน้าทำเนียบฯ

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานเบิกความเหตุในคดีนี้เป็นการทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนครั้งแรก และภารกิจหลักอย่างเดียวในวันที่ 14 ต.ค. 2563 คือการป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าสู่พื้นที่ทำเนียบรัฐบาลได้ ในช่วงก่อนการตั้งแถวจับเข็มขัดคู่ พยานไม่ได้ยินหน่วยงานใดประกาศแจ้งว่าจะมีขบวนเสด็จ จนกระทั่ง ผบ.กองร้อย มาแจ้งให้ทราบ

ในการตั้งแถว เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนแถวแรกจะสูงประมาณ 170–175 เซนติเมตร ในตอนนั้นมีชายไม่ทราบชื่อมายืนถ่ายรูปอยู่ที่ด้านหน้าแถว อย่างไรก็ดี พยานไม่เห็นว่ามีผู้ชุมนุมคนใดมีอาวุธหรือสิ่งผิดกฎหมาย และไม่มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด มีเพียงแต่การผลักดันกันเท่านั้น

พยานไม่เห็นว่ามีผู้ชุมนุมพยายามดันเข้าไปในขบวนเสด็จหรือไม่ แต่แถวของพยานยังอยู่ในลักษณะปกติ ไม่แตกแถว และไม่มีผู้ชุมนุมคนใดฝ่าแนวกั้นเข้าไปได้

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

ในวันเกิดเหตุ พยานไม่ทราบว่าจะมีขบวนเสด็จผ่าน จนกระทั่งเวลา 17:00 น. โดยก่อนที่รถจักรยานยนต์นำขบวนจะมาถึง พยานก็เพิ่งทราบว่าจะมีขบวนเสด็จจาก ผบ.กองร้อย ซึ่งพูดผ่านไมโครโฟนที่มีตู้ลำโพงแบบสะพาย แต่ไม่ได้แจ้งว่าเป็นขบวนเสด็จของใคร

ในระหว่างที่กำลังผลักดันกับผู้ชุมนุมนั้น พยานไม่ได้รับบาดเจ็บ และไม่เห็นมีนักศึกษาหญิงล้มลงระหว่างที่ผลักดันกันหรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างที่ผลักดันพยานหันหน้าไปทางผู้ชุมนุมโดยตลอด ไม่เห็นรถพระที่นั่ง

พยานเบิกความว่าที่ตนเองรู้ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นแกนนำเพราะใช้โทรโข่งพูดออกมาว่าตนเอง คือ “เพนกวิน 2” พูดด่ารัฐบาล พร้อมทั้งชักชวนให้ผู้คนออกมาชุมนุม โดยตั้งแต่รถนำขบวนแล่นมาถึงจุดที่พยานปฏิบัติหน้าที่ จนกระทั่งรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่านไป เป็นระยะเวลาโดยรวมประมาณ 10 นาที

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

ความสูงของพยานเมื่อสวมรองเท้าคอมแบทแล้วอยู่ที่ประมาณ 177 เซนติเมตร และเมื่อแรกไปถึงสะพานชมัยมรุเชฐ พยานยังมองไม่เห็นจำเลยที่ 2 หรือ เพนกวิน 2 เพิ่งเห็นตอนที่จำเลยที่ 2 เริ่มพูดผ่านโทรโข่ง

ในช่วงก่อนจะตั้งแถว พยานไม่เห็นและไม่ได้สังเกตว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทำอะไรกันบ้าง เห็นเพียงแต่ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมยืนกันสะเปะสะปะบนพื้นผิวจราจร จากวิดีโอที่ปรากฏภาพเคลื่อนไหวของจำเลยที่ 1 และ 2 ยังไม่มีภาพการตั้งแถวของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน พยานเบิกความว่าอาจเป็นเพราะภาพในวิดีโอเป็นเหตุการณ์ตอนหลังจากที่ขบวนเสด็จผ่านพ้นไปแล้ว

พยานเบิกความว่าจำได้ว่าจำเลยที่ 2 โจมตีรัฐบาล แต่จำไม่ได้ว่าพูดถึงสถาบันกษัตริย์หรือไม่ และพยานไม่ทราบด้วยว่าในวันดังกล่าวจะมีขบวนเสด็จของพระราชินี โดยพยานเบิกความย้ำอีกว่าตนเองทราบข่าวเรื่องขบวนเสด็จเพียง 5 นาทีก่อนที่จะขบวนจะมาถึง

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความว่าเมื่อเดินเท้าออกจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลมาถึงสะพานชมัยมรุเชฐ ก็ได้รับคำสั่งจาก ผบ.ร้อย ให้ตั้งแถวในช่วงเวลาก่อนขบวนเสด็จมาถึงเพียง 5 นาที โดยในระหว่างที่รอคำสั่งนั้น พยานไม่เห็นการดึงดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและกลุ่มผู้ชุมนุม

ทั้งนี้ การตั้งแถวแบบจับเข็มขัดคู่เกิดขึ้นตอนที่รถจักรยานยนต์นำขบวนแล่นมาถึงแล้ว และเมื่อผลักดันกับผู้ชุมนุมโดยวิธีการเดินขึ้นหน้า จนกระทั่งได้พื้นที่คืนแล้ว พยานในฐานะเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนก็ยืนรักษาพื้นที่ไว้ และพยานก็จำไม่ได้ว่ามีการผลักดันกันอีกหรือไม่

.

.

พยานโจทก์ปากที่ 15 ส.ต.ต.พันเทพ กระจ่างศรี เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

พยานรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนตั้งแต่ปี 2562 จนปัจจุบัน โดยประจำอยู่กองร้อย 1 แต่ว่าพยานจำชื่อผู้บังคับบัญชาไม่ได้ ในวันเกิดเหตุช่วงเช้า พยานอยู่ที่หน่วยงานที่ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดี และช่วงบ่ายพยานก็ได้รับแจ้งจากหัวหน้าหน่วยให้ไปที่สะพานชมัยมรุเชฐ โดยมีเจ้าหน้าที่ไปทั้งหมด 4 กองร้อย

เมื่อเวลา 17:00 น. กองร้อยของพยานไปประจำที่หน้าทำเนียบฯ ทำหน้าที่ตั้งแนวกั้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ขบวนเสด็จสามารถผ่านไปได้ พยานเบิกความว่าขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นเป็นช่วงเหตุการณ์ชุลมุน มีเสียงดัง ทำให้พยานไม่แน่ใจว่ามีผู้ประกาศเรื่องขบวนเสด็จหรือไม่ แต่พยานเห็นว่าหัวหน้าหน่วยมีโทรโข่ง แต่ไม่แน่ใจว่าหัวหน้าได้ประกาศอะไรหรือไม่

พยานรู้จัก ส.ต.ต.ไวภพ นิลรัตน์ (พยานปากก่อนหน้า) ซึ่งอยู่กันคนละกองร้อย แต่เมื่อตั้งแถวก็จะอยู่ด้วยกัน พยานเบิกความว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้กำลังประมาณ 2–3 กองร้อย กองร้อยหนึ่งมีประมาณ 100 กว่านาย และขณะที่ตั้งแถว พยานอยู่ในแถวด้านหน้าแต่ไม่ใช่หน้าสุด คาดว่าเป็นแถวที่ 2–3 ของแนวกั้น

เมื่อตั้งแถวแล้ว พยานระบุว่าตนยืนอยู่ในแถวประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ในตอนที่ยืนแถวนั้นพยานยังไม่ทราบภารกิจเรื่องขบวนเสด็จ เพิ่งจะทราบในตอนที่หัวหน้าหน่วยประกาศผ่านลำโพงว่าให้ผลักดันผู้ชุมนุมเพราะจะมีขบวนเสด็จแล่นผ่านเส้นทางนี้

หลังผลักดันผู้ชุมนุมไปได้ครู่หนึ่ง ไม่นานมาก ขบวนเสด็จก็มาถึง ซึ่งขณะนั้นพยานยังต้องผลักดันกับผู้ชุมนุม ทำให้ดูเหมือนว่าผู้ชุมนุมไม่ต้องการให้ขบวนเสด็จผ่านไปได้ อย่างไรก็ตาม พยานไม่เห็นว่าขบวนเสด็จผ่านไปได้อย่างไร จากนั้นหน่วยพยานก็ย้อนมาตั้งที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐจน กระทั่งเลิกภารกิจ

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานจำไม่ได้ว่าตนเองเคยควบคุมฝูงชนที่เป็นผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร 63 มาก่อนหรือไม่ แต่ยืนยันว่าในวันที่เกิดเหตุ ผู้ชุมนุมไม่ได้ทำร้ายตำรวจ ไม่มีการขว้างปาสิ่งของ โดยระหว่างที่พยานยืนแถวกั้นนั้นก็ไม่มีผู้ชุมนุมคนใดแทรกตัวฝ่าแนวกั้นไปได้เลย

พยานมีความสูง 172 เซนติเมตร ขณะที่นายตำรวจคนอื่นๆ ก็สูงประมาณเดียวกัน ในระหว่างที่ยืนแถว พยานอยู่ในชั้นที่ 2 และไม่สามารถแยกแยะได้ว่าประชาชนด้านหน้าเป็นผู้ชุมนุมหรือเป็นผู้มารับเสด็จ แต่ระหว่างนั้น พยานเห็นว่าจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ด้านหน้าแถวของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนด้วย โดยเดินไปเดินมาอยู่ที่หน้าแถวนั้น

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าวัตถุประสงค์ของภารกิจที่ได้รับมอบหมาย คือการป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในทำเนียบฯ ส่วนเรื่องขบวนเสด็จนั้น พยานมาทราบในภายหลัง และมาทราบเมื่อตอนตั้งแถวแล้ว โดยทราบจากหัวหน้าหน่วย แต่กระนั้นพยานก็ไม่ทราบว่าเป็นขบวนเสด็จของใคร

พยานอยู่กองร้อย 1 ที่ตั้งแถวอยู่บริเวณฝั่งขวาของถนนในแถวที่ 2 โดยในระหว่างผลักดันนั้นพยานไม่ได้รับบาดเจ็บ และในระหว่างนั้นพยานก็มองไม่เห็นจำเลยที่ 2 ซึ่งพยานระบุว่า ณ เวลานั้นพยานไม่ทราบว่าใครเป็นใคร เพราะเป็นจังหวะชุลมุน ส่วนที่ทราบว่าใครเป็นจำเลยคนใด พยานทราบจากข้อมูลที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูเท่านั้น พยานเบิกความรับด้วยว่า ณ ขณะเกิดเหตุตนเองไม่ทราบสถานการณ์จริงทั้งหมด

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตอนตั้งแถวในตอนแรก แต่ในตอนผลักดันนั้น พยานไม่เห็นว่าจำเลยทั้งสองคนอยู่จุดใด และทำอะไรบ้าง กระทั่งเมื่อขบวนเสด็จเคลื่อนที่ผ่านไปแล้ว พยานก็ไม่เห็นจำเลยทั้งสองอยู่ที่ใดและทำอะไร

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าผู้บัญชาการกองร้อยของพยานคือ พ.ต.ต.ชัยยุทธ ชัยมงคล และพยานเคยไปให้การกับพนักงานสอบสวน 1 ครั้ง ตามที่ปรากฏในเอกสาร

ตอบพนักงานอัยการถามติง

ในช่วงที่มีการผลักดันกัน พยานเบิกความว่ามองไม่เห็นจำเลยที่ 1 และ 2 แต่ที่พยานเบิกความตอบทนายจำเลยว่าเห็นจำเลยทั้งสองตามภาพนั้น โดยสรุปแล้ว พยานไม่ได้อยู่ในภาพดังกล่าว และขณะที่เกิดเหตุการณ์ในภาพ พยานก็มองไม่เห็นจำเลยทั้งสอง เพราะเป็นช่วงที่เกิดเหตุชุลมุน

.

พยานโจทก์ปากที่ 16 พ.ต.ท.ภษิต กะเตื้องงาน อดีตตำรวจป้องกันและปราบปราม สน.ดุสิต

ปัจจุบันรับราชการเป็นตำรวจ ตำแหน่งรองผู้กำกับปราบปราม สน.บางรัก ขณะเกิดเหตุประจำอยู่ สน.ดุสิต มีหน้าที่ป้องกันและปราบปราม โดยในวันเกิดเหตุ พยานมีหน้าที่ถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ เพราะเป็นตำรวจในพื้นที่ที่มีขบวนเสด็จผ่าน

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้รับแฟกซ์จากนายตำรวจราชองครักษ์เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 เรื่องจะมีขบวนเสด็จของพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ เสด็จไปงานพระกฐิน โดยหลังได้รับแฟกซ์แล้ว ผู้กำกับ สน.ดุสิต ได้ออกแผนถวายความปลอดภัย ลงวันที่ 13 ต.ค. 2563 พยานมีหน้าที่ประจำจุดแยกมิสกวัน

ในวันเกิดเหตุ เมื่อเวลาประมาณ 15:00 น. พยานในฐานะหัวหน้าสายงานได้ทำการอบรมเจ้าหน้าที่ก่อนปล่อยแถวเข้าประจำจุด จากนั้นก็ออกตรวจเส้นทางประจำจุด ที่เริ่มตั้งแต่สวนอัมพร ถนนราชดำเนินนอก แยกมิสกวันก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพิษณุโลก และสะพานชมัยมรุเชฐ โดยตรวจทั้งหมด 2–3 รอบ ซึ่งสถานการณ์เป็นไปโดยเรียบร้อย

พยานเบิกความว่าสุดเส้นทางในความดูแลของตำรวจ สน.ดุสิต คือเชิงสะพานชมัยมรุเชฐฝั่งทำเนียบรัฐบาล และอีกด้านหนึ่งจะเป็นพื้นที่ สน.นางเลิ้ง เมื่อตรวจเส้นทางแล้ว พยานก็เข้าไปประจำจุดของตนเอง แต่จำไม่ได้ว่าเวลาเท่าใด  

เกี่ยวกับการชุมนุม พยานทราบอยู่ก่อนแล้วว่าจะมีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจะมีการเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบฯ ขณะที่พยานประจำจุดอยู่ที่แยกมิสกวัน เมื่อเวลา 17:00 น. พยานก็ได้รับแจ้งเรื่องว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ฝั่งหน้าทำเนียบฯ จึงแจ้งต่อให้ผู้บังคับบัญชาทราบผ่านเครือข่ายวิทยุรามาฯ โดยพยานซึ่งอยู่ห่างจากสะพานราว 400 เมตร สามารถมองเห็นการตั้งแถวของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ และเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตั้งแถวโดยหันหน้ามาทางฝั่งนางเลิ้ง

พยานทราบว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนตั้งแถวเพื่อปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปถึงทำเนียบรัฐบาลและเพื่อถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ และพยานได้ฟังรายงานจากเครือขายวิทยุรามาฯ ว่ามีผู้ชุมนุมเข้าไปอยู่ในเส้นทางเสด็จ นอกจากนั้นพยานยังได้รายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยอีกทางหนึ่ง

พยานเบิกความว่าในขณะนั้นมีการสั่งการผ่านวิทยุ ให้เปิดช่องทางจราจร แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ออกคำสั่งและไม่ระบุว่าสั่งแก่ใคร พยานเข้าใจว่าสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในระยะใกล้ๆ เข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน จากนั้นก็มีการยืนยันเส้นทางเสด็จ แต่พยานก็ไม่มั่นใจว่าการยืนยันใช้เส้นทางเดิม อาจเป็นเพราะเหตุการณ์ชุลมุนหรือเป็นเพราะขบวนเสด็จกำลังใกล้เข้ามาแล้ว

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น พยานยังคงประจำอยู่ที่สวนมิสกวัน โดยพยานมองเห็นขบวนเสด็จมาจากทางพระราชวังสวนดุสิต โดยมองเห็นรถนำขบวนและรถพระที่นั่งเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพิษณุโลก ซึ่งจากที่พยานมองนั้นเห็นว่าขบวนเสด็จเคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ

อย่างไรก็ดี พยานไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือการอำนวยความสะดวกแก่ขบวนเสด็จ เพราะต้องดูแลความเรียบร้อยเพื่อรอรับขบวนเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 10

พยานระบุว่าขบวนเสด็จใช้เวลาในการเคลื่อนที่ผ่านสะพานชมัยมรุเชฐทั้งสิ้นเป็นเวลาราว 10 นาที ซึ่งเป็นการผ่านพ้นไปทั้งขบวนมิใช่เฉพาะรถพระที่นั่ง โดยที่ตนเองมองไม่เห็นเหตุการณ์ระหว่างที่ผู้ชุมนุมเผชิญกับขบวนเสด็จ แต่เมื่อขบวนผ่านไปแล้ว พยานก็เห็นว่าสถานการณ์กลับสู่ปกติ

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าตนเองทราบจากการข่าวว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 แต่ไม่ขอยืนยันว่าการข่าวได้ระบุเส้นทางของกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่

พยานเบิกความต่อว่าโดยปกติแล้ว ก่อนที่ขบวนเสด็จจะผ่าน เจ้าหน้าที่ประจำจุดจะต้องแจ้งรายงานสถานการณ์ แต่ในวันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ประจำจุดแจ้งแล้ว แต่ขบวนเสด็จเคลื่อนที่มาอย่างกระชั้นชิด ซึ่งพยานอธิบายคำว่า “เป็นเหตุการณ์กระชั้นชิด” นั้น หมายความว่าการใช้เจ้าหน้าที่แหวกผู้ชุมนุมออก แล้วเปิดทางให้ขบวนเสด็จ ถือเป็นการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า กล่าวคือ การผลักดันผู้ชุมนุมเป็นการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ดุสิต เป็นเพียงผู้สนับสนุน

ทั้งนี้ พยานเบิกความว่าตนเองไม่ได้รับการรายงานจากฝ่ายข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมตั้งใจจะขัดขวางขบวนเสด็จ

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

เกี่ยวกับกฎหมายในการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ และเรื่องกำลังคนของหน่วยพยานนั้น พยานขอยืนยันตามเอกสาร เพราะไม่สามารถจำรายละเอียดได้

พยานเบิกความว่าแผนในการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จมี 3 แผน ซึ่งเมื่อกำหนดมาแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ และตามปกติในแผนดังกล่าว จะกำหนดเส้นทางเสด็จไว้ 3 เส้นทาง คือเส้นทางหลัก เส้นทางสำรอง และเส้นทางฉุกเฉิน เช่น เส้นทางฉุกเฉินทางการแพทย์

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าเคยถวายความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จมาแล้ว โดย “ความปลอดภัย” นั้นหมายถึงอะไรก็ได้ที่อาจก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยต่อขบวนเสด็จ และการตรวจความเรียบร้อยให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ โดยในการตรวจของพยานเมื่อเวลา 15:00 น. พบว่าสถานการณ์เป็นไปโดยเรียบร้อยดี ไม่มีคน สัตว์ สิ่งของใดๆ ขัดขวางขบวนเสด็จ

ในเหตุการณ์นี้ พยานจำเส้นทางสำรองไม่ได้ และไม่แน่ใจว่าในแผนการถวายความปลอดภัย ระบุเส้นทางฉุกเฉินทางการแพทย์หรือไม่ แต่ในแผนการถวายความปลอดภัยของ สน.ดุสิต ไม่มีการระบุเส้นทางสำรองไว้

ในวันที่เกิดเหตุ พยานเบิกความตนเองใช้วิทยุ 2 เครื่อง โดยเครื่องหนึ่งใช้เครือข่ายรามาฯ เพื่อสื่อสารกับผู้บังคับบัญชา ตำรวจนครบาล และตำรวจราชองรักษ์ ส่วนอีกเครื่องหนึ่งเป็นเครือข่ายเฉพาะของ สน.ดุสิต

