พิพากษายกฟ้องคดี “งามแสนหลวง” ชี้ไม่เข้าองค์ประกอบ พ.ร.บ.คอมฯ กรณีโพสต์ บ.บุญรอดฯ ให้ตำรวจใช้พื้นที่ยิงแก็สน้ำตาใน #ม็อบ17พฤศจิกา63

วันที่ 29 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม” เจ้าของร้านหนังสือผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เหตุจากการโพสต์ข้อความกล่าวถึงกรณีอาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากบริษัทบุญรอดฯ ระหว่างการสลายการชุมนุมของราษฎรบริเวณใกล้รัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563

งามแสนหลวง ถูกโจทก์ฟ้องว่าได้นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ว่า “แก็สน้ำตายิงออกมาจากที่นี่ บริษัทนี้ให้ตำรวจเข้าไปข้างในยิงแก๊สน้ำตาออกมาใส่ประชาชน” โดยที่บริษัทบุญรอดฯ ไม่เคยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้พื้นที่ในการยิงแก๊สน้ำตาแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้หลังการยื่นฟ้องและไต่สวนมูลฟ้องไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้เห็นว่าคดีมีมูลตามที่โจทก์ฟ้องไว้ จึงมีคำสั่งรับฟ้องคดีไว้ จากนั้นงามแสนหลวงยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลจึงนัดสืบพยานไประหว่างวันที่ 9-10 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา 

.

สำหรับการนัดฟังคำพิพากษาเกิดขึ้นที่ห้อง 501 คำพิพากษาโดยสรุประบุว่า ในระหว่างการสืบพยาน พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวลงบนเฟซบุ๊ก ซึ่งทางจำเลยก็ได้ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์จริง และมีการนำข้อความของจำเลยไปแชร์ผ่านทางทวิตเตอร์ต่อ อย่างไรก็ตามจำเลยยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ลงทางทวิตเตอร์ และการเบิกความของพยานโจทก์ก็ยังไม่ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ทางทวิตเตอร์แต่อย่างใด ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าทวิตเตอร์ที่เผยแพร่ข้อความดังกล่าวเป็นบัญชีของจำเลย 

ส่วนข้อความในเฟซบุ๊กที่จำเลยโพสต์นั้น เมื่อมีการทักท้วงให้จำเลยลบโพสต์ออก จำเลยได้ลบโพสต์ดังกล่าวทันที โจทก์ไม่ได้นำสืบหรือถามค้านจำเลยเป็นอย่างอื่น พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยบอกกล่าวเตือนให้ผู้ชุมนุมระมัดระวังตัว แต่ไม่ได้มีเจตนาพิเศษโดยทุจริตที่บิดเบือนทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามองค์ประกอบความผิดแห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) แต่อย่างใด 

แม้ข้อเท็จจริงปรากฎว่าโจทก์ไม่ได้ให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดเข้าไปในที่ทำการของโจทก์เพื่อเป็นสถานที่ยิงแก๊สนํ้าตาใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งข้อความที่จำเลยโพสต์ดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงและเป็นความเท็จก็ตาม แต่ก็เป็นความผิดในข้อหาอื่น โจทก์สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีจำเลยต่อไปได้

ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาซึ่งจำเลยสามารถนำสืบพยานหลักฐานหักล้างได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามโจทก์ พิพากษายกฟ้อง

.

ทั้งนี้ กรณีที่มีการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊กว่า อาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ที่ทำการของบริษัทบุญรอดฯ ขณะที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณใกล้อาคารรัฐสภาใน #ม็อบ17พฤศจิกา2563 นั้น มีประชาชนรวม 4 ราย ได้ถูกบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ 

นอกจากคดีของงามแสนหลวง ยังมีคดีของธนากร ท้วมเสงี่ยม แอดมินเพจ “ประชาชนเบียร์” ซึ่งศาลได้มีคำวินิจฉัยยกฟ้องตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นอุทธรณ์ไปแล้ว ส่วนในคดีของสรญา หลังศาลรับฟ้องคดีและมีการสืบพยาน ศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีไปแล้วเช่นกัน แต่โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อมา สุดท้ายคดีของมนต์ทิพา ซึ่งถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอีก 1 ข้อหา ศาลได้รับฟ้องไว้ และต่อมาได้มีการไกล่เกลี่ยคดี จำเลยยินยอมโพสต์ขอโทษ และโจทก์ได้ถอนฟ้องคดี

.

ย้อนดูสรุปคดีทั้งหมด 

บ.บุญรอดฯ ฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ 4 ประชาชนโพสต์วิจารณ์ให้ ตร.ใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตาใน #ม็อบ17พฤศจิกา

X