20 ธันวาคม 2564 – ศาลอาญา รัชดาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีของนักกิจกรรมทั้งหมด 12 ราย สืบเนื่องจากการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกรณีของกลุ่มแกนนำ ซึ่งถูกตั้งข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, มาตรา 215 วรรคสาม และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
จำเลยส่วนใหญ่เป็นแกนนำนักกิจกรรมทางการเมือง ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, กรกช แสงเย็นพันธ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, บารมี ชัยรัตน์, เดชาธร บำรุงเมือง, ธานี สะสม, ธนายุทธ ณ อยุธยา, ทศพร สินสมบุญ โดยจำเลย 1 ราย ในจำนวนนี้คือ เนตรนภา อำนาจส่งเสริม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งถูกจับกุมภายหลังจากการชุมนุมผ่านไปนานนับปี ก่อนฟ้องเป็นคดีแยก ต่อมา อัยการได้ขอรวมคดีของเธอเข้ากับจำเลยรายอื่นในคดีหลัก – นอกจากเนตรนภา ยังมีจำเลย 1 ราย ที่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถตามตัวมาฟ้องได้ คือ ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์
>>> เปิดคำฟ้อง 2 คดีเยาวชนปลดแอก ทั้งคดีแกนนำ-ผู้ชุมนุม หลังอัยการเร่งฟ้อง เหตุจวนครบ 1 ปี การชุมนุม
>>> ผ่านไปปีกว่า ตร.ไม่เคยจับ นศ.ศิลปากรเข้ามอบตัวหมายจับคดี ม.116 เยาวชนปลดแอก ก่อนศาลให้ประกัน
ในนัดตรวจพยานฯ มีการเบิกตัว พริษฐ์, อานนท์ และภาณุพงศ์ ซึ่งถูกขังอยู่ มาร่วมในกระบวนการด้วย โจทก์ได้แถลงต่อศาลว่า ประสงค์จะสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 71 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีต่างๆ รวม 7 แห่ง จำนวน 21 นาย, เป็นสิบตำรวจโทหญิง รวม 5 คน จาก กองกำกับการควบคุมฝูงชน 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน, เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดนครบาล จำนวน 21 นาย, เป็นกองวิเคราะห์ข่าวฯ กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ 1 นาย, เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดสันติบาล 2 นาย, เป็นเจ้าหน้าที่จาก บก.ปอท. 1 นาย, เป็นเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการตำรวจจราจร 1 นาย, ประชาชนทั่วไป 11 ราย, เป็นแพทย์ 1 ราย, และเป็นเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ตรวจทั้งทางเคมีและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ รวม 7 นาย
นอกจากนั้น ยังมีการยื่นส่งพยานเอกสาร ภาพถ่าย สำเนาข้อความ รายงาน บันทึกการถอดเทป บันทึกการจับกุม/แจ้งข้อกล่าวหา ผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และแผ่นซีดีบรรจุข้อมูล รวมทั้งสิ้น 85 รายการ
ทางด้านทนายจำเลยระบุว่า จะสืบตัวพยานจำเลยเอง 12 ปาก บุคคลภายนอกซึ่งเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และสิทธิมนุษยชน 5 ปาก รวมพยานจำเลย 17 ปาก และขอส่งเอกสารประกอบการสืบพยานทั้งหมด 9 ฉบับ เป็นสำเนาคำสั่งไม่ฟ้องคดีการเมืองของอัยการ สำเนาคำพิพากษา กฎหมายระหว่างประเทศ และรายงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวทาง/มาตราการการรับมือโรคโควิด 19 ที่ออกโดยทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ
ศาลสอบถามคู่ความแล้ว ระบุว่า ไม่มีข้อเท็จจริงที่สามารถรับกันได้ จึงต้องสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 71 ปาก โดยเป็นพยานที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในวันดังกล่าว ได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันชุมนุม จะเบิกความเรื่องการกระทำผิดของจำเลย, เจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่, พนักงานฝ่ายสืบสวนที่หาข่าวเรื่องการชุมนุมและจับจำเลย, พนักงานสอบสวนและทีมในคดี, คนทั่วไปที่จะมาเบิกความเกี่ยวกับการชุมนุมและการปราศรัยของจำเลย, แพทย์ที่ตรวจบาดแผลผู้เสียหายทั้ง 5 รวมถึงผู้ตรวจบันทึกภาพและวัตถุพยาน
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรนัดสืบพยานโจทก์จำนวน 10 นัด กำหนดนับสืบพยานเป็นวันที่ 8 – 9 ธันวาคม 2565, 24 มกราคม 2566, 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2566, และ 7 – 10 กุมภาพันธ์ 2566 ในส่วนของพยานจำเลย จะสืบพยานจำนวน 4 นัด กำหนดตั้งแต่วันที่ 14 – 17 กุมภาพันธ์ 2566
คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 กลุ่ม Free Youth หรือเยาวชนปลดแอก นัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรวม 3 ข้อ ในงานมีผู้ขึ้นปราศรัย นักดนตรีขึ้นร้องเพลง และผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก ภายหลังประชาชนที่ขึ้นปราศรัย กระทั่งนักดนตรี ได้ถูกออกหมายจับและถูกจับกุมตลอดเดือน ส.ค.-ก.ย. 2563 จำนวน 14 คน ก่อนเพิ่งมีการแจ้งข้อหานักศึกษาศิลปากรอีกหนึ่งรายเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ในขณะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมยังได้ถูกตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาอีก 15 คน แยกเป็นคดีที่ถูกฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตอีกคดีหนึ่ง
การชุมนุมครั้งนี้นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่ติดตามมาอีกนับร้อยครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และปี 2564 รวมทั้งนำไปสู่การยกระดับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในเวลาต่อมา