​​ก่อนจะถึงคำพิพากษา: จำเลยคาร์ม็อบ “โคราษฎร์ปฏิวัติ” ยืนยันร่วมชุมนุมวิจารณ์รัฐบาล ไม่ใช่ผู้จัด ชี้มีมาตรการป้องกัน-ไม่มีผู้ติดเชื้อหลังชุมนุม 

16 ม.ค. 2566 ศาลแขวงนครราชสีมานัดนักกิจกรรม 6 ราย ฟังคำพิพากษาในคดีคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 หลังเสร็จการสืบพยานรวม 3 วัน ในวันที่ 9-11 พ.ย. 2565 ก่อนหน้าศาลมีคำพิพากษา ชวนอ่านเหตุแห่งคดีและการต่อสู้คดีของเหล่าจำเลยนักกิจกรรม

นักกิจกรรมทั้งหก ได้แก่ มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ, วรัญญู คงสถิตย์ธรรม, สิรภพ พงศ์ทรัพย์ธาดา, ทิพย์ธาดา ดาราดาวดี, กนกวรรณ ฉิมนอก และเบนจา อะปัญ ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรม “โคราษฎร์ปฏิวัติ Car Mob and Mini Market” ของกลุ่ม Korat Movement เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 ถูกพนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมายื่นฟ้องกล่าวหาว่า “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานโรคติดต่อ และร่วมชุมนุมในขณะที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น”

อัยการระบุว่า การกระทำของจำเลยเป็นการร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ นักกิจกรรมทั้งหกยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาของศาล 

อ่านกระบวนการชั้นสอบสวนและยื่นฟ้องต่อศาลที่

.

ในวันนัดสืบพยาน จำเลยเดินทางมาศาล 5 คน ยกเว้นกนกวรรณซึ่งยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลังเนื่องจากมีนัดพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนนทบุรี จากนั้นศาลแจ้งว่า คดีนี้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ แต่ในนัดสืบพยานนัดแรกเป็นนัดสำคัญ เพราะพยานโจทก์ต้องยืนยันตัวจำเลยว่ามีรูปพรรณสัณฐานตรงกับพยานหลักฐานหรือไม่ และจำเลยต้องรักษาสิทธิ จึงอยากให้จำเลยมา ซึ่งหลังจากนั้น จำเลยทั้งหมดได้ขอพิจารณาคดีลับหลัง เนื่องจากต้องทำงานและเรียน มีเพียงมกรพงษ์และวรัญญูที่ต้องการเข้าร่วมฟังการสืบพยานโดยตลอด 

โจทก์นำพยานเข้าเบิกความรวม 6 ปาก เป็นประจักษ์พยานที่อยู่ในที่ชุมนุม 2 ปาก คือ รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา ผู้กล่าวหา และฝ่ายความมั่นคงจังหวัดนครราชสีมา อีก 3 ปาก เป็นพยานที่เบิกความให้ความเห็นจากการดูภาพถ่ายหรือวีดิโอ หรือรายงานการสืบสวน ได้แก่ ผู้กำกับ สภ.เมืองฯ, นายแพทย์และนิติกร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ปากสุดท้ายเป็นพนักงานสอบสวนที่รวบรวบพยานหลักฐานและมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี 

ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจัดการชุมนุมมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานโรคติดต่อ มีพยานโจทก์ 2 ปาก ยืนยันว่า ผู้จัดการชุมนุมไม่ได้ขออนุญาตผู้ว่าฯ แต่พยานโจทก์ทั้งหมดไม่ได้เบิกความชี้ว่า จำเลยทั้งหกเป็นผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้ เพียงแต่ระบุว่า จำเลยเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัย ทั้งยังรับกับทนายจำเลยว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจ Korat Movement และโพสต์ข้อความเชิญชวนชุมนุม รวมทั้งจัดหารถขนเครื่องขยายเสียงและอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุม

ส่วนประเด็นที่กล่าวหาว่า จำเลยร่วมชุมนุมซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น แม้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจะชี้ว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด เพราะมีการใช้ไมโครโฟนร่วมกันและไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่พยานโจทก์เกือบทุกปากรับว่า ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย ส่วนผู้ปราศรัยขณะปราศรัยอยู่ห่างจากผู้ชุมนุม  และไม่ได้ข่าวว่ามีคนติดเชื้อจากการชุมนุมครั้งนี้ ซึ่งนายแพทย์รับว่า ในพื้นที่โล่งกว้างมีโอกาสแพร่เชื้อน้อย 

