เปิดบันทึกสืบพยานคดี “แต่งกายเลียนแบบสงฆ์” ของสมณะดาวดิน ก่อนศาลสั่งรอการพิพากษาไว้ชั่วคราว หลังยื่นขอศาล รธน. วินิจฉัย

ช่วงระหว่างวันที่ 25-26 ม.ค. 2565 ศาลแขวงพระนครเหนือนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ ในคดีที่ 1  ของดาวดิน ชาวหินฟ้า หรือ “สมณะดาวดิน” อดีตนักบวชสันติอโศก โดยคดีนี้เนื่องมาจากเหตุเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมสมณะดาวดิน ขณะนั่งอดอาหารหน้าศาลอาญาได้ 8 วัน ในช่วงวันที่ 21 เม.ย. 2564 และนำตัวไปแจ้งข้อหาที่ สน.พหลโยธิน

ต่อมา คดีนี้ถูกสั่งฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือ และมีการนัดสืบพยานโจทก์รวม 5 ปาก ประกอบด้วย ประชาชนผู้กล่าวหา 1 ปาก และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 ปาก จาก สน.พหลโยธิน ส่วนพยานจำเลย ได้แก่ จำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยาน 1 ปาก และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญพุทธศาสนาอีก 1 ปาก รวม 2 ปาก จนเสร็จสิ้น

เดิมศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 เม.ย. 2565 แต่ได้เลื่อนออกไป เนื่องจากหลังการสืบพยาน ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208  “แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นพระภิกษุฯ โดยมิชอบ” ที่ศาลจะใช้พิจารณาพิพากษาจำเลยในคดีนี้ เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ในเรื่องการเป็นกฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลหรือไม่ 

ในตอนแรก ศาลแขวงพระนครเหนือพิเคราะห์ว่าไม่มีเหตุที่จะส่งคำร้องฉบับนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และได้มีคำสั่งยกคำร้อง ฝ่ายจำเลยจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องดังกล่าว จากนั้นในวันที่ 2 มี.ค. 2565 ศาลจึงได้แจ้งยกเลิกนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

สำหรับข้อต่อสู้หลักของฝ่ายจำเลยคือ สมณะดาวดินไม่เคยแสดงตัวเป็นภิกษุโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อเช่นนั้น โดยมีความแตกต่างในการแต่งกายและวัตรปฏิบัติของสมณะหรือนักบวชในสันติอโศก กับพระภิกษุตามแบบมหาเถรสมาคมที่เห็นได้ ทั้งสมณะดาวดินไม่ได้มีการใช้เครื่องหมายของมหาเถระ และไม่ได้มีการแต่งกายเป็นสมณะเพื่อไปเรียกผลประโยชน์ เรี่ยไร หรือประกอบพิธีให้บุคคลใด การดำรงสมณะเพศดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการถือศาสนาตามรัฐธรรมนูญ ทั้งสมณะดาวดินบวชเป็นสมณะมาเกือบ 20 ปี ไม่เคยหลบซ่อนหรือถูกดำเนินคดี จนมาอดอาหารร่วมเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมือง จึงถูกจับกุม

.

บันทึกการสืบพยานฝ่ายโจทก์

ในช่วงก่อนเริ่มสืบพยาน ศาลได้กล่าวกับผู้สังเกตการณ์ในห้องพิจารณา เรื่องมาตรการการจำกัดจำนวนคนภายในห้องพิจารณาเพื่อการป้องกันโควิด-19 แต่ไม่ได้มีคำสั่งห้ามเข้าห้องพิจารณาแต่อย่างใด

พยานโจทก์ปากที่ 1: รัฐธนภักษ์ สุวรรณรัตน์ ประชาชนผู้แจ้งความจับสมณะดาวดิน

รัฐธนภักษ์ได้เบิกความต่อศาลว่า เกี่ยวข้องกับคดีในฐานะเป็นผู้แจ้งความ เหตุเพราะตนเองเป็นชาวพุทธ เป็นผู้สนใจข่าวการเมือง และติดตามเรื่องมาตรา 112 อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเห็นวิดีโอคลิปข่าวจากช่อง Voice TV ซึ่งมีภาพจำเลยนั่งอดอาหารที่หน้าศาลอาญา จึงไปดำเนินการแจ้งความกับตำรวจ สน.พหลโยธิน ในข้อหาตามที่ปรากฏในบันทึกจับกุม คือ “แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาพุทธโดยมิชอบเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น”

ทนายจำเลยได้ถามค้านว่า หลังจากที่พยานดูข่าวจาก Voice TV แล้วทราบทันทีเลยหรือไม่ว่าจำเลยไม่ใช่พระ ทั้งยังได้ถามต่อไปว่า พยานไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่หน้าศาลอาญาใช่หรือไม่ และพยานเป็นผู้แจ้งความคดีของสามเณรรูปหนึ่ง ในข้อหาตามมาตรา 112 ด้วยใช่หรือไม่

