29 ส.ค. 2665 ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” และประชาชนรวม 8 ราย ที่ถูกฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง กรณีจัดกิจกรรมรำลึกครบครอบ 10 ปี การเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2563 ที่บริเวณทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ฝั่งสวนลุมพินี
.
ผ่านมาเกือบ 2 ปี 4 เดือน เต็มนับจากวันเกิดเหตุ เวลา 9.00 น. จำเลยในคดีนี้ ได้แก่ เสาวนีย์ สมพิชัย, ธานี สะสม, สมจิตร สอนศรี, ธัญวลัย ฝรั่งทอง, นวพร เจริญลาภ, วลี ญานะหงสา, มณฑา แสงเปล่ง และอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ทยอยเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีที่ 4 ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัย มีการลงทะเบียนตรวจคัดกรองความเสี่ยงโควิด-19 ก่อนเข้าสู่ศาล ซึ่งเป็นมาตรการตามปกติทั่วไปของศาล
ศาลนั่งบัลลังก์เพื่อพิจารณาคดีอื่นก่อนแล้ว จนเมื่อเวลาราว 10.45 น. ณัฐวดี ตันอมาตยรัตน์ ผู้พิพากษา เริ่มอ่านคำพิพากษา เนื้อหาคำพิพากษาในช่วงแรกได้กล่าวถึง ข้อกล่าวหาที่อัยการโจกท์ฟ้องเป็นคดีแก่จำเลยทั้งหมด 3 ข้อหาหลัก คือ หนึ่ง จัดกิจกรรมในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 1 ข้อ 5 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563
สอง จัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 5 ข้อ 2 (2) ลงวันที่ 1 พ.ค. 2563
สาม ทำกิจกรรมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคหรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ลงวันที่ 3 เม.ย. 2563
.
ต่อมาจึงเข้าสู่ส่วนของการวินิจฉัย สรุปใจความได้ว่า แม้ว่ากิจกรรมจะไม่ใช่การชุมนุมอันมีลักษณะมั่วสุมกัน แต่กิจกรรมนี้มีผู้ชุมนุมจำนวนมากประมาณกว่า 40 คน ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสื่อมวลชนมาร่วมสังเกตการณ์เป็นจำนวนมาก และสถานที่ดังกล่าวแม้จะอยู่ข้างสวนลุมพินีซึ่งเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง แต่เป็นพื้นที่สาธารณะและอยู่ใกล้กับทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสีลม ย่อมต้องมีผู้สัญจรไปมาและมีโอกาสสัมผัสติดต่อกัน กรณีนี้จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 (อนุรักษ์ เจนตวนิชย์) เป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อันมีลักษณะมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย
ส่วนจำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมดังกล่าวจากเจ้าพนักงานหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ปรึกษาหารือและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ล่วงหน้าแล้ว แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ให้ทราบว่ากิจกรรมของจำเลยที่ 1 เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าจะจัดกิจกรรม เจ้าพนักงานตำรวจก็ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1 เมตร สวมใส่หน้ากากอนามัย แจกเจลแอลกอฮอล์ ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิผู้ร่วมกิจกรรมก่อนเข้าไปในพื้นที่จัดกิจกรรม และให้ทยอยเดินไปตามจุดต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ เมื่อเสร็จกิจกรรมแล้วจึงเดินออกอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ทั้งกิจกรรมยังใช้ระยะเวลาไม่นาน
พฤติการณ์เช่นนี้ของเจ้าพนักงานย่อมทำให้วิญญูชนทั่วไปเข้าใจได้ว่า สามารถจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่ราชการกำหนด จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมดังกล่าวจากพนักงานเจ้าหน้าที่โดยปริยาย และมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด
ส่วนผู้ร่วมกิจกรรมจะได้ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดหรือไม่ เพียงใดนั้น เป็นเพียงเรื่องที่ต้องกล่าวหรือดำเนินคดีต่างหาก หาทำให้การได้รับอนุญาตมีผลย้อนหลัง ทำให้เป็นการไม่ได้รับอนุญาตไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 5 ข้อ 2 (2) ลงวันที่ 1 พ.ค. 2563
ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2-8 จะเป็นการร่วมฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า เมื่อไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2-8 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเชิญชวนให้คนมาร่วมกิจกรรม ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความว่าเป็นผู้จัดซื้อดอกไม้ เทียน และเจลแอลกอฮอล์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมใช้ในการประกอบพิธี พร้อมทั้งนำป้ายไวนิลมาติดที่เกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 2-8 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จำเลยที่ 1 เพียงแต่ขออาสาสมัครมาช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ในการจัดกิจกรรมขณะนั้นเท่านั้น ไม่ได้นัดหมายมาก่อนล่วงหน้า ประกอบกับการจัดกิจกรรมของจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามที่วินิจฉัยข้างต้นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2-8 จึงไม่เป็นการร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 5 ข้อ 2 (2) ลงวันที่ 1 พ.ค. 2563
.
