บันทึกสืบพยานคดี ม.112 “จัสติน” ถูกฟ้องแปะกระดาษ “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” บนรูป ร.10 ใน #ม็อบ20มีนา64

15 มิ.ย. 2566 นี้ เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรมวัย 32 ปี โดยมีข้อกล่าวหาหลักเป็นมาตรา 112 และ มาตรา 116 กรณีถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล!” บนรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 บริเวณหน้าศาลฎีกา ในระหว่างการชุมนุม #ม็อบ20มีนา64

ลำดับเหตุการณ์คดี

22 มี.ค. 2564 ชูเกียรติถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม ในเวลาประมาณ 20.00 น. และถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา รวม 7 ข้อหา ที่ สน.ห้วยขวาง แม้ว่าท้องที่เกิดเหตุจะเป็น สน.ชนะสงคราม และไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ สน.ห้วยขวาง ก็ตาม 

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอศาลอาญาฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และคัดค้านการให้ประกันตัว โดยอ้างว่าชูเกียรติเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายแต่อย่างใด หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปอาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันอีก  

ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ชูเกียรติถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างการสอบสวนในคดีนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. จนถึงวันที่ 1 มิ.ย. 2564 โดยมีการยื่นขอประกันตัวชั่วคราวทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยในระหว่างที่ถูกขังอยู่ที่เรือนจำ ชูเกียรติได้รับการตรวจพบว่า ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ภายหลังได้รับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จนหายแล้ว 

(เหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวชูเกียรติจาก สน.ห้วยขวาง ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร)

15 มิ.ย. 2564 อัยการได้ยื่นฟ้องชูเกียรติต่อศาลอาญา โดยระบุพฤติการณ์เกี่ยวกับการเข้าร่วมการชุมนุมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มรีเด็ม เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 และได้ร่วมกับผู้ชุมนุมอื่นทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการก่อเหตุแปะกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 บริเวณข้างศาลฎีกา ในระหว่างการชุมนุมดังกล่าว ทำให้อัยการยื่นฟ้องชูเกียรติต่อศาลอาญา รวมทั้งสิ้น 7 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่

  1. “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 
  2. “กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน อันมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
  3. “ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215
  4. “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุม ตามมาตรา 215 แล้วไม่เลิก” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216
  5. “ร่วมกันต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และ 140
  6. “ร่วมกันทำร้ายเจ้าหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และ 296
  7. ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ต่อมา ในช่วงเดือน มี.ค. เม.ย. และ ต.ค. 2565 ศาลได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งสิ้น 10 ปาก ได้แก่ พนักงานสอบสวน ตำรวจผู้กล่าวหา ผู้จับกุม นักวิชาการทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ในการชุมนุม และผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรค โดยฝ่ายจำเลยไม่ประสงค์นำพยานเข้าเบิกความต่อศาล

นอกจากนั้น ทนายความจำเลยยังได้ขอยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 อันมีการกำหนดเพิ่มโทษข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเดิมโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี  ซึ่งจะบังคับใช้ลงโทษจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 หรือไม่

26 เม.ย. 2566 ศาลอาญาอ่านคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 14 ธ.ค. 2565 โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้วินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่าเคยได้วินิจฉัยในประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้แล้วเมื่อปี 2555 ในครั้งที่มีสมยศ พฤกษาเกษมสุข และเอกชัย หงส์กังวาน สองผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในขณะนั้น เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา และศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีต่อมา

ข้อมูลประกอบการอ่านบันทึกสืบพยาน

1. การชุมนุม #ม็อบ20มีนา64

การชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 จัดขึ้นโดยกลุ่มรีเด็ม REDEM (Restart Democacy: REDEM) และแนวร่วมกลุ่มอื่นๆ เช่น เยาวชนปลดแอก, นักเรียนไท, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, ศิลปะปลดแอก, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และคณะราษสเก็ต โดยมีเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ส่งสาส์นเรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจกษัตริย์และให้ลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

REDEM นัดหมายชุมนุมตั้งแต่เวลา 18.00 น. ไปจนถึง 21.00 น. ที่ท้องสนามราษฎร์ (สนามหลวง) การชุมนุมดังกล่าวไม่มีแกนนำ และไม่มีการเดินขบวน ในวันดังกล่าว ตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลานัดหมายผู้ชุมนุมได้ใช้พื้นที่สนามหลวงดำเนินกิจกรรมน่าสนใจหลายอย่าง เช่น เล่นว่าวที่มีรูปผู้ต้องขังการเมืองขณะนั้น การโชว์งานศิลปะ การขายสินค้ารณรงค์ กิจกรรมเล่นสเก็ตบอร์ด และการพับจรวดจดหมาย

กระทั่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามดึงตู้คอนเทนเนอร์ที่กั้นระหว่างถนนราชดำเนินในและราชดำเนินนอกจำนวน 2 ตู้ออกสำเร็จ สถานการณ์จึงเริ่มตึงเครียด ก่อนจะมีการสลายการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้รถฉีดน้ำ น้ำผสมแก๊สน้ำตา และเจ้าหน้าที่ คฝ. บุกกวาดจับผู้ชุมนุมบางส่วนได้ในช่วงสุดท้าย 

(ภาพจาก Mob Data Thailand)

(ภาพจาก Mob Data Thailand)

จากเหตุการณ์ตำรวจสลายการชุมนุมของ REDEM ครั้งนั้น ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 19 รายตามรายงานของศูนย์เอราวัณ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามสถานการณ์ พบว่ามีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 32 ราย (เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 7 คน) 

เด็กเยาวชน 7 รายดังกล่าว 2 รายในนั้น คือ “โป๊ยเซียน” และ “เสกจิ๋ว” ถูกควบคุมจากเหตุการณ์ต่อเนื่องกันจากคดีที่ชูเกียรติถูกกล่าวหา โดยเมื่อมีผู้นำกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ไปติดไว้ที่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 แล้ว ต่อมา มีผู้นำขยะไปเททิ้งไว้และมีการราดของเหลวบางอย่าง ซึ่งต่อมามีไฟลุกขึ้น

โป๊ยเซียนและเสกจิ๋วถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุเทขยะและเทของเหลวดังกล่าว และถูกติดตามควบคุมตัวไปนำดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจภายในวันเกิดเหตุทันที ทั้งสองถูกฟ้องต่อศาลเยาวชนฯ ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เช่นเดียวกับชูเกียรติ ปัจจุบันคดีความของทั้งสองสิ้นสุดแล้ว โดยทั้งสองคนตัดสินใจเข้ามาตรการพิเศษแทนการพิพากษา

(#ม็อบ20มีนา64 ภาพจาก ประชาไท)

2. แผนที่จุดเกิดเหตุและสถานที่ที่เกี่ยวข้อง

ก่อนเริ่มการชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตู้คอนเทนเนอร์มาวางกั้นเป็นแนวยาว ลักษณะผ่านกลางสนามหลวง ตั้งแต่ถนนหน้าพระธาตุ ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ยาวไปจนถึงถนนราชดำเนินใน ฝั่งศาลฎีกา

แนวตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวสูง 2 ชั้น ประมาณ 4-5 เมตร วางเรียงยาวตลอดแนว ด้านบนยังมีการกั้นสแลนสีเขียวอีกชั้นหนึ่งด้วย ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่ได้เพียงสนามหลวงฝั่งถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า (พื้นที่สีม่วง) 

ฝั่งตรงข้ามตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นสนามหลวงฝั่งวัดพระแก้ว (พื้นที่สีเหลือง) จะเป็นพื้นที่วางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และรถฉีดน้ำ จำนวน 2 คัน โดยพยานโจทก์ได้เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ประมาณ 1,000-2,000 นาย วางกำลังเตรียมพร้อมรออยู่ ขณะที่มีผู้ชุมนุมประมาณ 500 คนเท่านั้น

