อดีต กมธ. ยกร่าง พ.ร.บ.คอมฯ เข้าเบิกความไต่สวนมูลฟ้องคดี ‘สรญา’ โพสต์ข้อความ-คลิปชุมนุมหน้า ‘บ.บุญรอดฯ’

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สรญา ธนพุทธิสิริ ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เหตุจากโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊ก กรณีอาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ที่ทำการของบริษัท บุญรอดฯ ขณะที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณใกล้อาคารรัฐสภา #ม็อบ17พฤศจิกา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 หลังมีการไต่สวนนัดแรกไปเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564

คำฟ้องของโจทก์ระบุว่าสรญาได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนเบียร์” ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เป็นข้อความว่า “ไม่ทราบว่านี่กําแพง บ.บุญรอดรึเปล่าคะ แต่ตอนเราไลฟ์ เรายืนอยู่ตรงหน้าป้ายบ.บุญรอดบลิว” พร้อมทั้งอัพโหลดคลิปเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณถนนหน้าที่ตั้งสํานักงานใหญ่ของโจทก์ และต่อมาจำเลยยังได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะว่า ตนถูกข่มขู่จะฟ้องจากมีคลิปไลฟ์สดเหตุการณ์หน้าบริษัท บุญรอดฯ และโพสต์ข้อความแรก แต่ตนยืนยันว่าจะไม่ลบ ซึ่งโจทก์อ้างว่า ทั้งหมดเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและบิดเบือน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง

.

พยานโจทก์เบิกความ ‘สรญา’ โพสต์บิดเบือน แม้เป็นการโพสต์ข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามคลิป  

ที่ห้องพิจารณา 402 เวลา 09.30 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์พิจารณา โดยในนัดนี้ มีผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ ทนายโจทก์ จำเลย และทนายจำเลยมาศาล โดยทนายโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง 1 ปาก 

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญและเป็นคณะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นพยานโจทก์ ขึ้นเบิกความเพื่อชี้ให้เห็นรายละเอียดของการกระทำความผิดตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ไพบูลย์เบิกความว่าตนจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยม และนิติศาสตร์มหาบัณทิต มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในด้านประสบการณ์การทำงาน เคยเป็นกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 และเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการที่แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และได้รับมอบหมายให้เป็นอนุกรรมการกระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจสังคม เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้

ทนายโจทก์ได้ถามพยานว่า ข้อความแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนเบียร์” เกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา และข้อความของจำเลยที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว พยานเห็นว่าเป็นความผิดอย่างไร

พยานเบิกความว่า การพิจารณาว่าการกระทําใดจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้นต้องพิจารณาว่าผู้นําเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์คือใคร ซึ่งข้อความที่โพสต์แสดงความคิดเห็นลงในเพจประชาชนเบียร์นั้น ผู้นําเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ คือจําเลย ซึ่งจะเข้าเงื่อนไขข้อแรก 

ส่วนเงื่อนไขข้อสอง คือ เงื่อนไขที่ว่าข้อความดังกล่าวต้องเป็นข้อความที่บิดเบือน ซึ่งหมายถึงกรณีที่ไม่มีข้อความจริงใดอยู่และมีการสร้างข้อเท็จจริงขึ้นมา ซึ่งข้อความดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อความที่บิดเบือน เนื่องจากหากบริษัทโจทก์นั้น ไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ําตา อีกทั้งข้อความว่าแก๊สน้ําตาที่พวยพุ่งออกมาจากกําแพงพุ่มไม้บริษัทโจทก์ที่กําลังพูดตามข้อเท็จจริงตามคลิปนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า แก๊สน้ําตาไม่ได้พุ่งออกมาจากบริษัทโจทก์ ข้อความดังกล่าวนี้จึงเป็นข้อความที่บิดเบือน

ส่วนเงื่อนไขข้อที่สาม คือ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งตามแถลงการณ์ของบริษัทบุญรอดฯ โจทก์ได้ยืนยันแล้วว่า ข้อความที่จําเลยโพสต์นั้นไม่เป็นจริง และข้อความดังกล่าวทําให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หากผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวเห็นประกาศแถลงการณ์ของโจทก์ และไม่มีการลบข้อความ จะแสดงถึงเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นได้ว่าบุคคลนั้นประสงค์ที่จะนําเข้าข้อมูลที่บิดเบือนและเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน

.

พยานโจทก์เห็นว่าจำเลยได้ยอมรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่โพสต์แล้ว

พยานเบิกความว่า นอกจากตนจะเป็นกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แล้วพยานยังเชี่ยวชาญการพิสูจน์หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

ทนายจําเลยถามพยานว่า การตรวจพิสูจน์หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นจําเป็นต้องมีการปรินซ์หลักฐานดังกล่าวออกมาพิสูจน์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า การตรวจพิสูจน์หลักฐานนั้นมีหลายแบบ ได้แก่ กรณีที่พิพาท และโจทก์จําเลยมีการยอมรับพยานหลักฐานนั้น ว่าเป็นพยานหลักฐานที่ทําขึ้นจริง จะไม่จําเป็นต้องนําสืบพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์

แบบที่สองคือ กรณีพิพาทเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย หรือสังคมออนไลน์ หรือเว็บไซต์ จะต้องตรวจสอบก่อนว่าเป็นเจ้าของเว็บนั้นเป็นใคร ซึ่งจะตรวจสอบจากชื่อโดเมนว่าใครเป็นผู้ดูแลระบบหรือแอดมิน หากเป็นการตรวจสอบเฟซบุ๊กนั้น จะมีการขอข้อมูลจากทางเฟซบุ๊กหรือผู้ให้บริการออนไลน์ หรือมือถือของตัวจําเลยที่ถูกกล่าวหา

แบบที่สาม หากกรณีที่พิพาทนั้นไม่มีความชัดเจนจะมีการใช้กระบวนการที่เรียกว่านิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งในกรณีนี้จําเลยได้มีการยอมรับที่สถานีตํารวจแล้ว ว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กและได้โพสต์ข้อความนั้นจริง

ทนายจําเลยถามพยานว่าต่อว่า ข้อความทั้งหมดที่จำเลยโพสต์ ไม่ปรากฏโดเมนที่แสดงว่าเป็นของจําเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า นั่นเป็นเพียงรายละเอียดข้อความที่พิพาทกัน ไม่มีรายละเอียดข้อความทางเทคนิคแต่อย่างใด

หลังเสร็จสิ้นการเบิกความของพยานโจทก์เสร็จ ศาลนัดฟังพิพากษาในวันที่ 1 พ.ย. 64 เวลา 09.00 น.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ตัวแทน “บ.บุญรอดฯ” ยืนยันแก๊สน้ำตาถูกยิงมาจากฝั่งตรงข้าม ฟ้อง ‘สรญา’ เหตุโพสต์บิดเบือน ทำให้คนต่อต้านโจทก์

บ.บุญรอดฯ ฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ 4 ประชาชนโพสต์วิจารณ์ให้ ตร.ใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตาใน #ม็อบ17พฤศจิกา

ประมวลเหตุการณ์ 7 ชม. #ม็อบ17พฤศจิกา จนท.ตร.ฉีดน้ำแรงดันสูง ใช้แก๊สน้ำตา ขัดขวางการชุมนุมหน้ารัฐสภาของกลุ่มราษฎร

X