รัฐธนภักษ์ได้มีท่าทีอึกอักครู่หนึ่ง ก่อนจะเบิกความว่าตนไม่ทราบแน่ชัดว่าจำเลยเป็นพระหรือไม่ แต่มั่นใจว่าจำเลยไม่ได้สังกัดมหาเถรสมาคม ส่วนในเรื่อง 112 นั้น ตนเองไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตราดังกล่าว และยอมรับว่าเป็นผู้แจ้งความมาตรา 112 ในคดีของอดีตสามเณรโฟล์คจริง

ทนายจำเลยถามว่า พยานเคยบวชหรือไม่ รู้จักหรือสามารถแยกแยะสีจีวรของสงฆ์ในพุทธศาสนาแต่ละนิกายที่อยู่ในประเทศไทยได้หรือไม่ รวมถึงถามว่าพยานรู้จักสันติอโศกหรือไม่ รัฐธนภักษ์เบิกความว่า เขาไม่เคยบวช แต่รู้ว่าพุทธศาสนาในไทยมี 2 นิกายคือ มหานิกายหรือธรรมยุติกนิกาย รวมถึงรู้จักสันติอโศกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม พยานยืนยันความเห็นตนว่า จำเลยในคดีนี้ไม่ใช่ทั้งพระและนักบวชในสันติอโศก

ทนายจำเลยได้กล่าวถึงคิ้วว่า เป็นอย่างหนึ่งที่ช่วยให้สามารถแยกแยะระหว่างพระสงฆ์และนักบวชในสันติอโศกได้ ก่อนจะถามว่า ในวันและเวลาที่เกิดเหตุพยานได้เห็นคิ้วของจำเลยหรือไม่ ซึ่งรัฐธนภักษ์ตอบว่าเขาไม่ทันได้สังเกต และเพิ่งจะทราบในวันนี้เองว่าจำเลยไว้คิ้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายจำเลยถามว่า พยานไม่ต้องการให้จำเลยนั่งอดอาหารอยู่หน้าศาลอาญาใช่หรือไม่ และพยานทราบสาเหตุที่จำเลยอดอาหารหรือไม่นั้น รัฐธนภักษ์ได้ตอบว่า เขาทราบว่าจำเลยอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาคนหนึ่ง แต่เขามิได้ตอบคำถามที่ว่า ต้องการหรือไม่ต้องการให้จำเลยนั่งอดอาหาร

.

.

พยานโจทก์ปากที่ 2:  สหัส บรรจงเมือง ข้าราชการสำนักงานพุทธศาสนา ตำแหน่งนักวิชาการชำนาญการพิเศษ

สหัสเบิกความว่า พยานมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะเป็นข้าราชการสังกัดมหาเถรสมาคม มีตำแหน่งเป็นนักวิชาการพุทธศาสนา มีหน้าที่สำคัญคือ การสนองงานเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรับเรื่องร้องเรียน เรื่องพระภิกษุทำผิด โดยในวันและเวลาเกิดเหตุ สหัสได้ติดตามเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจาก สน.พหลโยธิน ไปที่หน้าศาลอาญาและได้พบจำเลยนั่งอยู่ ด้านข้างมีกลดและย่าม เมื่อได้ยินจำเลยเรียกแทนตนเองว่า “อาตมา” คล้ายกับพระสงฆ์ จึงได้เข้าไปสอบถามว่า จำเลยเป็นภิกษุในศาสนาพุทธหรือไม่ ซึ่งจำเลยตอบว่าไม่ได้เป็นพระ แต่เป็นสมณะชื่อดาวดิน และไม่ได้สังกัดคณะสงฆ์ใด โดยสหัสได้เบิกความต่อศาลด้วยว่า เมื่อเป็นดังนั้นแล้วจึงถือได้ว่าสำนักพุทธศาสนาไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้

ฝ่ายทนายจำเลยขึ้นถามค้านว่า พยานเคยบวชหรือไม่ ทราบหรือไม่ว่าจีวรของภิกษุในประเทศไทยมีหลายสี และถามถึงบทบาทในวันและเวลาที่เกิดเหตุว่า พยานเห็นหรือไม่ว่าจำเลยสวมจีวรสีอะไร สหัสก็เบิกความว่า เขาเคยบวชและทราบดีว่าจีวรมีหลายสี และในส่วนสีจีวรของจำเลยนั้น เขามองว่าคล้ายกับจีวรของพระป่า แม้จะมีสีบางส่วนต่างจากส่วนใหญ่ แต่ที่เห็นโดยรวมก็คือสีกลัก ซึ่ง ณ เวลานั้นเขามองไม่ชัดว่าจีวรของจำเลยมีส่วนต่อเติมเพราะไม่ได้สังเกต ซึ่งถ้าไม่สังเกตก็จะไม่เห็น

