เปิดบันทึกสืบพยานคดี “รำลึก เสธ.แดง” ปี 63 ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ฟอร์ด” เผยถูกฟ้องครั้งแรกในรอบ 12 ปีที่จัดกิจกรรม

ระหว่างวันที่ 16-17 และ 23-24 มิ.ย. 2565 ที่ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลแขวงปทุมวัน มีนัดสืบพยานโจกท์และจำเลยในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ของ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” หรือ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ พร้อมประชาชนรวม 8 ราย ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาจากกรณีจัดกิจกรรมรำลึก 10 ปีการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ที่ทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2563

บรรยากาศในห้องพิจารณาเป็นไปอย่างผ่อนคลาย ในวันแรกจำเลยทุกรายมาศาล ยกเว้นเพียงจำเลยที่ 5 ที่ป่วยเป็นลำไส้อักเสบ ซึ่งทนายจำเลยได้ยื่นใบรับรองแพทย์ต่อศาล ประกอบคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลยที่ 5 ในวันดังกล่าว พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลยทั้งแปดในนัดที่เหลือ เนื่องจากจำเลยมีความจำเป็นในการประกอบอาชีพ ไม่สะดวกเดินทางมาศาลทุกนัด โดยจำเลยยอมรับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุจริง โจกท์ไม่คัดค้าน ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลัง

ในการสืบพยาน ศาลไม่ได้สั่งเก็บเครื่องมือสื่อสารและไม่ได้ห้ามการจดบันทึก รวมถึงอนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าฟังการพิจารณาคดีได้

หลังสืบพยานเสร็จ ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนแนวทางการต่อสู้ในคดีนี้ และปากคำของพยานทั้งสองฝ่ายที่เบิกความต่อศาล

.

ย้อนลำดับเหตุการณ์ กิจกรรมรำลึกครบรอบ 10 ปี เสธ.แดง ถูกลอบยิงเสียชีวิต

9 พ.ค. 2563 เวลา 10.41 น. อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” นัดมวลชนร่วมทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 10 ปี การเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ในวันที่ 13 พ.ค. 2563 เวลา 18.00 น. บริเวณทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ใกล้กับลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสถานที่ที่ พล.ต.ขัตติยะ ถูกลอบยิง โดยฟอร์ดได้คอมเมนต์ใต้โพสต์ชี้แจงไว้ว่า “การไปจุดเทียนเพื่อรำลึกการเสียสละของท่านมิใช่การชุมนุมทางการเมือง ไม่มีข้อเรียกร้องหรือคัดค้านใดๆ ไม่เกี่ยวกับ พรบ.ชุมนุมสาธารณะ หรือ พรก.ฉุกเฉิน ต่างคนต่างไปต่างคนต่างกลับ ขอบคุณครับ

13 พ.ค. 2563 เวลา 09.28 น. ฟอร์ดโพสต์ข้อความว่า “ผู้จัดกิจกรรมจะเตรียมดอกไม้ เทียนแดง เจลล้างมือไปอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ผู้ร่วมกิจกรรมจะต้องใส่หน้ากาก ตำรวจช่วยจัดระยะห่าง 1 เมตร เพื่อเป็นไปตามประกาศของสาธารณสุข”

เวลา 14.28 น. ฟอร์ดโพสต์ข้อความว่า “ไม่มีการชูป้าย​หรือปราศรัยหรือกิจกรรม​เชิงสัญลักษณ์​ใดๆเพื่อมิให้ขัดต่อพรก.ฉุกเฉิน​ ประสานงานตำรวจลุมพินี​เรียบร้อยแล้ว พบกัน​ 18.00​ น.”