.
สำหรับข้อวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยฝ่าฝืนข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 1) ข้อที่ 5 ห้ามจัดกิจกรรมในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ ในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประกาศกำหนด หรือไม่นั้น
ศาลเห็นว่านายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/63 ข้อ 3 (6) แต่งตั้งให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และต่อมาผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ออก ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ลงวันที่ 3 เม.ย. 2563 มีเนื้อหากำหนดเขตพื้นที่ห้ามชุมนุม ทำกิจกรรม และมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร เช่นนี้แล้วพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด จึงหมายรวมถึงที่เกิดเหตุในคดีนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การชุมนุม ทำกิจกรรม หรือ มั่วสุมในสถานที่แออัดนั้น หมายถึง สถานที่ที่ผู้จัดกิจกรรม ชุมนุมหรือมั่วสุมอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ ไม่ได้หมายความถึงการรวมตัวกลุ่มใกล้ชิด ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยสภาพยังสามารถเว้นระยะห่างได้ เมื่อพิจารณาถึงสถานที่จัดกิจกรรมแล้ว คือทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลมติดกับสวนลุมพินี อันเป็นสถานที่โล่งแจ้ง ย่อมต้องมีพื้นที่กว้างพอที่จะเว้นยะห่างได้ การจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงไม่ใช่การจัดกิจกรรมในสถานที่แออัด
ส่วนจำเลยทั้ง 8 จะรวมตัวกระทำการอันยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าพยานโจกท์เบิกความสอดคล้องกันว่า การทำกิจกรรมเป็นไปด้วยความสงบ ไม่มีความรุนแรงหรือทะเลาะวิวาทเกิดขึ้น กิจกรรมใช้ระยะเวลาไม่นาน เมื่อทำพิธีเสร็จต่างแยกย้ายกันเดินทางกลับ ประกอบกับจำเลยที่ 1 เบิกความยืนยันว่าการทำกิจกรรมดังกล่าว เป็นการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นการทำกิจกรรมอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธ การกระทำของจำเลยทั้ง 8 จึงไม่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
.
.
สำหรับข้อกล่าวหาตาม ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ลงวันที่ 3 เม.ย. 2563
ศาลเห็นว่า ในตามประกาศจะมีข้อความว่า “ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคหรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ต้องได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” แต่ประกาศฉบับนี้ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 1 ข้อ 5 ลงวันที่ 25 มี.ค. 63 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/63 ข้อ 3 (6) ดังนั้นการได้รับโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18 จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเป็นหลัก
เมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18 ระบุโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด คำสั่ง หรือประกาศที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมี ข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 1) ข้อที่ 5 มีเพียง “ห้ามจัดกิจกรรมในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประกาศกำหนด” เท่านั้น ไม่ได้มีข้อความระบุว่า “การทำชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมต้องมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคหรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค” เช่นนี้แล้ว เมื่อจำเลยทั้ง 8 ร่วมกันเพื่อทำกิจกรรมในสถานที่ไม่ได้แออัดและไม่ได้ร่วมกันยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 1 ข้อ 5 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563
ประกอบกับเมื่อจำเลยไม่ได้ร่วมกันฝ่าฝืน ข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 5 ข้อ 2 (2) ลงวันที่ 1 พ.ค. 2563 แม้การจัดกิจกรรมจะอยู่ในห้วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยทั้ง 8 ก็ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 วรรค 1 (2) และไม่อาจลงโทษตามมาตรา 18 ได้
ส่วนปัญหาอื่นตามข้อต่อสู้ของคู่ความทั้งสองฝ่าย ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษา ยกฟ้อง
.
