มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ! : คุยกับเบนจาว่าด้วยทรงจำหน่วงหนัก เรือนจำ/ ม.112/ ระเบียบรัดในโรงเรียน

เรื่องโดย ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์

.

จากสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผ่านกิจกรรมการเมืองหลายหลากระหว่างขวบปี 2563-2564 เมื่อขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยเติบโต แต่รัฐกลับค่อย ๆ ตัดตอนด้วยการยัดเยียดคดีความ  ที่ทำให้นักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์อย่าง เบนจา อะปัญ ถูกดำเนินคดีกว่า 20 คดี หนึ่งในนั้นเป็นเหตุชุมนุมคาร์ม็อบ ที่นครราชสีมา บ้านเกิดของเธอ 

หลังต่อสู้คดีมาราว 2 ปี ศาลแขวงนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 16 ม.ค. 2566 นับเป็นอีกครั้งที่เบนจา ต้องเดินทางไปติดตามคดีที่แทบผุดเกิดทุกครั้งเวลามีชุมนุม  แม้จะมีวันที่เหนื่อยล้าจากคดีและการเรียน แต่มุมหนึ่งของชีวิต ข้างกายเบนจาจะมีแมวหนึ่งตัวกลม ๆ สีส้มอ่อนที่เล่นคลอเคล้า  เธอบอกว่านี่คือสิ่งที่ทำให้หายเหนื่อย และช่วยเยียวยาจิตใจเธอเวลาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

ไม่เพียงแต่เป็นจำเลยคดีการเมือง  เมื่อบอกเล่าชีวิตแต่หนหลัง เบนจามีความฝันวัยเด็กมากมายที่อยากทำ ตั้งแต่อยากเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเป็นนักเขียน เป็นผู้กำกับ เป็นนักดนตรี แน่นอนว่าถ้าการเมืองดี ความฝันใฝ่ของเยาวชนหลายคนในประเทศคงจะถูกโอบอุ้มด้วยหนทางที่ดี เช่นกันกับสิ่งที่เบนจาวาดหวังจะได้เจอในบ้านนี้ เมืองนี้

การเมืองอยู่ในทุกที่ ตั้งแต่ยายขายฟืนยันทรงผมในโรงเรียน 

 เบนจาเริ่มเล่าว่า “ตอนเด็ก ๆ เท่าที่รู้สึกได้อยากทำให้สังคมดีขึ้น เคยคุยกับผู้ใหญ่ที่บ้านว่าอยากเป็นนายกฯ ตั้งแต่ชั้นประถม แต่ถูกดับฝันว่าเป็นนายกฯ ต้องรวย มีชาติตระกูลคือนึกออกไหมคะว่าเด็กอายุไม่เกิน 10 ขวบ บ้านเราก็ไม่ได้ร่ำรวย คงยากเนาะ ก็เลยไม่เป็นไร ตอนนั้นที่จังหวัดนครราชสีมา จะมีคุณยายขายฟืน แกขายกำละ 10 บาท 5 บาท เราก็เลยสงสัยว่าทำไมคุณภาพชีวิตเขาไม่ค่อยดี เขาแก่แล้วแต่ยังต้องมาขายของนั่งบนพื้นที่หัวมุมตึกอะไรแบบนี้ กำไรก็ไม่กี่บาท เราคิดแค่ว่าอยากทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น ก็เลยทำให้ช่วงนั้นอยากเป็นนายกฯ เลยเหมือนมีแรงผลักดันที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่ในหัวมาเรื่อย ๆ ”

จากจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธออยากเปลี่ยนแปลงสังคม จากการตั้งคำถามถึงคุณภาพชีวิตของยายขายฟืน ที่เธอเริ่มตั้งคำถามเข้มข้นขึ้นเกี่ยวกับระบบการศึกษาและเรื่องทรงผม เมื่อเธอก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยมัธยมศึกษา จนถูกเรียกให้ไปรายงานตัวกับครูฝ่ายปกครองทุกวันหลังจากที่เธอตัดสินใจเดินสวนทางกับกฎระเบียบโรงเรียน เบนจาย้อนความว่า

