ศาล รธน. ไม่รับคำร้องวินิจฉัยคำสั่งคณะรัฐประหารเพิ่มโทษ ม.112 ปี 2519 ขัด รธน. หรือไม่ เห็นว่าเคยวินิจฉัยประเด็น ม.112 แล้ว

26 เม.ย. 2566 ศาลอาญานัดอ่านคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญในคดีของชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ “จัสติน” นักกิจกรรมจากจังหวัดสมุทรปราการ ที่ถูกฟ้องในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษที่มีข้อความ ‘ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล!’ บนรูปรัชกาลที่ 10 บริเวณหน้าศาลฎีกา ในระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564

คดีนี้หลังจากสืบพยานเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 อันมีการกำหนดเพิ่มโทษข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเดิมโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งจะบังคับใช้ลงโทษจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 หรือไม่

ต่อมาศาลเจ้าของสำนวนคดี ได้มีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยให้รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แล้วจึงจะกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา

อ่านสรุปเนื้อหาคำร้อง ศาลอาญาส่งเรื่องให้ ศาล รธน. วินิจฉัยคำสั่งคณะรัฐประหาร 2519 ให้เพิ่มโทษ ม.112 ไม่มีสภาพเป็น กม. – ขัด รธน.

.

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งลงวันที่ 14 ธ.ค. 2565 ไม่รับคำร้องนี้ไว้วินิจฉัย โดยในส่วนเหตุผล ระบุว่า “พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามหนังสือส่งคําโต้แย้งและเอกสารประกอบเป็นกรณีที่ศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของจําเลยในคดีอาญา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

“เมื่อคําสั่งดังกล่าวมีสถานะเป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นกรณีเดียวกันกับการที่จําเลยโต้แย้งว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้วตามคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28 – 29/2555 วันที่ 10 ตุลาคม 2555 ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 29 มีหลักเกณฑ์และความมุ่งหมายเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 26

“เป็นกรณีที่ศาลอาญาส่งคําโต้แย้งบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นแล้ว คําร้องนี้ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย”

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องดังกล่าว ทำให้คดีของชูเกียรติกลับมาพิจารณาต่อไป โดยทนายจำเลยแถลงขอยื่นคำแถลงปิดคดีเพิ่มเติมภายใน 30 วัน และศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 มิ.ย. 2566 เวลา 9.00 น.

.

ทั้งนี้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 ที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุถึง เป็นคำวินิจฉัยที่มีสมยศ พฤกษาเกษมสุข และเอกชัย หงส์กังวาน สองผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในขณะนั้น เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้งในเรื่องการกำหนดอัตราโทษที่สูงเกินจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นวินิจฉัยว่าไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

แต่คำร้องในสองกรณีดังกล่าว ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงประเด็นการแก้ไขเพิ่มโทษประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 อันเป็นคำสั่งของคณะรัฐประหารที่มาจากยึดอำนาจหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และได้สิ้นอำนาจไปกว่าเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ยังถูกทำให้มีผลทางกฎหมายอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นก็ไม่ได้วินิจฉัยไปถึงประเด็นนี้แต่อย่างใด

.

X