.
ฟอร์ดเผยคดีสะท้อนปัญหาความไม่มีมาตรฐาน-ความไม่แน่นอน ในกระบวนการยุติธรรมไทย
เมื่อฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทนายความ นายประกันและจำเลยทั้ง 8 ได้เดินออกจากห้องพิจารณาคดีด้วยความสุขและรอยยิ้ม เมื่อสอบถามถึงคำพึงพอใจในคำตัดสินของคดี ฟอร์ด-อนุรักษ์ ในฐานะตัวแทนของเพื่อนๆ ออกโรงขอตอบแทน
“ผมและเพื่อนๆ ดีใจกับคำพิพากษาในวันนี้ เราจัดกิจกรรมรำลึกในปี 63 ขณะนั้น ผมและเพื่อนกลุ่มเส้นทางสีแดงกำลังออกรณรงค์ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนเพราะเรื่องโควิด ช่วงนั้นเป็นช่วงครบรอบ 10 ปีการจากไปของ เสธ.แดง พอดิบพอดี ซึ่งผมจัดมาทุกปี ในปีนั้นผมตั้งใจว่าจะจัด แม้ว่าจะมีโควิดก็ตาม แต่จะจัดภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาล เพื่อลดความเสี่ยงของโควิด เป็นเรื่องดีที่ศาลได้พิพากษาด้วยเหตุผล ด้วยความเข้าใจในเจตนาของประชาชนที่ร่วมกิจกรรมนี้” ฟอร์ดเผย
เมื่อถามถึงเหตุผลทำให้ศาลพิจารณายกฟ้อง “กิจกรรมนี้ ผมได้ประสานกับตำรวจท้องที่ และจัดเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ผมคิดว่านั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาลพิจารณายกฟ้อง”
“ที่จริงในการจัดกิจกรรมรำลึก เสธ.แดง ทุกครั้ง ถึงแม้จะไม่ถูกฝ่าฝืนหรือดำเนินคดี แต่การจัดกิจกรรมทุกครั้งก็มีความกดดันหลายในหลายๆ ด้าน ในปีที่ถูกจับเป็นปี 2563 เป็นปีที่ 10 ของการจากไปของ เสธ.แดง เรายืนยันว่าจะจัด แม้ว่าจะเป็นช่วงโควิด แน่นอนว่าผมเป็นคนจัด ผมเป็นคนที่ดำเนินการกิจกรรมนี้ ผมได้นำรายละเอียด ข้อมูล ข้อเท็จจริงไปเบิกความต่อศาลอย่างตรงไปตรงมาว่า เพื่อนๆ ที่ถูกดำเนินคดีในคดีนี้ ไม่ได้เป็นผู้ร่วมจัด เพียงแต่เป็นอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยงานผมในวันนั้น แต่กลับถูกดำเนินคดีไปด้วย”
“สะท้อนปัญหาหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในเมืองไทย” คือ ความหมายของคดีนี้ในสายตาของฟอร์ด
“มันเป็นเรื่องที่ผมเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน บางกิจกรรมจัดแล้วถูกจับ ในขณะอีกกิจกรรมหนึ่ง ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เงื่อนไขเดียวกัน ไม่ถูกจับ ไม่มีปัญหา ไม่มีคดี ตัวอย่างเช่น ในปีที่จัดกิจกรรมนี้ช่วง 13 พ.ค. 2563 ถัดจากนั้นประมาณสองอาทิตย์ ผมไปจัดกิจกรรมร่วมกับคุณหมอทศพรที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนเพราะโควิด พิพากษาไปแล้วเมื่อต้นเดือน”
“แต่ในคดีนั้นศาลกลับพิพากษาว่าเรามีความผิด แต่ศาลเขามีเมตตา เขาพิจารณาจากเจตนาที่ทำเพื่อต้องการช่วยเหลือประชาชน ศาลจึงเมตตา ให้รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปี หรืออย่างกิจกรรมใหญ่ของคนเสื้อแดงที่จัดทุกวันที่ 19 พฤษภาที่ราชประสงค์ บางปีตำรวจจับ บางปีก็จัดได้”
“มันสะท้อนปัญหาหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในเมืองไทย มันไม่มีมาตรฐาน ไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ อย่างไร” ฟอร์ดสรุป
.