ส่วนจุดเกิดเหตุมีบุคคลนำกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ไปติดไว้ที่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 นั้น เป็นจุดที่อยู่บนทางเท้า บริเวณริมรั้วของศาลฎีกา ติดกับถนนราชดำเนินใน ใกล้กับแนวตู้คอนเทนเนอร์ที่เจ้าหน้าที่วางเรียงไว้ โดยบริเวณดังกล่าวมีผู้ชุมนุมยืนอยู่จำนวนมาก เนื่องจากช่วงต้นผู้ชุมนุมยังไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่สนามหลวงที่มีรั้วเหล็กกั้นไว้ได้ ต่อมา เมื่อผู้ชุมนุมรื้อรั้วเหล็กออกและเข้าไปในพื้นที่สนามหลวงได้ ต่อมาก็มีเหตุการณ์พยายามลากดึงตู้คอนเทนเนอร์ลงมาในบริเวณใกล้กับพระบรมฉายาลักษณ์จุดเกิดเหตุ

(จุดเกิดเหตุ พระบรมฉายาลักษณ์ บนทางเท้า บริเวณริมรั้วศาลฎีกา ติดกับถนนราชดำเนินใน)

ภาพรวมคำเบิกความพยานโจทก์: มีประจักษ์พยานคนเดียวเห็นข้างหลังผู้ก่อเหตุ ด้านภาพถ่าย-CCTV ยังไม่ชัดว่าเป็นจำเลย ทุกปากชี้พฤติการณ์ดูหมิ่นกษัตริย์ ผิด ม.112

ในคดีนี้ มี พ.ต.ท.ยุคุณธร ชูแก้ว เป็นพยานโจทก์เพียงปากเดียวที่เป็นประจักษ์พยาน อ้างว่าพบเห็นจำเลยอยู่ในการชุมนุมและเห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยปีนขึ้นไปก่อเหตุติดกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” บนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่บริเวณฟุตบาท ข้างศาลฎีกา ทว่าเป็นการเห็นจากระยะไกล ประมาณ 10 เมตรจากจุดเกิดเหตุ และเห็นเพียงด้านหลังของผู้ก่อเหตุเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ พ.ต.ท.ยุคุณธร จะอ้างว่าเห็นเหตุการณ์ แต่ก็ไม่ได้ทำการถ่ายภาพหรือวิดีโอไว้อย่างใด

หลักฐานอีกส่วนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาเทียบเคียงพิสูจน์ว่าเป็นจำเลยนั้น ได้แก่ ภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือ และภาพเคลื่อนไหวจากกล้อง CCTV ของกรุงเทพฯ โดยหลักฐานดังกล่าวมีข้อพิรุธหลายประการที่ไม่อาจยืนยันได้ว่าผู้ก่อเหตุเป็นจำเลยจริง

อย่างแรก ภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือ ภาพแรกยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดกระทำการใดต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ส่วนภาพที่สอง ปรากฏภาพบุคคลปืนขึ้นไปบนแท่นพระบรมฉายาลักษณ์และเอื้อมมือกระทำบางอย่างต่อพระบรมฉายาลักษณ์นั้น ภาพไม่แน่ชัดว่าบุคคลดังกล่าวเอื้อมมือไปกระทำใดต่อพระบรมฉายาลักษณ์ โดยทั้งสองภาพดังกล่าวถูกถ่ายไว้ได้โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุม แต่อัยการโจทก์ไม่ได้นำมาขึ้นเบิกความต่อศาลแต่อย่างใด 

ส่วนภาพนิ่งที่จับภาพ (Capture) มาจากวิดีโอกล้อง CCTV ของกรุงเทพฯ ซึ่งติดตั้งอยู่ตรงข้ามกับจุดเกิดเหตุนั้น บางภาพไม่มีข้อมูลตัวเลขแสดงวันและเวลาอยู่ในภาพด้วย จึงไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่าเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อใดกันแน่ จากหลักฐานข้างต้นที่กล่าวไป เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำรูปพรรณสัณฐานและการแต่งกายของผู้ต้องสงสัยมาเทียบเคียงกับถ่ายภาพของจำเลยและกล่าวหาว่าจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุ  

ด้านพฤติการณ์การติดกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์นั้น พยานโจทก์ทุกปากเบิกความตรงกันว่า เป็นการกระทำที่เห็นว่าผิดตามมาตรา 112 เป็นการดูหมิ่น ดูถูก ทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธา และเป็นการไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ แต่พยานทุกปากเบิกความเห็นพ้องกันว่าข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” เป็นข้อความธรรมดาที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป 

ส่วนความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 นั้น มีพยานปากนักวิชาการเบิกความถึงไว้เพียงปากเดียว คือ รณกรณ์ บุญมี โดยเบิกความว่าพฤติการณ์ที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าติดกระดาษที่มีข้อความดังกล่าวนั้นไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116

ในประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับการที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และต่อสู้ ขัดขวาง ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ผู้ทำการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วนในวันเกิดเหตุล้วนเบิกความได้ใจความสำคัญว่า วันดังกล่าวมีผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม แต่ไม่มีจำเลยแต่อย่างใด รวมถึงผู้ก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยการใช้ไม้ตีก็ถูกจับกุมในที่เกิดเหตุทันที ซึ่งก็ไม่ใช่จำเลยอีกเช่นกัน 

หมายเหตุ

✅ หมายถึง เห็นด้วย

❌ หมายถึง ไม่เห็นด้วย, ไม่ใช่

⛔ หมายถึง ไม่ได้เบิกความถึงประเด็นดังกล่าว

*️⃣ หมายถึง คำเบิกความไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด หรือมีเงื่อนไข

พยานโจทก์ปากที่ 1: พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ – ผู้กล่าวหา แต่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเอง

พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ เบิกความว่า ปัจจุบันรับราชการอยู่ที่ สน.สุทธิสาร ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับการสืบสวน อยู่ที่ สน.ชนะสงคราม ในคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.30 น. พยานได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุ สน.ชนะสงคราม ว่า มีเหตุการณ์ติดป้ายกระดาษบนพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม

พยานจึงเดินทางลงพื้นที่เกิดเหตุด้วยชุดนอกเครื่องแบบเพื่อสืบหาข่าว ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมประมาณ 500 คนโดยมีการประกาศจากผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ให้ยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยุติและได้ฝ่าฝืนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามมิให้รวมตัวกันเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันโรคติดต่อ

พยานได้รับแจ้งทราบว่า ป้ายกระดาษดังกล่าวถูกติดอยู่ที่พระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณฟุตบาทของศาลฎีกา โดยกระดาษดังกล่าวติดอยู่ที่พระศอ (คอ) ของพระบรมฉายาลักษณ์ โดยมีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ต่อมาทราบว่า มีกลุ่มบุคคลนำขยะไปทิ้งหลังมีการติดป้ายดังกล่าว ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีเป็นอีกคดีแล้ว

พยานเบิกความว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล ระหว่างการชุมนุมมีการดึงตู้คอนเทนเนอร์ที่วางกั้นแนวอยู่กลางถนนราชดำเนินใน เพื่อกั้นระหว่างเขตพื้นที่พระราชฐานออก โดยผู้ชุมนุมใช้เชือกผูกลากตู้คอนเทนเนอร์เพื่อจะฝ่าแนวตู้เข้าไป และพยานอ้างว่ามีการขว้างปาประทัดยักษ์เข้าใส่เจ้าหน้าที่ คฝ. โดยทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายราย

ขณะผู้ชุมนุมจะฝ่าแนวกั้นตู้คอนเทนเนอร์ เจ้าหน้าที่ได้ยกระดับการสลายการชุมนุม เข้าจับกุมและผลักดันให้ผู้ชุมนุมถอยออกห่างจากตู้คอนเทนเนอร์

