29 มิ.ย. 2566 วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส. จ.นครราชสีมา เขต 3 พรรคเพื่อไทย, จักรวุธ ไตรวัลลภ, นะโม สุขปราณี ประชาชนชาว จ.นครราชสีมา และภัทรกาญจน์ ทองแดง สมาชิกพรรคก้าวไกล จ.นครราชสีมา เดินทางไปที่ศาลแขวงนครราชสีมา เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา จากกิจกรรมคาร์ม็อบโคราช เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564
ภาพจากสำนักพิมพ์ข่าวสด
ย้อนไปเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 ศาลแขวงนครราชสีมา ได้อ่านคำพิพากษา สรุปได้ว่า วัฒนะชัย, จักรวุธ และนะโม ที่ให้สารภาพไปก่อนการสืบพยาน มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2), พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/2564 ข้อ 10 วรรคหนึ่ง ปรับคนละ 10,000 บาท ทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 5,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องภัทรกาญจน์
ก่อนที่พนักงานอัยการจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำมาสู่การนัดฟังคำพิพากษา
อัยการอุทธรณ์ระบุ จำเลยที่ 4 ร่วมชุมนุมถือป้ายวิจารณ์รัฐบาล เป็นการแบ่งหน้าที่กันในการจัดชุมนุม – จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยต่อผลกระทบในวงกว้าง ถือเป็นความผิด
ชูเกียรติ กมลเฉลา อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 3 ยื่นอุทธรณ์ลงวันที่ 19 ก.ย. 2565 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 และยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ด้วยเหตุผลดังนี้
ประเด็นความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต
ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/2564 ไม่ได้กำหนดบทนิยามสำหรับการเป็นผู้จัดชุมนุมไว้โดยเฉพาะ ทั้งในขณะเกิดเหตุเป็นช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น บทนิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จึงไม่อาจนำมาปรับใช้กับคดีนี้ได้ อีกทั้ง ความผิดฐานนี้มีโทษทางอาญา การตีความความหมายการเป็นผู้จัดชุมนุมจึงต้องกระทำอย่างเคร่งครัด เมื่อพยานโจทก์เบิกความว่า พบเห็นจำเลยที่ 4 ถือป้ายแสดงข้อความวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเท่านั้น โดยไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงสนับสนุนให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมชุมนุมอย่างไร พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการชุมนุม ดังนั้น จึงไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้อง นั้น
โจทก์ไม่เห็นด้วย โดยโจทก์เห็นว่าข้อกำหนดฯ หรือคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา เป็นกฎหมายที่ผ่านกระบวนการตราโดยฝ่ายบริหาร มีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชน ไม่ใช่กฎหมายอาญา การตีความจึงต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยต้องมุ่งคุ้มครองประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก นอกจากนั้นยังจะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างประโยชน์ของรัฐกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ดังนั้นพฤติการณ์ในทางคดีหรือแผนประทุษกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุมย่อมชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้งสี่ว่า มีการนัดแนะวางแผน และทำงานกันเป็นกลุ่ม มีการแบ่งหน้านี้กันทำ กรรมจึงเป็นเครื่องชี้เจตนาโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสี่เป็นผู้จัดการชุมนุมและมีเจตนาในการเข้าร่วมชุมนุมดังกล่าวอย่างแท้จริง การใช้ดุลพินิจรับฟังพยานของศาลชั้นต้นในประเด็นข้อนี้จึงคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายดังกล่าว