พยานยืนยันว่าหน้าที่ของตนคือการรายงานสถานการณ์ ซึ่งก็ได้ทำไปแล้ว และส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบปราม (ทีมของพยาน) ในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนควบคุมสถานการณ์ จากนั้นพยานก็อธิบายว่าในการแจ้งหรือรายงานต่อเครือข่ายวิทยุนั้น หากใครฟังอยู่ ก็สามารถรับรู้เรื่องราวที่รายงานได้

พยานเบิกความว่าในการรายงานข่าวผ่านเครือข่ายวิทยุ พยานใช้ชื่อว่า “ดุสิต 2” ตามที่ปรากฏในเอกสาร โดยในเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนเส้นทางของขบวนเสด็จขบวนอื่นๆ แต่พยานบอกว่าตนไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง และคาดว่าเป็นการตัดสินใจของตำรวจราชองรักษ์

ทั้งนี้ ในการรายงานของพยานที่ระบุว่าเส้นทางปลอดภัยในช่วงเวลา 15:00 น. นั้น หมายถึงเฉพาะพื้นที่ของพยานเท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นๆ นั้น พยานไม่ทราบและไม่ขอยืนยันเรื่องความปลอดภัย เอกสารยังระบุด้วยว่าเมื่อเวลา 17:00 น. พยานได้รายงานไปศูนย์วิทยุว่าเส้นทางเสด็จไม่ปลอดภัย โดยรายงานไปทั้ง 2 เครือข่าย โดยที่ “ดุสิต1” หรือผู้กำกับ สน.ดุสิต ในขณะนั้น ก็ได้รายงานซ้ำไปอีกครั้งหนึ่งด้วย

พยานเบิกความว่าทราบจากรายงานผ่านเครือข่ายวิทยุว่าขบวนเสด็จติดอยู่บนสะพานชมัยมรุเชฐ เพราะมีผู้ชุมนุมขวางขบวนเสด็จ และทราบอีกในภายหลังว่าเป็นเพราะมีรถตู้จอดขวางอยู่ด้วย

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานเบิกความการรายงานสถานการณ์ผู้ชุมนุมปิดเส้นทางการจราจร รายงานศูนย์วิทยุตามที่ได้รับรายงานมาอีกต่อหนึ่ง แต่พยานไม่ได้รายงานว่าผู้ชุมนุมมีเจตนาปิดหรือเข้าขัดขวางขบวนเสด็จ เพราะพยานเองก็ไม่ทราบ

ตามลำดับเวลาที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนนำรถตู้มาปิดช่องทางการจราจรนั้น พยานไม่ทราบว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง เพราะมองไม่เห็นเหตุการณ์ แต่ทั้งนี้ พยานไม่ไม่ตอบคำถามที่ว่า ณ ปัจจุบันสามารถประมวลสถานการณ์ได้แล้วหรือไม่

เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวเรื่องการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเบิกความเจ้าหน้าที่ตำรวจมีแผนรับมือโดยการเตรียมเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน แต่เป็นการกระทำที่นอกเหนือจากการรับรู้ของ สน.ดุสิต ส่วนแผนการรับมือของ สน.ดุสิต พยานขอยืนยันตามเอกสาร ส่วนแผนอื่นๆ เป็นเรื่องการหารือของผู้กำกับและผู้บังคับบัญชาในลำดับชั้นสูงขึ้นไป

พยานเบิกความยืนยันว่าตนเองและผู้กำกับ สน.ดุสิต รับคำสั่งจากตำรวจราชองครักษ์ โดยส่วนตัว สน.ดุสิต เองไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง มีอำนาจเพียงให้ข้อมูลเส้นทาง และรอฟังคำสั่งเพียงอย่างเดียว

จากเอกสารโจทก์ ซึ่งเป็นภาพสะพานลอยบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิต และมีภาพบุคคลยืนอยู่บนสะพานลอยดังกล่าว ขณะที่ด้านล่างเป็นภาพขบวนเสด็จกำลังแล่นเข้ามา พยานเบิกความว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่ของพยาน และอธิบายว่าตามปกติแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องจัดการไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น และหากเป็นพื้นที่ของพยาน เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น และจากภาพดังกล่าวนี้ พยานไม่ขอตอบคำถามที่ว่าการมีคนยืนอยู่บนสะพานลอยระหว่างที่มีขบวนเสด็จนั้น อาจทำให้คนทั่วไปไม่เข้าใจว่าเป็นเส้นทางขบวนเสด็จหรือไม่

.

.

พยานโจทก์ปากที่ 17 ด.ต.พรต เหลือแดง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.นางเลิ้ง

พยานเบิกความตนเองติดตามการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เวลา 06:00 น. โดยพยานเข้าไปหาข่าวในที่ชุมนุมและเห็นว่ามีการตั้งเวทีที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ ต่อมาเวลา 08:00 น. ก็ยังคงติดตามการชุมนุม และรับรู้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจถ่วงรั้งไว้ 3 จุด

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเบิกความตนเองเป็นคนทำรายงานสืบสวน โดยใช้ภาพถ่ายของตนเอง และภาพจากกล้อง CCTV ของกรุงเทพฯ โดยตนเองไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องใดๆ กับขบวนเสด็จ เพียงแต่มีหน้าที่ในการหาข่าวการชุมนุมเท่านั้น เพราะได้รับมอบหมายให้หาข่าว ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่พยานประจำอยู่ที่บริเวณใกล้เคียงกรมการปกครอง และไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานไม่พบจำเลยที่ 1 ในที่ชุมนุมตรงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่แกนนำการชุมนุม

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าตนเองใช้ภาพถ่ายและวิดีโอจากแหล่งที่มาอื่นๆ ในการจัดทำรายงานสืบสวนด้วย โดยเฉพาะภาพจากกล้องวงจรปิดของกรุงเทพฯ

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานไม่ยอมรับวิดีโอที่ทนายจำเลยนำมาสอบถาม ทั้งที่เป็นหลักฐานจากฝ่ายโจทก์เอง ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับขบวนเสด็จนั้น พยานเบิกความว่าขบวนเสด็จผ่านทั้งถนนนครสวรรค์ ถนนพิษณุโลก และถนนราชดำเนินนอกส่วนหนึ่ง ขณะที่เส้นทางของผู้ชุมนุมก็มีส่วนหนึ่งที่อยู่บนถนนราชดำเนินนอกด้วย

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานเบิกความในรายงานการสืบสวนของพยานมีชื่อแกนนำที่ปราศรัยหลักจำนวน 12 คน แต่ไม่มีชื่อของจำเลยทุกคนในคดีนี้

ในแผนการถวายความปลอดภัยของ สน.นางเลิ้ง ระบุว่าห้ามมีคนอยู่บนสะพานลอยในขณะที่มีขบวนเสด็จ พร้อมทั้งยอมรับว่าในความจริงแล้ว มีคนอยู่บนสะพานลอยในพื้นที่ของ สน.นางเลิ้ง ช่วงระหว่างจะมีขบวนเสด็จ ซึ่งพยานอธิบายว่าการจัดการเส้นทางเสด็จ หรือเคลียร์คน สัตว์ สิ่งของ ออกจากเส้นทาง เป็นหน้าที่ของฝ่ายปราบปราม ไม่ใช่ฝ่ายสืบสวนของพยาน ในบางครั้งเจ้าหน้าที่อาจขึ้นไปยืนบนสะพานนั้นเองและรีบลงมาก่อนที่ขบวนจะมาถึง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใดขึ้นไปก็ได้ หรือในบางครั้งถ้ามีผู้อื่นยืนอยู่ก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ก็สามารถพาตัวลงมาด้วยวิธีการใดก็ได้ เช่น ดึง ลาก เป็นต้น

พยานเบิกความอีกว่าในการจัดการเส้นทางเสด็จ เมื่อพบเจอสิ่งแปลกปลอมในเส้นทาง เช่น เจอคนยืนอยู่บนสะพานลอย จะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบด้วย เพราะในบางครั้งคนที่ยืนอยู่อาจเป็นเจ้าหน้าที่ก็ได้

.

พยานโจทก์ปากที่ 18 พ.ต.อ.วิวัฒน์ พึ่งไชยศรี เจ้าหน้าที่สืบสวน นครบาล 1

ขณะเกิดเหตุพยานมีตำแหน่งเป็นผู้กำกับการสืบสวน นครบาล 1 เกี่ยวกับคดีคือเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแจ้งว่ามีผู้กล่าวหาเข้าไปร้องทุกข์กล่าวโทษ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 12:00 น. โดยระบุว่าเอกชัยกับพวกได้กระทำความผิดตามที่บรรยายอยู่ในคำฟ้อง เมื่อรับแจ้งความแล้ว ก็สืบสวนโดยอาศัยโซเชียลมีเดีย ในการตามหาตัวจำเลยทั้ง 5 คน จากนั้นก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานได้แก่ ภาพถ่ายและวิดีโอ โดยพยานระบุว่าตนเองเป็นผู้ทำพยานหลักฐานโดยมีลายมือชื่อลงไว้ตามที่ปรากฏ

หลังจากสืบทราบตัวผู้กระทำความผิดได้ทั้งหมดแล้ว เห็นว่าจำเลยทั้ง 5 กระทำความผิดจริง จึงได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าตนเองและลูกน้องเป็นผู้รวบรวมวิดีโอที่ถูกนำมาใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยรวบรวมจากโซเชียลมีเดีย แต่วิดีโอดังกล่าวจะถูกตัดต่อหรือไม่ พยานไม่ทราบ

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

พยานจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ถ่ายวิดีโอ แม้จะเป็นวิดีโอที่มาจากฝ่ายสืบสวนเอง และเบิกความว่าเมื่อได้รับแจ้งความแล้ว พยานก็เริ่มรวบรวมหลักฐานโดยทันที และเป็นการทำงานร่วมกันเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วน หลายฝ่าย และระบุด้วยว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมอยู่โดยตลอด

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

ทนายจำเลยขอให้พยานเรียงลำดับเหตุการณ์ในช่วงเวลา 5 นาที ที่ขบวนเสด็จใช้ในการเคลื่อนตัวจากเชิงสะพานชมัยมุรเชฐจนผ่านพ้นไปได้ ทั้งนี้เพราะพยานไม่ได้จัดทำลำดับเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ในรายงานสืบสวน ซึ่งพยานไม่สามารถเรียบเรียงลำดับสถานการณ์ได้ ด้วยเหตุว่าวิดีโอดังกล่าวถูกตัดมาเฉพาะช่วงที่ทำให้พิสูจน์ทราบการกระทำของฝ่ายจำเลย

ต่อมาทนายจำเลยเปิดวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 กำลังบอกให้ผู้ชุมนุมนั่งลงบนพื้นถนน ซึ่งพยานดูแล้วเบิกความว่าการที่จำเลยที่ 3 กระทำเช่นนั้นเพราะต้องการขวางทางขบวนเสด็จ ทั้งนี้เพราะในการชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง กลุ่มผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วยข้อหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครอง และการชุมนุมที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ก็สืบเนื่องมาจากการชุมนุมใหญ่ในครั้งนั้น

พยานทราบว่าในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 เป็นการชุมนุมที่จัดโดยแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 63 และการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค. 2563 เป็นการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

พยานยอมรับว่าจากการสืบสวนทราบว่าจำเลยที่ 3 ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการศึกษา

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าโดยหลักการแล้วในฐานะพนักงานสืบสวน ไม่ว่าจะมีใครกล่าวโทษหรือไม่ ก็จำต้องสืบสวนหาข่าวอยู่แล้ว โดยเฉพาะในคดีความที่เป็นอาญาแผ่นดิน สำหรับกรณีของคดีนี้ พยานยืนยันว่าตนเองไม่ใช่ผู้กล่าวหาร่วม

ในขณะที่เกิดเหตุ พยานเบิกความตนเองติดตามกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ไม่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนสะพานชมัยมรุเชฐ และจากที่ระบุไว้ในเอกสารว่าจำเลยที่ 1 กับพวก เดินติดตามขบวนเสด็จไปจนถึงแยกนางเลิ้งนั้น ข้อเท็จจริงคือทั้งหมดเดินไปถึงแค่สะพานชมัยมรุเชฐเท่านั้น

ตามเอกสารรายงานสืบสวน ระบุว่าจำเลยที่ 4 เพียงแค่ยืนชู 3 นิ้วในช่วงที่ขบวนรถสีแดงเคลื่อนที่ผ่านหน้าไปเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าได้เข้าไปขัดขวางขบวนเสด็จแต่อย่างใด ซึ่งพยานก็ยอมรับข้อเท็จจริงนี้ ทั้งยอมรับด้วยว่าจำเลยทั้ง 2–5 ไม่เคยมีประวัติหรือเป็นที่จับจ้องของตำรวจนครบาล พยานเบิกความว่าเหตุที่ดำเนินคดีแค่จำเลย 5 คน ในคดีนี้ เป็นเพราะสืบทราบตัวตนได้เพียงเท่านี้

สำหรับเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พยานไม่ทราบว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับให้กลุ่มคน หรือบุคคลใดต้องรับโทษทางอาญา ศาลเพียงแต่สั่งให้ยุติการกระทำดังกล่าว แต่ไม่ได้สั่งว่าให้กลุ่มคนหรือบุคคลใดเป็นผู้หยุดกระทำ

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความว่าวิดีโอที่ตนนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานนั้น แม้ตัดมาเฉพาะตอนที่เห็นจำเลย แต่เมื่อดูจากแผ่นแรกจนถึงแผ่นสุดท้ายก็สามารถเข้าใจเหตุการณ์ลำดับก่อนหลังได้

พยานเบิกความอีกว่าในเอกสารสำนวนคดีที่พยานทำส่งมานั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยอยู่บนพื้นผิวถนนก่อน จากนั้นขยับมาตรงกลางถนน แล้วจึงเริ่มกางแขนจับมือกันพร้อมกับเดินเข้าหาเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

ส่วนในคลิปที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดนั้น มีคนอื่นๆ อีกที่กระทำการในลักษณะเดียวกัน หากแต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสืบทราบได้ จึงดำเนินคดีแค่จำเลยที่ 3 เพียงคนเดียว เพราะสามารถสืบทราบได้ว่าเป็นใคร และอธิบายด้วยว่าการนั่งลงบนพื้นผิวถนนทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนทำงานได้ยากมากขึ้น เพราะวิธีการเดียวที่จะทำให้ผู้ชุมนุมลุกขึ้นได้คือการดึงหัวขึ้นมา

ทนายจำเลยที่ 2-3 ขอถามค้านเพิ่มเติม

พยานเบิกความว่าบรรยากาศก่อนเกิดเหตุทราบว่าจำเลยที่ 1 และ 2 เดินมาอยู่บนถนนอยู่แล้ว และจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำในการร้องเพลง ส่วนเรื่องการนั่งลงของผู้ชุมนุมนั้นจะมีเจตนาเพื่อลดแรงปะทะหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่ในมุมมองของพยานมองว่าไม่ใช่ แต่เป็นการนั่งลงเพื่อยึดพื้นที่มากกว่า

พนักงานอัยการขอสอบถามเพิ่มเติม ให้พยานยืนยันว่าจำเลยที่ 1 และ 2 อยู่บนพื้นผิวถนนก่อนที่ขบวนเสด็จจะมาถึง

.

พยานโจทก์ปากที่ 19 ร.ต.อ.สิทธิพงษ์ โนนแช่ม ตำรวจพิสูจน์หลักฐานกลาง

พยานเข้ารับราชการเมื่อปี 2561 ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ กลุ่มงานตรวจพิสูจน์หลักฐานอาชญกรรมทางคอมพิวเตอร์ โดยก่อนบรรจุ ได้รับการอบรมและสอบผ่านหลักสูตรเรียบร้อย

เกี่ยวกับคดี พยานได้รับวิดีโอจากพนักงานสอบสวนเป็นแผ่นซีดีจำนวน 7 แผ่น พยานตรวจสอบว่ามีภาพบันทึกอยู่ในแผ่นซีดีหรือไม่ และตรวจสอบด้วยว่ามีการตัดต่อวิดีโอหรือไม่ ซึ่งพบว่าบางวิดีโอมีการแทรกข้อมูล คือแทรกภาพนิ่งลงไป คือเป็นการใช้ภาพจากวิดีโอมาฟรีซไว้ครู่หนึ่ง แล้วปล่อยให้ภาพเคลื่อนไหวไปตามปกติ  ทั้งนี้ พยานไม่ยืนยันว่าจะมีการนำวิดีโอจากแหล่งอื่นมาแทรกหรือไม่ เพราะตรวจพบเพียงว่ามีการตัดต่อโดยขยายช่วงเวลาของวิดีโอ คือนำภาพมาแช่แข็งไว้ดังที่กล่าว

พยานยังระบุว่าวิดีโอมีความไม่ต่อเนื่องหลายจุด มีลักษณะกระตุก แต่ไม่ได้เกิดจากการตัดต่อ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากวิธีการบันทึกวิดีโอลงแผ่นซีดี หรือปัญหาจากขั้นตอนการใช้เครื่องอ่าน

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานระบุว่าเป็นไปได้ว่าวิดีโอที่ถูกส่งมาให้ตรวจอาจมีการแก้ไขดัดแปลงจากวิดีโอต้นฉบับมาก่อน

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานเบิกความในกรณีที่มีการตัดต่อวิดีโอก่อนแล้วนำมาโพสต์ลงสื่อออนไลน์ จากนั้นก็มีผู้ดาวน์โหลดและส่งมาตรวจสอบ พยานจะสามารถตรวจสอบได้ในเบื้องต้น แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ 100% เช่น กรณีไฟล์จากกล้องวงจรปิดซึ่งไม่มีเสียง แต่ในกรณีที่เป็นไฟล์จากคอมพิวเตอร์ จะบันทึกข้อมูลเป็นตัวเลข ซึ่งอย่างหลังนี้พยานสามารถตรวจสอบได้ แต่กรณีที่มีการตัดต่อแบบดีและมีการส่งต่อมาหลายทางแล้ว ก็ยากที่จะตรวจสอบได้

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานเบิกความว่าแผ่นซีดีที่ได้รับมาตรวจสอบ พยานไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นผู้บันทึกภาพและบันทึกวิดีโอลงแผ่น และในซีดีแผ่นที่ 7 ที่พยานตรวจพบว่าใช้อุปกรณ์ใดบันทึกภาพนั้น พยานก็ไม่ได้รายงานเข้ามา ทั้งนี้เพราะหน้าที่ของมีเพียงแค่การตรวจดูว่าวิดีโอเหล่านั้นมีการตัดต่อหรือไม่ สำหรับวิดีโอสำเร็จรูปที่ส่งมาให้พยานตรวจสอบจะมีใครเป็นเจ้าของ พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้บอกให้พยานทราบ

.

ภาพจากข่าวสดอิงลิช

.