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ขณะเกิดเหตุ พยานอยู่บริเวณ “แยกผ่านพิภพลีลา” ก่อนได้รับแจ้งว่ามีผู้ก่อเหตุติดป้ายบนพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งเป็นการได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานวิทยุที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยพยานเองก็ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยตัวเอง เมื่อได้รับแจ้งได้เดินไปที่จุดเกิดเหตุ แต่พบเพียงป้ายข้อความเท่านั้น ไม่เห็นผู้ก่อเหตุแล้ว ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมอยู่จำนวนมาก จึงไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาออกตระเวนจับกุมหาตัวผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นนโยบายที่ตกลงกับคณะทำงานไว้ตั้งแต่ก่อนจะมีการชุมนุมจะเริ่มขึ้น

(แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งสะพานพิภพลีลา)

ภายหลังวันเกิดเหตุ 1 วัน ในวันที่ 21 มี.ค. 2564 พยานได้เดินทางไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนโดยได้มอบภาพถ่ายและวิดีโอจากกล้อง CCTV ของกรุงเทพฯ ซึ่งได้มาจากรายงานการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ตามรายงานสืบสวนดังกล่าวระบุว่า พบบุคคลไม่ทราบชื่อ-นามสกุลมาติดป้ายกระดาษในเวลา 18.20 น. 

พยานทราบว่าผู้จัดการชุมนุมในคดีนี้ คือ “กลุ่มรีเด็ม” แต่พยานไม่ได้ตรวจดูเฟซบุ๊กของจำเลยว่าได้โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมการชุมนุมในวันเกิดเหตุด้วยหรือไม่

พยานเห็นว่าระยะทางตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงแนวตู้คอนเทนเนอร์ มีระยะทางประมาณ 400-500 เมตร พยานเห็นว่าพื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ไม่ได้มีความแออัด ตามรายงานการสืบสวนได้รับแจ้งเพียงว่ามีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ ส่วนจะมีผู้ชุมนุมบาดเจ็บหรือไม่ พยานไม่ทราบ

(แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งสะพานผ่านฟ้าลีลาศ)

หลักฐานที่พยานนำไปแจ้งความ ซึ่งเป็นภาพถ่ายที่อ้างว่าเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่สามารถจับเหตุการณ์ขณะมีผู้ก่อเหตุได้นั้น มีบางภาพไม่ได้ระบุเวลาไว้ว่าเป็นภาพเหตุการณ์ในวันและเวลาใด และภาพใดเป็นลำดับเหตุการณ์ใด พยานก็ไม่ทราบ ภาพจากกล้องวงจรปิดดังกล่าวก็มีภาพผู้คนจำนวนมากอยู่ด้วย

ขณะที่พยานไปให้การกับพนักงานสอบสวนในคดีนี้ พยานเคยให้การว่าการกระทำของจำเลยในคดีนี้ทำให้ประชาชนที่พบเห็นเกิดความรู้สึกไม่เคารพสักการะ แต่พยานเบิกความว่าปัจจุบันยังคงมีความเคารพและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ ส่วนข้อความที่ระบุว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” พยานเห็นว่าเป็นข้อความที่เห็นได้โดยทั่วไป

พยานทราบว่าจำเลยไม่ได้ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุด้วย ส่วนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ผู้เข้าร่วมการชุมนุมจะไม่มีความผิด จะมีความผิดเฉพาะ “ผู้จัดการชุมนุม” เท่านั้น ในวันเกิดเหตุพยานมีหน้าที่ตรวจดูพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด โดยได้เดินทั่วทั้งบริเวณพื้นที่ชุมนุมแล้ว แต่ไม่เห็นว่ามีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิ และการคัดกรองที่บริเวณทางเข้า-ออก

พยานโจทก์ปากที่ 2: พ.ต.ท.พิษณุ –  พนักงานสอบสวนในคดีนี้

พ.ต.ท.พิษณุ เกิดทอง ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับสอบสวน สน.ชนะสงคราม เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุได้รับคำสั่งให้มาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ในการชุมนุม ในวันเกิดเหตุได้เดินทางไปที่บริเวณหน้าศาลฎีกาประมาณ 17.00 น. โดยพยานยืนอยู่ด้านหลังตู้คอนเทนเนอร์ (พื้นที่สีเหลืองตามรูป)

(แผนที่แสดงตำแหน่งประจำการของพยาน)

ช่วงแรกผู้ชุมนุมพยายามขว้างปาสิ่งของข้ามตู้คอนเทนเนอร์ที่สูงประมาณ 4-5 เมตรเข้ามา หลังจากมีการดึงตู้คอนเทนเนอร์ออกผู้ชุมนุมแนวหน้าขว้างปาประทัดยักษ์เข้ามา มีการด่าทอด้วยคำหยาบคาย เจ้าหน้าที่ประกาศให้เลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก สถานการณ์มีแต่รุนแรงขึ้นตามลำดับ

ต่อมาผู้บังคับบัญชาสั่งให้ตั้งแนวกำลังเพื่อเดินหน้าจับกุมผู้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมมีการขว้างปาขวด หิน และใช้ไม้ตี เมื่อพยานและ คฝ. นายอื่นเดินเข้าไปพอสมควรจึงต้องถอยหลังออกมา จากนั้นพยานถูกผู้ชุมนุมใช้ไม้ฟาดหัวและล้มลง โดยสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ในขณะนั้นทันที แต่พยานใส่หมวกกันน็อคจึงช่วยป้องกันไม่ได้รับบาดเจ็บ เพียงแต่รู้สึกมึนหัวและรู้สึกเจ็บแปล๊บ 1-2 วันต่อมาจึงหายเป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีตำรวจคนอื่นได้รับบาดเจ็บอีกด้วย

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานไม่ทราบว่าในวันนั้นมีผู้ชุมนุมหรือสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด

พยานโจทก์ปากที่ 3: พ.ต.ท.ยุคณธร ชูแก้ว – ประจักษ์พยานหนึ่งเดียว ตร.ผู้อ้างว่าเห็นผู้ก่อเหตุ แต่เห็นเพียง ‘ด้านหลัง’ เท่านั้น

พ.ต.ท.ยุคณธร ชูแก้ว เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งสารวัตรสืบสวน อยู่ที่กองกำกับการตำรวจนครบาล 1 มีหน้าที่สืบสวนการกระทำความผิดและรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา 

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 17.00 น. พยานได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาลให้วางกำลังอยู่บริเวณถนนราชดำเนิน ในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมเข้ามาทำการชุมนุมกัน มีบุคคลนำกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ติดไว้ที่พระบรมฉายาลักษณ์ ที่รั้วศาลฎีกา พยานเห็นบุคคลที่นำกระดาษไปติดเป็นผู้ชาย ขึ้นไปเหยียบบริเวณฐานของพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งมีความสูงประมาณระดับเอวเหยียบขึ้นไป แล้วเอากระดาษที่มีข้อความดังกล่าวไปติดไว้ที่พระบรมฉายาลักษณ์

ขณะเกิดเหตุ พยานประจำตำแหน่งอยู่บริเวณถนนราชดำเนิน ห่างจากพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวประมาณ 10 เมตร บริเวณนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก ขณะนั้นพยานจึงไม่ได้ถ่ายรูปไว้ เนื่องจากกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย ทว่าพยานแต่งกายด้วยชุดนอกเครื่องแบบและไม่ได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

(แผนที่แสดงตำแหน่งระหว่างจุดที่พยานยืนอยู่และจุดเกิดเหตุ)

ภายหลังเกิดเหตุ พยานประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอื่นเพื่อหาตัวบุคคลที่ปีนขึ้นไปติดข้อความ พบว่า มีกล้องวงจรปิดบริเวณตรงข้ามกับพระบรมฉายาลักษณ์ สามารถถ่ายภาพบุคคล ซึ่งใช้เท้าเหยียบที่ฐานแล้วปีนขึ้นไปติดกระดาษตั้งกล่าวไว้ได้