เวลาราว 17.00 น. ฟอร์ดและมวลชนประมาณ 30-40 คน ทยอยเดินทางมาถึงสถานที่จัดกิจกรรม มีตำรวจจาก สน.ลุมพินี มาจัดวางแผงกั้นเหล็กแบ่งเขตพื้นที่จัดกิจกรรมและตั้งจุดคัดกรองอุณหภูมิผู้ร่วมกิจกรรม โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี สำนักอนามัย มาให้บริการ กิจกรรมเริ่มจากการจุดเทียน วางดอกกุหลาบไว้อาลัยหน้ารูปและภาพไวนิลของ พล.ต.ขัตติยะ กิจกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยจนแล้วเสร็จในเวลา 19.00 น. ผู้ร่วมกิจกรรมจึงรวมตัวกันเพื่อถ่ายรูปและแยกย้ายกันเดินทางกลับ

เวลาราว 19.30 น. ฟอร์ดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปที่ สน.ลุมพินี เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และทำบันทึกจับกุม โดยฟอร์ดได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน 

ต่อมา ตำรวจขยายผลการสืบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาเดียวกันแก่ประชาชนอีก 7 รายในฐานะทีมงานผู้ร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าว  

ก่อนพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 มีความเห็นสั่งฟ้องอนุรักษ์และผู้ร่วมกิจกรรมรวม 8 ราย และยื่นฟ้องต่อศาลแขวงปทุมวันเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อที่ 5 “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

กิจกรรมรำลึก 10 ปี “เสธ.แดง” (โดย มติชนออนไลน์)

.

ภาพรวมของการสืบพยาน

การสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 16-17 และ 23-24 มิ.ย. 2565 มีพยานโจกท์เข้าเบิกความทั้งหมด 7 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.ปภาวิน ห้องพ่วง รองสารวัตรสืบสวน สน.ลุมพินี ผู้กล่าวหา, ร.ต.อ.วัฒนา เล็กโล่ง และ พ.ต.ท.ทรงพล กาญจนพันธุ์ ชุดสืบสวน สน.ลุมพินี ที่อยู่ในเหตุการณ์, พ.ต.ท.ประวิทย์ อินตา สันติบาลจังหวัดสมุทรปราการที่ติดตามอนุรักษ์ไปในที่เกิดเหตุ, เยาวลักษณ์ ครชาตรี และธัญชนก ใจวงษ์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ลงพื้นที่คัดกรองโควิดในที่เกิดเหตุ และ พ.ต.ต.รัฐภูมิ โมรา พนักงานสอบสวน ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 3 ปาก ได้แก่ อนุรักษ์ จำเลยที่ 1, ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาว พล.ต.ขัตติยะ และ ดร.พัชร์ นิยมศิลป ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการชุมนุม

ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจกท์พยายามชี้ให้เห็นว่า จำเลยทั้งหมดร่วมกันเป็นผู้จัดกิจกรรม “รำลึกครบรอบ 10 ปี การเสียชีวิตของ เสธ.แดง” โดยไม่ได้มีการแจ้งการจัดกิจกรรมมาก่อน และแม้มีการตั้งจุดตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิ แต่ผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วน ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่าง มีการรวมตัวพูดคุยและถ่ายรูป ซึ่งมีลักษณะเป็นการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลย คือ อนุรักษ์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดกิจกรรมเพียงคนเดียว จำเลยที่เหลือเป็นเพียงอาสาสมัครที่จำเลยที่ 1 ขอความร่วมมือให้ช่วยเหลือในการจัดกิจกรรม และกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมทางศาสนา ไม่ใช่กิจกรรมทางการเมือง ซึ่งจำเลยที่ 1 จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่การเสียชีวิตของ เสธ.แดง จนถึงภายหลังเกิดเหตุก็ยังคงมีการจัดกิจกรรมเรื่อยมา

รวมไปถึงการจัดกิจกรรมนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ได้สั่งห้ามการจัดกิจกรรม ผู้ร่วมกิจกรรมต้องผ่านจุดตรวจคัดกรองอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวมใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง ทั้งพื้นที่เกิดเหตุเป็นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด จึงไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยภายหลังการจัดกิจกรรม ไม่มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อ

