เปิดบันทึกสืบพยานคดี พ.ร.บ.คอมฯ ‘สรญา’ โพสต์มีแก็สน้ำตายิงออกมาจากบริษัทบุญรอด #ม็อบ17พฤศจิกา

ในวันที่ 17 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สรญา (สงวนนามสกุล) ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เหตุจากโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊ก กรณีอาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ที่ทำการของบริษัท ขณะที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณใกล้อาคารรัฐสภา #ม็อบ17พฤศจิกา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 หลังจากมีการไต่สวนนัดมูลฟ้อง และศาลเห็นว่ามีมูล ก่อนมีการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 1-2 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา

คำฟ้องของโจทก์ระบุว่า สรญาได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนเบียร์” ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เป็นข้อความว่า “ไม่ทราบว่านี่กําแพง บ.บุญรอดรึเปล่าคะ แต่ตอนเราไลฟ์ เรายืนอยู่ตรงหน้าป้าย บ.บุญรอดบลิว” พร้อมทั้งอัพโหลดคลิปเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณถนนหน้าที่ตั้งสํานักงานใหญ่ของโจทก์ และต่อมาจำเลยยังได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะว่า ตนถูกข่มขู่จะฟ้องจากมีคลิปไลฟ์สดเหตุการณ์หน้าบริษัท บุญรอดฯ และโพสต์ข้อความแรก แต่ตนยืนยันว่าจะไม่ลบ ซึ่งโจทก์อ้างว่า ทั้งหมดเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและบิดเบือน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนประเด็นการต่อสู้ในคดีนี้ และปากคำของพยานที่เบิกความระหว่างการพิจารณาคดีก่อนฟังคำพิพากษา

.

ภาพรวมการสืบพยาน: จำเลยยืนยันข้อความเป็นการรายงานตามข้อเท็จจริงที่ตนไ้ด้ประสบ 

ที่ห้องพิจารณา 402 ก่อนเริ่มการสืบพยาน ทนายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 3 ปาก ประกอบด้วย ศิริชัย เพ็งขำ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์, ผู้รวบรวมพยานหลักฐานของบริษัทโจทก์, เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ ผู้รับแจ้งความ

ส่วนฝ่ายจำเลยได้นำพยานเข้าเบิกความ 3 ปาก คือ ตัวจำเลยเอง, นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์ 

เกี่ยวกับประเด็นข้อต่อสู้ ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า ข้อความของจำเลยเป็นการโพสต์บิดเบือน แม้เป็นการโพสต์ข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามคลิป ทำให้บริษัทโจทก์เกิดความเสียหายด้านการลงทุนของบริษัทบุญรอดฯ ย้ำโจทก์เป็นกลางทางการเมือง ไม่ได้เอื้อให้ตำรวจใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตา 

ขณะที่ข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยคือ โพสต์ดังกล่าวเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงตามสิ่งที่ตนเห็น ไม่ได้มีเจตนาทำให้บริษัทโจทก์เสื่อมเสียเชื่อเสียง 

.

ตัวแทนบุญรอดฯ ยืนยันโจทก์ไม่เกี่ยวข้อง-เอื้อให้ตำรวจใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตา ระบุมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด 

ศิริชัย เพ็งขำ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เดิมทีโจทก์ได้มอบอำนาจจากนายสุรสิทธิ์ ทองจันทร์ แล้ว โจทก์ทราบว่าจำเลย และประชาชนอีก 2 ราย ได้แก่ “งามแสนหลวง” และ “ธรกร ท้วมเสงี่ยม” ซึ่งถูกฟ้องแยกไป ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน และจำเลยยอมรับว่าตนเป็นผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว 

เกี่ยวกับหลักฐานการดำเนินคดี ทีมงานของบริษัทได้เป็นผู้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ได้มีการดัดแปลงแต่อย่างใด