ในวันเกิดเหตุ พยาน “เห็นเพียงด้านหลัง” ของบุคคลที่เป็นผู้ก่อเหตุ โดยเห็นว่า ด้านหลังสะพายกระเป๋าเป้สีแดง สวมเสื้อสีดำ ย้อมผมสีทอง ซึ่งตรงกับภาพผู้ก่อเหตุที่ได้จากวงจรปิด

ก่อนเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการรวบรวมข้อมูลของผู้ที่เข้ามาชุมนุมในกลุ่มรีเด็มเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อเห็นภาพในกล้องวงจรปิดจึงสามารถนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีไว้ได้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบแล้วยืนยันได้ว่าเป็นจำเลยในคดีนี้ ในการรวบรวมข้อมูลเจ้าหน้าที่ตำรวจจะรวบรวมข้อมูลจากในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์

ภายหลังจากมีการติดกระดาษที่พระบรมฉายาลักษณ์แล้ว มีเยาวชนอีก 2 คนนำขยะมาทิ้งไว้ที่ดังกล่าว และมีเปลวไฟเกิดขึ้นในบริเวณนั้นด้วย ต่อมาสามารถจับกุมเยาวชนหญิง 2 คนดังกล่าวได้และมีการดำเนินคดีเป็นอีกคดีหนึ่ง

พยานเห็นว่าข้อความที่นำมาติดบริเวณพระบรมฉายาลักษณ์นั้น เป็นการทำให้เสื่อมเสียเกียรติของพระองค์ท่าน ทำให้ถูกดูหมิ่น ดูแคลน หากไม่มีกระดาษดังกล่าวก็คงไม่มีคนเอาขยะมาทิ้ง

(พระบรมฉายาลักษณ์จุดเกิดเหตุ)

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ภายหลังเกิดเหตุ พยานไปให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ 3 ครั้ง ครั้งแรกให้การภายหลังจากเกิดเหตุ โดยมอบรายงานการสืบสวนให้กับพนักงานสอบสวน หลังจากนั้นก็ไปให้การเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุผลที่พยานรู้เห็นเหตุการณ์และเห็นบุคคลที่ก่อเหตุในคดีนี้

ขณะเกิดเหตุ พยานเห็นกลุ่มบุคคลเป็นจำนวนมาก ซึ่งอยู่ตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงสนามหลวง แต่ไม่แน่ใจว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ชุมนุมทั้งหมดหรือไม่ ขณะพยานเดินทางไปที่เกิดเหตุมีคนจำนวนไม่มาก แต่ว่าเมื่อเข้าทำหน้าที่แล้วไม่ทราบว่ามีคนมามากหรือไม่ 

ตำแหน่งตั้งแต่รูปปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผมจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นระยะทางมากกว่า 1 กิโลเมตร บริเวณที่พยานประจำการอยู่เป็นพื้นที่โล่ง มีกลุ่มคนประมาณ 500 คน มีคนเบียดเสียดกันกระจายอยู่ทั่ว โดยมีทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

วันที่พยานไปให้การกับพนักงานสอบสวน พยานได้มอบไฟล์ภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดที่สามารถจับภาพผู้ก่อเหตุในคดีนี้ไว้ได้ให้แก่พนักงานสอบสวนแล้ว ทนายจำเลยได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีข้อพิรุธดังต่อไปนี้ ซึ่งพยานก็ยอมรับว่าเป็นความจริง ได้แก่

  1. ภาพถ่ายจากโทรศัพท์ที่อ้างว่าเป็นภาพผู้ก่อเหตุติดกระดาษนั้น ผู้ทำการถ่ายไว้ไม่ได้ถูกอ้างชื่อเป็นพยานโจทก์เข้าเบิกความต่อศาลด้วย
  2. หลักฐานบางภาพพยานไม่ทราบว่าได้มาจากที่ใด หรือใครถ่ายไว้ได้
  3. ภาพที่จับภาพนิ่งมาจากวิดีโอ CCTV บางภาพไม่ระบุวันและเวลาในภาพด้วย และบางภาพก็ไม่ปรากฏว่ามีกระดาษติดอยู่ที่พระบรมฉายาลักษณ์

(ตัวอย่างภาพที่ได้จากกล้อง CCTV จะมีข้อมูลแสดงวันและเวลาอยู่ด้วย)

พยานออกจากที่เกิดเหตุก่อนเวลา 22.00 น. แล้วไม่ได้กลับเข้ามาในที่เกิดเหตุอีก เนื่องจากต้องจับกุมเยาวชนหญิง 2 คนไปดำเนินการต่อไป ขณะปฏิบัติหน้าที่ พยานไม่ได้ยินจำเลยพูดปราศรัยให้มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด ขณะที่พยานมองเห็นจำเลยนำแผ่นกระดาษไปติดไว้ที่พระบรมฉายาลักษณ์มีแสงสว่างมองเห็นชัดเจน ส่วนข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” พยานรับว่าเป็นข้อความที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป

พยานโจทก์ปากที่ 4: ร.ต.อ.ล้วน – ตร.ชุดจับกุม ตามจับจำเลยที่คอนโด ยึดมือถือ 2 เครื่อง สวนทางพฤติการณ์คดีร่วมม็อบ-ติดกระดาษ

ร.ต.อ.ล้วน มั่นศักดิ์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานรับราชการเป็นรองสารวัตรสืบสวน อยู่ที่ สภ.สำโรงเหนือ โดยในคดีนี้พยานเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมที่ได้ทำการจับกุมจำเลยตามหมายจับ

ในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้รับแจ้งว่า จำเลยเป็นบุคคลตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 มี.ค. 2564 ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้หลบหนีไปพักอาศัยอยู่ที่คอนโดแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ พยานและตำรวจชุดจับกุมนายอื่นจึงได้ติดตามสืบสวนตามไปจับกุม 

ในวันที่ 22 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 20.00 น. ตำรวจชุดจับกุมเห็นจำเลยยืนอยู่หน้าคอนโดที่พักอาศัยตามที่ได้รับแจ้งจึงแสดงตัวและขอตรวจค้นทรัพย์สินที่เคยใช้กระทำผิด โดยได้ยึดโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่องของจำเลยไว้ จากนั้นนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อดำเนินคดีต่อไป

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานเป็นเพียงตำรวจชุดจับกุม ไม่ได้เห็นว่าจำเลยอยู่ในสถานที่เกิดเหตุและกระทำความผิดจริงหรือไม่ ขณะจับกุมจำเลยในคดีนี้พยานและตำรวจชุดจับกุมได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของจำเลยจำนวน 2 เครื่องไปด้วย แต่ไม่ได้มีหมายขอตรวจยึดอุปกรณ์สื่อสารจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) อีกทั้งไม่ได้มีหมายศาลที่อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือแต่อย่างใด รวมถึงไม่ได้ใช้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในการตรวจยึดและขอสำเนาข้อมูลอีกด้วย

พยานเห็นด้วยว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่เป็นเหตุให้ถูกออกหมายจับในคดีนี้นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้โทรศัพท์มือถือ อีกทั้ง ขณะจับกุมจำเลยในครั้งนั้น จำเลยเพียงยืนสูบบุหรี่อยู่ด้านหน้าคอนโดของตนเอง ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด แต่พยานไม่ทราบว่า คอนโดดังกล่าวเป็นที่พักอาศัยของจำเลยเป็นประจำอยู่ก่อนหน้าอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการหนีมาซ่อนตัวตามที่ระบุไว้ในบันทึกการจับกุม

(ส่วนหนึ่งของเอกสารบันทึกจับกุมจำเลยในคดีนี้)