สำหรับข้อกล่าวหาที่ระบุว่าการจัดกิจกรรมมีความแออัด จำเลยได้ต่อสู้ว่า สาเหตุของความแออัดนั้น เกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบปะปนเข้ามาอยู่ในกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชนได้เรียกให้ผู้ร่วมกิจกรรมที่กำลังแยกย้ายกันกลับรวมตัวกันเพื่อถ่ายรูปประกอบการทำข่าวและรายงานแก่ผู้บังคับบัญชา

จำเลยยังได้ต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมายว่า ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวม 2 ฉบับ ที่โจกท์นำมาใช้กล่าวหาจำเลยนั้นจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความชัดเจน ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน

.

ชุดสืบ สน.ลุมพินี รับ ไม่ได้ห้ามจัด เพียงให้ทำตามมาตรการ – “ฟอร์ด” โพสต์แจ้งผู้ร่วมกิจกรรมแล้ว ทั้งกิจกรรมจัดในที่โล่ง-สงบเรียบร้อย-ไม่มีผู้ติดเชื้อ

พ.ต.ท.ประวิทย์ ตำรวจสันติบาลจังหวัดสมุทรปราการ เบิกความว่า พยานรู้จักและสนิทสนมกับ ฟอร์ด หรืออนุรักษ์ จำเลยที่ 1 เนื่องจากเป็นแกนนำการชุมนุมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้โทรมาปรึกษาว่าจะสามารถจัดกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ ได้หรือไม่ พยานจึงได้ให้ความเห็นในฐานะคนรู้จัก ไม่ใช่ในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ เนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่จำเลยที่ 1 ยังคงโพสต์ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรมผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อพยานเห็นโพสต์จึงได้เดินทางไปพบจำเลยที่ 1 ที่บ้านพักเพื่อพูดคุยและห้ามปราม แต่จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าจะจัดกิจกรรม เนื่องจากเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมมาทุกปี และกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

ด้าน พ.ต.ท.ทรงพล, พ.ต.ท.ปภาวิน และ ร.ต.อ.วัฒนา ชุดสืบสวน สน.ลุมพินี เบิกความทำนองเดียวกันว่า ก่อนเกิดเหตุได้ตรวจพบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” โพสต์ข้อความว่าจะจัดกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตของ เสธ.แดง หรือ พล.ต.ขัตติยะ ในวันที่ 13 พ.ค. 2563 เวลา 18.00 น. บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชา จากนั้น พ.ต.ท.ทรงพล รอง ผกก.สืบสวน ได้เข้าไปพูดคุยกับจำเลยที่ 1 ที่บ้านพักเพื่อห้ามปราม แต่จำเลยที่ 1 ไม่ฟัง  

ต่อมา วันที่ 13 พ.ค. 2563 พยานทั้งสาม พร้อมชุดสืบ สน.ลุมพินี รวม 15 นาย ได้เดินทางไปที่เกิดเหตุ พบจำเลยทั้งแปดร่วมจัดกิจกรรม โดยแจกดอกไม้และเทียน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 50 คน โดยยืนใกล้ชิดกันไม่เว้นระยะห่างบริเวณที่วางดอกไม้ และรวมตัวกันถ่ายรูป บางคนไม่ใส่หน้ากากอนามัย บางคนหน้ากากอนามัยหย่อนลงอยู่ใต้คาง พ.ต.ท.ประวิทย์ ตำรวจสันติบาลซึ่งติดตามจำเลยที่ 1 เข้าไปในที่เกิดเหตุก็เบิกความว่า พบผู้ร่วมกิจกรรมบางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย และยืนห่างกันไม่เกิน 1 เมตร

ภาพกิจกรรม โดย ประชาไท

ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทรงพล เบิกความด้วยว่า เมื่อตนไปถึงที่เกิดเหตุได้ประสานไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี เพื่อขอเจ้าหน้าที่มาออกหน่วยตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิ โดยตลอดทั้งงานไม่พบผู้มีอุณหภูมิเกินกว่า 37.5 องศา ด้าน ร.ต.อ.วัฒนา ระบุว่า แม้ว่าจะมีจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ แต่อาจมีผู้ร่วมกิจกรรมบางคนเล็ดรอดผ่านโดยไม่ได้คัดกรอง 

