คสช. กับการแทรกแซงกิจการตำรวจ : เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเป็นพนักงานสอบสวน (1)

คสช. กับการแทรกแซงกิจการตำรวจ : เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเป็นพนักงานสอบสวน (1)

กระแสการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมอย่างการปฏิรูประบบการกำหนดโทษทางอาญา การปฏิรูประบบงานสอบสวนและการปฏิรูปการประกันตัวโดยใช้มาตรการทดแทนการขังระหว่างพิจารณา กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมอีกครั้ง หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 เฉพาะการประเด็นการปฏิรูประบบงานสอบสวน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานของตำรวจ กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนและเป็นประเด็นเร่งด่วนซึ่งถูกมองว่าควรได้รับการปฏิรูปทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารปี 2557 มาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า 3 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาทองของการออกกฎหมาย ทั้งจากสภานิติบัญญัติ (สนช.) เเละจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรูปแบบประกาศเเละคำสั่งกว่าร้อยฉบับที่มีผลเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ บริหารเเละตุลาการอย่างสิ้นเชิง โครงสร้างและระบบของหน่วยงานใหญ่ที่สุดที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่มีข้อยกเว้น

เเม้การใช้อำนาจพิเศษตามกระบวนการพิเศษอย่างการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่จะมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและระบบสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลายส่วน แต่ประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้รับการพูดถึงมากนักเมื่อเทียบกับความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมาย/ออกประกาศหรือคำสั่ง อันเป็นการติดอาวุธให้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหาร ในการทำหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งจับกุม ตรวจค้น ควบคุมตัว สอบถามข้อมูล รวมไปถึงการสอบสวน ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายภาคส่วนไม่เห็นด้วยเเละเรียกร้องให้ยกเลิกเพราะเห็นว่าเป็นการเปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อตัวผู้ต้องสงสัยโดยขาดการตรวจสอบถึงที่มาของการใช้อำนาจเเละการเยียวยาหากมีความเสียหายเกิดขึ้น

แท้จริงแล้ว เหตุผลหนึ่งของการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการสอบสวนหรือแม้แต่การปฏิรูปตำรวจ ก็เพราะเกิดปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนใช้มาตรการบังคับทางอาญาดังกล่าวข้างต้นไปละเมิดสิทธิของผู้ต้องสงสัยหรือผู้ถูกกล่าวหา ยิ่งเมื่อมีการขยายอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ยิ่งอาจทำให้ปัญหาทับซ้อน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ก่อนที่จะเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการสอบสวนหรือการปฏิรูปตำรวจ ควรทบทวนให้เห็นถึง “ตัวผู้มีอำนาจใช้มาตรการทางอาญา” ตามกฎหมายปกติก่อนว่ามีใครบ้าง เเละอยู่ในส่วนไหนของกระบวนการยุติธรรมปัจจุบัน ซึ่งควรต้องย้อนไปพิจารณาถึงที่มาของตัวผู้มีอำนาจใช้มาตรการทางอาญาเดิม หรือ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เเละการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจนั้นท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองในเเต่ละยุคสมัย

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในวันแถลงข่าวกการจับกุมผู้ต้องหาคดีแอดมินแฟนเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์”

ที่มาตำรวจไทย : จากภารกิจรักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ขยายสู่ภารกิจรักษาความปลอดภัยของประชาชนเเละงานความมั่นคง

