เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้วที่ “ตัน-สุรนาถ แป้นประเสริฐ” เดินอยู่บนเส้นทางของการทำงานเพื่อชุมชนและเยาวชนที่เขารัก ทว่าบนเส้นทางชีวิตที่ขออุทิศตนเพื่อผู้อื่นกลับมีอันต้องถึงจุดสะดุด เพราะเขากำลังถูกดำเนินคดีด้วยข้อหา “การประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี” ตามมาตรา 110 ของประมวลกฎหมายอาญา สืบเนื่องจากการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563
ข้อกล่าวหานี้ทำให้เขาเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวและถูกคุมขังมาแล้วทั้งที่เรือนจำกลางบางขวาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตลอดระยะเวลาดังกล่าว เขาต้องใช้ชีวิตภายใต้การสอดส่องอย่างเข้มงวด ปราศจากเสรีภาพและโอกาสในการพบเจอคนรอบข้างเป็นเวลานานถึง 13 วัน ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมา เมื่อศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ
ในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่จะถึงนี้ อัยการได้นัดหมายตันไปฟังคำสั่งว่าจะส่งฟ้องศาลหรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดเช่นนี้ หากตันถูกอัยการฟ้องในวันนั้น และศาลไม่ให้ประกันตัว เขาจะมีโอกาสจะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี และหวนกลับเข้าเรือนจำอีกเป็นครั้งที่ 2 ก็เป็นได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงชวน “ตัน สุรนาถ” มาเผยเรื่องราวชีวิตหลังถูกปล่อยตัว แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 5 เดือนแล้ว แต่ถึงขณะนี้ เขายังเอ่ยได้เต็มปากว่าชีวิตยังคง “ไม่ปกติ” การถูกตีตรากลายเป็นบาดแผลในชีวิตที่ยากจะลบเลือน ทั้งการงาน ชีวิตคู่ และสภาพจิตใจต่างก็ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน
1.
“ตอนนี้ไม่มีพลังที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ เหมือนแต่ก่อนแล้ว”
ตั้งแต่ตันถูกปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีเงื่อนไขเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เขาพยายามอย่างหนักที่จะเยียวยาจิตใจของตัวเองให้กลับคืนสู่ภาวะปกติที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะอีกครั้ง โดยมีคนใกล้ชิดคอยเป็นกำลังใจ
ตันยังคงทำงานด้านพัฒนาชุมชนและเยาวชนต่อไป เพราะเพื่อนร่วมงานทุกคนต่างเข้าใจและไม่คิดว่าการตกเป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองจะบั่นทอนศักยภาพในการทำงานของเขาให้น้อยลงสักนิด อีกประการที่สำคัญที่สุดคือตันยังอยู่ในฐานะ “ผู้บริสุทธิ์” ยังไม่มีคำพิพากษาใดๆ จากศาล
แต่ทุกอย่างกลับดูสวนทางกันโดยสิ้นเชิง เมื่อตันพยายามรวบรวมความเป็นตัวเองคืนมาและวางแผนทำโครงการที่ชื่อ “ชุมชนวิถีประชาธิปไตย” เพื่อให้คนในชุมชนได้เรียนรู้สิทธิเสรีภาพของตนเอง รวมทั้งเพื่อบอกว่า การเห็นต่างไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่มีไว้สำหรับการถกเถียงและพูดคุยร่วมกัน ซึ่งตันอยากจะนำประสบการณ์ส่วนตัวที่ไม่มีอยู่ในหนังสือเรียนมาเผยแพร่ผ่านโครงการนี้ แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพียงเพราะเขาใส่คำว่า “ประชาธิปไตย” ลงมาในชื่อของโครงการ
ถึงจะได้ทำงานที่รักต่อไป แต่ไฟในตัวของชายหนุ่มกลับมอดลง ความเหน็ดเหนื่อยและประสบการณ์ในเรือนจำได้กัดกินพลังในการสร้างสรรค์โครงการใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่ผ่านมางานของตันเป็นงานด้านพัฒนาที่ต้องอาศัยทักษะความคิดสร้างสรรค์และการทำงานเป็นทีม เช่น โครงการ “พื้นที่นี้ดีจัง” ที่เขาทำงานร่วมกับกลุ่ม “ดินสอสี” เพื่อเปลี่ยนแปลงชุมชนที่มีความเสี่ยงให้กลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ เอื้อให้เยาวชนเป็นผู้ออกแบบชุมชนที่ต้องการด้วยตนเอง จัดการเอง และรู้สึกภาคภูมิใจในชุมชนของพวกเขาเอง
“เหตุการณ์ครั้งนั้นมันไปกดทับศักยภาพของผมอย่างชัดเจน จากคนที่ร่าเริง สร้างสรรค์งานได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ทำงานเป็นทีมกับคนรอบข้างได้ สารภาพเลยเลยตอนนี้ไม่มีพลังที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ เหมือนแต่ก่อนแล้ว” เขาสารภาพด้วยเสียงสั่นเครือ
