กุมภาพันธ์ 2566: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,895 คน ใน 1,180 คดี

เดือนที่สองของปี 2566 ผ่านพ้นไป ขณะประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่คดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองจำนวนมายังถูกบังคับให้ต้องเดินหน้าขึ้นศาลอีกนับร้อยคดี โดยเดือนที่ผ่านมา มีรายงานคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่า 6 คดี  ขณะที่คดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-64 หลังการต่อสู้ชั้นพิจารณา ศาลก็ทยอยมีคำพิพากษายกฟ้องออกมาอีก 6 คดี ทั้งยังมีคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ต่อสู้คดีมาเกือบ 5 ปี ศาลก็พิพากษายกฟ้องเช่นกัน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,895 คน ในจำนวน 1,180 คดี  

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 ราย ใน 211 คดี โดยแยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 41 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 5 คน คดีเพิ่มขึ้น 11 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,785 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 233 คน ในจำนวน 253 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 128 คน ในจำนวน 40 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,467 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 77 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 161 คน ในจำนวน 182 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 8 คดี

จากจำนวนคดี 1,180 คดีดังกล่าว มีจำนวน 312 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 868 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

.

.

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

คดี ม.112 เพิ่มขึ้น 6 คดี คดีที่สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ไปกล่าวหาในภาคใต้ ตำรวจทยอยออกหมาย

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมาจำนวนอย่างน้อย 5 ราย ใน 6 คดี คดีที่สำคัญ ได้แก่ คดีของกันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกที่ สน.ลาดพร้าว ก่อนพบว่าถูกแจ้งข้อหาจากการโพสต์ในเฟซบุ๊กรวม 8 ข้อความในช่วงต้นปี 2565 ทั้งยังถูกตำรวจนำตัวไปขอฝากขังต่อศาล ก่อนศาลยังอนุญาตให้ประกันตัว

นอกจากนั้นยังมีรายงานคดีที่ประชาชนทยอยได้รับหมายเรียกมาตรา 112 ในภาคใต้เพิ่มเติมอีก 3 คดี ทุกคดีพบว่ามี ทรงชัย เนียมหอม กลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้ไปกล่าวหาไว้ที่สถานีตำรวจต่างๆ ในพื้นที่พัทลุงและกระบี่ อาทิ คดีของ “ดลพร” ที่ถูกตำรวจ สภ.เมืองกระบี่ ออกหมายเรียกพยาน แต่เมื่อไปพบ กลับถูกตำรวจแจ้งข้อหาเลยและส่งตัวขอฝากขัง โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมการสอบสวน แต่ผู้ต้องหายังได้รับการประกันตัวออกมา ส่วนคดีอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการประสานเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป

เดือนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นยังมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ออกมาอีก 4 คดี โดยแยกเป็นคดีที่ศาลยกฟ้อง 1 คดี ได้แก่ คดีที่ศาลจังหวัดกระบี่ยกฟ้องสุรีมาศ กรณีแชร์ลิงก์คลิปผู้ทำพิธีขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’ แต่ถูกกลุ่มปกป้องสถาบันที่มีความขัดแย้งกัน ไปกล่าวหาดำเนินคดีจากภาพปกของกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวซึ่งเป็นภาพของรัชกาลที่ 10 

ทั้งที่ทั้งเจตนาและองค์ประกอบต่างๆ ในคดีนี้ ไม่ควรจะเป็นคดีมาตรา 112 ตั้งแต่ต้น แต่ทั้งตำรวจและอัยการกลับดำเนินการฟ้องคดีมาจนถึงชั้นศาล สะท้อนปัญหาการใช้มาตรา 112 ที่เปิดช่องให้ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องก็ตาม

.

.

ขณะที่ยังมีคดีที่ต่อสู้ และศาลพิพากษาว่ามีความผิด ได้แก่ คดีของนิว สิริชัย นักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ถูกฟ้องกรณีพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ยกเลิก 112 และ “ภาษีกู” บนรูปพระราชวงศ์บริเวณย่านคลองหลวง ทั้ังที่ไม่มีภาพใดเป็นบุคคลตามองค์ประกอบมาตรา 112 แต่ศาลจังหวัดธัญบุรีกลับเห็นว่าการพ่นบนรูปภาพของสมาชิกราชวงศ์ ย่อมส่งผลกระทบต่อรัชกาลที่ 10 เป็นการกระทำที่ด้อยค่าและทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียไปด้วย แต่ศาลให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 