“ช่วงมัธยมต้นตอนนั้นเราตัดผมแบบซอย ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นทรงที่แรงและห้ามตัด หนักจนถึงห้ามไว้หน้าม้า เหมือนโทษหนักมาก แค่หน้าม้าก็ห้ามไว้แล้ว เราเลยแบบมันไม่ได้อ่ะ  เราไว้หน้าม้ามาก่อนตั้งนานทำไมจะไว้ไม่ได้ เขาไม่เคารพสิทธิเหนือร่างกายของเรา ถึงแม้ว่าเขาจะทรีตเราดีกว่าเด็กนักเรียนคนอื่นที่ทำผิดระเบียบ แต่เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่เรียนไม่เก่งเขาถูกทรีตแย่กว่า”

เธอเล่าเพิ่มว่าครูฝ่ายปกครองเรียกให้เข้าไปรายงานตัวทุกวันเพื่อให้ดูพัฒนาการเกี่ยวกับทรงผม แม้ความห่วงใยจากครูดูจะให้อภิสิทธ์แก่เธอ แต่คำชื่นชมมักจะพ่วงมาด้วยเงื่อนไขบางอย่าง เบญจาจึงเลือกที่จะยืนหลังตรง

“ครูก็พูดว่าเราเป็นเด็กเรียนเก่ง ทำไมถึงทำตัวเกเร เรียนเก่งน่าจะทำตัวให้อยู่ในกฎระเบียบ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันดูไม่เมคเซ้นส์ แล้วเราก็ยืนยันว่ายังไงก็จะไว้หน้าม้าและทรงผมที่สบายใจ 

เรามองว่าการที่เขาอ้างเรื่องเรียนเก่ง มันสะท้อนให้เห็นถึงผู้ใหญ่เหล่านั้นว่าเขาให้คุณค่ากับเด็กแค่ว่าเรียนเก่งหรือไม่เก่ง แต่ไม่ได้ให้คุณค่าในด้านอื่น แค่เพราะว่าเราเรียนเก่ง เรากลับถูกดุน้อยกว่าคนอื่น ที่เป็นเด็กเรียนไม่เก่งแต่อาจจะเก่งหรือถนัดในด้านอื่นซึ่งแบบมันไม่ดีเลย ซึ่งถ้าเป็นเพื่อน ๆ ไม่ได้อยู่ห้องพิเศษแบบเรา บางคนเขาก็โดนถึงขั้นตัดคะแนน โดนให้ไปบำเพ็ญประโยชน์ โดนลงโทษที่หนักกว่าเรา” 

เบนจายังเล่าถึงสิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของเธออีกเรื่องที่ทำให้สนใจเรื่องการเมืองคือ เรื่องคุณภาพในการเรียนการสอนของโรงเรียนแต่ละแห่งที่แตกต่างจนสร้างความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าจะเป็นโรงเรียนมัธยมเช่นเดียวกัน และด้วยเหตุผลดังกล่าวเธอจึงเขียนจดหมายถึงผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อสะท้อนถึงปัญหาเหล่านั้น เธอกล่าวว่านอกจากปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ครูยังเอาสิ่งที่เธอสะท้อนไปเล่าที่หน้าเสาธง ทำให้เธอยิ่งรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่สำหรับเธออีกต่อไป เบญจาจึงตัดสินใจย้ายจากโรงเรียนที่ จ.นครราชสีมาเข้าไปเรียน ม. 4 อีกครั้งที่ รร.เตรียมอุดมศึกษา ในกรุงเทพฯ 

Bad Bangkok Blues

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างชีวิตที่กรุงเทพฯ กับ โคราช เพียงเท่านั้นเธอก็พรั่งพรูออกมา  “ตอนนั้นยังไม่มาเรียนม.ปลาย มาเที่ยว มาเรียนพิเศษ เราสัมผัสได้ว่า กรุงเทพฯ มันดีว่ะ มันมีรถไฟฟ้าด้วย มันมีร้านหนังสือใหญ่ ๆ แบบคิโนะคูนิยะด้วย เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมโคราชไม่มีแบบนี้  แต่พอย้ายมาเรียน ม.ปลายและได้มาใช้ชีวิตอยู่เองมันก็เริ่มเห็นความเป็นจริงของชีวิตในเมืองหลวง เราดั้นด้นมาเรียนกรุงเทพฯ เราคาดหวังว่ามันต้องเจริญตามแบบฉบับที่เราคิด แต่พอเรามาอยู่ ก็รู้สึกเหมือนโดนกรุงเทพมหานครตบหน้าอีกทีหนึ่ง”

