เสร็จสิ้นไต่สวนมูลฟ้องคดี บ.บุญรอด ฟ้อง “งามแสนหลวง-มนต์ทิพา” เหตุโพสต์ให้ ตร. ใช้พื้นที่ยิงแก็สน้ำตา-วิจารณ์ธุรกิจผูกขาด ศาลนัดฟังคำสั่งพรุ่งนี้

14 มี.ค. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องประชาชน 2 ราย ได้แก่ “งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม” ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เหตุโพสต์ข้อความกล่าวถึงกรณีอาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากบริษัทบุญรอดฯ ระหว่างการสลายการชุมนุมของราษฎรบริเวณใกล้รัฐสภา #ม็อบ17พฤศจิกา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 และ “มนต์ทิพา วิโรจน์พันธ์ุ” ในความผิดฐาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และ “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” กรณีโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆ ของบริษัทบุญรอด และการทำธุรกิจแบบผูกขาด ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีกระแสข่าวจากการชุมนุมดังกล่าว

หลังจากเสร็จสิ้นการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลนัดฟังคำสั่งในทั้งสองคดีพร้อมกันในวันที่ 18 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

>> บ.บุญรอดฯ ฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ 4 ประชาชนโพสต์วิจารณ์ให้ ตร.ใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตาใน #ม็อบ17พฤศจิกา

เสร็จสิ้นการนัดไต่สวนมูลฟ้อง “งามแสนหลวง” ทนายโจทก์ไม่ประสงค์สืบพยานเพิ่ม 

ในคดีของงามแสนหลวง ซึ่งถูกฟ้องว่าได้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เผยแพร่ข้อความว่า “แก๊สน้ำตาถูกยิงออกมาจากที่นี่ บริษัทนี้ให้ตำรวจเข้าไปยิงแก๊สน้ำตาออกมาใส่ประชาชน” และอัพโหลดรูปภาพป้ายชื่อบริษัทบุญรอดฯ ซึ่งโจทก์อ้างว่าทั้งหมดเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและบิดเบือน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง

คดีมีการไต่สวนมูลฟ้องครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 โดยมีศิริชัย เพ็งขำ พนักงานบริษัทบุญรอดฯ เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ดำเนินคดีแทน ได้อ้างตนเป็นพยานโจทก์ปากแรก

พยานปากนี้ เบิกความถึงการตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้ทวิตเตอร์ก่อนการดำเนินคดีนี้ว่า หลังจากพบข้อความดังกล่าว คณะทํางานของบริษัทโจทก์พบว่า มีบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์และบัญชีเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม’ ปรากฏชื่อนามสกุล และรูปถ่ายของจําเลยในคดีนี้ และพบว่าในบัญชีเฟซบุ๊กของจําเลยนั้น มีภาพถ่ายของจําเลยปรากฏในวันเดียวกับที่มีข้อความทวิตเตอร์ ซึ่งภาพถ่ายในเฟซบุ๊กดังกล่าวนั้นปรากฏข้อความประกอบว่า มีการยิงแก๊สน้ําตาใส่ผู้ชุมนุมที่แยกเกียกกาย 

บริษัทโจทก์จึงได้ไปดําเนินการร้องทุกข์ที่สถานีตํารวจนครบาลทองหล่อ ต่อมาพนักงานสอบสวน 

ได้ออกหมายเรียก และจําเลยได้ให้การว่า เป็นเจ้าของผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ดังกล่าว

พยานเบิกความต่อว่า ข้อความที่จําเลยทวิตนั้น ทําให้บริษัทโจทก์ได้รับความเสียหายโดยทําให้ขาดความน่าเชื่อถือ ทําให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า โจทก์เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งข้อความของจําเลยได้ถูกเผยแพร่ต่อไปโดยทวิตเตอร์ที่ชื่อ ‘พรรคพลังประชารัชดา 5 แยกลาดพร้าว’ และเฟซบุ๊กชื่อว่า ‘ประชาชนเบียร์’ ทําให้เกิดกระแสในการงดบริโภคสินค้าของโจทก์อีกด้วย

