วันที่ 27 มิ.ย. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญาธนบุรี นัดฟังคำพิพากษาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ 2 นักกิจกรรม ได้แก่ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ (จำเลยที่ 1) และ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา (จำเลยที่ 2) จากการปราศรัยในการชุมนุมบริเวณลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 หรือ #ม็อบ6ธันวา
ในคดีนี้ “ชูเกียรติ-วรรณวลี” ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และศาลได้สืบพยานโจทก์ไปตั้งแต่วันที่ 8-9 ก.พ. และ 19 ก.ค. และ 2 ส.ค. 2565 ขณะที่นัดสืบพยานจำเลยไปเมื่อวันที่ 3, 10 และ 31 มี.ค. 2566 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
.
ย้อนอ่านประมวลการต่อสู้ในคดีนี้ >>> เปิดประมวลคดี ม.112 “ตี้-จัสติน” ปราศรัยวงเวียนใหญ่ ปมวิจารณ์ ประยุทธ์-สนช. ขยายขอบเขตอำนาจพระมหากษัตริย์เกินขอบเขต
ดูฐานข้อมูลคดีนี้ >>> คดี 112 ชูเกียรติ-วรรณวลี-ธนกร (เยาวชน) ปราศรัย #ม็อบ6ธันวา วงเวียนใหญ่
.
ศาลพิพากษา “ชูเกียรติ-วรรณวลี” มีความผิดตาม ม.112 ชี้จำเลยมีเจตนากล่าวหาพระมหากษัตริย์ ทำให้ผู้อื่นรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชัง-กระทำต่ออดีตกษัตริย์ก็เป็นความผิด
ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2566 ทนายความได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลอาญาธนบุรีว่า ในวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลจะประกาศเขตควบคุมบริเวณศาล โดยให้แจ้งรายชื่อบุคคลทุกคนที่จะเข้าฟังคำพิพากษาในคดีนี้ล่วงหน้า
วันนี้ (27 มิ.ย. 2566) เวลา 9.00 น. ที่หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 17 จำเลยทั้งสองได้ทยอยเดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยมีเพื่อนและครอบครัวเดินทางมาให้กำลังใจด้วย ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลได้ขอตรวจบัตรประชาชนของทุกคนเทียบกับรายชื่อที่ทนายความแจ้งไว้
ต่อมาเวลา 10.30 น. เมื่อจำเลยเดินทางมาครบทั้งสองคน ผู้พิพากษาได้ขอให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องทุกคนออกจากห้องพิจารณาคดี รวมทั้งอัยการ ทนายความ และประชาชนที่มาในคดีอื่นด้วย โดยแจ้งว่าคดีนี้มีคำพูดที่อ่อนไหว ต่อมาผู้พิพากษาได้เรียกชื่อของชูเกียรติและวรรณวลีให้ลุกขึ้นรายงานตัวต่อศาล และให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปใส่กุญแจมือของจำเลย
เวลา 11.00 น. ผู้พิพากษาได้เริ่มอ่านคำพิพากษา โดยเริ่มจากบรรยายคำฟ้องของอัยการโจทก์ ศาลอ่านฟ้องให้จำเลยฟัง ก่อนอ่านคำวินิจฉัยในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้
พิเคราะห์พยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันที่ 6 ธ.ค. 2563 มีการปราศรัยในประเด็น “ใครฆ่าพระเจ้าตากฯ” มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บุปผาราม สังเกตการณ์ตลอดการชุมนุม จำเลยที่ 1 ปราศรัยในหัวข้อ “ใครฆ่าพระเจ้าตากฯ”, การที่รัฐใช้มาตรา 112 ปิดปากประชาชน, การทำร้ายผู้ชุมนุม และเรื่องการค้ายาเสพติดในประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 2 กล่าวปราศรัยเรื่องงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ อำนาจที่จะชี้นำกองทัพและการทำงานของคณะรัฐมนตรี และการเซ็นรับรองรัฐประหาร มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
ศาลได้บรรยายไล่เรียงความเห็นของพยานฝ่ายโจทก์ ทั้ง พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย พยานผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์, วิฆนาย ดีสุวรรณ อาจารย์สอนภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี วิไลวรรณ วงศ์วิสุทธิศิลป์ และ มะลิวัลย์ สุวรรณาพิสิทธิ์ พยานผู้ให้ความเห็น, ยุทธศักดิ์ ดีอร่าม อาจารย์สอนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี รวมทั้ง ว่าที่ พ.ต.ต.ชนิสรณ์ ก๊วยสินทรัพย์ และ ร.ต.อ.จักรพงศ์ วงศ์งามใส ที่ให้ความเห็นไปในลักษณะเดียวกันว่าข้อความปราศรัยของจำเลยเป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์และราชวงศ์จักรีในทางเสียหาย