ชุดสืบ สน.ลุมพินี เห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการกระทำอันฝ่าฝืนข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ลงวันที่ 3 เม.ย. 2563 เมื่อกิจกรรมยุติลง จึงได้เข้าจับกุมอนุรักษ์ นำตัวไป สน.ลุมพินี เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา โดยภายหลังได้สืบสวนเพิ่มเติมจนสามารถระบุตัวผู้ต้องหาอื่นได้อีก 7 คน 

อย่างไรก็ตาม ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พ.ต.ท.ปภาวิน และ ร.ต.อ.วัฒนา รับว่า ตำรวจไม่ได้ห้ามให้จัดกิจกรรม แต่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดที่เจ้าหน้าที่แนะนำ โดยจำเลยที่ 1 ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเตือนให้ผู้ร่วมกิจกรรมระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว 

ขณะ พ.ต.ท.ทรงพล ที่ไปถึงบ้านพักของอนุรักษ์เพื่อห้ามปรามไม่ให้จัดกิจกรรม กลับตอบทนายจำเลยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะให้อนุญาตหรือไม่อนุญาตจัดกิจกรรม

ชุดสืบ สน.ลุมพินี และสันติบาลยังรับว่า สถานที่จัดกิจกรรมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก พ.ต.ท.ปภาวิน ระบุว่า การรวมตัวกันใกล้ชิดของผู้ร่วมกิจกรรมเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วครู่ระหว่างรวมตัวกันเพื่อถ่ายรูป นอกจากนี้ ในกิจกรรมต่างๆ เช่น งานบวชหรืองานศพ ผู้เข้าร่วมไม่จำเป็นต้องเป็นผู้จัดกิจกรรมเสมอไป ด้าน ร.ต.อ.วัฒนา ยืนยันว่า ผู้ร่วมกิจกรรมทยอยเดินทางมา ต่างคนต่างมา ไม่ได้มาพร้อมกันในทีเดียว

ร.ต.อ.วัฒนา ซึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยว่า เป็นผู้บันทึกภาพและวีดิโอในวันเกิดเหตุ ระบุว่า  ไม่ได้บันทึกเหตุการณ์ตลอดทั้งกิจกรรม แต่บันทึกเพียงบางช่วงของกิจกรรมเท่านั้น และในภาพถ่ายปรากฏเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบปะปนอยู่กับผู้ร่วมกิจกรรม

ทั้งนี้ พยานตำรวจชุดสืบ 2 นาย ไม่ทราบว่ามีการจัดกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิต พล.ต.ขัตติยะ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 54 เนื่องจากเพิ่งมารับตำแหน่งที่ สน.ลุมพินี ขณะตำรวจสันติบาลสมุทรปราการทราบว่า อนุรักษ์เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมรำลึกดังกล่าวมานานกว่า 10 ปี และที่เกิดเหตุเป็นสถานที่เดิมที่ พล.ต.ขัตติยะ ถูกลอบยิงเสียชีวิต 

ที่สำคัญ พ.ต.ท.ปภาวิน ผู้กล่าวหา รับกับทนายจำเลยว่า ตามข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ศบค. มีการผ่อนคลายมาตรการในเฟส 1 และเฟส 2 ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการขนส่งสาธารณะได้ และไม่มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ในช่วงวันที่ 13 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2563 แต่ไม่ให้ความเห็นเมื่อทนายจำเลยถามว่า ตามข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 หัวหน้าผู้รับผิดชอบมีอำนาจเพียงการกำหนดเขตพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจกำหนดว่าห้ามกระทำการใดใช่หรือไม่

นอกจากนี้ ผู้กล่าวหาและตำรวจสันติบาลยืนยันว่า กิจกรรมในวันเกิดเหตุเป็นไปโดยสงบ ไม่มีการพกพาอาวุธหรือเกิดความวุ่นวาย โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ได้รับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงสิทธิในการนับถือศาสนาตามมาตรา 31

.