ทั้งนี้ พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 แต่ได้มอบหมายให้พนักงานคอยเฝ้าระวังและติดตามการชุมนุมอย่างใกล้ชิดผ่านกล้องวงจรปิด เพราะเกรงว่าจะเกิดความเสียหายต่อบริษัทและทรัพย์สินของบริษัท ก่อนจะนำมารายงานให้พยานทราบภายหลัง โดยที่ประตูทุกบานของบริษัทฯ ถูกปิด เพื่อไม่ให้มีบุคคลภายนอกเข้าออก โดยภาพจากกล้องวงจรปิดปรากฏว่า แก๊สน้ําตานั้นพุ่งมาจากทางอื่น ที่ไม่ใช่บริษัทโจทก์

บริษัทโจทก์ได้ออกแถลงการณ์อย่างทันทีว่า โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงและการยิงแก๊สน้ําตาจากเจ้าหน้าที่ตํารวจใส่ผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ผ่านสื่อออนไลน์และหนังสือพิมพ์หลากหลายช่องทาง แต่จําเลยไม่ได้ลบข้อความของจําเลยออกจากทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กแต่อย่างใด 

ทนายจำเลยถามค้านว่า เกี่ยวกับบัญชีทวิตเตอร์ของจําเลยใช้ชื่อ ‘งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม’ ซึ่งเกิดจากการตรวจสอบพบของคณะทํางานของโจทก์ โดยปกติแล้วบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์จะมีแอดขั้นกลางระหว่างชื่อหน้าและชื่อหลังใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ตนไม่ทราบในทางเทคนิค

หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานปากนี้ ฝ่ายโจทก์ยังแถลงว่าจะมีพยานอีก 2 ปาก ได้แก่ พยานผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ และพยานผู้จัดทำเอกสารหลักฐานโจทก์ แต่ในวันที่ 14 มี.ค. 2565 โจทก์ได้แถลงหมดพยานแล้ว พร้อมขอยื่นคำแถลงการณ์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อศาลเพิ่มเติมภายใน 20 วัน 

จากนั้น ศาลเห็นว่าพยานบุคคลและพยานเอกสารที่โจทก์นำเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้นครบถ้วนและเพียงพอต่อการพิจารณา คดีนี้จึงเป็นอันเสร็จการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลนัดฟังคำสั่งต่อไปในวันที่ 18 มี.ค. 2565 เวลา 9.00 น.

ผู้จัดการผลิตน้ำดื่มสิงห์คดี “มนต์ทิพา” อ้างกรณีวิจารณ์ผลิตภัณฑ์ของบริษัท มีเจตนาให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง

ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ที่ห้องพิจารณา 402 ศาลนั่งบัลลังก์นัดไต่สวนมูลฟ้องในคดีของมนต์ทิพา วิโรจน์พันธ์ุ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” กรณีโพสต์ในบัญชีเฟซบุ๊กหลายโพสต์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 มีใจความวิพากษ์วิจารณ์คุณภาพของผลิตภัณฑ์น้ำดื่มสิงห์ของบริษัทบุญรอดฯ และการทำธุรกิจแบบผูกขาด โดยมีข้อความที่ระบุถึงการนำน้ำที่เหลือจากกระบวนการกลั่นเบียร์มาใช้ทำน้ำดื่มด้วย

พยานโจทก์ปากแรกคือ วัชรพล สาสน์นที ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับน้ำดื่ม เบิกความว่าตนได้ทำงานกับบริษัทบุญรอดฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2538 จนถึงปัจจุบัน โดยมีตำแหน่งเป็นฝ่ายผู้จัดการผลิตน้ำดื่ม มีหน้าที่คอยควบคุมการผลิตน้ำดื่มตั้งแต่ต้น

พยานได้เบิกความถึง กระบวนการผลิตน้ำดื่มของบริษัทบุญรอดฯ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรนานาชาติ ไม่เคยได้รับการร้องเรียนเรื่องคุณภาพของน้ำ หรือถูกร้องเรียนว่าเป็นน้ำที่เกิดจากการกลั่นเบียร์แต่อย่างใด ข้อความของจำเลยจึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของโจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง

ต่อมา ทนายโจทก์ถามพยานว่า โรงงานผลิตน้ำดื่มกับโรงงานผลิตเบียร์ตั้งอยู่คนละที่ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ โดยโรงงานผลิตน้ำดื่มมี 7 แห่ง และโรงงานผลิตเบียร์มี 3 แห่ง แต่โรงงานผลิตเบียร์บางที่ ก็มีการผลิตน้ำดื่มด้วยเช่นกัน

