ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ คดีคาร์ม็อบโคราช 1 สิงหา ลงโทษปรับ 2 จำเลยคนละ 2 พัน ชี้ร่วมชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิด ไม่ต้องคำนึงว่า ‘เสี่ยง’ มากน้อยเพียงใด 

วันที่ 13 มี.ค. 2566 วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์, วรพงษ์ โสมัจฉา, กฤติพงศ์ ปานสูงเนิน และบริพัตร กุมารบุญ เดินทางไปศาลแขวงนครราชสีมา ในนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา จากกิจกรรมคาร์ม็อบโคราช วันที่ 1 ส.ค. 2564 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องวรพงศ์และกฤติพงศ์ ส่วนวัฒนะชัยและบริพัตรที่ให้การรับสารภาพ ศาลยกฟ้องฐานร่วมกันชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค แต่ลงโทษฐานร่วมกันจัดการชุมนุมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 5,000 บาท

ทั้งนี้ คำพิพากษายกฟ้องของศาลแขวงนครราชสีมา มีสาระสำคัญว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มี น้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจําเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้จัดการชุมนุม และแม้การเข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุมีโอกาสได้รับอันตรายหรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อก็ตาม แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในวงกว้างอันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง 

ก่อนหน้านี้อัยการได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยที่ 1 วัฒนะชัย  และจำเลยที่ 4 บริพัตร มีความผิดฐานร่วมกันชุุมนุม มั่วสุม ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ส่วนจำเลยที่ 2 วรพงษ์ และจำเลยที่ 3 กฤติพงษ์ มีความผิดตามฟ้อง และพิพากษาลงโทษจำคุกและปรับจำเลยทั้งสี่ตามกฎหมายด้วย ซึ่งจำเลยทั้งสี่ก็ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ ยืนยันตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 

>>จับตา! คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีคาร์ม็อบโคราช1สิงหา หลังอัยการอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้อง ด้านจำเลยยืนยัน เพียงร่วมชุมนุม-ระวังการแพร่โควิดแล้ว

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 เมื่อจำเลยทั้ง 4 ราย เดินทางไปถึงครบในช่วง 11.00 น. กบินทร์ เอกปัญญาสกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงนครราชสีมา อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่มี สุนันทา ผดุงเกียรติวงศ์, วิวุฒิ มณีนิล และสุทธิมาลย์ วิริยะการุณย์ แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เป็นองค์คณะผู้พิพากษา มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงโควิด -19 ระบาด จำเลยที่ 1 และที่ 4 จัดให้มีการชุมนุมรวมกลุ่มกัน โดยจำเลยทั้งสี่เข้าร่วมชุมนุมบริเวณลานจอดรถหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ในส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต คู่ความไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ไม่มีหลักฐานว่า จำเลยที่ 2, 3 ริเริ่มโพสต์ชวนในเฟซบุ๊ก ลำพังการปราศรัยชวนชุมนุมไม่พอฟังได้ว่า เป็นผู้จัดการชุมนุม

มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ริเริ่มประกาศในเฟซบุ๊กเพจ Korat No เผด็จการ หรือกระทำการอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมนี้ ลำพังเพียงการที่ พ.ต.อ.กรกฎ โปชยะวณิช พูดคุยกับจำเลยที่ 3 ก่อนมีการชุมนุมเพื่อขอให้เลื่อนการชุมนุมออกไปเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19 แต่จำเลยที่ 3 ยืนยันที่จะชุมนุม หรือการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ปราศรัยและชักชวนให้ผู้อื่นร่วมชุมนุมนั้น ไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต

การเข้าร่วมชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิด-19 โดยไม่ต้องคำนึงว่าเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เหตุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีวัตถุประสงค์ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าช่วงเกิดเหตุระบาดโควิด -19 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ และขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เป็นคราวที่ 13 ระบุเหตุผลว่า โรคโควิด-19 ได้กลายพันธุ์และสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัด เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งมาตรการที่เข้มข้นในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค รวมทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

ประกอบกับชาญชัย บุญอยู่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เบิกความว่า ในปี 2564 เชื้อที่แพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์เดลต้ามีอัตราการตายร้อยละ 2 ของผู้ติดเชื้อ สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดยการสัมผัสหรือการพ่นละอองฝอยออกจากปาก หากบุคคลที่ติดเชื้อยืนพูดคุยกับบุคคลอื่นในระยะไม่เกิน 2 เมตร เป็นเวลา 5 นาที ก็สามารถติดเชื้อได้ แต่หากสวมหน้ากากอนามัยต้องใช้ระยะเวลานานกว่านั้น 

ในวันเกิดเหตุพยานไปสังเกตการณ์ ไม่มีการวัดอุณหภูมิหรือแจกแอลกอฮอล์แก่ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม ผู้ฟังการปราศรัยนั่งห่างกันทั้งระยะเกิน 1 เมตร และไม่เกิน 1 เมตร มีทั้งสวมและไม่สวมหน้ากากอนามัย ส่วนใหญ่มีการพูดคุยกันในระยะไม่เกิน 1 เมตร บางช่วงบนเวทีมีผู้ปราศรัย 2-3 คน โดยยืนใกล้ชิดกัน ผู้ปราศรัยไม่สวมหน้ากากอนามัย  ผู้ปราศรัยที่ยืนใกล้ชิดกันแม้สวมหน้ากากอนามัยแต่เป็นหน้ากากธรรมดาป้องกันได้เพียง 50-60 เปอร์เซ็นต์ ตามภาพถ่ายผู้มาร่วมชุมนุมยืนใกล้ชิดกัน จึงเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยที่พยานโจทก์ปากนี้ประกอบอาชีพแพทย์ ย่อมมีความรู้เกี่ยวกับการระบาดของโรคและการป้องกัน ทั้งจำเลยทั้งสี่ไม่ได้นำสืบหักล้างพยานโจทก์ปากชาญชัยให้เห็นเป็นอย่างอื่น 

จึงรับฟังได้ว่า การเข้าร่วมชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เพราะแม้มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคเพียงเล็กน้อยก็ย่อมกระทบกระเทือนต่อความปลอดภัยทางด้านสุขภาพและชีวิตของประชาชนในสังคมแล้ว ส่วนการกระทำอื่น เช่น การรับประทานอาหารร่วมกันหรือการดำเนินชีวิตประจำวันในครัวเรือนซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 ด้วยนั้น เป็นคนละกรณีกับการชุมนุมที่กฎหมายห้าม และโจทก์ไม่ต้องนำสืบให้เห็นว่าหลังวันเกิดเหตุมีผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ เพียงใด เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ห้ามการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังที่วินิจฉัยข้างต้น

การกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่เข้าร่วมการชุมนุมจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องความผิดฐานดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ขอโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 โดยไม่ได้พิพากษาว่า ลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2), 18 หรือ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6), 51 จึงไม่ชอบ กรณีเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ 

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2), 18, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6), 51 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท 

ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ปรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

.

สำหรับพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมทางการเมืองฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมอย่างน้อย 5 คดี โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งหมด  นอกจากคดีนี้ ยังมีอีก 3 คดีที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมายื่นอุทธรณ์ เป็นผลให้คดียังไม่ถึงที่สุด

X