กิจการตำรวจหรืองานตำรวจ (Policing) เป็นหนึ่งในภารกิจงานสาธารณะที่ดำเนินการโดยรัฐ เเทบทุกรัฐในโลกนี้ต่างมีระบบงานตำรวจเพื่อตอบสนองต่อภารกิจรักษาความปลอดภัยแก่พลเรือนในรัฐนั้น ประเทศไทยก็เช่นกัน หากเเต่ระบบงานตำรวจที่อยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาขึ้นมาพร้อมกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งเเต่สมัยรัชกาลที่  4 จนกระทั่งเกิดการปฏิรูปขนานใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเเรกของการก่อตั้งกิจการตำรวจ รูปแบบการคัดเลือก การฝึกกำลังพลเเละการเเต่งตั้งข้าราชตำรวจยังอยู่ภายใต้ระบบเดียวกับทหารผ่านการบังคับใช้พระราชบัญญัติทหารเกณฑ์ พ.ศ.2448 ต่อมากิจการตำรวจได้รับการขยายให้ครอบคลุมไปถึงการป้องกันและปราบปรามโจรผู้ร้ายในบริเวณพื้นที่ห่างไกล จึงมีการเพิ่มกำลังพลตำรวจเเละกำหนดให้กิจการตำรวจในยุคนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของสองกระทรวง คือ กระทรวงนครบาล (กรมพลตระเวน หรือ ตำรวจนครบาล) และกระทรวงมหาดไทย (กรมตำรวจภูธร) เเละเพื่อให้ภารกิจดังกล่าวลุล่วง กิจการตำรวจจึงถูกผนวกเข้าเป็นหนึ่งในงานของหน่วยปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในปี 2465 ทั้งสองกระทรวงถูกยุบรวมเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน คือ กระทรวงมหาดไทย

กระทั่งปี 2475 ระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทยถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหากเเต่ภายใต้การนำของคณะราษฎร นับตั้งเเต่วันที่ 24 มิถุนายน กรมตำรวจภูธร ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น กรมตำรวจ และตามประกาศเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ พ.ศ.2475 กิจการตำรวจถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ประกอบด้วยหน่วยบริหารงานส่วนกลาง ตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรเเละตำรวจสันติบาล ต่อมาในปี 2541 ก็มีพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ให้ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติและมีระบบบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

ช่วงระยะกว่าหนึ่งร้อยปีนับตั้งเเต่รัฐไทยเริ่มจัดกิจการตำรวจอย่างเป็นระบบ เป็นที่น่าสังเกตว่าการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มักมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองการปกครอง เช่นเดียวกับการกระทำรัฐประหารซึ่งนำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ประกาศ คสช.เเละคำสั่ง คสช.หลายฉบับมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกิจการตำรวจ ทั้งการเพิ่มอำนาจองค์กร การโยกย้ายและเเต่งตั้งบุคคลากร ตลอดทั้งการมอบหมายงานซึ่งควรจะเป็นภารกิจของตำรวจให้เจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐในภาคส่วนอื่นเป็นผู้ปฏิบัติการแทน

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกิจการตำรวจโดยการใช้อำนาจของ คสช. จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่งานตำรวจไทยในปัจจุบันเป็นงานที่นอกจากมีเพื่อป้องกันเเละปราบปรามอาชญากรรมอันเป็นส่วนหนึ่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเเล้ว แนวคิดเเละภารกิจงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้หลักนิติรัฐและระบอบประชาธิปไตยยังได้รับการขยายให้ครอบคลุมไปถึงการรักษาความสงบเรียบรอยสาธารณะ การปกปองและเคารพสิทธิเสรีภาพของปจเจกชนอีกด้วย

11. ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังอยู่ในช่วงต้นของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยังมีข้อเสนอให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปกิจการตำรวจด้วย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอทบทวนภาพรวมของ “ข้อเสนอให้ปฏิรูปกิจการตำรวจ” ทั้งก่อนเเละหลังการรัฐประหารปี 2557  รวมทั้งนำเสนอคำสั่งเเละประกาศบางฉบับที่ิออกในนามคสช.เเละโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 อันมีผลที่อาจเรียกได้ว่า “ปฏิรูปกิจการตำรวจ” ไปบางส่วนเเล้ว ดังรายละเอียดต่อไปนี้

กิจการตำรวจก่อนรัฐประหาร 2557 : กระเเสเรียกร้องให้ปฏิรูปกิจการตำรวจทั้งระบบและปฏิรูปงานสอบสวนให้เป็นอิสระ

ตลอดระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ มีข้อเสนอจากทั้งนักวิชาการ หรือเเม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เองเรียกร้องให้ปฏิรูปงานตำรวจทั้งระบบ โดยเฉพาะงานสอบสวนที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ เพราะยังคงประสบกับปัญหาความไม่เป็นอิสระเนื่องจากถูกเเทรกเเซงทั้งในการรวบรวมพยานหลักฐานและการใช้ดุลพินิจสั่งคดี ทำให้งานสอบสวนซึ่งเปรียบเหมือนต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเปลี่ยนจากกระบวนการค้นหาความจริง (examination) เป็นกระบวนการเค้นหาความจริง พยานหลักฐานในสำนวนถูกอ้างว่าได้มาด้วยวิธีการไม่ชอบ เช่น คำให้การจากผู้ต้องหาที่ถูกซ้อมทรมาน ข้อมูลที่ผู้ต้องหาให้ก่อนได้รับเเจ้งสิทธิ รวบรวมเข้าไปในสำนวนสอบสวน หรือแม้กระทั่งการไม่รวบรวมพยานหลักฐานทางอิเลคทรอนิคส์ หรือใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ปลอมเพื่อเบี่ยงเบนรูปคดีก็เคยเกิดขึ้นมาเเล้ว

เเน่นอนว่าเมื่อข้อมูลชุดนี้ถูกส่งต่อไปยังชั้นอัยการ บุคลากรที่มีอำนาจหน้าที่ว่าจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่อย่างพนักงานอัยการเองก็แทบไม่สามารถก้าวล่วงไปร่วมค้นหาความจริงกับพนักงานสอบสวนได้ เพราะรูปแบบงานที่เเยกส่วนกัน ยิ่งไปกว่านั้น หากพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี บุคลากรที่ใช้อำนาจตุลาการอย่างผู้พิพากษา ซึ่งควรเป็นผู้ใช้อำนาจเพื่อตรวจสอบความจริง กลับได้รับมาซึ่งชุดข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพเเละไม่ตั้งอยู่บนหลักการสอบสวนที่ดีและเป็นอิสระเเต่เริ่มเเรก จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่มักเริ่มต้นจากงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ จนสุดสายพานที่การบังคับคดี กลับไม่สามารถคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียหายเเละเป็นการคาดหวังเกินไปอย่างยิ่งที่จะให้กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบมีผลเป็นการฟื้นฟูเเละเยียวยาสังคม

เมื่อกิจการตำรวจกลายเป็นงานที่มีปัญหาทั้งระดับโครงสร้าง บุคลากร และการปฏิบัติงาน จึงมีการศึกษาถึงสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่เเท้จริงขององค์กรได้ โดยหลักคือปัญหาโครงสร้างองค์กรที่มีขนาดใหญ่เเละรวมงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจเอาไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะทำให้การปฏิบัติงานล่าช้ายังมีปัญหาการแทรกแซงการบริหารงานภายในของตำรวจด้วยรูปแบบคณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการตำรวจ (ก.ตร.) ประกอบกัับระบบบริหารงานตำรวจยังมีลักษณะคล้ายทหาร ตัดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและองค์กรภายนอกอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ออกจากระบบตรวจสอบการปฏิบัติงาน จึงทำให้การปฏิรูปตำรวจแทบเป็นไปไม่ได้ตามข้อเสนอเเนะจากหลายองค์กรหรือเเม้กระทั่งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง

เฉพาะในงานสอบสวน นอกจากปัญหาเรื่องแทรกแซงการปฏิบัติงานและการใช้ดุลพินิจในการทำความเห็นทางคดีของพนักงานสอบสวนตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในอดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันแล้ว พนักงานสอบสวนยังประสบกับปัญหาภาระงานล้นมือ ประกอบกับเมื่อเเยกส่วนงานสอบสวนออกจากงานสืบสวน ทำให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นจับกุมหรือในที่เกิดเหตุได้อย่างครบถ้วน และด้วยโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติปัจจุบันที่เเยกออกจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมและกำกับดูเเลเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองโดยตรง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถปฏิบัติงานในเชิงป้องกันอาชญากรรมควบคู่กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องให้พิจารณาอย่างเข้มงวดถึงคุณวุฒิเเละความเป็นมืออาชีพของพนักงานสอบสวนในปัจจุบัน โดยมีข้อเสนอจากนักวิชาการเเละพนักงานสอบสวนเองขอให้พนักงานสอบสวนต้องมีคุณวุฒิปริญญาตรีทางกฎหมายเเละต้องมีคุณวุฒิปริญญาโททางกฎหมายหรือประกาศนียบัตรเนติบัณฑิตพิจารณาประกอบกับจำนวนปีซึ่งปฏิบัติงานในสายสอบสวนเพื่อประกอบการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานสอบสวนบางส่วนยังเสนอให้เเยกการบริหารงานสอบสวนออกเป็นอิสระทั้งในรูปแบบที่อยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือแม้กระทั่งเเยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอดทั้งกระจายภารกิจงานสอบสวนให้หน่วยงานที่มีความถนัดเฉพาะงาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อทั้งกิจการตำรวจเเละงานสอบสวนต่างเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กระเเสเรียกร้อง ข้อเสนอรวมทั้งเเนวทางการปฏิรูปจึงได้รับการศึกษา ค้นคว้า ถกเถียงตลอดจนโต้เเย้งมาเป็นระยะเวลากว่าสิบปี จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร เมื่อปี 2557 ทุกอย่างจึงถูกระงับและในท้ายที่สุดปัญหาในกิจการตำรวจเเละข้อเสนอเรื่องงานสอบสวนก็ถูกจัดเข้าระบบในแนวทางการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับกิจการของตำรวจ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 และมาตรา 260

การแทรกเเซงงานตำรวจของ คสช.ผ่านทั้งคำสั่งและประกาศหลังรัฐประหาร 2557

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แม้ในการกระทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 คสช.จะอ้างว่าทำเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นภายใต้ระบบบริหาร นิติบัญญัติเเละตุลาการ เเต่ไม่นานนัก กิจการตำรวจและงานสอบสวนภายใต้การจัดการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับเป็นหนึ่งในภารกิจที่ คสช.ใช้กระบวนการพิเศษเเละอำนาจพิเศษ ทั้งในนาม คสช.เเละในนามหัวหน้าคสช.ซึ่งอ้างตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช  2557 แทรกแซงทั้งในระดับโครงสร้างและการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีข้อสังเกตว่าคำสั่งและประกาศซึ่งมีผลต่อกิจการตำรวจสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

คำสั่งเเละประกาศของ คสช.ที่มีผลเป็นการแทรกเเซงโครงสร้างกิจการตำรวจและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น

(ก) การกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ซึ่งต้องปฏิบัติการตามเนื้อหาในคำสั่งหรือประกาศของ คสช.เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นพนักงานฝ่่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(ข) การกำหนดให้ยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวนเเละกำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติศึกษาเเนวทางการปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ ทั้งนี้ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกิจการตำรวจที่จะจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 260 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 

(ค) การกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะในบางความผิดตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งหัวหน้า คสช.

พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ

คำสั่งและประกาศของคสช.ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงภารกิจของตำรวจ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรม เช่น

(ก) การกำหนดให้เฉพาะคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ในกรณีไม่เเน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือกองบัญชาการเดียวกันควรเป็นพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวน ให้ผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนนั้นเป็นผู้ชี้ขาด

(ข) การกำหนดให้ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการ เป็นผู้ที่มีอำนาจตรวจสำนวนเเละคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ ถอนฎีกา ของพนักงานอัยการซึ่งไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด

(ค) การกำหนดให้พนักงานสอบสวนสามารถส่งสำนวนสอบสวนให้พนักงานอัยการได้โดยไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาไปพร้อมกันด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตตลอดทั้งข้อเสนอแนะเฉพาะในข้อ 1 เรื่องคำสั่งเเละประกาศของ คสช.ที่มีผลเป็นการแทรกเเซงโครงสร้างกิจการตำรวจและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า มีคำสั่งและประกาศมากกว่า 10 ฉบับ ที่กำหนดให้บุคคลอื่น ซึ่งเเม้จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ทหาร เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามรายละเอียดในคำสั่งและประกาศของ คสช.และในขณะที่ปฏิบัติการนั้น ให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและ/หรือเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่สอดคล้องอย่างยิ่งกับโครงสร้างเเละวัตถุประสงค์หลักของการมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายในสังคมประชาธิปไตยภายใต้หลักนิติรัฐ เพราะตามหลักการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะอยู่ในฐานะผู้รักษากฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนและต้องสามารถตรวจสอบได้จากทั้งประชาชนเเละผู้เเทนประชาชน นอกจากนี้ งานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้รับความเป็นอิสระอย่างเพียงพอจากรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเองสามารถคัดค้านคำสั่งหรือการใช้อำนาจที่มิชอบด้วยกฎหมายได้

พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพนำตัวนายบุรินทร์ อินตินส่งพนักงานสอบสวน ปอท.

เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารถูกกำหนดให้เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอาญาและผู้ดำเนินการตามวิธีพิจารณาความอาญาเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงหมายความว่า เจ้าหน้าที่ทหารกำลังแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อยสาธารณะเเละการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเเน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ทหารผู้นั้นไม่มีความเป็นอิสระจากรัฐ ในที่นี้หมายถึงองค์กร คสช.เเละกองทัพต้นสังกัดในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว นอกจากนี้ ในท้ายของคำสั่งเเละประกาศหลายๆ ฉบับกลับกำหนดให้การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารได้รับการยกเว้นความรับผิดทั้งการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายจากศาลหรือเเม้เเต่การเรียกร้องให้รับผิดทางเเพ่งเเละอาญาจากผู้เสียหายในระหว่างปฏิบัติการ ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลที่หลายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกมาโต้เเย้ง โดยเฉพาะผลของการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่อ้างว่ามีขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เเละคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 แต่กลับมีรายงานถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางรวมไปถึงการดำเนินคดีต่อกลุ่มบุคคลที่เเสดงความคิดเห็นหรือต่อต้าน คสช.อีกด้วย

กล่าวโดยรายละเอียด ตามคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าวให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย/เจ้าพนักงานป้องกันเเละปราบปราม ใช้มาตรการบังคับทางอาญาแก่บุคคลโดยอาศัยเพียงว่ามีเหตุต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามฐานความผิดที่ระบุไว้ในคำสั่งนั้นๆ ซึ่งมาตรการบังคับทางอาญาหลายอย่างเช่น การค้นบุคคลหรือยานพาหนะ การค้นเพื่อหาพยานหลักฐานในที่รโหฐาน หรือเเม้เเต่การยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พบจากการค้นเหล่านี้ ตามกระบวนการปกติในประมวลกฎหมายอาญาต้องขอหมายจากศาล เพราะต้องเป็นไปตามหลักการที่ว่าการกระทำใดของรัฐที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิประชาชน เจ้าหน้าที่ต้องยกเหตุตามกฎหมายขึ้นอ้างเเละต้องผ่านการพิจารณาหรือทบทวนความชอบของเหตุจากองค์กรภายนอก เช่น องค์กรตุลาการ

เมื่อเจ้าหน้าที่พิเศษตามกฎหมายทั้งสองฉบับสามารถกระทำได้การดังกล่าวโดยไม่ต้องขอหมายศาล ผลจึงเป็นออกมาเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งบางกรณีร้ายเเรงถึงขั้นกล่าวอ้างว่ามีอำนาจลอยๆ เเต่ไม่ระบุว่าเป็นการใช้อำนาจตามคำสั่งฉบับใด โดยท้ายที่สุดเเล้วกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจไม่เกิดขึ้นจริง จนต่อยอดให้วัฒนธรรมยกเว้นความรับผิดเกิดคู่ขนานกับเหตุละเมิดสิทธิครั้งเเล้วครั้งเล่า