เบนจาย้อนภาพจำถึงเมืองใหญ่ “มันเจริญสำหรับเด็กโคราชอย่างเราที่ไม่เคยอยู่มาก่อน พอมาอยู่จริง มันแย่ ยิ่งอยู่ก็ยิ่งทำให้เราไม่อยากใช้ชีวิตปักหลักอยู่กรุงเทพฯ มันเหมาะสำหรับคนที่มีเงินถึงจะอยู่สบาย ถ้าไม่มีเงินก็ดิ้นรนเหนื่อยในเมืองที่แออัดและโคตรวุ่นวาย จุดที่ทำให้เปลี่ยนเลยเราจำได้คือยืนรอรถเมล์อยู่ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน วันนั้นเป็นวันที่ฝนตกแล้วเรารอรถเมล์สาย 15 เรารอกลับหอ อยู่ที่ป้ายรถเมล์ที่มีแค่เสาป้ายรถเมล์สีฟ้า ๆ ที่บอกว่าตำแหน่งนี้คือป้ายรถเมล์นะ แล้วก็มีม้านั่งแบบในสวนสาธารณะประมาณ 4-5 อัน คนยืนรอเต็มฟุตปาธ เพื่อรอรถเมลล์ซึ่งเป็นรถเมลล์ครีมแดงที่คนขึ้นมหาศาล ไม่มีแอร์ เป็นรถเมล์ระบบอากาศธรรมชาติ มันเป็นของ ขสมก. บนรถเป็นพื้นไม้เก่า ๆ ระบบถ่ายเทอากาศต้องยกหน้าต่างต้องเปิด-ปิดเอา ถ้าฝนตกก็ต้องปิดในสภาพที่มันอากาศอุดอู้” 

ในเมืองแสนเปราะบาง เบนจาเล่าอีกว่า แค่ฝนตกบนถนนชีวิตก็ย่ำแย่มากพอแล้วเพราะรถติดมาก แล้วพอต้องไปเบียดแออัดกันบนนั้น มันแย่กว่าเดิมมากเลย รถเมลล์เก่า ๆ ไม่อยากเชื่อวาเรายังใช้อยู่ ก็ตั้งคำถามต่อตัวเองว่า ตรงข้ามเป็นสยามพารากอน ข้างบนเป็นรถไฟฟ้า BTS ส่วนเราโหนรถเมล์ครีมแดง

“เราก็รู้สึกว่ามันเกิดอะไรขึ้นวะเนี่ย นี่คือประเทศเราเจริญแล้วแค่นี้จริง ๆ เหรอ ตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ ด้วยคำว่า “why ?”  พอมาตั้งคำถามว่าทำไมแล้วมันก็ ทำไม ? ทำไม ? ทำไม ? ทำไมเป็นอย่างนี้ ไปเรื่อย ๆ ทำไมประเทศไทยถึงมียังใช้รถเมลล์ครีมแดงเก่า ๆ แบบนี้ แล้วทำไมเราไม่มีปัญญาซื้อรถเมลล์แล้วเหรอ ? ทำไมคมนาคมมันแย่แบบนี้ ? ใครรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้ ? เงินมันหายไปไหน ? แล้วมันก็สาวหาเหตุไปเรื่อย ๆ ”

