ศาลลงโทษจำคุก 2 เดือน คดี “ป้าพร-ตี้-จิ๊บ” ละเมิดอำนาจศาล เหตุขว้างปาสีแดงระหว่างชุมนุมหน้าศาล แต่ให้รอการลงโทษ

28 มี.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาในคดีละเมิดอำนาจศาล ซึ่งมี พรนิภา งามบาง หรือ “ป้าพร” ประชาชนวัย 69 ปี, “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยา และ “จิ๊บ” กัลยกร สุนทรพฤกษ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา จากกรณีได้เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของแกนนำราษฎรบริเวณหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 และถูกกล่าวหาว่าได้ทำการปาถุงสีแดงเข้าไปในศาล

คดีนี้เดิมนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 เนื่องจาก ‘ตี้’ วรรณวลี ติดโควิด-19 และต้องเลื่อนอีกครั้งในวันที่ 25 มี.ค. 2565 เนื่องจาก ‘ตี้’  ติดการสอบไล่ที่มหาวิทยาลัย

เวลา 10.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุป พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสาม มีพฤติการณ์ที่ไม่เคารพกฎหมายและกฎเกณฑ์ของสังคม เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อผู้อื่น จึงลงโทษจำคุกคนละ 2 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ปรับคนละ 500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 250 บาท คดีมีเหตุบรรเทาโทษ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นผู้สูงอายุ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และ 3 ยังเป็นนักศึกษา จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี แต่เพื่อป้องปรามให้หลาบจำ ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 3 ครั้ง ภายในกําหนด 1 ปี ตามที่พนักงานคุมประพฤติกําหนดรายงานตัวครั้งแรกนับแต่วันมีคําพิพากษา และให้ทํางานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง

ภายหลังฟังคำพิพากษา ทั้ง 3 คน ได้จ่ายค่าปรับคนละ 250 บาท รวมทั้งสิ้น 750 บาท 

.

กล่าวหาทั้งสามคนร่วมกันขว้างปาสีแดงเข้าไปในศาลอาญา ระหว่างชุมนุมเรียกร้องสิทธิการประกันตัว

สำหรับคดีนี้มีนางสาวชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา โดยมีรายละเอียด ระบุโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ได้ประกาศเชิญชวนมวลชนไปร่วมให้กําลังใจในการไต่สวนคําร้องขอปล่อยชั่วคราว พริษฐ์  ชิวารักษ์, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, อานนท์ นําภา และภาณุพงศ์ จาดนอก 

ทั้งกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ได้ประกาศเชิญชวนทํากิจกรรม “เดิน หยุด ขัง” ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 โดยเดินจากยูเนี่ยนมอลล์ไปยังศาลอาญา ในเวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

วันที่ 24 ธ.ค. 2564 เวลาประมาณ 10.30  น. เริ่มมีมวลชนทยอยเดินทางมาถึงบริเวณหน้าห้างยูเนี่ยนมอลล์ ครั้นเมื่อถึงเวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มมวลชนประมาณ 50 คน ได้จัดขบวนโดยมีการใช้ยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และคนเดินเท้า เคลื่อนขบวนมายังศาลอาญา ซึ่งศาลอาญาได้ดําเนินการรักษาความปลอดภัยและควบคุมสถานการณ์ โดยทําการปิดประตูทางเข้า ประตูทางออก  และปิดประตูอื่นๆ บริเวณแนวรั้วของศาลยุติธรรม 

กระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. กลุ่มมวลชนได้เริ่มจัดกิจกรรมเสวนาและพูดปราศรัยเกี่ยวกับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหา โดยใช้เครื่องขยายเสียง 

จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.30 น. แกนนําประกาศยุติการจัดกิจกรรมและให้มวลชนแยกย้ายกลับบ้าน แต่ยังมีมวลชนบางส่วนร่วมทํากิจกรรมต่อโดยมีการนําป้ายผ้าเขียนข้อความ “รับเพื่อนกลับบ้าน” มาผูกติดกับประตูรั้วของศาล จากนั้นได้นําของเหลวสีแดงสาดและขว้างปาใส่ป้ายผ้า และได้มีการขว้างปาถุงพลาสติกบรรจุของเหลวสีแดงเข้าไปในบริเวณศาลอาญา 

จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. กลุ่มมวลชน ได้ทยอยแยกย้ายเดินทางออกจากพื้นที่บริเวณหน้าศาลอาญา ฝ่ายสืบสวน สน.พหลโยธิน ได้ทําการสืบสวน และสามารถพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ได้แก่ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนในคดีนี้

ผู้กล่าวหาเห็นว่าการกระทําของทั้ง 3 คน ได้ร่วมกันนําของเหลวสีแดงที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติก และอยู่ในถังขว้างปาและสาดใส่ป้ายผ้าที่ผูกติดอยู่กับประตูรั้ว บริเวณประตูทางเข้า และขว้างปาเข้าไปในบริเวณศาลอาญา ทําให้ประตูรั้วของศาลได้รับความเสียหาย สกปรกเปรอะเปื้อน น้ำสีแดงไหล เจิ่งนองบนพื้น และมีถุงพลาสติกที่ใช้สําหรับบรรจุน้ำสีแดง และเศษขยะอื่นๆ ตกหล่นอยู่บนพื้น จึงเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล

.

“ตี้” แถลงไม่ได้ขว้างปาสีเข้าไปในศาล ไม่ได้มีเจตนาละเมิดอำนาจศาล 

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2565 ศาลอาญาได้มีการไต่สวนทั้ง 3 คน ณ ห้อง 704 ทั้ง 3 คน พร้อมทนายความ มาศาล โดยมีตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฝ้าอยู่บริเวณห้องพิจารณาประมาณ 5 นาย 

ศาลได้ชี้แจงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา โดยกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นความผิดเล็กน้อย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล ในวันนี้ทนายได้แถลงต่อศาลว่าทั้ง 3 คน รับสารภาพตามที่ถูกกล่าวหา ศาลจึงให้ทนายทำคำแถลงปิดคดีภายใน 3 วันทำการและออกหมายขัง 

“ตี้” วรรณวลี ได้แถลงต่อศาลว่า พวกตนได้ปาสีใส่ป้ายจริง แต่ไม่ได้ปาสีเข้าไปภายในศาล แม้อาจดูเป็นการกระทำที่ไม่สมควร แต่การปาสีของพวกตนมีมูลเหตุจากการที่เพื่อนๆ ไม่ได้รับการประกันตัว จึงมีการแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมออกไป

ศาลได้กล่าวกับทั้งสามว่า ทราบแล้วก็อย่าทำอีก เพราะทั้ง 2 คน ยังเป็นนักศึกษาอยู่ ส่วนป้าพรก็สูงอายุแล้ว ชีวิตคนเราต้องตัดสินใจด้วยปัญญา ไม่ใช่อารมณ์ ด้านการเมืองก็แสดงออกได้ตามสมควรแต่อย่าฝักใฝ่จนเกินไป วุฒิภาวะของเด็กย่อมน้อยกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว มักขาดความรอบคอบยั้งคิดเป็นธรรมดา 

จากนั้นทั้ง 3 คน ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ คนละ 10,000 บาท รวม 30,000 บาท ก่อนศาลจะมีคำพิพากษาในวันนี้

ทั้งนี้ คดีนี้เป็นคดีละเมิดอำนาจศาลคดีที่ 2 ในรอบปี 2565 ที่เหตุเกิดจากการแสดงออกทางการเมือง ก่อนหน้านี้มีคดีของ 6 นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า ที่ถูกกล่าวหาจากการขีดเขียนข้อความทางการเมืองในห้องเวรชี้ของศาลอาญา โดยคดีนี้ศาลได้ลงโทษกักขัง 15 วันต่อผู้ถูกกล่าวหา 3 ราย และยกฟ้องผู้ถูกกล่าวหาอีก 3 ราย เนื่องจากหลักฐานของผู้ร้องไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว

.

ดูสถิติคดีละเมิดอำนาจศาล

สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564-65

.

X