นอกจากนี้ สหัสยังได้เบิกความต่อไปด้วยว่า ในวันและเวลาที่มีการจับกุมจำเลย เขากับจำเลยอยู่ใกล้ชิดกันแค่พอพูดคุยรู้เรื่องเท่านั้น ทำให้ไม่ได้สังเกตจำเลยมากนักเพียงแต่มองภาพรวมโดยทั่วไป ในกรณีของกลางที่ยึดได้ อันได้แก่ บาตรและจีวรนั้น สหัสเบิกความว่า ไม่มีข้อกำหนดใดห้ามไว้ว่าคนทั่วไปห้ามใช้ แต่ก็ไม่มีใครใช้ รวมถึงบอกด้วยว่าสำนักงานพุทธศาสนา ได้เคยดำเนินคดีกับนักบวชสันติอโศกมาแล้ว แต่จำไม่ได้ว่าอะไรบ้างและอย่างไร เพราะมีหลายคดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายจำเลยถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าจำเลยไม่ใช่พระ และในฐานะที่เป็นข้าราชการสำนักพุทธศาสนา พอจะทราบเรื่องการตัดเย็บจีวรของพระสงฆ์หรือไม่ สหัสก็ตอบว่า เขาไม่มั่นใจว่าจำเลยเป็นพระหรือไม่ จึงได้ถามจำเลยในวันนั้น ส่วนเรื่องการตัดเย็บจีวรก็ทราบแต่เพียงต้องตัดตามพระวินัย ซึ่งก็ไม่อาจระบุคำตอบได้อย่างชัดเจนในการสืบพยานนี้ ดังนั้นทนายจำเลยจึงขอให้ศาลบันทึกว่า สหัสไม่ทราบว่าจีวรของพระสงฆ์นั้นตัดเย็บอย่างไร และศาลได้บันทึกตามนั้น

ทนายจำเลยได้พยายามถามเพื่อชี้ให้เห็นว่า สมณะดาวดินหรือจำเลยไม่ได้แสดงตัวหรืออวดอ้างว่าตนเป็นพระในพุทธศาสนา เช่น ประกอบพิธี หรือทำการเรี่ยไรเงิน รวมถึงถามว่าคนที่โทรศัพท์มาแจ้งพยานเรื่องจำเลยนั้น เป็นตำรวจหรือคณะสงฆ์ และโทรมาที่เบอร์ส่วนตัวของสหัสใช่หรือไม่ ซึ่งสหัสก็เบิกความโดยยอมรับว่ามีผู้แจ้งโทรศัพท์มาที่เบอร์ส่วนตัวจริง แต่ไม่ได้ตอบว่าผู้แจ้งนั้นเป็นตำรวจหรือประชาชน 

ก่อนจะหมดคำถาม ทนายจำเลยได้ถามต่อว่า หน้าที่ในสำนักงานพุทธศาสนาคือดูแลเรื่องการร้องเรียน ดูแลเรื่องพระกินเหล้าใช่ไหม ซึ่งสหัสได้ตอบว่า หน้าที่ของตนคือการสนองงานเจ้าคณะสงฆ์ ถ้าเขาให้ทำอะไรก็ทำอย่างนั้น

.

พยานโจทก์ปากที่ 3: พ.ต.ท.เชษฐพัทธ์ วงศ์สวัสดิ์ ฝ่ายสืบสวน สน.พหลโยธิน

พ.ต.ท.เชษฐพัทธ์เบิกความต่อศาลว่า เกี่ยวข้องกับคดีเพราะในวันและเวลาที่เกิดเหตุ เขาประจำอยู่ที่ฝ่ายงานสืบสวน สน.พหลโยธิน โดยเป็นผู้ได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีจำเลยนั่งอยู่ที่ทางเท้า จากนั้นก็แจ้งต่อผู้บังคับบัญชาและประสานงานไปยังสำนักงานพุทธตามขอบเขตหน้าที่

พ.ต.ท.เชษฐพัทธ์เบิกความต่ออีกว่า เมื่อไปถึงหน้าศาลอาญา ก็เห็นจำเลยนั่งอยู่บนทางเท้า แต่งกายคล้ายพระสงฆ์ จีวรสีเกือบแดงแต่ไม่ถึงกับแดง จากนั้นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพุทธศาสนาก็เข้าไปสอบถามจำเลยและได้ความตามที่ปรากฏในบันทึกจับกุม รวมทั้งพบของกลางคือ บาตร กลด และย่าม จึงเข้าจับกุมแล้วพาตัวจำเลยไปที่ส่วนกลางของ สน.พหลโยธิน 

เมื่อทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะที่จับกุมได้รับแจ้งจากจำเลยว่าตนเองไม่ใช่พระหรือไม่ รวมถึงถามว่าเคยบวชหรือไม่ บวชนานเท่าไร ในนิกายอะไร และทราบถึงความต่างระหว่างสีจีวรของพระสงฆ์กับจำเลยหรือไม่ โดย พ.ต.ท.เชษฐพัทธ์ก็ได้เบิกความว่า จำเลยแจ้งเขาตั้งแต่ ณ ที่ถูกจับกุมว่าไม่ใช่พระและไม่มีใบสุทธิ ส่วนเรื่องการบวชนั้น เขาเคยบวชเป็นเวลา 15 วัน ที่วัดแห่งหนึ่งในชนบท แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นนิกายอะไร จำได้เพียงแต่ว่าแต่งกายด้วยจีวรสีเดียวกับพระสงฆ์โดยทั่วไป และกล่าวว่าอาจเป็นเพราะคุณภาพของเครื่องพิมพ์ ทำให้ภาพสีจีวรที่อยู่ในพยานเอกสารที่ทนายจำเลยยกมานั้นผิดเพี้ยนไป

