ยกฟ้องจำเลย 16 ราย คดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง แต่ลงจำคุก 1 ปี “ไผ่-ยาใจ ทะลุฟ้า” เห็นว่าผิดฐานทำลายทรัพย์สาธารณะ โดยให้รอลงอาญา

14 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าและประชาชนทั้งหมด 18 ราย ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ, ทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย และร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และ 215 จากเหตุร่วมกันสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุมหน้าสโมสรตำรวจ

คดีนี้จำเลยส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุฟ้า” และมีประชาชนบางส่วนที่ถูกจับกุมไปด้วย ได้แก่ “ไผ่” ดาวดิน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ทวี เที่ยงวิเศษ, “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์, “ไดโน่” นวพล ต้นงาม, จิตริน พลาก้านตง, “ออ” วิโรฌา ชัชวาลวงศ์, ชาติชาย ไพรลิน, พีรพงศ์ เพิ่มพูล, ชนัฐกานต์ ษารศาสิริพันธ์, นภัสสร บุญรีย์, ไพศาล จันปาน, “เปา” ปวริศ แย้มยิ่ง, ชัยพัทธ์ ศักดิ์ศรีเจริญยิ่ง, ทสมา สมจิตร์, “ปีก” วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์, อรินทยา สีพาเสน, เกษราภรณ์ แซ่วี และ ศักดิ์สิทธิ์ เผือกผ่องศรี   

สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตฯ อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกจับกุมจากกรณีร่วมชุมนุมหน้าสโมสรตำรวจ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวทีมรถเครื่องเสียงที่ถูกจับหลังการชุมนุม #คาร์ม็อบ1สิงหา เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ไผ่” จตุภัทร์ กับพวก ได้ถูกพาตัวออกจากที่ควบคุมตัว บก.ตชด. ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี และพามายัง สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อลงบันทึกประจำวัน ก่อนจะปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยก่อนเดินทางกลับ กลุ่มมวลชนบางส่วนได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการพ่นสีและสาดสีใส่ป้าย สน.ทุ่งสองห้อง 

>>ตร. แจ้ง 3 ข้อหา 13 มวลชนทะลุฟ้า เหตุปราศรัย-สาดสีใส่ป้าย สน.ทุ่งสองห้อง

>>แจ้งข้อหา 4 คดี 5 นักกิจกรรม “ทะลุฟ้า” กรณีสาดสีหน้า สน. ทุ่งสองห้อง-พรรค พปชร.-ภูมิใจไทย-หล่อเทียนพรรษา ก่อนศาลไม่ให้ประกัน “ไผ่” อ้างจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

.

ช่วงบ่ายที่ห้องพิจารณาคดี 711 จำเลยทั้ง 18 ราย พร้อมทนายความมารอที่ห้องพิจารณาคดี นอกจากนี้ยังมีผู้ที่มาให้กำลังใจบางส่วน และมีเจ้าหน้าที่ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเข้าสังเกตการณ์คดีด้วย 

เวลา 11.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี หลังจากขานชื่อเรียกจำเลยทั้งหมด ศาลได้อ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้จำเลยทั้ง 18 ราย ได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่สโมสรตำรวจในคดีอื่น 1 วัน และถูกส่งตัวมายัง สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อปล่อยตัวชั่วคราว ในระหว่างที่ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยได้ขึ้นปราศรัยโจมตีรัฐบาลและเจ้าพนักงานตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง และทำการยกแผงรั้วเหล็กที่สถานีตำรวจกั้นไว้ออก ก่อนทำการสาดสีบริเวณอาคารและบันไดสถานีตำรวจ

ศาลพิเคราะห์ว่าการปราศรัยของจำเลยนั้นอยู่ในกรอบกฎหมายและไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงสิทธิเสรีภาพตามปกติ เพราะเนื้อหาปราศรัยได้กล่าวถึงการแต่งตั้ววุฒิสภา 250 คน การสืบทอดอำนาจ และการใช้อำนาจเผด็จการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงยังไม่ถึงขนาดว่าเป็นการชุมนุมมั่วสุมและก่อให้เกิดความวุ่นวายแก่บ้านเมือง ที่สำคัญจำเลยทั้ง 18 ไม่ได้มีเจตนาจะชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่แรก เพียงแต่ถูกส่งตัวมาเพื่อรับการปล่อยตัวชั่วคราวที่ สน.ทุ่งสองห้อง ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของศาล เพียงแต่ในระหว่างรอกระบวนการเสร็จสิ้น จำเลยได้ทำการปราศรัยในขณะนั้น 

ศาลเห็นว่า จำเลยทั้ง 18 ไม่มีความผิดในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง เนื่องจากไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม อีกทั้งตามข้อเท็จจริงก็ปรากฎว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่ปลอดโปร่ง โล่งแจ้ง ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างตามสมควร ไม่ได้ยืนใกล้ชิดติดกันจนเกินไป 

ในส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหายหรือเสื่อมค่า จากพยานหลักฐานในคดี ปรากฎว่า จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นผู้สั่งการให้ผู้เข้าร่วมดำเนินการสาดสี ขณะที่ ทรงพล สนธิรักษ์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้สาดสีใส่บริเวณสถานีตำรวจ ในส่วนจำเลยรายอื่นไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชี้ชัดว่าเป็นผู้กระทำการสาดสีแต่อย่างใด ศาลเห็นว่าการกระทำสาดสีดังกล่าวก่อให้เกิดความเลอะเทอะเปรอะเปื้อน เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหาย ไม่ได้อยู่ในการแสดงออกตามกรอบรัฐธรรมนูญ

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และ 3 มีความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับคนละ 6,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับโทษมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก

ทั้งนี้ หลังอ่านคำพิพากษา จำเลยทั้งสองคนไม่ต้องชำระค่าปรับอีก เนื่องจากเคยถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีนี้ เกินกว่าจำนวนค่าปรับที่ศาลกำหนดแล้ว โดยกรณีของไผ่ จตุภัทร์ ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาอยู่รวม 186 วัน หรือกว่าครึ่งปี ทั้งในคดีนี้และคดีอื่นๆ 

นอกจากนั้น ยังมี ทรงพล, นวพล, พีรพงศ์, ทวี, ปวริศ, วชิรวิชญ์ และ วิโรฌา ที่เคยถูกคุมขังระหว่างพิจารณา จำนวนวันมากน้อยต่างกันไป โดยที่นักกิจกรรมอีก 6 คน ยกเว้นทรงพล ถูกคุมขังไปโดยที่ต่อมาศาลเห็นว่าไม่มีความผิด

X