ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องอีก คดี ‘บุญรอด’ ฟ้องแอดมินเพจ ‘ประชาชนเบียร์’ ชี้ พ.ร.บ.คอมฯ ไม่ใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท

1 ก.พ. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีที่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ธนากร ท้วมเสงี่ยม เจ้าของและผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนเบียร์” ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และ (5) เหตุจากการโพสต์ข้อความบนเพจจำนวน 2 ข้อความ ระหว่างวันที่ 17 – 18 พ.ย. 2563 กล่าวถึงกรณีอาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากบริษัทบุญรอดฯ ระหว่างการสลายการชุมนุมของราษฎร บริเวณใกล้รัฐสภาใน #ม็อบ17พฤศจิกา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 

คดีนี้หลังการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 โดยเห็นว่าข้อความที่อ้างว่าจำเลยโพสต์ไม่เข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เนื่องจากเป็นเพียงความเสียหายส่วนตัวที่เกิดขึ้นกับโจทก์ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนทั่วไปตามองค์ประกอบของมาตรานี้ ต่อมาฝ่ายบริษัทบุญรอดได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อ

ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยสรุประบุว่า จากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) บังคับใช้ในกรณีการกระทำโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง ต้องมีเจตนาพิเศษด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน แต่ไม่ใช่กรณีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้แล้ว

ในความข้อนี้ได้ความตามที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ก่อตั้งและดูแลเพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนเบียร์” และนำเข้าข้อมูลตามฟ้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของนักลงทุนหรือผู้บริโภครายอื่นและสินค้าของโจทก์ในเชิงธุรกิจ ประชาชนบางส่วนรณรงค์ให้งดบริโภคสินค้าของโจทก์

แม้การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง ตามที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามประการที่น่าจะทำให้เกิดเสียชื่อเสียง อันเป็นความผิดหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และ (5) การกระทำของจำเลยไม่มีมูลความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ กรณีที่มีการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊กว่า อาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ที่ทำการของบริษัทบุญรอดฯ ขณะที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณใกล้อาคารรัฐสภา #ม็อบ17พฤศจิกา ดังกล่าว มี สุรสิทธิ์ ทองจันทร์ เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้บริหารของบริษัท บุญรอดฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องประชาชน 4 ราย ได้แก่ ธนากร ท้วมเสงี่ยม, งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม, มนต์ทิพา วิโรจน์พันธ์ุ และสรญา ธนพุทธิสิริ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และฟ้องมนต์ทิพา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เพิ่มอีก 1 ข้อหา 

ในคดีของธนากร ศาลได้มีคำวินิจฉัยยกฟ้องตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แต่โจทก์ก็อุทธรณ์คดีต่อมา ส่วนคดีของงามแสนหลวง, มนต์ทิพา และ สรญา ศาลวินิจฉัยรับฟ้องไว้หลังไต่สวนมูลฟ้อง โดยจนถึงต้นปี 2566 มีคดีของสรญาที่ทำการสืบพยานเสร็จสิ้น และศาลพิพากษายกฟ้องไปแล้วหนึ่งคดี แต่โจทก์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อมาด้วย

.

ย้อนอ่านคดีของธนากร

ไต่สวนมูลฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ แอดมิน ‘ประชาชนเบียร์’ โพสต์ ‘บ.บุญรอด’ ให้ตร.ใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตา 

ศาลยกฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ แอดมินเพจ ‘ประชาชนเบียร์’ โพสต์ ‘บ.บุญรอด’ ให้ตร.ใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตา ชี้เพียงทำให้โจทก์เสียหาย มิใช่เกิดความเสียหายแก่ประชาชนทั่วไป

.

X