พยานโจทก์ปากที่ 20 ส.ต.อ.อานนท์ ทองเอียง ตำรวจ สน.ดุสิต

พยานเป็นตำรวจตำแหน่งป้องกันและปราบปราม สน.ดุสิต  เกี่ยวกับคดี พยานได้รับมอบหมายให้รักษาความปลอดภัยเส้นทางเสด็จในวันที่ 14 ต.ค. 2563 เวลา 16:00 น. โดยคำสั่งออกก่อนหน้านั้น 1 วัน และพยานทราบว่าเป็นขบวนเสด็จของพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ และทราบด้วยว่าขบวนเสด็จจะผ่านถนนราชดำเนินนอกมุ่งหน้าสู่ถนนพิษณุโลก และผ่านแยกนางเลิ้ง

ขณะประจำจุด พยานเห็นประชาชนซึ่งเป็นทั้งผู้ชุมนุมและผู้มารอรับเสด็จทยอยเดินเข้ามาเรื่อยๆ จนเมื่อเวลา 17:00 น. ประชาชนก็เข้ามาเต็มท้องถนนหน้าทำเนียบรัฐบาลและเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ โดยพยานมองเห็นว่ามีรถของเจ้าหน้าที่จอดอยู่และมีเจ้าหน้าที่ยืนประจำอยู่ด้วย คาดว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมข้ามฝั่ง

ต่อมาเวลา 17:05 น. พยานได้รับแจ้งจากวิทยุว่าขบวนเสด็จออกมาแล้ว ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่เห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเริ่มตั้งแถวหน้ากระดาน หันหน้าไปทางแยกนางเลิ้ง ในระหว่างนั้น พยานขับรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นไปแล้วตะโกนแจ้งกับประชาชนว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านมา แต่ก็ไม่มั่นใจว่าผู้ชุมนุมจะได้ยินที่ตะโกนบอกหรือไม่ แต่ก็เห็นว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนถอยออกไป ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ พยานยืนยันว่าเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการผลักดันกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่

จากนั้นพยานก็มาอยู่จุดบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ และเมื่อขบวนเสด็จมาถึงก็เริ่มมีการผลักดัน พยานจึงเข้าไปร่วมผลักดันด้วย โดยไปช่วยฝั่งเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน และเมื่อมองเห็นรถนำขบวนเสด็จที่เป็นรถมอเตอร์ไซค์ของหน่วยงานจราจรกลาง พยานก็เห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเปิดทางให้รถเหล่านั้น แต่หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นอีก พยานจำไม่ได้

พยานเบิกความว่ามองเห็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในเหตุการณ์ เพราะตนเองอยู่แถวหน้าของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน จึงมองเห็นทั้ง 2 คนได้ โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้โทรโข่ง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ แต่ก็ยืนชู 3 นิ้วอยู่ข้างๆ กัน แต่ในช่วงที่มีการผลักดันกัน พยานมองไม่เห็นจำเลยทั้งสอง

พยานระบุว่าใช้เวลาในการผลักดันกันจนขบวนเสด็จผ่านพ้นไปได้ตั้งแต่หัวขบวนยันท้ายขบวน พยานได้กลับไปประจำจุดที่ประตูหน้าทำเนียบฯ ซึ่งในตอนนั้นพยานมองไม่เห็นจำเลยที่ 1 และ 2 แล้ว ส่วนจำเลยที่ 3–5 พยานไม่เคยรู้จักมาก่อน

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานไม่ทราบว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นการชุมนุมทางการเมือง แต่ทราบว่ามีประชาชน 2 กลุ่มอยู่ในพื้นที่ คือกลุ่มประชาชนที่มารับเสด็จ และอีกกลุ่มคือผู้ชุมนุม

พยานเบิกความว่าจากจุดประจำของพยาน ซึ่งมีระยะห่างจากสะพานชมัยมรุเชฐประมาณ 40–50 เมตร ทำให้พยานมองไม่เห็นเหตุการณ์ช่วงก่อนขบวนเสด็จจะมาถึง ส่วนรถตู้ที่มองเห็นว่าจอดอยู่บนสะพานนั้น พยานเบิกความว่าเป็นการปิดเส้นทางจราจร

พยานไม่ทราบว่ามีการถ่ายภาพหรือวิดีโอในขณะที่พยานตะโกนบอกประชาชนว่าจะมีขบวนเสด็จหรือไม่ และไม่ได้สังเกตด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่คนอื่นกระทำในลักษณะเดียวกันหรือไม่

ในตอนที่เริ่มผลักดันกัน พยานเบิกความว่าขบวนเสด็จยังมาไม่ถึง และสำหรับการชุมนุมนี้พยานไม่เห็นว่ามีใครเป็นแกนนำ การตะโกนของผู้ชุมนุมเป็นการตะโกนขึ้นพร้อมๆ กัน ไม่มีผู้นำ และเสียงอื้ออึงในระหว่างที่ผลักดันก็มาทั้งจากฝั่งผู้ชุมนุมและฝั่งของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน นอกจากนี้พยานยังไม่เห็นว่ามีการขว้างปาสิ่งของใดๆ ใส่ขบวนเสด็จด้วย

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

ในวันที่เกิดเหตุ พยานแต่งกายด้วยชุดในเครื่องแบบ และยืนประจำคือประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพียงคนเดียว ในเวลา 17:00 น. พยานได้ออกจากจุดประจำและไปช่วยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนผลักดันบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ แต่จำไม่ได้ว่าตนเองยืนตรงไหนของแถว แต่คาดว่าเป็นด้านหน้า

พยานไม่แน่ใจว่าตอนที่กำลังประกาศเรื่องขบวนเสด็จนั้น ตนได้บอกว่าเป็นขบวนเสด็จของใครหรือไม่ รวมทั้งไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่คนอื่นทำแบบเดียวกันกับพยานหรือไม่

พยานไม่ทราบว่าการที่ผู้ชุมนุมตะโกนว่า “ภาษีกู” นั้นเป็นการตะโกนใส่ใคร และในระหว่างที่ผลักดัน พยานก็มองไม่เห็นจำเลยที่ 2 แล้ว ส่วนขณะที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ พยานไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ได้ประกาศแจ้งข้อกำหนดการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ แต่ในบริเวณจุดประจำของพยานนั้น พยานมองไม่เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดประกาศ

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานยอมรับว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ สน.ดุสิต ในการถวายความปลอดภัยเป็นไปตามแผนคำสั่งของ สน.ดุสิต และในคำสั่งไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เรื่องขบวนเสด็จ พยานอธิบายว่าโดยปกติของการปฏิบัติหน้าที่เพื่อถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จนั้น พยานจะดูแลความเรียบร้อยโดยรวมของจุดประจำของตนเอง และเมื่อเห็นว่าจุดประจำของตนเองเรียบร้อยดีแล้ว ก็ขับรถออกไปประชาสัมพันธ์เรื่องขบวนเสด็จ แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าจะมีผู้ได้ยินที่ตนเองประกาศหรือไม่ นอกจากนี้พยานยังไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 ใช้โทรโข่งพูดกับใคร

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานใช้วิทยุสองเครื่องปฏิบัติงานในวันที่เกิดเหตุ คือเครือข่ายรามาฯ และเครือข่ายของ สน.ดุสิต แต่พยานไม่เคยได้ยินการรายงานว่าไม่สามารถใช้เส้นทางถนนพิษณุโลกเป็นเส้นทางเสด็จ จากวิทยุทั้งสองเครือข่าย รวมทั้งไม่ได้ยินการรายงานจากผู้กำกับและรองผู้กำกับ สน.ดุสิต เรื่องใช้ถนนพิษณุโลกเป็นเส้นทางเสด็จไม่ได้ด้วย

ทั้งนี้ พยานไม่ได้ฟังเครือข่ายของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน และเข้าใจว่าอาจมีเครือข่ายเฉพาะของพวกเขาเอง และในระหว่างที่พยานประกาศเรื่องขบวนเสด็จนั้น พยานไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 จะได้ยินที่ตนเองประกาศหรือไม่

ตอบพนักงานอัยการถามติง

ในเรื่องการรับเสด็จ เจ้าหน้าที่จะมีการออกแผนทุกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ถวายความปลอดภัยจะต้องเข้ารับการอบรมก่อนถูกปล่อยแถวทุกครั้ง และในการอบรมจะระบุให้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องขบวนเสด็จก็ต่อเมื่อในจุดนั้นมีคนเป็นจำนวนมาก

ส่วนเรื่องที่ว่าพยานไม่ได้การรายงานผ่านวิทยุนั้นอาจเป็นเพราะวิทยุของพยานมีปุ่มรับสัญญาณที่ไม่ดี ทำให้พลาดการรายงานก็เป็นได้

.

พยานโจทก์ปากที่ 21 ส.ต.อ.สุพรรณ เตชะสาร ผบ.หมู่จราจร สน.ดุสิต

ช่วงบ่ายก่อนเกิดเหตุ พยานช่วยงานฝ่ายปราบปราม เพราะได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จของพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยทราบว่าเส้นทางเสด็จจะเริ่มจากวังสวนอัมพรผ่านถนนพิษณุโลก และมุ่งหน้าไปสู่จุดขึ้นทางด่วนยมราช

จุดประจำของพยานคือหน้าสำนักงานข้าราชการพลเรือน บริเวณประตูทางออก เยื้องกับทำเนียบรัฐบาลที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม และมีหน้าที่ในการจัดการไม่ให้คน สัตว์ สิ่งของใดๆ เข้าสู่เส้นทางเสด็จ ตอนแรกที่เข้าประจำจุดยังไม่เห็นว่ามีประชาชนกลุ่มใดเข้ามาในพื้นที่ จนกระทั่งเวลา 17:00 น. เริ่มมีประชาชนเดินเท้ามาจากทางแยกนางเลิ้ง ก่อนจะหยุดที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐฝั่งทำเนียบรัฐบาล ห่างจากจุดที่พยานยืนอยู่ประมาณ 50 เมตร

พยานไม่ทราบว่าประชาชนกลุ่มนั้นคือใคร แต่ต่อมาเมื่อเวลา 17:30 น. พยานก็ทราบการยืนยันเส้นทางเสด็จผ่านทางวิทยุ ทั้งนี้ พยานเบิกความว่ามองเห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้มารวมตัวกันที่หน้าสำนักงานข้าราชการพลเรือนและแยกสวนมิสกวันตั้งแต่เวลา 16:00 น. แล้ว

เมื่อได้รับแจ้งจากวิทยุแล้ว พยานก็ตะโกนบอกให้ประชาชนทราบด้วยถ้อยคำทำนองว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านทางนี้ ซึ่งในขณะนั้นมีประชาชนอยู่เต็มท้องถนน ซึ่งพยานไม่ได้สังเกตว่าใครเป็นใคร เห็นเพียงแต่ว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจัดแถวเรียงหน้ากระดานคล้ายรูปลูกศร

ขณะที่ขบวนเสด็จแล่นผ่านจุดที่อยู่ พยานได้ช่วยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนผลักดัน เหตุที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะเข้าใจว่าประชาชนซึ่งเป็นผู้ชุมนุมจะดึงกันเข้าไปในขบวนเสด็จ ส่วนขบวนเคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ และใช้เวลาราว 10 – 20 นาที จนกว่าจะพ้นไป ซึ่งในระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนก็ได้ผลักดันผู้ชุมนุมอยู่โดยตลอด

พยานกล่าวในวันที่เกิดเหตุตนไม่ทราบว่าใครเป็นใคร แต่มารู้ภายหลังว่าจำเลยที่ 1 และ 2 อยู่ในเหตุการณ์จากวิดีโอที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดู

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานรับว่าในช่วงก่อนขบวนเสด็จมาถึงไม่มีความรุนแรง ไม่มีการผลักดัน และไม่มีเสียงอื้ออึง เป็นเพียงการรวมตัวกันของผู้ชุมนุมเท่านั้น และการชุมนุมนี้ไม่มีแกนนำ ไม่มีเครื่องขยายเสียง  ขณะที่พยานได้รับแจ้งผ่านวิทยุว่าขบวนเสด็จจะมาถึง พยานก็เดินไปทางสะพานชมัยมรุเชฐ โดยนับจากจุดที่ยืนอยู่ก็ประมาณครึ่งทางก่อนจะถึงสะพาน และได้ตะโกนแจ้งให้ประชาชนทราบว่าจะมีขบวนเสด็จ

ในฐานะเป็นตำรวจในท้องที่ พยานไม่ได้รับแจ้งเหตุทำร้ายร่างกาย เหตุทรัพย์สินราชการเสียหาย หรือคดีความใดๆ ภายหลังจากเหตุการณ์

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

พยานยืนประจำจุดอยู่คนเดียวและโดยหน้าที่แล้ว หากมีเหตุไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น พยานสามารถออกจากจุดที่ประจำอยู่เพื่อไปจัดการหรือแก้ไขเหตุนั้นได้

ขณะที่ตะโกนบอกประชาชนเรื่องขบวนเสด็จช่วงก่อนจะมาถึง พยานไม่ได้ระบุว่าเป็นขบวนเสด็จของใคร และในขณะนั้นก็ไม่ได้มีการดึงดันหรือผลักดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและผู้ชุมนุม

การออกจากจุดไปบอกประชาชนว่าจะมีขบวนเสด็จเป็นการกระทำที่สืบเนื่องมาจากการอบรมชี้แจงตั้งแต่ก่อนผู้บังคับบัญชาจะปล่อยแถว แต่พยานก็ไม่เห็นนายตำรวจนายใดออกไปประกาศเตือนเรื่องขบวนเสด็จและไม่ได้ยินว่ามีการใช้เครื่องขยายเสียง ทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้ชุมนุม

ในเอกสารสำนวนคดี พยานได้เขียนรับรองตัวตนของจำเลยที่ 1 และ 2 ตามคำบอกของพนักงานสอบสวน

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

เมื่อเวลา 17:00 น. พยานได้รับแจ้งจากวิทยุยืนยันว่าจะมีขบวนเสด็จและหลังจากนั้นประมาณ 5 นาที ก็เห็นว่าขบวนเสด็จใกล้จะมาถึง และในขณะนั้นมีผู้คนเต็มถนน พยานจึงเดินออกไปบอกประชาชนว่าจะมีขบวนเสด็จมา แต่จะมีใครได้ยินบ้างนั้น พยานไม่ทราบ แต่ก็เห็นว่ามีบางคนหลีกทางให้ และบางคนยืนอยู่ที่เดิม ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1–5 จะได้ยินเสียงประกาศของตนหรือไม่

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานเคยเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนและกองสืบสวนนครบาล 1 โดยมีแผนที่ตามเอกสารประกอบคำให้การ ทั้งนี้ พยานเคยเข้าให้ปากคำหลายครั้ง หลายวัน แต่ว่าแผนที่ดังกล่าวนั้นจะทำขึ้นเมื่อไร พยานจำไม่ได้ และในการให้ปากคำ พนักงานสอบสวนให้พยานดูวิดีโอคลิปจำนวน 3 คลิป ซึ่งในวิดีโอทั้งหมดไม่มีตัวพยานอยู่เลย

.

พยานโจทก์ปากที่ 22 พ.ต.ท.อภิสิทธิ์ โรจน์อานนท์ พนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหา

ปัจจุบันเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอยู่ที่ จ.กระบี่ ขณะเกิดเหตุคดีนี้เป็นรองผู้กำกับสอบสวน สน.ดุสิต และเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้ง 5

ในวันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลาเที่ยงคืน มีนายศรายุทธ สังวาลย์ทอง เข้ามาแจ้งความว่ามีการขัดขวางขบวนเสด็จพระราชินีที่สะพานชมัยมรุเชฐ โดยมีหลักฐานประกอบการแจ้งความคือ ภาพถ่ายและวิดีโอในรูปแบบแผ่นซีดี ซึ่งศรายุทธเป็นผู้เตรียมมา  พยานได้สอบสวนและลงบันทึกประจำวันไว้ จากนั้นได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนไปที่จุดเกิดเหตุ เพื่อจัดทำรายงานและชี้จุดที่เกิดเหตุ

พยานเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญจึงรายงานผู้บังคับบัญชากองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยพยานมีชื่ออยู่ในลำดับที่ 10  ต่อมามีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสืบสวน-สอบสวนเพิ่มเติมอีก พยานมีชื่ออยู่ในลำดับที่ 60

ในการทำงาน มีตำรวจสืบสวนจากกองบังคับการนครบาล 1 และสืบสวนของ สน.ดุสิต มาให้ปากคำ พร้อมกับมอบรายงานสืบสวนให้พยาน  จากพยานหลักฐาน พยานตรวจสอบแล้วเห็นว่ามีการกระทำความผิดจริง ในเบื้องต้นจึงออกหมายจับบุคคล 2 ราย คือจำเลยที่ 1 และ 2 โดยขอออกหมายจับในวันที่ 15 ต.ค. 2563 พยานสั่งให้ลูกน้องมาขอออกหมายจับที่ศาลอาญา และในวันที่ 16 ต.ค. 2563 ก็สามารถจับกุมจำเลยที่ 1 ได้

พยานเบิกความว่าตนเองเป็นผู้สอบสวนและทำบันทึกเอง โดยสอบสวนเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 และแจ้ง 1 ข้อหา คือกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และต่อมาในวันที่ 9 ธ.ค. 2563 ก็แจ้งข้อหาเพิ่มเติมตามที่ปรากฏในฟ้อง โดยจำเลยที่ 1 ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

พยานสรุปคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เข้าร่วมชุมนุมกับคณะราษฎร 63 โดยเคลื่อนตัวออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล เมื่อมาถึงสะพานชมัยมรุเชฐก็เจอแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน และเกิดการยื้อยุดกัน ภายหลังจำเลยที่ 1 ทราบว่าจะมีขบวนเสด็จโดยทราบจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ และจำเลยที่ 1 ได้บอกกับเจ้าหน้าที่ว่าทำไมไม่บอกว่าจะมีขบวนเสด็จ เพราะถ้ารู้ตั้งแต่แรกก็จะได้ไม่ขวาง ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 ยืนชู 3 นิ้วอยู่ตลอด จนกระทั่งขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านพ้นไป

ในส่วนของจำเลยที่ 2 พยานสรุปคำให้การได้ว่าเข้าร่วมชุมนุมกับคณะราษฎร 63 เช่นเดียวกัน และพบเจอแถวตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งขวางแนวสะพานชมัยมรุเชฐ และเพื่อนของจำเลยที่ 2 ถูกทำให้ล้มลงโดยเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 2 โกรธ จึงใช้โทรโข่งประกาศให้ตำรวจหยุดการกระทำ ในส่วนที่เกี่ยวกับขบวนเสด็จ จำเลยที่ 2 ไม่เห็นว่ามีขบวนเสด็จที่ด้านหลังแถวตำรวจควบคุมฝูงชน และในตอนนั้นก็เข้าใจว่าจะมีการสลายการชุมนุม จึงเข้าไปยืนขวาง และเมื่อขบวนเสด็จมาถึง ก็ใช้โทรโข่งประกาศบอกให้ผู้ชุมนุมถอยออกจากถนน จนขบวนผ่านพ้นไป

พยานเบิกความตอบศาลว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่ได้ไปให้การพร้อมกัน

พยานเล่าต่อว่าจากนั้นก็มีการออกหมายจับเพิ่มอีก โดยอาศัยพยานหลักฐานจากฝ่ายสืบสวนของกองบัญชาการนครบาล 1 ซึ่งพบว่าจำเลยที่ 3 เข้าไปขวางและชักชวนให้คนอื่นๆ กระทำการขัดขวางขบวนเสด็จ โดยพยานสรุปคำให้การของจำเลยที่ 3 ได้ว่าจำเลยที่ 3 จะไปร่วมชุมนุมกับคณะราษฎร 63 แต่ไปไม่ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงย้อนกลับมาที่สะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อมาถึงก็เจอว่าตำรวจห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าทำเนียบฯ และเห็นว่ามีการตั้งแถว จึงเข้าใจว่าจะมีการสลายการชุมนุม จำเลยที่ 3 จึงได้โต้เถียงกับเจ้าหน้าที่และบอกตำรวจว่าอย่าเข้ามา หมายถึงอย่าขยับเข้ามา

