พิพากษาจำคุก 2 เดือน ปรับคนละ 2,000 แต่ให้รอลงอาญา 12 ผู้ชุมนุมเยาวชนปลดแอก ผิด ม.116 ศาลชี้ปราศรัย-ร้องเพลง ให้คนล่วงละเมิดกฎหมาย แต่ไม่ถึงขนาดก่อความไม่สงบ 

วันที่ 12 มิ.ย. 2566 เวลา 13.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมทั้งหมด 12 ราย สืบเนื่องจากการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกรณีของกลุ่มแกนนำ ซึ่งถูกตั้งข้อหาหลักคือ “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, “มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยเป็นแกนนำ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

จำเลยส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งมีนักดนตรีที่ขึ้นร้องเพลงในเวทีวันดังกล่าวด้วย ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, กรกช แสงเย็นพันธ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, บารมี ชัยรัตน์, เดชาธร บำรุงเมือง, ธานี สะสม, ธนายุทธ ณ อยุธยา, ทศพร สินสมบุญ และเนตรนภา อำนาจส่งเสริม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร จำเลยรายสุดท้าย ซึ่งถูกจับกุมภายหลังจากการชุมนุมผ่านไปนานนับปี ก่อนฟ้องคดีติดตามมา 

การสืบพยานในคดีนี้ ฝ่ายจำเลยทั้ง 12 คน ต่อสู้ว่า ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม และการชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของประชาชน การชุมนุมโดยภาพรวมเป็นไปอย่างสงบสันติ ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงใดๆ

ย้อนอ่านประมวลคดี >>> เปิดประมวลมหากาพย์คดี ม.116 ชุมนุม #เยาวชนปลดแอก จุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวปี 2563 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษา

.

ช่วงบ่ายที่ห้องพิจารณาคดี 904 จำเลยทั้ง 12 ราย พร้อมทนายความมารอที่ห้องพิจารณาคดี นอกจากนี้ยังมีผู้ที่มาให้กำลังใจบางส่วนและเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษ แคนนาดา สวีเดน และเดนมาร์กมาร่วมเข้าฟังคำพิพากษาด้วย

เวลา 14.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี หลังจากขานชื่อเรียกจำเลยครบแล้วทั้ง 12 ราย ศาลได้อ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า การชุมนุมของเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 อยู่ในช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่า จำเลยทั้งสิบสองนั้นเป็นแกนนำและชุมนุมในลักษณะมั่วสุม เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ไม่มีการมาตราการป้องกันโควิด-19 แต่ขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ราย ประกอบกับมีการผ่อนคลายมาตรการให้ประชาชนสามารถดำเนินวิถีชีวิตได้ตามปกติ 

ศาลมองว่า กฎหมายและข้อกำหนดเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โรคระบาดขณะนั้น มีเจตนายับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาด แต่ไม่ได้มีเจตนาจำกัดกิจวัตรประจำวันของประชาชน นอกจากนี้ทางโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสิบสองเป็นผู้จัดการชุมนุม เพียงแค่แชร์โพสต์จากกลุ่มเยาวชนปลดแอกเท่านั้น จำเลยทั้งสิบสองจึงไม่มีความผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง เนื่องจากไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม

ในส่วนของ พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ศาลมองว่าจำเลยทั้งสิบสองเข้าไปชุมนุมในที่สาธารณะ และการตั้งเวทีปราศรัยก็เป็นการกีดขวางทางจราจร ทำให้รถสัญจรไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสองจึงเป็นความผิด 

ในส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และมาตรา 116 กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบ หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินศาลระบุว่า ระหว่างการชุมนุมมีการผลักดันแผงเหล็กกับเจ้าหน้าที่ คฝ. จนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงจำเลยบางส่วนมีการปราศรัย ร้องเพลงจาบจ้วงสถาบันฯ และถือป้ายข้อความล้มล้างระบอบกษัตริย์ แต่ไม่ได้มีการระบุเจาะจงว่ากล่าวถึงใคร ศาลจึงมองว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือร้ายแรงถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3), มาตรา 215 วรรค 1, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป 

ฐาน มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนัก จำคุก 2 เดือน

ฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนัก ปรับ 2,000 บาท 

รวมจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท เนื่องจากจำเลยทั้งสิบสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก 

อนึ่ง การชุมนุมของกลุ่ม ​Free Youth หรือเยาวชนปลดแอก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 โดยมีการนัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีการเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรวม 3 ข้อ ได้แก่ เรียกร้องให้ยุบสภา, แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และหยุดคุกคามประชาชน

ต่อมาภายหลังนักกิจกรรมที่ขึ้นปราศรัย กระทั่งนักดนตรีที่ขึ้นแสดง ได้ถูกออกหมายจับและถูกจับกุมตลอดเดือน ส.ค.-ก.ย. 2563 ในขณะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมยังได้ถูกตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาอีก 15 คน แยกเป็นคดีที่ถูกฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้

การชุมนุมครั้งนี้นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่ติดตามมาอีกนับร้อยครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และปี 2564 รวมทั้งนำไปสู่การยกระดับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในเวลาต่อมา

.

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เปิดคำฟ้อง 2 คดีเยาวชนปลดแอก ทั้งคดีแกนนำ-ผู้ชุมนุม หลังอัยการเร่งฟ้อง เหตุจวนครบ 1 ปี การชุมนุม

นัดตรวจพยานฯ คดีแกนนำ #เยาวชนปลดแอก โจทก์ขอสืบพยานอื้อ 71 ปาก แนบหลักฐานอีก 85 ชิ้น ศาลนัดสืบยาวปลายปี 65 ถึง ก.พ. 66

ผ่านไปปีกว่า ตร.ไม่เคยจับ นศ.ศิลปากรเข้ามอบตัวหมายจับคดี ม.116 เยาวชนปลดแอก ก่อนศาลให้ประกัน

ชุมนุม #เยาวชนปลดแอก

X