พยาบาลยืนยัน ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนผ่านจุดคัดกรอง-ปฏิบัติตามที่ ตร.เตือน โดยไม่พบคนใดมีอุณหภูมิสูง 

เยาวลักษณ์และธัญชนก พยาบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี เบิกความเช่นเดียวกันว่า ก่อนเกิดเหตุได้รับหนังสือประสานงานจาก สน.ลุมพินี ขอความร่วมมือให้ออกหน่วยตรวจคัดกรองโควิด-19 แก่ผู้ร่วมกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ในวันที่ 13 พ.ค. 2563 ทั้งสองจึงเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ และตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งจากการตรวจวัดอุณหภูมิตลอดทั้งกิจกรรม ไม่พบว่าผู้ใดมีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศา

เยาวลักษณ์ระบุว่า ขณะเดินทางถึงที่เกิดเหตุพบผู้ร่วมกิจกรรมใส่เสื้อสีแดง ยืนกระจัดกระจายประมาณ 6 คน โดยพยานไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำ จากนั้นผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นก็ทยอยมาถึง และในขณะทำกิจกรรม จำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเตือนให้ปฏิบัติตามมาตรการ เนื่องจากผู้ร่วมกิจกรรมรวมตัวกันเพื่อถ่ายรูป โดยเมื่อถูกเตือนผู้ร่วมกิจกรรมก็ปฏิบัติตาม 

พยาบาลวิชาชีพทั้งสองเห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมอยู่ใกล้ชิดในบางช่วง เช่น ช่วงวางดอกไม้ จุดเทียน ถ่ายรูป

ด้านธัญชนกระบุด้วยว่า การจัดกิจกรรมที่มีจำนวนเกินกว่า 5 คน ต้องขออนุญาตสำนักงานเขต ซึ่งพยานไม่ทราบว่าผู้จัดกิจกรรมมีการขออนุญาตหรือไม่

ต่อมา พยานเบิกความตอบทนายจำเลยว่า บริเวณจัดกิจกรรมมีตำรวจนอกเครื่องแบบปะปนอยู่กับผู้ร่วมกิจกรรม ซึ่งสามารถแยกแยะได้จากการแต่งกาย เนื่องจากผู้ร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่ใส่เสื้อสีแดง ธัญชนกยืนยันว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนต้องผ่านการคัดกรองวัดอุณหภูมิก่อนจึงจะเข้าพื้นที่ได้ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้นที่ไม่ได้ตรวจวัดอุณหภูมิ 

พยาบาลทั้งสองตอบทนายจำเลยเช่นเดียวกับพยานตำรวจว่า สถานที่จัดกิจกรรมเป็นสถานที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนี้ กิจกรรมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่ปรากฏความวุ่นวายหรือความรุนแรง .

เยาวลักษณ์ยังรับเช่นกันว่า ตามข้อมูลของ ศบค. ระหว่างวันที่ 13 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2563 ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทย และหลังจากการจัดกิจกรรม ตนก็ไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ พยานเป็นข้าราชการสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้ห้ามให้มีการจัดกิจกรรมที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  แต่อย่างใด

.

พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องคดี หลังสอบ จนท.สาธารณสุข เห็นว่าเสี่ยงแพร่โรค แต่ไม่ตรวจสอบว่าโควิดแพร่ระบาดจากกิจกรรมหรือไม่

พ.ต.ต.รัฐภูมิ โมรา สารวัตร (สอบสวน) สน.ลุมพินี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ จำเลยที่ 1 ข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากการจัดกิจกรรมบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลมในช่วงเวลา 17.00 – 19.00 น. ในการสอบคำให้การ อนุรักษ์ให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ที่นัดจัดกิจกรรมจริง โดยไม่ได้แจ้งการจัดกิจกรรมกับหน่วยงานใด และมีการแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อดูแลการจัดกิจกรรม หลังจากนั้นพยานได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 2 คน เห็นว่า ผู้ร่วมกิจกรรมไม่มีการเว้นระยะห่าง บางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พยานจึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี

พ.ต.ต.รัฐภูมิ ตอบทนายจำเลยถามค้านเช่นเดียวกับพยานตำรวจปากอื่นๆ ว่า รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิในการชุมนุมตามมาตรา 44 และสิทธิในการนับถือศาสนาตามมาตรา 31 และขณะเกิดเหตุ มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ส่งผลให้ พ.ร.บ. ชุมนุมฯ ไม่ถูกใช้บังคับ

พยานยังทราบว่า มีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์เสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ มานานกว่า 10 ปีแล้ว ในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์ด้วยตัวเอง เพียงดูจากรูปถ่ายหรือวิดีโอที่ชุดสืบสวนส่งมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์เพียงบางช่วงบางตอนเท่านั้น

พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีรับกับทนายจำเลยด้วยว่า ไม่ได้ทำหนังสือสอบถาม ศบค. หรือหน่วยงานอื่นว่ามีการแพร่ระบาดของโควิดหลังวันจัดกิจกรรมหรือไม่

นอกจากนี้ พยานทราบว่า ศาลจังหวัดพะเยาได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563, ศาลแขวงอุดรธานีมีคำพิพากษายกฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ กรณีไลฟ์สดขณะชุมนุมเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 และศาลแขวงลพบุรีมีคำพิพากษายกฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากเหตุ “คาร์ม็อบ” ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 

.

“ฟอร์ด” รับเป็นผู้จัดกิจกรรมเพียงคนเดียว ยืนยันกิจกรรม “รำลึก เสธ.แดง” ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดแล้ว 

“ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” หรือ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ จำเลยที่ 1 เบิกความต่อศาลว่า ตนรู้จัก พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ระหว่างการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 หลัง พล.ต.ขัตติยะ เสียชีวิต ตนได้ศึกษาประวัติของ พล.ต.ขัตติยะ พบว่าเป็นทหารที่น่านับถือ เชื่อในประชาธิปไตย ปกป้องประชาชน จึงเริ่มจัดกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ เป็นคนแรกนับตั้งแต่ปี 54 จนถึงปัจจุบัน

อนุรักษ์เบิกความต่อว่า ทราบว่าขณะเกิดเหตุมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่การจัดกิจกรรมรำลึกนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการการเมือง เป็นกิจกรรมทางศาสนา พยานได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสองคน คือ พ.ต.ท.ทรงพล กาญจนพันธุ์ รอง ผกก.สืบสวน สน.ลุมพินี และ พ.ต.ท.ประวิทย์ อินตา สันติบาลจังหวัดสมุทรปราการ โดยยืนยันกับทั้งสองว่าจะปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และสิทธิในความเชื่อทางศาสนาที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในห้วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 1 และ 2 แล้ว ส่วนสาเหตุที่พยานไม่ได้แจ้งการจัดกิจกรรม เนื่องจากขณะนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลบังคับใช้ อันเป็นข้อยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

พยานได้แจ้งข่าวและโพสต์ข้อความเชิญชวนทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” พร้อมโพสต์ย้ำเตือนให้ผู้ร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ปฏิบัติกิจกรรมคนละ 2-3 นาที และเดินออกจากสถานที่จัดกิจกรรม

พยานไปถึงที่จัดกิจกรรมในเวลาประมาณ 17.00 น. พบเห็นประชาชนผู้มาร่วมกิจกรรมใส่เสื้อสีแดง เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ และสื่อมวลชนจำนวนมาก สาเหตุที่พยานสามารถสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบได้นั้น เป็นเพราะเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวตัดผมสั้นเกรียนและใส่เสื้อสีดำ มีลักษณะแตกต่างจากผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่น 

ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาพูดคุย แจ้งว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเข้ามาตรวจคัดกรองโควิด-19 และมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ขณะนั้นเป็นรองผู้อำนวยการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของพรรคเพื่อไทย มาร่วมกิจกรรมและให้คำแนะนำแก่ประชาชนอีกด้วย

ภาพกิจกรรม โดย ประชาไท

พิธีรำลึกเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 17.30 น. โดยผู้ร่วมกิจกรรมจะต้องเข้าแถวบริเวณด้านนอก ผ่านเข้าจุดตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิ ใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รับดอกไม้ เทียน แล้วจึงเข้าสู่พื้นที่รำลึก โดยทุกจุดมีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร เมื่อวางดอกไม้และเทียนแล้วต้องเดินออกอีกทางหนึ่ง ไม่มีการเดินสวนกัน พื้นที่จัดกิจกรรมถูกจัดแบ่งโดยรั้วเหล็ก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยให้คำแนะนำแก่ประชาชนอยู่ในพื้นที่จัดกิจกรรม

อนุรักษ์ระบุว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าว ตนเป็นผู้จัดกิจกรรมเพียงคนเดียว จำเลยคนอื่นเป็นเพียงอาสาสมัครที่ตนขอความช่วยเหลือในวันกิจกรรมเท่านั้น ไม่ได้มีการเตรียมกันมาก่อน ทั้งยังมีประชาชนทั่วไปมากกว่า 10 รายที่ให้ความช่วยเหลือพยาน การจัดกิจกรรมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีการปราศรัยหรือร้องเพลง

สาเหตุที่กิจกรรมเกิดความแออัดนั้น อนุรักษ์เห็นว่า เป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบได้ปะปนเข้ามาอยู่กับผู้ร่วมกิจกรรมมากจนเกินไป เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มนี้ไม่ได้ผ่านจุดตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิ หากเป็นผู้ร่วมกิจกรรม เมื่อร่วมพิธีรำลึกแล้วย่อมแยกย้ายออกไปนอกบริเวณสถานที่จัดกิจกรรม

เมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้นลงในเวลา 19.00 น. ขณะกำลังแยกย้ายกันกันกลับ เจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชนได้เรียกให้ผู้ร่วมกิจกรรมรวมตัวกันเพื่อถ่ายรูป เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าต้องการรูปเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา ส่วนสื่อมวลชนต้องการรูปเพื่อทำข่าว

จำเลยที่ 1 เบิกความต่อไปว่า ราวเวลา 19.30 น. ตนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปที่ สน.ลุมพินี เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังจากวันเกิดเหตุ ตนได้ติดตามสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 พบว่าไม่มีผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด หลังจากนั้นตนยังคงจัดกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ ในทุกปี แต่ไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด

ในการตอบคำถามค้านของอัยการ อนุรักษ์รับว่าไม่ได้ส่งหนังสือขออนุญาตจัดกิจกรรมต่อสำนักงานเขตปทุมวัน เนื่องจากขณะนั้นประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นการยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และตนได้สอบถาม พ.ต.ท.ทรงพล และ พ.ต.ท.ประวิทย์ แล้ว ซึ่งทั้งสองคนตอบว่า ไม่ต้องขออนุญาต อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตนจะไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งการจัดกิจกรรม แต่ในวันเกิดเหตุ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเข้ามาให้คำแนะนำ ซึ่งตามความเข้าใจของตน การกระทำดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้

อนุรักษ์ตอบอัยการอีกว่า จำไม่ได้ว่าในวันเกิดเหตุตนได้เรียกอาสาสมัครที่มาช่วยจัดกิจกรรมว่า “ทีมงาน” หรือไม่ ส่วนภาพที่ตนไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยตามที่อัยการให้ดูนั้น เนื่องจากขณะนั้นตนต้องประกาศชี้แจงให้ผู้ร่วมกิจกรรมทราบถึงรายละเอียดและขั้นตอนการทำกิจกรรม แต่ขณะนั้นตนยืนห่างจากคนอื่นเกินกว่า 1 เมตร จึงไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรค 

.