สำหรับจำเลยที่ 4 และ 5 พยานเบิกความไม่ได้ออกหมายจับ แต่ออกหมายเรียก และในรายงานสอบสวนปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุมและร่วมคล้องแขนกับจำเลยที่ 1 และ 2 ซึ่งเท่ากับเป็นการขัดขวางขบวนเสด็จเช่นกัน อย่างไรก็ดี ศาลขอให้พยานสรุปคำให้การของจำเลยที่ 4 และ 5 ในตอนท้าย เพราะพยานไม่สามารถเบิกความโดยการเล่าเหตุการณ์ได้ด้วยตนเอง จำต้องอาศัยการอ่านรายงานในสำนวนในการเบิกความโดยตลอด

ต่อมาพยานเบิกความว่าได้รวบรวมแผนถวายการรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จ จาก สน.ดุสิต และ สน.นางเลิ้ง รวมทั้งแผนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ต่อขบวนเสด็จ และพบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน

พยานเข้ารับตำแหน่งก่อนเกิดเหตุไม่ถึง 1 ปี และยอมรับว่าพื้นที่ของ สน.ดุสิต เป็นพื้นที่ที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

พยานทราบข่าวการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563 ที่ประกาศในวันที่ 19 ก.ย. 2563 จากข่าวซึ่งสอดคล้องกับรายงานการสืบสวนของ สน.นางเลิ้ง และการข่าวทั้ง 2 แหล่งไม่ปรากฏว่ามีชื่อของจำเลยทั้ง 5 มีสถานะเป็นแกนนำในการชุมนุมแต่อย่างใด

ในวันที่เกิดเหตุ พยานไม่มั่นใจว่าประชาชนทั้ง 2 กลุ่มเข้าพื้นที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐตั้งแต่เมื่อไร และในวันนั้นพยานไม่ได้รับแจ้งเหตุปะทะ เหตุทำร้ายร่างกายกัน และไม่พบเหตุดังกล่าวนี้จาก สน.อื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง

สำหรับกลุ่มผู้ชุมนุม พยานเบิกความว่าเท่าที่ทราบมีผู้ชุมนุมบางส่วนมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และบางส่วนมาจากที่ไหนบ้าง พยานไม่ทราบ แต่เห็นว่าพวกเขามากันเอง ไม่มีผู้นำ และจากข้อมูลที่พยานได้รับในวันที่เกิดเหตุมีคนหลายกลุ่มได้แก่ ประชาชนกลุ่มผู้มารอรับเสด็จ, กลุ่มตำรวจ, กลุ่มผู้ชุมนุม และกลุ่มผู้สื่อข่าว

พยานทราบว่าเหตุการณ์ในวันที่เกิดเหตุตั้งแต่ช่วง 17:50 – 18:00 น. คือช่วงเวลาที่เกิดเหตุแห่งคดีนี้ โดยปกติแล้วการชุมนุมมีขั้นตอนคือ ผู้จัดจะแจ้ง สน. ในพื้นที่ และตำรวจก็จะมาแจ้งสรุปว่าผู้ชุมนุมมีสิทธิใดในการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จากนั้นเบิกความต่อไปว่าตำรวจ สน.นางเลิ้ง ได้อ่านประกาศการชุมนุม แต่พยานไม่ทราบว่าตรงสะพานชมัยมรุเชฐมีการแจ้งข้อกำหนดการชุมนุมนี้หรือไม่

ทั้งนี้ พยานระบุว่าตามรายงานการสอบสวนมีบันทึกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศในพื้นที่ชุมนุมว่า “ขออนุญาต ขออนุญาตขบวนผ่านสักครู่” และในรายงานการถอดเทป-คลิปเสียงก็มีข้อความที่คล้ายคลึงกัน แต่ทั้ง 2 เอกสารนี้ไม่ระบุว่าเป็นขบวนเสด็จของใครเช่นเดียวกัน

พยานเบิกความโดยอ้างว่ามีเอกสารระบุประเภทการใช้รถนำขบวน ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุว่าการใช้รถนำ สามารถใช้กับขบวนรถของพระสังฆราช, รัฐมนตรี และแขกบ้านเมือง

พยานรับว่าในจังหวะที่รถนำขบวนออกมาจากแถวของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน จำเลยที่ 1 และ 2 ยืนกางแขนต่อกันอยู่ในช่องจราจรด้านซ้าย ซึ่งเป็นคนละช่องจราจรกันกับขบวนเสด็จของพระราชินี โดยในการข่าวของตำรวจไม่มีข้อมูลว่าผู้ชุมนุมจะทำร้ายหรือประทุษร้ายพระราชินีแต่อย่างใด พยานไม่ทราบด้วยว่าในวันเกิดเหตุ นอกจากพระราชินีและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ แล้วมีสมาชิกราชวงศ์คนใดจะเสด็จอีกหรือไม่

สำหรับแผนการถวายความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จ ตามเอกสารที่ว่าด้วยความปลอดภัยจะเห็นว่าขบวนเสด็จของพระราชินีสามารถไปต่อในเส้นทางเดิมได้ เพราะเส้นทางยังปลอดภัย ซึ่งพยานยืนยันว่ามีการประเมินแล้วว่าสามารถใช้เป็นเส้นทางเสด็จได้ แต่พยานไม่ทราบเรื่องประเมินเส้นทางนี้ เพราะแผนดังกล่าวเป็นแผนของ สน.นางเลิ้ง และพยานไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทำให้ไม่สามารถตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสถานที่เกิดเหตุได้

พยานเบิกความตนเองไม่ทราบว่าการตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางขบวนเสด็จ และในการสอบสวนพยานก็ทำการสอบปากคำผู้กำกับและรองผู้กำกับไว้แล้ว แต่พยานไม่ได้เรียกผู้มีอำนาจอื่นๆ มายืนยันว่าเส้นทางเสด็จปลอดภัยหรือไม่

ตามเอกสารรายงานสอบสวนไม่ระบุว่าจำเลยทั้ง 5 กล่าวถ้อยคำหยาบคายหรือด่าทอขบวนเสด็จแต่อย่างใด และพยานไม่ได้รับรายงานว่ามีการขว้างปาสิ่งของใส่ขบวนเสด็จ นอกจากนี้ พยานยังยอมรับว่าการชู 3 นิ้ว ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย

เกี่ยวกับพฤติการณ์ที่ทำให้พยานมองว่าจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าคือมีการพูดคำว่า “ขบวนเสด็จ” และ “ชู 3 นิ้ว” พร้อมกับชู 3 นิ้วด้วย ซึ่งพยานไม่ทราบว่ามีผู้อื่นพูดหรือกระทำในลักษณะเดียวกันกับจำเลยที่ 1 หรือไม่

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน

จากการสอบสวนพยานไม่พบว่าจำเลยทั้ง 5 เป็นแกนนำของกลุ่มคณะราษฎร 63 และตามข้อเท็จจริง จำเลยที่ 2 ไปมอบตัวที่ สน.ดุสิต แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าไปมอบตัวแล้ว พยานก็พาไปสอบสวน ณ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 1 จ.ปทุมธานี และพยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 เป็นนักศึกษา

พยานยอมรับว่าตามรายงานการสืบสวนทั้งหมดไม่ปรากฏเลยว่ามีการแจ้งข้อกำหนดการชุมนุม และมีการแจ้งสิทธิการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แก่ผู้ชุมนุม

ต่อมาเบิกความตนเองจำไม่ได้ว่าเพราะเหตุใดจึงกล่าวโทษจำเลยที่ 2 ว่ามีพฤติการณ์ปลุกระดม ก่อนศาลได้ตำหนิพยานว่าเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาแล้วเหตุใดจึงจะจำสาเหตุไม่ได้ จากนั้นศาลก็ให้พยานอ่านเอกสารเพื่อให้การเบิกความไปต่อได้

ทั้งนี้ พยานจำไม่ได้ว่าสอบสวนเรื่องกำลังเสียงโทรโข่งของจำเลยที่ 2 หรือไม่ และในวันที่จำเลยที่ 2 บอกว่าไปร่วมชุมนุมในนามของกลุ่ม Anti One China และเข้าไปขายของกับเพื่อนผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่ถูกตำรวจควบคุมฝูงชนทำให้ล้มลง และพยานยอมรับว่าตนเองไม่ได้ไปสืบสวนเพื่อนหญิงของจำเลยที่ 2 ด้วย

ทั้งนี้ ในรายงานสอบสวนของพยานไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รู้จักกับจำเลยคนอื่นๆ ในคดี และไม่ปรากฏด้วยว่าจำเลยที่ 2 เคยถูกดำเนินคดีอาญาใดๆ มาก่อน

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามค้าน

พยานยอมรับว่าในวันที่ออกหมายจับจำเลยที่ 3 คือวันที่ 20 ต.ค. 2563 มีข่าวออกทางสื่อออนไลน์ว่าจำเลยที่ 3 โดนจับ แต่ในวันเดียวกันจำเลยที่ 3 ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจะไปรับทราบข้อกล่าวหาในเวลา 09:30 น. ซึ่งพยานไม่ทราบเรื่องการโพสต์ข้อความนี้ แต่พยานก็ไม่มั่นใจว่าจำเลยที่ 3 จะมาจริงหรือไม่ จึงส่งเจ้าหน้าที่ไปรอที่หน้าบ้านของจำเลยที่ 3

พยานอธิบายอธิบายว่าเหตุที่ต้องนำตัวจำเลยที่ 2 ไปให้ปากคำที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 1 ที่ จ.ปทุมธานี เพราะมีคำสั่งที่พยานไม่ได้ยื่นเข้ามาเป็นเอกสาร ซึ่งระบุว่าให้พาตัวไปสอบสวนที่นั่นเพื่อความปลอดภัย

พยานเบิกความว่าไม่ทราบรายละเอียดเรื่องเส้นทางสำรองของขบวนเสด็จ แต่ต่อมาก็ทราบว่ามีการยืนยันว่าจะใช้ถนนพิษณุโลกเป็นเส้นทางเช่นเดิม แต่ “ดุสิต 1” (ผู้กำกับ สน.ดุสิต) และ “ดุสิต 2” (รองผู้กำกับ สน.ดุสิต) ได้แจ้งกลับไปว่าไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางเสด็จดังเดิมได้ โดยแจ้งไปยังศูนย์วิทยุรามาฯ ย้ำอยู่ 4 ครั้ง ซึ่งพยานอธิบายว่าโดยปกติแล้วจะมีการแจ้ง การรายงานผ่านเครือข่ายวิทยุรามาฯ ก็จะมีการบันทึกเรื่องราวไว้ แต่พยานไม่ได้เรียกบันทึกของศูนย์วิทยุรามาฯ ในช่วงที่มีขบวนเสด็จมาประกอบสำนวนคดี อย่างไรก็ตาม จากเอกสารเอกสารยืนยันได้ว่ามีการแจ้งย้ำไปแล้วกว่า 4 ครั้งว่าไม่สามารถใช้ถนนพิษณุโลกเป็นเส้นทางเสด็จได้

พยานยืนยันว่าคลิปวิดีโอพยานหลักฐานต่างๆ มาจากของสื่ออิสระ ส่วนหนึ่งมาจากกล้องวงจรปิดของกรุงเทพฯ และอีกส่วนหนึ่งเป็นของผู้กล่าวหาคือศรายุทธ สังวาลย์ทอง วิดีโอทั้งหมดเป็นช่วงสั้นๆ ที่พยานนำมาต่อกันเป็นเรื่องราว พยานไม่มีวิดีโอที่ติดต่อกันตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะไม่ได้แสวงหาเพิ่มเติม

พยานประมาณเอาว่าขบวนเสด็จฯ ใช้เวลาประมาณ 10 นาที จึงจะผ่านจุดเกิดเหตุไปได้ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในวิดีโอดังกล่าวมีความไม่ต่อเนื่อง แต่พยานก็ไม่ได้ตรวจสอบเรื่องเวลาที่หายไปนี้ แต่อธิบายว่าฝ่ายสืบได้รับวิดีโอต่อมาจากกรุงเทพมหานคร

จากวิดีโอทั้งหมดนี้ ไม่ปรากฏว่ามีจำเลยคนใดวิ่งตามรถพระที่นั่งไปทางฝั่งแยกนางเลิ้ง และขบวนเสด็จสามารถดำเนินผ่านไปได้ ทนายจำเลยถามพยานว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจลงมายังจุดที่ขบวนเสด็จจะผ่านในระยะเวลาเพียง 1–2 นาที นั้นเป็นเรื่องปกติหรือไม่ ซึ่งพยานตอบว่าไม่ แต่เป็นเพราะสถานการณ์ในวันนั้นมีประชาชนมาก หากใช้เวลาในการเตรียมเส้นทางนานจะทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อน

จากนั้นทนายจำเลยก็เปิดวิดีโอให้พยานดูพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 และวิดีโอที่เป็นของนักข่าวจากสำนักข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ที่แสดงให้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งพยานยอมรับว่าตนเองไม่ได้สอบปากคำสื่อมวลชนใดๆ ประกอบสำนวน

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามค้าน

พยานเบิกความในการสั่งฟ้อง มีกรรมการสอบสวนและร่วมกันลงความเห็นควรสั่งฟ้องในคดี โดยพยานและคณะกรรมการใช้รายงานการสอบสวนและพฤติการณ์ของจำเลยทั้ง 5 ประกอบการตัดสินใจ

ทนายความจำเลยจึงถามต่อว่า ณ ตอนนี้เป็นที่ปรากฏแล้วว่าพฤติการณ์หลายอย่างของจำเลยทั้งหมด ไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งพยานยอมรับว่าไม่ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวก่อนจะมีความเห็น ทั้งไม่ได้มีการสอบสวนถึงเจตนาของจำเลยทั้ง 5 คน เพียงแต่เชื่อในพยานหลักฐานว่าทั้งหมดมีเจตนาที่จะขัดขวางขบวนเสด็จ

เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 พยานมีหลักฐานเพียงว่าจำเลยยืนชู 3 นิ้ว บนถนนด้านข้างขบวนรถสีแดง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนเสด็จ โดยที่รถสีแดงเหล่านั้นไม่ใช่รถพระที่นั่ง นอกจากนี้ พยานก็รับรู้ด้วยว่าจำเลยที่ 4 ให้การไว้ในชั้นตำรวจว่าตนเองแค่ตั้งใจไปชุมนุม และตั้งใจถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก เนื่องจากตนเองเป็นศิลปิน ทำงานศิลปะมาหลาย 10 ปี เลยต้องการถ่ายรูปเก็บไว้เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีขบวนเสด็จ

สำหรับจำเลยที่ 5 พยานรับรู้ว่าได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนทำนองว่ามาเยี่ยมแม่ที่กรุงเทพฯ เมื่อเห็นข่าวการชุมนุมจึงสนใจ ประกอบกับมีแผนจะไปหาเพื่อนซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับสถานที่ชุมนุม จึงได้เดินทางไปดูการชุมนุมด้วย เมื่อไปถึงก็เห็นผู้ชุมนุมกำลังเผชิญหน้ากับตำรวจควบคุมฝูงชน เลยเข้าไปช่วยฝ่ายผู้ชุมนุมผลักดัน เพราะเข้าใจว่าจะมีการสลายการชุมนุม ส่วนพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 5 ขัดขวางขบวนเสด็จนั้น พยานยอมรับว่าจำเลยที่ 5 เพียงแต่ชู 3 นิ้วเท่านั้น

ทนายจำเลยจึงถามต่อจากวิดีโอทั้งหมดที่พยานได้ดู เห็นได้ว่าขบวนรถพระที่นั่งหยุดชะงักเพราะยุทธวิธีของฝ่ายเจ้าหน้าที่ใช่หรือไม่ ซึ่งพยานรับว่าใช่ แต่ยังคงยืนยันว่าเป็นยุทธิวิธีเฉพาะของตำรวจควบคุมฝูงชน

อย่างไรก็ดี พยานไม่ได้เชิญ พล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่สั่งให้ พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผู้บัญชาการตำรวจควบคุมฝูงชน ใช้วิธีการชักล้อมรอบรถพระที่นั่ง ซึ่งพยานอธิบายว่าตนไม่ได้สอบปากคำนายตำรวจที่ยศสูงกว่า ทั้งจำไม่ได้ว่า พล.ต.ต.มานพ ให้การเรื่องยุทธิวิธีขอองตำรวจควบคุมฝูงชนไว้อย่างไร

ในส่วนประชาชนที่เป็นผู้กล่าวหา พยานก็ไม่ได้สอบสวนว่าผู้กล่าวหาอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ เพียงแต่เชื่อจากพยานหลักฐานและคำให้การของเขา ทั้งที่วิดีโอซึ่งนำมาประกอบการแจ้งความนั้น ผู้กล่าวหาก็นำมาจากบุคคลอื่นอีกต่อหนึ่ง

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความเรื่องหลักเกณฑ์การใช้รถนำขบวนตามเอกสาร ว่าไม่เท่ากับรูปแบบขบวนเสด็จของสมาชิกราชวงศ์ ดังนั้น รูปแบบขบวนตามหนังสือและรูปแบบนำขบวนเสด็จจึงมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ในขบวนเสด็จจะมีจำนวนรถนำขบวนมากกว่า

ในประเด็นข้อเท็จจริงที่พยานนำมากล่าวหาจำเลยทั้ง 5 คนนั้น การทำงานของพยานเริ่มจากการที่มีผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นประชาชน เข้ามาแจ้งความและส่งมอบพยานหลักฐานจำนวนหนึ่งให้ ต่อมาในวันที่ 15 ต.ค. 2563 พยานจึงขอออกหมายจับ และจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ในวันต่อมา ซึ่งในขณะนั้นข้อกล่าวหาที่พยานแจ้งต่อจำเลยที่ 1 ก็เป็นข้อกล่าวหาเดียวกับที่ประชาชนผู้แจ้งความได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ พยานมิได้มีเวลามากพอในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และจากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และ 2 ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสาร พยานก็มองว่าจำเลยทราบแล้วว่าเป็นขบวนเสด็จ แต่ยังคงเลือกที่จะตะโกนและชู 3 นิ้ว

————————————————-

.

.

