เปิดประมวลมหากาพย์คดี ม.116 ชุมนุม #เยาวชนปลดแอก จุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวปี 2563 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษา

วันที่ 12 มิ.ย. 2566 เวลา 13.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมทั้งหมด 12 ราย สืบเนื่องจากการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกรณีของกลุ่มแกนนำ ซึ่งถูกตั้งข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, มาตรา 215 วรรคสาม และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

จำเลยส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งมีนักดนตรีที่ขึ้นร้องเพลงในเวทีวันดังกล่าวด้วย ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, กรกช แสงเย็นพันธ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, บารมี ชัยรัตน์, เดชาธร บำรุงเมือง, ธานี สะสม, ธนายุทธ ณ อยุธยา, ทศพร สินสมบุญ และเนตรนภา อำนาจส่งเสริม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร จำเลยรายสุดท้าย ซึ่งถูกจับกุมภายหลังจากการชุมนุมผ่านไปนานนับปี ก่อนฟ้องคดีติดตามมา 

>>> เปิดคำฟ้อง 2 คดีเยาวชนปลดแอก ทั้งคดีแกนนำ-ผู้ชุมนุม หลังอัยการเร่งฟ้อง เหตุจวนครบ 1 ปี การชุมนุม

การชุมนุมของกลุ่ม ​Free Youth หรือเยาวชนปลดแอก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 โดยมีการนัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีการเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรวม 3 ข้อ ได้แก่ เรียกร้องให้ยุบสภา, แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560  และหยุดคุกคามประชาชน

ภายหลังนักกิจกรรมที่ขึ้นปราศรัย กระทั่งนักดนตรีที่ขึ้นแสดง ได้ถูกออกหมายจับและถูกจับกุมตลอดเดือน ส.ค.-ก.ย. 2563  ในขณะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมยังได้ถูกตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาอีก 15 คน แยกเป็นคดีที่ถูกฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้

การชุมนุมครั้งนี้นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่ติดตามมาอีกนับร้อยครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และปี 2564 รวมทั้งนำไปสู่การยกระดับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในเวลาต่อมา

.

ภาพรวมการสืบพยาน: ฝ่ายโจทก์กล่าวหาผู้ชุมนุมพฤติการณ์กระด้างกระเดื่อง ไม่เคารพสถาบันฯ ด้านจำเลยยืนยันการชุมนุมเป็นไปโดยสันติ-การชู 3 ข้อเรียกร้องสามารถทำได้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 

คดีนี้ ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์และจำเลยตั้งแต่วันที่ 8–9 ธ.ค. 2565, 24 ม.ค. 2566, และ 1–3, 7–10, 14 ก.พ. 2566 ที่ห้องพิจารณา 904 มีการสืบพยานโจทก์จำนวนรวม 27 ปาก และพยานจำเลย 2 ปาก

ฝ่ายโจทก์ได้พยายามกล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 12 คน ว่าได้มีส่วนร่วมจัดชุมนุมและสลับกันขึ้นปราศรัยโจมตีรัฐบาล มีการชูป้ายข้อความทำนองให้หยุดคุกคามประชาชนและปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการแสดงให้ปรากฏต่อประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง เกิดความวุ่นวาย ล่วงละเมิดกฏหมายแผ่นดิน รวมถึงทำกิจกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด  

ขณะที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม และการชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของประชาชน การชุมนุมโดยภาพรวมเป็นไปอย่างสงบสันติ ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงใดๆ  

ในวันสืบพยานวันแรก จำเลยทั้ง 12 รายทยอยปรากฎตัวในห้องพิจารณา หลังจากผู้พิพากษาขานเรียกชื่อจำเลยจนครบและอ่านทวนฟ้องให้จำเลยฟัง ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า เนื่องจากจำเลยแต่ละคนมีภาระหน้าที่ทางการงานและการศึกษาที่แตกต่างกันไป จึงขอพิจารณาลับหลังจำเลย ก่อนศาลอนุญาต และเริ่มต้นการพิจารณาคดี 

.

อดีตตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ กล่าวหา “ผู้ชุมนุม” มีพฤติการณ์ก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ไม่เคารพสถาบันฯ  

พ.ต.ท.ชาณิช เข็มเพชร์ และ พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร สองผู้กล่าวหา โดยช่วงเวลาเกิดเหตุ พยานรับราชการเป็นตำรวจที่ สน.สําราญราษฎร์ 

ทั้งสองเข้าเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ก่อนเกิดเหตุหนึ่งวัน พยานทราบว่าพริษฐ์และพวกได้ทำกิจกรรมในช่วงเวลาเย็น ชื่อกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” หรือ Free Youth ก่อตั้งเพื่อต่อต้านรัฐบาล กฎหมายรัฐธรรมนูญ การปกครอง และที่มาที่ไปอันไม่ชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เท่าที่ทราบจากการสืบสวน มีการเชิญชวนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ การชุมนุมวันเกิดเหตุ 18 ก.ค. 2563 มีวัตถุประสงค์คือ ต่อต้านรัฐบาล และเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 แต่ในช่วงดังกล่าวมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และห้ามการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

หลังจากคาดเดาว่าจะมีผู้ชุมนุมจำนวนกว่า 100 คนขึ้นไป ทางเจ้าหน้าที่รัฐจะพูดคุยประเมินกันก่อน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มตำรวจ, เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน, ตำรวจสันติบาล ซึ่งจะมีการรับผิดชอบร่วมกัน พร้อมประสานกองกำกับการสืบสวนนครบาล 1, สน.ชนะสงคราม และ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน 

ตามเอกสารหลักฐานของแผนการชุมนุมที่ปรากฎในคดีนี้ ตำรวจทุกคนใน สน.สำราญราษฎร์ มีหน้าที่ทำตามแผนดังกล่าว โดยพวกพยานอยู่ฝ่ายสืบสวน มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน และควบคุมดูแลฝ่ายปฎิบัติการสืบสวน

เวลา 15.30 น. พยานแต่งกายนอกเครื่องแบบ ปฎิบัติหน้าที่บนฟุตบาทบริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย และก็เริ่มเห็นผู้ชุมนุมตรงหน้าร้านแมคโดนัลด์ พยานระบุว่าพบพริษฐ์เริ่มมาทำกิจกรรมบริเวณฟุตบาทดังกล่าว โดยในตอนแรกเจ้าหน้าที่จะมีการกั้นแผงเหล็กไว้ตลอดแนวฟุตบาท ป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมทำกิจกรรมกลางถนน อย่างไรก็ตามกลุ่มประชาชนได้หลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ 

พริษฐ์ใช้โทรโข่งเชิญชวนคนมาร่วมชุมนุม มีข้อความชักชวนผู้คนมาต่อต้านรัฐบาล ก่อนมีคนทยอยมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเวลา 16.00 น. ผู้ชุมนุมผลักแผงเหล็กล้มลงบนถนน

พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร ผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายควบคุมโรคฯ ได้มีการประชาสัมพันธ์พูดคุยกับผู้ชุมนุมว่า การชุมนุมนั้นเสี่ยงผิดกฎหมาย สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 การกีดขวางทางสาธารณะและการจราจรฯ นอกจากนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้ไมโครโฟนบลูทูธต่อกับลำโพง มีเสียงดังทั่วทั้งบริเวณดังกล่าว ซึ่งการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าดังกล่าวต้องทำการขออนุญาตก่อน

พยานได้เปิดคลิปเสียงที่เตรียมไว้เรื่องข้อห้ามต่างๆ เปิดวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบ กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านและไม่เชื่อฟัง พริษฐ์ได้พูดผ่านเครื่องเสียงในลักษณะท้าทายว่า “โควิด ไม่มีแล้ว” “ตำรวจเป็นขี้ข้าของรัฐบาล” ประชาชนบริเวณดังกล่าวจึงได้ช่วยผลักดันแผงเหล็กเพื่อขยายพื้นที่การชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้พยายามฉุดรั้งกัน กระทั่งกลุ่มผู้ชุมนุมดันแผงเหล็กไปชิดอนุเสาวรีย์ได้และดันเวทีให้เคลื่อนไปจนติดกับแนวอนุสาวรีย์ 

พยานระบุว่า พริษฐ์เป็นแกนนำหลักที่ขึ้นปราศรัยหัวข้อต่างๆ ต่อมาจำนวนคนเริ่มมากขึ้น ตั้งแต่ฟุตบาทจนถึงเวที น่าจะราวๆ 200 คน โดยไม่ได้มีการปฎิบัติตามมาตรการควบคุมโรค ไม่มีจุดคัดกรอง ส่วนแอลกอฮอล์ล้างมือจะมีไหมหรือไม่ พยานแน่ใจ 

ตำรวจเบิกความว่า พริษฐ์กับพวกได้ปราศรัยปลุกเร้าผู้ชุมนุมอยู่เรื่อยๆ และเริ่มผลักดันแนวแผงเหล็กหลังเวที เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่อยู่แนวแผงเหล็กได้ปล่อยให้ผลักดัน โดยมีการยื้นสักพัก จนแผงเหล็กล้มลง และเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน 5 ราย ได้รับบาดเจ็บ ก่อนกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายไปบนพื้นผิวการจราจร 