เห็นว่า บุคคลหลายอาชีพมีความเห็นตรงกันว่าจำเลยปราศรัยดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 9, รัชกาลที่ 10, สถาบันกษัตริย์ฯ และราชวงศ์จักรี พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกัน พยานไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย เห็นว่าพยานโจทก์เบิกความโดยสุจริต สามารถรับฟังได้
จำเลยที่ 1 เจตนาพาดพิง โจมตี และให้ร้ายพระมหากษัตริย์ แม้ไม่ได้กล่าวโดยตรงว่ากล่าวถึงพระมหากษัตริย์องค์ใดบ้าง แต่เมื่อฟังแล้ว เข้าใจได้ว่า หมายถึง รัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่ามาตรา 112 คุ้มครองแค่กษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่หรือไม่
เห็นว่า แม้การกระทำกระทบกษัตริย์พระองค์เดียว ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นจอมทัพไทย การขึ้นครองราชย์สืบทอดทางสายโลหิต ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลปัจจุบัน รัฐธรรมนูญไทยบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ดังนั้นเมื่อมาตรา 112 มิได้บัญญัติว่าต้องเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ การกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ก็เป็นความผิดตามกฎหมาย
การกระทำของจำเลยที่ 1 ต้องพิจารณาความรู้สึกของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ฯ จำเลยที่ 1 ปราศรัยต่อประชาชนจำนวนมาก ให้ร้าย และยืนยันความจริง อันเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ จำเลยที่ 1 แสดงความดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์
เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่สามารถรับฟังได้ ขัดแย้งกับคำปราศรัย พยานไม่มีน้ำหนัก เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ครบองค์ประกอบมาตรา 112
จำเลยที่ 2 ปราศรัยถึง จอมทัพไทย และเอ่ยพระนามว่า “วชิรา” หมายถึง รัชกาลที่ 10 พิจารณาถ้อยคำจำเลยที่ 2 เห็นว่า จำเลยมีเจตนากล่าวหาพระมหากษัตริย์ว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ มุ่งโจมตีใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 ทำให้ผู้อื่นที่ได้ฟังดูหมิ่นเกลียดชังรัชกาลที่ 10
จำเลยที่ 2 เบิกความว่า ตนกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 เพื่อให้ท่านทราบว่ามีผู้แอบอ้างใช้พระนามในทางที่มิชอบ โดยจำเลยที่ 2 พูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เห็นว่า เมื่ออ่านคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 แล้ว วิญญูชนทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยกล่าวให้ร้ายรัชกาลที่ 10 ไม่ใช่เหตุผลอย่างที่จำเลยกล่าวอ้าง ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างขึ้นลอยๆ ไม่มีน้ำหนัก ไม่สามารถรับฟังได้ การกระทำของจำเลยทำให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ครบองค์ประกอบมาตรา 112
พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี ทางนำสืบจำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงหนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน เนื่องจากคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อยังไม่พิพากษา ไม่สามารถนับโทษต่อได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก
ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้แก่ ไตรรัตน์ เกื้อสกุล
หลังศาลมีคำพิพากษา ชูเกียรติและวรรณวลีถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันที ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
เวลา 13.40 น. ศาลอาญาธนบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันจำนวนคนละ 300,000 บาท หลังจากก่อนหน้านี้เคยวางหลักทรัพย์ในชั้นสั่งฟ้องคดีไว้คนละ 200,000 บาท ทำให้ต้องวางเพิ่มอีกคนละ 100,000 บาท โดยหลักทรัพย์ดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์