“เขาสู้ด้วยจิตวิญญาณ”: สนทนากับพี่สาว “จัสติน ชูเกียรติ” จากหนุ่มช่างสักถึงเสื้อครอปท็อปคู่ใจ

ชายหนุ่มวัย 30 ปี ที่กำลังขึ้นปราศรัยด้วยจังหวะเว้นวรรคกำลังพอดี ฟังได้เรื่อยๆ อย่างสบายหู ปรากฏตัวในชุดเสื้อครอปท็อป กางเกงวอร์มสีแดง และผ้าคาดหัว ดูแปลกตาจากแนวร่วมราษฎรคนอื่นๆ ดูไปแล้วก็คล้ายกับการลุคหนึ่งที่หลายคนจำได้ดีของ “จัสติน บีเบอร์” ศิลปินวัยรุ่นต่างประเทศชื่อดัง

ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงพากันตั้งสมญานามให้เขาอย่างมีอารมณ์ขันว่า “จัสตินเมืองไทย” น้อยคนนักที่จะรู้ว่าจริง ๆ แล้วชื่อเล่นของเขานั้นคือ “นุ๊ก” หรือ ชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรมอารมณ์ดีจากสมุทรปราการ ซึ่งกลายเป็นผู้ต้องหามาตรา 112 ในคดีแปะกระดาษบนรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ของกลุ่ม “REDEM” ซึ่งทำให้เขาถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเป็นเวลากว่า 70 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2564

ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของราษฎรในช่วงปี 2563 ชูเกียรติกลายเป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยและผู้ชุมนุมที่มีคาแรคเตอร์โดดเด่น ซึ่งนำไปสู่การถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เขาถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองไปแล้วรวม 12 คดี โดยเป็นคดีตามมาตรา 112 ถึง 4 คดีแล้ว 

คนทั่วไปมักจะรู้เพียงว่าเขาชื่อ “จัสติน” ไม่ค่อยมีใครรู้อะไรไปมากกว่านี้ ส่วนหนึ่งนั้นก็เป็นเพราะเขาไม่อยากให้ตัวเองเป็นที่รู้จักมากนัก หลายต่อหลายครั้งที่เขาปฏิเสธการให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ต้องการให้มวลชนรู้จักเขาดีกว่านี้  ไม่พ้นแม้กระทั่งแกนนำรุ่นใหญ่อย่าง “จตุพร พรหมพันธุ์” เขาเองก็เคยปฏิเสธร่วมวงสนทนาที่จตุพรเชื้อเชิญมาแล้ว 

ชวนรู้จัก “ชายหนุ่มอารมณ์ดีกับเสื้อครอปท็อปคู่ใจ” มากยิ่งขึ้น ผ่านบทสนทนาของ “เดียนา” พี่สาวต่างสายเลือดของชูเกียรติ แม้เธอมักจะอธิบายถึงความสัมพันธ์ให้คนอื่นฟังแบบพูดไปทีว่า เธอเป็น “พี่สาวที่ชูเกียรติเคยทำงานให้” แต่จริงๆ เธอรักและเอ็นดูเขามากเสมือนน้องชายจริงๆ คนหนึ่งมากว่า 10 ปี ตั้งแต่ชูเกียรติเสียแม่ไป ก็มีเพียงเดียนาคอยดูแล สวมบทเป็นทั้งพี่สาว ผู้ปกครอง และคุณครู 

เธอคนนี้มีส่วนสำคัญที่ปลุกปั้นให้ “จัสติน” ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ปราศรัยและผู้นำอย่างทุกวันนี้ และให้ตายยังไงเธอก็สัญญาจะไม่ทิ้งน้องชายคนนี้ของเธอไปไหนเด็ดขาด

 

 

“10 กว่าปีแล้วนะที่ดูแลนุ๊กมาในฐานะพี่น้อง”

 

“นูรเดียนา” หรือ “เดียนา” พี่สาวของชูเกียรติเดินทางมาพูดคุยกับเรา ในชุดฮิญาบมิดชิดตั้งแต่หัวจรดเท้า แม้เธอจะเดินทางมาไกลนานเกือบชั่วโมง แต่เธอก็ปฏิเสธที่จะจิบน้ำที่เราจัดไว้ต้อนรับ 