จากนั้นทนายจำเลยจึงถามต่อไปว่า ในวันเกิดเหตุที่มีคนโทรศัพท์ไปแจ้ง คนที่โทรไปใช่คนของสำนักงานพุทธศาสนาหรือไม่ พร้อมกับถามว่าพยานทราบหรือไม่ว่าย้อนไปในวันที่ 20 เมษายน 2564 ก็ได้มีการจับกุมพระอีกรูปหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นจำเลยก็ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย แต่กลับไม่มีการแจ้งข้อหาหรือการจับกุมใดๆ พ.ต.ท. เชษฐพัทธ์ก็ได้เบิกความว่า เขาไม่ได้เข้าเวรในวันนั้น จึงไม่ทราบ

.

พยานโจทก์ปากที่ 4: ด.ต.สิทธิรักษ์ นาก้อนทอง ตำรวจชุดจับกุม

ด.ต.สิทธิรักษ์เบิกความต่อศาลว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชา จึงประสานงานให้ดำเนินการจับกุม และได้เดินทางไปศาลอาญาพร้อมกับชุดจับกุมและคนจากสำนักงานพุทธศาสนา โดยเมื่อไปถึงก็ได้พบนายดาวดิน ชาวหินฟ้านั่งอยู่ข้างหน้าศาลอาญา แต่งกายคล้ายพระ มีย่าม บาตร และกลดอยู่ข้างๆ ทั้งนี้เขาไม่ได้พูดคุยกับจำเลย มีเพียงคนจากสำนักงานพุทธศาสนาและผู้บังคับบัญชาเท่านั้นที่ได้คุย แต่พยานก็ได้ยินจำเลยเรียกแทนตัวเองว่า “อาตมา” คล้ายพระสงฆ์

นอกจากนี้ ด.ต.สิทธิรักษ์ ยังได้เบิกความต่ออีกว่า ภาพถ่ายของกลาง คือย่าม บาตร และกลดนั้น ถูกถ่ายโดยเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมคนอื่นเป็นผู้ถ่าย ส่วนตนเองนั้นเมื่อพาตัวจำเลยไปถึงที่ สน.พหลโยธิน แล้วก็ถูกพนักงานสอบสวนสอบปากคำในฐานะพยาน

ทนายจำเลยได้ถามค้านว่า รู้หรือไม่ในช่วงก่อนเกิดเหตุมีคนไปนั่งหน้าศาลอาญาทุกวัน มีการอดอาหารด้วย และมีประชาชนชาวเชียงรายคนหนึ่งโดนจับกุมที่หน้าศาลอาญา ซึ่งในวันนั้นจำเลยก็อยู่ในเหตุการณ์ เพราะจำเลยนั่งอยู่ที่หน้าศาลอาญาก่อนจะถูกจับกุม ซึ่ง ด.ต.สิทธิรักษ์เบิกความว่า เขาทราบ

ทนายจำเลยจึงถามต่อไปว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2564 มีการจับพระภิกษุรูปหนึ่งที่หน้าศาลอาญา และพากันไปที่ สน.พหลโยธิน ซึ่งในวันนั้นเห็นจำเลยไปด้วยหรือไม่ โดย ด.ต.สิทธิรักษ์เบิกความว่า เขาทราบว่ามีการจับกุมพระ แต่เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จึงไม่รู้ว่าจำเลยอยู่ที่นั่นด้วยหรือไม่

อนึ่ง เมื่อทนายจำเลยถามถึงสถานการณ์ ณ ที่จับกุมว่า เห็นจำเลยทำพิธีกรรม เช่น รดน้ำมนต์หรือไม่ หรือเห็นการเรี่ยไรเงินหรือไม่ ด.ต.สิทธิรักษ์เบิกความว่า เขาไม่เห็น ทั้งยังบอกด้วยว่าไม่รู้จักผู้ที่แจ้งความเพราะได้รับเรื่องมาจากผู้บังบัญชาอีกต่อหนึ่ง ซึ่งก็คือรองผู้กำกับการสอบสวน

.

.

