11 พ.ค. 2566 ศาลแขวงนครราชสีมา นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใน 2 คดีที่ 2 นักกิจกรรม คือ วรัญญู คงสถิตย์ธรรม และมกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ ต่างถูกฟ้องว่า ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา จากกิจกรรม “CAR MOB KORAT คาราวานไล่เผด็จการ” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 และคดีชุมนุมของกลุ่ม Korat Movement หน้าตำรวจภูธรภาค 3 โดยคดีจากเหตุคาร์ม็อบคาราวานไล่เผด็จการ ยังมี เมธานุช กอผา สมาชิกพรรคก้าวไกล จ.นครราชสีมา เป็นจำเลยร่วมอีกคน
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2565 ศาลแขวงนครราชสีมามีคำพิพากษายกฟ้องในทั้งสองคดี แต่หลังจากนั้นพนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมาได้ยื่นอุทธรณ์ ระบุว่า ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องจำเลย โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง และพิพากษาลงโทษจำคุกและปรับจำเลยตามกฎหมายด้วย
สำหรับอุทธรณ์ของอัยการและคำแก้อุทธรณ์ที่ฝ่ายจำเลยชี้แจงต่อศาลในทั้งสองคดีมีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
1. คดี “CAR MOB KORAT คาราวานไล่เผด็จการ” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564
อุทธรณ์ของอัยการ แสดงเหตุผลคัดค้านคำพิพากษาของศาลแขวงนครราชสีมา ดังนี้
- ความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ , พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ ไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ตามที่ศาลยกฟ้อง
ในประเด็นความผิดฐาน “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเกิน 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต” ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ให้นิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น แต่มาตรา 3 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ ในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และขณะเกิดเหตุอยู่ในระหว่างการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งไม่มีบทนิยามคำดังกล่าวไว้ จึงไม่อาจนำคำนิยามดังกล่าวมาใช้ได้ทั้งหมดและต้องตีความหมายของคำดังกล่าวโดยเคร่งครัด ซึ่งมีความหมายทั่วไปเพียงว่า ผู้จัดการชุมนุม หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะเท่านั้น
เมื่อพิเคราะห์รายงานสืบสวนความเคลื่อนไหวในพื้นที่ประกอบคำเบิกความพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขึ้นกล่าวปราศรัยบนรถติดเครื่องขยายเสียง แต่ไม่ปรากฏว่าทั้งสามเป็นผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพจ Korat Movement หรือว่าจ้างรถซึ่งติดตั้งเครื่องขยายเสียง หรือจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุม หรือกำหนดเส้นทางในการเคลื่อนขบวนหรือออกค่าใช้จ่ายในการชุมนุม หรือมีพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ
พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา และไม่เป็นความผิดตามฟ้อง นั้น
โจทก์ไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่า คดีปรากฏข้อเท็จจริงในทางนำสืบของโจทก์จากพยานปาก พ.ต.ท.ไพฑูรย์ อ่อนคำ ผู้กล่าวหา, พ.ต.ท.อุกฤษณ์ แพงไธสง, พ.ต.อ.กรกฏ โปชยะวณิช และฝ่ายความมั่นคงจังหวัดนครราชสีมา ว่า มีการแจ้งนัดทำกิจกรรมทางเพจ Korat Movement หลายครั้ง โดยไม่มีผู้ใดแสดงตัวเป็นผู้โพสต์เชิญชวน แต่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสามเข้าร่วมจัดกิจกรรมโดยเป็นแกนนำยืนปราศรัยบนรถเรียกคนอื่น ๆ เข้ามาชุมนุมตลอดเวลาที่รถขับผ่าน และบริเวณหน้าศาลากลางด้วย โดยมีหลักฐานภาพและเสียงปรากฏชัดแจ้ง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่ใช่เป็นเพียงผู้ปราศรัยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นการร่วมจัดกิจกรรมให้มีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเกิน 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งคดีนี้เป็นการฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลเกิน 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ ไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสาม จึงไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
- การอ้างว่าไม่มีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุมเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ
ในประเด็นความผิดฐาน “ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค” ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ไม่ได้ให้นิยามคำว่า ความเสี่ยงต่อการแพร่โรคไว้ และเมื่อพิจารณาภาพเคลื่อนไหวการชุมนุม พบว่า สถานที่ชุมนุมเป็นสถานที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก สำหรับผู้ฟังการปราศรัยส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย คนที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยเป็นระยะเวลาไม่นาน
และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นได้ว่าหลังวันเกิดเหตุมีผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากหรือไม่ เพียงใด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า แม้การเข้าร่วมชุมนุมมีโอกาสได้รับอันตรายหรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อก็ตาม แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในวงกว้างอันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ส่วนจำเลยที่ 3 นำสืบว่าไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม เห็นว่า เมื่อศาลวินิจฉัยการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว แม้จำเลยที่ 3 จะเข้าร่วมชุมนุมตามฟ้องหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่เป็นความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ นั้น
โจทก์ไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่า ในทางนำสืบมีจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรประจำสักนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้การยืนยันว่าขณะเกิดเหตุ สถานการณ์ผู้ป่วยโควิดใน จ.นครราชสีมา มีอย่างต่อเนื่อง และต้องมีการเปิดโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย และยังประกาศให้จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่ง นพ.ชาญชัย พยานผู้เชี่ยวชาญ ให้การยืนยันว่า ตามหลักฐานภาพและเสียงตามคลิป การรวมกลุ่มชุมนุมของจำเลยทั้งสามมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ประกอบกับขณะเกิดเหตุประชาชนใน จ.นครราชสีมา ไม่ได้ใช้ชีวิตตามปกติ ทุกคนต้องเข้มงวดในการระมัดระวังต่อการแพร่เชื้อ พฤติการณ์ของการรวมกลุ่มของจำเลยทั้งสามที่มีคนมารวมกันเป็นพันคน จึงเป็นการร่วมกันชุมนุม มั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น ส่วนผลของการชุมนุมจะทำให้ผู้ติดเชื้อหรือไม่ เป็นเรื่องเหตุการณ์ภายหลัง
และผู้มาร่วมชุมนุม ไม่มีการลงทะเบียน จึงย่อมไม่อาจติดตามผลการติดเชื้อของผู้เข้าร่วมชุมนุมแต่ละคนได้ การกล่าวอ้างว่าไม่มีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุมจึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ เท่านั้น แต่ข้อมูลที่ปรากฏชัดตามคำให้การของ จักรกฤษณ์ คือใน จ.นครราชสีมา ช่วงหลังเกิดเหตุ มีผู้ป่วยโควิดเพิ่มมากขึ้น ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานนี้ จึงไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเช่นกัน
คำแก้อุทธรณ์ ที่ฝ่ายจำเลยยื่นชี้แจงต่อศาล
- จำเลยยึดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยืนยันไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม
คำแก้อุทธรณ์ระบุว่า จากที่โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น กล่าวอ้างว่าเพียงจำเลยทั้งสามไม่ใช่เพียงผู้ปราศรัยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นตัวการร่วมกันจัดกิจกรรมให้มีการรวมกลุ่มของบุคคลเกิน 20 คน นั้น โจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นชัดว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดกิจกรรมรวมกลุ่มอย่างไร ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความให้เห็นได้ว่าจำเลยคนใดเป็นผู้จัดกิจกรรมรวมกลุ่มในครั้งนี้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นวินิจฉัยถูกต้องชัดเจนแล้ว กฎหมายที่จะนำมาใช้กับประชาชนซึ่งมีโทษทางอาญา ต้องตีความเคร่งครัด จำเลยทั้งสามไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม เป็นเพียงผู้ร่วมการชุมนุมที่เป็นการแสดงออกทางการเมือง ในการชุมนุมมีการเว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
ประการต่อมาโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การร่วมกันชุมนุมของจำเลยทั้งสามมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งก็ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงเห็นโดยชัดแจ้งว่ามีความเสียหายอย่างไร เพราะการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดินตลาด เดินในห้างสรรพสินค้า การโดยสารในรถประจำทางก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น และโจทก์ไม่มีพยานหรือหลักฐานใดแสดงให้เห็นว่าภายหลังการร่วมกิจกรรมชุมนุมดังกล่าวแล้ว มีบุคคลใดติดเชื้อโควิด -19 อย่างไรหรือไม่ การกล่าวอ้างในอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและกฎหมาย
.