โดยเฉพาะพยานโจทก์ปาก ธงชัย และ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ ก็เบิกความสอดคล้องกันว่า มีการชุมนุมวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อยู่บนรถติดตั้งเครื่องขยายเสียง กล่าวปราศรัยแก่ผู้ชุมนุม ประมาณ 200 คน จำเลยที่ 4 ถือป้ายแสดงข้อความวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล จำเลยทั้งสี่ย่อมรู้อยู่แก่ใจถึงการกระทำของตนว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย จำเลยที่ 4 ก็ร่วมจัดกิจกรรมชุมนุมบ่อยครั้ง และเป็นผู้ประสานของพรรคอนาคตใหม่ด้วย พยานโจทก์ทุกปากเป็นคนกลาง ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสี่มาก่อน
ประเด็นความผิดฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ไม่ได้ให้นิยามคำว่า “ความเสี่ยงต่อการแพร่โรค” ไว้ จึงต้องแปลความหมายตามพจนานุกรมฯ คำว่า “เสี่ยง” หมายความว่า มีโอกาสจะได้รับทุกข์หรืออันตราย เมื่อพิจารณาภาพถ่ายขณะเกิดเหตุแล้วพบว่า แม้จะมีบุคคลเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก บางคนยืนอยู่ใกล้ชิดกัน บางคนสวมหน้ากากอนามัยไม่เหมาะสม แต่สถานที่ชุมนุมเป็นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแม้มีภาพจำเลยที่ 1 ไม่สวมหน้ากากอนามัย ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 สวมใส่อย่างไม่เหมาะสม ยืนอยู่บนรถติดตั้งเครื่องขยายเสียง แต่บุคคลรวมทั้งผู้ฟังการปราศรัยส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ปรากฏภาพว่า จำเลยที่ 4 สวมหน้ากากอนามัยขณะถือป้าย แสดงให้เห็นว่า กลุ่มบุคคลผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่างระมัดระวังตนเองโดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา อาจมีบางช่วงเวลาเท่านั้นที่สวมใส่หน้ากากอนามัยไม่เหมาะสม ก็เพื่อดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารซึ่งเป็นเวลาไม่นานนัก
ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า ภายหลังเกิดเหตุมีผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมทำกิจกรรมหรือไม่ อย่างไร พฤติการณ์ดังกล่าวจึงยังไม่ถึงขนาดที่จะรับฟังได้ว่า การจัดกิจกรรมชุมนุมตามฟ้องเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 ไปในวงกว้าง อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดไปในวงกว้าง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย นั้น
โจทก์ไม่เห็นด้วย โดยโจทก์เห็นว่าพยานปาก นพ.ชาญชัย ให้การยืนยันว่า หากมีการพูดคุยกันหรือพ่นละอองฝอยใส่กันในระยะใกล้ อาจติดเชื้อไวรัสได้ภายใน 5 นาที โดยเฉพาะหากผู้ติดเชื้อไม่สวมหน้ากากอนามัย ประกอบกับ ธงชัย และ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ ก็เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1-3 ขึ้นปราศรัยไม่ได้สวมหน้ากาก และผู้เข้าร่วมชุมนุมใส่หน้ากากไม่เหมาะสม สถานที่ชุมนุมไม่มีการตรวจคัดกรอง ไม่จัดให้มีเจลแอลกอฮอลล์ ไม่มีผู้จัดระเบียบเว้นระยะห่างตามคำสั่งจังหวัด เห็นได้ชัดว่าพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ เพิกเฉยและไม่ได้ใส่ใจต่อผลกระทบของการชุมนุมในวงกว้าง กรณีจึงมีพยานหลักฐานโดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นการร่วมกันชุมนุมมั่วสุมและฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ในลักษณะการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19
คำอุทธรณ์ระบุอีกว่า ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคด้วย และพิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 4 มีความผิดตามฟ้องของโจทก์ และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในอีกคดีของศาลนี้
.
