11 พ.ค. 2566 วรัญญู คงสถิตย์ธรรม, มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ และเมธานุช กอผา เดินทางไปศาลแขวงนครราชสีมา ในนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีที่ถูกฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ รวม 2 คดี คดีแรกจากกิจกรรม “CAR MOB KORAT คาราวานไล่เผด็จการ” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 ที่ทั้งสามคนเป็นจำเลย ส่วนอีกคดีจากกิจกรรมสาดสีประณามตำรวจสลายชุมนุม ที่หน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 มีวรัญญูและมกรพงษ์เป็นจำเลย
ทั้งสองคดีศาลชั้นต้นล้วนมีคำพิพากษายกฟ้อง กระทั่งพนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมายื่นอุทธรณ์คดี หลังจากฝ่ายจำเลยยื่นแก้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีคำพิพากษา
.
พิพากษาแก้ วรัญญูและมกรพงษ์ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฐานร่วมชุมนุมคาร์ม็อบ 23 ก.ค. เสี่ยงแพร่โควิด แต่ยืนยกฟ้องอีกจำเลย ชี้ ไม่ต้องคำนึงว่าเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เหตุแม้เสี่ยงน้อยก็กระทบต่อประชาชน
สำหรับคดีจากเหตุคาร์ม็อบ 23 ก.ค. 2564 ที่มีจำเลย 3 คน คือ วรัญญู, มกรพงษ์ และเมธานุช กอบชัย ศิริชัยพัฒนา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลชั้นต้นในศาลแขวงนครราชสีมา อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐาน ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ ได้ความจากพยานโจทก์ว่า มีการนัดทำกิจกรรมชุมนุม แต่พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้ริเริ่มประกาศในเฟซบุ๊กเพจ Korat Movement หรือกระทำการอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมนี้ ลำพังเพียงการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ปราศรัยและชักชวนให้ผู้อื่นร่วมชุมนุมนั้น ไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไปว่าช่วงเกิดเหตุ มีการระบาดของโรคโควิด-19 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ และขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เป็นคราวที่ 13 ระบุเหตุผลว่า โรคโควิด-19 ได้กลายพันธุ์และสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัด เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งมาตรการที่เข้มข้นในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค รวมทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
ซึ่งพฤติการณ์ในการชุมนุมตามความที่ได้จากพยานโจทก์ว่า การชุมนุมมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน ไม่มีมาตรการควบคุมโรค โดยไม่มีการวัดอุณหภูมิ ไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่มีการลงชื่อผู้เข้าร่วมชุมนุม การยืนฟังปราศรัยไม่ได้เว้นระยะห่าง ประกอบกับคำเบิกความของ นพ.ชาญชัย เบิกความว่า ช่วงเดือน ก.ค. 2564 มีการแพร่ระบาดของโรคในจังหวัดนครราชสีมาจำนวนมาก พยานดูการชุมนุมจากแผ่นบันทึกเหตุการณ์และภายถ่ายแล้วเห็นว่า ผู้ชุมนุมยืนใกล้ชิดกัน ห่างกันไม่เกิน 2 เมตร บางครั้งไม่สวมหน้ากากอนามัย แม้จะสวมหน้ากากอนามัยแต่ไม่ใช่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จึงมีประสิทธิภาพป้องกันน้อยกว่า มีการตะโกนโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยและมีบุคคลอื่นยืนอยู่รอบข้าง ดึงหน้ากากอนามัยลงใต้คางหรือเปิดหน้ากากอนามัยขณะดื่มน้ำ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยที่พยานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ย่อมมีความรู้เกี่ยวกับการระบาดและการป้องกันโรค ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบหักล้างพยานโจทก์ปาก นพ.ชาญชัย ให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ว่าการเข้าร่วมชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เพราะแม้มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคเพียงเล็กน้อย ก็ย่อมกระทบกระเทือนต่อความปลอดภัยทางด้านสุขภาพและชีวิตของประชาชนแล้ว
ส่วนการกระทำอื่นเช่น การรับประทานอาหารร่วมกันหรือการดำเนินชีวิตประจำวันในครัวเรือน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 เป็นคนละกรณีกับการชุมนุมที่กฎหมายห้ามและโจทก์ไม่ต้องนำสืบให้เห็นว่า หลังวันเกิดเหตุมีผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ห้ามการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ดังที่วินิจฉัยข้างต้น การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่เข้าร่วมชุมนุมจึงเป็นความผิดฐาน ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ความจาก พ.ต.อ.กรกฏ ว่า พยานไม่เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยที่ 3 ปราศรัย เพียงแต่เห็นจากภาพถ่าย แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 3 หรือไม่ และ พ.ต.ท.อุกฤษฏ์ เบิกความว่า เห็นผู้หญิงปราศรัยโดยมองจากระยะไกล เมื่อนำมาเปรียบเทียบภาพถ่ายของจำเลยที่ 3 แล้วเห็นว่าเป็นบุคคลเดียวกัน เมื่อพยานโจทก์ทั้ง 2 ปาก ไม่ยืนยันว่า จำเลยที่ 3 เข้าร่วมชุมนุมด้วย พยานโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 3 จึงมีความสงสัยตามสมควร ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 3 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องบางส่วนของอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2), พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยทั้งสองฐาน ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ปรับคนละ 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ลงชื่อ สุนันทา ผดุงเกียรติวงศ์, วิวุฒิ มณีนิล และสุทธิมาลย์ วิริยะการุณย์ เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
.