2. คดีชุมนุมสาดสีประณามการกระทำของตำรวจ หน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564
อุทธรณ์ของอัยการ แสดงเหตุผลคัดค้านคำพิพากษาของศาลแขวงนครราชสีมา ดังนี้
- จำเลยมีการนัดแนะวางแผน ทำงานเป็นกลุ่ม ชี้ให้เห็นเจตนา เป็นผู้จัดชุมนุม
ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อกำหนดและคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/2564 มิได้บัญญัติบทนิยามสำหรับการเป็นผู้จัดชุมนุมไว้โดยเฉพาะ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่พอฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมชุมนุมอันเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 ตามฟ้อง นั้น
โจทก์เห็นว่า การรับฟังพยานและใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นยังคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงอยู่มาก ดังนี้ ข้อกำหนด และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/2564 เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและป้องปรามการขยายตัวของการชุมนุมอันเสี่ยงต่อการแพร่โควิด -19 ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือคำสั่งฉบับดังกล่าวนั้น มุ่งคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่มากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น การที่กลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวอ้างสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิส่วนบุคคล หรือสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ หรือกล่าวอ้างกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการกล่าวอ้างสิทธิขั้นพื้นฐานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าผลประโยชน์ของมหาชน หรือสิทธิสาธารณะทั้งสิ้น
อีกทั้งเมื่อกฎหมายมิได้บัญญัติบทนิยามของการเป็นผู้จัดการชุมนุมไว้โดยเฉพาะย่อมเห็นได้ว่าเป็นหน้าที่ของผู้ชุมนุมทุกคนที่มีเจตนาในการรวมกลุ่มที่จะต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ตามหลักกฎหมายปิดปาก (Estopel) ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในทางคดี หรือเพื่อป้องกันการกระทำของกลุ่มที่มีการดื้อแพ่ง เป็นต้น
โจทก์ยังเห็นอีกว่า ข้อกำหนดฯ หรือคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา เป็นกฎหมายที่ผ่านกระบวนการตราโดยฝ่ายบริหาร อันมีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชน หาใช่กฎหมายอาญาแต่อย่างใดไม่ การตีความกฎหมายดังกล่าวจึงต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ๆ เป็นสำคัญ โดยต้องมุ่งคุ้มครองประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก นอกจากนั้นยังต้องประสานประโยชน์หรือสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างประโยชน์ของรัฐกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นพฤติการณ์ในทางคดีหรือแผนประทุษกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่มีการนัดแนะวางแผน และทำงานเป็นกลุ่ม มีการแบ่งหน้าที่กันทำกิจกรรม ย่อมชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้งสองโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุมและมีเจตนาเข้าร่วมในการชุมนุมดังกล่าวอย่างแท้จริง
- พฤติการณ์จำเลยเพิกเฉย-ไม่ใส่ใจต่อผลกระทบของการชุมนุมในวงกว้าง
ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า เป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้อง แม้โจทก์จะมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ศาลก็พิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192
โจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า “จำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวน 24 คน อันมากกว่า 4 คน และจำเลยทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมกับประชาชนโดยผู้เข้าร่วมชุมนุมบางส่วนไม่สวมหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อ ไม่ได้เว้นระยะห่างเกิน 2 เมตร ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่โควิด -19 และอาจทำให้เหตุการณ์แพร่ระบาดร้ายแรงมากขึ้น” จากบรรยายคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว วิญญูชนย่อมพิจารณาแล้วเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมกับประชาชน อันมีลักษณะโดยสภาพของการชุมนุมที่แออัดและเสี่ยงต่อการแพร่โควิด -19 แล้ว หาจำเป็นต้องบรรยายโดยการใช้ข้อความว่า “ในสถานที่แออัด” แต่อย่างใด ประกอบกับคดีนี้ โจทก์ก็มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ไว้แล้ว การที่ศาลชั้นต้นไม่มีคำพิพากษาในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 192