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงมีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า ควรยกเลิกประกาศเเละคำสั่งของ คสช.ที่มีผลเป็นการมอบหมายภารกิจงานตำรวจแก่เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งรวมถึงการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เเละคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เพื่อคงไว้ซึ่งหลักการความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเเละป้องกันมิให้เกิดการส่งเสริมวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในกลุ่มเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว นอกจากนี้ ความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งและประกาศของ คสช.ที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปต้องมีการบันทึกไว้เพื่อการเรียกร้องให้มีการเยียวยาในอนาคตอันเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการกระบวนการปรองดอง

ประเด็นที่ 2 การกำหนดให้ยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2559 กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติศึกษาเเนวทางการปฏิรูปตำรวจทั้งระบบเพื่อเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกิจการตำรวจที่จะจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 260 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  พิจารณา และก่อนหน้านี้  คสช.กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะในบางความผิดตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งหัวหน้า คสช.มาเเล้ว โดยเฉพาะตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559

กล่าวคือ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กำหนดให้มี “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ซึ่งหมายความถึงข้าราชการทหารระดับชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปที่ได้รับการเเต่งตั้งจากหัวหน้า คสช.สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในความผิดตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งดังกล่าว (ได้แก่ความผิดตามมาตรา 107 ถึงมาตรา 112  และความผิดตามมาตรา 113 ถึงมาตรา 118 ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดอันเกี่ยวกับอาวุธปืนฯ และความผิดอันเกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช.) ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อหาที่คล้ายคลึงกันกับคำสั่งดังกล่าวยังปรากฏในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 เเต่เปลี่ยนชื่อเรียกทหารที่ปฏิบัติเป็น “เจ้าพนักงานป้องกันเเละปราบปราม” โดยให้มีอำนาจสอบสวนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาบางฐานเเละความผิดตามพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาจำนวน 27 ฉบับ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ภายหลังจากการกระทำรัฐประหารในปี 2557 ปัญหาเฉพาะเจาะจงที่เกิดกับงานสอบสวนยิ่งเพิ่มมากขึ้นและมักเกิดขึ้นเมื่อมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เคยมีหรือยังมีบทบาททางการเมืองและผู้ที่ไม่เห็นด้วยการทำรัฐประหาร เช่น นักกิจกรรม นักศึกษา นักสิทธิมนุษยชน ทนายความ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งสื่อมวลชนหรืิอเเม้กระทั่งครอบครัวของบุคคลดังกล่าว ซึ่งหลายกรณีมีการเเจ้งข้อกล่าวหาโดยปราศจากเหตุตามกฎหมายและเกิดเพียงเพราะบุคคลนั้นใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือชุมนุมโดยสงบ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. อีกทั้งยังมีการดำเนินคดีกับทนายความที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิให้แก่ลูกความด้วยความผิดตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย  ซึ่งเเน่นอนว่าในตัวอย่างที่ยกมา เจ้าหน้าที่ทหารในนามเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเจ้าพนักงานป้องกันเเละปราบปรามก็อาจเข้าเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนั้นได้ ด้วยผลของคำสั่งสองฉบับข้างต้น