พยานโจทก์ปากที่ 5: ร.ต.ท.พิเชษฐ์ ผู้ผึ้ง พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน

ร.ต.ท.พิเชษฐ์เบิกความว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเนื่องจากเป็นรองสารวัตรสอบสวน ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน ทำสำนวน และพิจารณาว่าควรส่งฟ้องหรือไม่ โดยคดีนี้มี พ.ต.ท.เชษฐพัทธ์ นำตัวจำเลยมาส่งพร้อมของกลาง จากนั้นจึงได้มีการแจ้งสิทธิและข้อกล่าหาแก่จำเลย ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ

เมื่อทนายจำเลยขึ้นถามค้านเกี่ยวกับประสบการณ์ในพุทธศาสนาว่าเคยบวชไหม และจำการห่มจีวรได้หรือไม่ พร้อมกับให้ดูรูปภาพในเอกสารซึ่งเป็นภาพจีวรของทั้งภิกษุและนักบวชสันติอโศก ก่อนจะถามอีกว่าทั้งสองรูปมีความต่างกันหรือไม่ ร.ต.ท. พิเชษฐ์ได้เบิกความว่า เขาเคยบวชเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่จำการห่มจีวรไม่ได้ และทุกวันนี้ก็ห่มไม่เป็น ส่วนภาพที่ทนายจำเลยยกมาให้ดูนั้นก็พอจะดูออกว่าไม่เหมือนกันกับสีจีวรและสีผ้าของจำเลย แต่กระนั้นก็ยังคงยืนยันว่ามีความคล้ายกัน นอกจากนี้แล้ว ยังเบิกความอีกด้วยว่า ตนเองไม่รู้จักใบสุทธิที่เป็นเหมือนบัตรประชาชนของพระ

อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายจำเลยพยายามจะถามต่อว่าในฐานะเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน แต่ไม่ทราบว่าใบสุทธิที่เป็นเครื่องยืนยันความเป็นพระหรือไม่เป็นพระตามกฎหมายนั้นคืออะไร แล้วส่งสำนวนฟ้องได้อย่างไร แต่ศาลมีคำสั่งห้าม แล้วบอกให้ทนายถามคำถามอื่นแทน

ทนายจำเลยจึงถามต่อไปว่า จากของกลางที่ยึดมาได้จากจำเลยมีสัญลักษณ์แสดงสังกัดมหาเถรสมาคมหรือไม่ และทราบหรือไม่ว่าจำเลยได้มีการเรี่ยไรเงินหรือประกาศตัวว่าเป็นพระภิกษุหรือไม่ ซึ่ง ร.ต.ท.พิเชษฐ์ เบิกความว่าของกลางที่ยึดได้จากจำเลยไม่มีสัญลักษณ์ของมหาเถรสมาคม แล้วก็ไม่มีปรากฏในการสอบสวนว่าจำเลยเรี่ยไรเงิน ก่อนจะอธิบายว่าในส่วนของการสอบสวนนั้น เขาถามแต่เรื่องของเหตุการณ์ไม่ได้ถามเรื่องส่วนตัว ทำให้ไม่รู้ว่าจำเลยประกาศตัวเองเป็นพระหรือไม่

จากนั้นทนายจำเลยได้ถามต่อว่า เป็นพระต้องโกนคิ้วหรือไม่ การใช้ย่ามเป็นเครื่องหมายของความเป็นพระหรือไม่ และในวันที่จับกุม พยานได้ไหว้จำเลยหรือไม่ ซึ่ง ร.ต.ท.พิเชษฐ์ พยายามเบิกความว่าในกรณีคนอื่นเขาไม่รู้ แต่ตอนที่บวชนั้นเขาโกนคิ้ว ก่อนจะกล่าวเพิ่มเติมว่าคิ้วสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ส่วนย่ามไม่ใช่เครื่องยืนยันความเป็นพระ เพราะจะต้องดูเครื่องกายประกอบด้วย และในเรื่องของการไหว้ ร.ต.ท.พิเชษฐ์ได้ตอบว่าเขาไหว้จำเลย แต่เป็นในฐานะผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสกว่า และยังบอกอีกว่าเขาไหว้ผู้ต้องหาทุกคน เพราะต้องการให้เกียรติ

ทนายจำเลยจึงถามอีกต่อหนึ่งว่าพยานไหว้จำเลยในฐานะที่อาวุโส ย่อมแสดงว่าทราบอยู่แล้วว่าจำเลยไม่ใช่พระ ใช่หรือไม่ ซึ่ง ร.ต.ท.พิเชษฐ์ ได้แสดงท่าทีอึกอักก่อนจะเบิกความว่า ไม่รู้ เพราะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

ทนายจำเลยได้ให้ดูเอกสารรายงานข่าวของ “ข่าวสด” แล้วถามว่าได้เชิญคนจากคณะกรรมาธิการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม  สภาผู้แทนราษฎร มาให้การเกี่ยวกับคดีนี้หรือไม่ ทราบหรือไม่ว่าจำเลยปฏิบัติอยู่กลุ่มสันติอโศก  ร.ต.ท.พิเชษฐ์เบิกความว่า เขาไม่ได้เชิญคนจากคณะกรรมการใดมาให้การ และไม่ทราบว่าจำเลยอยู่ในกลุ่มสันติอโศก

พนักงานอัยการได้ขึ้นถามติงว่า จากตอบทนายจำเลยเรื่องสีจีวร ขอถามพยานว่าเคยเห็นจีวรที่มีสีคล้ายกับของจำเลยหรือไม่ และสีที่เห็นนั้นเรียกว่าสีอะไร และในคดีนี้สิ่งที่เรียกว่าใบสุทธิมีความสำคัญอย่างไร ซึ่ง ร.ต.ท.พิเชษฐ์ ได้เบิกความว่า เขาเคยเห็นสีจีวรที่คล้ายกับของจำเลย และสีนั้นเรียกว่าสีกลัก ส่วนใบสุทธินั้นไม่มีสาระสำคัญ เพราะในคดีนี้สิ่งที่สำคัญคือการแต่งกาย และหากจำเลยมีใบสุทธิ ตนก็จะไม่ส่งฟ้อง

.

