อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี “อดีตผู้สมัครอนค.เพชรบูรณ์” ถูก ‘พล.อ.อภิรัชต์’ กล่าวหา กรณีโพสต์ถามทหารขนของร้านเสื้อผ้าใช่หน้าที่หรือไม่ ชี้เป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น

30 ส.ค. 64 นายศิรวิทย์ ทองคำ อดีตผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ เขต 1 จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบูรณ์ ในคดีที่เขาถูก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มอบอำนาจให้นายทหารในจังหวัดเพชรบูรณ์แจ้งความกล่าวหา ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) จากการโพสต์ภาพทหารขนของจากร้านขายเสื้อผ้า โดยตั้งคำถามว่าใช่หน้าที่หรือไม่

ศิรวิทย์ถูกพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเพชรบูรณ์ แจ้งข้อกล่าวหาตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 63 โดยคดีมี ร.ท.บันเทิง เอียดคล้าย รักษาราชการนายทหารสืบสวนสอบสวน กองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพ่อขุนผาเมือง รับมอบอำนาจจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น เป็นผู้กล่าวหานายศิรวิทย์ กรณีได้โพสต์ภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊กของตนเองเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 63 เป็นภาพรถของเจ้าหน้าที่ทหารและกำลังพลทหาร กำลังทำการขนย้ายสิ่งของจากร้านขายเสื้อผ้า พร้อมด้วยข้อความประกอบเชิงตั้งคำถามว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารหรือไม่ และลงท้ายด้วยการเสนอว่าทำไมพรรคอนาคตใหม่จึงต้องเสนอกฎหมายยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ให้เปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครใจ

ฝ่ายผู้กล่าวหาอ้างว่าข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความกองทัพบกซึ่งเป็นความเท็จ ลงในระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้กองทัพบกเสียชื่อเสียง โดยนายศิรวิทย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวน

ผบ.ทบ.แจ้งความ ‘อดีตผู้สมัครอนค.เพชรบูรณ์’ โพสต์ถามทหารขนของร้านเสื้อผ้าใช่หน้าที่ไหม

หลังผ่านไปกว่า 1 ปี 1 เดือนเศษ ล่าสุดนายศิรวิทย์เพิ่งได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบูรณ์ ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ซึ่งแจ้งถึงผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองเพชรบูรณ์ ทำให้ทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นไม่ฟ้องคดีเช่นเดียวกัน คำสั่งไม่ฟ้องจึงถือเป็นเด็ดขาด และคดีสิ้นสุดลงแล้ว

สำหรับความเห็นของพนักงานอัยการที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง ระบุเนื้อหาว่า “เห็นว่าภาพถ่ายที่ผู้ต้องหาพบเห็นรถบรรทุกของทางราชการทหารฯ กำลังขนของสัมภาระ ซึ่งมีหุ่นจำลองตัวคน อุปกรณ์ของที่ไม่เกี่ยวกับกิจการทหาร และมีทหารกองประจำการนั่งอยู่ท้ายกระบะของรถราชการดังกล่าว โดยผู้ต้องหาได้ถ่ายภาพที่ตนเองพบเห็น และโพสต์ในลักษณะเกิดความสงสัยและตั้งคำถามต่อผู้เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการระบุชื่อ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ โดยโพสต์ข้อความลักษณะอธิบายภาพมีข้อความสรุปเป็นทำนองถามว่า ‘การขนย้ายสิ่งของร้านขายเสื้อผ้า หลังโรงเรียนอนุบาลเพชรบูรณ์ อันนี้ใช่หน้าที่ของทหารหาญหรือเปล่า’ ซึ่งเป็นวิสัยของคนโดยทั่วไปที่มองเห็นรถของทางราชการทหาร มาขนสัมภาระร้านขายของ อันมิใช่ภารกิจของราชการทหาร อาจตั้งข้อสงสัยกับภาพที่ได้เห็นได้ว่านี่คือ ภารกิจของทหารหรือไม่

“ดังนั้นการที่ผู้ต้องหา เกิดความสงสัยในสิ่งที่ตนพบเห็นกับภารกิจของราชการทหาร แล้วถ่ายภาพและโพสต์ข้อความที่พบเห็นจริงลงในเฟซบุ๊กสาธารณะของตน และใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นโดยทั่วไป โดยใช้ถ้อยคำประมาณว่าอันนี้ใช่ภารกิจของทหารหาญหรือเปล่า อันถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในกรอบสิทธิขั้นพื้นฐาน และยังไม่มีประโยคหรือข้อความใดเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จและเป็นการใส่ร้าย ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาแต่ประการใด การกระทำของผู้ต้องหาจึงยังไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง”

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้เป็นเพียงตัวอย่างคดีหนึ่ง ที่กองทัพและเจ้าหน้าที่ทหารใช้ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มากล่าวหาประชาชนหรือนักกิจกรรมที่โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของกองทัพ รวมถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนที่ในท้ายที่สุด อัยการมักจะมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี หรือศาลยกฟ้องคดี แต่ก็ได้สร้างภาระในการต่อสู้คดีให้กับผู้ถูกกล่าวหาเป็นระยะหลายเดือนหรือหลายปี เข้าข่ายเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมของสาธารณะ (SLAPP หรือการฟ้องคดี “ปิดปาก” หรือ “ตบปาก”)

ตัวอย่างคดีลักษณะนี้ อาทิเช่น คดีที่ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคดีของหาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ หรือ “ดาบชิต” อดีตแกนนำ นปช. แดงเชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 33 กล่าวหาจากการโพสต์แซวการจัดกิจกรรมของทหาร อัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในที่สุด หรือคดีของเอกชัย หงส์กังวาน ที่ถูก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ กล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กว่าไทยแพ้สงครามในสมรภูมิร่มเกล้า  ต่อมาอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เช่นกัน เป็นต้น

7 ปี รัฐประหาร: ทบทวนผลลัพธ์คดียุค คสช. ภาพสะท้อน ‘นิติสงคราม’ ที่กฎหมายคืออาวุธทางการเมือง

.

X