16 พ.ค. 2566 เวลา 9.30 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมืองและว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จากการจัดการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 หรือม็อบ #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา บริเวณด้านหน้าของรัฐสภา
เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 “คณะประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุมระหว่างที่มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยผู้ชุมนุมมีการเรียกร้องให้สภาเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกหมวด, การลดอำนาจ ส.ว. และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ในวันดังกล่าว สภาได้ลงมติให้มีการตั้งกรรมาธิการศึกษาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเวลา 1 เดือนก่อน
ต่อมาชลธิชา ซึ่งเป็นผู้ทำหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมต่อตำรวจ สน.บางโพ ได้ถูกออกหมายเรียกมาแจ้งข้อหา และต่อมาถูกสั่งฟ้องคดีโดย บุณณดา หาญทวีพันธุ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ “มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215
ชลธิชาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล
ในวันนี้ (14 มี.ค. 2566) ที่หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 509 มีตัวแทนจากสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ สถานทูตเบลเยี่ยม และสถานทูตเนเธอร์แลนด์ มาร่วมสังเกตการณ์ในคดี เมื่อชลธิชาเดินทางมาถึงได้พูดคุยถึงเรื่องการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเธอได้รับเลือกจากประชาชนให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปทุมธานี เขต 3
นอกจากนี้ชลธิชายังกล่าวถึงคดีที่ยังคงค้างคาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม โดยมีทั้งคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมอีกหลายคดี และคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยถึงการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ซึ่งมีนัดสืบพยานในวันที่ 24 – 26, 31 พ.ค. และ 8 – 9 มิ.ย. 2566 ที่จะถึงนี้
เวลา 9.40 น. เมื่อเข้าสู่ห้องพิจารณาคดี ผู้พิพากษาแจ้งว่าเนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อนุญาตให้เพียงตัวแทนจากสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งส่งคำร้องขอเข้าติดตามการพิจารณามาล่วงหน้า เข้าฟังคำพิพากษาได้ ส่วนตัวแทนจากสถานทูตอื่นๆ ให้รอหน้าห้องพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ มีใจความโดยสรุปดังนี้
เห็นว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุในคดีนี้ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง กำหนดห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค แต่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจ กำหนดว่า การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่ม หรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ
จากการสืบพยานโจทก์ รับฟังได้ว่า จำเลยแจ้งจัดการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐสภาแจ้งว่าสถานที่ดังกล่าวมีการปรับปรุงอยู่ จำเลยจัดการชุมนุมในพื้นที่ที่รัฐสภาจัดไว้ให้ประชาชนมาร้องทุกข์ วันดังกล่าวมีผู้ชุมนุมจำนวนมากเต็มทางเท้า ต่อมามีการขยับพื้นที่การชุมนุมลงไปบนพื้นที่ถนน มีรถบรรทุก 6 ล้อ บรรทุกเครื่องขยายเสียง เคลื่อนตัวไปปิดหน้าทางเข้าออกรัฐสภา จากการนำสืบพยาน ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าจำเลยจงใจหรือรถบรรทุกบังเอิญเลื่อนไปปิดหรือกีดขวางทางเข้าออกรัฐสภาหรือกีดขวางการจราจร
ในการชุมนุม ผู้ชุมนุมบางคนสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่บางคนไม่สวมใส่ พยานโจทก์เบิกความว่าผู้จัดการชุมนุมไม่มีมาตรการป้องกันโรคในที่ชุมนุม แต่บริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่เปิดโล่ง ขณะนั้นสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่รุนแรง กรณียังเป็นที่น่าสงสัยว่าจำเลยจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแล้วแต่ไม่เพียงพอหรือไม่
จากการสืบพยานได้ความว่า ในวันดังกล่าวมีเวทีปราศรัย 2 แห่ง อีกเวทีคือบริเวณทางเข้าออกรัฐสภา ซึ่งมี นายอานนท์ นำภา ขึ้นปราศรัย จากพยานหลักฐาน ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าเวทีอีกแห่งไม่ใช่ของจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรม
แม้จำเลยจะเป็นผู้แจ้งจัดให้มีการชุมนุม แต่จากพยานหลักฐานของโจทก์ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า จำเลยจัดชุมนุมที่มีลักษณะมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย พิพากษายกฟ้อง
.
.
ย้อนอ่านข่าวรับทราบข้อกล่าวหา >>> “ลูกเกด” เข้ารับทราบข้อหา 2 คดี จาก 2 ม็อบหน้ารัฐสภา ถูกแจ้งเพิ่ม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ควบ พ.ร.บ. ชุมนุมฯ