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการของการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามามีบทบาทในการสอบสวน คือ ในบางคดีเเม้พนักงานสอบสวนจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเเต่กลับรวบรวมเอาข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบถามข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ทหารช่วงระหว่างการควบคุมตัว 7 วัน (ซึ่งอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558) เข้าไปในสำนวนสอบสวนด้วย หรือเเม้กระทั่งการอ้างว่าข้อมูลที่ได้ระหว่างการสอบถามโดยทหารชอบด้วยกฎหมายเเละสามารถนำไปใช้ประกอบสำนวนการสอบสวนได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่งอยู่ด้วยเเละถือว่ารับทราบ/รับฟังเเล้ว เหล่านี้ ล้วนเเล้วเเต่ผิดหลักการสอบสวน ละเลยขั้นตอนการเเจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหาเเละทำให้กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือรองรับการรวบรวมพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพียงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่อาจส่งผลระยะยาวยังเกิดขึ้นอีกเมื่อหัวหน้า คสช.ออกคำสั่งให้ยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวนในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ตามคำสั่งที่ 7/2559 หมายความว่า นับจากนี้ ตำแหน่งพนักงานสอบสวนจะไม่ถูกจำกัดว่าต้องเป็นตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเท่านั้น การกำหนดให้บุคคลใดเป็นพนักงานสอบสวนสามารถกระทำได้เเม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ใช่บุคคลากรที่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกระทรวงมหาดไทย และสามารถกระทำได้เเม้บุคคลนั้นจะไม่เคยผ่านหรือมีประสบการณ์ในงานสอบสวนมาเลย เพียงเเต่กำหนดบุคคลนั้นให้มีอำนาจหน้าที่ตรงกับนิยามคำว่าพนักงานสอบสวนในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็เพียงพอ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เเม้อาจจะกล่าวได้ว่าสอดรับกับข้อเสนอบางส่วนที่มีมาก่อนหน้ารัฐประหาร ที่ขอให้มีการกระจายภารกิจงานบางประเภทให้หน่วยงานเฉพาะด้านมีหน้าที่สืบสวนและสอบสวนเอง เเต่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ทำให้ข้อเสนอนั้นบรรลุตลอดทั้งกระบวนการ เพราะเพียงเเต่การยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวนเเต่ไม่มีการตระเตรียมให้หน่วยงานเฉพาะกิจตามที่ระบุไว้ได้มีการเตรียมหน่วยงานเเละบุคลากรเพื่อทำงาน จึงย่อมไม่เกิดผลตามวัตถุประสงค์ในข้อเสนอเเต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยการสั่งยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวนในพระราชบัญญัติตำรวจ พ.ศ.2547ยังเป็นการใช้เทคนิคในการบัญญัติกฎหมายเพื่อปลดล๊อคให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการเเต่งตั้งเป็นพนักงานสอบสวนตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เเละตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 สามารถกล่าวอ้างได้ว่าเป็นพนักงานสอบสวนได้ตรงตามนิยามในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ชอบด้วยกฎหมายเเละไม่แทรกแซงความเป็นอิสระในเชิงโครงสร้างสายงานของพนักงานสอบสวนอีกต่อไป

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยนชนยืนยันว่า การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่พลเรือนเป็นผู้ถูกกล่าวหาและการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการตามคำสั่งของ คสช.บางฉบับเป็นเจ้าพนักงาน พนักงานตำรวจหรือฝ่ายปกครอง ยังเป็นการแทรกแซงงานซึ่งควรเป็นภารกิจของตำรวจอย่างร้ายเเรง ซึ่งหมายความว่าหลักความเป็นอิสระและความสามารถในการตรวจสอบถ่วงดุลของทั้งองค์กรตำรวจเเละงานตำรวจย่อมถูกเเทรกเเซงไปด้วย ผลที่ตามมาเมื่อองค์กรที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายถูกปรับโครงสร้างเเละขยายภารกิจให้ คสช.ใช้อ้างเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของประเทศ การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งการจับกุม การค้น การควบคุมตัว หรือการดำเนินคดีต่อบุคคลย่อมเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

ดังนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า หากหน่วยงานตำรวจต้องการปฏิรูปองค์กรของตนเองอย่างจริงจัง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ คสช.ยกเลิกการใช้อำนาจ โดยเฉพาะตามมาตรา 44  แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในการออกคำสั่งที่มีผลเป็นการแทรกเเซงกิจการตำรวจหรือหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่น การใช้อำนาจเพื่อการปฏิรูปที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเเละละเว้นต่อความรับผิดชอบต่อศาล ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปโดยชอบด้วยกฎหมาย เเละเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่ปฏิบัติการตามอำนาจนั้น ก็ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่ากระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายได้เช่นกัน

X