ด้านพยานจำเลยมีเพียงมกรพงษ์และวรัญญูเข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง ทั้งสองยืนยันว่า ตนเพียงเข้าร่วมชุมนุมเพื่อวิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์ในสภาวะที่โควิด-19 ระบาด เนื่องจากได้รับผลกระทบ แต่ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม และอาสาขึ้นปราศรัยเองโดยไม่มีใครชักชวน ทั้งตนและผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์  ภายหลังกิจกรรม ไม่พบรายงานของทางจังหวัดว่ามีผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมชุมนุมดังกล่าว  

“โคราษฏร์ปฏิวัติ” ภาพจากเพจ Korat Movement

.

เหตุในคดีนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564  กลุ่ม Korat Movement จัดกิจกรรมในชื่อโคราษฎร์ปฏิวัติ Car Mob and Mini Market เคลื่อนขบวนจากสถานที่ต่างๆ ไปที่ลานจอดรถหน้าศาลากลางจังหวัด จากนั้นมีการปราศรัยเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการใช้วัคซีนของรัฐบาล สลับกับการแสดงดนตรี นอกจากนี้ยังมีการจุดไฟเผาหีบไม้ (โลงศพ) เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความไม่พอใจรัฐบาลด้วย

สำหรับจังหวัดนครราชสีมา มีการดำเนินผู้ชุมนุมทางการเมืองฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 5 คดี โดยวรัญญูและมกรพงษ์ถูกดำเนินคดีมากที่สุด รวม 3 คดี คดีนี้นับเป็นคดีสุดท้ายที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา โดย 4 คดีก่อนหน้านี้ศาลพิพากษายกฟ้องทั้งหมด ได้แก่ “คาร์ม็อบโคราช ไล่เผด็จการ” 23 ก.ค. 64, คาร์ม็อบโคราช 1 สิงหา, สาดสีประณามตำรวจ 7 ส.ค. 64 และ คาร์ม็อบโคราช 15 สิงหา แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากอัยการได้ยื่นอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

.

ปากคำพยานโจทก์: ฟ้องจัดชุมนุมไม่ขออนุญาต แต่ไม่ได้ชี้ว่า จำเลยเป็นผู้จัด – ชุมนุมเสี่ยงแพร่โรค แต่อยู่ในที่โล่ง โอกาสแพร่โรคน้อย   

เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าว พ.ต.อ.ไพฑูรย์ อ่อนคำ ผู้กล่าวหา ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา เบิกความว่า วันที่ 17 ส.ค. 2564 เฟซบุ๊กเพจ Korat Movement ได้มีการนัดเชิญชวนร่วมชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดในช่วงเย็นวันที่ 21 ส.ค. 2564 ผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา จึงได้มอบหมายให้ตนนำชุดสืบสวนไปติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมในวันดังกล่าว 

ต่อมา วันที่ 21 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 15.00 น. ผู้ชุมนุมเดินทางมารวมตัวกันที่ตลาดเซฟวันประมาณ 150 คน โดยมีรถยนต์ประมาณ 40 คัน จักรยานยนต์ 50 คัน จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปที่หน้าศาลากลาง ระหว่างทางมีการปราศรัยบนรถเชิญชวนให้คนเข้าร่วมการชุมนุม และโจมตีการทำงานของรัฐบาล การเคลื่อนขบวนใช้เวลา 1 ชั่วโมง เมื่อถึงหน้าศาลากลาง มีผู้ชุมนุมมาร่วมเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนประมาณ 350 คน มีการแสดงดนตรีสลับการปราศรัย

.

ผู้จัดชุมนุมต้องขออนุญาตผู้ว่าฯ แต่พยานโจทก์ไม่ได้ชี้ว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม เพียงร่วมชุมนุม-ปราศรัย

พ.ต.อ.ไพฑูรย์ เบิกความอีกว่า ผู้ร่วมชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย แต่การชุมนุมไม่ได้ขออนุญาต เช่นเดียวกับจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเบิกความว่า จังหวัดนครราชสีมาถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มซึ่งหมายความว่า เป็นพื้นที่ควบคุมเข้มงวดสูงสุด หากต้องการจะจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนมากกว่า 5 คน จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าฯ ก่อน โดยเป็นหน้าที่ของผู้จัดกิจกรรมที่ต้องดำเนินการขออนุญาตจัดกิจกรรม ไม่ใช่หน้าที่ของผู้เข้าร่วม ทั้งนี้ วันเกิดเหตุตนไม่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ แต่ทราบว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้ขออนุญาตก่อน 

อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์ทั้งหมดไม่ได้เบิกความชี้ว่า จำเลยทั้งหกเป็นผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้ เพียงแต่ระบุว่า จำเลยเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัย โดย พ.ต.อ.ไพฑูรย์ เบิกความว่า ขณะเคลื่อนขบวนมีมกรพงษ์ จำเลยที่ 1 ปราศรัยบนรถยนต์ และที่หน้าศาลากลางพบว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ก็ขึ้นปราศรัยด้วย 

กับมี พ.ต.อ.กรกฎ โปชยะวณิช ผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา และธงชัย แสงประทุม ฝ่ายความมั่นคง ที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมา มาเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ พ.ต.อ.กรกฎ ได้เชิญวรัญญู จำเลยที่ 2 ไปพบและทำบันทึกข้อความระบุว่า การชุมนุมอาจเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย เนื่องจากคาดเดาว่า วรัญญูเป็นผู้จัดกิจกรรม เพราะเคยเข้าร่วมการชุมนุมพร้อมทั้งขึ้นปราศรัยหลายครั้ง และเคยปรากฏตัวในไลฟ์ของเพจ Korat Movement 

นอกจากนี้ พ.ต.อ.กรกฎ, พ.ต.ท.ไพฑูรย์ และธงชัย ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยด้วยว่า พยานไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจ Korat Movement และจากการสืบสวนไม่ทราบว่าใครเป็นคนโพสต์ข้อความเชิญชวนชุมนุม ทราบเพียงว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ชอบเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองที่จัดโดยกลุ่มต่างๆ ทั้งในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอื่นๆ ด้วยหลายครั้ง พ.ต.ท.ไพฑูรย์ ระบุว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมใดมาก่อน และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมที่มีการจัดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา  

พ.ต.ท.ไพฑูรย์ และ ผู้กำกับ สภ.เมืองฯ ยังตอบทนายจำเลยด้วยว่า ไม่ทราบว่ารถขนเครื่องขยายเสียงเป็นของผู้ใด และใครเป็นผู้จัดเตรียมเครื่องขยายเสียง รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุม  

.

ประชาชนอาจจะไม่รู้ว่าต้องขออนุญาตผู้ว่าฯ ก่อนจัดกิจกรรม 

ด้านจักรกฤษณ์ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลด้านกฎหมายต่างๆ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ตอบทนายจำเลยว่า ตนไม่ทราบว่า คำสั่งจังหวัดฯ (ที่กำหนดให้กิจกรรมที่มีการรวมคนมากกว่า 5 คน ต้องขออนุญาตผู้ว่าฯ ก่อน) ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ หากไม่ได้ประกาศก็มีโอกาสที่ประชาชนทั่วไปจะไม่ทราบ ขณะธงชัย ระบุว่า ราชกิจจานุเบกษาไม่มีการประกาศว่า กิจกรรมใดขออนุญาตและได้รับอนุญาตบ้าง ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ทราบว่ากิจกรรมที่ตนเข้าร่วมนั้นได้รับอนุญาตหรือไม่

.

หมอชี้ชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิด แต่รับที่ชุมนุมโล่งกว้าง โอกาสแพร่เชื้อน้อย หลังชุมนุมไม่มีข่าวมีผู้ติดเชื้อ 

ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมชุมนุมในขณะที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น นพ.ชาญชัย บุญอยู่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เบิกความจากการดูภาพถ่ายและวีดิโอวันเกิดเหตุว่า การชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด เพราะมีการใช้ไมโครโฟนร่วมกันและไม่สวมหน้ากากอนามัย แม้ผู้ชุมนุมจะนั่งอยู่บนรถ แต่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยและอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่น ส่วนที่มีภาพจำเลยที่ 5 สวมหน้ากากอนามัยขณะปราศรัย นพ.ชาญชัย ก็ระบุว่า อาจจะเสี่ยงแพร่เชื้อได้เช่นกัน เนื่องจากมีคนอยู่ใกล้เคียง 