“พี่ดื่มน้ำไม่ได้นะคะ ถือศีลอดอยู่ ปกติเดือนรอมฎอนพี่จะต้องกลับบ้านที่ปัตตานี ไม่ก็กลับรีสอร์ตที่ภาคเหนือเพื่อไปถือศีลอด แต่เพราะนุ๊กนี่แหละ พี่เลยยังต้องอยู่กรุงเทพฯ” 

ตั้งแต่จัสตินถูกจับกุมไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 64 เดียนาก็วิ่งวุ่นกับการขึ้นศาลและยื่นประกันตัวหลายครั้งจนต้องพำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ กว่าสองเดือนแล้ว 

“จริงๆ แล้วพี่เป็นคนใต้ บ้านอยู่จังหวัดปัตตานี แต่ได้เข้ามาทำธุรกิจที่กรุงเทพฯ เลยได้มารู้จักกับครอบครัวของนุ๊ก เขาเป็นลูกคนเดียว ตอนที่เรารู้จักกันนุ๊กยังเรียนอยู่ชั้นมอปลาย พอเรียนจบปริญญาตรี คุณแม่เขาก็มาเสียพอดี พี่เลยเข้ามาดูแลด้วยความเป็นห่วง พี่ชวนนุ๊กให้มาช่วยงานที่รีสอร์ตของพี่ที่ภาคเหนือ ทำงานคอยต้อนรับแขก ดูแลงานทั่วไป จะ 10 ปีแล้วนะที่ดูแลนุ๊กมาในฐานะพี่น้อง

“ส่วนพ่อจริงๆ ของเขาอยู่ที่บ้านจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งสองคนไม่ค่อยได้คุยกันเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งก็เพราะมีทัศนคติทางการเมืองที่ต่างกัน แต่พี่ก็โทรคุยกับพ่อเขาตลอดนะ เขาก็ไม่ได้ทอดทิ้งนุ๊กไปไหน”

ถึงแม้ทั้งสองคนจะไม่ใช่พี่น้องคลานตามกันมา แต่เดียนาก็ดูแลจัสตินเสมือนเป็นคนในครอบครัวคนหนึ่ง 

“เขามีโรคประจำตัวเป็นโรคภูมิแพ้ จะมีน้ำมูก หายใจไม่ออกเหมือนเป็นหวัด แต่เขาก็ยังดื้อเอาแมวมาเลี้ยง มันชื่อว่า ‘เจ้าดำ’ ไม่รู้เขาไปเก็บที่ไหนมาเลี้ยงเขายังพูดอยู่เลยนะว่า ‘กลับออกไปจะได้เจอเจ้าดำแล้ว’ แหม เจ้าดำนี่แหละตัวดี ทำให้ภูมิแพ้กำเริบ พี่เป็นห่วงเลยขอเขาว่าเอาไปให้คนอื่นเลี้ยงได้ไหม ตอนนี้รู้สึกเหมือนเขาจะเอาไปให้เพื่อนเลี้ยงแล้วนะ 

“ครั้งหนึ่งเขาโทรหาบอกว่า หายใจไม่ออก พี่เลยบอกให้เขาลองเปิดแอร์ให้อากาศได้ระบาย ไหนลองพ่นยาดูก่อน ถ้าไม่ไหวก็ไปโรงพยาบาล หลังจากนั้นมาก็บอกให้เขาเลิกกินน้ำอัดลมเย็นๆ ไม่ต้องกินน้ำแข็ง ให้อาบน้ำอุ่น พี่ก็ให้เขาไปซื้อเครื่องดูดฝุ่นมาทำความสะอาดโซฟา ที่นอน พี่ดูแลเขาถึงขนาดนั้นนะ ตอนนี้เขาอยู่ในเรือนจำราชทัณฑ์ ก็บอกว่าให้ยาพ่นนุ๊กเป็นประจำอยู่ พี่เลยไม่รู้สึกห่วงเท่าไหร่”

 

 

“อิสรภาพของผมไม่รู้จะมีถึงวันไหน”

 

“เขาเคยบอกพี่นะว่า ‘พี่ ถ้านุ๊กพ้นคดีแล้ว นุ๊กสัญญาว่านุ๊กจะขึ้นมาอยู่บนดอย (รีสอร์ตของเดียนาที่ภาคเหนือ) จะไปเป็นครูช่วยสอนหนังสือให้เด็กชาติพันธุ์บนดอย’ พี่ก็ยินดีนะ พี่ก็เตรียมการรอเขาไว้ ตั้งใจว่าจะซื้อรถมอเตอร์ไซต์ให้เขา 1 คัน ซึ่งก็ไปจองที่ร้านไว้เรียบร้อยแล้วล่ะ ตั้งใจไว้ว่าจะให้เป็นของขวัญในวันเกิดเขา แต่ก็มาโดนจับซะก่อน 

“นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว อีกสิ่งที่เขารักเหมือนกันก็คือการเล่นดนตรี นุ๊กเขาเลือกเรียนทางดนตรีมา เขาชอบมาก โดยเฉพาะการตีกลอง เขาจะไปเล่นในงานเพื่อการกุศลของมูลนิธิต่างๆ งานไหนเขาก็ไปหมดแหละ แค่ขอให้บอกมา 

“ถึงเขาจะดูเพี้ยนๆ แบบนี้ แต่เป็นคนละเอียดอ่อนมาก ชอบปลูกต้นไม้ มีอยู่หลังห้องเต็มไปหมด ก่อนจะถูกจับเขายังบอกพี่ว่า ‘ถ้าผมถูกจับแล้ว ใครจะรดน้ำต้นไม้ให้ผม’ ดีนะตอนนี้ไม่มีแมวให้เป็นห่วงอีกตัว (หัวเราะ) 

“อีกอย่างเขาชอบการสัก ไปเรียนสักจริงจัง ขอพี่ซื้อเครื่องมือสัก พี่ก็สนับสนุนนะ เขาจะได้เก่ง พี่ก็บอกนะว่า ถ้าสนใจการสักแบบนี้ต้องไปเอาดีที่ต่างประเทศนะ เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมเอาไว้ก็ดี เขาตอบพี่มาว่า ‘อิสรภาพของผมไม่รู้จะมีถึงวันไหน’ อีกอย่างโดนคดีแบบนี้แล้ว ก็คงจะออกไปนอกประเทศได้ลำบากแล้ว”

 

“ชุดคู่ใจ”   

 

“ตั้งแต่แม่เขาเสีย เขาก็เก็บตัวเอาแต่อ่านหนังสืออยู่ในห้อง โดยเฉพาะพวกหนังสือการเมือง ประชาธิปไตย สังคม ยิ่งอ่านเยอะก็ยิ่งทำให้เขารู้เยอะ พอเรียนจบมหาลัยทีนี้ความคิดของเขาชัดเจนเลยว่า ‘จะให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้’ แรกๆ ก็เริ่มจากไปนั่งฟังคนอื่นปราศรัยในจังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นก็เริ่มจัดเป็นงานเสวนาขนาดย่อมๆ ขึ้นมา มวลชนก็ค่อยๆ รู้จักนุ๊กในฐานะนักกิจกรรมคนหนึ่ง

“นุ๊กจะเป็นคนที่ไม่ชอบออกสื่อ พอขึ้นปราศรัยเสร็จ เขาก็จะไปนั่งกินอาหารรถเข็นตามฟุตบาทตามสไตล์ของเขาด้วยชุดคู่ใจนั่นแหละ พี่ก็เคยถามเขาว่า ‘ทำไมถึงอยากใส่ชุดนี้’ ‘ผมว่ามันเท่ดี’ เขาตอบแค่นี้เลย 

“‘แล้วคิดว่าหล่อเหรอ’ พี่ถามอีก ‘ไม่หรอกพี่ ผมอยากให้รู้ว่าทุกคนรู้มีสิทธิในการแต่งตัว’ ‘แต่นุ๊กต้องแต่งแบบนี้ไปขึ้นรถไฟฟ้านะ ไม่อายเหรอ’‘คนอื่นเขาก็มองว่ามันแปลกมันนะ แต่ผมไม่แคร์’”

“ชุดคู่ใจเขา” เดียนาพูดย้ำพลางแสยะยิ้ม 

“เวลาเขาใส่เสื้อครอปท็อป กางเกงวอร์ม พร้อมผ้าคาดหัวไปม็อบ เขาก็จะบอกว่า ‘พี่ วันนี้ผมจะไปม็อบพร้อมชุดคู่ใจของผมนะ’ พูดว่าชุดคู่ใจพี่ก็จะรู้แล้วว่า อ๋อ ‘ชุดคู่ใจ’ (หัวเราะ)

“พี่ก็ไม่ได้ห้ามเขานะ พี่เองก็มีความสุขเวลาที่เขามีความสุข พี่ก็มีแซวไปบ้างว่า ‘ชุดคู่ใจเนี่ยก็อย่าไปใส่ให้มันบ่อยมาก ใส่ชุดธรรมดาไปบ้าง เพราะเวลาเกิดอันตราย ชุดเรามันล่อเป้าที่สุดเลยนะ’ (หัวเราะ) เขาก็ตอบกลับมาแบบติดตลกว่า ‘ผมยอมตาย’
 “ช่วงหลัง ๆ เขาก็เริ่มใส่ชุดธรรมดาไปม็อบบ้างแล้วนะ แต่ก็ยังสะพายชุดคู่ใจติดกระเป๋าไปด้วยตลอด”

 

“เวลาที่เขาขึ้นปราศรัย เขาจะเป็นคนที่พูดเข้าใจมาก”

 

“นุ๊กจะชอบมาบ่นเรื่องปัญหาสังคมให้ฟังว่า ทำไมทุกวันนี้สังคมเป็นแบบนี้ ทำไมมันเหลื่อมล้ำ เราก็จะคอยรับฟังเขา ซึ่งเวลาพูด เขาจะไม่โวยวาย ไม่หยาบคาย พูดด้วยเหตุผล 

“สังเกตจากเวลาที่เขาขึ้นปราศรัย เขาจะเป็นคนที่พูดเข้าใจมาก อาจจะเพราะเขาคบกับคนทุกชนชั้น ทุกระดับ เลยเข้าใจถึงปัญหาสังคมที่หลากหลาย แม้กระทั่งเด็กแว้น เขายังเคยดึงมารวมกลุ่มกันไปช่วยเหลือเด็กพิการ  

“เขามีความเป็นผู้นำมาแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่สวนทางกับนิสัยที่จะชอบเก็บตัว จนได้เข้าร่วมกิจกรรมกับคณะราษฎรนี่แหละ ถึงได้ดูร่าเริงขึ้นมาก เหมือนว่าชีวิตเขามีความหวังให้อยู่ต่อไป

“พี่เคยไปฟังนุ๊กปราศรัยด้วยนะ การพูดของเขาฟังแล้วรื่นหู เพราะเขาจะไม่ใช้อารมณ์ในการพูด เพราะพี่เองจะคอยบอกตลอดว่า เวลาขึ้นพูดอย่าตะโกน คนฟังเขาจะไม่รู้เรื่อง ถ้าคนที่เขาตั้งใจฟังจริงๆ เขาจะฟังในเนื้อหา แล้วไม่ต้องพูดยาว ต้องพูดให้กระชับ

“ที่แนะนำได้เพราะเราก็เป็นนักพูดคนหนึ่ง สมัยชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 53 พี่เคยเขียนบทปราศรัยให้นักกิจกรรมหลายคนได้ขึ้นพูดบนเวที เลยใช้ประสบการณ์ตรงนั้นมาแนะนำเขา ถ้าวันไหนพี่ไม่ได้ไปฟังเขาปราศรัยด้วยตัวเอง พี่ก็จะมานั่งดูคลิปวิดีโอที่อัดไว้ เพื่อหาว่าควรปรับปรุงจุดไหนบ้าง”

“การต่อสู้ทุกวันนี้ ถามว่าพี่ใช่นักสู้ไหม” เธอพูดด้วยท่าทีหนักแน่น

“พี่ร่วมต่อสู้มาตั้งแต่สมัย นปก. ปี 50 ก่อนที่จะมี นปช. อีก เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง พฤษภา ปี 53 พี่ก็เข้าร่วมด้วย เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นตรงหน้าในตอนนั้น มีการสูญเสียเกิดขึ้นมากมาย หลายคนที่เสียชีวิตก็เป็นคนใกล้ตัวพี่นี่แหละ ตอนนั้นยังจำได้ อยู่ดีๆ คนข้างๆ ก็ถูกยิงตายแล้ว กลัวมาก ยังรู้สึกหลอนมาจนถึงทุกวันนี้ 

“ตอนนี้ยังดีนะที่เด็กเปิดใจ ถ้าเป็นตอนนั้นไม่ได้เลย เราถูกโจมตี ถูกกล่าวหาสารพัดนักศึกษาเกลียดเรามาก ถ้านักศึกษาออกมาช่วยเราเหมือนทุกวันนี้ มันคงจะดีนะ”