พยานโจทก์ปากที่ 5: พ.ต.อ.สนอง – ผกก.สน.ชนะสงคราม ผู้ประกาศให้เลิกชุมนุมในวันเกิดเหตุ

พ.ต.อ.สนอง แสงมณี เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย 

ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ ผู้ชุมนุมกลุ่มรีเด็มได้โพสต์เฟซบุ๊กว่าจะมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ท้องสนามหลวง หลังจากทราบข่าวพยานและเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นได้วางแผนถึงแนวทางการปฏิบัติเพื่อเจรจากับกลุ่มผุ้ชุมนุม เนื่องจากพื้นที่สนามหลวงเป็นพื้นที่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง โดยวางแผนจะวางแนวกำลังตั้งแต่แยกผ่านพิภพลีลาก่อนที่จะเข้าสนามหลวง และมีการวางแนวเขตกั้นระหว่างผู้ชุมนุมกับประชาชนโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ 2 ชั้น วางผ่ากลางสนามหลวงตลอดแนว

ต่อมา ในวันเกิดเหตุ วันที่ 20 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 15.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่บริเวณท้องสนามหลวง ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. พยานได้แจ้งกับผู้ชุมนุมว่าการชุมนุมเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อาจถูกดำเนินคดีได้ จากนั้นผู้ชุมนุมได้โหว่ร้องและใช้ถ้อยคำหยาบคายกับพยาน จนพยานและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ต้องถอนกำลังออกจากบริเวณดังกล่าว

หลังจากนั้นมีผู้ชุมนุมทยอยมามากขึ้น กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มมีการฉีดสเปรย์ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ พังรั้วเหล็กเพื่อเข้าไปบริเวณท้องสนามหลวง ขณะนั้นคาดว่ามีผู้ชุมนุมประมาณ 500 คนขึ้นไป จากนั้นผู้ชุมนุมบางส่วนปีนตู้คอนเทนเนอร์ แล้วใช้เชือกดึงตู้ลงมาเพื่อเปิดทางให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในสนามหลวง เจ้าหน้าที่แนวหลังตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นคนละชุดกับกลุ่มของพยานได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมหยุดกระทำ แต่ผู้ชุมนุมก็ยังคงขว้างปาสิ่งของ ใช้หนังสติ๊ก ตลอดจนประทัดยักษ์ ใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บบางส่วน แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นใครบ้างและมีจำนวนเท่าใด

บริเวณที่เกิดเหตุในคดีนี้ คือพระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่บริเวณรั้วของศาลฎีกา ซึ่งอยู่ด้านหน้าตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่มีผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณรูปปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผม มีบุคคลนำกระดาษไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว ระบุข้อความบนกระดาษว่า “ที่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล” 

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ชุมนุมจะบุกผ่านรั้วลวดหนามและดึงตู้คอนเทนเนอร์ออกเพื่อฝ่าเข้าไปในบริเวณสนามหลวง พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนปีนขึ้นไปติดกระดาษที่พระบรมฉายาลักษณ์ แต่รับทราบจากรายงานในเวลาต่อมา ตามรายงานการสืบสวนตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิด พบว่ากระเป๋าและรอยสักของผู้ก่อเหตุมีลักษณะตรงกับจำเลยในคดีนี้ ซึ่งกระเป๋าดังกล่าวจำเลยจะใช้เป็นประจำ ทั้งนี้ พยานเบิกความว่า ไม่เคยพบเห็นจำเลยมาก่อน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นในคณะทำงานเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นผู้ก่อเหตุเป็นคนเดียวกันกับจำเลย

กระดาษที่เขียนข้อความติดพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว พยานเห็นว่าข้อความเป็นการด้อยค่า ก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธา โดยลักษณะแล้วเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์

ตอบทนายถามค้าน

พยานไม่ทราบว่ากลุ่มรีเด็มคือใครและใครจะเป็นแกนนำพยานก็ไม่ทราบ พยานทราบว่าก่อนหน้านี้ก็มีกลุ่มประชาชนเคยทำการชุมนุมที่บริเวณท้องสนามหลวงมาก่อน และไม่ทราบว่าในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมทำการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่

ในการวางแผนดูแลการชุมนุมในครั้งนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแล พยานไม่ทราบว่าใครเป็นประธานในการดูแล พยานเพียงทำหน้าที่ในการพยายามเจรจากับผู้ชุมนุมให้มีการชุมนุมให้น้อยลงหรือให้หยุดการชุมนุม โดยพยานอธิบายว่าการชุมนุมนั้นกล่าวผิดกฎหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎหมายอื่น

ในการควบคุมฝูงชนมีเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้วางแผน ในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนมากถึง 22 กองร้อยหรือไม่ พยานไม่ทราบ เนื่องจากอยู่คนละส่วนงานกัน

ขณะมีการดึงตู้คอนเทนเนอร์ลงพยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่อยู่บริเวณป้อมจราจรสี่แยกผ่านพิภพลีลา ใกล้กับรูปปั้นพระแม่ธรณี โดยมองเห็นว่ามีการดึงตู้คอนเทนเนอร์ลง 

สำหรับพื้นที่สนามหลวงมีขนาดเท่าใด พยานไม่ทราบ แต่ทราบว่ามีลักษณะเป็นพื้นที่โล่ง คำว่า “แออัด” ตามพจนานุกรมให้ความหมายอย่างไร พยานก็ไม่ทราบ  พยานทำหน้าที่ประกาศเตือนให้ผู้ชุมนุมทราบว่า การชุมนุมจะมีความผิดตามกฎหมายใดบ้างและอาจถูกดำเนินคดี ส่วนการชุมนุมจะแออัดหรือแพร่โรคระบาดหรือไม่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคออกความเห็น

ในวันเกิดเหตุพยานไม่เห็นจำเลยแต่อย่างใด ภายหลังเหตุสลายการชุมนุม คฝ. สามารถจับกุมผู้ชุมนุมได้ประมาณ 30 คน แต่จำเลยไม่ได้ถูกจับกุมในวันดังกล่าวด้วย

พยานโจทก์ปากที่ 6: พ.ต.อ.ธนันท์ธร – ผู้บัญชาการกำลัง คฝ. ในการชุมนุมวันเกิดเหตุ

พ.ต.อ.ธนันท์ธร รัตนสิทธิภาคย์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 อยู่ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 9 มีหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำความผิดทั่วราชอาณาจักรและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย 

ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้บังคับการกองพันควบคุมฝูงชน ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมคือ “กลุ่มรีเด็ม” พยานไปที่บริเวณสนามหลวงเวลาประมาณ 14.00 น. และได้รับรายงานว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 500 คนชุมนุมกันอยู่ที่บริเวณหน้าตู้คอนเทนเนอร์ ต่อมา เวลาประมาณ 17.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ได้ประกาศแจ้งให้ผู้ชุมนุมหยุดการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมก็ยังไม่เลิก 

ต่อมา เวลาประมาณ 18.45 น. พยานได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มบุคคลนำแผ่นกระดาษที่มีข้อความทำนองว่า ที่ทิ้งขยะไปติดที่บริเวณคอของพระบรมฉายาลักษณ์ แต่พยานไม่แน่ใจว่าพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวตั้งอยู่ที่บริเวณใด เนื่องจากพยานอยู่บริเวณหลังแนวตู้คอนเทนเนอร์ 

พยานเห็นว่าการติดกระดาษที่มีข้อความดังกล่าวที่พระบรมฉายาลักษณ์เป็นการดูถูก ไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย เป็นการอาฆาตมาดร้าย ซึ่งพระมหากษัตริย์ของประชาชนชาวไทยเป็นที่เคารพบูชาอันจะละเมิดไม่ได้