จนเบนจาเริ่มขยับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบจริงจังในช่วงปี 2562 จากคำชักชวนของเพื่อนร่วมโรงเรียนอย่าง เพนกวิ้น พริษฐ์ ชิวารักษ์  ก่อนเบนจาก้าวเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมือง จนนำมาสู่การถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายคดี โดยเฉพาะคดี ม.112 ที่มีอัตราโทษสูงเกินความจำเป็นกว่า 6 คดี ยิ่งกับช่วงเวลาที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเพราะไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี เบนจากล่าวถึงชีวิตช่วงนั้น “พูดคำเดียวเลยว่า ชีวิตเนี่ยถ้าป่วยในเรือนจำได้แค่ยาแก้ปวดกับยาเม็ดเหลืองเท่านั้นแหละ”

เธอบอกอีกว่าเรือนจำเป็นแหล่งความเหลื่อมล้ำอันดับหนึ่ง ที่แคบลงและโหด มีเงินแล้วอยู่รอด ยิ่งเป็นคนมีชื่อเสียง อยู่ในนั้นจะสบายขึ้น

“สิ่งที่เราเจอและรู้สึกมีประสบการณ์ร่วม คือ เรื่องผ้าอนามัย เวลาจะเข้าออกเรือนจำผ้าอนามัยเป็นปัญหาหนักมาก มีวันหนึ่งเราเป็นประจำเดือนตอนออกศาล พอกลับมาเรือนจำต้องถกกางเกงให้ผู้ตรวจดู เพื่อให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้ซุกอะไรไว้ในผ้าอนามัยนะ ซึ่งบางคนต้องถอดผ้าอนามัย แล้วก็เดินเลือดหยดเข้าไป แต่เราไม่ยอมไง เราไม่ยอมทำเป็นแบบนั้น เราก็กางผ้าอนามัยออกให้ดูว่าไม่มีอะไร” เบนจากล่าวไว้อีกตอน

ชีวิตในโลกสี่เหลี่ยม ถ้าเป็นผู้ต้องขังใหม่ไม่มีเงิน ไม่มีญาติ ก็ต้องดิ้นรนทำงาน เช่น รับจ้างซักผ้า รับจ้างเฝ้าเวร เบนจาเล่าว่าตอนนั้น เธอได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างค่อนข้างเยอะ “ดังนั้นอะไรที่พอจะช่วยได้เราก็ช่วย ตอนไปห้องขังแรกเราซื้อช้อนแจกทุกคนเลย เพราะการกินข้าวนี่สำคัญนะ เรื่องกินเรื่องใหญ่ ก็แบ่งปันกันแต่นั่นก็เพราะว่าเรามี เราถึงมีโอกาสที่จะให้หลาย ๆ คน เราก็สงสารหลาย ๆ คนที่เข้ามา เงินติดตัวไม่มี ติดต่อญาติไม่ได้ อยู่บนห้องกักตอนนั้นจะต้องอยู่ 21 วัน กว่าจะลงไปติดต่อญาติ แล้วบางคนไม่ได้มีทนายเหมือนเรา” 

เป็นเบนจา ที่ได้ออกจากห้องมาเจอทนายที่ไปเยี่ยมติดตามข่าวคราวทุกวัน ซึ่งก็มีคนขอให้ติดต่อญาติให้ด้วย กับเรื่องฝากเงินและซื้ออาหาร ถ้าไม่มีญาติจัดแจงหา ก็ต้องรอจากทางเรือนจำอย่างเดียว มันกลายเป็นว่าหลายคนลำบาก เบนจาสะท้อนว่า “แล้วทำไมคุณถึงทำระบบให้มันดีไม่ได้ เขามีญาติแต่ทำไมติดต่อญาติไม่ได้ มันเป็นระบบที่เฮงซวย” 

มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ !

ถึงวันที่ผ่านพ้นจากเรือนจำ ที่ที่เบนจาไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตในนั้นอีก กับเรื่องเรียนและความฝันหลายอย่างที่คิดไว้ 

“เคยอยากประกวด hot wave เพราะชอบเล่นกีตาร์ ชอบฟังเพลง เป็นคนฟังเพลงหลายแนวมาก ๆ เราฟังหมดเลยที่เรารู้สึกว่าเพลงมันซิงค์กับเรา รวมถึงเราชอบถ่ายรูปและตัดต่อวิดีโอ ชอบดูหนัง ก็ทำให้เริ่มอยากทำหนัง อยากเขียนหนังสือ จริง ๆ ทุกวันนี้ก็ยังอยากเป็นนักเขียนอยู่ก็เขียนอะไรไปเรื่อยเปื่อย” 