พยานเห็นเหตุการณ์เองเป็นส่วนน้อย แต่ได้รับรายงานมา ตอนที่เคลื่อนย้ายลงถนน พยานจำไม่ได้ว่าอยู่ตรงบริเวณนั้นหรือไม่ แต่ทราบว่ามีการเคลื่อนย้าย 

พยานได้รับแจ้งจากหน่วยงานอื่นๆ ช่วยประเมินว่าจะมีจำนวนคนเท่าใด กิจกรรมนอกจากมีการปราศรัย ยังได้รับรายงานว่า ทศพรได้ชูป้ายข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ก่อนมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบป้ายข้อความดังกล่าว โดยพยานจำไม่ได้ว่ามีป้ายข้อความอื่นอีกไหม อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ชุมนุมมีการผลักดันเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปดำเนินการกับคนถือป้ายดังกล่าว นอกจากนี้ พยานได้รับรายงานว่า มีการโพสต์ภาพป้ายข้อความดังกล่าวลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” ด้วย

พยานเบิกความถึงเหตุการณ์บนเวที ว่ามีการปราศรัยเชิญชวน ร้องเพลงเสียดสีรัฐบาล ชักชวนให้ยกเลิกมาตรา 112 และพูดถึงการใช้ภาษีประชาชนปรนเปรอผู้หญิงในต่างประเทศ ฝ่ายสืบสวนได้เก็บภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวตลอดการทำกิจกรรมจากหลายหน่วยงาน เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และสื่อมวลชนต่างๆ ซึ่งตรงกับเหตุการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น พยานได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้กล่าวหา กิจกรรมดังกล่าวดำเนินไปจนถึงเวลาเที่ยงคืน ผู้ชุมนุมจึงยุติการทำกิจกรรม

หลังรวบรวมพยานหลักฐานเห็นแล้วว่าจำเลยแต่ละคนมีความผิดต่างกันไป โดย สน.สำราญราษฎร์ เป็นศูนย์รวมข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ และพยานทั้งสองได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี ในส่วนของการถอดเทปคำปราศรัย พยานยืนยันว่าจัดทำโดย สน.สำราญราษฎร์

เนื่องจากมีพยานหลักฐานเพิ่มมา มีการพิสูจน์ภาพผู้กระทำผิด มีการถอดเทป ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา โดยรวมเป็นเห็นว่าเป็นความผิดในข้อหาชุมนุมโดยไม่ไ่ด้รับอนุญาต ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยกลุ่มจำเลยมีลักษณะเป็นแกนนำ ดูได้จากการปราศรัย มีการยุยงให้เกิดการกระทำผิด ก่อให้เกิดการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินเจ้าหน้าที่ คฝ. หญิงได้รับบาดเจ็บ ชักชวนให้ผู้ชุมนุมมีความคิดเหมือนกับเขา เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่สุจริต ก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง รู้สึกแง่ลบกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเข้าข่ายมาตรา 116 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ชาณิช และ พ.ต.อ.อิทธิพล เบิกความโดยสรุปว่า พยานได้เป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนด้วย โดยมีการพิจารณาร่วมกันว่าจะแจ้งข้อหาใดบ้าง เพื่อให้สำนวนเกิดความรอบคอบรัดกุม พยานปฎิบัติหน้าที่อยู่ในที่ชุมนุมบ้างและไปที่อื่นบ้าง พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่หลายนายประจำหลายจุด  

พยานรับว่าที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก จากที่อ้างว่าผิดข้อกำหนดที่ “ห้ามชุมนุมในสถานที่แออัด” พยานยอมรับว่าไม่ได้มีการห้ามชุมนุมในทุกสถานที่ และจากภาพพยานหลักฐานที่ปรากฎ พยานรับว่าจำเลยบางส่วนสวมใส่หน้ากากอนามัยจริง 

พยานรับว่า ขณะเกิดเหตุมีรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ขณะชุมนุมมีการชู 3 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และหยุดคุกคามประชาชน พยานยืนยันว่ามีการปราศรัยหลายเรื่อง ได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง แต่ได้มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่คนอื่นเพิ่มเติม ก่อนนำมาประมวลผล

เนื้อหาปราศรัยทั้งหมด พยานจำไม่ได้ แต่จากคำให้การ มีการพูดถึงการทุจริต เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก หยุดคุกคามประชาชน และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของภาษี “พวกมึงใช้ภาษีไปปรนเปรอนารี” แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นใครและอยู่ประเทศไหน อย่างไรก็ตาม ในข้อความที่พูดถึง “ปรนเปรอนารี” และการร้องเพลงทำนองนำภาษีไปใช้ในต่างประเทศ พยานเห็นว่าเป็นการจาบจ้วงสถาบันฯ พร้อมกับยืนยันตามคำให้การเดิมว่ามีการจาบจ้วงพาดพิงสถาบันฯ

พยานรับว่า การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบปกติ ไม่มีรายงานความวุ่นวายหรือพกพาอาวุธ พ.ต.ท.ชาณิช รับว่ารัฐบาลสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกและยุบสภา ก็มีการเรียกร้องในรัฐบาลก่อนๆ ด้วย นอกจากนี้ทราบว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นพื้นที่เรียกร้องประชาธิปไตยเชิงสัญลักษณ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ

เกี่ยวกับบริเวณเส้นทางโค้งหน้าร้านแมคโดนัลด์ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พยานรับว่าในวันปกติมีผู้ปกครองมารับเด็กที่โรงเรียนสตรีวิทยา ก็จะมีการอะลุ่มอล่วยให้ผู้ปกครองมาจอดรถรับส่งนักเรียนได้ ในระยะเวลาช่วงเย็นรถติดกันเป็นปกติ เท่าที่ทราบไม่มีการการดำเนินคดีกับผู้ปกครองในข้อหากีดขวางการจราจร

ในส่วนข้อหาการใช้เครื่องขยายเสียง พยานได้ตรวจสอบที่ สน.สําราญราษฎร์ แล้วไม่มีการขออนุญาตแต่อย่างใด ทั้งนี้ผู้จัดชุมนุมสามารถขอได้ที่สถานีตำรวจ สำนักงานเขต และหน่วยงานอื่นๆ  

พยานรับว่าตามรายงานศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2563 ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง จนเกือบเป็นศูนย์

พยานคอยดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อยในพื้นที่การชุมนุม มีหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจรและประชาชนที่ต้องอยู่ในเส้นทางการชุมนุม แต่ถนนเป็นที่สาธารณะ การชุมนุมต้องอยู่ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ และไม่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้อื่น ในความเห็นของพยาน หากการชุมนุมกระทบสิทธิผู้อื่นก็ไม่สมควร 

ในแผนการที่วางไว้หากมีการปิดถนนเกิดขึ้น พยานมีหน้าที่อำนวยการจราจร ประชาสัมพันธ์ให้คนใช้เส้นทางอื่น การชุมนุมเกิดบนพื้นผิวจราจรบริเวณหน้าแม็คโดนัลด์ แต่ถนนฝั่งตรงข้ามยังคงสามารถใช้งานได้ แต่ช่องจราจรเหลือเพียง 2 ช่องทาง

.

ตำรวจจราจรเบิกความ ตนมีหน้าที่อำนวยความสะดวกจราจร-ในวันธรรมดาการจราจรติดขัดเป็นปกติเพราะผู้ปกครองรับส่งนักเรียน 

ร.ต.อ.ธัชพล มั่นคง อดีตตำรวจจราจร เบิกความว่า เคยรับราชการที่ สน.สำราญราษฎร์ ตั้งแต่ปี 2563 ในวันเกิดเหตุ พยานมีหน้าที่อำนวยการจราจร และสั่งให้ตำรวจจราจร 12 นาย อำนวยการจราจรในที่ชุมนุม

ตั้งแต่เวลา 14.00 น. พยานกับพวกนำแผงเหล็กไปตั้งที่ร้านแมคโดนัลด์ ยาวประมาณ 60 เมาตร แต่ละอันยาว 2 เมตร โดยมีการเกี่ยวตะขอยาวประมาณ 60 เมตร วางบนถนนขอบชิดซ้ายทางเท้าเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บนทางเท้า ก่อนผู้ชุมนุมมายืนรวมตัวกันประมาณบ่ายสามโมง โดยจะอยู่บนทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ 

เวลา 16.00 น. เมื่อผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น เริ่มมีการขยับแผงเหล็กลงมา ตอนนั้นยังไม่มีเจ้าหน้าที่ คฝ. เข้ามา ผู้ชุมนุมได้เริ่มปลดตะขอแผงเหล็กที่คล้องกันออก และลงมาบนถนนสองเลนด้านซ้ายหน้าแมคโดนัลด์ กินพื้นที่ประมาณสองช่องจราจร แต่รถยังวิ่งได้ในสองเลนด้านขวา พยานได้เข้าไปอำนวยการจราจรให้ 

