ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก “ป้าพร-ตี้-จิ๊บ” คดีละเมิดอำนาจศาล 1 เดือน รอลงอาญา 1 ปี กรณีปาถุงบรรจุสีแดงเข้าไปในศาลอาญา ระหว่าง #ม็อบ24ธันวา64

วันที่ 21 ก.พ. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดี “ละเมิดอำนาจศาล” ของ “ป้าพร” พรนิภา งามบาง ประชาชนวัย 70 ปี, “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยา และ “จิ๊บ” กัลยกร สุนทรพฤกษ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากกรณีได้เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของแกนนำราษฎรบริเวณหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 และถูกกล่าวหาว่าได้ทำการปาถุงบรรจุของเหลวสีแดงเข้าไปในบริเวณศาล

คดีนี้สืบเนื่องมาจากกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ได้ประกาศเชิญชวนทํากิจกรรม “เดิน หยุด ขัง” ในวันที่ 24 ธ.ค. 2564 โดยเดินจากยูเนี่ยนมอลล์ไปยังศาลอาญา ในเวลา 09.00 น. เพื่อไปร่วมให้กําลังใจการไต่สวนคําร้องขอปล่อยชั่วคราว พริษฐ์ ชิวารักษ์, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, อานนท์ นําภา และภาณุพงศ์ จาดนอก ที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น 

จนเวลาประมาณ 15.30 น. แกนนําประกาศยุติการจัดกิจกรรมและให้มวลชนแยกย้ายกลับบ้าน แต่ยังมีมวลชนบางส่วนร่วมทํากิจกรรมต่อ โดยมีการนําป้ายผ้าเขียนข้อความ “รับเพื่อนกลับบ้าน” มาผูกติดกับประตูรั้วของศาล จากนั้นได้นําของเหลวสีแดงสาดและขว้างปาใส่ป้ายผ้า และได้มีการขว้างปาถุงพลาสติกบรรจุของเหลวสีแดงเข้าไปในบริเวณศาลอาญา 

ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน ได้ร่วมกันนําของเหลวสีแดงที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติก และอยู่ในถังขว้างปาและสาดใส่ป้ายผ้าที่ผูกติดอยู่กับประตูรั้ว บริเวณประตูทางเข้า และขว้างปาเข้าไปในบริเวณศาลอาญา ทําให้ประตูรั้วของศาลได้รับความเสียหาย สกปรกเปรอะเปื้อน น้ำสีแดงไหล เจิ่งนองบนพื้น และมีถุงพลาสติกที่ใช้สําหรับบรรจุน้ำสีแดง และเศษขยะอื่นๆ ตกหล่นอยู่บนพื้น จึงเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล

เวลา 9.40 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 716 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้ 

คดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาร่วมกันนำของเหลวขว้างปาสาดของเหลวสีแดงใส่ป้ายผ้า ทำให้รั้วศาลอาญา พื้นที่บริเวณด้านหน้าศาล และพื้นที่บริเวณหลังรั้วศาลสกปรกเปรอะเปื้อน

ในวันนัดไต่สวน ศาลชั้นต้นอ่านคำฟ้องให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คนฟัง ผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพ และขอยื่นคำแถลงปิดคดี 

ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวขว้างปาสีเข้ามาภายในบริเวณศาลจริง เมื่อทำให้บริเวณศาลได้รับความเสียหาย เปรอะเปื้อน แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะอ้างว่าไม่ใช่เรื่องอุจฉกรรจ์ ไม่ใช่การข่มขู่ผู้พิพากษา แต่การกระทำเป็นการท้าทายอำนาจศาลยุติธรรมอย่างชัดเจน

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาคนละ 2 เดือน ปรับคนละ 500 บาท ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 250 บาท 

คดีมีเหตุบรรเทาโทษ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นผู้สูงอายุ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และ 3 ยังเป็นนักศึกษา ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 3 ครั้ง ภายในกําหนด 1 ปี และให้ทํางานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คนไม่ต้องวางเงินประกันหรือจ่ายค่าปรับเพิ่มเติม เนื่องจากศาลพิพากษายืน จึงได้เดินทางกลับโดยทันที

ดูสถิติคดีละเมิดอำนาจศาล

สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564-65

.

X