บุตรสาว เสธ.แดง เป็นพยานจำเลยระบุ หลังร่วมกิจกรรมไม่ได้ติดโควิด หลังเหตุการณ์ในคดี ยังมีงานรำลึกทุกปี แต่ไม่มีการดำเนินคดี

ขัตติยา สวัสดิผล เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ในวันเกิดเหตุ พยานได้เดินทางไปที่ทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลมเพื่อร่วมวางดอกไม้รำลึกการเสียชีวิตของบิดา โดยพยานได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมดังกล่าวเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 54 ซึ่งทุกครั้งจะได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี

ในวันเกิดเหตุ นอกจากพยานแล้ว ยังมีประชาชนทั่วไปมาร่วมกิจกรรม แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง โดยส่วนมากผู้ร่วมกิจกรรมมักใส่เสื้อสีแดง เนื่องจากบิดาของพยานเสียชีวิตในเหตุการณ์การชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 การสวมใส่เสื้อสีแดงจึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการต่อสู้

สถานที่จัดกิจกรรมเป็นสถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ภายหลังเหตุการณ์ พยานไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 และยังคงมีการจัดกิจกรรมรำลึกเป็นประจำต่อมาทุกปี ซึ่งไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ขัตติยาเบิกความตอบอัยการถามค้านว่า ตนไม่ได้ผ่านจุดตรวจคัดกรองอุณหภูมิเหมือนผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับร่วมกิจกรรมของพยานไว้ต่างหาก และพยานไม่ได้ถ่ายรูปรวมกับผู้ร่วมกิจกรรม

ภาพกิจกรรม โดย ประชาไท

.

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชุมนุมชี้ ข้อกำหนดที่ใช้กล่าวหาในคดีนี้จำกัดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็น ไม่ได้สัดส่วน 

ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Ph.D) จากมหาวิทยาลัยอีสแองเกลีย สหราชอาณาจักร วิทยานิพนธ์หัวข้อ กฎหมายการชุมนุมสาธารณะและการดูแลการชุมนุมสาธารณะในระบอบการปกครองแบบผสม (Protest Law & Public Order Policing in Hybrid Regimes)

พยานได้สอนวิชากฎหมายการชุมนุมสาธารณะและวิชาเสรีภาพในการชุมนุมกับกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยานเห็นว่า ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 ข้อ 5 และ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 1 พ.ค. 2563 ข้อ 2 (2) ที่โจกท์กล่าวหาแก่จำเลยนั้น จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความชัดเจน ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน 

คำให้การของพยานอ้างอิงหลักกฎหมายจากคำพิพากษาศาลจังหวัดพะเยาที่พิพากษายกฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุการณ์การชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563, กรอบกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 (มาตรา 21 สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ) ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งข้อเท็จจริง คำฟ้อง และเอกสารประกอบคำฟ้องที่ทนายจำเลยได้ส่งให้พยานเพื่อประกอบการทำความเห็น

อาจารย์นิติศาสตร์ตอบคำถามค้านของอัยการว่า อำนาจการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นดุลยพินิจของรัฐบาล ซึ่งจะต้องตั้งอยู่บนนิยามของสถานการณ์ฉุกเฉินตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยรัฐบาลจะใช้อำนาจนี้ได้ต้องมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นเสียก่อน เหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องมีอยู่จริงและต้องเป็นกรณีที่เครื่องมือทั่วไปไม่สามารถใช้ได้ หรือใช้แล้วจะไม่เกิดผลสำเร็จ แต่ถ้ากฎหมายทั่วไปสามารถใช้ควบคุมปัญหาได้ เหตุการณ์นั้นจะไม่ถือเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์ในคดีนี้รัฐบาลสามารถใช้กฎหมายปกครองและ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เพื่อควบคุมปัญหาได้ 

.

X