จากนั้น มีรถปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาในบริเวณพื้นที่ มีผู้ชุมนุมราว 200 คน โดยมีสายสืบนอกเครื่องแบบปะปนกับผู้ชุมนุม สำหรับเนื้อหาการปราศรัย พยานไม่ได้สนใจฟัง เพราะต้องดูแลการจราจร แต่มีคนทยอยเข้ามาเรื่อยๆ จนเวลา 17.00 น. มีผู้ชุมนุมประมาณ 400 คน การจราจรสัญจรไม่ได้อีก

พยานได้เปิดให้รถเดินฝั่งตรงข้ามในลักษณะสวนไปมาได้ กระทั่งเวลาประมาณ 17.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมปิดช่องทางที่สี่แยกคอกวัว ทำให้รถวิ่งเข้าไปอนุสาวรีย์ฯ ไม่ได้อีก  

หลังการชุมนุมยุติลง เทศบาลและเจ้าหน้าที่ กทม. ได้กวาดแผงเหล็ก ตำรวจจราจรเก็บแผงเหล็ก การสัญจรกลับมาเป็นปกติตอนประมาณตีหนึ่งกว่า การกระทำกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการทำผิดกฎหมายจราจร แต่พยานไม่ทราบรายละเอียดข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีดังกล่าว  

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.ธัชพล เบิกความว่า ตรงถนนราชดำเนินมีการจราจรทั้งหมด 6 ช่อง และสามารถใช้ได้ทั้งหมด 6 ช่อง

พยานรับว่า ทำงานอำนวยการจราจรมานาน ในกรณีของโรงเรียนสตรีวิทยา พยานเคยอำนวยความสะดวกให้ผู้ปกครองที่มารับส่งบุตรหลานช่วงเวลาประมาณ 15.00-18.00 น. โดยมีการเว้นช่องทางจราจรไว้สามช่องทางเป็นการอนุโลม พยานรับว่าการเว้นไปสามช่องทางการจราจรไม่ได้ทำให้ติดขัด ไม่มีอุบัติเหตุ หรือไม่มีผู้ใดมาเรียกร้องกับพยานในวันเกิดเหตุ 

พยานเบิกความว่า ตอนแรกกลุ่มผู้ชุมนุมมาไม่มาก โดยยืนอยู่บนฟุตบาทหน้าร้านแมคโดนัลด์ แต่พอมีกลุ่มคนมามากขึ้นบนฟุตบาทหน้าร้านแมคฯ ไม่เพียงพอ จึงขยับฟุตบาทลงมา พยานกับพวกไม่ได้ขัดขวางแต่อย่างใด รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกให้

ในช่วงกลางคืนมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 คน และก็มีการนั่งปราศรัยไปเรื่อยๆ จนถึงเที่ยงคืน พื้นที่การชุมนุมเป็นบริเวณกว้างขวาง อากาศถ่ายเทได้สะดวก สามารถจุคนได้ประมาณ 5,000 คน 

เท่าที่พยานเห็น ในระหว่างการทำกิจกรรม ผู้ชุมนุมได้นำดอกไม้มาประดับรอบฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและนำแผงเหล็กกั้นล้อมรอบด้วย 

.

คฝ.หญิงระบุ ถูกผู้ชุมนุมหลายรายผลักแผงเหล็กใส่ได้รับบาดเจ็บ แต่เลือกแจ้งความ “เพนกวิน” – ผลตรวจแพทย์พบเพียงแผลถลอก บวมช้ำ ไม่มีอาการแทรกซ้อน 

ในส่วนพยานกลุ่มที่เป็นเจ้าหน้าที่กองกำกับการควบคุมฝูงชนหญิงจำนวน 5 ราย ได้แก่ ร.ต.ท.หญิง อรุณรัตน์ เครือญาติ, ร.ต.ท.หญิง รวีภัทร์ ชำนิการ, ส.ต.อ.หญิง วิภาวี กัสยานันท์, ส.ต.ท.หญิง ปิยฉัตร สงอาจินต์, และ ส.ต.อ.หญิง อภิญญา นพศรี

พยานเบิกความเป็นภาพรวมโดยสรุปว่า ก่อนหน้าวันเกิดเหตุ ทางหน่วยงานได้รับมอบหมายให้ไปควบคุมฝูงชนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 18 ก.ค. 2563 โดยกลุ่มของพยานกับพวกมีทั้งหมดรวม 10 คน มี ร.ต.อ.กันตพล บุญเรือน เป็น ผบ.หมู่ควบคุมกำลัง 

ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. กลุ่มของพยานรอประจำการอยู่ที่โรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อถึงเวลา 17.00 น. ถึงได้ออกมาตั้งแนว มีกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าแมคโดนัลด์อยู่เป็นจำนวนมาก ทางตำรวจมีการกั้นแผงเหล็กระหว่างฟุตบาทกับถนนจากหน้าร้านแมคโดนัลด์ไปถึงแยกคอกวัว 

ผบ.หมู่ สั่งให้ คฝ.ชาย ยืนกระจายอยู่ตามแผงเหล็ก ส่วนตัว คฝ.หญิง จะเข้าไปแทรก กลุ่มของพยานยืนหันหน้าเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุม และยืนอยู่ใกล้เวที เมื่อพริษฐ์ขึ้นปราศรัยก็มีการพูดยุยงให้กลุ่มผู้ชุมนุมยืนชิดแผงเหล็กให้ดันไปใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนผู้ชุมนุมได้ผลักดันแผงเหล็กพร้อมกัน

ผู้ชุมนุมยกแผงเหล็กขึ้นลอยเพื่อขยายพื้นที่ กลุ่มของพยานกับ คฝ.ชาย ได้ยืนกันไว้เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมขยายพื้นที่ ยื้อหยุดกับผู้ชุมนุมครู่หนึ่ง เพราะตำรวจมีน้อยกว่า กลุ่มผู้ชุมนุมดันแผงเหล็กไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำรวจ คฝ. จึงค่อยแยกตัวออกจากพื้นที่ โดยกลุ่มของพยานได้รับบาดเจ็บทางร่างกายหลายแห่ง เช่น หัวเข่าถูกกระแทก ฟกช้ำที่ขาและแขน เป็นต้น 

หลังผลักดันกันเสร็จ กลุ่มพยานได้กลับไปตั้งหลักที่โรงเรียนสตรีวิทยา และไปที่โรงพยาบาลกลางในวันเกิดเหตุ หลังตรวจรักษาเสร็จ ได้ไป สน.สำราญราษฎร์ เพื่อแจ้งความ ทั้งหมดได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับพริษฐ์ ข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน กลุ่ม คฝ.หญิง เบิกความโดยสรุปว่า หลังเหตุการณ์ผลักดันกัน ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับไปที่โรงเรียนสตรีวิทยาเพื่อให้รอดูเหตุการณ์ต่อไป แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาพบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ ก็เห็นสมควรว่าให้ไปพบแพทย์และแจ้งความ โดยกลุ่มพยานไปถึงโรงพยาบาลประมาณทุ่มหนึ่ง หลังจากตรวจรักษา อาการบาดแผลได้หายไปเอง ไม่ได้มีอาการแทรกซ้อนอื่นใด

กลุ่มพยานยอมรับว่าไม่ได้สวมชุดป้องกันในเครื่องแบบควบคุมฝูงชน ไม่มีสนับเข่าหรือชุดเกราะ เพราะผู้บังคับบัญชาไม่ได้สั่งให้ใส่ การแต่งกายคือชุดปกติและสวมรองเท้าคอมแบต ไม่มีอาวุธหรืออุปกรณ์ป้องกันตัวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ตำรวจ คฝ.หญิง ที่เคยผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว จะรู้วิธีปฎิบัติกับผู้ชุมนุมระหว่างเกิดม็อบ จะต้องใส่เครื่องป้องกันให้ครบถ้วน โดยพยาน คฝ.หญิง บางส่วนรับว่า หากใส่ชุดป้องกันก็จะไม่เกิดการบาดเจ็บขึ้น ส่วนจะมีผู้ชุมนุมบาดเจ็บหรือไม่ พวกพยานไม่ทราบ แต่คาดว่าน่าจะมีการบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ ก่อนวันเกิดเหตุได้มีการประเมินสถานการณ์กันแล้วว่าจะไม่มีอันตราย เพราะถ้าอันตราย จะไม่ใช้เจ้าหน้าที่ คฝ.หญิง พร้อมกับเห็นว่า คฝ.หญิง จะช่วยลดภาพความรุนแรงได้ และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน เนื่องจากต้องมีการตรวจค้นผู้ชุมนุมหญิงว่า มีการพกพาอาวุธหรือไม่ 

กลุ่มพยานเบิกความว่า เหตุที่ไปปฎิบัติหน้าที่ก็เพื่อไปดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ให้ปิดกั้นจราจร และรักษาแนวรั้วไว้ พอเกิดการดันแผงเหล็กขึ้น ผู้บังคับบัญชาก็ให้ถอยออกมา เพราะไม่อยากให้เกิดการปะทะ ช่วงนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมมีเป็นจำนวนมากยืนอยู่ทั้งบนฟุตบาทและผิวจราจร 

ในช่วงเกิดเหตุชุลมุนวุ่นวาย ไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมคนใดดันแผงเหล็ก ทำให้เจ้าหน้าที่ คฝ.หญิง บาดเจ็บ แต่เลือกที่จะไปแจ้งความต่อพริษฐ์ เพราะเห็นว่าเป็นคนชักชวนให้คนเข้าร่วมชุมนุม อย่างไรก็ตามหลังดันแผงเหล็กกันแล้ว การชุมนุมเป็นไปอย่างปกติ ไม่ได้มีการใช้กำลังอีกแต่อย่างใด 

.

