วันที่ 20 กันยายน 2564 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดไต่สวนมูลฟ้อง ในคดีที่บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสรญา ธนพุทธิสิริ ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เหตุจากกรณีสรญาวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊กว่า อาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ที่ทำการของบริษัท บุญรอดฯ ขณะที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณใกล้อาคารรัฐสภา #ม็อบ17พฤศจิกา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63
ทั้งนี้ บริษัท บุญรอดฯ มอบอำนาจให้นายสุรสิทธิ์ ทองจันทร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสรญาและประชาชน รวม 4 ราย ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้โดยตรง และศาลได้ทยอยนัดหมายเพื่อไต่สวนมูลฟ้องแต่ละคดี ว่าศาลจะรับฟ้องเป็นคดีอาญาหรือไม่ โดยสรญาเป็นจำเลยคนแรกที่ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องคดี
คำฟ้องของโจทก์ระบุว่าเธอได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนเบียร์” ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เป็นข้อความว่า “ไม่ทราบว่านี่กําแพง บ.บุญรอดรึเปล่าคะ แต่ตอนเราไลฟ์ เรายืนอยู่ตรงหน้าป้ายบ.บุญรอดบลิว” พร้อมทั้งอัพโหลดคลิปเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณถนนหน้าที่ตั้งสํานักงานใหญ่ของโจทก์ และต่อมาจำเลยยังได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะว่า ตนถูกข่มขู่จะฟ้องจากมีคลิปไลฟ์สดเหตุการณ์หน้าบริษัท บุญรอดฯ และโพสต์ข้อความแรก แต่ตนยืนยันว่าจะไม่ลบ ซึ่งโจทก์อ้างว่า ทั้งหมดเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและบิดเบือน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง
.
ตัวแทนบุญรอดฯ เป็นพยานโจทก์ยืนยันด้วยภาพ CCTV โจทก์ไม่เกี่ยวข้อง-เอื้อให้ตำรวจใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตา ชี้ถูกยิงมาจากฝั่งตรงข้าม
เวลาประมาณ 13.40 น. การไต่สวนมูลฟ้องเริ่มขึ้น เดิมทีโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสุรสิทธิ์ ทองจันทร์ เป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และในวันนี้นายสุรสิทธิ์ได้มอบอำนาจต่อให้นายศิริชัย เพ็งขำ เป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์แทน และนายศิริชัยได้อ้างตนเองเป็นพยานเพื่อเข้าเบิกความต่อศาลในวันนี้ด้วย
ระหว่างไต่สวนโจทก์ได้ส่งมอบพยานเอกสาร 9 ฉบับ และวัตถุพยาน 1 ชิ้น เป็นแผ่นซีดีบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุ
ทนายจำเลยได้ซักถามพยานในประเด็นข้อเท็จจริงต่างๆ โดยพยานได้เบิกความตอบว่า พยานเป็นพนักงานของบริษัทบุญรอดฯ มาแล้ว 17 ปี ซึ่งบริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้กับรัฐสภาเกียกกายโดยไม่มีถนนกั้นแต่อย่างใด พยานไม่ทราบว่าเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 ที่รัฐสภามีการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยปกติพยานมาทำงานเป็นประจำทุกวัน แต่ในวันเกิดเหตุพยานอยู่บริษัทเพียงแค่ช่วง 10.00 – 12.00 น. เท่านั้น เนื่องจากเหตุผลทางความปลอดภัยของบริษัท พยานจึงไม่รู้ว่าในวันดังกล่าวบริษัทได้เปิดทำการถึงเวลาใด และไม่ทราบว่าหลังพยานออกจากสำนักงานแล้วยังคงมีพนักงานคนใดหลงเหลืออยู่ด้านในหรือไม่ ที่ทำการบริษัทของพยานมีประตูเข้า-ออกทั้งหมด รวม 3 ประตู มีกล้องจับภาพวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมงอยู่ทั่วพื้นที่ของตัวอาคารทั้งด้านในและรอบนอก
พยานมีบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นของตัวเอง แต่ไม่เคยเข้าไปดูเพจเฟซบุ๊ก ‘ประชาชนเบียร์’ หรือเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลยแต่อย่างใด และเอกสารท้ายคำฟ้อง ซึ่งเป็นรูปภาพแสดงการคอมเมนท์ของจำเลยในเพจเฟซบุ๊กประชาชนเบียร์ และโพสต์ของจำเลยบนเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งมีข้อความตามที่โจทก์ฟ้องนั้น พยานไม่ได้เป็นผู้จัดทำขึ้นมา มีทีมงานคนอื่นเป็นผู้จัดทำ ซึ่งพยานจำไม่ได้ว่าเป็นใคร
ทนายจำเลยตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวปรากฏรูปโพสต์ของเพจเฟซบุ๊กประชาชนเบียร์เมื่อโพสต์ผ่านไปเป็นเวลา 32 นาที แต่รูปภาพการคอมเมนท์ของจำเลยนั้นจับภาพเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 3 – 4 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่ารูปภาพตามเอกสารดังกล่าวที่โจทก์ใช้เป็นหลักฐานไม่ได้ถูกจับภาพในเวลาเดียวกันและมาจากคนละแหล่งที่มากัน โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกัน พยานแถลงว่ารูปภาพที่ปรากฏตามเอกสารทั้งสองภาพเป็นการจับภาพคนละเวลากัน แต่จำเลยได้คอมเมนท์ข้อความอยู่ในโพสต์ในหน้าเดียวกัน
พยานเบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า เคยเห็นคลิปวิดีโอถ่ายทอดสด (Live) ที่จำเลยถ่ายทำอยู่บริเวณด้านหน้าป้ายของบริษัท บุญรอดฯ เพราะทีมงานเป็นผู้รวบรวมมาให้ดู ในวิดีโอดังกล่าวจำเลยยืนอยู่ด้านหน้าป้ายสำนักงานของพยานจริง
ทนายจำเลยถามว่า หลายปีมานี้เมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจมักขว้างปากระป๋องแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม เมื่อกระป๋องดังกล่าวตกหล่นบริเวณใดก็จะปรากฏควันสีขาวขุ่นพวยพุ่งออกมาจากกระป๋องนั้น ซึ่งจำเลยก็ได้โพสต์ว่าตนเองถูกแก๊สน้ำตาที่ออกมาจากบริเวณพุ่มไม้หน้าป้ายของบริษัท บุญรอดฯ แต่ไม่ได้ยืนยันว่าแก๊สน้ำตาดังกล่าวถูกยิงออกมาจากพื้นที่ด้านในของบริษัทใช่หรือไม่ พยานตอบแต่เพียงว่า ‘เป็นไปตามเอกสาร’
พยานเบิกความรับว่าจุดที่จำเลยยืนถ่ายทอดสดน่าจะเป็นจุดเดียวกันกับด้านหน้าป้ายบริษัท บุญรอดฯ และตามภาพที่ปรากฏในคลิปวิดีโอถ่ายทอดสดดังกล่าวน่าจะมีแก๊สน้ำตาตกหล่นอยู่บริเวณพุ่มไม้หน้าป้ายบริษัท บุญรอดฯ จริง
จากนั้นทนายโจทก์ได้ถามพยานว่า การดำเนินความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีจำเลยก่อนหน้านี้นั้น ผู้รับมอบอำนาจดำเนินการร้องทุกข์ คือ นายสุรชัย มั่นสินถาวร โดยในบันทึกแจ้งความดังกล่าวไม่ได้ระบุข้อหาแต่อย่างใด ใช่หรือไม่
ศิริชัยเบิกความตอบว่า การที่จำเลยโพสต์ถึงเนื้อหาที่บิดเบือนว่าบริษัท บุญรอดฯ ยินยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้พื้นที่เพื่อยิงแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนนั้น จำเลยไม่ได้ระบุว่าแก๊สน้ำตาดังกล่าวถูกยิงมาจากบริษัท บุญรอดฯ แต่เขียนอธิบายว่า ‘โดนแก๊สน้ำตาที่พวยพุ่งออกมาจากกำแพงพุ่มไม้บริษัท บุญรอดฯ’ ซึ่งคำว่า ‘พวยพุ่ง’ นั้นสามารถตีความได้ว่า ‘แก๊สน้ำตาถูกยิงออกมาจากบริษัท บุญรอดฯ’ ข้อความดังกล่าวทำให้ประชาชนที่ได้อ่านเกิดการเข้าใจผิด และต่อต้านบริษัท บุญรอดฯ รวมถึงสินค้าและบริการของบริษัท
