วันที่ 20 ก.ค. 63 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเพชรบูรณ์ นายศิรวิทย์ ทองคำ อดีตผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ เขต 1 จังหวัดเพชรบูรณ์ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีที่มีพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มอบอำนาจให้ ร.ท. บันเทิง เอียดคล้าย แจ้งความกล่าวหา ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) จากการโพสต์ภาพทหารขนของจากร้านขายเสื้อผ้า โดยตั้งคำถามว่าใช่หน้าที่หรือไม่ พร้อมย้ำข้อเสนอพรรคอนาคตใหม่ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร
เวลา 13.30 น. นายศิรวิทย์ได้เดินทางไปที่ สภ.เมืองเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยทนายความ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา หลังจากได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 63 ที่ผ่านมา โดยเป็นหมายเรียกออกโดย ร.ต.อ.สานิตย์ สัญนิชาติ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ลงวันที่ 8 ก.ค. 63 ระบุให้มารับทราบข้อหาในวันที่ 21 ก.ค. 63 แต่นายศิรวิทย์และทนายความสะดวกเดินทางมาในวันนี้
นายศิรวิทย์ ทองคำ พิมพ์ลายนิ้วมือหลังรับทราบข้อกล่าวหา
ร.ต.อ.สานิต สัญนิชาติ พนักงานสอบสวนสภ.เมืองเพชรบูรณ์ ได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาโดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 63 ร.ท.บันเทิง เอียดคล้าย รักษาราชการนายทหารสืบสวนสอบสวน กองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพ่อขุนผาเมือง เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้นำเอกสารภาพบันทึกหน้าจอเฟซบุ๊ก ที่อ้างว่านายศิรวิทย์ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กของตนเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 63 เป็นภาพรถของเจ้าหน้าที่ทหารและกำลังพลทหาร กำลังทำการขนย้ายสิ่งของจากร้านขายเสื้อผ้า พร้อมด้วยข้อความประกอบเชิงตั้งคำถามว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารหรือไม่ และลงท้ายด้วยการเสนอว่าทำไมพรรคอนาคตใหม่จึงต้องเสนอกฎหมายยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ให้เปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครใจ เข้ามากล่าวหานายศิรวิทย์ ทองคำ
ฝ่ายผู้กล่าวหาอ้างว่าข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความกองทัพบกซึ่งเป็นความเท็จ ลงไปในระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้กองทัพบกเสียชื่อเสียง จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1)
เมื่อได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว นายศิรวิทย์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมกับขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะได้นำตัวนายศิรวิทย์ไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และปล่อยตัวผู้ต้องหากลับ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ในฉบับแก้ไขเมื่อปี 2560 ระบุความผิดเรื่องการ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”
จึงน่าจับตาในคดีนี้ว่าการแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ไปควบคู่กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ขณะที่กฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ให้ใช้ในลักษณะดังกล่าว เป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการจะพิจารณามีคำสั่งในคดีนี้อย่างไร