20 เม.ย. 2566 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ “วัชรากร” (สงวนนามสกุล) พนักงานขายเสื้อผ้าในจังหวัดระยอง วัย 43 ปี ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม มาตรา 14 (2) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” จากกรณีที่เขาได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถพุ่งเข้าชนหนึ่งในผู้ชุมนุม #ม็อบ8กันยา2564 ที่รวมตัวกันที่บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง โดยมีการระบุไปว่าผู้ถูกชนได้ถึงแก่ชีวิต โดยโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ไปกว่าหนึ่งหมื่นครั้ง ต่อมา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียชีวิต เขาจึงได้แก้ไขโพสต์ข้างต้นเป็นเชิงตั้งคำถามต่อปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่แทน
คดีนี้เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 วัชรากรถูกตำรวจกว่า 20 คนบุกค้นบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของเขาและให้เขียนบันทึกลงในกระดาษ ยอมรับว่าตนเป็นคนโพสต์ข้อความ และได้ทำการแก้ไขโพสต์ในวันต่อมา โดยในวันเดียวกันวัชรากรต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ดินแดง
ในชั้นตำรวจ เขาได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และได้ให้การเพิ่มเติมเบื้องต้นว่า เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าตรวจค้นหว่านล้อม จึงให้การเช่นนั้น และระบุว่าสาเหตุที่เขาโพสต์ไปแบบนั้นเพราะดูจากไลฟ์เหตุการณ์การชุมนุม มีคนเข้ามาคอมเม้นท์ว่า ผู้ชุมนุมที่ถูกรถชนได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อได้เห็นดังนั้นจึงรู้สึกเสียใจ และอยากแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต จากนั้นตนก็ไม่ได้ดูโพสต์ดังกล่าวอีกเลย จนกระทั่งวันต่อมา เมื่อทราบข่าวว่าไม่มีคนตาย จึงได้แก้ไขข้อความที่โพสต์แล้ว
วันที่ 27 ต.ค. 2564 วัรชากร ถูก นิกร บุญชู พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 สั่งฟ้องคดีต่อศาล อัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 4-9 ก.ย. 2564 จําเลยได้โพสต์ข้อความเป็นสาธารณะ ที่เพื่อนออนไลน์ในเฟซบุ๊กของจําเลย หรือ ประชาชนทั่วไป ที่ได้เปิดอ่านข้อความ เข้าใจได้ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่กระทําเกินกว่าเหตุ และสร้างความเกลียดชังหรือความ แตกแยกในสังคมถึงขั้นออกมากระทําความผิดต่อกฎหมาย ก่อความเดือดร้อน ความไม่สงบของประชาชนในประเทศไทย ซึ่งไม่เป็นความจริงเนื่องจากไม่มีบุคคลใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว
อัยการระบุว่า จําเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานเป็นประโยชน์สาธารณะของ ประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
เดิมคดีนี้มีนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 21 และ 24 ก.พ. 2566 แต่จำเลยตัดสินใจขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ โดยมีการสั่งให้คุมประพฤติสืบเสาะพฤติการณ์จำเลยประกอบการเขียนคำพิพากษา
เวลา 10.00 น. ผู้พิพากษาอ่านรายงานของพนักงานคุมประพฤติโดยสรุป มีข้อมูลเรื่องการต้องโทษคดีอาญาในขณะยังเป็นเยาวชนในปี 2536 แต่ไม่เคยได้รับการต้องโทษจำคุก อย่างไรก็ตามในรายงานสืบเสาะคดี ลงรายงานว่าเคยต้องโทษปี 2563 จำเลยจึงได้แถลงต่อศาลว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง เพราะคดีดังกล่าวเกิดตั้งแต่ปี 2536 และตนไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน
จากนั้น ศาลได้อ่านคำพิพากษา พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยมีความผิด พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท เห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติกำหนด 1 ปี โดยรายงานตัว 4 เดือนต่อครั้ง และให้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และบริการสาธารณะเป็นเวลา 12 ชั่วโมง
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ตร. 20 นาย บุกค้นบ้านหนุ่มพนักงานห้าง ยึดมือถือ ก่อนเรียกไปแจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมฯ 14 (2) เหตุโพสต์เฟซ #ม็อบ8กันยา มีคนตาย ศาลอาญาให้ประกัน