บันทึกสืบพยานจำเลย 

ในวันที่ 26 ม.ค. 65 ศาลแขวงพระนครเหนือได้สืบพยานจำเลย โดยมีดาวดิน ชาวหินฟ้า หรือสมณะดาวดิน จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานปากที่ 1 และสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านพุทธศาสนา เป็นพยานจำเลยปากที่ 2 จนเสร็จสิ้น

พยานจำเลยปากที่ 1: ดาวดิน ชาวหินฟ้า หรือสมณะดาวดิน

สมณะดาวดิน หรือนายดาวดิน ชาวหินฟ้า ปัจจุบันอายุ 60 ปี ประกอบอาชีพเป็นนักบวช ได้ศึกษาแนวคิดของกลุ่มสันติอโศกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 และเข้าเป็นคนวัด หรืออารามมิกของสันติอโศกเมื่อปี พ.ศ. 2529 เป็นผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ 4 เดือน เป็นนาค 4 เดือน เป็นสามเณร 4 เดือน และได้บวชเป็นสมณะเมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยระหว่างที่เป็นอารามิกนั้นก็ได้ถือศีล 5 กินมังสวิรัติ พอได้เป็นผู้ปฏิบัติธรรมหรืออารามิกก็เริ่มศึกษาศีล 8 จากนั้นก็เข้าเป็นนาค ต่อมาก็ได้เป็นสามเณรสมาทานศีล 10 และมีสิทธิ์บิณฑบาต ในท้ายที่สุดเมื่อได้เป็นสมณะก็สมาทานจุลศีล มหาศีล และศีล 227 ข้อ

ทนายจำเลยถามสมณะดาวดินถามต่อว่าในฐานะนักบวชสันติอโศกเคยถูกดำเนินคดีมาก่อนหรือไม่ และมั่นใจไหมว่าตนเองเป็นนักบวชโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ สมณะดาวดินตอบว่าไม่เคย และจากที่ได้อ่านถ้อยคำของรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มั่นใจว่าตนเองเป็นนักบวชโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ

จากนั้นทนายจำเลยจึงถามต่อว่าสันติอโศกและนิกายอื่นๆ มีความต่างกันอย่างไร สมณะดาวดินก็ได้เบิกความว่า ต่างกันตรงเรื่องกินมังสวิรัติ ไม่มีเงินทอง หรือแม้แต่ทรัพย์สินในรูปของเงินฝาก มีข้อปฏิบัติตามจุลศีล มหาศีล และข้อห้ามเรื่องการบูชาด้วยน้ำ ควัน และไฟ รวมถึงห้ามเรื่องการทำไสยศาสตร์ด้วย ส่วนในเรื่องจีวรหรือผ้าครองของสมณะก็ต้องทำให้ต่าง เพราะตอนที่สันติอโศกแยกออกมานั้นก็มีจุดมุ่งหมายคือทำให้ต่างจากพระสงฆ์ รวมถึงเรื่องสีจีวรและคิ้วด้วย จำเป็นต้องทำให้ต่างทั้งหมด

ทั้งนี้ ได้ปรากฏว่ามีพระภิกษุสงฆ์มาฟังการพิจารณาคดีด้วย จึงได้มีการเปรียบเทียบกันระหว่างผ้าครองของสมณะดาวดินและจีวรของพระสงฆ์ เพื่อแสดงให้ศาลเห็นถึงความต่าง

ต่อมาทนายจำเลยได้ถามถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ สมณะดาวดินได้เบิกความว่า ตนมาที่หน้าศาลอาญาเพราะทราบว่ามีคนติดคุกและไม่ได้รับสิทธิประกันตัว จึงพาตัวเองมานั่งอดอาหารที่หน้าศาลเพื่อใช้ตัวเองเป็นอุปกรณ์สื่อสาร ในช่วงก่อนที่จะถูกจับกุมนั้นมีพระสงฆ์ที่เคยทำกิจกรรมร่วมกันมาเยี่ยมที่หน้าศาลอาญา แล้วได้พักค้างคืนด้วยที่นั่น วันต่อมา (20 เม.ย. 2564) ก็มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพุทธศาลนาพร้อมกับตำรวจที่หน้าศาลอาญา แล้วพาตัวพระสงฆ์รูปนั้นไปหาพระผู้ใหญ่ที่วัดเสมียนนารี ซึ่งขณะนั้นตนเองก็ได้เดินทางไปด้วย แต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีหรือจับกุมแต่อย่างใด

