พฤษภาคม 2566: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,914 คน ใน 1,218 คดี

เดือนพฤษภาคม การเลือกตั้งผ่านพ้นไป พร้อมกับการปรากฏเสียงสะท้อนของประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองยังดำเนินต่อไป นอกจากคดีที่ต่อสู้อยู่จำนวนมากในชั้นศาล ในเดือนนี้มีคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีของเด็กเยาวชนถึง 2 คดี นอกจากนั้นยังมีคดีใหม่ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปกล่าวหานักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” และอีกหลายคดีที่หน่วยงานรัฐและบริษัทขนาดใหญ่ใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกล่าวหาประชาชนจากการแสดงความคิดเห็นอีกด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,914 คน ในจำนวน 1,218 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 215 คดี โดยแยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 43 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 12 คน คดีเพิ่มขึ้น 15 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,851 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 250 คน ในจำนวน 269 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 147 คน ในจำนวน 80 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 176 คน ในจำนวน 194 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,218 คดีดังกล่าว มีจำนวน 359 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 859 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

.

.

แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

ผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 เพิ่มขึ้น 8 ราย เป็นเด็กต่ำกว่า 15 ปี 2 ราย ขณะศาลมีคำพิพากษาออกมาต่อเนื่อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมาอย่างน้อย 8 คน ใน 7 คดี โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กจำนวน 2 คน สำหรับคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ได้แก่ กรณีของ “เมย์” ที่ถูกแน่งน้อย อัศวกิตติกร กล่าวหาไว้ที่ สภ.เมืองพิษณุโลก จากการโพสต์เฟซบุ๊กตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยขณะเกิดเหตุนั้นเธอมีอายุเพียง 14 ปี 1 เดือนเศษเท่านั้น นับได้ว่าทำลายสถิติคดีเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีข้อหานี้ โดยเธอเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา หลังในตอนแรกได้เคยเข้าให้การกับตำรวจโดยยังไม่มีการแจ้งข้อหา ทั้งตำรวจได้ทำสำนวนสั่งไม่ฟ้องคดี แต่อัยการกลับพิจารณาให้ดำเนินคดี

ส่วนอีกกรณีหนึ่ง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่ สภ.เมืองพิษณุโลก อีกคดีหนึ่ง แต่ไม่ทราบรายละเอียดในคดี

เดือนที่ผ่านมายังมีกรณีของ “ชรัน” หนุ่มจากอำเภอหาดใหญ่ ที่ถูกตำรวจจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรี และนำตัวเดินทางไกลมาดำเนินคดีมาตรา 112 จากเกี่ยวกับการแชร์โพสต์ข้อความ ที่ สภ.เมืองนนทบุรี คดีนี้ในตอนแรกศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน แต่หลังญาติยื่นประกันตัวครั้งที่ 2 ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวหลังถูกคุมขังอยู่ 9 วัน

นอกจากนั้น ในคดีของ “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์ สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ยังได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาที่ สภ.เมืองขอนแก่น กรณีถูกผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยภักดี กล่าวหา จากการชูสามนิ้วต่อหน้าพระเทพฯ ระหว่างการรับปริญญา

ส่วนคดีในพื้นที่ทางภาคใต้ก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง เดือนที่ผ่านมามีกรณีของธีรเมธ ผู้ชุมนุมทางการเมืองซึ่งเป็นผู้พิการทางสติปัญญา วัย 19 ปี ได้รับหมายเรียกจาก สภ.ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ให้ไปรับทราบข้อหามาตรา 112 โดยคดีมี ทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา โดยทางทนายความของผู้ถูกออกหมายเรียกได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สั่งให้พนักงานสอบสวนเดินทางมาสอบธีรเมธที่กรุงเทพฯ ตามสิทธิของผู้พิการ

.

.

ส่วนคดีที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล ยังมีการสืบพยานและศาลมีคำพิพากษาออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ออกมาอีก 7 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ 5 คดี โดยมีคดีของเวหา ที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 3 ปี 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และไม่อนุญาตให้ประกันเขาในระหว่างอุทธรณ์คดี นอกจากนั้นยังมีคดีของปาฏิหาริย์ และประชาชนอีกรายหนึ่ง ที่ศาลพิพากษาไม่ให้รอลงอาญา แต่ยังไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

ส่วนคดีที่จำเลยต่อสู้คดีนั้น ศาลมีคำพิพากษาออกมา 2 คดี ได้แก่ คดีของ “รามิล” นักศึกษา ม.เชียงใหม่ กรณีถูกกล่าวหาแสดง Performance Art ทำท่าทางคล้ายครุฑและใช้เท้าชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ โดยศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้อง เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังชี้ไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์

.

.

และคดีของ “ไวรัส” หนุ่ม รปภ. ที่ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 3 ข้อความ และติ๊กต็อก 2 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และ 10 โดยเขาต่อสู้คดีในกระทงที่เกี่ยวกับอดีตกษัตริย์ว่าไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 แต่ศาลอาญาวินิจฉัยว่าการหมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์ย่อมกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันด้วย เห็นว่ามีความผิดทุกกระทง พิพากษาจำคุกรวม 15 ปี ลดโทษเหลือ 5 ปี 30 เดือน แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 3 ปี โดยคดีนี้ อธิบดีศาลอาญายังทำความเห็นแย้ง เห็นว่าไม่สมควรให้รอลงอาญาไว้ด้วย

ขณะเดียวกันยังมีคดีที่มีคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ออกมาอีก 1 คดี ได้แก่ คดีของ “นรินทร์” กรณีถูกกล่าวหาว่านำสติกเกอร์ “กูkult” ไปติดคาดตาบนรูปรัชกาลที่ 10 โดยศาลอุทธรณ์ให้กลับคำพิพากษาเป็นยกฟ้องจำเลย โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังมีพิรุธสงสัยว่า จำเลยจะเป็นผู้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ จึงยังไม่อาจรับฟังว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด 

นอกจากเวหาแล้ว จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ยังมีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ระหว่างพิจารณาเท่าที่ทราบข้อมูลอีกหนึ่งราย คือ “วุฒิ” พนักงานรักษาความปลอดภัยของโรงงานแห่งหนึ่ง หลังเขาไม่ได้รับการประกันตัวเมื่อถูกสั่งฟ้องคดีที่ศาลอาญามีนบุรี และถูกคุมขังมาสองเดือนเศษแล้ว

.