ทนายจำเลยได้ถามค้านว่า พยานได้ทำงานประจำสาขาไหนและมีโรงงานตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง พยานตอบว่า พยานทำงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ สาขาวังน้อย ในส่วนของโรงงานนั้นตั้งอยู่ในหลายจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, สิงห์บุรี, มหาสารคาม, ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น โดยโรงงานอื่นๆ เหล่านี้ พยานไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบ เพราะจะมีผู้จัดการฝ่ายผลิตของแต่ละโรงงานคอยดูรับผิดชอบอยู่แล้ว 

ทนายจำเลยถามค้านว่า เกี่ยวกับเว็บไซต์น้ำดื่มสิงห์ได้ปรากฎว่า มีคนเข้ามาถามถึงคุณภาพของน้ำว่า ‘ทำไมน้ำดื่มสิงห์ถึงมีรสหวาน’ และทางเว็บไซต์ได้ตอบกลับไปว่า ‘น้ำสิงห์มีรสชาติเฉพาะตัว’ ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามค้านต่ออีกว่า การที่ผู้บริโภคจะรับรู้รสชาติของน้ำว่าเค็มหรือหวานนั้น ขึ้นอยู่กับการรับรสของแต่ละบุคคลใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่

ทนายจำเลยถามว่า โรงงานที่มีการผลิตทั้งเบียร์และน้ำดื่มตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง พยานตอบว่า ตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดขอนแก่น 

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า กรณีที่โรงงานมีการผลิตทั้งเบียร์และน้ำดื่มจากที่เดียวกัน อาจทำให้บุคคลทั่วไปเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามีการใช้วัตถุดิบร่วมกันได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าบุคคลทั่วไปไม่น่าจะทราบถึงกระบวนการผลิตดังกล่าว 

ทนายจำเลยถามค้านว่า น้ำดื่มที่หมดอายุจะมีคุณภาพลดลง รสชาติ สี และกลิ่น จะเปลี่ยนไปใช่หรือไม่ พยานตอบว่าอายุของน้ำดื่มมีระยะเวลา 2 ปี หลังจากที่ผลิต ส่วนสีและกลิ่นจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่พยานไม่ทราบ 

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ในแง่การเก็บรักษา หากตัวแทนจำหน่ายเก็บรักษาน้ำดื่มไว้ในสภาพไม่เหมาะสมอาจจะทำให้คุณภาพน้ำลดลงใช่หรือไม่ และควรเก็บน้ำดื่มให้ห่างจากความร้อน เพราะอาจส่งผลให้มีกลิ่นเหม็น พยานยืนยันว่าน้ำดื่มสามารถเก็บรักษาไว้ได้ 2 ปี และต้องให้ห่างจากความร้อนด้วย 

ทนายโจทก์ถามติงว่าโรงงานผลิตน้ำทุกโรงงานใช้มาตราฐานเดียวกันใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

ทนายโจทก์ถามติงต่อว่า หากมีการเปิดฝาขวดน้ำทิ้งไว้ คุณภาพน้ำจะเสื่อมเร็ว เพราะมีการปนเปื้อนถูกต้องหรือไม่ พยานตอบว่าใช่ 

หลังเสร็จสิ้นการเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้ โจทก์แถลงหมดพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลจึงนัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 18 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ บริษัทบุญรอด มีการฟ้องร้องประชาชนรวมท้้งหมด 4 ราย ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ กรณีจากการโพสต์ข้อความในลักษณะดังกล่าว โดยมีการไต่สวนมูลฟ้องแยกเป็นรายคดีไป โดยมีคดีของสรญา ที่ศาลเห็นว่าฟ้องมีมูล จึงได้มีกำหนดนัดสืบพยานต่อไปในวันที่ 1-2 มิ.ย. 2565 ขณะที่คดีของธนากร แอดมินเพจ “ประชาชนเบียร์” ศาลกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องพยานโจทก์อีกปากในวันที่ 28 มี.ค. 2565 นี้

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ไต่สวนมูลฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ แอดมิน ‘ประชาชนเบียร์’ โพสต์ ‘บ.บุญรอด’ ให้ตร.ใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตา 

ตัวแทน “บ.บุญรอดฯ” ยืนยันแก๊สน้ำตาถูกยิงมาจากฝั่งตรงข้าม ฟ้อง ‘สรญา’ เหตุโพสต์บิดเบือน ทำให้คนต่อต้านโจทก์

X