ตำรวจถ่ายภาพ-ถอดเทป ไม่ได้บันทึกเหตุการณ์กระทั่งจบชุมนุม แต่นำคลิปจากสื่อโซเชียลมาถอดเทป

ส.ต.ท.เผ่าพชร บรรจงดวง และ พ.ต.อ.ทรงฤทธิ์ บุญบุตร เจ้าหน้าที่ถอดเทป สน.สําราญราษฎร์ เบิกความในลักษณะคล้ายกันว่า พวกเขาได้รับคำสั่งจากผู้กำกับกองสืบสวนสอบสวนให้ไปบันทึกภาพเคลื่อนไหวการชุมนุม และตัดต่อคลิปวิดีโอ โดยพวกเขาเข้าพื้นที่การชุมนุมตั้งแต่ช่วงเวลากลางวัน อยู่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ และใช้กล้องดิจิตัลสลับกันถ่ายภาพตอนจำเลยขึ้นปราศรัย ก่อนเสร็จสิ้นภารกิจกันในเวลาเที่ยงคืน 

ในการถอดเทปปราศรัย ต้องมีการระบุช่วงเวลา ชื่อผู้ปราศรัย และเนื้อหาการปราศรัย พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำไว้ในฐานะพยาน 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ส.ต.ท.เผ่าพชร เบิกความว่า ตามบันทึกการถอดเทปผู้ปราศรัยบนเวที พยานบันทึกวิดีโอและอยู่ในพื้นที่ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยไม่ทราบว่าหลังจากบันทึกวิดีโอเสร็จแล้ว จะมีการปราศรัยต่อไปหรือไม่ 

ภาพที่เอามาลงในบันทึกถอดเทปนั้นเป็นคลิปวิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์บางช่วง ขณะบันทึกก็มีเสียงแทรกคำปราศรัยได้ยินไม่ชัด ดังนั้นจึงนำคลิปเหตุการณ์ในเฟซบุ๊กจากเพจอื่นๆ มาเทียบเคียงกันและถอดคำปราศรัย บางคลิปพยานรับว่าไม่ได้เป็นผู้บันทึกเอง ทั้งนี้เนื้อหาการปราศรัยส่วนใหญ่พูดถึงข้อเรียกร้องสามข้อ 

.

จนท.สำนักงานเขตพระนคร ระบุผู้จัดชุมนุมต้องขออนุญาตใช้เครื่องเสียง-สถานการณ์โควิดในประเทศผู้ติดเชื้อตอนนั้นเป็นศูนย์

รัตติกรณ์ สนั่นเอื้อน เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพระนคร เบิกความว่า ก่อนหน้าวันเกิดเหตุ พยานได้รับหนังสือจาก สน.สำราญราษฎร์ เรื่องขอให้ช่วยตรวจวัดระดับเสียงในการชุมนุม พยานได้ไปในที่ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยนำอุปกรณ์เครื่องตรวจวัดระดับเสียง พร้อมหาจุดตั้งวางอุปกรณ์ดังกล่าว โดยวางตรวจเช็คไปทีละจุด 

บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา พยานเห็นคนปราศรัยและผู้ชุมนุมมาตรงหน้าเวที มีลำโพงขนาดใหญ่พอสมควร ลำโพงจะมีสายหรือไร้สาย พยานไม่ได้สังเกต พบว่าระดับเสียงไม่เกินระดับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด ประมาณ 153 เดซิเบล ในส่วนของระดับเสียงนั้นไม่เกินมาตราฐาน แต่พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ จำเป็นต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานก่อน จะใช้ดับเสียงกี่วัตต์ก็ได้ แต่เสียงต้องไม่ดังรบกวนเกินไปสำหรับประชาชน โดยจะขออนุญาตก่อนกี่วันก็ได้

นอกจากนี้ พยานมีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อฯ ช่วงนั้นโรคโควิด-19 ถูกประกาศเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในกรุงเทพฯ จึงได้มีการออกประกาศต่างๆ โดยจากที่พยานพบเห็นขณะลงพื้นที่ชุมนุม พบว่า ประชาชนมีการสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นการปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเพียงข้อเดียวเท่านั้น 

ช่วงทนายถามค้าน รัตติกรณ์เบิกความโดยสรุปว่า บริเวณอนุสาวรีย์เป็นพื้นที่เปิดโล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งตามข้อกำหนดซึ่งจะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ตามความเข้าใจของพยานเป็นการห้ามชุมนุมในสถานที่แออัด 

รัตติกรณ์รับว่าตนอยู่ในที่ชุมนุม ตั้งแต่ 17.00 น. – 20.00 น. ส่วนช่วงที่ไม่อยู่ พยานก็ไม่ทราบว่ามีการแจกเจลแอลกอฮอล์หรือไม่ และทำตามข้อกำหนดหรือไม่ และในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานว่า มีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ราย พยานรับว่าเรื่องสถานการณ์โควิดช่วงนั้น ยังไม่มีความรุนแรง 

ในส่วนประเด็นเรื่องเครื่องขยายเสียง พยานรับว่าในการชุมนุมนั้นจำเป็นต้องใช้เครื่องขยายเสียง เพื่อดูแลการชุมนุม และคนที่มีหน้าที่ไปขออนุญาต คือผู้จัดการชุมนุม 

.

ตำรวจบก.ปอท.ชี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้โพสต์เชิญชวนการชุมนุม แต่สามารถพิสูจน์ทราบได้ผ่านวิธีนิติวิทยาคอมฯ 

พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เบิกความว่าเกี่ยวกับคดีนี้ ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้พยานรวบรวมพยานหลักฐานทางเทคโนโลยีเพื่อพิสูจน์ตัวผู้กระทำผิด โดยได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบจากการดูสื่อสังคมออนไลน์ ก่อนที่จะนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาไป 

พยานมีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลในเฟซบุ๊ก โดยตรวจสอบว่าเป็นของจำเลยจริงหรือไม่ แต่จำเลยบางรายก็ไม่ใช้เฟซบุ๊ก ก่อนเกิดเหตุ พยานได้ตรวจสอบว่าจำเลยแต่ละคนมีการโพสต์ชักชวนการชุมนุมด้วยหรือไม่ ผู้ชุมนุมมีปฎิกิริยาอะไรต่อหรือไม่

ทั้งนี้ ในการตรวจสอบว่าใครเป็นคนใช้อุปกรณ์โพสต์ชักชวนการชุมนุม หรือใช้อุปกรณ์อะไรในการโพสต์ สามารถตรวจสอบได้ แต่พยานไม่ได้ทำ เพราะพยานรับหน้าที่คนเดียวสำหรับการตรวจสอบผู้ต้องหาทั้งหมด 31 คน นอกจากนี้ พ.ต.ท.อิสรพงศ์ เบิกความว่า ถ้าจะตรวจสอบว่าใครเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กจะต้องยึดอุปกรณ์มาตรวจสอบและต้องขอหมายศาล โดยวิธีนิติวิทยาคอมพิวเตอร์ (Digital Forensics) เป็นวิธีที่น่าเชื่อถือที่สุดในการพิสูจน์ แต่พยานไม่ใช้วิธีการดังกล่าวแต่อย่างใด  

.