.

คดีไม่แจ้งการชุมนุมเพิ่ม 1 คดี ส่วนคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังแยกเป็นสองแนว

เดือนที่ผ่านมา มีคดีจากการชุมนุมเพิ่มอีก 1 คดี ได้แก่ คดีจากการเดินขบวนในวันกรรมกรสากล จากแยกราชประสงค์ไปแยกปทุมวัน โดยหลังกิจกรรมมีผู้ถูกตำรวจ สน.ปทุมวัน ออกหมายเรียกในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 3 ราย โดยสองรายให้การปฏิเสธและเตรียมต่อสู้คดีต่อไป ส่วนอีกรายยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับ

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจย้อนจับกุมคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563 ได้แก่ กรณีของชลธิชา คุ้มจันทร์อัด หญิงท้องแก่ ที่ถูกตำรวจจับกุมในคดีชุมนุมวันที่ 21 ต.ค. 2563 แม้กรณีนี้ นักกิจกรรมที่ถูกฟ้องไป ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องไปแทบทั้งหมดแล้วก็ตาม

คดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 พบว่ายังไม่สิ้นสุดอีกไม่น้อยกว่า 507 คดี ในจำนวนนี้อยู่ในชั้นศาลแล้ว 220 คดี  เดือนที่ผ่านมามีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้องเพิ่มเติม ได้แก่ คดีชุมนุม #ราษฎรสาส์น เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 และคดีชุมนุม #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563  หากแต่ก็มีคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิดด้วย ได้แก่ คดีกิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  เมื่อ 24 มิ.ย. 2563 และคดีคาร์ม็อบสตูล ที่ศาลพิพากษาลงโทษปรับ และพิพากษาให้รอการกำหนดโทษ ตามลำดับ

แนวคำวินิจฉัยในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองนั้น พบว่าแตกต่างไปสองแนวอย่างชัดเจน ระหว่างศาลที่พิจารณาเน้นการห้ามการชุมนุมอย่างเด็ดขาดในสถานการณ์โรคระบาด กับศาลที่พิจารณาสร้างความสมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพในการชุมนุมกับสถานการณ์เรื่องโควิด-19 โดยแนวคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนั้น ยังมีปริมาณมากกว่าคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิดราวหนึ่งเท่าตัว

.

.

สนง.ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินคดี “ดูหมิ่นศาล” นักกิจกรรมเชียงใหม่ ขณะคดีหมิ่นประมาทจากการแสดงความคิดเห็นยังเข้มข้น

สถานการณ์คดีที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งในเดือนที่ผ่านมา คือคดีดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ที่องค์กรของรัฐหรือบริษัทขนาดใหญ่ กล่าวหาประชาชนจากการแสดงความคิดเห็น ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะกรณีที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาดำเนินคดี 6 นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” จากกรณีทำกิจกรรมแสดงออกต่อการวินิจฉัยคดี 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกลุ่มนักกิจกรรมได้เข้ารับทราบข้อหาที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา คดีนี้นับเป็นคดีที่สอง ตั้งแต่ปี 2563 ที่พบว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมากล่าวหาประชาชนในข้อหานี้

นอกจากนั้น ยังมีคดีของ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย ที่ถูกโฆษกกระทรวงสาธารณสุข​ กล่าวหาในข้อหาหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ สภ.เมืองนนทบุรี จากกรณีข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจชมรมแพทย์ชนบาท

ทางด้านบริษัทกัลฟ์เอเนจี้ ก็ได้ยื่นฟ้องร้อง สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน-นักวิชาการอิสระ ข้อหาหมิ่นประมาททั้งในทางแพ่งและอาญา เช่นเดียวกับ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่ถูกบริษัทท็อปนิวส์ ฟ้องร้อง จากการโพสต์ข้อความทำนองว่าท็อปนิวส์เผยแพร่ข่าวเฟคนิวส์

.

.

เดือนที่ผ่าน ยังมีคดีของงามแสนหลวง เจ้าของร้านหนังสือ ที่ถูกบริษัทบุญรอดฯ ฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความว่ามีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ของบริษัทระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 โดยศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องหลังคดีดำเนินมากว่า 2 ปี เห็นว่าพฤติการณ์ยังไม่เข้าองค์ประกอบตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ตามที่ฟ้องแต่อย่างใด โดยที่ก่อนหน้านี้ศาลก็ได้ยกฟ้องคดีของประชาชนอีก 2 รายที่ถูกบริษัทบุญรอดฟ้องมาก่อนแล้ว

สถานการณ์การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทฯ ในรูปแบบต่างๆ ต่อผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารงานของหน่วยงานรัฐและบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้เกิดภาระทางคดีและพยายามปิดกั้นการแสดงออก ที่เรียกว่า “การฟ้องปิดปาก” หรือ “การฟ้องตบปาก” (SLAPP) ยังเป็นสถานการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อเสรีภาพการแสดงออกในสังคมไทย 

.

X