นอกจากนั้นยังมีอีก 2 คดี ที่จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลพิพากษาออกมาโดยไม่ให้รอลงอาญา ทั้งคดีของ “ก้อง อุกฤษฏ์” คดีที่ 2 ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่ให้รอลงอาญา และคดีของธนพร แม่ลูกอ่อน กรณีไปคอมเมนต์ท้ายโพสต์ของเพจที่เผยแพร่ภาพตัดต่อรัชกาลที่ 8 และ 9 ที่ถูกศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งเคยให้รอลงอาญาไว้ แต่หลังอัยการอุทธรณ์คดี ศาลอุทธรณ์กลับเห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 21 ปีเศษ มีวุฒิภาวะเพียงพอแล้ว จึงไม่ให้รอการลงโทษจำคุก 2 ปี แต่อย่างใด ทั้งสองคดียังได้รับการประกันตัวระหว่างยื่นอุทธรณ์และฎีกาต่อไป

ขณะที่เดือนที่ผ่านมา ศาลยังให้ประกันตัวผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา ทั้ง “ก้อง” อุกฤษฏ์, “เอก”, สมบัติ ทองย้อย, “แท็ค” สิทธิโชค, “เก็ท” โสภณ, “ใบปอ” รวมทั้ง “ตะวัน” และ “แบม” ท่ามกลางการอดอาหารและอดนอนของ “ตะวัน-แบม-เก็ท” อย่างต่อเนื่อง ทำให้จนถึงป้จจุบันเท่าที่ทราบข้อมูล ไม่มีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ระหว่างพิจารณาถูกคุมขังอยู่ แม้ยังมีผู้ต้องขังทางการเมืองในคดีอื่นๆ ต้องขังอยู่ก็ตาม

.

.

คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลยกฟ้องเพิ่มอีก 6 คดี คดีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรียชัย ศาลยกฟ้องแทบทั้งหมดแล้ว

เดือนกุมภาพันธ์ ยังมีคดีที่เกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีก 1 คดี ได้แก่ กรณีการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ได้ออกหมายเรียกผู้ชุมนุมไปดำเนินคดีเพิ่มเติมอีก 5 ราย หลังจากดำเนินคดีผู้ถูกจับกุมระหว่างชุมนุมไป 25 รายแล้วก่อนหน้านี้ โดยคดีใหม่ที่ถูกออกหมายเรียกเพิ่มเติมนี้ ยังขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน

ขณะที่คดีจากการชุมนุมจำนวนมากในช่วงปี 2563-65 ที่ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังคงดำเนินต่อไปในศาล นักกิจกรรมและประชาชนหลายคนมีภาระต้องต่อสู้คดียืดเยื้อต่อมา โดยแนวโน้มส่วนใหญ่ศาลยังมีคำพิพากษายกฟ้อง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ก็มีคดีที่ศาลยกฟ้องเพิ่มอีก 6 คดี แต่ก็มีคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิดเพิ่มเติมอีก 3 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นการลงโทษปรับ และมี 1 คดี ที่ศาลลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา ได้แก่ คดีคาร์ม็อบพิษณุโลก

ที่น่าสนใจได้แก่ ชุดคดีจากการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ที่ศาลแขวงดุสิตยกฟ้องคดีของ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ และ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว เพิ่มเติมอีก 2 คดี รวมแล้วคดีของนักกิจกรรมที่ถูกฟ้องแยกเป็นรายคดี และได้ต่อสู้คดี ศาลยกฟ้องไปแล้วรวมถึง 10 คดีด้วยกัน โดยทั้งหมดศาลวินิจฉัยไปในแนวทางใกล้เคียงกันว่าการชุมนุมยังเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง และยังไม่มีคดีใดที่อัยการอุทธรณ์ต่อแล้ว

ในคดีของชลธิชานั้น อัยการโจทก์ยังได้แถลงก่อนฟังคำพิพากษาว่าอัยการสูงสุดได้อนุญาตให้ถอนฟ้องคดีตามหนังสือร้องเรียนของฝ่ายจำเลยที่ยื่นไปก่อนหน้านี้นานนับปี แต่ชลธิชายังยืนยันขอฟังคำพิพากษาของศาลต่อไป ขณะที่ชุดคดีจากการชุมนุมครั้งนี้ยังเหลือคดีของ “บอย” ธัชพงษ์ แกดำ ที่ยังไม่ได้สืบพยานอยู่เพียงคดีเดียว

สถานการณ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นสภาพการใช้ “กฎหมาย” อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการปราบปรามการชุมนุมทางการเมือง สร้างภาระและความยากลำบากให้นักกิจกรรมทางการเมืองในการใช้สิทธิเสรีภาพ ทั้งองค์กรในกระบวนการยุติธรรม อย่างตำรวจ อัยการ และศาล ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการเหล่านี้ดำเนินอยู่ในสังคมไทย 

แม้ประเทศกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่จนถึงปัจจุบันมีคดีที่ประชาชนชุมนุมทางการเมืองและถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังไม่สิ้นสุดอยู่อีกไม่น้อยกว่า 537 คดี หลายคดีอัยการยังสั่งฟ้องเข้ามาอยู่เป็นระยะ หรือยังอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องของศาลต่อไปอีกด้วย

.

.

ศาลยกฟ้องคดีคนอยากเลือกตั้ง UN62-คดีสมณะดาวดินแต่งกายเลียนแบบพระ แต่คดีละเมิดอำนาจศาล ศาลอุทธรณ์ยังเห็นว่ามีความผิดอีก 3 คดี

เดือนที่ผ่านมา ยังมีคำพิพากษาของศาลที่น่าสนใจออกมาอีกส่วนหนึ่ง ได้แก่ การยกฟ้องคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง กรณีชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือ UN62 เมื่อปี 2561 หลังต่อสู้คดีมาเกือบ 5 ปี ศาลแขวงดุสิตยกฟ้องคดีผู้ชุมนุม 39 ราย เห็นว่าเป็นการการชุมนุมสงบปราศจากอาวุธ ผู้ชุมนุมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเรียกร้องการเลือกตั้ง ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนต่อสาธารณะเกินกว่าที่พึงคาดหมาย 

ในชุดคดีคนอยากเลือกตั้งช่วงยุค คสช. นี้ หลังการต่อสู้อย่างยาวนาน แทบทั้งหมดศาลมีคำพิพากษายกฟ้องหรืออัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไปก่อนหน้านี้ โดยยังเหลือคดี UN62 ในส่วนของแกนนำ ที่ถูกฟ้องข้อหาหลักตามมาตรา 116 ที่ยังสืบพยานไม่เสร็จสิ้นอยู่เพียงคดีเดียว สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนการใช้คดีความมาปราบปรามการชุมนุมทางการเมือง ที่คณะรัฐประหารใช้จนกลายเป็น “เรื่องปกติ” ในสังคมไทย

อีกคดีหนึ่งที่ศาลมีคำพิพากษยกฟ้องในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ คดีของสมณะดาวดิน อดีตนักบวชสันติอโศก ที่ถูกจับกุมระหว่างอดอาหารเรียกร้องสิทธิการประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมืองที่หน้าศาลอาญา และถูกดำเนินคดีข้อหาแต่งกายเลียนแบบพระรวมถึง 3 คดี ศาลแขวงพระนครเหนือได้มีคำพิพากษายกฟ้องออกมาเป็นคดีแรกแล้ว โดยเห็นว่าจำเลยเพียงแต่งกายตามลัทธิที่ตนนับถือ ใช้ชีวิตโดยเปิดเผย และไม่ได้หลอกลวงผู้อื่น อีกทั้ง ประชาชนโดยทั่วไปก็สามารถแยกแยะได้ว่ามีความแตกต่างจากคณะสงฆ์ทั่วไป 

ขณะเดียวกัน เดือนกุมภาพันธ์ ศาลอุทธรณ์ยังทยอยมีคำพิพากษาในคดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองในช่วงปี 2564-65 ออกมาอีก 3 คดี โดยทั้ังหมดศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่เห็นว่ามีความผิด ทั้งคดีของ 5 ผู้ชุมนุมหน้าศาลอาญาวันที่ 2 พ.ค. 2564, คดีของ 3 ผู้ชุมนุมหน้าศาลอาญาวันที่ 24 ธ.ค. 2564 และคดีของ 3 สมาชิกทะลุฟ้า กรณีขีดเขียนฝาผนังขณะถูกควบคุมตัวเพื่อรอฟังคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ในห้องเวรชี้ศาลอาญา เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 โดยมีผู้ถูกกล่าวหาบางส่วนที่ศาลยังยืนยันลงโทษกักขัง โดยไม่รอลงอาญา ทำให้ยังต้องฎีกาคำพิพากษาต่อไป

.

X