ก่อนเกิดเหตุข้อพิพาทในคดีนี้ พยานไม่รู้จักและไม่เคยดูเพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนเบียร์” และเฟซบุ๊กของจำเลย แต่เมื่อเกิดเหตุเผยแพร่ข้อความ พยานจึงได้เข้าไปดูในเฟซบุ๊ก แล้วพบว่ามีการเผยแพร่ข้อความตามฟ้องจริง

ก่อนหน้าวันที่ 17 พ.ย. 2563 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ พยานทราบว่าจะมีการชุมนุมบริเวณถนนหน้ารัฐสภา เกียกกาย และถนนหน้าบริษัทบุญรอดฯ ผู้บริหารจึงได้ออกมาตรการในการรับมือต่อเหตุการณ์ โดยให้พนักงานกลับบ้านก่อนเวลาเพื่อความปลอดภัย และได้ปิดประตูทั้ง 3 ของบริษัท ตลอดเวลาที่มีการชุมนุมดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า 

ทั้งนี้ พยานเป็นผู้ได้สั่งการทีมงานให้ดูแลรักษาความปลอดภัย คอยรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้แก่บริษัท และผู้บริหาร รับทราบ การประสานงานเพื่อรายงานเหตุการณ์มี เจ้าหน้าที่ รปภ. และพนักงานฝ่ายอาคารรักษาสถานที่ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ประจำอยู่ในพื้นที่บริษัท เป็นผู้แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่พยาน

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน โจทก์ได้ฟ้องผู้เป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนเบียร์” ด้วย และทราบว่าภายหลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ขณะนี้โจทก์กำลังอุทธรณ์คดี และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

.

พยานโจทก์เบิกความ ‘สรญา’ โพสต์บิดเบือน สร้างความเสียหายด้านการลงทุนของบริษัท   

เอกสิทธิ สุนทรนนท์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารข้อมูลข่าวสารและธุรกิจและสังคม ทำงานกับบริษัทบุญรอด มาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเป็นผู้รวบรวมเอกสาร โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 พยานได้พบข้อมูลเฟซบุ๊กเพจ “ประชาชนเบียร์” และมีการลงข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับการสลายชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ซึ่งมีพื้นที่ใกล้เคียงกับบริษัท โดยเพจดังกล่าวได้ลงข้อมูลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง 

ก่อนพบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้เข้ามาในเพจและโพสต์ข้อความ ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอ ซึ่งมีลักษณะบิดเบือนไปจากความจริง โดยโพสต์ว่า ‘แก๊สน้ำตายิงออกมาจากที่นี้ บริษัทนี้ให้ตำรวจเข้าไปข้างใน ยิงแก๊สน้ำตาออกมาใส่ประชาชน’ และโพสต์ภาพหน้าป้ายบริษัท 

พยานเบิกความอีกว่า จำเลยได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ในลักษณะว่า ตนถูกข่มขู่จะฟ้องจากคลิปไลฟ์สดเหตุการณ์หน้าบริษัท บุญรอดฯ และยืนยันว่าจะไม่ลบ การกระทำของจำเลยดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียหายในด้านของการลงทุน 

พยานเบิกความว่า เมื่อมีข่าวที่บิดเบือนต่อข้อเท็จจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ย่อมทำให้นักลงทุนอาจจะชะลอการตัดสินใจที่จะร่วมลงทุน หรือเปลี่ยนใจที่จะไม่ร่วมลงทุนกับบริษัทโจทก์ ความเสียหายอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องของการประกอบการโดยตรง ผู้ที่พบเห็นข้อมูล อาจเข้าใจและหลงเชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริง ทำให้เกิดการเชิญชวนกันยกเลิก หรือเลิกที่จะซื้อสินค้าของบริษัท ซึ่งต่อมาก็มีการโพสต์หรือการแบนสินค้าของบริษัทโจทก์ นอกจากนี้บริษัทโจทก์มีปรัชญาการทำธุรกิจว่า “เป็นกลางทางการเมือง” การกระทำของจำเลย ก่อให้เกิดการโจมตีบริษัท

โจทก์ได้ทำแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ทางบริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อความที่โพสต์ว่ามีการให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ในสถานที่เพื่อยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม โดยแถลงการณ์ออกเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2563 เมื่อโจทก์ได้แถลงข้อมูลให้ประชาชนทราบแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมลบข้อมูลดังกล่าว

.

เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้รับแจ้งความ ระบุจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความจริง

พ.ต.ท.ชัยพร นิตยภัตร์ พนักงานสอบสวน สภ.บ่อวิน เบิกความว่า เมื่อปี 2563 พยานปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานตำรวจอยู่ที่ สน.ทองหล่อ ตำแหน่งสารวัตรสอบสวน 

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 ขณะที่พยานปฎิบัติหน้าที่ มีนายสุรัตน์ มั่นศรีถาวร มาแจ้งความต่อพยานว่า ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทโจทก์ มาขอแจ้งความดำเนินคดีกับสรญา ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พยานได้สอบปากคำผู้แจ้งความไว้

ต่อมา พยานได้ออกหมายเรียกสรญา ให้เข้าพบ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 และพยานได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบ โดยแจ้งข้อเท็จจริงให้ทราบว่าจำเลยได้โพสต์เกี่ยวกับบริษัทโจทก์ เรื่องเหตุการณ์เกี่ยวกับแก็ซน้ำตา ซึ่งขณะเบิกความนี้ พยานจำรายละเอียดไม่ได้แล้ว แต่จำเลยให้การยอมรับว่า เป็นผู้โพสต์จริง แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นบริษัทโจทก์

.

‘สรญา’ ชี้ข้อความที่โพสต์เป็นการบอกเล่าเหตุการณ์การชุมนุม ไม่ได้มีเจตนาโจมตีบริษัทบุญรอดฯ 

สรญา (สงวนนามสกุล) เป็นพนักงานรับจ้างที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง ทำงานในประเด็นปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ในเด็ก เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 จำเลยเข้าไปร่วมชุมนุมหน้ารัฐสภา ย่านเกียกกาย ระหว่างการชุมนุมมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก และมีเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวาย ตอนนั้นจำเลยเดินไปหน้ารัฐสภา และได้ยินมีคนตะโกนว่ามีแก็สน้ำตา ตอนนั้นกลัวว่าจะเกิดอันตราย จำเลยจึงไลฟ์ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ เพื่อบอกครอบครัวและเพื่อนๆ ให้ทราบว่าตนอยู่ที่ไหน

ระหว่างเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย จำเลยไม่ทราบว่าตนอยู่ทิศทางไหน เพราะเป็นคนต่างจังหวัด เพื่อนที่มาร่วมชุมนุมด้วยกันตะโกนบอกว่าแก๊สน้ำตามันมาจากท่อ จำเลยจึงไลฟ์สดและพูดว่าแก๊สน้ำตามาจากท่อ ภายหลังมาย้อนดูวิดีโอไลฟ์สดถึงได้เห็นว่าเป็นบริษัทโจทก์ รวมถึงกล้องที่ไลฟ์สดอยู่ ได้ถ่ายวนไปรอบๆ ไม่ได้เจาะจงจุดใด เพียงแต่เห็นว่าแก็สน้ำตาที่พวยพุ่งขึ้นมานั้น มาจากกำแพงตรงบริษัทบุญรอดฯ 

ต่อมา วันที่ 18 พ.ย. 2563 จำเลยจึงไปแสดงความคิดเห็นบนแถลงการณ์บริษัทบุญรอดฯ ที่เพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนเบียร์” แชร์โพสต์มา บอกเล่าว่าจำเลยอยู่ในเหตุการณ์จริง ไม่ได้มีเจตนาโจมตีบริษัท ภายหลังจากแสดงความคิดเห็นใต้แถลงการณ์แล้ว มีบุคคลอ้างว่าเป็นผู้จัดการบริษัท บอกว่าหากไม่หยุดทำแบบนี้ จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จำเลยจึงได้โพสต์ข้อความว่า ตนถูกข่มขู่จะดำเนินคดีบนเฟซบุ๊กส่วนตัว 