ประชาชนกลุ่มปกป้องสถาบันฯ รวมตัวให้ความเห็น กิจกรรม-การปราศรัยเยาวชนปลดแอกเข้าข่ายล้มล้างฯ

ธนากร วิชิต ประกอบอาชีพทำอู่ซ่อมรถ เกี่ยวกับคดีนี้พยานไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมเยาวชนปลดแอก พยานทราบหลังจากที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นแล้ว โดยทราบจากทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊กและ Tiktok ที่เผยแพร่เหตุการณ์ปราศรัยในวันเกิดเหตุ

พยานถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกไปสอบปากคำเกี่ยวกับความรู้สึกในคำปราศรัย รวมถึงโพสต์ต่างๆ ของกลุ่มจำเลยก่อนวันเกิดเหตุ ซึ่งพยานเห็นการปราศรัยของภาณุพงศ์ จาดนอก ทำนองว่า “เอาเงินภาษีไปเลี้ยงนารีต่างประเทศ เสวยสุขบนภาษีประชาชน” ตามความเข้าใจของพยาน เนื้อความมุ่งหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

นอกจากนี้พยานรู้จักอานนท์ นำภา ซึ่งในเฟซบุ๊กมีการแชร์คำพูดว่า “เราหมดศรัทธาแล้ว” พยานเข้าใจว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์ เพราะอานนท์เคยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กชวนประชาชนโหวตทำนองว่า ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์อยู่หรือไม่ 

นอกจากนี้ พยานพบว่าบัญชีเฟซบุ๊กของทศพร สินสมบุญ โพสต์เข้าไปในกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส” ซึ่งเป็นกลุ่มโจมตีสถาบันกษัตริย์ และจากเหตุการณ์การชุมนุม “ธนายุทธ RAPPER” ได้ร้องเพลงแร็ปมีเนื้อความที่อาจเข้าใจได้ว่าสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ธนากรเบิกความว่า พยานจบการศึกษาระดับ ปวช. ที่โรงเรียนปทุมธานีวิทยาลัย ส่วนตัวเป็นคนสนใจติดตามข่าวสารบ้านเมือง พยานรู้จักกับศราวุธ ประยูร ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่โรงเรียน และทศพล มนูญรัตน์ รู้จักกันเพราะทำธุรกิจรถยนต์ด้วยกัน 

ธนากรเบิกความว่า ตนไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มใดทั้งสิ้น แต่เคยไปรับเสด็จฯ ที่สนามหลวง ไม่เคยไปร่วมชุมนุมของกลุ่มเทิดทูนสถาบันฯ แต่อย่างใด ทั้งนี้พยานรู้สึกว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอกต่อต้านสถาบันฯ และความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน พยานไม่เห็นด้วยกับกลุ่มดังกล่าวเพราะพยานรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์

พยานติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเกือบ 1 ปี การชุมนุมครั้งนั้นพยานไม่ได้ไป เพียงแต่ติดตามดูไลฟ์สด พยานไม่ได้ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนพร้อมๆ กับศราวุธ แต่ไปในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้โทรเรียกให้ไปเป็นพยาน พยานไม่ทราบว่าทำไมตำรวจถึงเรียกไป รวมถึงไม่ทราบรายละเอียดเรื่องการชุมนุมทั้งหมด ดูเท่าที่ตำรวจให้ดูเท่านั้น ส่วนข้อความปราศรัยก็ให้ความเห็นตามที่ตำรวจให้ดู พยานได้ให้การในลักษณะนี้ทั้งในชั้นสอบสวน และชั้นศาลนี้

แม้ข้อความ “เราหมดศรัทธาแล้ว” ไม่ได้หมายถึงในหลวงรัชกาลที่เท่าไหร่ ไม่ได้เจาะจงพระองค์ใด แต่พยานเข้าใจว่าหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ที่พยานเข้าใจว่าคำปราศรัยของภาณุพงศ์ สื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะก่อนหน้านี้เคยเห็นสื่อโซเชียลมีเดียโจมตีพระองค์ในลักษณะนี้ แม้จะไม่เอ่ยชื่อ แต่คนทั่วไปก็เข้าใจว่าหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 

พยานไม่ทราบว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 อยู่เยอรมันจริงหรือไม่ และไม่เชื่อว่าเป็นความจริง พยานไม่ได้คิดว่าถ้อยคำที่จำเลยสื่อจะหมายถึงนักการเมือง ทหาร หรือนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด รวมไปถึงพยานไม่ทราบว่า มีข่าวโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก โดยโอนเงินให้ 200 ล้านบาท

ในบันทึกถอดเทปของธนายุทธ นักร้องเพลงแร๊ป พยานเห็นตั้งแต่แรกเพราะตำรวจเอามาให้ดู เพลงนี้พยานไม่เคยฟังมาก่อน แต่หากดูจากเนื้อความคือการโจมตีเผด็จการและด่านักการเมือง ซึ่งพยานเข้าใจธรรมชาติของเพลงแร๊ปของวัยรุ่น ที่มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายและด่าทอบ้าง 

พยานทราบว่ารุ่นน้อง “ศราวุธ” อยู่กลุ่มปกป้องสถาบันฯ และเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้ลำโพงทุ่มใส่นักศึกษาม.รามคำแหง 

ต่อมา เกี่ยวกับวันที่ไปให้การ พยานได้เบิกความถามค้านทนายใหม่อีกครั้งว่า ได้ไปให้การพร้อมกับศราวุธและทศพล โดยไปพร้อมกัน 3 คน 

.

ทศพล มนูญรัตน์ สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว เบิกความว่าตนไม่ได้ไปร่วมชุมนุมในที่เกิดเหตุ แต่ตามข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก หลังเกิดเหตุได้ประมาณ 3-4 วัน เจ้าหน้าที่ได้เรียกพยานไปสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุม 

พยานเคยเห็นโปรไฟล์ของ “ภาณุพงศ์ จาดนอก” พยานรู้จักจำเลยเพราะสื่อเคยรายงานข่าว พยานอ่านข้อความ “เราหมดศรัทธาแล้ว” เข้าใจว่าหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และ โพสต์เก่าๆ ของบัญชีเฟซบุ๊กภาณุพงศ์มีการโพสต์ทำนองโจมตีสถาบันกษัตริย์ 

ทศพลเบิกความว่า เกี่ยวกับ “ข้อความเอาเงินภาษีไปบำเรอนารี” ทราบว่าสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะตอนเกิดเหตุคือช่วงปี 2563 ในหลวงรัชกาลที่ 10 อยู่เยอรมันเพื่อรักษาตัว

นอกจากนี้ อานนท์ได้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนข้อความทำนองให้ประชาชนร่วมโหวตว่าอยากให้ประเทศไทยปกครองในระบอบอะไร 1. ประชาธิปไตยแบบราชอาณาจักรอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 2. ประธานาธิบดีเป็นประมุข พยานเข้าใจว่าทั้งสองแบบจะไม่มีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ 

อีกทั้งพยานพบชื่อเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่ง โพสต์ภาพเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 เป็นผู้ชายชูป้ายเกี่ยวกับการล้มล้างระบอบกษัตริย์ในกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส” พยานทราบว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดล้มล้างสถาบันฯ

ทศพลเบิกความว่าในการสอบสวน ตำรวจได้มีการถอดเทปเพลงแร็ปนำมาให้ตนดู พยานมองว่าผู้ปราศรัยมีเจตนาจะสื่อถึงพระมหากษัตริย์ ดูได้จากคำว่า “เยอรมัน” พยานอ่านข้อความแล้วเข้าใจว่าสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ทราบว่าพระองค์ท่านอยู่เยอรมัน 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ทศพลเบิกความว่า รู้จักกับธนากรและศราวุธ เนื่องจากเคยประกอบอาชีพขายรถด้วยกัน พยานเคยเจอศราวุธในกลุ่มปกป้องสถาบันฯ พยานเคยไปร่วมชุมนุมด้วยและกลุ่มของพยานเคยมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มนักศึกษารามคำแหง

ทศพลรับว่าตนเป็นกลุ่มสมาชิกปกป้องสถาบันฯ และเคยถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ปฎิบัติตามมาตรการโควิด-19 พยานได้รับสารภาพในคดีดังกล่าว เพราะชุมนุมเกิน 5 คนจริง

ในความเข้าใจของพยาน คณะราษฎรหมายถึงเยาวชนปลดแอก เชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่อยู่เบื้องหลังการชุมนุม และเคยเตือนอานนท์ว่า “จะแค้นอะไรกับสถาบันฯ นักหนา หากพยานเห็นอีกทีก็จะไม่ยอม ซึ่งคำว่า “ไม่ยอม” ของพยานหมายถึง หากพบเห็นจะเข้าไปดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ใช้กำลัง แต่พยานไม่ได้เข้าไปแจ้งความดำเนินคดีกับพวกเขาแต่อย่างใด  

ในการให้การ พยานได้ไปให้การด้วยตัวเอง เพื่อต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านสถาบันฯ โดยใช้กฎหมาย โดยมีการพูดคุยกับธนากรและศราวุธนัดหมายตกลงกันว่าควรไปให้การกับตำรวจ โดยไปในวันเดียวกัน แต่เป็นคนละช่วงเวลากัน  

เกี่ยวกับข่าวราชสำนักที่รายงานว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 อยู่เยอรมัน ไม่ได้นำเสนอตรงๆ ว่าอยู่เยอรมัน แต่จะเห็นผู้แทนพระองค์ทำงานแทน ส่วนประโยคที่ว่า “ใช้ภาษีปรนเปรอนารี” เข้าใจว่าสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะพยานพบว่าผู้โพสต์มีแนวคิดต่อต้านสถาบันฯ ต้องการการเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อสถาบันฯ

พยานและเพื่อนนัดหมายกันไป สน.สำราญราษฎร์ เพื่อให้การเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายมาตรา 112 พยานอ่านเนื้อหาปราศรัยที่ตำรวจนำมาให้ดูแล้วลงชื่อไว้ แต่พนักงานสอบสวนจะฟ้องมาตรา 112 หรือไม่ ส่วนนี้พยานไม่ทราบ เพราะมาให้แค่ความเห็น 

.

ศราวุธ ประยูร สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ เบิกความว่าตนได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก โดยเห็นว่าผู้ชุมนุมมีการจาบจ้วงสถาบันฯ และพนักงานสอบสวนได้ให้พยานดูคลิปวิดีโอเหตุการณ์การปราศรัย

พยานดูข้อความแล้วเห็นว่า มีการสื่อถึงภาษี จึงมีความเห็นว่าสื่อถึงสถาบันฯ พยานเห็นว่าเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ และกลุ่มผู้ชุมนุมจากคลิปวิดีโอก็มีแนวคิดตรงกัน เรื่องที่จะยุบสภาแล้วล้มล้างสถาบันฯ 

ในส่วนเนื้อหาเพลงแร็ป พยานเข้าใจว่ามีการกล่าวถึงสถาบันฯ โดยดูจากคำว่า “เยอรมัน” เพราะในหลวงรัชกาลที่ 10 ประทับอยู่เยอรมัน

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ศราวุธเบิกความว่า ทศพลชักชวนพยานและธนากรไปพบที่ สน.สำราญราษฎร์ โดยไปให้การกับตำรวจพร้อมกัน ขณะให้การพยานกับพวกรวมสามคนนั่งอยู่ด้วยกัน  

ในการปะทะของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พยานได้เข้าร่วมด้วย เพราะกลุ่มที่ปะทะด้วยเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันฯ ซึ่งพยานเป็นคนจงรักภักดี ถ้ามีการจัดกิจกรรมที่ต่อต้านแนวคิดไม่เอาสถาบันฯ พยานก็จะไปร่วม ในเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พยานได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าทุ่มลำโพง ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ 

.

สันติบาลเฝ้าดูแลความปลอดภัย-ภาพรวมการชุมนุมไม่ได้มีความรุนแรง มีแค่ผลักดันรั้วกับ คฝ.

พ.ต.ท.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนทำหน้าที่สืบสวนบริเวณตั้งแต่สี่แยกคอกวัวไปจนถึงหน้าร้านแมคโดนัลด์ คอยเก็บภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว

พยานเบิกความไล่เรียงถึงการพบความเคลื่อนไหวของแกนนำที่เข้ามาในที่ชุมนุม อาทิ พริษฐ์, จุฑาทิพย์, ปนัสยา และอานนท์ พยานกล่าวถึงการปราศรัยและลำดับเหตุการณ์บนเวที และรับว่าแกนนำพูดแจ้งเตือนเรื่องมาตรการโควิด-19 ก่อนเวลาช่วงเย็นมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น เนื่องจากทางฝ่ายผู้ชุมนุมคิดว่าชายชุดดำที่เอาถุงพลาสติกไปคลุมกล้องวงจรปิดนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ในช่วงการปราศรัยมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในบรรดาแกนนำ บางช่วงก็มีการประกาศปักหลักค้างแรมเพราะผู้ชุมนุมค่อยๆ เหลือน้อยลง สำหรับการถอดเทป ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานเป็นคนทำ ส่วนพยานเป็นผู้เซ็นรับรองโดยระบุชื่อบุคคลและเวลาที่ปราศรัย  

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.วิวัฒน์ เบิกความว่า จากการทำรายงานไม่ปรากฎว่าใครเป็นแอดมินเพจ “เยาวชนปลดแอก” ซึ่งต่อมาผู้ใต้บังคับบัญชาได้ถอดเทปปราศรัย พยานได้ฟังและตรวจทานอีกครั้งว่าถูกต้องหรือไม่ โดยไม่ได้เป็นการเลือกถอดเทปส่วนใดส่วนหนึ่งขณะปราศรัย 

พยานรับว่ามีเจ้าหน้าที่หลายส่วนเข้ามาดูแลความปลอดภัยผู้ชุมนุม แม้จะรู้ว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย 

.

พ.ต.ท.ทนง เพียรสะอาด สารวัตรปราบปราม สน.สําราญราษฎร์ เบิกความว่าตนมีหน้าที่วางกำลัง คฝ.ชายและหญิงที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ หลังวางกำลังเสร็จ กลุ่มมวลชนเริ่มทยอยเข้ามา พยานอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่งกายในเครื่องแบบ เฝ้าดูแลความสงบเรียบร้อย 

ระหว่างที่มีการปราศรัย พยานฟังปราศรัยจับใจความได้ว่า มีการโจมตีรัฐบาลและเรียกร้องให้มีการยุบสภา หลังจากนั้นเลยเที่ยงคืนไปแล้ว พยานได้ถอนกำลังออกไปจากที่เกิดเหตุ ก่อนให้กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 กับ 9 มาสลับเปลี่ยนเวรเพื่อเฝ้าต่อ ส่วนพยานกลับไปที่ สน.สำราญราษฎร์  

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ทนง เบิกความว่า ในการเข้าไปปฎิบัติหน้าที่ สน.สำราญราษฎร์ มีหน้าที่ออกแบบแผนดูแลการชุมนุม ภารกิจหลักคือดูแลเหตุการณ์ความสงบเรียบร้อยในวันนั้น ต้องมีการประสานนักดับเพลิง เทศกิจ และรถพยาบาลในการป้องกันการเกิดเหตุ มีการนำกำลัง คฝ. เข้ามาเพื่อช่วยป้องกันเหตุ สั่งให้ดูแลความสงบเรียบร้อย หลีกเลี่ยงการปะทะเท่าที่ทำได้

ตำรวจ คฝ. ยืนสังเกตการณ์อยู่รอบๆ ระหว่างผู้ชุมนุมปราศรัยไปจนกระทั่งกลุ่มผู้ชุมนุมเลิกรากันไปเอง โดยพยานรับว่าไม่มีการปราศรัยเชิญชวนให้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด 

.

พ.ต.ท.ประวิทย์ อินตา กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 มีหน้าที่สืบสวนหาข่าว เฝ้าระวังที่เกิดเหตุ จับตาดูว่าจะมีใครก่อเหตุวุ่นวายหรือก่อเหตุให้กระทำผิดกฎหมายหรือไม่

พ.ต.ท.ประวิทย์ เบิกความว่า หลังช่วงค่ำพบชายวัยรุ่นคนหนึ่งถือม้วนภาพที่เขียนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และปฏิรูปการปกครอง จึงได้เฝ้าติดตามวัยรุ่นชายดังกล่าวไปตั้งแต่หน้าร้านแมคโดนัลด์ กระทั่งเข้าซอยไป พยานถึงได้แสดงตัว 

พ.ต.ท.ประวิทย์ได้ขอดูป้ายข้อความดังกล่าวในกระเป๋า ก่อนเชิญตัวชายหนุ่มดังกล่าวไปที่ สน.สำราญราษฎร์ แต่มีคนตะโกนมาว่า ‘เจ้าหน้าที่ทำร้ายเด็ก’ แล้วกรูเข้ามากันชายคนดังกล่าวออกไป ทางผู้ชุมนุมพยายามถามพยานว่าจับเด็กมาทำไม 

พยานประเมินสถานการณ์แล้ว ถ้าทำให้ผู้ชุมนุมโกรธ อาจจะถูกทำร้ายได้ จึงไม่ได้แสดงป้ายที่ตรวจยึดให้ดู จากนั้นมีมวลชนคนหนึ่งได้เข้ามาห้ามผู้ชุมนุมคนอื่น ให้จบตรงนี้ ในส่วนของม้วนป้าย พยานนำไป มอบให้พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ต่อไป 

พยานเห็นว่าข้อความดังกล่าวต้องการล้มล้างระบอบกษัตริย์และล้มล้างรัฐธรรมนูญ จึงติดตามชายคนนั้นไป เพราะต้องดูแลความมั่นคง พนักงานสอบสวนได้พิสูจน์ทราบบุคคล ก่อนเรียกพยานไปยืนยัน ปรากฎว่าเป็นบุคคลเดียวๆ กัน

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ประวิทย์เบิกความโดยสรุปว่า พยานยังไม่ได้จับกุมชายถือป้ายดังกล่าวแค่ “เชิญตัว” ไปให้ปากคำ พยานไม่ได้ดึงดันเอาตัวเขาไป เพราะไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้น  

.

ร.ต.อ.อุทัย สลักคำ กองบังคับการสืบสวนนครบาล เบิกความโดยสรุปว่า วันที่ 18 ก.ค. 2563 พยานได้รับคำสั่งผู้บังคับบัญชาให้เข้าไปในพื้นที่การชุมนุมเพื่อป้องกันที่เกิดเหตุ มีกองสืบสวนตำรวจนครบาลทั้งหมด 5 กอง แบ่งโซนกันรับผิดชอบพื้นที่ พยานรับผิดชอบโซนหน้าร้านแมคโดนัลด์ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืองของถนนราชดำเนิน กับพวกรวม 8 นาย

พยานอยู่สังเกตการณ์ในที่ชุมนุมจนกระทั่งเวลาเที่ยงคืน สถานการณ์โดยรวมเท่าที่พยานทราบ มีช่วงชุลมุนวุ่นวายประมาณ 21.00 น. ที่ตรอกร้านแมคโดนัลด์ พยานไม่ได้เข้าไปดูแต่อย่างใด 

นอกจากนี้พยานได้รวบรวมหลักฐานภาพวิดีโอต่างๆ จากเพจเยาวชนปลดแอก โดยเลือกแต่ละคลิปที่เป็นเหตุการณ์สำคัญมาตัดต่อแล้วบันทึกลงแผ่นซีดี ก่อนมอบให้ผู้บังคับบัญชาและส่งให้พนักงานสอบสวน ก่อนถูกเรียกไปสอบปากคำ เพื่อให้ชี้ภาพยืนยันตัวบุคคลที่ขึ้นปราศรัย

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.อุทัยเบิกความสั้นๆ ว่าในการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นคนอื่นรวบรวมมาให้ พยานแค่นำส่งผู้บังคับบัญชาเท่านั้น 

.

พ.ต.อ.สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ อดีตเจ้าหน้าที่ สน.ชนะสงคราม เบิกความว่า ได้รับคำสั่งให้ดูแลความปลอดภัยและสืบสวนหาข่าว ตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปถึงแยกคอกวัว ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของพยาน ตั้งแต่พื้นผิวจราจรและฟุตบาท 

ในการชุมนุมมีกลุ่มผุ้ชุมนุมถือป้ายล้มล้างระบอบกษัตริย์และรัฐบาล มีการผลักดันรั้วแผงเหล็กกับเจ้าหน้าที่ คฝ. และจัดตั้งเวทีปราศรัยบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้ปราศรัย ได้แก่ พริษฐ์, จุฑาทิพย์ และกรกช เป็นต้น ในระหว่างการชุมนุมมีชายหนุ่มคนหนึ่งพยายามเอาถุงดำครอบกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ ก่อนถูกผู้ชุมนุมตะโกนไล่ออกจากพื้นที่ 

พยานยืนสังเกตการณ์กระทั่งผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุม หลังเกิดเหตุคดีนี้ พยานได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ รับรองภาพถ่ายบุคคลที่เข้าร่วมการชุมนุม โดยพนักงานสอบสวนนำภาพถ่ายเหตุการณ์การชุมนุมและบุคคลที่ร่วมชุมนุมมาให้พยานดู พยานเห็นว่าถูกต้องแล้วจึงเซ็นรับรองไว้ 

ตามเอกสารหลักฐานปรากฎภาพ “กรกช แสงเย็นพันธ์” ได้ทำหน้าที่ควบคุมสั่งการผู้ชุมนุม และช่วยดึงแผงเหล็กตรงขอบฟุตบาทมาปิดแยกคอกวัว มีการถือวิทยุสื่อสารเพื่อสั่งการปิดถนนจราจรและตั้งเวทีปราศรัยแยกคอกวัว ในส่วนภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมพังแผงเหล็กบนทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ พยานได้มาจากกล้อง CCTV ปรากฎภาพพริษฐ์เป็นผู้ดึงแผงเหล็กให้ล้มลง พยานเบิกความอีกว่าในช่วงที่มีการตรวจยึดรถเครื่องเสียง ผู้ชุมนุมมีการโห่ร้อง แต่ไม่ได้มีความวุ่นวายเกิดขึ้น 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.อ.สุทธิศักดิ์ ระบุว่าไม่ได้เป็นผู้ถ่ายภาพ ไม่ได้ถ่ายภาพกรกชเอาแผงเหล็กไปปิดถนน และจากภาพเอกสารหลักฐานก็ไม่ปรากฎว่ากรกชตั้งเวทีปราศรัยที่แยกคอกวัว ในส่วนภาพดึงแผงเหล็กของพริษฐ์ ก็ไม่มีตำรวจยืนดันแผงเหล็ก และไม่มีภาพตำรวจห้ามผู้ชุมนุมลงถนน

นอกจากนี้พยานเบิกความว่าที่แยกคอกวัวโดยปกติจะมีกล้อง CCTV ติดอยู่ แต่จะใช้งานได้หรือไม่ พยานไม่ทราบ และตอนไปให้การก็ไม่ได้ระบุว่ากล้องเสียแต่อย่างใด ทั้งนี้เกี่ยวกับชายชุดดำที่เข้ามาก่อกวน พยานไม่ได้เห็นได้ด้วยตนเอง และฝ่ายสืบสวนก็ไม่สามารถติดตามได้

พ.ต.ท.ชนภัทร สุขสวัสดิ์ กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 เบิกความว่า พยานสืบสวนกลุ่มผู้ชุมนุมเยาวชนปลดแอกและสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มมีพฤติกรรมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและต่อต้านรัฐบาล

พยานได้ลงพื้นที่ในการชุมนุม มีการถ่ายบุคคลและสิ่งของในที่ชุมนุมไว้ เพื่อรวบรวมรายงานต่อผู้บังคับบัญชา พยานถ่ายภาพผู้ปราศรัยเพื่อพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ซึ่งพบว่าจำเลยแต่ละคนมีประวัติการเคลื่อนไหว และมีบทบาทในการชุมนุมครั้งนี้ บางคนขึ้นปราศรัย บางคนไม่ขึ้นปราศรัย

พยานเบิกความในส่วนพฤติการณ์ของ “กรกช” ว่าเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2563 ได้มีการจัดกิจกรรมครบรอบการอภิวัฒน์สยาม 2475 ซึ่งกรกชได้เข้าร่วมโดยมีการแต่งกายเหมือนข้าราชการในอดีต ก่อนเข้ามาอยู่ในกลุ่มการชุมนุมวันที่ 18 ก.ค. 2563 มีหน้าที่มาแนะนำให้คำปรึกษาแก่ผู้มาร่วมชุมนุม 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ชนภัทร เบิกความว่า แม้ในการชุมนุมมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง แต่การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ สามารถทำได้ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 รับรอง

พยานได้รับรายงานสืบสวน เป็นการรายงานตามข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็น หลังจากสรุปแล้วก็พบว่าผู้ต้องหาทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม พยานรับว่าการชุมนุมแสดงออกความเห็นต่อต้านรัฐบาล เรียกร้องให้ยุบสภานั้นมีมาโดยตลอด ทั้งฝ่ายเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง ไม่ได้มีแค่การชุมนุมของนักศึกษา โดยประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็สามารถแสดงออกได้ 

ส่วนกรกชนั้น ก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีจากการร่วมกิจกรรมอภิวัฒน์สยาม 2475 แต่อย่างใด 

.

คณะพนักงานสอบสวนฯ ลงความเห็นสั่งฟ้อง ม.116 ชี้ผู้ชุมนุมมีการชูป้ายล้มล้างระบอบกษัตริย์-สนับสนุนให้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ

พ.ต.ท.หญิง จิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พ.ต.ท.กฤติเดช (ชาณิช) เข็มเพชร์ ได้มาแจ้งความร้องทุกข์กับพริษฐ์ ชิวารักษ์ จากการร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 พยานได้สอบปากคำผู้ร้องทุกข์เอาไว้ และมีการสอบเพิ่มเติมเป็นระยะๆ หลังร้องทุกข์แล้วได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนขึ้นมา 

คณะพนักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความ ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ โดยผู้แจ้งความได้ทยอยนำหลักฐานมาให้พนักงานสอบสวน พยานได้จัดเก็บบันทึกไว้เป็นบัญชีของกลาง ส่วนใหญ่เป็นแผ่นซีดี ส่งมาจากหลายหน่วยงาน ของกลางมีป้ายข้อความทำนองล้มล้างระบอบกษัตริย์ ซึ่งตำรวจสันติบาลได้มอบให้ และยึดมาได้จากผู้ชุมนุม 

พยานส่งแผ่นซีดี ของกลางทั้งหมดไปกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ดูจากเอกสารทั้งหมดที่ส่งตรวจ ได้เลือกดูเฉพาะประเด็นสำคัญที่นำมาเป็นประเด็นแห่งคดีนี้เพื่อแจ้งข้อหา

ผู้ร่วมสืบสวนมาจากหลายหน่วยงาน โดยคณะทำงานมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาตามพฤติการณ์ของแต่ละคน มีบางส่วนถูกฟ้องไปที่ศาลแขวงดุสิต ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรา 215

ในความเห็นของพนักงานสอบสวน อาศัยพฤติการณ์และหลักฐาน มองว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีการระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ที่ระบุห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมในสถานที่แออัด หรือเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ส่วนผู้ต้องหาจำนวน 12 ราย ซึ่งถูกแจ้งข้อหามาตรา 116 เพราะก่อนเกิดเหตุ จำเลยทั้งสิบสอง ต่างเป็นสมาชิกกลุ่มกิจกรรมต่างๆ  ได้มีการโพสต์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเชิญชวนให้ไปร่วมชุมนุม

