ฟ้อง ม.112 จัสติน-ชูเกียรติ! คดีที่ 3 กรณีแปะกระดาษพร้อมข้อความบนรูปกษัตริย์ หน้าศาลฎีกา

15 มิ.ย. 64 – ที่ศาลอาญา “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ เข้ารายงานตัวต่อศาลตามนัดหมาย ในคดีที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 จากกรณีแปะกระดาษที่มีข้อความ ‘ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล!’ บนรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 บริเวณหน้าศาลฎีกา ในระหว่างการชุมนุม #ม็อบ20มีนา โดยเป็นการเข้ารายงานตัวครั้งที่ 2 หลังได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64 ก่อนได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 64 ศาลรับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1366 / 2564

ทั้งนี้ ในท้ายคำฟ้องอัยการได้คัดค้านหากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา อ้างเหตุผลว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม ศาลได้อนุญาตให้ใช้สัญญาประกันต่อเนื่องจากการประกันตัวในชั้นสอบสวน ทำให้ชูเกียรติไม่ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอีกครั้งในวันนี้   ก่อนศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 12 ก.ค. 64 เวลา 9.00 น.

คดีนี้ ชูเกียรติถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม ในวันที่ 22 มี.ค. 64 ช่วงยามวิกาล ก่อนนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหารวม 7 ข้อหา ที่ สน.ห้วยขวาง แม้ว่าท้องที่เกิดเหตุจะไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ สน.ดังกล่าวก็ตาม ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ขอศาลอาญาฝากขังผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ และคัดค้านการให้ประกันตัว โดยอ้างว่าชูเกียรติเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายแต่อย่างใด หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปอาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันอีก  ศาลจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ชูเกียรติถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ระหว่างการสอบสวนในคดีนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. จนถึงวันที่ 1 มิ.ย. 64 เป็นเวลาทั้งสิ้น 71 วัน หลังจากมีการยื่นขอประกันตัวชั่วคราวทั้งสิ้น 6 ครั้ง

ในระหว่างที่ถูกขังอยู่ที่เรือนจำ พนักงานสอบสวนได้เดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม กับชูเกียรติในฐานความผิด “ยุยงปลุกปั่น” ในขณะนั้นเอง ชูเกียรติเป็นหนึ่งในผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ได้รับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จนหายแล้ว 

 

เปิดคำฟ้อง 7 ข้อหา “หมิ่นกษัตริย์-ยุยงปลุกปั่น-ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่” เหตุชุมนุมวันที่ 20 มี.ค. 64

พนักงานอัยการบรรยายฟ้องรวม 22 หน้า ระบุว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิด 2 กรรม ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 20 – 21 มี.ค. 64 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง มีผู้ชุมนุมประมาณ 500 คน เดินทางมาร่วมชุมนุมที่บริเวณถนนราชดำเนินใน เพื่อขับไล่รัฐบาลตามที่ “กลุ่มรีเดม” ได้นัดหมายเอาไว้ อันเป็นการทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใด ๆ ที่แออัด ซึ่งมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยจำเลยและพวกไม่ได้จำกัดทางเข้า – ออก และไม่ได้จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัย หรือเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ทั้งไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 อาทิ ไม่มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์, ตรวจวัดอุณหภูมิ หรือการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มีอาการไข้ ไอ จาม

จำเลยและพวกยังได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย และกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยระหว่างการชุมนุมดังกล่าว  เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนามมาตั้งตลอดแนว พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน เพื่อกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในเขตสนามหลวงและเขตพระราชฐาน จำเลยและพวกได้ร่วมกันด่าทอ ตำหนิ โห่ไล่ รื้อรั้วลวดหนามตาข่ายบนตู้คอนเทนเนอร์ ใช้แก๊สตัดเหล็กรื้อโครงออก เพื่อทำกิจกรรมร่อนจรวดกระดาษ ฉีดสเปรย์ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ และใช้เชือกดึงตู้คอนเทนเนอร์ลงมาเพื่อเปิดทางให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในเขตหวงห้าม การใช้หนังยางด้ามจับยิง หรือขว้างปา ลูกแก้วทรงกลม พลุควัน ฝาโลหะ อุปกรณ์โลหะ พลาสติกทรงกลม ประทัดยักษ์ก้อนหิน ขวดแก้ว และของแข็งต่าง ๆ ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน อันเป็นการกระทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

อัยการบรรยายพฤติการณ์คดีต่อว่า หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้สั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่จำเลยและพวกไม่เลิกกระทำการดังกล่าว และได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยเมื่อเคลื่อนขบวนไปถึงแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ใช้หนังยางด้ามจับยิงหรือขว้างของแข็งต่าง ๆ ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเหตุให้ พ.ต.ต. สมบัติ ดำกำเนิด, ร.ต.อ. เฉลิมพงษ์ ตระกูลชาวท่าโขลง, ส.ต.อ. อานนท์ แสงกุล เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บ 

2. ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดไม่ได้”

ต่อมาในวันที่ 20 มี.ค. 64 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยได้ใช้เท้าเหยียบบนฐานที่วางติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และนำกระดาษที่มีคำว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ไปติดบริเวณพระศอของพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจได้ว่า พระองค์เป็นถังขยะสำหรับทิ้งสิ่งปฏิกูล ของเสีย ของเน่าเหม็น อันเป็นของสกปรก เป็นที่น่ารังเกียจ หรือเป็นตัวแทนของความไม่ดี ไม่มีประโยชน์ ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง 

โดยจำเลยมีเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์ และเจตนายุยงปลุกปั่นให้ผู้ร่วมชุมนุมล้มล้างหรือต่อต้านสถาบันกษัตริย์ อันเป็นการก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน จนประชาชนที่มาร่วมชุมนุมได้ทิ้งขยะ และฉีดสีสเปรย์ที่บริเวณหน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ทั้งยังมีการเผาทำลายฐานที่วางพระบรมฉายาลักษณ์ อันเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ และต่อกษัตริย์

อัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายดังนี้

  1. “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 
  2. “กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน อันมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
  3. “ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215
  4. “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุม ตามมาตรา 215 แล้วไม่เลิก” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216
  5. “ร่วมกันต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และ 140
  6. “ร่วมกันทำร้ายเจ้าหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และ 296
  7. ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในท้ายคำฟ้อง อัยการได้ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในอีก 5 คดี ได้แก่ คดี มาตรา 116 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ของศาลอาญา, คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #ม็อบ29ตุลา ที่ทําการสํานักข่าวเนชั่น และ #ม็อบ1พฤศจิกา บริเวณแยกอุดมสุข ของศาลอาญาพระโขนง, คดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎร์ประสงค์ ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และคดีมาตรา 112 จากการปราศรัย #ม็อบ6ธันวา วงเวียนใหญ่ ของศาลอาญาธนบุรี  

      ดูข้อมูลคดีนี้>> ชูเกียรติ คดี 112 ติดกระดาษบนรูป ร.10 ชุมนุม 20 มีนา

นับตั้งแต่นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 63 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 100 ราย ใน 97 คดี โดยคดีแปะกระดาษที่รูปถ่ายกษัตริย์รัชกาลที่ 10 เป็นนับเป็นคดีที่ 4 ที่ชูเกียรติถูกกล่าวหาว่ากระทำการเข้าข่าย “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และเป็นคดีที่ 3 ที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาล หลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 64 อัยการได้ยื่นฟ้องในคดีการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา บริเวณวงเวียนใหญ่ และเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 64 อัยการยื่นฟ้องในคดีการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎร์ประสงค์ หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

     >> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

 

X