สืบพยานฝ่ายจำเลย

“เอกชัย” จำเลยที่ 1 ชี้ถ้า จนท. ไม่ใช้ยุทธวิธีชักล้อมรถพระที่นั่ง เหตุแห่งคดีนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

เอกชัยเบิกความว่า ในช่วงปี 2560 เขาเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นเรื่องนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากนั้นก็เคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ ตามกระแสสังคม เช่น การสร้างบ้านพักหรูหราให้ทหาร โดยเหตุที่เคลื่อนไหวเพราะต้องการเห็นสังคมดีขึ้นและเป็นธรรม ปกติแล้วจะไปร่วมชุมนุมพร้อมกับคู่หูชื่อ “โชคชัย” แต่ปัจจุบันนี้จะไปชุมนุมเพียงคนเดียว และไม่เคยเป็นแกนนำหรือปราศรัยในการชุมนุมใด

เกี่ยวกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 และ 14 ต.ค. 2563 พยานก็เพียงแต่ไปร่วมชุมนุมเท่านั้น และไม่เคยดูข่าวในพระราชสำนักมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ทำให้พยานไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับขบวนเสด็จเลย

ในวันที่เกิดเหตุพยานและเพื่อนนั่งรถแท็กซี่ไปลงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยไปถึงที่นั่นเมื่อเวลาประมาณ 14:00 น. จากนั้นเข้าร่วมชุมนุมกับคณะราษฎร 63 ต่อมาเวลา 14:15 น. แกนนำคณะราษฎร 63 ประกาศเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล พยานซึ่งทราบว่ามีเส้นทางลัดเลาะไปยังทำเนียบรัฐบาลได้ จึงเดินตามไปเส้นทางนั้นโดยไปเพียงคนเดียว

เส้นทางดังกล่าวผ่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน และเข้าสู่ถนนนครสวรรค์ เมื่อไปถึงแยกนางเลิ้ง พยานก็เจอสิ่งกีดขวางและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนจะเห็นว่ามีตัวแทนแกนนำคณะราษฎร 63 เข้าไปเจรจากับตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมให้ขบวนผ่านไป พยานก็เดินไปเดินมาอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ณ บริเวณนั้น ครู่หนึ่งก็มีผู้ชุมนุมคนหนึ่งบอกกับพยานว่ามีซอยที่ทะลุออกไปถนนพิษณุโลกได้ พยานก็เดินต่อไปตามเส้นทางนั้น

เมื่อไปถึงถนนพิษณุโลกช่วงก่อนที่จะเดินข้ามสะพานชมัยมรุเชฐ พยานมองเห็นรถตู้จอดอยู่เต็มสะพาน จึงเดินเลาะฟุตบาททางด้านซ้ายของสะพานชมัยมรุเชฐข้ามคลองเปรมประชากรไปฝั่งทำเนียบรัฐบาล ซึ่งประชาชนคนอื่นๆ ทั้งผู้ชุมนุม กลุ่มคนใส่เสื้อเหลือง และนักข่าว ต่างก็เดินข้ามไปมาด้วยวิธีการเดียวกับพยาน

ต่อมาอีกประมาณ 10 นาที พยานเห็นตำรวจควบคุมฝูงชน 2 กลุ่มใหญ่ เดินมาจากทางแยกมิสกวัน โดยมาหยุดที่หน้าทำเนียบฯ กลุ่มหนึ่ง และไปหยุดที่หน้าสำนักงานข้าราชการพลเรือนอีกลุ่มหนึ่ง เมื่อคะเนด้วยสายตาแล้ว เห็นว่ามีตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวนหลายร้อยนาย

ระหว่างที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม พยานไม่ได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศห้ามชุมนุม แต่ได้ยินเสียงผู้ชุมนุมที่อยู่บนถนนเริ่มตะโกนโห่ร้องอื้ออึงประมาณ 10 นาที หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนก็เริ่มแปรแถวหน้ากระดาน ทำให้ผู้ชุมนุมโห่ร้องมากยิ่งขึ้น โดยเป็นการโห่ที่ไม่มีแกนนำ

ขณะนั้นพยานยืนอยู่บนถนนฝั่งหน้าทำเนียบรัฐบาล มองเห็นตำรวจควบคุมฝูงชนฝั่งตรงข้ามเริ่มแหวกแถวเป็นช่อง จากนั้นมีรถเก๋งตำรวจคันหนึ่งขับออกมาช้าๆ ตามมาด้วยรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจ 2 คัน และตามด้วยรถยนต์อีกคันหนึ่ง เมื่อรถทั้ง 4 คันเคลื่อนที่ออกมาแล้ว ตำรวจควบคุมฝูงชนก็ปิดช่อง

พยานมองเห็นว่ารถทั้ง 4 คัน แล่นช้าไปๆ โดยไม่มีการขัดขวางของผู้ชุมนุม ตัวพยานเองก็ยืนดูรถเหล่านั้นแล่นผ่านไปเฉยๆ โดยพยานยืนอยู่บนถนนที่พื้นผิวมีความสูงระดับเดียวกับตำรวจควบคุมฝูงชน และสิ่งที่พยานมองเห็นมีเพียงตำรวจควบคุมฝูงชนในแถวหน้าเท่านั้น

เมื่อรถทั้ง 4 แล่นพ้นไปแล้ว ตำรวจควบคุมฝูงชนเริ่มเคลื่อนแถวขึ้นมาข้างหน้า พยานกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ จึงเข้าใจว่าจะมีการสลายการชุมนุม และยังทำให้เข้าใจไปอีกว่าผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่จากทางนางเลิ้งถูกปล่อยออกมาแล้ว พยานเห็นตำรวจควบคุมฝูงชนเกี่ยวแขนกันเป็นกำแพงพร้อมกับเดินหน้าเข้าหาผู้ชุมนุม และฝ่ายผู้ชุมนุมก็ทำในลักษณะเดียวกัน พยานจึงเข้าไปร่วมเกี่ยวแขนกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และ 5 รวมอยู่ด้วย แต่ในตอนนั้นพยานยังไม่รู้จักพวกเขาทั้งหมด เพิ่งมารู้จักกันหลังจากถูกดำเนินคดีนี้

หลังจากผู้ชุมนุมเกี่ยวแขนกันได้ประมาณ 1 นาที เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนก็ผลักดันเข้ามา ขณะนั้นพยานยังอยู่บนถนนฝั่งหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตำรวจควบคุมฝูงชนเดินหน้าผลักดันเข้ามาโดยไม่มีประกาศหรือเจรจาใดๆ ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ผลักดันกลับ แต่เนื่องจากมีจำนวนน้อยกว่า สู้ไม่ได้ ผู้ชุมนุมจึงถอยร่นไปจนถึงเชิงสะพานชมัยมรุเชฐและพื้นก็เริ่มชันขึ้นเรื่อยๆ พยานที่กำลังดึงดันกับเจ้าหน้าที่ก็ถูผลักดันจนขึ้นไปอยู่ตำแหน่งที่พื้นผิวถนนระดับที่สูงกว่าเจ้าหน้าที่ ในตอนนั้นพยานจึงมองเห็นว่าด้านหลังแถวของ คฝ. มีรถเก๋งสีเหลืองและขบวนรถสีแดงอีกหลายคัน รวมทั้งมีธงตราครุฑอีกด้วย

เมื่อเห็นดังนั้นพยานก็ถามเจ้าหน้าที่ว่าด้านหลังเป็นขบวนเสด็จหรือไม่ เจ้าหน้าที่ก็ตอบว่าใช่ พร้อมกับบอกว่าขอผ่านหน่อย พยานเลยตวาดกลับไปว่าแล้วทำไมไม่บอกว่ามีขบวนเสด็จ จากนั้นพยานก็ถอยและเดินไปตามแนวที่ถูกผลักดัน ขณะที่ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ก็เริ่มถอยออก โดยเบี่ยงออกด้านข้าง เพราะเริ่มมองเห็นกันแล้วว่าด้านหลังมีขบวนเสด็จ เมื่อเจ้าหน้าที่ผลักดันผู้ชุมนุมออกนอกเส้นทางและเปิดช่องทางให้ขบวนเสด็จแล้ว พยานก็เดินไปอยู่บริเวณหลังแนวรถตู้

เกี่ยวกับการชู 3 นิ้ว พยานนำมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games โดยเป็นการชู 3 นิ้วที่หมายถึงเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ และในที่ชุมนุมพยานเห็นมีผู้ชู 3 นิ้ว จึงชูบ้าง พร้อมตะโกนบอกผู้ชุมนุมคนอื่นๆ เรื่องขบวนเสด็จเพื่อส่งสัญญาณให้คนอื่นทราบ และยืนมองขนขบวนผ่านไป ก่อนเดินย้อนกลับไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล การชู 3 นิ้วใส่ขบวนเสด็จ เป็นการส่งสัญญาณให้รับรู้ว่าผู้ชุมนุมไม่พอใจรัฐบาลชุดนี้ คล้ายกับเป็นการร้องทุกข์ต่อพระราชวงศ์

จากวิดีโอของผู้สื่อข่าวสำนักข่าวสด ภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นวิดีโอที่บรรทุกภาพเหตุการณ์โดยตลอด และมีภาพของพยานปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งด้วย พยานกล่าวว่าถ้าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเปิดช่องให้รถในขบวนเสด็จแล่นออกมาอย่างต่อเนื่องกัน ไม่ใช้ยุทธวิธีชักล้อมรถพระที่นั่ง เหตุแห่งคดีนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะจากวิดีโอก็จะเห็นว่าไม่มีผู้ชุมนุมคนใดเข้าไปยุ่งกับรถทั้ง 4 คันที่ออกมาก่อนเลย และพยานยังเชื่อด้วยว่าถ้ามีปล่อยรถอย่างต่อเนื่องจริง ก็จะไม่มีผู้ชุมนุมคนใดเข้าไปยุ่งกับขบวนเสด็จอย่างแน่นอน

พยานระบุว่าตนเองไม่รู้จักจำเลยคนอื่นๆ และในวันที่เกิดเหตุหลังจากที่ขบวนเคลื่อนที่ไปแล้ว ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวจากสำนักข่าวบีบีซีไทย เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งพยานก็ให้สัมภาษณ์ว่าตนเองไม่รู้เรื่องขบวนเสด็จเลย

เกี่ยวกับความร่วมมือในคดี พยานเบิกความว่าในวันที่ 15 ต.ค. 2563 หลังจากได้รับแจ้งจากนักข่าวที่รู้จักว่า ตนมีหมายจับจากเหตุขบวนเสด็จ ก็มีตำรวจโทรหาพยานว่าจะให้มาหาเลยหรือไม่ หรือจะให้มาในวันถัดไป ซึ่งพยานก็ได้บอกว่าให้มาในวันถัดไปเพราะต้องการคุยกับทนายความก่อน เมื่อคุยกับตำรวจเสร็จ พยานก็โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจะเข้ามอบตัวในวันที่ 16 ต.ค. 2563 เวลา 09:00 น.

นอกจากนี้ พยานระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ดังที่เห็นได้จากคลิปวิดีโอ โดยพยานมองว่าการขอออกหมายจับ เกิดขึ้นหลังได้รับแจ้งข้อกล่าวหาเพียง 10 ชั่วโมงกว่าๆ  เป็นการกระทำที่เร่งด่วนมาก ยังไม่มีการตรวจสอบข้อกล่าวหาให้ละเอียดดีเสียก่อน และยังยัดเยียดให้พยานลงนามในเอกสารบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งที่ข้อกล่าวหาไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่พยานเสียความรู้สึกอย่างมาก

ตอบพนักงานอัยการถามค้าน

พยานไปร่วมชุมนุมกับทุกการชุมนุม ไม่เจาะจงว่าจะต้องเป็นม็อบของกลุ่มคณะราษฎร 63 เท่านั้น เพราะพยานเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ของกลุ่มคณะราษฎร 63 และรับรู้ว่าสัญลักษณ์ 3 นิ้ว คือการสื่อสารถึงข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของกลุ่มผู้ชุมนุม

ในวันที่เกิดเหตุ พยานทราบว่าแกนนำคณะราษฎร 63 ประกาศปักหลักชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ขณะร่วมชุมนุมอยู่ที่แยกนางเลิ้ง พยานเห็นแกนนำผู้ชุมนุมเจรจากับตำรวจ จากนั้นขบวนก็หยุดนิ่งเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง จากนั้นเมื่อผู้ชุมนุมคนหนึ่งบอกว่ามีเส้นทางที่สามารถทะลุไปถนนพิษณุโลกได้ พยานจึงเดินไปทางนั้นและเมื่อไปถึงสะพานชมัยมรุเชฐ พยานก็เดินข้ามสะพานไปโดยเดินไปบนฟุตบาทที่ไม่มีการปิดกั้น

ตามเอกสารที่เป็นภาพช่วงก่อนขบวนเสด็จปรากฏว่ามีภาพพยาน และจำเลยที่ 2 ซึ่งกำลังถือโทรโข่งอยู่ในมือ พยานระบุว่าไม่ได้สนใจว่าใครจะพูดอะไร เพราะเสียงในที่ชุมนุมค่อนข้างอื้ออึง

เกี่ยวกับพฤติการณ์กางแขน พยานชี้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสดงว่าไม่มีอาวุธ และการกวักมือหมายถึงต้องการบอกให้ผู้ชุมนุมคนอื่นทำเช่นเดียวกัน ส่วนจะมีคนอื่นมาร่วมด้วยมากน้อยเพียงใดนั้น พยานไม่ทราบ แต่เท่าที่จำได้ว่าเห็นว่าบางคนก็เข้ามาคล้องแขนด้วย บางคนก็ไม่มา

ในจังหวะที่กำลังปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน พยานและผู้ชุมนุมพยายามผลักดัน แต่สู้ไม่ไหวและถูกเจ้าหน้าที่ดันจนถอยออกมาจากตำแหน่งเดิมราว 10–20 เมตร ซึ่งในขณะนั้นจำเลยที่ 2 จะอยู่ตรงไหน พยานไม่ได้สังเกต

ทั้งนี้ พนักงานอัยการเปิดวิดีโอของนักข่าวสำนักข่าวสด ภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งมีตอนหนึ่งที่นักข่าวคนดังกล่าวได้แสดงความเห็นไว้ขณะที่รถนำขบวนมาถึงที่เกิดเหตุว่า อาจเป็นขบวนเสด็จของพระมหากษัตริย์ แต่พยานเบิกความว่าในขณะนั้นนักข่าวอาจจะทราบว่าเป็นขบวนเสด็จ แต่พยานไม่ทราบ เพราะกำลังปะทะกับเจ้าหน้าที่ คฝ. และไม่ได้ติดตามฟังว่าผู้สื่อข่าวรายงาน

ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามติง

ขณะเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ พยานระบุว่ามีความกลัว คือกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าปะทะกับผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ที่กำลังจะมาถึง จึงต้องการที่ตรึงพื้นที่ไว้รอผู้ชุมนุมอีกกลุ่มจากทางแยกนางเลิ้ง

ส่วนเรื่องการตั้งกำแพงมนุษย์ พยานกล่าวว่าเป็นการแสดงออกของผู้ชุมนุมว่าไม่มีอาวุธ ไม่ต้องการความรุนแรง และเป็นสันติวิธี ซึ่งในตอนนั้นไม่มีผู้ชุมนมคนใดพุ่งเข้าไปทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่เลย

จากประสบการณ์เข้าร่วมการชุมนุมของพยาน ทำให้เข้าใจว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนขยับแถว หรือรุกคืบเข้าหาผู้ชุมนุม แปลว่ากำลังจะทำการสลายการชุมนุม ดังนั้นพยานจึงกางแขนตั้งแนวเป็นกำแพงรอรับการปะทะ โดยเป็นการตัดสินใจของตนเองตามประสบการณ์ ไม่ได้มีการนัดหมายกับผู้ชุมนุมคนใด

เกี่ยวกับเรื่องผู้สื่อข่าว พยานพบเจอและพูดคุยกับนักข่าวในตอนแรก ก่อนที่จะมีการปะทะ จากนั้นก็ไม่ได้สนใจว่านักข่าวจะอยู่ตรงไหน ทำอะไร หรือรายงานสถานการณ์ว่าอย่างไร

เกี่ยวกับบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา พยานขอยืนยันเพียงข้อเท็จจริงตามลำดับเวลา แต่ไม่รับรองเรื่องพฤติการณ์ เพราะมีข้อผิดพลาด ไม่เป็นความจริงหลายประการ

.

“ฟรานซิส” บุญเกื้อหนุน จำเลยที่ 2 ยืนยันว่าไม่มีการประกาศเรื่องขบวนเสด็จจากฝ่ายเจ้าหน้าที่

ก่อนจะเริ่มการพิจารณาคดี พยานเลือกสาบานตนต่อพระมหาชนกฯ ซึ่งเป็นบุคลาธิษฐานของมหาวิทยาลัยมหิดลที่พยานกำลังศึกษาอยู่ จากนั้นเบิกความว่าตนเองเคยจัดกิจกรรมการเมืองในมหาวิทยาลัย และมีกลุ่มกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยด้วย ชื่อว่า Anti One China โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความเห็นต่างเรื่องนโยบายการต่างประเทศของจีน

พยานและเพื่อนกลุ่ม Anti One China เคยทำกิจกรรมที่หน้าสถานทูตจีนเนื่องในวันชาติจีน (1 ต.ค. 2563) ซึ่งการทำกิจกรรมของพยานและกลุ่มเพื่อนก็เพื่อเผยแพร่ความรู้ว่านโยบานจีนเดียวมีปัญหาอย่างไร นอกจากนี้ยังมีการระดมทุนทำกิจกรรมด้วย โดยจะนำสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นของกลุ่มไปขายในที่ชุมนุมต่างๆ ซึ่งทางกลุ่มได้ประชาสัมพันธ์ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2563 แล้วว่าจะไปร่วมการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563

ในวันที่เกิดเหตุ พยานและเพื่อนตั้งใจนำสินค้าไปขายที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยจะตั้งจุดขายที่ถนนราชดำเนินนอกใกล้กับแยกมิสกวัน โดยพยานและเพื่อนไปถึงที่บริเวณเกิดเหตุราว 15:00 น.