ถ้าได้กำกับภาพยนตร์สักเรื่อง เบนจาเล่าว่า อยากทำหนังชีวิตที่มีความรักดำเนินเรื่อง พอเติบโตมาก็รู้สึกอยากใส่ความเป็นชีวิตมนุษย์เข้าไปด้วย  สุดท้ายแล้วมันก็ประกอบรวมกัน ความรักคือชีวิต ชีวิตก็ประกอบไปด้วยความรัก 

“แล้วก็อยากทำหนังที่อยากเติมความหวัง ปลุกไฟให้กับการทำอะไรสักอย่างเพื่อการออกไปทำอะไรเพื่อสังคมด้วยก็จะดี  อารมณ์แบบพอเราอ่านความรักของวัลยา (นวนิยายของเสนีย์ เสาวพงศ์) จบเราก็จะรู้สึกว่าวัลยาน่ารักจัง เรามองว่าทุกการเคลื่อนไหวมันมีคุณค่าในแบบของมัน คือรักที่มากกว่ารักตัวเอง แต่รักตัวเองแล้วทำร้ายคนอื่นเพราะรักตัวเองแบบนี้ไม่ดีละ แต่รักตัวเองด้วยรักคนอื่นด้วยก็ดี ไม่ใช่แค่รักโรแมนติก และอยากใส่ซาวด์แบบมีความหวังหน่อยแบบ Craig Armstrong (คนทำมิวสิคสกอร์เช่นภาพยนตร์ Love Actually )”

ส่วนสิ่งเยียวยาจิตใจของเธอในระหว่างเผชิญเรื่องหนัก ๆ  เบนจาเล่าว่า “ก็คุยกับเพื่อนและเล่นกับแมวที่เลี้ยงไว้ในห้อง  ส่วนหนึ่งตอนอยู่ในเรือนจำมันเป็นช่วงที่ทำให้เราใช้ชีวิตกับตัวเองเป็นพิเศษด้วย คุยกับตัวเอง เราคิดอะไรอยู่ ตามตัวเองให้ทัน รู้ว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกยังไง คิดอะไร ถ้ารู้สึกโกรธ อะไรเป็นต้นตอแห่งการโกรธ ถ้าเสียใจอะไรคือต้นตอของความเสียใจ แล้วจะอยู่กับมันยังไง” 

สำหรับเบนจาเรื่องทั้งหมด “สุดท้ายแล้วมันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ อย่างที่หนังสือของพรทิพย์ มั่นคง เขียนไว้  สุดท้ายมันอาจจะพังบ้านเราเข้ามา มันอาจจะเอาของเรามาทำลาย พรากนู่นพรากนี่ออกจากเราไป ตีเราเฆี่ยนเรา แต่สุดท้ายแล้วมันจะเจาะได้ถึงกล่องดวงใจของเราไหม เราก็ต้องเข้มแข็ง เพราะเขาจะพยายามทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดถึงหัวจิตหัวใจมากที่สุด” 

ก่อนบทสนทนาจะปิด ด้วยประโยคคำถาม แล้วอะไรที่ทำให้รู้สึกไม่เป็นมิตรต่อจิตใจ เธอกล่าวสั้น ๆ ว่า “รัฐ เพราะต้องใช้ชีวิตแบบรัฐกำลังจ้องจะเล่นคุณอยู่”

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘เบนจา’ อีกคดี ชุมนุม ‘โคราษฎร์ปฏิวัติ’ เรียกร้องรัฐบาลจัดหาวัคซีนให้ประชาชน

​​ก่อนจะถึงคำพิพากษา: จำเลยคาร์ม็อบ “โคราษฎร์ปฏิวัติ” ยืนยันร่วมชุมนุมวิจารณ์รัฐบาล ไม่ใช่ผู้จัด ชี้มีมาตรการป้องกัน-ไม่มีผู้ติดเชื้อหลังชุมนุม

X