โดยพยานโจทก์และทนายโจทก์อ้างว่า มีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุแสดงให้เห็นว่าบริเวณหน้าบริษัทไม่ได้มีการอำนวยความสะดวกหรืออนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาในบริเวณบริษัทเพื่อฉีดน้ำแรงดันสูงหรือน้ำผสมสารเคมี รวมถึงยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมแต่อย่างใด
ซึ่งหากดูจากทิศทางการเคลื่อนที่ของแก๊สในรูปภาพที่ส่งเป็นพยานหลักฐานให้กับศาล จะพบว่าแก๊สไม่ได้พุ่งออกมาจากที่ทำการบริษัท แต่มาจากฝั่งตรงข้ามของบริษัท จึงเห็นได้ว่าไม่ใช่การยิงมาจากข้างในบริษัทของโจทก์
หลังศิริชัยเบิกความจบ ทนายโจทก์แถลงว่า ฝ่ายโจทก์ยังมีพยานอีก 1 ปาก คือ พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมาเบิกความต่อศาลว่า หลักฐานที่โจทก์นำมาฟ้องร้องจำเลย ซึ่งมีทั้งรูปภาพการโพสต์และคอมเมนท์ รวมถึงคลิปวิดีโอไลฟ์สดของจำเลยนั้นไม่ได้ผ่านการปลอมแปลง แก้ไข หรือตัดต่อแต่อย่างใด โดยขอเลื่อนไปไต่สวนมูลฟ้องต่อในนัดหน้า
ด้านทนายจำเลยแถลงว่า ไม่มีความจำเป็นที่โจทก์จะนำสืบพยานปากดังกล่าวเพิ่มเติมอีก เนื่องจากจำเลยรับข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามพยานหลักฐานที่โจทก์รวบรวมมาทั้งหมดจริง และไม่มีการตัดต่อข้อความแต่อย่างใด
ต่อมาศาลมีคำสั่งยืนยันให้นัดไต่สวนมูลฟ้องอีก 1 นัด เพื่อไต่สวนพยานโจทก์เพิ่มเติมอีก 1 ปาก ในวันที่ 8 ต.ค. 64 เวลา 09.00 น.
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 63 ประชาชน 2 ราย ได้แก่ ธนากร ท้วมเสงี่ยม และงามแสนหลวง สิงห์เฉลิม ถูกพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 ว่า “เรื่องนี้บุญรอดต้องคําตอบให้ประชาชน ผมกําลังจะไปดูให้เห็นกับตา” พร้อมกับอัพโหลดรูปภาพป้ายของบริษัทฯ ผู้กล่าวหา ซึ่งมีข้อความว่า “แก๊สน้ำตายิงออกมาจากที่นี่ บริษัทนี้ให้ตํารวจเข้าไปข้างใน ยิงแก๊สน้ำตาออกมาใส่ประชาชน”
ต่อมา สุรสิทธิ์ ทองจันทร์ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้บริหารบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องประชาชน 4 ราย ได้แก่ ธนากร ท้วมเสงี่ยม, งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม, สรญา ธนพุทธิสิริ และมนต์ทิพา วิโรจน์พันธ์ุ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และฟ้องมนต์ทิพาข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอีก 1 ข้อหา
โดยระบุในคำฟ้องว่า “โจทก์ได้เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีต่อจำเลยจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่เนื่องจากพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้าประกอบกับโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีด้วยตนเองจึงนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาล”
พร้อมทั้งระบุในคำขอท้ายฟ้องจำเลยทั้งหมดว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยลบข้อความดังกล่าว และให้ลงประกาศขอโทษ พร้อมข้อความจริงตามที่โจทก์ร่าง และคำพิพากษา บนหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และในเฟซบุ๊กของจำเลยเป็นเวลา 30 วัน โดยให้จำเลยออกจากค่าโฆษณาเองทั้งหมด
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
บ.บุญรอดฯ ฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ 4 ประชาชนโพสต์วิจารณ์ให้ ตร.ใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตาใน #ม็อบ17พฤศจิกา