ด้านธงชัยเบิกความว่า พยานไม่เห็นว่ามีมาตรการป้องกันโรคระบาดตามประกาศของสาธารณสุข แม้ว่าผู้ปราศรัยและนักดนตรีจะอยู่ห่างจากผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ แต่บางคนก็ไม่สวมหน้ากากอนามัย

อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์เกือบทุกปากรับกับทนายจำเลยว่า สถานที่จัดกิจกรรมในวันเกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก และผู้ชุมนุมสามารถยืนห่างกันได้ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย อาจจะมีการถอดบ้างเป็นบางครั้ง ส่วนผู้ปราศรัยขณะปราศรัยอยู่ห่างจากผู้ชุมนุม ขณะเคลื่อนขบวนผู้เข้าร่วมก็อยู่บนรถของตนเอง พ.ต.ท.ไพฑูรย์ ยังระบุด้วยว่า ที่ชุมนุมมีการแจกหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์

โดย นพ.ชาญชัย ตอบทนายจำเลยว่า ในพื้นที่โล่งกว้าง แม้จะมีคนอยู่ใกล้กันบ้าง หรือถอดหน้ากากอนามัยบ้างเป็นบางครั้งก็จะมีโอกาสแพร่เชื้อน้อย อีกทั้งพยานโจทก์เกือบทั้งหมดรับว่า ไม่ได้ข่าวว่ามีคนติดเชื้อจากการชุมนุมครั้งนี้  

“โคราษฏร์ปฏิวัติ” ภาพจากเพจ Korat Movement

ปากคำจำเลย: เข้าร่วมชุมนุมเพราะได้รับผลกระทบ-อาสาขึ้นปราศรัยเอง ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม ทั้งสวมแมสค์-อยู่ห่างผู้ชุมนุมขณะปราศรัย   

มกรพงษ์ จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ตนเป็นผู้สนใจทางการเมือง เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่จัดโดยกลุ่มต่างๆ แล้วหลายครั้ง เช่น แฟลชม็อบ, จุดเทียนตามหาคนหาย (วันเฉลิม) รวมถึงเคยเข้าร่วมชุมนุมที่จังหวัดบุรีรัมย์ด้วย ตนไม่ได้เป็นแอดมินเพจ Korat Movement ไม่ได้โพสต์เชิญชวนและไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้ 

ช่วงเกิดเหตุประเทศไทยเกิดวิกฤตจากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากรัฐบาลจัดหาวัคซีนไม่เพียงพอ รวมถึงมีสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ตนเห็นโพสต์ในเพจ Korat Movement จึงตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม โดยเมื่อเดินทางถึงตลาดเซฟวัน มีคนรวมตัวกันอยู่แล้วประมาณ 20 คน และมีรถเครื่องเสียงจอดอยู่ ตนได้เข้าไปพูดคุยกับกลุ่มคนดังกล่าว และขอขึ้นปราศรัยบนรถเอง เนื่องจากเคยเข้าร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัยอยู่บ่อยครั้ง 

ด้านวรัญญู จำเลยที่ 2 เบิกความว่า ตั้งแต่ปี 2563 ตนเข้าร่วมชุมนุมหลายครั้ง ทั้งในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดอื่นๆ ซึ่งมีตั้งแต่การชุมนุมทางการเมือง งานเสวนา และกิจกรรมลักษณะอื่นๆ เนื่องจากตนสนใจทั้งประเด็นทางการเมืองและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วงปี 2564 มีวิกฤตเรื่องโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลที่ผิดพลาด โดยเข้าร่วมชุมนุมทั้งกับกลุ่ม Korat movement, Korat No เผด็จการ รวมถึงกลุ่มเสื้อแดงและกลุ่มปากช่อง ในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สำหรับกิจกรรมที่กลุ่ม Korat Movement จัด ตนเข้าร่วมเกือบทุกครั้ง แต่ไม่ได้เป็นแอดมินเพจ และไม่ได้เป็นผู้โพสต์ชักชวนคนเข้าร่วมกิจกรรม

ก่อนเกิดเหตุ พ.ต.อ.กรกฎ เชิญตนไปพบที่ สภ.เมืองนครราชสีมา โดยทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมตำรวจจะเชิญตนไปพบ ซึ่งตนก็ไม่ทราบสาเหตุ ทำให้รู้สึกรำคาญและไม่ได้อยากจะไป ในวันนั้นมีสารวัตรถามว่า ใครเป็นผู้จัดและถามรายละเอียดของกิจกรรม แต่ตนได้ยืนยันไปว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัด 

