ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษกักขัง คดี “ละเมิดอำนาจ” 5 ผู้ชุมนุมสาดสีหน้าศาลอาญา ม็อบ REDEM 2 พ.ค. 64 ร้องสิทธิประกันตัวนักโทษการเมือง 

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดี “ละเมิดอำนาจศาล” สืบเนื่องจากการชุมนุม สาดสี และปามะเขือเทศ ที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม REDEM เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองในขณะนั้น เช่น “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และอานนท์ นำภา เป็นต้น

ในคดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 5 คน ได้แก่ ศุภกิจ บุญมหิทานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, วีรภาพ วงษ์สมาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2, พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และ ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 

ทั้ง 5 คนถูกกล่าวหาว่า ได้ร่วมกันกระทําการอันก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในบริเวณศาลอาญาและรอบศาลอาญา โดยการนําสิ่งของประกอบด้วยมะเขือเทศ ไข่ไก่ ขวดน้ำบรรจุ ของเหลวสีแดง และวัตถุอื่นๆ ขว้างปาข้ามรั้วของศาลอาญา เข้าไปในบริเวณศาลอาญา ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญา 

ในรายละเอียดการกล่าวหาโดย ชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา ระบุว่า 

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ใช้ขวดใส่สีและเศษไม้ขว้างเข้าไปในบริเวณศาลอาญา ตกที่บริเวณหลังป้ายศาล ไม่ถึงจุดที่ตำรวจ คฝ. วางกำลังอยู่ 

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ขว้างถุงสีเข้าไปในบริเวณลานจอดรถหลังป้ายศาล ห่างจากจุดที่เจ้าหน้าที่ คฝ. วางกำลังอยู่มาก 

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ปาถุงสีเข้าไปในบริเวณศาลเช่นเดียวกัน 

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ช่วยขนถังสีซึ่งวางอยู่ริมถนนป้ายศาลอาญา ไม่มีการกระทำอื่นๆ 

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ใช้ถุงสีขว้างปาเข้าไปในลาดจอดรถศาล 2 – 3 ครั้ง หลังจากที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุม ทั้ง 5 ได้เดินทางกลับ ไม่ได้เข้าร่วมในการชุมนุมหลังจากนั้น

โดยคดีนี้ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 ศาลชั้นต้นได้สั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ต่างกันดังนี้ 

  • ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึง 3 ศาลสั่งลงโทษจำคุกคนละ 2 เดือน แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสามมีอายุไม่เกิน 20 ปี จึงมีเหตุลดโทษให้หนึ่งในสาม และการนำสืบมีประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้อีกหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 40 วัน แต่เพื่อไม่ให้มีประวัติลงโทษจำคุก ศาลจึงสั่งกักขังแทน 40 วัน โดยศาลเห็นว่าไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
  • ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ศาลสั่งลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 480 บาท แต่การนำสืบมีประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 320 บาท แต่เนื่องจากพฤติการณ์ไม่รุนแรง ไม่มีกระทำการใดเป็นการก่อความวุ่นวายอื่นอีก และไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติ 1 ปี พร้อมกับต้องทำงานบริการสังคมและบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง
  • ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ศาลสั่งโทษจำคุก 3 เดือน แต่การนำสืบมีประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้อีกหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 2 เดือน แต่เพื่อไม่ให้มีประวัติลงโทษจำคุก ศาลจึงสั่งกักขังแทน 2 เดือน โดยศาลเห็นว่าไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

.

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษกักขัง ชี้ไม่ใช่การใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบตาม รธน. – เป็นคนละคดีกับคดีอาญาที่ถูกกล่าวหาจากเหตุเดียวกัน

วันนี้ เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้ คดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาได้อุทธรณ์คำพิพากษาใน 2 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 

ประเด็นที่ 1 – ชุมนุมหน้าศาลไม่ผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์ว่า การกระทำที่ถูกกล่าวหานั้นไม่ได้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นการกระทำที่สามารถทำได้ตามสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าสามารถทำได้ แต่การใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องไม่กระทบกับสิทธิของผู้อื่น อีกทั้งศาลชั้นต้นได้มีข้อกำหนดเพื่อความรักษาความสงบเรียบร้อย