หลังจากที่เขาออกมาจากเรือนจำ ตันได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ดังเดิม อย่างเช่นการเป็นเลขากรรมการชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) แต่สถานการณ์ในชีวิตของเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว มีคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของเขา และพูดคุยกันว่าเขาสมควรถูกปลดออกจากตำแหน่ง แต่ชายหนุ่มยังคงยืนกรานว่าตนมีความสามารถที่จะทำงานต่อไปได้เหมือนเดิม เพราะศาลยังไม่ได้พิพากษาว่าเป็นคนผิด ฉะนั้นไม่เป็นการยุติธรรรมหากจะถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง
ตันยอมรับว่าพักหลังเขาถอยห่างจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง จนเขาเองก็รู้สึกกระอักกระอ่วนกับตัวเอง ตันกล่าวต่อว่า ไม่ใช่เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองเปลี่ยนไป แต่เขากำลังรู้สึกเขินอายกับสถานการณ์ที่ต้องเจอในตอนนี้ และยังเกรงว่าหากตนเคลื่อนไหวต่อไป ไม่ว่าจะช่องทางใด อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางกฎหมายจนย้อนกลับมาทำร้ายเขาอีก ตันห่วงแม้กระทั่งความรู้สึกของคนที่เคยช่วยเหลือในคดีครั้งก่อน หากยังดื้อรั้นต่อสู้ต่อไปเขาคงละอายใจที่ต้องให้คนอื่นลำบากมาช่วยเหลืออีก
“รู้สึกผิดมากที่เราไม่สามารถปกป้องใครได้ แม้กระทั่งตัวเอง ยิ่งเห็นการเคลื่อนไหวจนมีคนถูกดำเนินคดีเยอะขึ้น อายุน้อยลง มันยิ่งรู้สึกผิดกับตัวเองที่เราทำอะไรไม่ได้เลย”
การแสดงออกทางความคิดและความรู้สึกมากที่สุดเท่าที่เขาทำได้ ก็คือ การแชร์โพสต์ภาพ “18 ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดี” พร้อมพิมพ์คำบรรยายว่า “พูดอะไรไม่ออก”
“นั่นมันสุดของผมแล้ว แต่ก็ได้แค่นั้นเอง” ตันพูดอย่างหมดหวัง
2.
“พอมาสำรวจตัวเองจริงๆ ผมไม่ปกติ”
หลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ตันและคนใกล้ตัวยังได้ช่วยกันรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อใช้เตรียมต่อสู้คดี จนคิดว่าพอได้หลักฐานที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาได้
แต่เมื่อย้อนถามถึงความรู้สึกและสภาพจิตใจของตันถึงสัญญาณที่น่าพอใจนี้ เขากลับยังรู้สึกกระอักกระอ่วน คลุมเครือ และอึดอัดกับการใช้ชีวิตอย่างถึงที่สุด การถูกตีตราทำให้เขากระวนกระวายใจอยากจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่กระบวนการทุกอย่างกลับล่าช้า กลับกันในอีกมุมหนึ่ง ก็ทำให้เขาได้มีเวลาได้เตรียมพร้อมสู้คดี แต่ยิ่งนานวัน กำแพงความเศร้าตรมก็ยิ่งก่อตัวสูงและหนาขึ้นตามไปเช่นกัน
ก่อนหน้าตันจะถูกคุมขังไม่นาน เขาได้สูญเสีย “พ่อ” ผู้เป็นที่รักและแบบอย่างการทำงานพัฒนาสังคมที่ทำให้เขากลายเป็นเขาอย่างทุกวันนี้ ความโศกเศร้าและความยากลำบากในชีวิตหลังถูกปล่อยตัวมากมายเกินกว่าคนคนหนึ่งจะรับไหว จนเขาตัดสินใจเข้าพบจิตแพทย์ในที่สุด
“พอมาสำรวจตัวเองจริงๆ ผมไม่ปกติ เพราะว่าผมรู้ว่าความปกติของผมคืออะไร”
จิตแพทย์ให้คำปรึกษากับเขาว่า “ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าตัวเองประสบอุบัติเหตุมาเหมือนถูกรถชน และตอนนี้ก็กำลังบาดเจ็บอยู่ อย่าหลอกตัวเองว่าปกติ”
ที่หมอกล่าวเช่นนี้ก็เป็นเพราะตั้งแต่ตันถูกปล่อยตัวออกมา เขาพยายามทำตัวให้ปกติที่สุด แต่ทุกคนรอบข้างนั้นมองออกว่าตันปิดกั้นตัวเอง ไม่ค่อยเข้าสังคม และร่วมสังสรรค์กับเพื่อนเหมือนแต่ก่อน จากคนที่เคยร่าเริง คนรอบข้างอยู่ด้วยแล้วมีแต่ความสุข ชีวิตเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ วันนี้เขาเปลี่ยนไปแทบจะกลายเป็นคนละคน
ถ้าตันยังใช้ชีวิตแบบเดิม พยายามกดทับความรู้สึกของตัวเองไว้ ไม่ยอมรับความจริง และพยายามใช้ชีวิตปกติทั้งๆ ที่ข้างในบอบช้ำเหลือที แพทย์ยังบอกว่าอีกว่า ตันมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้
นั่นเป็นเรื่องยากจะรับมือพอกันกับวันสำคัญ 31 มีนาคม 2564 นี้ ที่อัยการได้นัดหมายผู้ต้องหาคดี “ขัดขวางขบวนเสด็จ” ทั้ง 5 คน ไปฟังคำสั่งฟ้องคดีและส่งตัวต่อศาลอาญา
3.