จากนั้น พ.ต.อ.กรกฎ ได้ฝากตนไปบอกคนที่จัดว่า การจัดกิจกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย และจัดทำเป็นบันทึกข้อความให้ตนมา แต่ตนไม่ได้เซ็นและไม่ได้อ่าน 

ต่อมา วันเกิดเหตุตนเข้าร่วมชุมนุมที่หัวทะเล ขณะไปถึงพบว่ามีรถยนต์ รถเครื่องขยายเสียงและธงอยู่แล้ว โดยไม่ทราบว่าใครเป็นคนจัดหาหรือนำอุปกรณ์ดังกล่าวมา และตนได้อาสาขึ้นปราศรัยเองโดยไม่มีผู้ใดชักชวน 

“โคราษฏร์ปฏิวัติ” ภาพจากเพจ Korat Movement

ทั้งมกรพงษ์และวรัญญูเบิกความว่า ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมตนมีมาตรการป้องกันโควิด โดยการตรวจ ATK สวมหน้ากากอนามัย และพกเจลแอลกอฮอล์ ผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอื่นๆ มีหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์เช่นกัน บริเวณที่เป็นจุดปราศรัยและแสดงดนตรีอยู่ห่างจากจุดที่ผู้ชุมนุมยืนหรือนั่งประมาณ 10 เมตร รวมถึงผู้ปราศรัยอยู่ห่างจากนักดนตรี มกรพงษ์ระบุด้วยว่า ในที่ชุมนุมมีการแจกหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ ผู้ชุมนุมบางคนอาจจะลดหน้ากากอนามัยลงบ้างเพื่อดื่มน้ำ หรือกินอาหาร ตามปกติ แต่เป็นเวลาสั้นๆ และอาจจะมีการยืนอยู่ด้วยกันบ้างแต่เป็นระยะเวลาไม่นาน 

นอกจากนี้ ทั้งสองคนไม่ติดโควิดจากการชุมนุมครั้งนี้ เพื่อนที่รู้จักกันที่เข้าร่วมชุมนุมก็ไม่มีใครติดเชื้อเช่นกัน รวมทั้งไม่พบว่าทางจังหวัดรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมชุมนุมดังกล่าว  

นักกิจกรรมทั้งสองยืนยันว่า การชุมนุมตามฟ้องเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ โดยตนไม่ทราบว่า ได้มีการขออนุญาตจัดกิจกรรมหรือไม่ เนื่องจากไม่ใช่ผู้จัด ที่ตนเข้าร่วมกิจกรรมเพราะเห็นด้วยกับประเด็นข้อเรียกร้องและได้รับผลกระทบโดยตรงจากการบริหารงานรัฐบาลประยุทธ์จริงๆ

อัยการได้ถามค้านมกรพงษ์ในประเด็นที่ว่า ข้อกำหนดที่ห้ามจัดการชุมนุมมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามกฎหมายแล้วพยานต้องทราบ แต่มกรพงษ์ยืนยันว่าไม่ทราบ และเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่ทราบเหมือนกับพยาน เพราะไม่รู้ว่าเขาประกาศไว้ตรงไหน โจทก์ถามต่อว่า หลังจัดงานมีการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐหรือไม่ว่า มีคนติดเชื้อหลังจากจัดกิจกรรมหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ เพราะไม่ใช่ผู้จัด ส่วนในประเด็นมาตรการป้องกันโควิดในที่ชุมนุม มกรพงษ์ระบุว่า เพจ Korat Movement ได้โพสต์แจ้งให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเตรียมหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์มาด้วย โดยส่วนตัวตนถือว่า ได้มีมาตรการในการป้องกันแล้ว 

.

อ่านเรื่องของ 3 จำเลยในคดีนี้

ชีวิตที่(อยากให้)ดี กับคดีที่ได้ ของ “บุ๊ค” ครูสอนว่ายน้ำ

‘เตอร์’ Korat Movement : ในก้าวย่างและหนทางไปสู่การเมืองที่ดี

มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ!: คุยกับเบนจาว่าด้วยทรงจำหน่วงหนัก เรือนจำ/ ม.112/ ระเบียบรัดในโรงเรียน

.

เครดิตภาพประจำเรื่อง เพจ Korat Movement

.

X