เจ้าพนักงาน สน.สำราญราษฎร์ ได้ประกาศเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้กลับขึ้นไปบนฟุตบาทแล้วล้มแผงเหล็กจนเกิดความวุ่นวาย มีการให้เว้นระยะห่างและพกเจลแอลกฮออล์ การที่ผู้ต้องหาอีกสองคนโพสต์ข้อความและเป็นผู้ร่วมจัด ได้มีการปราศรัยบอกให้ประชาชนเข้ามาร่วมการชุมนุมมากๆ ไม่ต้องกลัวต่อกฎหมาย 

ส่วนที่เห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 116 เนื่องจากผู้ชุมนุมมีการชูป้ายล้มล้างระบอบกษัตริย์ สนับสนุนให้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื้องต่อกฎหมายแผ่นดิน ในระหว่างการปราศรัยยังมีการพาดพิงสถาบันฯ อาจจะทำให้ประชาชนที่ได้ยินได้ฟัง ต่อต้านสถาบันฯ เพราะสถาบันฯ เป็นที่เคารพสักการะ

เกี่ยวกับมาตรา 215 เนื่องจากผู้ชุมนุมมีการพังแผงเหล็กและทำให้ คฝ.หญิง บาดเจ็บ ที่ประชุมจึงลงมติว่า พริษฐ์และจุฑาทิพย์ซึ่งเป็นแกนนำการชุมนุม มีความผิดตามมาตราดังกล่าว 

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.หญิง จิตติมา เบิกความโดยสรุปว่า เกี่ยวกับคดีนี้ไม่ได้เรียกพยานผู้เชี่ยวชาญทางภาษากับรัฐศาสตร์เข้ามาสอบปากคำ แต่ได้เรียกราชบัณฑิตมาสอบสวนเกี่ยวกับถ้อยคำที่จำเลยปราศรัย และมี ดร.ไชยันต์ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มาร่วมสอบสวนด้วย ในส่วนทางกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ได้ยินยอมเข้ามาให้ความเห็นเองในฐานะประชาชนทั่วไป 

ทั้งนี้ ตามคำสั่งคณะพนักงานสอบสวน ในการพิจารณาว่าจะสอบสวนใครนั้น จะต้องเป็นไปตามมติคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ไม่ใช่แค่ความเห็นของพยานคนเดียว 

ตามความเห็นของคณะพนักงานสอบสวน ทั้ง 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นไม่ผิดกฎหมาย แม้ขณะนั้นจะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่รัฐธรรมนูญก็ยังรับรองการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และกำหนดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ตามรายงานการสืบสวนไม่ปรากฏว่ามีการแจกเจลแอลกอฮอล์หรือหน้ากากอนามัย ตามมาตรการป้องกันโควิด-19

.

นักวิชาการสถาบันสิทธิมนุษยชนระบุว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ควรจำกัดสิทธิการชุมนุมจนเกิดกว่าเหตุ-สถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ร้ายแรง

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน 

เบญจรัตน์เบิกความในทางวิชาการว่า ตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้น มีสิทธิที่รับรองการชุมนุมเอาไว้ แต่ก็สามารถจำกัดได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น มีเงื่อนไขฉุกเฉินคุกคามความอยู่รอดของชาติ แต่การชุมนุมในตอนนั้น สถานการณ์โควิด-19 ไม่ถึงกับร้ายแรง เห็นว่าการชุมนุมในสภาพพื้นที่ไม่แออัดยังคงทำได้ และมีเจลแอลกอฮอล์กับหน้ากากอนามัยที่เพียงพอ

ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ผู้ติดเชื้อมีไม่มาก ข้อห้ามจำกัดการชุมนุมควรได้สัดส่วนกับสถานการณ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้เอาไว้ การใช้สิทธิยังได้รับการรับรองตามหลักการ โดยคำสั่งห้ามชุมนุมอย่างต่อเนื่องนั้นไม่ได้สัดส่วนกับหลักสากล

ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน เบญจรัตน์เบิกความโดยสรุปว่า ในขณะนั้นประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อน้อย ซึ่งไม่เป็นไปตามสัดส่วนกับคำสั่งห้ามการชุมนุม แต่รับว่าหลังจากนั้นก็มีการระบาดระลอกที่ 2 ซึ่งหนักกว่ารอบแรก

เกี่ยวกับการใช้เครื่องขยายเสียง พยานเห็นว่าผู้ชุมนุมจำนวนมากแออัดแต่อยู่ในพื้นที่เปิดโล่งมากกว่า พยานได้ดูคลิปเหตุการณ์การชุมนุม พบว่ามีการประกาศแล้วว่าให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง พยานไม่เห็นคลิปเจ้าหน้าที่ คฝ.หญิง ที่ถูกดันแผงเหล็กจนล้มและได้รับบาดเจ็บ และพยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การชุมนุม

อัยการโจทก์ถามค้านว่า การร้องเพลงแร็ปของธนายุทธเป็นการแสดงออกและเรียกร้อง โดยมีการสื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือไม่ เบญจรัตน์เบิกความว่าไม่ได้ก่อให้เกิดความเกลียดชัง การวิพากษ์วิจารณ์คนมีอำนาจในสังคมเป็นข้อเรียกร้อง สามารถทำได้ ไม่ได้สร้างความเสื่อมเสีย และการที่มีผู้ชุมนุมบางส่วนถือป้ายนั้น ก็ไม่ได้ทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย เพราะพูดถึงระบบที่ไม่ได้มีอยู่แล้ว

.

“เพนกวิน” ยืนยันไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ออกมาร่วมชู 3 ข้อเรียกร้อง “รัฐบาลยุบสภา-หยุดคุกคามประชาชน-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่”

พริษฐ์ ชิวารักษ์ เบิกความว่าตนเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับการชุมนุมดังกล่าว พยานไม่ได้เป็นผู้จัด เพียงแค่เชิญชวนให้มาร่วมชุมนุม ซึ่งมีการเสนอเรื่องสามข้อเรียกร้อง ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน, ให้นายกรัฐมนตรีลาออก และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สืบเนื่องจากประชาชนถูกทำร้ายถูกอุ้มหาย รัฐบาลไม่มีความชอบธรรม มีการสืบทอดอำนาจโดยปราศจากประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 มีที่มาไม่โปร่งใส ร่างขึ้นโดยอำนาจรัฐประหาร และมีประชามติที่ฉ้อฉล 

ในวันเกิดเหตุ ระหว่างการชุมนุม พยานเห็นกลุ่มคนหน้าร้านแมคโดนัลด์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ชุมนุมจึงได้ทำการขยายพื้นที่เพื่อที่จะได้ไม่แออัด ซึ่งก่อนหน้านี้ตำรวจได้กระชับพื้นที่เอาแผงเหล็กมากั้นบนถนน พยานจำเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ไม่ได้ แต่มีทั้งชายและหญิง ขณะเดียวกันผู้จัดการชุมนุมก็ประกาศให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ดูแลตัวเองแล้ว 

เจ้าหน้าที่ตำรวจมาพร้อมกับรถเครื่องเสียง ประกาศให้ผู้ชุมนุมกลับขึ้นไปบนฟุตบาทภายในเวลา 15 นาที บอกว่าการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ประชาชนยิ่งไม่พอใจ ตำรวจก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความระแวงเข้าใจว่าจะมีกระชับพื้นที่ ก่อนจะเกิดการผลักดันกันขึ้นและตำรวจล้มลง  

เหตุที่พยานขึ้นไปพูดปราศรัยเพราะไม่มีใครพูด ผู้จัดการชุมนุมได้ตามหาพยาน พร้อมบอกว่าให้พยานขึ้นพูด พยานไม่ได้พูดปราศรัยยุยงให้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในส่วนถ้อยคำของพยานที่ให้ขยับพื้นที่นั้น พยานไม่แน่ใจว่าได้พูดหรือไม่ 

ต่อมา ได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น ผู้ชุมนุมยืนกันกระจัดกระจายตามถนน พยานกลัวว่าการจราจรจะติดขัดและเป็นการปิดช่องทางจราจร เลยใช้โทรโข่งมาพูดบอกผู้ชุมนุมให้เดินย้ายไปที่แยกคอกวัว

พยานไม่ทราบว่าโทรโข่งเครื่องเสียงดังกล่าวเป็นของใคร ขณะชุมนุมตนได้พกหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพราะเป็นโรคหอบ หลังชุมนุมเสร็จแล้วก็ไม่ได้ติดโควิดแต่อย่างใด 

ช่วงอัยการถามโจทก์ พริษฐ์เบิกความโดยสรุปว่า ตนทราบการชุมนุมผ่านเฟซบุ๊กเลยไปเข้าร่วมด้วย พยานรับว่าผู้ชุมนุมที่แยกคอกวัวมีการปิดการจราจรทั้งหมดเพื่อไม่ให้รถขับผ่านเข้ามา เพราะกลัวว่าอาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย เนื่องด้วยไม่รู้จุดประสงค์ของรถยนต์ที่ขับเข้ามา เพราะเคยมีผู้ขับรถยนต์เข้ามาชนผู้ชุมนุมทางการเมืองมาแล้ว 

พยานยืนยันว่าไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม จึงไม่ทราบว่าได้มีการขออนุญาตแล้วหรือไม่

X