และที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองและกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมทำกิจกรรมทางการเมืองมีการรวมตัวกันเพียง 24 คน มีการเดินไปมา มิใช่ยืนกระจุกใกล้ชิดกันโดยตลอด… และวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบมีความสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง เห็นได้ว่าการรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในส่วนนี้ ยังคงมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก
ทั้งนี้เนื่องจากในทางนำสืบของโจทก์พยานปาก พ.ต.อ.กรกฏ โปชยะวณิช (ประจักษ์พยาน) และ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ อ่อนคำ ผู้กล่าวหา เบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะร่วมประชุมกลุ่มบุคคลยืนใกล้ชิดกัน ผู้ชุมนุมบางคนถอดหน้ากากอนามัย และไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับทางคดีมี นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้การยืนยันว่า การยืนรวมกลุ่มของจำเลยทั้งสองมีลักษณะใกล้ชิดกัน แม้ว่าจะมีการสวมหน้ากากอนามัยแต่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้
อีกทั้งก่อนหน้าที่มีการรวมกลุ่มและขณะเข้าชุมนุม พ.ต.อ.กรกฏ ก็ได้เข้าห้ามปราม และอธิบายทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ก่อน มีการอธิบายข้อกฎหมายและผลกระทบจากการชุมนุม เห็นได้ชัดว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองเพิกเฉยและไม่ได้ใส่ใจต่อผลกระทบของการชุมนุมในวงกว้าง กรณีจึงมีพยานหลักฐานโดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นการร่วมชุมนุมมั่วสุมและฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา มีลักษณะการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 การที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องฐานนี้ จึงไม่ชอบด้วยเช่นกัน
คำแก้อุทธรณ์ ที่ฝ่ายจำเลยยื่นชี้แจงต่อศาล
- จำเลยยืนยันไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม ขณะแสดงออกทางการเมือง เว้นระยะห่าง-สวมหน้ากากอนามัย
กรณีที่โจทก์อุทรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น อ้างว่า ข้อกำหนด หรือคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา มีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชน ไม่ใช่กฎหมายอาญา การตีความดังกล่าวจึงต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น จำเลยทั้งสองไม่เห็นด้วย คำพิพากษาของศาลชั้นต้นวินิจฉัยถูกต้องชัดเจนแล้ว กฎหมายที่นำมาใช้กับประชาชนซึ่งมีโทษทางอาญา การตีความกฎหมายจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด จำเลยทั้งสองไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม จำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้ร่วมการชุมนุมที่เป็นการแสดงออกทางการเมือง ในการชุมนุมมีการเว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งมีการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 อย่างดี
ในประการที่สองที่โจทก์ไม่เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้อง โดยโจทก์กล่าวอ้างว่า แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายมาในฟ้องในข้อความดังกล่าว แต่วิญญูชนย่อมพิจารณาแล้วเห็นได้เองนั้น ไม่ถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย ศาลชั้นต้นจึงวินิจฉัยถูกต้องแล้ว
ประการที่สาม ที่โจทก์ไม่เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นกรณีวินิจฉัยว่า การชุมนุมของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง มีการรวมตัวกันเพียง 24 คน มีการเดินไปมา ไม่ได้ยืนกระจุกใกล้ชิดกันตลอด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีข้อสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสอง โดยโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสองเพิกเฉยและไม่ได้ใส่ใจผลกระทบอันเป็นวงกว้างที่เสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยทั้งสองป้องกันการแพร่กระจายของโรคอย่างดี มีการเว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัย อีกทั้งการชุมนุมก็มีเพียง 24 คนเท่านั้น จึงขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
.
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ศาลแขวงนครราชสีมา อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดี ที่ 4 จำเลย ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา จากกิจกรรมคาร์ม็อบโคราช วันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยในศาลชั้นต้นมี 2 จำเลยที่ให้การรับสารภาพ และอีก 2 จำเลยที่ต่อสู้คดี กระทั่งศาลยกฟ้อง มาถึงศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 2 วรพงษ์ โสมัจฉา และจำเลยที่ 3 กฤติพงศ์ ปานสูงเนิน มีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษฐาน ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ปรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2,000 บาท
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง