พิพากษายกฟ้อง! คดีแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ของสมณะดาวดิน ชี้จำเลยเพียงแต่งกายตามลัทธิที่ตนนับถือ

วานนี้ (8 ก.พ. 2566) ศาลแขวงพระนครเหนือนัดฟังคำพิพากษาในคดีแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ “สมณะดาวดิน” หรือดาวดิน ชาวหินฟ้า อดีตนักบวชสันติอโศก วัย 61 ปี กรณีจากเหตุปักหลักอดอาหารหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 โดยตำรวจ สน.พหลโยธิน, ตำรวจศาล และเจ้าหน้าที่เทศกิจ นับ 10 นาย ได้เข้าจับกุมสมณะดาวดิน เป็นครั้งที่ 2 หลังมีการจับกุมตัวมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 ทำให้สมณะดาวดินถูกฟ้องคดีข้อหานี้ที่ศาลแขวงพระนครเหนือถึง 2 คดี

เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานอัยการได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมิได้เป็นภิกษุในศาสนาได้แต่งกายเป็นภิกษุในพุทธศาสนาโดยมิชอบ ไปปรากฏตัวต่อประชาชนทั่วไปที่บริเวณด้านหน้าศาลอาญา ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าจำเลยเป็นภิกษุในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 “แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นพระภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาพุทธโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น” โดยข้อหานี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ในเวลา 11:00 น. โดยประมาณ ศาลแขวงพระนครเหนืออ่านคำพิพากษา ยกฟ้อง ในคดีนี้ โดยศาลให้เหตุผลโดยสรุปว่า จำเลยเพียงแต่งกายตามลัทธิที่ตนนับถือ ใช้ชีวิตโดยเปิดเผย และไม่ได้หลอกลวงผู้อื่น อีกทั้ง ประชาชนโดยทั่วไปก็สามารถแยกแยะได้ว่ามีความแตกต่างจากคณะสงฆ์ทั่วไป 

.

ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ม.208 ขัดต่อหลักนิติธรรมตาม รธน. ม.26 หรือไม่

ในการต่อสู้คดีนี้ จำเลยยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 มีข้อความหรือขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 ที่บัญญัติไว้ว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมุนษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย…” หรือไม่

โดยข้อโต้แย้งของจำเลยที่เรียนต่อศาลรัฐธรรมมนูญมีเนื้อความโดยสรุปได้ดังนี้

1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 เป็นบทบัญญัติที่กระทบต่อเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ในพุทธศาสนานิกายอื่น การแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ไม่ใช่การกระทำที่ร้ายแรงหรือกระทบกระเทือนความสงบสุขของบ้านเมือง เป็นการกำหนดความผิดอาญาที่ไม่สอดคล้องกับหลักภยันตราย ขัดต่อหลักนิติธรรม

2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็นตามหลักความได้สัดส่วนเนื่องจากมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 43 อันเป็นมาตรการที่บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายโดยการกำจัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนน้อยกว่ามาตรา 208 บัญญัติไว้แล้ว

3. การกำหนดโทษจำคุกในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 จำกัดเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนา กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการพัฒนาบุคลิกภาพอันเป็นเสรีภาพทั่วไป ไม่ได้สัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะที่ได้รับ

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 13/2565 ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 โดยอธิบายตามแต่ละข้อโต้แย้งไว้ดังนี้

1. การบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบตามประมวลกฎหมาย อาญา 208 เป็นมาตราการป้องกันมิให้บุคคลแต่งกายเลียนแบบภิกษุ สามเณร นักบวชหรือนักพรตโดยมีเจตนาให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีสถานะเช่นนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน การบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดและมีโทษทางอาญาจึงกระทำได้ สอดคล้องกับหลักภยันตราย

2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มุ่งความคุ้มครองความเสียหายในทางทรัพย์สินของผู้อื่นที่เกิดจากการหลอกลวงโดยเฉพาะ ส่วนมาตรา 208 มุ่งคุ้มครองศาสนา ศาสนิกชน และบุคคลทั่วไปจากการกระทำอันมิชอบหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ กล่าวคือ ความผิดทางอาญาทั้งสองฐานมีเจตนารมณ์การคุ้มครองที่แตกต่างกัน ไม่อาจนำความผิดและโทษตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวใช้บังคับแทน ดังนั้น มาตรา 208 เป็นมาตรการที่พอเหมาะพอควรตามความจำเป็นและได้สัดส่วนกับความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด

3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 กำหนดโทษอัตราโทษขั้นสูงโดยไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำ ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็น และความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีในแต่ละกรณีได้

โดยสรุปคือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ทำให้ศาลแขวงพระนครเหนือนำเรื่องกลับมาพิจารณาต่อไปได้

.

>> เปิดบันทึกสืบพยานคดี “แต่งกายเลียนแบบสงฆ์” ของสมณะดาวดิน ก่อนศาลสั่งรอการพิพากษาไว้ชั่วคราว หลังยื่นขอศาล รธน. วินิจฉัย

.

ในส่วนของคดีแต่งกายเลียนแบบพระของสมณะดาวดินคดีแรก ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 ศาลแขวงพระนครเหนือยังไม่ได้กำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา ส่วนคดีแต่งกายเลียนแบบพระคดีที่สามของสมณะดาวดิน ซึ่งถูกฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตนั้น ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 28 มี.ค. 2566 นี้

.

X