ยกฟ้อง! พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบ “โคราษฎร์ปฏิวัติ” ศาลชี้ โจทก์ไม่มีหลักฐานว่า 6 จำเลยเป็นผู้จัด- ชุมนุมไม่เสี่ยงแพร่โควิด

วันที่ 16 ม.ค. 2566 นักกิจกรรม 6 ราย เดินทางไปศาลแขวงนครราชสีมาในนัดฟังคำพิพากษา กรณีถูกดำเนินคดีหลังเข้าร่วมกิจกรรม “โคราษฎร์ปฏิวัติ Car Mob and Mini Market” ของกลุ่ม Korat Movement เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564  

 >>ก่อนจะถึงคำพิพากษา: จำเลยคาร์ม็อบ “โคราษฎร์ปฏิวัติ” ยืนยันร่วมชุมนุมวิจารณ์รัฐบาล ไม่ใช่ผู้จัด ชี้มีมาตรการป้องกัน-ไม่มีผู้ติดเชื้อหลังชุมนุม 

โดยทั้ง มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ, วรัญญู คงสถิตย์ธรรม, สิรภพ พงศ์ทรัพย์ธาดา, ทิพย์ธาดา ดาราดาวดี, กนกวรรณ ฉิมนอก และเบนจา อะปัญ ต่างถูกกล่าวหาว่า“ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานโรคติดต่อ และร่วมชุมนุมในขณะที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น” 

คำฟ้องอัยการระบุว่า เป็นการร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 ทั้งนี้ ความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

กับการต่อสู้คดี นักกิจกรรมทั้งหกยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาของศาล ที่สืบพยานทั้งโจทก์และจำเลยไปในระหว่าง วันที่ 9-11 พ.ย. 2565 ก่อนศาลจะมีคำพิพากษา

คำฟ้องคดี

ฟ้องอีก! ชุมนุม “โคราษฎร์ปฏิวัติ” จำเลยชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกบิดเบือนให้รองรับความชอบธรรมของรัฐฉ้อฉล

ฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘เบนจา’ อีกคดี ชุมนุม ‘โคราษฎร์ปฏิวัติ’ เรียกร้องรัฐบาลจัดหาวัคซีนให้ประชาชน

ราว 09.45 น. นักกิจกรรมทั้ง 6 ราย และทนายความ เดินทางไปถึงห้องพิจารณาคดีที่ 3 ก่อนที่ ศรีรัฐ สุวรรณพฤกษ์ ผู้พิพากษากล่าวว่า คำพิพากษาตัวเต็มค่อนข้างยาว วันนี้เลยจะอ่านเพียงส่วนที่วินิจฉัยและผลของคำพิพากษา ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาสรุปใจความได้ว่า 

สำหรับความผิดฐาน ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเกิน 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ให้นิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น แต่มาตรา 3 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น 

ขณะเกิดเหตุอยู่ในระหว่างการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่พระราชกำหนดดังกล่าวไม่มีบทนิยามคำดังกล่าวไว้ จึงไม่อาจนำคำนิยามตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาใช้ได้ทั้งหมด และต้องตีความความหมายของคำดังกล่าวโดยเคร่งครัด ซึ่งมีความหมายทั่วไปเพียงว่า ผู้จัดการชุมนุม หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหกเป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา และไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ประกอบกับพยานโจทก์มีความสงสัย และไม่สามารถนำสืบได้ว่าใครเป็นผู้ดูแลเพจ Korat Movement 

ส่วนความผิดฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ไม่ได้ให้นิยามคำว่า “ความเสี่ยงต่อการแพร่โรค” ไว้ จึงต้องแปลความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “เสี่ยง” หมายความว่า มีโอกาสจะได้รับทุกข์หรืออันตราย เป็นต้น 

เมื่อพิจารณาภาพถ่ายวันเกิดเหตุแล้วพบว่า ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย เส้นทางการเคลื่อนขบวนและสถานที่ชุมนุมเป็นสถานที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก อีกทั้ง หลังการชุมนุมไม่มีผู้ใดติดเชื้อโควิด-19 พฤติการณ์ดังกล่าวจึงยังไม่ถึงขนาดที่จะรับฟังได้ว่า การจัดกิจกรรมชุมนุมตามฟ้องเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปในวงกว้าง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

เหตุในคดีนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564  กลุ่ม Korat Movement จัดกิจกรรมในชื่อโคราษฎร์ปฏิวัติ Car Mob and Mini Market เคลื่อนขบวนจากสถานที่ต่างๆ ไปที่ลานจอดรถหน้าศาลากลางจังหวัด จากนั้นมีการปราศรัยเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการใช้วัคซีนของรัฐบาล สลับกับการแสดงดนตรี นอกจากนี้ยังมีการจุดไฟเผาหีบไม้ (โลงศพ) เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความไม่พอใจรัฐบาลด้วย

ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมทางการเมืองฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมอย่างน้อย 5 คดี  โดยวรัญญูและมกรพงษ์ถูกดำเนินคดีมากที่สุด รวม 3 คดี คดีนี้นับเป็นคดีสุดท้ายที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เท่ากับว่าทั้ง 5 คดี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งหมด   

โดย 4 คดีก่อนหน้านี้ที่มีคำพิพากษาไป  ได้แก่ “คาร์ม็อบโคราช ไล่เผด็จการ” 23 ก.ค. 64, คาร์ม็อบโคราช 1 สิงหา, สาดสีประณามตำรวจ 7 ส.ค. 64 และ คาร์ม็อบโคราช 15 สิงหา 

อย่างไรก็ดี คดีทั้งหมดยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากอัยการได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว 4 คดี คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ส่วนคดีนี้ก็ยังต้องรอดูว่า อัยการจะยื่นอุทธรณ์อีกหรือไม่ 

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่นครราชสีมา ยังมีคดีที่ ‘เตอร์’ มกรพงษ์ ถูกกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 จากการพูดเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำบริเวณยานล่าโมเมื่อเดือนเมษายน 2564 คดียังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน 

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

นักกิจกรรมโคราชสาดสีก่อนเข้าปฏิเสธ 3 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยืนยันขับเคลื่อนด้วยความฝัน ความต้องการมีชีวิตที่ดี

ตร.โคราชเข้าแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘เบนจา’ ในเรือนจำ เหตุจากคาร์ม็อบ ‘โคราษฎร์ปฏิวัติ’ แต่ไม่ระบุพฤติการณ์กระทำผิด

9 ข้อสังเกต กับ 2 ปี การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุม

X