พยานจำไม่ได้ว่า หลังจากมีการติดกระดาษดังกล่าวแล้วมีการทิ้งขยะที่บริเวณพระบรมฉายาลักษณ์จริงหรือไม่ ต่อมาพยานทราบว่า บุคคลที่นำกระดาษดังกล่าวไปติดไว้ที่พระบรมฉายาลักษณ์เป็นจำเลยในคดีนี้ โดยพยานไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน แต่เห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วพิสูจน์ทราบภายหลังว่าเป็นจำเลย

หลังจากงานผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวายขึ้น โดยมีการทำลายตู้คอนเทนเนอร์ ใช้ประทัดยักษ์ยิง ใช้หนังสติ๊กยิงลูกแก้วและก้อนหิน ขว้างปาไม้-ก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายราย โดยตำรวจนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บที่ขาทะลุจนเลือดไหล ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้พยายามผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ออกไป จนถึงเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 21 มี.ค. จึงสามารถสลายการชุมนุมได้

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานจำไม่ได้ว่า แกนนำกลุ่มรีเด็มเป็นใคร และจำเลยเป็นแกนนำกลุ่มรีเด็มหรือไม่ รวมถึงไม่ทราบว่า ขณะเกิดเหตุมีแกนนำกลุ่มรีเด็มอยู่ด้วยหรือไม่เช่นกัน เนื่องจากเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นมาประมาณ 1 ปีแล้ว

หน่วยงานหลักที่ดูแลเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชน คือ “สถานีตำรวจนครบาล” ผู้ดูแลหลัก คือ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” แต่เจ้าของพื้นที่ที่ดูแล คือ “ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล” โดยหน่วยงานวางแผนรับมือซึ่งพยานได้รับคำสั่งให้ดูแลการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยานทราบว่ากลุ่มรีเด็มเป็นกลุ่มที่มีปัญหาและมักมีอาวุธเข้ามาในการชุมนุมด้วยทุกครั้ง

พยานประจำการอยู่บริเวณหลังตู้คอนเทนเนอร์ เลยจากวัดพระแก้วมาประมาณ 400-500 เมตร ในวันเกิดเหตุมีการวางตู้คอนเทนเนอร์ตั้งแต่ริมรั้วของศาลฎีกายาวไปจนถึงอีกฝั่งหนึ่งตลอดแนว จากตู้คอนเทนเนอร์ถึงบริเวณวัดพระแก้วห่างกันประมาณ 300-400 เมตร พยานอยู่ด้านหลังตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนผู้ชุมนุมอยู่ด้านหน้าตู้

(แผนที่แสดงตำแหน่งประจำการของพยาน)

ขณะพยานปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้านหลังตู้คอนเทนเนอร์ได้รับแจ้งรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นระยะ พยานจำไม่ได้ว่า ในวันเกิดเหตุ คฝ. มีกองกำลังเท่าไหร่ แต่คาดว่าน่าจะมีจำนวน 1,000 คนขึ้นไป โดยวางกำลังกระจายอยู่ทั่วพื้นที่การชุมนุม อีกทั้งบริเวณด้านหลังตู้คอนเทนเนอร์มีรถฉีดน้ำจำนวน 2 คัน

ในการปฏิบัติหน้าที่จะมีการประกาศเตือนผู้ชุมนุมให้หยุดการชุมนุมก่อน หากไม่เชื่อ การที่จะใช้รถฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมจะต้องได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการพื้นที่ในวันดังกล่าว คือ “ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 6” เสียก่อน ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 กองร้อย หรือประมาณ 155 นาย จะมีปืนบรรจุกระสุนยาง 2 กระบอก ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้เตรียมน้ำเปล่า น้ำผสมแก๊ส แก๊สน้ำตาแบบยิงกับแบบขว้าง และปืนกระสุนยาง

(ภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์)

ในวันเกิดเหตุมีการแจ้งเตือนผู้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่เชื่อฟัง บุกเข้ามาดึงตู้คอนเทนเนอร์ 2 อันตรงกลางออกเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมคนอื่นเข้ามาในบริเวณสนามหลวง มีการขว้างปาแก้วน้ำ ขวดน้ำ ประทัดยักษ์ใส่เจ้าหน้าที่ และยิงหนังสติ๊ก ซึ่งถือเป็นการประทุษร้ายและใช้อาวุธ 

ตำรวจได้ประกาศให้หยุด แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมหยุด เจ้าหน้าที่จึงได้ใช้น้ำฉีดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อให้ถอยออกไปเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมถอยออกไปแล้ว ก็มีการผลักดันเข้าไปอีกหลายครั้ง จนในที่สุดเจ้าหน้าที่จึงใช้กำลังผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาจากพื้นที่ และมีการจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วนในวันเกิดเหตุ

เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม ตั้งแต่บริเวณสนามหลวงสะพานผ่านฟ้าไปจนถึงสะพานวันชาติ และบริเวณถนนราชดำเนิน พยานอ้างว่าจุดเริ่มต้นของความรุนแรงในการชุมนุมเริ่มขึ้นตั้งแต่การที่กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนรื้อตู้คอนเทนเนอร์ออก

ในวันเกิดเหตุมีคนจำนวนมากเป็นพันคน พยานจำไม่ได้ว่ามีใครบ้าง พยานได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาฝ่ายสืบสวนว่า มีจำเลยเป็นผู้นำกระดาษที่มีข้อความ “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ไปติดไว้ที่พระบรมฉายาลักษณ์

พยานโจทก์ปากที่ 7: ร.ต.อ.เฉลิมพงษ์ – หนึ่งใน คฝ.สลายม็อบ ผู้ถูกผู้ชุมนุมรายหนึ่งใช้ไม้ตีหัว 

ร.ต.อ.เฉลิมพงษ์ ตระกูลชาวท่าโขลง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 พยานปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชน อยู่ที่บริเวณหน้าศาลฎีกา ตั้งแต่เวลา 17.00 น. โดยระหว่างผู้ชุมนุมกับจุดที่พยานอยู่นั้นมีตู้คอนเทนเนอร์ซ้อนกัน 2 ชั้นกั้นอยู่ โดยระหว่างนั้นผู้ชุมนุมได้ขว้างปาสิ่งของ และขวดน้ำ รวมถึงประทัดยักษ์ข้ามตู้คอนเทนเนอร์มาใส่เจ้าหน้าที่ 

ต่อมาผู้ชุมนุมได้ใช้เชือกสลิงดึงตู้คอนเทนเนอร์ออกประมาณ 2 ตู้ โดย 1 ช่วงตู้ยาวประมาณ 4 เมตร เมื่อผู้ชุมนุมดึงตู้คอนเทนเนอร์ออกไป กลุ่มผู้ชุมนุมแนวหน้าได้ขว้างประทัดยักษ์และสิ่งของเข้ามาเหมือนเดิม และยังมีการด่าทอด้วยคำหยาบคาย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งให้สลายการชุมนุมแล้ว แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัวไป ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้พยานตั้งแนวกำลังเพื่อทำการผลักดันผู้ชุมนุมและสลายการชุมนุม ตามลำดับ 

พยานอยู่ในแนวกำลังที่เข้าไปผลักดันผู้ชุมนุม จนเกิดมีการชุลมุนทุบตีกัน จากนั้นพยานก็ถูกชายคนหนึ่งใช้ไม้กระบองทุบไปที่บริเวณศีรษะ เมื่อพยานถูกตี เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายหนึ่งก็เข้าไปควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้ ขณะนั้นพยานใส่หมวกป้องกันศีรษะอยู่ จึงไม่ได้รับบาดเจ็บมาก นอกจากพยานแล้วยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายอื่นได้รับบาดเจ็บด้วย

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ในการชุมนุมดังกล่าว นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้รับบาดเจ็บแล้ว พยานไม่ทราบว่าจะมีผู้ชุมนุมหรือผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด 

พยานโจทก์ปากที่ 8: รณกรณ์ – ชี้แปะกระดาษผิดฐาน ‘ดูหมิ่น’ ไม่ใช่ ‘หมิ่นประมาท’ แจง ม.112 มีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเป็นการจำกัดสิทธิแสดงความเห็นของ ปชช.

ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ติดต่อพยานมาเพื่อขอความเห็นทางวิชาการ โดยพนักงานสอบสวนให้พยานดูรูปภาพ ซึ่งเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์มีแผ่นกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ติดอยู่

พนักงานสอบสวนได้ถามความเห็นพยานว่า การกระทำตามรูปดังกล่าวจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 หรือไม่ พยานตอบว่า พยานไม่ทราบว่าผู้กระทำความผิดเป็นใคร แต่ในความเห็นของพยานการกระทำดังกล่าวเป็นการเหยียดหยาม ลดศักดิ์ศรี เป็นการดูหมิ่น แต่พยานเห็นว่า ไม่เป็นการหมิ่นประมาท เพราะไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง และไม่เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย นอกจากนี้พยานเห็นว่าไม่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานสอนวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไปและกฎหมายอาญาภาคความผิด ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และยังสอนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชนด้วย

พยานเห็นว่า ถ้าพิเคราะห์ถึงตัวข้อความโดยแท้จริงแล้ว ถือว่าเป็นข้อความทั่วไป เป็นข้อความที่ไม่ได้ระบุชื่อเจาะจงตัวตนใคร โดย “พระบรมฉายาลักษณ์” หมายถึง รูปถ่ายขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่อาจถูกบันทึกลงในสื่อต่างๆ เช่น หนังสือ สิ่งพิมพ์ ฯลฯ ได้ ถ้าไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อื่นแล้วเสื่อมค่าก็สามารถนำไปทิ้งได้ หรืออาจนำไปห่อสิ่งของได้ ยกเว้นบุคคลนั้นมีเจตนาพิเศษนำไปใช้โดยมีเจตนาแอบแฝง

พยานเคยได้ยินข่าวกรณีประเทศสเปนมีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์และศาลสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรปตัดสินว่า กรณีดังกล่าว “ไม่เป็นความผิด” ฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

พยานเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่า ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งพยานก็เห็นด้วย อีกทั้งพยานทราบว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่เคยนำมาใช้ลงโทษจำเลยในคดีต่างๆ ในระหว่างปี 2561-2562 และพยานก็เคยเห็นข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระประสงค์ไม่ให้นำมาตรา 112 มาบังคับใช้กับประชาชน 

ต่อมาวันที่ 19 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ให้ใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรากับประชาชน ซึ่งประชาชนทั่วไปน่าจะเข้าใจว่ารวมถึงมาตรา 112 ด้วย ปัจจุบันจะมีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 จำนวนกี่คดีพยานไม่ยืนยัน แต่ทนายจำเลยให้ดูเอกสารแล้วปรากฏว่ามีจำนวน 194 คดี (ณ วันที่ 23 มี.ค. 2565)

(ภาพจาก ประชาไท)

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน พยานได้ให้ความเห็นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นจำนวนหลักร้อยคดีแล้ว เกี่ยวกับมาตรา 112 ตั้งแต่พยานเข้ามาเกี่ยวข้อง เห็นว่ามีปัญหาในการบังคับใช้หลายประการ เช่น

  1. ด้านหลักการ มีทั้งการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย หากเป็นการกระทำผิดสำหรับประชาชนทั่วไป การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายจะมีการกำหนดโทษที่ไม่เท่ากัน แต่สำหรับความผิดที่กระทำต่อพระมหากษัตริย์บุคคลจะต้องรับโทษเพื่อการกระทำในระนาบเดียวกันหรือต้องรับโทษเท่ากัน ซึ่งในความเห็นของพยาน ตามหลักวิชาการไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งพยานเชื่อว่าการลงโทษโดยไม่สะท้อนถึงความรุนแรงของการกระทำเหมือนกับต่างประเทศถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  1. คำว่า “แสดงความอาฆาตมาดร้าย” ไม่มีนิยามคำจำกัดความไว้อย่างชัดเจน จึงสร้างความสับสนต่อการบังคับใช้พอสมควร
  1. ปัญหาใหญ่สำคัญ คือ ด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งถูกตัดสิทธิ์หรือจำกัดสิทธิ์ในการให้ความเห็นต่าง เช่น ตามมาตรา 326 อันเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปจะมีการกำหนดข้อยกเว้นให้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 329 เป็นต้น
  1. ปัญหาเกี่ยวกับบุคคลที่มีการกล่าวถึง ดังเช่นตามคำพิพากษาของศาลไทยได้มีคำพิพากษาถึงบุคคลที่ไม่ใช่บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามตัวบท ซึ่งได้แก่ พระมหากษัตริย์ รัชทายาท พระราชินี และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่กล่าวถึงบุคคลนอกเหนือจากนี้ เช่น พระกนิษฐา ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น และมีคำพิพากษาถึงรัชกาลที่ 4 ด้วย ซึ่งแท้จริงควรจะเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น
  1. จากประสบการณ์การทำงานของพยานที่ได้ไปให้การเกี่ยวกับมาตรา 112 หลายคดี พบว่า กฎหมายมาตรานี้ถูกใช้เพื่อสร้างปัญหากับผู้ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม สร้างภาระในการขึ้นศาลพอสมควร บางคดีที่พยานไปให้ความเห็นยังพบอีกว่ามูลเหตุไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหาเลย

ส่วนกรณีที่ “ใครๆ ก็แจ้งความได้” ก็เป็นปัญหาเช่นกัน เป็นเหตุขัดข้องในการดำเนินการ อย่างเช่นในประเทศเยอรมนี ผู้ที่จะแจ้งความได้ก็คือ “ประธานาธิบดี” หรือ “ผู้ได้รับมอบหมาย” เท่านั้น ในความเห็นของพยานทางวิชาการและเท่าที่เป็นอาจารย์สอนมาเห็นว่า การฟ้องตามมาตรา 112 หากศาลพิพากษาว่าเป็นความผิดจะเป็นการสร้างภาระให้กับพระองค์ เนื่องจากเป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง

ทนายจำเลยถามว่า ด้านสิทธิมนุษยชน หากเป็นการพูดหรือแสดงความคิดเห็นแล้วจะไม่ต้องรับโทษจำคุกใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เท่าที่คิดได้น่าจะมีโทษทางแพ่งเท่านั้น

อัยการโจทก์ถามติง

สำหรับข้อความที่นำไปทิ้งหรือเป็นขยะ หากนำไปติดกับบุคคลใด อาจทำให้เข้าใจว่าบุคคลที่ถูกนำไปติดเป็นขยะหรือเป็นการแสดงความเหยียดหยาม

พยานโจทก์ปากที่ 9: เจษฎ์ – ตีความสวนทางรณกรณ์ ชี้จำเลยต้องผิดทั้งดูหมิ่น-หมิ่นประมาท  

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย จังหวัดขอนแก่น สอนวิชานิติศาสตร์  คดีนี้ พยานได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนให้ไปให้ความเห็นทางวิชาการ โดยพนักงานสอบสวนให้พยานดูรูปภาพเป็นกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ติดอยู่บนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 

พยานมีความเห็นว่า ผู้กระทำมีเจตนาเพื่อดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยามองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้คนที่พบเห็นคิดว่าเป็นเสมือนถังขยะ พยานให้ความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

พยานได้รับการบอกเล่าว่า หลังจากมีป้ายดังกล่าวติดที่พระบรมฉายาลักษณ์มีบุคคลอื่นที่น่าจะนัดหมายกันล่วงหน้านำขยะมาทิ้งการนำขยะมาทิ้งดังกล่าว ซึ่งพยานเห็นว่าก็เป็นความผิดเช่นเดียวกับผู้ที่นำป้ายข้อความที่ทิ้งขยะมาติด