สำหรับเหตุการณ์วันที่ 21 เม.ย. 2564 สมณะดาวดินเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 4 นาย มาพร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักพุทธศาสนา โดยมาสอบถามตนว่าเป็นพระหรือไม่ จากนั้นก็ถามหาหนังสือสุทธิ ซึ่งตนก็บอกไปว่าไม่ได้เป็นพระและไม่มีใบสุทธิ แต่ก็ได้จับกุมไปแจ้งข้อหาที่ สน.พหลโยธิน และได้ให้การปฏิเสธโดยตลอด

ทนายจำเลยถามว่าตลอดเวลาที่เป็นนักบวชในสันติอโศกได้หลบซ่อนหรือปิดบังตัวเองบ้างหรือไม่ สมณะดาวดินตอบว่าไม่เคย และตอนที่กลุ่มพันธมิตรฯ มาชุมนุมกันก็ได้เคยเดินทางไปร่วมชุมนุมด้วย

ในช่วงพนักงานอัยการถามค้าน ได้ถามจำเลยว่า ทำไมจึงออกจากสันติอโศก และเมื่อออกมาแล้วยังมีคนถามว่าเป็นพระอยู่หรือไม่ รวมถึงได้กริ่งเกรง หรือคิดบ้างหรือไม่ว่าจะมีมิจฉาชีพแต่งกายมาเลียนแบบจำเลยอีกต่อหนึ่ง

สมณะดาวดินก็ได้ตอบว่า ตนออกมาเพราะสันติอโศกไม่สนับสนุนให้ทำกิจกรรมการเมืองกับกลุ่มราษฎร 63 ซึ่งศาลบันทึกคำตอบนี้ว่าเป็นเพราะมีทัศนคติการเมืองที่ต่างกัน และกระทั่งในตอนนี้ก็ยังไม่เคยเจอมิจฉาชีพที่แต่งกายเลียนแบบตนเอง และถ้าจะมีคนเลียนแบบตนเอง ก็คงเป็นผู้ที่มีวัตรปฏิบัติเช่นเดียวกัน

จากนั้นทนายจำเลยก็ขึ้นถามติง โดยถามถึงทัศนคติทางการเมืองที่ต่างกันกับสันติอโศก สมณะดาวดินเบิกความว่า กลุ่มสันติอโศกสนับสนุนรัฐบาลนี้ (รัฐบาลประยุทธ์ จันโอชา) ขณะที่ตนนั้นมองว่ารัฐบาลนี้ มีที่มาโดยมิชอบตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่สนับสนุน

.

.

พยานจำเลยปากที่ 2: สุรพศ ทวีศักดิ์ พยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในพุทธศาสนา

สุรพศเบิกความว่า เป็นอาจารย์ประจำศูนย์การศึกษาหัวหิน สังกัดมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยจบการศึกษาปริญญาตรีจากมหามกุฎราชวิทยาลัย และจบปริญญาโทสาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งยังจบเปรียญธรรม 5 ประโยคด้วย

ทนายจำเลยได้ถามถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 31 (บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน) เปรียบเทียบกับการกระทำของจำเลยแล้ว พยานมีความเห็นว่าเป็นเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือไม่ สุรพศเห็นว่าเป็น เพราะไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ระบุว่าสมณะดาวดินละเมิดรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว

ทนายจำเลยจึงถามต่อว่า นักบวชในประเทศไทยมีกี่ประเภท สุรพศก็ตอบว่ามี 2 ประเภทคือ นักบวชที่ชอบด้วยพระธรรมวินัย และชอบด้วยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ทั้งนี้ สุรพศได้พยายามอธิบายให้ศาลเห็นถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของนักบวชในไทย แต่ถูกศาลยั้งไว้เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องที่พ้นไปจากข้อกล่าวหาของจำเลยในคดีนี้

เมื่อทนายจำเลยถามถึงความต่างของพระสงฆ์และกลุ่มสันติอโศกว่าเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปหรือไม่ สุรพศก็ตอบว่าเป็นที่รู้โดยทั่วกัน เพราะมีความต่างกันทั้งสีจีวร วัตรปฏิบัติ และการครองผ้า โดยเมื่อเห็นแล้วก็สามารถที่จะแยกได้เลย

จากนั้นทนายจำเลยได้ถามว่านอกจากกรณีของจำเลยแล้ว มีนักบวชกลุ่มอื่นๆ อีกไหมที่ถือเป็นนักบวชนอกกฎหมาย ซึ่งสุรพศก็ตอบว่ามี และตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ภิกษุณี