พิพากษายืน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชี้ พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังได้ว่า วรัญญูและมกรพงษ์เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมหน้า ตร.ภ.3 อีกทั้งไม่มีหลักฐานว่า การเข้าร่วมชุมนุมเสี่ยงต่อการแพร่โรค
ส่วนคดีจากการชุมนุม หน้าตำรวจภูธรภาค 3 ภาคภูมิ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลชั้นต้นในศาลแขวงนครราชสีมา อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีใจความโดยสรุปว่า
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐาน ร่วมชุมนุมในสถานที่แออัด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 ระบุว่า “การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด…” โดยผู้ฝ่าฝืนอาจต้องโทษจำคุกหรือปรับอันเป็นโทษทางอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าว โจทก์ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) โดยบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด การที่โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมชุมนุมในสถานที่แออัด ฟ้องของโจทก์ในข้อหานี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลไม่อาจพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาดังกล่าวได้
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐาน ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์เป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมนี้ การที่จำเลยที่ 1 อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องในการชุมนุม และจำเลยที่ 2 จุดไฟเผาหุ่น ไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พฤติการณ์ในทางคดีย่อมชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้งสองว่า มีการนัดแนะวางแผนทำงานกันเป็นกลุ่ม แบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้จัดการชุมนุมนั้น โจทก์ไม่ได้นำพยานเข้าสืบให้รับฟังได้เช่นนั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐาน ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐาน ร่วมกันชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ นายแพทย์ชาญชัย รองสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เบิกความว่า พยานดูจากภาพถ่ายแล้วเห็นว่าการรวมกลุ่มของบุคคลในภาพอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ แต่พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานไม่เห็นเหตุการณ์ ไม่ทราบว่าขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองและกลุ่มบุคคลจะยืนห่างหรือใกล้เพียงใด โดยที่ข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาและไม่มีคู่ความอุทธรณ์นั้น มีการรวมกลุ่มชุมนุมเพียง 24 คน ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยและเดินไปมาตลอดเวลา สถานที่โล่งกว้าง และใช้เวลาชุมนุมเพียง 24 นาที โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นที่สามารถยืนยันได้ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้พยานโจทก์ปาก พ.ต.อ.กรกฎ และ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ จะเบิกความทำนองเดียวกันว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค แต่พยานไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้อง
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน.
ลงชื่อ สุนันทา ผดุงเกียรติวงศ์, วิวุฒิ มณีนิล และสุทธิมาลย์ วิริยะการุณย์ เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
________________________________
ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาจบทั้ง 2 คดี วรัญญูและมกรพงษ์ได้ดำเนินการจ่ายค่าปรับตามคำพิพากษา โดยขอความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ รวมเป็นเงิน 4,000 บาท ทั้งสองเปิดเผยหลังปรึกษากับทนายความแล้วว่า คงไม่ยื่นฎีกาต่อในคดีที่ศาลลงโทษปรับ โดยให้เหตุผลว่า ไม่อยากเสียเวลามาศาลอีก เอาเวลาไปขับเคลื่อนการเมืองในประเด็นอื่นๆ ต่อดีกว่า ประกอบกับศาลเพียงลงโทษปรับเท่านั้น ทำให้พวกตนก็โอเคแล้ว
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ปรากฏคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุชุมนุมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา 5 คดี โดยทุกคดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาทั้งหมดไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3
นอกจาก 2 คดีนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ศาลแขวงนครราชสีมาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีที่นักกิจกรรมและประชาชน 4 ราย ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบโคราช วันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยในศาลชั้นต้นมี 2 จำเลยที่ให้การรับสารภาพ และอีก 2 จำเลยที่ต่อสู้คดีกระทั่งศาลยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ว่า วรพงษ์ โสมัจฉา และกฤติพงศ์ ปานสูงเนิน มีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษฐาน ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ปรับคนละ 2,000 บาท
ทั้งนี้ ยังเหลืออีก 2 คดี ที่ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 คือ คดีคาร์ม็อบโคราช 15 สิงหา และคดีคาร์ม็อบ “โคราษฎร์ปฏิวัติ” 21 สิงหา
.