สำหรับสิ่งของที่พยานนำติดตัวไปมีสินค้าระดมทุนและโทรโข่ง โดยพยานและเพื่อนเดินตามผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ไปบนนถนนนครสวรรค์ กระทั่งเวลาประมาณ 16:00 น. พยานเห็นว่าขบวนผู้ชุมนุมหยุดชะงักอยู่ที่บริเวณแยกนางเลิ้ง ซึ่งตอนนั้นพยานได้แยกตัวกับเพื่อนแล้ว แต่ยังคงอยู่แถวๆ แยกนางเลิ้ง เพราะต้องการเดินไปที่หน้าทำเนียบฯ พร้อมผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่  แต่เมื่อรอนานแล้วไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่จะเคลื่อนไป จึงโทรหาเพื่อนที่ล่วงหน้าไปที่ทำเนียบฯ ซึ่งเพื่อนบอกว่าสามารถนั่งวินมอเตอร์ไซค์ไปถึงหน้าทำเนียบได้ พยานเดินลัดเลาะหาวินมอเตอร์ไซค์ และนั่งไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล

พยานไปถึงเชิงสะพานชมัยมุรเชฐเมื่อเวลาประมาณ 17:00 น. โดยเห็นรถตู้จอดอยู่บนสะพานแล้ว พยานจึงเดินข้ามไปฝั่งทำเนียบฯ เพราะเห็นประชาชนเดินกันไปมาราวๆ  70 คน รวมทั้งเห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนด้วย

ต่อมาเวลาประมาณ 17:10 น. เพื่อนคนหนึ่งของพยานลุกไปถ่ายรูปสถานการณ์ จากนั้นพยานก็ได้ยินเสียงเพื่อนร้องโวยวาย จึงตามไปดูและเห็นว่าเพื่อนถูกตำรวจ คฝ. ผลักจนล้ม ซึ่งพยานโกรธมาก จึงใช้โทรโข่งตะโกนใส่เจ้าหน้าที่ทำนองว่า “คุณยังทำร้ายประชาชนไม่พออีกหรือ” จากนั้นเจ้าหน้าที่ คฝ. ก็จะถอยออกไป และมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้ามาพาเพื่อนของพยานออกไปปฐมพยาบาล หลังจากนั้นสถานการณ์ก็เริ่มตึงเครียด เพราะผู้ชุมนุมหลายคนเห็นว่าเจ้าหน้าที่ คฝ. ผลักนักศึกษาจนล้ม

ต่อมาพยานเจอกับนักข่าวจากสำนักข่าวข่าวสด ภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งเคยรู้จักกันมาก่อน พยานจึงได้ให้สัมภาษณ์เรื่องการเดินทางมาชุมนุม เรื่องเพื่อนของพยานถูกเจ้าหน้าที่ผลักจนล้ม เรื่องสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่กำลังเตรียมตัวจะสลายการชุมนุม และเรื่องการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563  แต่สัมภาษณ์ไปได้ 5 นาที ก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่ คฝ. ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและเริ่มตั้งแถว พยานจึงเข้าใจว่าจะมีการสลายการชุมนุม  จึงเข้าไปประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ เพราะต้องการประวิงเวลาให้ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ได้หาทางหลบหนี

พยานเบิกความว่าตั้งแต่เข้ามาในสถานที่ชุมนุมบริเวณนั้น ไม่ได้ยินการประกาศใดๆ จากฝ่ายเจ้าหน้าที่เลย และไม่มีการประกาศว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านเส้นทางนี้ หรือแม้แต่จะมีขบวนเสด็จ

หลังจากพยานเข้าไปร่วมประจันหน้า ไม่นานก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่ปล่อยรถยนต์ 2 คัน และรถมอเตอร์ไซค์ 2 คัน ซึ่งในตอนนั้นพยานไม่ได้สนใจว่าเป็นรถอะไร แต่ต่อมาไม่ถึง 1 นาที ตำรวจ คฝ. ก็ตั้งแถวและเดินเข้าหาผู้ชุมนุม ในจังหวะนั้นพยานจึงได้กางแขนกั้น และเดินเป็นแนวหน้ากระดานเข้าหาเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ผ่านไปได้

พยานระบุว่าตนเองน่าจะเป็นคนแรกที่กางแขน จากนั้นก็มีคนอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย โดยพยานไม่ได้บอก สั่ง หรือขอให้ใครเข้าร่วม พยานและผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ผลักดันกับเจ้าหน้าที่อยู่เป็นเวลาประมาณ 2 นาที ก่อนจะถูกดันจนถอยร่นขึ้นไปบนสะพานชมัยมุรเชฐ ซึ่งเมื่อได้อยู่ในจุดที่สูงกว่าเจ้าหน้าที่ก็มองเห็นขบวนรถด้านหลัง โดยเห็นว่าเป็นรถโรลส์ลอยซ์อยู่ด้านหน้า ทำให้ทราบว่าเป็นขบวนเสด็จ และพยายามเดินออกจากจุดปะทะ

ทั้งนี้ พยานยืนยันว่ารับรู้ว่ามีขบวนเสด็จในจังหวะที่กำลังชุลมุนกับเจ้าหน้าที่ คฝ. แต่กระนั้นก็ยังไม่ทราบว่าเป็นขบวนของใคร และเมื่อออกมาจากจุดที่ผลักดันกันได้แล้ว พยานมีอาการวิงเวียน หายใจไม่ออก แต่ก็ยังพยายามใช้โทรโข่งตะโกนบอกผู้ชุมนุมให้หลีกทางแก่ขบวนเสด็จ

พยานกล่าวว่าเพราะไม่มีการประกาศว่าจะมีขบวนเสด็จ ทำให้พยานและผู้ชุมนุมคนอื่นๆ เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนตั้งแถวเพื่อสลายการชุมนุม แต่ทั้งนี้พยานมองเห็นว่าขบวนเสด็จผ่านไปได้ด้วยดี ไม่มีการขว้างปาสิ่งของใดใส่ขบวน

หลังจากขบวนเสด็จผ่านไปแล้วกว่า 20 นาที พยานไปนั่งพักที่ด้านข้างทำเนียบรัฐบาลและมองเห็นว่าเจ้าหน้าที่ คฝ. กลับมาตั้งแถวอีกครั้ง แต่ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีก กระทั่งเมื่อเวลา 18:30 น. พยานและเพื่อนได้ทำกิจกรรมร้องเพลง ขายสินค้าระดมทุนอยู่ในที่ชุมนุม จนเวลา 20:55 น. พยานก็ออกจากพื้นที่

เกี่ยวกับเรื่องการชู 3 นิ้ว พยานอธิบายว่าหมายถึงเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันมาตั้งแต่ช่วงหลังปี 2557 คือหลังการรัฐประหาร และเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และในวันที่เกิดเหตุพยานระบุว่าชู 3 นิ้วใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้ชูใส่ขบวนเสด็จ เพราะไม่รู้ว่ามีขบวนเสด็จ

เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พยานกล่าวว่าในความคิดของตนเองคือการเพิ่มความสง่างามให้กับสถาบันฯ เพราะในปัจจุบันมีสถาบันกษัตริย์อยู่น้อยมาในโลก การปฏิรูปจึงเท่ากับเป็นการทำให้สาถบันยังคงมีความเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่เกิดเหตุพยานไม่ได้ปราศรัยในเรื่องดังกล่าวนี้

ต่อมาในวันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 17:00 น. เศษ พยานทราบข่าวจากสำนักข่าวว่าเป็นหนึ่งในผู้ถูกออกหมายจับกรณีขัดขวางขบวนเสด็จ พยานจึงปรึกษาคนใกล้ชิดหลายคนและได้ข้อสรุปว่าจะเข้ามอบตัวที่ สน.ดุสิต แต่เมื่อเข้ามอบตัวแล้วก็ถูกพาตัวไปที่ บก.ตชด. จ.ปทุมธานี เพื่อการสอบสวน

ตอบพนักงานอัยการถามค้าน

พยานอธิบายว่าในการร่วมชุมนุมนั้น พยานมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือเข้าร่วมชุมนุมเพราะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง และต้องการนำสินค้าระดมทุนมาขายด้วย

สำหรับความหมายของการชู 3 นิ้ว พยานยืนยันตามที่ได้อธิบายไว้แล้ว ทั้งอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าพยานไม่ทราบเรื่องการเจรจาระหว่างแกนนำผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตรงบริเวณแยกนางเลิ้ง และไม่ทราบด้วยว่าจะมีการเจรจากันว่าอย่างไร เพราะไม่ได้เป็นแกนนำจัดการชุมนุม

พยานยอมรับพฤติการณ์ตามวิดีโอที่เป็นพยานหลักฐาน ซึ่งปรากฏภาพพยานพูดผ่านโทรโข่ง แต่ก็ยืนยันในเจตนาของตนเองว่าไม่ทราบเรื่องจะมีขบวนเสด็จ เพิ่งจะมาทราบก็ตอนที่ผลักดันกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนไปแล้ว 2–3 นาที

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามติง

พยานทราบว่ามีการประกาศเส้นทางเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมโดยแกนนำคณะราษฎร 63 แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง หรือการนัดหมายกันอย่างไร พยานไม่ทราบ รวมทั้งไม่ทราบเรื่องที่แกนนำเจรจากับเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะเป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุม ไม่ได้เป็นผู้จัดหรือแกนนำ

เกี่ยวกับเรื่องขบวนเสด็จ พยานทราบว่าจะมีการเสด็จโดยใช้ถนนราชดำเนิน ไม่ใช่ถนนพิษณุโลก และไม่ทราบว่าเป็นขบวนของใคร ในเวลานั้น พยานเข้าใจว่ารถกรุยทาง ประกาศขอทางจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ไม่ใช่ขอทางจากผู้ชุมนุม เพราะขณะนั้นสิ่งที่อยู่ด้านหน้ารถดังกล่าวมีเพียงเจ้าหน้าที่ คฝ. และรถตู้ที่เจ้าหน้าที่นำมาจอดไว้เท่านั้น

ทนายจำเลยที่ 2-3 ขอถามเพิ่มเติม ซึ่งศาลอนุญาต

พยานตอบว่าถ้าเจ้าหน้าที่ปล่อยรถในขบวนออกมาทั้งหมดอย่างต่อเนื่องกัน ไม่ปิดกั้นหลังจากที่ปล่อนรถ 4 คันแรกออกมา ก็จะทำให้เห็นรถพระที่นั่งได้ชัดเจน และคงไม่มีใครเข้าไปขวางอย่างแน่นอน เพราะทุกคนรู้ดีว่าการเข้าไปยุ่งกับขบวนเสด็จจะมีปัญหาตามมา ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ทำเช่นนั้นก็จะให้ขบวนเสด็จแล่นผ่านไปได้โดยสะดวก

พนักงานอัยการถามค้านเพิ่มเติม

พยานรับว่าการชักล้อมเป็นยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่ แม้จะใช้เพื่อถวายความปลอดภัยให้แก่ขบวนเสด็จ แต่ก็เป็นภารกิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพยานและผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ไม่อาจทราบหรือรับรู้ด้วยได้

ส่วนเหตุที่ว่าเจ้าหน้าที่ใช้วิธีดังกล่าวเพราะผู้ชุมนุมไม่ยอมถอยนั้น พยานกล่าวว่าเป็นเพราะในตอนนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดบอกว่าจะมีขบวนเสด็จ ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดที่แต่งกายเหมือนตอนมีขบวนเสด็จ มีเพียงแต่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ทำให้พยานและผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ต่างเข้าใจไปว่าเจ้าหน้าที่กำลังจะสลายการชุมนุมอย่างแน่นอน

.

ภาพจากสำนักข่าวประชาไท

.

“ตัน” สุรนาถ แป้นประเสริฐ จำเลยที่ 3 บอกให้ผู้ชุมนุมนั่งลง เพราะต้องการลดการปะทะกับ จนท.

พยานเบิกความว่าตนเองป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิพัฒนาเมืองและชุมชน โดยเริ่มทำงานด้านนี้มาตั้งแต่อายุ 20 ปี จนกระทั่งปัจจุบันมีอายุ 38 ปีแล้ว ในช่วงปี 2548–2549 พยานทำงานผลักดัน พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยได้จัดการชุมนุมเพื่อผลักดันประเด็นดังกล่าว เพราะมองว่ากฎหมายนี้จะมีประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนในชุมชน โดยพยานทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในการชุมนุมนั้น นอกจากนี้ พยานยังมีฐานะเป็นกรรมการชุมชนวัดโพธิ์เรียงในเขตบางกอกน้อย

พยานเข้าร่วมการชุมนุมบ่อยครั้ง แต่โดยมากเป็นการชุมนุมโดยสงบที่มีแกนนำเป็นเยาวชนในชุมชนที่พยานทำงานด้วย และในการชุมนุมดังกล่าวก็มีทั้งผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่เป็นเยาวชนและผู้สูงวัย  นอกจากนี้ พยานมีบทบาทและการทำงานอื่นๆ ด้วย เช่น การทำงานกับ “กลุ่มเกสรชุมชน” ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “กลุ่มบางกอกนี้ดีจัง” และพยานยังเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนาอีกด้วย

ในวันที่เกิดเหตุ พยานไปประชุมในฐานะผู้จัดการโครงการงานของกลุ่มบางกอกนี้ดีจัง ที่ซอยอารีย์ ตั้งแต่เวลา 09:00–15:00 น. เมื่อเลิกประชุม พยานก็ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปที่โรงเรียนพาณิชยการ ถึงที่นั่นเมื่อเวลา 16:45 น. เพราะพยานทราบว่าจะมีการชุมนุม และพยานก็ต้องการเข้าร่วมชุมนุมกับคณะราษฎร 63 ด้วย

พยานเบิกความว่าตอนที่ไปถึงบริเวณใกล้ที่เกิดเหตุ ฝั่งแยกนางเลิ้ง มองเห็นนักศึกษา 3 คน และผู้สื่อข่าว โดยนักศึกษากำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้เปิดทางแก่ผู้ชุมนุม และตอนนั้นพยานก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกำลังผลักดันผู้ชุมนุมออกจากถนน โดยผลักให้ผู้ชุมนุมออกไปอยู่ข้างทาง ก่อนเจ้าหน้าที่จะปิดซอยด้านข้างคลองเปรมประชากร ฝั่งแยกนางเลิ้ง

ต่อมาราว 17:00 น. รถตู้ทยอยถูกนำมาจอดบริเวณกลางสะพานชมัยมรุเชฐ และพยานเห็นผู้ชุมนุมหลายคนเริ่มปรึกษากันว่าตำรวจปิดพื้นที่เพื่อจะสลายการชุมนุมหรือไม่ พยานจึงได้เข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ว่าขอให้เปิดทาง 1 ช่อง เพราะคาดว่าจะมีผู้ชุมนุมมาเพิ่ม ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่ยอม แต่เมื่อผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนขึ้นก็ยอมเปิดทางให้ แต่โดยมาก ผู้ชุมนุมจะอยู่บนฟุตบาทมากกว่าอยู่พื้นผิวถนน

พยานเบิกความว่านอกจากเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม และผู้สื่อข่าวแล้ว พยานมองไม่เห็นคนกลุ่มอื่นๆ อีก และเมื่อเจ้าหน้าที่ คฝ. เริ่มตั้งแถว ก็เริ่มมีเสียงอื้ออึง ผู้ชุมนุมบางส่วนถูกผลักจนล้มลง พยานได้ยินเสียงบุคคลหนึ่งซึ่งไม่รู้จักบอกให้ผู้ชุมนุมนั่งลง พยานก็เข้าใจทันทีว่าบุคคลนั้นต้องการให้ผู้ชุมนุมยุติการเผชิญหน้า ลดการปะทะ พยานจึงเข้าไปช่วยตะโกนบอกให้ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ นั่งลงด้วย

แต่เมื่อผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งพากันนั่งลงบนพื้นถนนแล้ว พยานก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่ คฝ. ได้กระชากพวกเขาออก โดยบางคนโดนดึงไปด้านหลังแถวของเจ้าหน้าที่ การฉุดกระชากนั้นดำเนินไปราว 20 วินาที ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีทั้งชุด คฝ. และตำรวจนอกเครื่องแบบที่เข้าร่วมด้วย หลังจากนั้นพยานและผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ก็กวักมือให้ผู้ชุมนุมที่นั่งอยู่ออกจากพื้นผิวถนนด้านหน้าแถวของเจ้าหน้าที่

หลังออกจากการปะทะ ฉุดกระชาก พยานก็เดินข้ามไปฝั่งทำเนียบรัฐบาล และเห็นเจ้าหน้าที่ คฝ. ตั้งแถวหน้ากระดาน 2 ชั้น พร้อมกับผลักผู้ชุมนุมออกไปอยู่ด้านข้างของถนน ในตอนนั้นพยานมองไม่เห็นสถานการณ์หรือสิ่งใดๆ ที่อยู่หลังแนวเจ้าหน้าที่ ครู่ต่อมาจึงเห็นรถมอเตอร์ไซค์เร่งเครื่องทะลุแถวเจ้าหน้าที่ออกมา

พยานยืนยันว่าไม่ได้เสียงประกาศใดๆ จากทางเจ้าหน้าที่ และตนเองไม่เคยรับเสด็จมาก่อน ทั้งนี้ เมื่อขบวนเสด็จผ่านพ้นไปแล้ว พยานก็เดินย้อนกลับไปทางแยกนางเลิ้ง และเมื่อเวลา 18:45 น. โดยประมาณผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ก็มาถึง พยานอยู่ในพื้นที่อีกประมาณ 15 นาที และออกจากพื้นที่เกิดเหตุไปเมื่อเวลาประมาณ 19:00 น.

พยานขับขี่รถมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน โดยระหว่างได้แวะซื้อกับข้าวให้ภรรยาก่อน และเมื่อไปถึงบ้านได้ดูข่าวภาคค่ำก็ทราบว่าขบวนที่ตนเองเจอในที่ชุมนุมเป็นขบวนเสด็จของพระราชินี

ทั้งนี้ พยานไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านที่ชุมนุม และเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว พยานก็ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อสอบถามเรื่องขบวนเสด็จจริง โดยโพสต์เมื่อเวลา 19:10 น. หลังจากนั้นอีก 6 วัน พยานก็ได้รับแจ้งจากเพื่อนว่าข่าวทุกช่องประกาศว่าพยานเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 110 พยานจึงติดต่อไปหาทนายความและแจ้งความจำนงที่จะต่อสู้คดี ทั้งบอกด้วยว่ามีความประสงค์จะเข้ามอบตัวที่ สน.ดุสิต ในวันที่ 26 ต.ค. 2563 เวลา 09:00 น. ซึ่งพยานได้โพสต์เฟซบุ๊กบอกล่วงหน้าในเวลา 08:00 น. ของวันดังกล่าวด้วย

ในวันที่เข้ามอบตัว พยานไปที่ สน.ดุสิต ในเวลา 09:00 น. จากนั้นเมื่อเวลา 10:00 น. ก็ถูกพาตัวไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 ที่ จ.ปทุมธานี เพื่อการสอบปากคำ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกักตัวพยานไว้ที่นั่นเป็นเวลา 1 คืน

อย่างไรก็ดี จากวิดีโอที่ปรากฏภาพพยาน มีพฤติการณ์ที่ถูกนำมาใช้อ้างว่าเป็นการกระทำความผิดนั้น พยานยืนยันเจตนาว่าตนเองไม่ได้ต้องการขัดขวางขบวนเสด็จ เพียงแต่ต้องการลดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม อีกทั้งในขณะนั้นตนเองยังไม่ทราบว่าขบวนเสด็จอยู่ด้านหลังแนวเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เพราะมองไม่เห็นอะไรที่อยู่หลังแนวดังกล่าวเลย สิ่งที่พยานมองเห็นมีเพียงผู้ชุมนุมที่กำลังปะทะกับเจ้าหน้าที่เท่านั้น

ตอบพนักงานอัยการถามค้าน

เกี่ยวกับการบอกให้ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ นั่งลง พยานเบิกความว่าเพราะเห็นว่ามีคนอื่นๆ นั่งอยู่ก่อนแล้ว และเป็นผู้หญิงกับคนแก่ ส่วนที่ตะโกนว่าอย่าดันคือการบอกกับเจ้าหน้าที่ เพราะตอนนั้นเจ้าหน้าที่กำลังเดินหน้าเข้ามา และเมื่อเห็นว่าการลดการปะทะด้วยวิธีการนั่งลงไม่เป็นผล พยานจึงบอกให้ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ถอยออกมา  รวมทั้งตัวพยานเองก็ได้ถูกผลักดันจนถอยออกมาอยู่ที่ด้านข้างด้วย

เหตุที่พยานไม่บอกให้ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ถอยออกมาตั้งแต่ต้น ก็เป็นเพราะเห็นว่ามีคนอื่นนั่งอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งพยานไม่ได้เป็นผู้สั่งให้พวกเขานั่งลงบนพื้นถนน และที่เพิ่งจะบอกให้ผู้ชุมนุมถอยออกมาในตอนหลังนั้น ก็เพราะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่หยุดการกระทำ และคาดเดาได้ว่าผู้ชุมนุมจะทานไว้ไม่ได้ จึงตะโกนบอกให้ถอย

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามติง

พยานระบุว่าโดยธรรมชาติของการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ เช่นในวันที่เกิดเหตุนี้ เมื่อใครทำอะไรอย่างหนึ่ง ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ก็มักพากันทำตาม

.

