ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 1 เดือน 3 ทะลุฟ้า คดีละเมิดอำนาจศาล ก่อนลด-เปลี่ยนเป็นกักขัง 15 วัน หลังทั้งสามอุทธรณ์ให้รอกำหนดโทษ

28 ก.พ. 2566 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีละเมิดอำนาจศาลของ 3 สมาชิกทะลุฟ้า ได้แก่ “ปีก” วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์, “เปา” ปวริศ แย้มยิ่ง และพีรพงศ์ เพิ่มพูล จากกรณีขีดเขียนฝาผนังขณะถูกควบคุมตัวเพื่อรอฟังคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ในห้องเวรชี้ศาลอาญา เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565

เมื่อเวลา 10.30 น. โดยประมาณ ผู้พิพากษาประจำห้องพิจารณาคดีที่ 711 อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่มีเนื้อหาโดยสรุปว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาสมควรได้รับโทษตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษหรือไม่ ซึ่งพิเคราะห์แล้วการที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 อุทธรณ์ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันมาจากความโกรธเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ไม่สอดคล้องกับพฤติการณ์ขีดเขียนถ้อยคำบนฝาผนังเป็นข้อความต่าง ๆ เช่น ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ หรือ ‘ยกเลิก112’ หรือ ‘ประเทศทวย’ เพราะการกระทำดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่

ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษายืนตามชั้นต้น ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามเป็นเวลา 1 เดือน แต่ผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพลดโทษเหลือ 15 วัน และเมื่อพิจารณาจากอายุ ความสำนึกผิดแล้ว ให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกมีกำหนด 15 วัน 

ทั้งนี้ ในระหว่างการอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลมานั่งรออยู่ในห้องพร้อมกุญแจมือ เพื่อเตรียมรับตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ไปยังห้องขังที่ใต้ถุนศาลอาญา 

.

เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาได้แจ้งกับทนายความว่า ในวันที่ 18 ม.ค. 2565 สมาชิกทะลุฟ้าจำนวน 6 ราย ได้แก่ “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์, “ไดโน่” นวพล ต้นงาม, พีรพงศ์ เพิ่มพูล, “เปา” ปวริศ แย้มยิ่ง, “ปีก” วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ และ “ออ” วิโรฌา ชัชวาลวงศ์ ได้กระทำการขีดเขียนฝาผนังเป็นข้อความต่าง ๆ อาทิ ‘ปล่อยเพื่อนเรา’, ‘ยกเลิก 112’ และเขียนคำหยาบคายลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ขณะที่กำลังรอฟังคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง 

ย้อนอ่านข่าว >> 6 ทะลุฟ้า ถูกถอนประกันคดีสาดสี เหตุขีดเขียน ‘ปล่อยเพื่อนเรา-ยกเลิก 112’ ผนังห้องเวรชี้ หลังขัง 1 คืน ศาลให้ประกัน ‘วิโรฌา’ เพียงคนเดียว

ต่อมาศาลอาญาได้ตั้งเรื่องคดีละเมิดอำนาจศาลกับทั้ง 6 คน และทำการไต่สวนในวันที่ 3 ก.พ. 2565 โดยศาลได้วางข้อกําหนดห้ามผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาทุกคนจดบันทึกถ้อยคําของคู่ความ พร้อมทั้งห้ามเผยแพร่การพิจารณาคดีของศาล ก่อนนัดฟังคำสั่งในวันที่ 4 ก.พ. 2565 ซึ่งศาลอาญาได้มีคำสั่งโดยสรุปดังนี้

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้กล่าวหาและคำรับสารภาพของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 (วชิรวิชญ์, ปวริศ และ พีรพงศ์) แล้ว และไม่มีผู้ถูกกล่าวหาใดคัดค้านข้อกล่าวหาในคดีนี้ ข้อกล่าวหาดังกล่าวได้สอดคล้องกับคำให้การของผู้ถูกกล่าวหา พฤติกรรมดังกล่าวกระทำในห้องเวรชี้ 1 ถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล

ในส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6  (วิโรฌา, นวพล และทรงพล) ไม่ปรากฏภาพเคลื่อนไหวว่าได้เขียนข้อความหรือให้ความช่วยเหลือให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 เขียนข้อความ มีหลักฐานปรากฏเพียงการพูดคุย นั่ง นอน เดินไปมา และอ่านหนังสือ ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6 เป็นผู้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

จึงมีคำสั่งลงโทษเฉพาะวชิรวิชญ์, ปวริศ และพีรพงศ์ ในข้อกล่าวหา ละเมิดอำนาจศาล จำคุกคนละ 1 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกคนละ 15 วัน และเมื่อพิจารณาอายุของผู้ถูกกล่าวหาและความสำนึกผิดแล้ว จึงให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกมีกำหนด 15 วัน และให้ยกคำกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6

.

อุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญา ระบุคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและกฎหมาย พร้อมขอให้แก้ไขโทษกักขังเป็นรอการกำหนดโทษ

หลังจากที่ศาลอาญามีคำสั่งลงโทษดังกล่าว วชิรวิชญ์, ปวริศ และพีรพงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ขอให้แก้ไขคำสั่งลงโทษของศาลอาญา โดยเนื้อหาของอุทธรณ์สรุปได้ดังนี้

ผู้ถูกกล่าวหาไม่เห็นพ้องต่อคำสั่งลงโทษของศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ที่กำหนดให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวทั้งสาม โดยการกักขังแทนการจำคุกเป็นเวลา 15 วัน เนื่องจากยังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและกฎหมาย

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาหาความรู้ ทั้งไม่เคยมีคำพิพากษาว่า ได้เคยกระทำความผิดทางอาญา และการกระทำที่เกิดขึ้นในห้องขังเวรชี้ใต้ถุนศาลอาญาเป็นการกระทำอันเนื่องมาจากความโกรธเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม 

นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหามองว่าตนเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศตามหลักประชาธิปไตย ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งการกระทำทั้งหมดเกิดขึ้นภายในห้องขังใต้อาคารศาล มิได้เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีใด ๆ และในการพิจารณาคดีหรือการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ให้ความร่วมมือแต่โดยดีมาโดยตลอด มิได้ขัดขวางการพิจารณาคดีใด ๆ เลย 

การกระทําที่เกิดขึ้นนั้นผู้ถูกกล่าวหารู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากทั้งเจ้าพนักงานตํารวจและกรมราชทัณฑ์ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ มิได้มีจุดประสงค์จะล่วงละเมิดศาลแต่อย่างใด

อนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 15 วัน และเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกมีกำหนดคนละ 15 วัน เมื่อพิจารณาการลงโทษแล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามได้รับโทษสูงเกินความเป็นจริง 

ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวทั้งหมดฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามจึงขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงโทษโดยรอการกำหนด และกำหนดระยะเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามได้รับการปล่อยตัว

.

อย่างไรก็ตาม ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามได้ยื่นขอประกันระหว่างฎีกาผ่านระบบออนไลน์ภายในวันเดียวกัน และศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันวชิรวิชญ์, ปวริศ และพีรพงศ์ เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ใช้หลักทรัพย์เดิมที่วางไว้ระหว่างอุทธรณ์ คือเงินสดคนละ 10,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมิได้กำหนดเงื่อนไข

.

X