ทนายจำเลยถามต่อว่า นักบวชนอกกฎหมายได้รับสวัสดิการจากรัฐบ้างหรือไม่ และอย่างไร แต่ศาลเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไกลไปจากข้อกล่าวหาในคดีนี้  ทนายจำเลยถามใหม่ว่าของกลางในคดี คือ บาตร ย่าม และกลดนั้น คนทั่วไปที่มีศรัทธาสามารถหาซื้อใช้ได้หรือไม่ สุรพศได้ตอบว่าสามารถซื้อได้ เพราะว่าไม่มีข้อห้ามกำหนดไว้ตามกฎหมาย มีเพียงแค่การกำหนดห้ามไว้โดยพระธรรมวินัยเท่านั้น

ทนายจำเลยถามต่อว่านักบวชเช่นสมณะดาวดินได้รับสวัสดิการจากรัฐบ้างหรือไม่ โดยที่สุรพศตอบว่าได้รับสวัสดิการเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่แบบเดียวกับพระสงฆ์

ทั้งนี้ ทนายจำเลยขอให้ศาลบันทึกว่าเนื่องจากในการสืบพยานนี้มีพระสงฆ์มาร่วมฟังด้วย ก่อนจะขอให้พยานช่วยแยกแยะระหว่างพระสงฆ์และจำเลย ซึ่งก็สามารถแยกแยะได้

ในลำดับถัดมา พนักงานอัยการได้ถามค้าน โดยให้พยานดูคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีความของสมณะโพธิรักษ์ ก่อนจะถามพยานว่าทราบเกี่ยวกับคดีดังกล่าวนี้หรือไม่ สุรพศเบิกความตอบว่า ไม่ทราบเพราะท่านบอกมาเป็นเลขคดี ทำให้ไม่เข้าใจ แต่ก็ยังคงยืนยันว่าตามข้อเท็จจริงว่านักบวชของสันติอโศก กับพระสงฆ์ในระบบนั้นมีความแตกต่างกัน

ทั้งนี้ เมื่ออัยการถามต่อว่าพยานมีความเห็นอย่างไรต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 สุรพศตอบว่า ตนเองเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อป้องกันการปลอมบวช แค่ยังเห็ฯว่าสำหรับในกรณีของสมณะดาวดินนั้น ไม่ได้ผิดตามข้อกฎหมายดังกล่าว เพราะสมณะดาวดินได้ประพฤติตนตามศรัทธาและความเชื่อของตนเองจริงๆ

จากนั้นอัยการก็ได้ถามต่อว่า ในกรณีที่ประชาชนทั่วไปซึ่งอาจไม่มีความรู้ทางศาสนามากเช่นพยาน จะสามารถแยกได้อย่างไรว่าอย่างไหนคือพระสงฆ์ และอย่างไหนคือสมณะ ขณะที่สุรพศได้ตอบว่า ถ้าเป็นกรณีที่มีประชาชนเสียหายเกิดขึ้น ก็จะถือว่าผิดตามกฎหมายมาตรา 208 แต่กรณีของจำเลยยังคิดว่าไม่ผิด เพราะยังไม่ได้มีประชาชนเป็นผู้เสียหาย

ทนายจำเลยได้ถามติงว่า หลังจากกรณีของสมณะโพธิรักษ์แล้วทราบหรือไม่ว่าไม่ได้มีการดำเนินคดีกับนักบวชสันติอโศกอีกเลยใช่หรือไม่ และสุรพศตอบว่า ใช่

.

การต่อสู้คดีแต่งกายเลียนแบบพระ 3 คดีรวด

นอกจากคดีนี้ สมณะดาวดินยังถูกฟ้องในคดีแต่งกายเลียนแบบพระอีกสองคดี โดยคดีหนึ่งฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือนี้เช่นกัน เนื่องจากหลังได้รับการประกันตัวในคดีแรก สมณะดาวดินได้กลับไปนั่งอดอาหารที่หน้าศาลอาญาอีกครั้ง ทำให้ตำรวจเข้าจับกุมไปแจ้งข้อหาเดิมอีกครั้ง โดยคดีนี้ได้มีการสืบพยานไปเสร็จสิ้นแล้วเช่นกันในช่วงวันที่ 27-28 ม.ค. 2565 และศาลเจ้าของสำนวน ได้รับคำร้องของฝ่ายจำเลย กรณีขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 208 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน

ส่วนคดีที่ 3 เป็นคดีที่ สน.นางเลิ้ง หลังสมณะดาวดินเข้ารับทราบข้อหาคดีร่วมกิจกรรมกับหมู่บ้านทะลุฟ้า แต่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาแต่งกายเลียนแบบพระอีกคดีหนึ่ง คดีนี้อยู่ระหว่างการรอการสืบพยานต่อที่ศาลแขวงดุสิต ในวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้

การต่อสู้ในชุดคดีเหล่านี้ จึงมีประเด็นที่น่าสนใจนอกจากเพื่อชี้ให้เห็นว่าการดำรงตนในสมณะเพศ ทั้งการแต่งกายและการปฏิบัติของสมณะดาวดินนั้นสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายแล้ว นั่นคือ การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ที่เป็นข้อกล่าวหาในคดีนี้ เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่ ซึ่งต้องติดตามคำวินิจฉัยในทั้งสองเรื่องต่อไป

ทั้งนี้ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

.

X