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานจบการศึกษาชั้นปริญญาโทและระดับชั้นปริญญาเอก ในสาขากฎหมายระหว่างประเทศและทรัพย์สินทางปัญญา พยานเห็นว่า ข้อความ “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” เป็นข้อความทั่วไป ไม่ได้ระบุถึงบุคคลใด แต่ปิดไว้ที่พระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งเป็นทรัพย์สิน แต่รูปภาพไม่ว่าของบุคคลใดถือเป็นเครื่องแสดงถึงตัวของบุคคลนั้นด้วย

พยานเคยให้ความเห็นต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในคดีที่มีการโพสต์เกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยงและแชร์ผังอุทยานราชภักดิ์ ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 112 และมาตรา 116 แต่ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แม้คดีดังกล่าวจำเลยจะยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริงก็ตาม

อีกทั้ง พยานเคยเบิกความในคดีที่จำเลยโพสต์และแชร์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์กองทัพว่าเป็นความผิดตามมาตรา 116 ซึ่งต่อมาศาลก็ได้พิพากษายกฟ้องเช่นกัน

ตอบอัยการโจทก์ถามติง

ข้อความที่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลนั้นเป็นข้อความทั่วไป แต่เมื่อนำข้อความมาประกอบกับสิ่งอื่นก็ย่อมแปลความร่วมกันกับสิ่งนั้น เช่น หากนำไปติดที่รูปภาพหรือพระบรมฉายาลักษณ์ก็จะหมายความว่า สถานที่นั้นเป็นที่ทิ้งขยะเป็นการดูหมิ่นดูแคลนพระมหากษัตริย์

พยานโจทก์ปากที่ 10: รัตติกรณ์ – จนท.กรุงเทพฯ ยืนยันไม่ได้ว่าชุมนุมแออัด เหตุทุกคนใส่แมส พื้นที่โล่งกว้าง 

รัตติกรณ์ สนั่นเอื้อ เบิกความว่ารับราชการ ในตำแหน่งนักวิชาการฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลชำนาญการ อยู่ที่สำนักงานเขตพระนคร มาตั้งแต่ปี 2549 ในคดีนี้พนักงานสอบสวนเรียกไปสอบถามความเห็นเกี่ยวกับการมาตรการและแผนปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุมโรค

พยานเบิกความว่า บางครั้งมักจะได้เดินทางไปวัดระดับความดังเสียงและตรวจวัดดูความหนาแน่นในการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ชุมนุมด้วย ขึ้นอยู่กับหัวหน้าเขตประเมินว่าการชุมนุมครั้งนั้นมีความรุนแรงหรือไม่ แต่การชุมนุมในคดีนี้พยานไม่ได้รับมอบหมายให้ไปแต่อย่างใด

ในช่วงการชุมนุมที่เป็นเหตุในคดีนี้มีการระบาดของโรคโควิดเกิดขึ้น โดยรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศเรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (Covid-19) เพื่อเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามหลักการป้องกันโควิด อย่างเช่นเว้นระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัย

หากห้างร้านหรือบริษัทใดๆ จะจัดกิจกรรมรวมกลุ่มจะต้องขออนุญาตกับหน่วยงานของพยานก่อน แต่ลักษณะการชุมนุมนั้นแตกต่างออกไป โดยจะต้องให้ผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน ฝ่ายพยานจึงจะพิจารณาอนุญาตเป็นลำดับต่อไปได้

หากมีกลุ่มองค์กรใดมาขออนุญาตเพื่อจัดการชุมนุมกับหน่วยงานของพยานแล้ว หากได้รับอนุญาต ก็จะให้คำแนะนำไปด้วย และพยานจะไปตรวจสอบด้วยว่าผู้มาร้องขอปฏิบัติตามคำแนะนำหรือไม่ แต่พยานจะไม่ได้เข้าไปจัดการหรืออำนวยความสะดวกตามคำแนะนำดังกล่าวด้วยตัวเอง เช่น ตั้งจุดคัดกรอง เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ทั้งนี้ การจะติดโรคโควิดในสถานที่แออัดหรือการชุมนุมมีหลายองค์ประกอบด้วยกัน

พยานดูภาพถ่ายบรรยากาศการชุมนุมที่เป็นเหตุในคดีนี้แล้วให้ความเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวจะว่ามีความหนาแน่นก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะแม้ผู้ชุมนุมไม่ได้เว้นระยะห่างกันมากกว่า 1 เมตร แต่ก็ยัง “สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่” ทั้งนี้ ในการชุมนุมดังกล่าวพยานไม่ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเข้าไปดูแลแต่อย่างใด

(ภาพจาก Way Magazine)

ทนายจำเลยถามค้าน

พยานรับว่า ประกาศกรุงเทพฯ เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ไม่ได้เป็นลักษณะข้อห้าม แต่เป็นข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวเสียมากกว่า พยานไม่ทราบว่าในการชุมนุมดังกล่าวจะมีการตั้งจุดคัดกรอง แจกหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือหรือไม่ 

ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พยานพอจะทราบว่า หากจะจัดการชุมนุมต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน ส่วนจะขอใช้พื้นที่เพื่อการชุมนุมนั้นไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของสำนักงานเขต โดยส่วนใหญ่ประชาชนมักจะมาขออนุญาตเกี่ยวกับการขอใช้เครื่องขยายเสียงมากกว่า

พยานให้ความเห็นว่า “สถานที่แออัด” หมายถึง พื้นที่ที่เว้นระยะห่างไม่ได้และเสี่ยงต่อการแพร่โรค แต่บรรยากาศการชุมนุมนั้น พยานเห็นว่าเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ส่วนอากาศจะถ่ายเทสะดวกหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่ามีลมหรือไม่ด้วย 

(ภาพจาก Mob Data Thailand)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ฐานข้อมูลคดีนี้: คดี 112 “ชูเกียรติ” ติดกระดาษบนรูป ร.10 ชุมนุม 20 มีนา 64

ขณะถูกจับกุมชั้นสอบสวน: เปิด 7 ข้อหา ‘ชูเกียรติ’ คดี ม.112 ติดกระดาษหน้ารูป ร.10 ก่อนไม่ได้ประกันตัว

อ่านคำฟ้อง: ฟ้อง ม.112 จัสติน-ชูเกียรติ! คดีที่ 3 กรณีแปะกระดาษพร้อมข้อความบนรูปกษัตริย์ หน้าศาลฎีกา

บทสัมภาษณ์พี่สาวขณะชูเกียรติถูกคุมขัง: “เขาสู้ด้วยจิตวิญญาณ”: สนทนากับพี่สาว “จัสติน ชูเกียรติ” จากหนุ่มช่างสักถึงเสื้อครอปท็อปคู่ใจ

ตร.แจ้งเพิ่ม! ม.116 “จัสติน” ชูเกียรติ ถึงในเรือนจำ ชี้การแปะป้ายข้อความบนรูปร.10 ยุยงปลุกปั่นให้ปชช.ล่วงละเมิดกฎหมาย

ทบทวน ม.112 ผ่านคดีแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์: การตีความขยายขอบเขตกฎหมาย และการส่ง “เสียง” ที่ไม่ถูกรับฟัง

ศาลอาญาส่งเรื่องให้ ศาล รธน. วินิจฉัยคำสั่งคณะรัฐประหาร 2519 ให้เพิ่มโทษ ม.112 ไม่มีสภาพเป็น กม. – ขัด รธน.

ศาล รธน. ไม่รับคำร้องวินิจฉัยคำสั่งคณะรัฐประหารเพิ่มโทษ ม.112 ปี 2519 ขัด รธน. หรือไม่ เห็นว่าเคยวินิจฉัยประเด็น ม.112 แล้ว

ประมวลสถานการณ์สลายชุมนุม #ม็อบ20มีนา กลุ่ม REDEM และแนวร่วมเผชิญทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ก่อนถูกจับ 32 ราย

X