จำเลยที่ 4  ยืนยันตนเองเป็นศิลปินที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเก็บภาพเท่านั้น

จำเลยที่ 4 มีอาชีพเป็นศิลปินอิสระ ทำงานประเภทจิตรกรรมและประติมากรรม พยานเล่าว่าในช่วงเช้าวันที่เกิดเหตุ พยานเดินทางจากต่างจังหวัดมาทำความสะอาดบ้านที่จังหวัดนนทบุรี เมื่อเสร็จแล้วก็ตั้งใจว่าจะไปดูการชุมนุม โดยตนเองรับรู้เรื่องการชุมนุม คือรู้ว่ามีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก โดยต้องการไปที่ชุมนุมเพื่อถ่ายภาพ

พยานเล่าว่าตนเองนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินไปลงที่สถานีบางซื่อ แล้วเดินเท้าต่อไปเรื่อยจนถึงสวนจิตรลดา ทั้งนี้ พยานจะเดินต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่รู้ทาง จึงไปถามทางจากตำรวจที่อยู่แถวๆ นั้น และเดินต่อไปจนถึงทำเนียบฯ

เมื่อไปถึงสะพานชมัยมรุเชฐ พยานเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถตู้จอดอยู่บนสะพาน จึงเดินข้ามไปเพื่อหาที่นั่งพักตรงข้ามทำเนียบฯ นั่งไปได้ครู่หนึ่ง พยานก็เห็นตำรวจควบคุมฝูงชนเริ่มตั้งแถว และต่อจากนั้นไม่นานก็มีการผลักดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ซึ่งในระหว่างที่มีการผลักดันกัน พยานเห็นว่าผู้ชุมนุมและหน่วยกู้ชีพอุ้มนักศึกษาหญิงคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บเข่าแตกมาปฐมพยาบาล โดยพยานก็ได้ถ่ายภาพนั้นไว้

หลังจากนั้น พยานระบุว่าตนเองเพียงแต่เดินไปเดินมาอยู่ในเหตุการณ์ และชู 3 นิ้ว ไม่ได้เข้าร่วมการผลักดัน และไม่เห็นว่ามีผู้ขัดขวางหรือขว้างปาสิ่งของใส่ขบวนเสด็จ โดยพยานอยู่ในที่เกิดเหตุจนถึงช่วงเวลา 19:00 น. โดยประมาณ จากนั้นก็เดินทางกลับบ้าน

เกี่ยวกับคดีนี้พยานให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าตนเองไม่ได้มีพฤติการณ์ตามฟ้อง หากแต่ต้องการถ่ายภาพการชุมนุมเท่านั้น โดยเป็นการเก็บภาพว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และพยานก็ไม่รู้จักจำเลยคนอื่นๆ มาก่อน รวมทั้งไม่เห็นว่าจำเลยคนใดทำอะไรบ้างในที่เกิดเหตุ

ส่วนเรื่องการชู 3 นิ้ว พยานชูตามผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ซึ่งพยานเข้าใจว่าสัญลักษณ์ 3 นิ้ว มีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games หมายถึงเสรีภาพ ภราดรภาพ และสันติภาพ

เกี่ยวกับสถานการณ์ในขณะที่ขบวนเสด็จผ่านที่ชุมนุม พยานระบุว่าตนเองอยู่ด้านหลังแถวของเจ้าหน้าที่ คฝ. มองเห็นขบวนรถสีแดงมีตำรวจนั่งอยู่ด้านใน ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของขบวนเสด็จตามที่เคยเข้าใจ พยานค่อนข้างสับสนเพราะด้วยบรรยากาศของวันที่เกิดเหตุ ทำให้เข้าใจได้ว่าไม่น่าจะมีคนสำคัญคนใดผ่านมาเส้นทางนี้ เนื่องจากเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ทั้งนี้ พยานมองไม่เห็นรถพระที่นั่งเลย

พยานเบิกว่าหลังทราบข่าวจากเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กว่ามีภาพตนเองชู 3 นิ้ว ถูกนำไปใช้ในการนำเสนอข่าวของช่องเนชั่นทีวี ขณะที่เพื่อนศิลปินที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างนำภาพและข้อมูลส่วนตัวไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก เพื่อตั้งค่าหัว ตั้งรางวัลนำจับ และมีนักเลงอีกลุ่มหนึ่งออกมาประกาศว่าจะตามล่าหาตัวพยานด้วย บริบทเช่นนี้ทำให้อาชีพของพยานได้รับผลกระทบ ไม่สามารถขายงานได้ อีกทั้งเวลาจะไปไหนมาไหนก็ต้องระมัดระวังตัวเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี พยานทราบว่าถูกดำเนินคดีหลังจากวันเกิดเหตุ 2 เดือน โดยเมื่อได้รับหมายเรียกแล้ว พยานก็เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 23 พ.ย. 2563 และให้การปฏิเสธข้อหา

ตอบพนักงานอัยการถามค้าน

ในชั้นสอบสวน พยานเบิกความว่าต้องการมาร่วมการชุมนุมของคณะราษฎร 63 ซึ่งเป็นการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองครั้งแรก เพราะพยานเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ พยานขอยืนยันว่าตนเองเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องแบบ “กินข้าวทีละคำ” กล่าวคือ เห็นด้วยในข้อเรียกร้องแรก ส่วนข้ออื่นเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งพยานยังไม่รู้สึกว่าเห็นด้วย

เกี่ยวกับการที่พยานไปอยู่ ณ บริเวณหลังแนวรถตู้ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน พยานเบิกความว่าเพราะต้องการไปหาจุดที่สูง เพื่อยืนถ่ายภาพในมุมกว้าง แต่ก็ไม่สามารถหาจุดที่สูงมากได้ เพราะจุดที่สูงสุดคือบริเวณที่รถตู้จอดอยู่ พยานกล่าวอีกว่าในระหว่างที่ถ่ายภาพก็ไม่รู้ว่าขบวนรถสีแดงที่ผ่านมาคือรถอะไร แต่เห็นว่าแปลกดีจึงถ่ายภาพเก็บไว้

พยานระบุว่าด้วยความอยากรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จึงเดินออกไปอยู่กลางถนนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามที่ปรากฏภาพในวิดีโอ แต่เมื่อเห็นว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนรุกคืบมาเรื่อยๆ ก็ถอยกลับมาที่ด้านหลังดังเดิม เพราะเข้าใจว่าอาจมีการปะทะกัน พยานระบุว่าที่มีภาพตนเองเฉพาะช่วงก่อนและหลังขบวนเสด็จนั้น เป็นแพราะระหว่างที่มีขบวนเสด็จแล่นผ่าน พยานถอยออกไปอยู่บริเวณข้างถนน

นอกจากนี้ พยานยังมีข้อสงสัยเหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้ว่าภาพชายสวมหน้ากากอนามัยในเอกสารคือพยาน เพราะในวันดังกล่าว พยานไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย อีกทั้งเมื่อดูจากวิดีโอก็จะเห็นว่าพยานไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย

ตอบทนายจำเลยที่ 4-5 ถามติง

พยานยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนประกาศแจ้งเตือนเรื่องจะมีขบวนเสด็จ

.

จำเลยที่ 5 ออกไปร่วมเป็นโล่มนุษย์ เพราะคิดว่า คฝ. จะสลายชุมนุม หลังเห็นผู้ชุมนุมถูกตำรวจบีบคอ

จำเลยที่ 5 จบการศึกษาจากด้านภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา ตำแหน่งหัวหน้างานฝ่ายผลิต

พยานไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมการเมืองมาก่อน และเมื่อทราบข่าวการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ก็อยากไปร่วม ในวันดังกล่าว พยานออกจากที่ทำงานใน จ.นครราชสีมา ตอนหกโมงเช้า และเดินทางมาหาแม่ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้พยานยังนัดเจอเพื่อนคนหนึ่งที่ราชวัตรด้วย ก่อนเดินทางไปที่ชุมนุมโดยรถแท็กซี่ ซึ่งคนขับก็พาไปส่งที่แยกโรงเรียนวชิราวุธ จากนั้นก็เดินเท้าต่อไปจนถึงที่ชุมนุม

เมื่อเวลา 16:00 น. พยานอยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่และประชาชนจำนวนมาก แต่ไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ทั้งนี้ พยานไม่เห็นว่ามีการตั้งเวทีใดๆ ในพื้นที่การชุมนุมตรงสะพานชมัยมรุเชฐ และขณะอยู่ในที่ชุมนุม พยานได้ยินคนอื่นๆ พูดกันว่าตำรวจจะเข้ายึดพื้นที่

ในช่วงเวลาใกล้เกิดเหตุ พยานเห็นเจ้าหน้าที่ คฝ. ตั้งแถวอยู่หน้าทำเนียบฯ ก่อนจะมีรถแล่นออกมาจากด้านหลังแถว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยรถออกไปแล้วกลับไปตั้งแถวหน้ากระดานเหมือนเดิม จากนั้นก็เดินขึ้นหน้ามาทางผู้ชุมนุมเรื่อยๆ ซึ่งในระหว่างนั้น พยานมองเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ คฝ. คนหนึ่งบีบคอชายสูงวัยและผลักดันชายคนนั้นออกไปด้านข้าง

พยานเบิกความว่าเห็นคนอื่นชู 3 นิ้ว จึงชูบ้าง และเมื่อชูแล้วก็มองเห็นรถสีไข่แล่นออกมาจากด้านหลังแถวของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน พยานก็เพิ่งทราบตอนนั้นเองว่าเป็นขบวนเสด็จ และเมื่อทราบแล้ว พยานก็หันไปบอกคนข้างๆ ว่ามีขบวนเสด็จ

สำหรับการกางแขนนั้น พยานเบิกความว่าในตอนนั้นเข้าใจว่าจะมีการสลายการชุมนุม และพยานกลัวว่าคนด้านหลังตนเองจะได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากตอนแรกเห็นมีคนถูกบีบคอไปแล้ว พยานจึงออกไปเป็นโล่มนุษย์ให้ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ แต่พยานไม่ได้ยินการประกาศใดๆ จากฝ่ายเจ้าหน้าที่ จึงไม่ทราบว่าจะเกิดสถานการณ์ใดขึ้น

ทั้งนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดทางให้ขบวนเสด็จแล่นผ่านไปโดยตลอด ไม่มีการชักล้อม พยานก็มั่นใจว่าจะไม่มีใครเข้าไปขัดขวาง อีกทั้งมั่นใจว่าถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ตั้งแถวดาหน้าเข้ามา ก็ไม่เกิดเรื่องดังกล่าวนี้ขึ้น และอันที่จริงแล้วพยานนั้นจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะมีพ่อเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ ซึ่งเคยถวายการรักษาความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จด้วย

ในตอนท้าย พยานยืนยันว่าตนเองเข้าร่วมการชุมนุมเป็นครั้งแรก และไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมการเมืองใดๆ มาก่อน อีกทั้งไม่รู้จักใครในที่ชุมนุม ตอนที่ออกไปยืนกางแขน ก็ยังไม่รู้จักคนที่ยืนกางแขนอยู่ข้างๆ กันด้วย ทั้งนี้ พยานอยู่ในที่ชุมนุมจนถึงเวลา 20:00 น. โดยประมาณ และทราบตนเองถูกดำเนินคดีเมื่อตอนได้รับหมายเรียก

ตอบพนักงานอัยการถามค้าน

พยานเบิกความไปถึงที่ชุมนุมตอน 16:00 น. เมื่อไปถึงตอนแรกก็อยู่ที่อีกฝั่ง ยังไม่ได้ข้ามไปฝั่งทำเนียบรัฐบาล  จากนั้นอัยการก็พยายามถามในทำนองว่าพยานเบิกความว่าต้องการไปดูการชุมนุมเพียงเท่านั้น แต่เหตุใดพยานจึงไม่ยืนดูการชุมนุมที่ฟุตบาท ซึ่งพยานระบุว่าตนเองไม่เข้าใจคำถามของอัยการ จึงไม่ได้ตอบ

.

.

พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส. พรรคก้าวไกล ชี้ตำรวจทั้งส่วนกลางและท้องที่เตรียมการรับเสด็จไม่สมพระเกียรติ

พยานในฐานะนายตำรวจซึ่งเคยถวายการรักษาความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จอยู่บ่อยครั้งเบิกความว่าในขบวนเสด็จของสมาชิกราชวงศ์ รถกรุยทางหรือซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า “รถตรีเพชร” จะทำหน้าที่ยืนยันเส้นทางเสด็จ และเมื่อได้รับรายงานซ้ำๆ เช่นในคดีนี้ ที่มีการรายงานจากทั้ง “ดุสิต 1” และ “ดุสิต 2” (ผู้กำกับและรองผู้กำกับ สน.ดุสิต) ว่าไม่สามารถใช้ถนนพิษณุโลกเป็นเส้นทางเสด็จได้ดังเดิม โดยหลักปฏิบัติแล้ว ขบวนเสด็จจะต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางสำรอง แต่ทั้งนี้การจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็ขึ้นอยู่กับผู้สั่งการสถานการณ์หน้างาน

พยานเบิกความต่อว่าตามหลักการขบวนเสด็จที่ขึ้นต้นด้วย 0 จะเป็นขบวนเสด็จตามหมายกำหนดการ แต่หากขึ้นต้นด้วย 9 จะเป็นการเสด็จส่วนพระองค์ และสำหรับการเตรียมรับเสด็จที่เป็นการเสด็จตามหมายจะต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดห่างกัน 10–20 เมตร, นายตำรวจต้องแต่งชุดคอแบะเพื่อเฉลิมพระเกียรติ, เมื่อขบวนเสด็จผ่านเส้นทางทหาร จะต้องมีทหารมารอรับขบวนเสด็จ หรือต้องมีอาสาตำรวจ ซึ่งจะสวมเสื้อเหลือง ใส่ผ้าพันคอสีฟ้า มารอปฏิบัติหน้าที่ตามข้างทางด้วย และที่สำคัญภายในเวลาครึ่งชั่วโมงก่อนขบวนเสด็จจะมาถึง บริเวณเส้นทางเสด็จจะต้องเกลี้ยง ไม่มีสิ่งใดกีดขวาง แต่เมื่อดูจากภาพข่าวและวิดีโอในวันที่เกิดเหตุ พยานเห็นว่าผิดไปจากแบบแผนหลายประการ

พยานกล่าวหลังจากดูวิดีโอที่เป็นภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจทราบได้ว่าจะมีขบวนเสด็จในเวลาอันใกล้ เพราะยังมีการจราจรตามปกติและไม่มีตำรวจมายืนประจำจุด ซึ่งพยานมองว่าเป็นการรับเสด็จที่ไม่สมพระเกียรติ

จากนั้นกล่าวต่อว่าการที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนนำรถตู้มาจอดปิดเส้นทางจราจรบนสะพานชมัยมรุเชฐเป็นการขัดขวางขบวนเสด็จ ทั้งยังทำให้ผู้ชุมนุมเข้าใจผิดว่าสามารถที่จะลงถนนได้ เพราะเมื่อปิดถนนด้วยรถตู้แล้ว ถนนก็โล่ง ประชาชนจึงพากันลงมาบนพื้นผิวจราจร

พยานอธิบายว่าการนำรถตู้มาจอดนั้นมองได้ว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ สร้างความสับสนให้กับผู้ชุมนุม ซึ่งตามประสบการณ์ของพยานแล้ว ในกรณีที่ขบวนเสด็จจะผ่านที่ชุมนุม ผู้จัดการการรับเสด็จต้องประกาศและจัดการให้ประชาชนนั่งลงที่ด้านข้างฟุตบาทให้เรียบร้อย ต้องใช้เครื่องเสียงประจำรถประกาศแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่าจะมีขบวนเสด็จ แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ในวันที่เกิดเหตุสร้างความสับสนให้แก่ผู้ชุมนุม ทำให้เกิดความสงสัย ความไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติภารกิจใดกันแน่ระหว่างเตรียมรับมือการชุมนุมกับถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ

เกี่ยวกับเรื่องแผนที่เส้นทางเสด็จ พยานกล่าวว่าเป็นเรื่องลับ แต่เมื่อถึงเวลาใกล้เสด็จก็จะต้องประกาศ โดยจะต้องประกาศย้ำๆ จนพื้นที่ที่เป็นเส้นทางเสด็จจะเปิดโล่ง สำหรับในวันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่สามารถใช้วิธีการเจรจากับผู้ชุมนุมได้ โดยแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่าจะมีขบวนเสด็จ ซึ่งพยานเชื่อว่าประชาชนทุกคนไม่ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันอย่างไร เมื่อรับรู้ว่าจะมีขบวนเสด็จแล้ว ทุกคนจะหลบหลีกให้อย่างแน่นอน

ภายหลังสถานการณ์ที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ พยานและ ส.ส. จากพรรคก้าวไกล ได้เปิดอภิปรายประเด็นนี้ในรัฐสภา โดยพยานเป็นผู้ยื่นขอญัตติให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องของการรับขบวนเสด็จ โดยใช้วิธีการยื่นเป็นญัตติด่วน และยื่นเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 และญัตติถูกบรรจุในวันที่ 11 พ.ย. 2563 แต่สถานะของญัตติยังคงค้างการพิจารณาอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ข้อสงสัยหลักในการยื่นญัตติคือการทำงานของเจ้าหน้าที่และรัฐบาลที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งอนุญาตให้สามารถจับกุมคุมขังคนไว้ได้โดยไม่ตั้งข้อกล่าวหาเป็นเวลา 3 วัน

ในเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการกระทำที่ไม่ผ่านรัฐสภา พยานจึงยื่นญัตติด่วนตามที่เบิกความไปแล้ว โดยมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การที่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แต่งชุดควบคุมฝูงชนเป็นสิ่งผิดปกติ เพราะในความเป็นจริงต้องแต่งชุดสีกากีคอแบะ และยืนถวายพระเกียรติ ณ จุด 1 ซึ่งเป็นจุดทางออกจากพระราชวังสวนอัมพร แม้จะมีการชุมนุมในวันดังกล่าว แต่ก็มีหมายกำหนดการเสด็จมาก่อนหน้าแล้ว และตามหลักการผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจะต้องไปทำภารกิจรับเสด็จ ไม่ใช่ไปทำหน้าที่รับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุม ประเด็นนี้จึงถือเป็นข้อผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

โดยสรุป พยานกล่าวว่าหากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจได้ตามหลักการแล้ว เหตุการณ์เรื่องขบวนเสด็จก็จะไม่เกิดขึ้น และโดยส่วนตัว พยานเห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นการสร้างสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่เพื่อยกระดับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

สำหรับจำเลยทั้ง 5 คน พยานระบุว่าพวกเขาอาจถูกสถานการณ์ชักจูงไป จึงกระทำตามพฤติการณ์ที่ถูกฟ้องในบางประการ แต่โดยหลักการแล้ว พยานมองว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำให้ขบวนเสด็จติดขัด เพราะการนำรถตู้และกองกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนไปขวางเส้นทางบนสะพานชมัยมรุเชฐ

ตอบพนักงานอัยการถามค้าน

พยานเบิกความว่าหมายเสด็จในวันที่ 14 ต.ค. 2563 เป็นหมายใหญ่ เนื่องจากเป็นการเสด็จแทนพระองค์ แต่แผนการรับเสด็จของ สน.ดุสิต ค่อนข้างใช้กำลังคนน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับหมาย จากนั้นพยานอธิบายต่อตามหลักการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จว่าในหมายเสด็จระบุว่าเวลาเสด็จคือ 17:00 น. ซึ่งแปลว่าเจ้าหน้าที่ต้องเริ่มวางกำลังตั้งแต่ 15:00 น. เพื่อเตรียมเส้นทาง โดยผู้กำกับหรือหัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่จะต้องไปเตรียมถวายพระเกียรติก่อนที่จุด 1 ซึ่งจะต้องไปก่อนเวลาเสด็จอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง

เกี่ยวกับสภาพเส้นทางเสด็จในช่วงก่อนจะมีขบวนเสด็จจะเป็นอย่างไรนั้น พยานไม่อาจทราบได้ เพราะวิดีโอที่เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ ไม่มีภาพเหตุการณ์ช่วงก่อนและหลังขบวนเสด็จ จึงไม่ทราบได้ว่าสภาพถนนช่วงก่อนหน้านั้น

ทั้งนี้ จากเอกสารรายงานวิทยุสถานการณ์เส้นทางขบวนเสด็จที่รายงานว่าเมื่อเวลา 17:05 น. มีการรายงานย้ำๆ ว่าไม่สามารถใช้ (ถนนพิษณุโลก) เป็นเส้นทางเสด็จได้ แต่ทางศูนย์วิทยุเครือข่ายรามา ยังคงยืนยันว่าจะมีขบวนเสด็จ ซึ่งแปลว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง และเมื่อเวลา 17:16 น. ขบวนเสด็จมาถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ก็มีการแจ้งรายงานย้ำอีกว่าไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางเสด็จได้ ขณะที่รถตู้ถูกนำมาจอดขวางถนนบนสะพานชมัยมรุเชฐ พร้อมกับมีกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกว่า 200 นาย ตรึงพื้นที่ไว้อีก ตั้งแต่เมื่อเวลา 17:00 น. 

พยานได้เบิกความย้ำว่าต่อให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมีภารกิจที่ต้องควบคุมดูแลผู้ชุมนุม แต่เมื่อได้รับการยืนยันว่าจะมีขบวนเสด็จ ก็ต้องจัดการปรับเปลี่ยนรูปแบบแถวเพื่อเตรียมถวายความปลอดภัยและถวายพระเกียรติแก่ขบวนเสด็จ

เกี่ยวกับการเจรจาระหว่างแกนนำผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตรงบริเวณแยกนางเลิ้ง พยานเบิกความตนเองไม่ทราบเรื่องการเจรจาและคาดว่าผู้ชุมนุมในกลุ่มย่อยที่แยกมารออยู่บริเวณใกล้ๆ จุดเกิดเหตุของคดีนี้ก็คงไม่ทราบเช่นกัน

อัยการถามต่อว่าในเวลาที่กระชั้นชิดเจ้าหน้าที่อาจไม่สามารถผลักดันผู้ชุมนุมออกจากเส้นทางเสด็จได้หรือไม่ แต่พยานเบิกความว่าในความเป็นจริงแล้ว เจ้าหน้าที่สามารถกระทำได้ เพราะผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยืนคุมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนอยู่ 200 นาย จากนั้นพยานก็ย้อนถามว่า แต่ทำไมไม่ทำ

ทั้งนี้ อัยการพยายามถามว่าในการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นระดับผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่ผู้คิดแผนหรือผู้บังคับบัญชา และอัยการได้ถามจี้ว่าพยานว่ากำลังกล่าวหาผู้บังคับบัญชาใช่หรือไม่ และมีหลักฐานในประเด็นกล่าวหานี้หรือไม่ พยานเบิกความตนเองไม่มีหลักฐานในประเด็นดังกล่าว เพราะได้นำส่งไปตั้งแต่ยื่นญัตติแล้ว แต่ว่าญัตติค้างพิจารณาอยู่ และยืนยันด้วยว่าแม้จะคำสั่งยุติการสอบสวนเรื่องขบวนเสด็จจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาแล้ว แต่ก็ยังต้องมีการดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการ เพราะคำสั่งดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการทำงานของรัฐสภา

ตอบทนายจำเลยถามติง

พยานเบิกความว่าการปฏิบัติหน้าที่ผู้กำกับหรือหัวหน้าสถานีจะต้องปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติ และต้องปฏิบัติหน้าที่จนแล้วเสร็จ ไม่ใช่แค่ตรวจแถวแล้วกลับไป

พยานกล่าวอีกว่าตำรวจควบคุมฝูงชนไม่มีทางรับรู้ได้ก่อนเพียงแค่ 5 นาทีว่าจะมีขบวนเสด็จ เพราะโดยหลักการแล้วจะมีการกระจายหมายเสด็จไปตามกองกำลังต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีผู้บังคับการตำรวจควบคุมฝูงชนถูกตรวจสอบด้วย แสดงว่ารับทราบเรื่องจะมีขบวนเสด็จอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งเรื่องตรวจสอบเพียง 1 วันหลังเหตุการณ์ แล้วมีคำสั่งยุติการตรวจสอบ ซึ่งพยานมองว่าเร็วเกินไป อาจเป็นการกระทำเพื่อหาแพะ

เกี่ยวกับยุทธวิธีของตำรวจควบคุมฝูงชนสามารถกระทำการตั้งแถวตามปรากฏในภาพและวิดีโอได้ตั้งแต่ก่อนขบวนเสด็จจะออกมา โดยสามารถทำได้ก่อนที่ขบวนเสด็จจะมาถึงได้นานกว่า 5 นาที แต่ตำรวจควบคุมฝูงชนไม่ได้ทำ

.

ประวิตร โรจนพฤกษ์ แม้แต่ผู้สื่อข่าวยังไม่รู้ว่าจะมีขบวนเสด็จ ชี้ไม่เคยเห็นใช้ คฝ. รับขบวนเสด็จ

พยานเบิกความว่าตนเองเป็นนักข่าวจากสำนักข่าวข่าวสด ภาคภาษาอังกฤษ ทำอาชีพนี้มาแล้วกว่า 30 ปี โดยจะทำข่าวการเมืองเป็นหลัก และพยานเคยได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติ จากคณะกรรมการคุ้มครองเสรีภาพสื่อนานาชาติ นิวยอร์ก ปี 2017

ในเวลาที่เกิดเหตุพยานรายงานข่าวอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยเริ่มรายงาน 2–3 ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุ ซึ่งพยานตามรายงานข่าวการชุมนุมนี้มาตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนกระทั่งเวลาประมาณ 16:00 น. พยานก็เดินตามขบวนผู้ชุมนุมมาเรื่อยๆ จนถึงสะพานชมัยมรุเชฐ  ในจุดนี้ พยานเห็นว่ามีผู้ชุมนุมไม่แน่นหนา โดยเจอกับจำเลยที่ 1 และ 2 ที่นั่นด้วย แต่ไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่มีนัยยะสำคัญ

พยานย้อนว่าตนติดตามการชุมนุมของคณะราษฎร 63 ในฐานะของสื่อมวลชน โดยเริ่มติดตามตั้งแต่ปี 2563 และลงพื้นที่การชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง หากแต่จะมีประเมินก่อนว่าการชุมนุมนั้นๆ จะมีการปะทะกันหรือไม่

เกี่ยวกับจำเลยในคดีนี้ พยานรู้จักเพียงแค่จำเลยที่ 1 และ 2 โดยรู้จักผ่านบทบาทสื่อมวลชนที่ติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมือง สำหรับจำเลยที่ 2 พยานรู้จักในฐานะแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ขณะที่รู้จักจำเลยที่ 1 เพราะเป็นอดีตผู้ต้องหาคดี 112  โดยเป็นการรู้จักกันผ่านการทำงาน ไม่ใช่การรู้จักกันเป็นการส่วนตัว

ในวันที่เกิดเหตุ พยานจำไม่ได้ว่ามาถึงแยกนางเลิ้งเมื่อเวลากี่โมง แต่มีข้อสังเกตว่าในพื้นที่ระหว่างทางไปที่หน้าทำเนียบฯ มีแผงเหล็กกั้น และมีผู้ชุมนมที่ไม่แน่นหนา กระทั่งบนถนนพิษณุโลกก็มีผู้ชุมนมที่ไม่แน่นหนาเช่นกัน โดยพยานสามารถเดินลัดเลาะตามกลุ่มผู้ชุมนุมไปได้เรื่อยๆ ไม่ติดขัด

ในระหว่างทางที่เดินไปหน้าทำเนียบฯ พยานไม่ทราบและไม่ได้ยินประกาศว่าจะมีขบวนเสด็จ แต่จากข่าวที่พยานทราบคือจะมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเสด็จ โดยจะเปลี่ยนไปใช้ถนนราชดำเนิน ซึ่งทางแกนนำผู้ชุมนุมก็ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลี่ยงขบวนเสด็จ และระหว่างทางเดินไปสะพานชมัยมรุเชฐ พยานเห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน และมีข้อสังเกตว่ามีแผงเหล็กกั้นน้อยกว่าปกติแต่ในตอนนั้นพยานยังมองไม่เห็นรถตู้

พยานมองว่าสถานการณ์มีความแปลกเพราะว่าเจ้าหน้าที่อยู่ในกิริยาผ่อนคลาย และการวางแนวแผงเหล็กเพื่อรักษาความปลอดภัยดูน้อยกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบจากประสบการณ์การลงพื้นที่ชุมนุมของพยาน

เกี่ยวกับขบวนเสด็จ พยานทราบเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป คือรับรู้ว่าจะมีการเตรียมรับขบวนเสด็จอย่างน้อย 10 นาที แต่ในวันดังกล่าว พยานไม่เห็นการเตรียมรับขบวนเสด็จ และไม่ได้ยินประกาศว่าจะมีขบวนเสด็จด้วย

พยานเบิกความว่าการรายงานข่าวของพยานมีการสัมภาษณ์จำเลยที่ 1 และ 2 เพราะทั้ง 2 สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และยังเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป จากนั้นพยานก็อธิบายว่าในวิดีโอรายงานข่าวของพยานจะเห็นว่าไม่มีสัญญาณใดที่บ่งชี้ว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านมาเลย และจะเห็นด้วยว่าไม่มีผู้ชุมนุมไม่มีแกนนำ ไม่มีใครบอกใครให้ทำอะไร ขณะเดียวกันก็จะเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ประปราย แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดแต่งตัวคล้ายกับตอนที่มีขบวนเสด็จ อีกทั้งในช่วงก่อนขบวนเสด็จจะมาถึงก็ไม่มีการผลักดันหรือห้ามปรามผู้ชุมนุมให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแต่อย่างใด

ณ ขณะนั้นพยานมองไม่เห็นสถานการณ์หรือขบวนที่อยู่ด้านหลังแถวของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน แต่รู้สึกว่าสถานการณ์บนถนนไม่มีอะไรน่าสนใจ พยานจึงเข้าไปสัมภาษณ์จำเลยที่ 1 และ 2 ทั้งนี้ ในระหว่างที่พยานอยู่ในที่เกิดเหตุก็รู้สึกว่าเป็นสถานการณ์การชุมนุมมากกว่าจะเป็นการรับเสด็จ

เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 พยานทราบว่านอกเหนือจะเป็นแกนนำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ยังเป็นแนวร่วมต่อต้านนโยบายจีนเดียวด้วย โดยระหว่างสัมภาษณ์จำเลยที่ 2 พยานมองเห็นขบวนจากทางด้านหลังเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นขบวนอะไร เพราะมองไม่เห็นสัญลักษณ์ใดๆ จึงเข้าใจว่าเป็นขบวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ ในตอนนั้นพยานรู้สึกว่าตนเองอาจถูกจับด้วย เพราะเคยเห็นการกวาดจับผู้ชุมนุมเพื่อเคลียร์พื้นที่มาก่อนแล้ว

อย่างไรก็ดี พยานยืนยันว่าในวันนั้นไม่มีการประกาศสลายการชุมนุมและไม่มีการประกาศเรื่องขบวนเสด็จด้วย ซึ่งอุปกรณ์ในการทำงานของพยานสามารถบันทึกเสียงได้ทั้งหมด แต่ตอนนั้นไม่มีประกาศใดๆ จากฝ่ายเจ้าหน้าที่ ทำให้ไม่สามารถบันทึกเสียงประกาศมาได้

พยานยืนยันว่าวิดีโอการรายงานข่าวของพยานมีความยาว 17 นาที และไม่มีการตัดต่อเพราะเป็นการรายงานสถานการณ์สด โดยในระหว่างที่รายงานสถานการณ์พยานเห็นเจ้าหน้าที่เริ่มตั้งแถว ซึ่งก็เข้าใจว่าจะมีการสลายการชุมนุมหรือไม่ก็มีการยึดคืนพื้นที่ แต่ก็ไม่คาดคิดว่าจะถึงขั้นมีขบวนเสด็จผ่านมา และเมื่อเห็นรถแล่นทะลุผ่านแถวเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนออกมา พยานก็ยังไม่รู้ว่าเป็นรถอะไร

ในวินาทีที่เห็นว่ามีรถโรลส์ลอยซ์ติดธงรูปครุฑอยู่หลังแถวเจ้าหน้าที่ พยานจึงรู้ว่าเป็นขบวนเสด็จและคาดว่าเป็นรถของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เพราะพยานจำได้ว่ารัชกาลที่ 9 ก็ใช้รถพระที่นั่งในลักษณะนี้ แต่ทั้งนี้ พยานก็ไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมจะเห็นรถเหมือนพยานหรือไม่ เมื่อเห็นว่าเป็นรถพระที่นั่งแล้ว พยานก็เข้าใจไปเองว่าคือขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 จนกระทั่งรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่านไปได้กว่าครึ่งก็เห็นว่าเป็นขบวนเสด็จของพระราชินี

พยานเบิกความว่าถ้าไม่มีรถตู้จอดขวางและถ้ามีเจ้าหน้าที่ประกาศเรื่องขบวนเสด็จก่อนหน้าสัก 10 นาที ขบวนเสด็จจะไม่ติดขัดเลยแม้แต่นิดเดียว

พยานมีข้อสังเกตว่าทำไมขบวนเสด็จไม่ใช้ถนนราชดำเนินเป็นเส้นทางเสด็จ เหตุใดต้องใช้ถนนพิษณุโลก และยังสงสัยอีกด้วยว่าโดยทั่วไปแล้วการปล่อยให้การรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จอ่อนปวกเปียก เช่น การไม่ใช้ถนนราชดำเนิน และการไม่ประกาศว่าจะมีขบวนเสด็จผ่าน ณ ที่ตรงนั้น เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อยกระดับอำนาจในการควบคุมประเทศของคณะเผด็จการหรือไม่ เพราะถ้ามีการทุบรถพระที่นั่งหรือมีความเสียหายใดๆ ต่อรถพระที่นั่งอาจนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกได้ ไม่ใช่แค่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง 

พยานเบิกความอีกว่าเท่าที่ตนเองทราบ ไม่มีสำนักข่าวใดรายงานล่วงหน้าเลยว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านเส้นทางดังกล่าวในวันที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ พยานระบุว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เข้าใจว่าขบวนเสด็จจะใช้ถนนราชดำเนิน ทำให้ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่บนถนนราชดำเนินเลย

ทั้งนี้ พยานไม่เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะยืนตั้งแถวกันเพื่ออะไร เพราะโดยส่วนตัวแล้ว พยานประเมินได้ว่าอาจมีการสลายการชุมนุม ไม่ใช่เพื่อการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ และในตอนท้าย พยานเบิกความว่าสถานการณ์ในวันนั้นมีความแปลกประหลาดมากในทัศนะของพยาน ซึ่งไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากการสร้างสถานการณ์

ตอบทนายจำเลยที่ 1, 4 และ 5 ถาม

พยานรู้จักจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในนามปัจเจก มิได้เป็นแกนนำ และยืนยันอีกว่าถ้าเจ้าหน้าที่ปล่อยขบวนเสด็จอย่างต่อเนื่อง ขบวนก็สามารถเคลื่อนไปได้ตามปกติ

ตอบพนักงานอัยการถามค้าน

พยานเบิกความว่าตอนไปถึงสะพานชมัยมรุเชฐอาจเป็นไปได้ว่ามีรถตู้จอดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อย้อนดูวิดีโอก็อาจเข้าใจได้ว่าเจ้าหน้าที่กำลังยืนเฝ้ารถตู้ และในส่วนของผู้ชุมนุมซึ่งมีจำนวนประมาณ 200 คน ก็ไม่ปรากกว่ามีผู้ชุมนุมคนอื่นๆ มาเพิ่มเติม

พยานไม่อาจทราบได้ว่าการที่ผู้ชุมนุมไม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้นเป็นเพราะอะไร จะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่บนสะพานชมัยมรุเชฐขวางกั้นผู้ชุมนุมอยู่หรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ แต่พยานเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่อยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก อยู่ในอิริยาบถผ่อนคลาย ซึ่งมองได้ว่าเจ้าหน้าที่กำลังรับคำสั่งหรือรอกลับบ้านก็ได้

เมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนตั้งแถว พยานเข้าใจว่าอาจเป็นภารกิจการขอพื้นที่คืน ซึ่งจากประสบการณ์การทำข่าวการชุมนุมของพยานพบว่าในบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ เช่น สนับแข้ง หรือโล่ ในการสลายการชุมนุม บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ใช้เพียงอุปกรณ์ป้องกัน คือโล่ และเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนในวันที่เกิดเหตุก็มีอุปกรณ์ดังกล่าว 

พยานกล่าวว่าไม่ได้ยินการประกาศใดๆ จากฝ่ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งต่างจากการสลายการชุมนุมในครั้งอื่นๆ และการไม่มีการสื่อสารใดๆ ก็ทำให้ทั้งพยานและผู้ชุมนุมไม่อาจรู้ได้ว่าเจ้าหน้าที่จะทำอะไรในลำดับต่อไป อีกทั้งรูปแบบของเจ้าหน้าที่ก็มีความผิดปกติ คือพยานและผู้ชุมนุมไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น แม้ว่าในภายหลังจะปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่เตรียมถวายความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จก็ตาม

พยานยืนยันว่าเมื่อเห็นรถกรุยทาง รถนำขบวนแล้ว ก็ยังไม่ทราบได้ว่าเป็นขบวนเสด็จ และในระหว่างที่ปะทะ ผลักดันกัน พยานเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งขวางเจ้าหน้าที่จริง แต่พยานก็ไม่เห็นว่าเป็นใครและมีจำนวนกี่คน

เกี่ยวกับเรื่องการชักล้อมเพื่อถวายความปลอดภัยแก่รถพระที่นั่ง พยานไม่ทราบว่านั่นคือยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่ และมองว่าวิธีการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จที่ค่อนข้างแปลก แต่ก็มีข้อสังเกตว่าทำไมต้องใช้เส้นทางที่มีความเสี่ยงเป็นเส้นทางของขบวนเสด็จ พร้อมทั้งยืนยันว่าการตั้งแถวของเจ้าหน้าที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าจะมีการสลายการชุมนุมและนำไปสู่การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม

ตอบทนายจำเลยที่ 1, 4-5 ถามติง

พยานไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ เพิ่งจะเคยเห็นครั้งนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งถ้าในสถานการณ์มีเจ้าหน้าที่สวมชุดเครื่องแบบที่ดูคล้ายชุดสูทมาด้วย ก็อาจจะพอทำให้เข้าใจได้ว่าจะมีขบวนเสด็จ เพราะเป็นภาพจำตามปกติเกี่ยวกับขบวนเสด็จของคนทั่วไป

ตอบทนายจำเลยที่ 2-3 ถามติง

เกี่ยวกับลักษณะการเคลียร์พื้นที่ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน จากประสบการณ์ของพยานที่ทำงานข่าวมากว่า 30 ปี ประเมินสถานการณ์ได้ว่าเจ้าหน้าที่อาจเพียงแค่ปฏิบัติภารกิจเพื่อรักษาพื้นที่สำคัญเท่านั้น ไม่อาจจินตนาการได้ถึงว่าจะเป็นการรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จ และเกี่ยวกับกลุ่มที่พยานเบิกความเห็นขวางอยู่ทางด้านหน้านั้น พยานเห็นพวกเขาขวางเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ไม่ใช่เป็นการขวางหน้าขบวนเสด็จแต่อย่างใด

.

X