 

“เราถือว่านี่เป็นเกียรติยศของเขา” 

 

“ภูมิใจในตัวน้องชายไหม” เราถาม

“แน่นอน พี่ภูมิใจ” เธอตอบเสียงดังพร้อมเบิกยิ้มกว้าง “ถึงการที่เขาถูกจับไปพี่จะรู้สึกทุกข์ใจ แต่พอได้คุยกับเพื่อนหลายๆ คนแล้ว เราถือว่านี่เป็นเกียรติยศของเขา เพื่อนพี่บอกว่า อย่าไปสงสาร เราต้องภูมิใจ เขาเลือกเดินเส้นทางนี้แล้ว เราเองก็รู้ดีว่าเส้นทางนี้เขาต้องเจอกับอะไรบ้าง เจอทั้งน้ำร้อน น้ำเย็น กำลังใจนี่แหละสำคัญมากๆ สำหรับพวกเขาในตอนนี้ 

“อย่างเดียนาเป็นพี่ของเขา จะมาร้องไห้ฟูมฟายให้น้องรู้สึกว่าเราเป็นทุกข์ไม่ได้ และน้องเองก็ต้องทำให้เข้มแข็งด้วยเหมือนกัน อย่าอ่อนแอ

“เขาเองก็ทำใจแล้วตั้งแต่วันที่ตัดสินใจออกมาสู้ ว่ายังไงก็ต้องมีสักวันที่ต้องโดนแบบนี้ แต่ตอนนี้อยากให้เขาได้รับอิสรภาพก่อน ให้มีโอกาสออกมาต่อสู้เรื่องคดี ส่วนจะแพ้ ชนะ หรือจะถูกตัดสินจำคุก เรื่องนั้นให้เราได้มีเวลาทำใจ ได้วางแผนอีกที เราไม่ทอดทิ้งเขาอยู่แล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

 

“คิดว่านุ๊กรักมวลชนมากกว่าพี่ด้วยซ้ำไปนะ”

 

“เขาอยู่ข้างในนั้น เขาก็ฝากทนายมาบอกพี่ตลอดนะว่า ‘ไม่ต้องเป็นห่วงผม ผมยังไหว ไม่นานคงได้ออกไป’ ถึงอย่างนั้น เราก็ยังเป็นห่วงเขา เพราะเรายังมองเขาเป็นเด็กคนหนึ่งเสมอ เป็นห่วงสภาพจิตใจของเขา ตอนอยู่ข้างนอกความสุขของเขาจะมีแค่สอง คือ การที่ได้ไปม็อบและการได้ช่วยเหลือคนอื่น นุ๊กไม่เคยทำอะไรเพื่อตัวเขาเองเลย ปกติคนอายุเท่านี้ เขาต้องมีครอบครัว มีแฟน ต้องหาความสุขให้ตัวเอง”

“พี่คิดว่านุ๊กรักมวลชนมากกว่าพี่ด้วยซ้ำไปนะ” (หัวเราะ) 

“เวลาเขาจะไปม็อบ พี่จะบอกว่า ‘ให้ใส่รองเท้าผ้าใบไป จะได้วิ่งหนีทัน’ แต่ถึงเขาจะใส่รองเท้าผ้าใบ เขาก็ออกจากพื้นที่ชุมนุมช้าตลอด เพราะคอยแต่จะช่วยเหลือมวลชน ครั้งหนึ่งเราดูข่าวว่าจะมีการสลายการชุมนุม เราก็เลยโทรไปถามว่า ‘กลับหรือยัง รีบออกมานะ’ เขาก็บอกว่า ‘ผมวิ่งแล้วครับ แต่ต้องไปช่วยคนอื่นก่อน จะเสียเวลาก็เพราะพี่โทรมานี่แหละ’ อ้าว มาดุเราซะงั้น” (หัวเราะ) 

“นี่แหละ ถึงบอกว่าเขารักมวลชนมากกว่าพี่อีก อยากให้มวลชนรู้ว่านุ๊กเขาสู้โดยที่ไม่หวังอะไรเลย ไม่เรียกร้องอะไรเลย เขาสู้จริงๆ สู้ด้วยจิตวิญญาณ” เดียนาพูดส่งท้ายพร้อมเบิกยิ้มกว้าง

 

 

X