“ตอนนี้ไม่มีความกลัวใดๆ แล้ว
จะผลักให้เราสู้หรือเหยียบให้เราจมเราก็ต้องทำให้เต็มที่”
“จริงๆ คิดว่าอาจจะต้องกลับเข้าเรือนจำตั้งแต่ตอนถูกเลื่อนนัดฟังคำสั่งอัยการ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ตอนนั้นเตรียมใจและคิดในใจว่า ‘อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด’ เพราะที่ผ่านมาผมก็พยายามคิดทบทวนกับชีวิต และพยายามลองใช้ชีวิตอย่างเต็มที่แล้ว” ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่แกนนำนักกิจกรรมหลายคนไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทำให้ตันรู้สึกว่าเนื้อคดีของตัวเองที่ถูกกล่าวหาก็ค่อนข้างร้ายแรงมาก “ตอนนี้ไม่มีความกลัวใดๆ แล้ว มันได้หายไปหมดแล้ว จะผลักให้เราสู้หรือเหยียบให้เราจม เราก็ต้องทำให้เต็มที่”
เรื่องสำคัญที่เป็นกังวลที่สุดก็คือ “ครอบครัว” โดยเฉพาะแฟนสาว ตั้งแต่ตันถูกฝากขังครั้งก่อน บาดแผลในใจของเธอยังไม่หายดีนัก ในฐานะคนรักนานนับสิบปี ที่เพิ่งสมรสก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่นาน เธอรู้สึกหวาดกลัวที่อาจจะต้องอยู่คนเดียว
เธอย้ำกับตันเสมอว่า “เขาแต่งงานกับตันก็เพราะอยากอยู่ใช้ชีวิตกับตัน” “ถ้าตันต้องถูกจับอีกเขาจะอยู่ได้ยังไง” สิ่งนี้ทำให้ชายหนุ่มต้องอยู่อย่างเป็นกังวล และคิดหนักกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เพราะเขาอาจจะกลับเข้าไปในเรือนจำอีกครั้งวันไหนก็ได้
ภาระที่ตันเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งก็คือ บ้านหลังปัจจุบันที่ร่วมกู้กับแฟนและยังเหลือผ่อนชำระอีก 18 ปี “ถ้าเหลือแค่แฟนคนเดียวเขาก็คงรับผิดชอบไม่ไหว เรื่องนี้ก็ยังเป็นอีกเรื่องที่เราสองคนยังคิดไม่ตก ยอมรับว่าที่ผ่านมาได้ขายทรัพย์สินบางส่วนเพื่อรักษาบ้านนี้ไว้”
หลายเดือนมานี้ตันไม่ค่อยได้พูดเรื่องผลพวงจากคดีให้ใครฟังนัก เหมือนที่บอกไปว่าเขากลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเป็นห่วงความรู้สึกคนรอบข้าง การพูดคุยในวันนี้ ทำให้เขารู้สึกโล่งเหมือนได้ปลดปล่อยความทุกข์ใจที่ไม่มีโอกาสได้ระบายบ่อยนัก นั่นทำให้เราได้เห็นรอยยิ้มของเขาเป็นระยะ พร้อมกับคำว่า “ผมโล่งใจที่ได้พูดวันนี้” ออกมาจากปากของตัน
ก่อนจะจากกันเรากล่าวอวยพรให้ตันโชคดีในการเข้าฟังคำสั่งอัยการตามนัดหมายในอีกไม่กี่วันที่จะถึง เขาตอบกลับทันควันว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับผม คงไม่ต้องไปโฟกัสแล้วว่ามันเป็นธรรมไหม”
“สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือมันกำลังไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพและศักยภาพในตัวผม ไปกดทับความคิดสร้างสรรค์ที่เคยมี ถ้าสภาพจิตใจของผมปกติเชื่อว่าตัวเองคงทำอะไรให้กับสังคมได้กว่านี้มาก แต่สุดท้ายมันไม่เกิดและมันอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยตลอดไป ถ้าหากผู้เห็นต่างทางการเมืองยังคงถูกดำเนินคดีวนเวียนอยู่แบบนี้ ไม่ว่าจะกับผมหรือกับใครก็ตาม”
ย้อนอ่านเรื่องราวสุรนาถขณะถูกคุมขัง
ชีวิตก่อนต้องคดีประทุษร้ายราชินีของ’ตัน สุรนาถ’ผู้พาเยาวชนออกจากทางตัน
ขอบคุณและยังมีหวัง แม้ถูกขังเดี่ยวและถูกสอดส่องตลอด 24 ชั่วโมง: เสียงจากตัน สุรนาถ
“อยู่ในนี้มันลดทอนศักยภาพ” เสียงตัน สุรนาถ ผ่านห้องขังเดี่ยว