ต่อมา จำเลยทั้งสี่ก็ได้ทำคำแก้อุทธรณ์ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ระบุว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ผิดฐาน ‘ร่วมกันชุมนุมมั่วสุม เสี่ยงต่อการแพร่โรค’ แต่ยกฟ้องในข้อหา ‘ร่วมกันจัดการชุมนุม’ ตามศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงวันที่ 18 พ.ค. 2566 มีใจความโดยย่อว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมตรวจสำนวนประชุมแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคด้วย และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดฐานนี้ตามฟ้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ในส่วนจำเลยที่ 4 พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 4 กระทำการอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม การที่จำเลยที่ 4 เพียงแต่ชูป้ายแสดงข้อความให้บุคคลที่เข้าร่วมการชุมนุมทั่วไปได้เห็น ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม จำเลยที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต
สำหรับความผิดฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โจทก์มีนายแพทย์ชาญชัย เบิกความว่า ผู้ร่วมชุมนุมไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือสวมใส่ไม่เหมาะสม และยืนชิดกันในระยะน้อยกว่า 2 เมตร ก็อาจเป็นสาเหตุให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ ธงชัยเบิกความว่า พยานหลักฐานโจทก์ปรากฏภาพถ่ายของจำเลยที่ 4 ยืนถือป้าย ผู้ร่วมชุมนุมยืนรวมกันเป็นกลุ่มไม่ได้เว้นระยะห่าง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขณะปราศรัยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ เบิกความว่า การชุมนุมไม่มีการตรวจคัดกรอง ไม่มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้บริการ ผู้ร่วมชุมนุมรวมกลุ่มแบบกระจุกตัว ไม่เว้นระยะห่าง มีการถอดหน้ากากอนามัยออกบ้างเพื่อทานน้ำหรืออาหาร เห็นว่า ตามภาพถ่ายที่พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า เป็นภาพถ่ายจำเลยที่ 4 โดยจำเลยไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงให้เห็นเป็นประการอื่นว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่ภาพตน
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 ได้เข้าร่วมการชุมนุม การทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 5 คน ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค อันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9, คำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/2564 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6),51 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสี่กระทำผิดฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อโรคตามฟ้อง
ส่วนการที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34, 51 มาด้วยนั้น เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องในลักษณะกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสี่กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป โดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ตามความแห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นการบรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสี่ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ปัญหาดังกล่าวศาลชั้นต้นไม่ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยจึงไม่ชอบ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2), 18 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), 51 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษปรับจำเลยที่ 4 เป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนโทษสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาที่ลงมือชื่อท้ายคำพิพากษาได้แก่ นพดล บุญไพศาลบันดาล, ประสาธน์ ธรรม์ทวีวุฒิ และรุ่งอรุณ หลินหะตระกูล
หลังศาลอ่านคำพิพากษา ภัทรกาญจน์จึงไปชำระค่าปรับ 10,000 บาท อดีตผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2553 ที่ปัจจุบันเป็นผู้ประสานพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์นี้ เหมือนเป็นการพิสูจน์คำที่เคยกล่าวไว้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามรวมกลุ่ม มีไว้เพียงปราบปรามการชุมนุมเสียเป็นส่วนใหญ่ และรู้สึกได้ว่าศาลลงโทษหนักเกินไป แต่ก็ยอมรับผลคำพิพากษา แม้ในใจจะยืนยันคัดค้านว่า ไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา และคงต่อสู้คดีต่อไปถึงชั้นฎีกา เพราะไม่คิดว่าโทษที่ได้รับจะรุนแรงขนาดนี้
ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมทางการเมืองฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมอย่างน้อย 5 คดี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งหมด ก่อนอัยการยื่นอุทธรณ์ทุกคดี
สรุป 4 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โคราช ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันชุมนุมที่เสี่ยงแพร่โรคและให้ลงโทษปรับไป 3 คดี
๐ คดี “คาร์ม็อบโคราช ไล่เผด็จการ” 23 ก.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นจำเลยทั้งสอง วรัญญู คงสถิตย์ธรรม และมกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2), พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยทั้งสองฐาน ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ปรับคนละ 2,000 บาท และพิพากษายกฟ้องเมธานุชยืนตามศาลชั้นต้น
๐ คดีสาดสีประณามตำรวจหน้าตำรวจภูธรภาค 3 7 ส.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องวรัญญูและมกรพงษ์ยืนตามศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
๐ คดีคาร์ม็อบโคราช 1 ส.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ 2 จำเลย วรพงษ์ โสมัจฉา และกฤติพงศ์ ปานสูงเนิน มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2), พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยทั้งสองฐาน ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ปรับคนละ 2,000 บาท ส่วนจำเลยที่ให้การรับสารภาพให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น
๐ คาร์ม็อบโคราช 15 ส.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ภัทรกาญจน์ มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2), พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยฐาน ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ปรับ 10,000 บาท ส่วนจำเลยที่ให้การรับสารภาพให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ดี มีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์คือ “โคราษฎร์ปฏิวัติ Car Mob and Mini Market” ของกลุ่ม Korat Movement เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 คาดว่าจะมีการนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในภายหลัง