ศาลพิพากษา “จัสติน” ไม่ผิด ม.112-116 กรณีแปะกระดาษบนรูป ร.10 ชี้หลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัย แต่ให้รอลงอาญาข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  

วันนี้ (15 มิ.ย. 2566) ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรมสมุทรปราการวัย 32 ปี ซึ่งถูกฟ้องใน 7 ข้อกล่าวหา โดยมีข้อหาหลักตามมาตรา 112 และ มาตรา 116 กรณีถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล!” บนรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 บริเวณหน้าศาลฎีกา ในระหว่างการชุมนุม #ม็อบ20มีนา64

คดีนี้ ในช่วงเดือน มี.ค., เม.ย. และ ต.ค. 2565 ศาลได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปทั้งสิ้น 10 ปาก ได้แก่ พนักงานสอบสวน ตำรวจผู้กล่าวหา ผู้จับกุม นักวิชาการทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ในการชุมนุม และผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรค ก่อนคดีเสร็จสิ้นการพิจารณา

ศาลยกฟ้อง ม.112-116 และอีก 4 ข้อหา ชี้มีประจักษ์พยานคนเดียวเห็นผู้ก่อเหตุจากข้างหลัง – หลักฐานภาพยังไม่ชัดว่าเป็นจำเลย แต่ให้จำคุก 1 เดือน ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยให้รอลงอาญา

วันนี้ เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า คดีนี้พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม ที่ท้องสนามหลวง มีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่รัฐบาล 

การสืบพยานมีพยานโจทก์ปาก พ.ต.อ.สนอง แสงมณี, พ.ต.ท.ยุคณธร ชูแก้ว, พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ, พ.ต.ท.พิษณุ เกิดทอง และ ร.ต.อ.เฉลิมพงษ์ ตระกูลชาวท่าโขลง เข้าเบิกความในทำนองเดียวกันว่า กลุ่มรีเด็มประกาศนัดหมายชุมนุมในวันที่ 20 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้วางแผนรับมือ เนื่องจากสถานที่นัดหมายให้มีการชุมนุมนั้นอยู่ใกล้กับเขตพระราชวัง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางแนวกำลังอยู่ที่บริเวณแยกพิภพลีลาและวางแนวตู้คอนเทนเนอร์ผ่านกลางท้องสนามหลวง

ต่อมา ในวันที่ 20 มี.ค. 2564 ผู้ชุมนุมได้รวมกันตัวที่สนามหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงประกาศให้ยุติการชุมนุมและบอกว่าการชุมนุมของผู้ชุมนุมนั้นผิดกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมตะโกนด่าและโห่ร้องขับไล่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่จึงถอยกำลังออกมา จากนั้นผู้ชุมนุมได้ทำการรื้อแนวรั้วและขดลวดหนามที่กั้นไม่ให้เข้าพื้นที่สนามหลวงออกไป ผู้ชุมนุมยังได้ฉีดสีสเปรย์ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ด้วย จากนั้นจึงเกิดเหตุการณ์มีบุคคลนำกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 บริเวณบนทางเท้า ข้างรั้วของศาลฎีกา 

พ.ต.ท.ยุคณธร เบิกความว่า เป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์ที่มีผู้ก่อเหตุติดกระดาษบนพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว โดยเป็นการเห็นเพียงข้างหลังผู้ก่อเหตุในระยะไกล ประมาณ 10 เมตร และเห็นว่าผู้ก่อเหตุสวมใส่กระเป๋าสีแดง ย้อมผมสีทอง แต่ พ.ต.ท.ยุคณธร ไม่ได้ทำการถ่ายภาพผู้ก่อเหตุไว้ จากนั้นไม่นานมีกลุ่มผู้ชุมนุมนำขยะไปทิ้งไว้ยังแท่นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกติดกระดาษดังกล่าว

การชุมนุมในวันดังกล่าว ต่อมา มีผู้ชุมนุมใช้เชือกสลิงผูกลากตู้คอนเทรนเนอร์ลงมา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงประกาศให้เลิกการชุมนุมอีกครั้ง แต่ผู้ชุมนุมยังไม่เลิกและยังได้ขว้างปาสิ่งของ ประทัดยักษ์ข้ามตู้คอนเทนเนอร์ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจจนได้รับบาดเจ็บอีกด้วย สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงใช้รถฉีดน้ำ น้ำผสมแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม และจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วนได้ โดยสามารถสลายการชุมนุมจนยุติลงในเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 21 มี.ค. 2564

ภายหลังการชุมนุมวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนหาหลักฐานของผู้ก่อเหตุติดกระดาษลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว โดยได้หลักฐานเป็นภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิด CCTV ของกรุงเทพมหานคร ที่ติดตั้งอยู่ตรงข้ามจุดเกิดเหตุ และได้ภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งได้ถ่ายไว้ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำหลักฐานทั้งสองดังกล่าว มาเปรียบเทียบกับรูปพรรณสัณฐานของจำเลย พบว่า ผู้ก่อเหตุสวมกระเป๋าสีแดงและมีรอยสักตรงกับจำเลย

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ต.ท.ยุคณธร เป็นประจักษ์พยานเพียงคนเดียว โดยเห็นผู้ก่อเหตุจากด้านหลัง ห่างจากผู้ก่อเหตุประมาณ 10 เมตร ส่วนหลักฐานภาพจากกล้องวงจรปิด CCTV นั้นเป็นมุมภาพจากระยะไกล ส่วนภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือนั้นเห็นว่ามีบุคคลเอื้อมมือขึ้นไปหาพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไม่ปรากฏว่าทำการติดกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ลงไปบนพระบรมฉายาลักษณ์ อีกทั้ง หลักฐานทั้งสองอย่างไม่อาจยืนยันได้ว่า ถ่ายไว้ได้เมื่อใดและไม่ปรากฏว่าผู้ก่อเหตุติดกระดาษลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 จริงหรือไม่

พยานโจทก์ปากอื่นๆ เป็นเพียงผู้ทราบเหตุการณ์ ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ที่มีผู้ก่อเหตุติดกระดาษลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ และโจทก์ก็ไม่มีพยานอื่นเข้าเบิกความอีกว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่ต้น ศาลเห็นว่า การติดกระดาษบนพระบรมฉายาลักษณ์ที่ต่อมามีผู้มาทิ้งขยะไว้จริงจะต้องเป็นการวางแผนกับผู้ชุมนุมอื่นไว้ก่อนหน้าอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ การสืบพยานโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยวางแผนกับผู้ชุมนุมอื่นเพื่อขว้างปาสิ่งของและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ศาลเห็นว่า เมื่อความผิดฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ มาตรา 116 ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ ส่วนฐานความผิดอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216, 138, 140, 295 และ 296 นั้น เท่าที่ดำเนินการสืบพยานโจทก์ยังมีข้อสงสัยพอสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย

ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลเห็นว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมประมาณ 500 คน ระหว่างการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศแล้วว่า การชุมนุมเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อจำเลยให้การรับว่าไปร่วมชุมนุมจริง แต่เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นจึงเดินทางกลับ ฉะนั้นจึงเป็นความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 อนุ 2  

พิพาษาจำคุกในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 เดือน ปรับเงิน 2,000 บาท แต่จำเลยไม่เคยต้องรับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 1 ปี พร้อมกับให้ไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในเวลา 1 ปี และให้ทำบริการสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง 

เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ ชูเกียรติได้ทำการชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาล และได้เดินทางกลับ 

ในคดีนี้ชูเกียรติเคยถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาที่คอนโดของตัวเอง และถูกฝากขังระหว่างชั้นสอบสวนไปกระทั่งจนถึงชั้นพิจารณาคดี เป็นเวลา 71 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. จนถึงวันที่ 1 มิ.ย. 2564 ก่อนศาลจะให้ประกันตัวจากการยื่นประกันเป็นครั้งที่ 6 โดยระหว่างนั้นชูเกียรติถูกตรวจพบว่า ติดโควิดในเรือนจำด้วย แต่ได้รักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จนหายดีแล้ว

หากคดีถึงที่สุด ชูเกียรติสามารถเดินทางไปยื่นคำร้องต่อกระทรวงยุติธรรมเพื่อขอรับเงินเยียวยาจากการถูกคุมขังในคดีนี้ เป็นเวลา 71 วัน โดยเกณฑ์เงินเยียวยาจากการจำคุกโดยไม่มีความผิด คิดเป็นเงินวันละ 500 บาท รวมกรณีของชูเกียรติเป็นเงินเยียวยาทั้งสิ้น 35,500 บาท

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

ฐานข้อมูลคดีนี้: คดี 112 “ชูเกียรติ” ติดกระดาษบนรูป ร.10 ชุมนุม 20 มีนา 64

บันทึกสืบพยานคดีนี้: บันทึกสืบพยานคดี ม.112 “จัสติน” ถูกฟ้องแปะกระดาษ “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” บนรูป ร.10 ใน #ม็อบ20มีนา64

X