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 และที่ 5 ร่วมกันปาขวดบรรจุสีแดงใส่บริเวณป้ายหน้าศาลอาญา และพ้นข้ามรั้วเข้ามา ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ช่วยขนยกถังสี จากการกระทำดังกล่าวทำให้บริเวณลานจอดรถหน้ามุกศาลชั้นต้นเลอะเปรอะเปื้อน ส่วนขวดดังกล่าวก็ได้แตกกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นอยู่ทั่วบริเวณ

แม้ขวดแก้วและสิ่งของที่ถูกขว้างปาเข้าไปนั้นจะไม่ไปถึงพื้นที่ในบริเวณศาล และวันเกิดเหตุเป็นวันหยุดราชการ แต่การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ทำให้พื้นเลอะเปรอะเปื้อน อันเป็นการกระทำที่ผิดต่อข้อกำหนดของศาลอาญา การที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งอดอาหารประท้วงอยู่ในขณะนั้น รวมถึงนักโทษคดีการเมืองคนอื่นๆ ศาลเห็นว่าการยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญานั้นเป็นไปตามกฎหมาย โดยขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดีและดุลพินิจของผู้พิพากษาที่มีหน้าที่พิจารณาคำสั่งคำร้องขอประกันนั้น 

ผู้กล่าวหาทั้ง 5 มีความผิดในฐานละเมิดศาล อุทธรณ์ข้อนี้ยังฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ 2 – คดีนี้ซ้ำซ้อนกับคดีอาญาจากเหตุเดียวกัน

ผู้ถูกกล่าวหาได้อุทธรณ์ในประเด็นที่ว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ถูกกล่าวหาในฐานความผิดละเมิดอำนาจศาลนี้ เป็นการถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อนกับในอีกคดีหนึ่งของศาลนี้เช่นกัน โดยในอีกคดีหนึ่งนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน ดำเนินคดีในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 และข้อหาอื่นๆ รวม 5 ข้อหา จากการทำกิจกรรมที่ด้านหน้าศาลอาญาในวันเดียวกันนี้ 

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกกล่าวหา ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการประพฤติตัวไม่เหมาะสมและไม่เรียบร้อยภายในบริเวณพื้นที่ของศาลอาญา เป็นคดีตามวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้ถูกล่าวหาถูกตั้งเรื่องโดยไม่ต้องมีโจทก์กล่าวโทษ คดีนี้ไม่ใช่คดีอาญา จึงเป็นคนละเรื่องกันกับอีกคดี ซึ่งเป็นคดีอาญาของศาลนี้  

อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น 

ภายหลังศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ ผู้ถูกกล่าวหาทุกราย ยกเว้นจุฑาทิพย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ถูกควบคุมตัวไปยังห้องคุมขังใต้ถุนศาลระหว่างรอยื่นประกันตัวระหว่างฎีกา 

ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ระหว่างฎีกาคำพิพากษา ด้วยหลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท ซึ่งได้จากกองทุนราษฎรประสงค์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลสั่งลงโทษ “กักขัง” 5 ผู้ชุมนุมสาดสีหน้าศาลอาญา ม็อบ REDEM 2 พ.ค. 64 ร้องสิทธิประกันตัวนักโทษการเมือง ฐานละเมิดอำนาจศาล ก่อนให้ประกันระหว่างอุทธรณ์

ศาลเลื่อนไต่สวนประชาชน 5 ราย คดี “ละเมิดอำนาจศาล” ให้โอกาสต่อสู้คดี หลัง 1 ในผู้ถูกกล่าวหาติดประจำการทหารเกณฑ์

อ่านเรื่องข้อหาละเมิดอำนาจศาลเพิ่มเติม

ว่าด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล: มาตรการเพื่อสร้างสถิตความยุติธรรม หรือคือเครื่องมือทางการเมือง

ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย

สถานะ ‘ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล’ กับหลักสิทธิมนุษยชนและวิธีพิจารณาความอาญาสมัยใหม่

X