ทั้งนี้ จำเลยเบิกความว่า คำว่า ‘พวยพุ่ง’ หมายถึง ควันพุ่งออกมา ไม่ได้หมายความว่ามีวัตถุพุ่งออกมาจากบริษัทโจทก์แต่อย่างใด 

ช่วงทนายโจทก์ถามค้านจำเลย จำเลยเบิกความโดยสรุปว่า จำเลยเห็นควันแก็สน้ำตาพวยพุ่งมาจากหน้าบริษัทบริษัท แต่ทั้งนี้รั้วของบริษัทมีทั้งพุ่มไม้ด้านในและด้านนอก จำเลยจึงไม่ทราบว่าควันพุ่งมาจากตรงไหน 

นอกจากนี้ ในวันเกิดเหตุ จำเลยไม่ทราบว่าบริษัทบุญรอดอยู่ติดกับรัฐสภา โดยเพิ่งจะทราบในภายหลัง ขณะที่จำเลยยืนไลฟ์สดอยู่หน้ากำแพงรั้วประตู 2 หน้าบริษัท พยานไม่ทราบว่าประตู 2 อยู่ติดกับรัฐสภาหรือไม่ และจำเลยได้เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และให้การว่าเป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง แต่ทำโดยสุจริต 

ช่วงทนายจำเลยถามติง สรญาเบิกความเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ตนไม่ทราบว่าควันพวยพุ่งออกมาจากรั้วด้านในหรือด้านนอกของบริษัทโจทก์ เพราะว่าพยานถูกแก็สน้ำตา ทำให้แสบตาและหายใจไม่ออก

.

พยานความเห็นชี้ ข้อความและคลิปของจำเลยเป็นเพียงการบอกข้อเท็จจริงตามประสาทสัมผัส

ชยพล ใจสูงเนิน ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านครุศาสตร์ ได้เบิกความให้ความเห็นว่า คำว่า ‘พวยพุ่ง’ ตามหลักภาษาไทย เป็นคำกิริยาขยายคำว่า ‘แก็สน้ำตา’ ซึ่งเป็นคำขยายที่ไม่สามารถระบุได้ว่าใครทำ หรือทำด้วยเหตุอะไร 

หลังจากพยานดูทั้งคลิปและข้อความของจำเลยแล้ว เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของจำเลย เป็นการบอกเล่าข้อเท็จจริงที่สังเกตได้ จากประสาทสัมผัสด้วยตาว่ามีควัน, ควันมีลักษณะอย่างไร, พุ่งออกมาจากจุดใด เป็นการพูดข้อเท็จจริงด้วยประสาทสัมผัส ไม่สามารถอนุมานได้ว่าใครเป็นคนทำในทันที

.

ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต เบิกความว่าตนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ปริญญาโทสาขาปัญญาประดิษฐ์เอไอ ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในขณะที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 พยานได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ 

เกี่ยวกับตรวจพิสูจน์หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น พยานเบิกความว่าเว็บไซต์และเว็บเพจนั้นต่างกัน โดยเว็บไซต์จะตั้งอยู่ที่ตัวของอินเตอร์เน็ตเหมือนตึก  ส่วนเว็บเพจจะเป็นสิ่งที่อยู่ย่อยๆ ลงไปในตึกของตัวเว็บไซต์ 

กรณีของเฟซบุ๊กเป็นเว็บไซต์ เมื่อมีคนมาโพสต์เรื่องราวต่างๆ สิ่งนั้นจะกลายเป็นเว็บเพจ หากมีผู้ต้องการเข้าไปดูในเว็บไซต์ ก็จะมีที่อยู่ของเว็บเพจนั้นๆ หรือที่เรียกว่า URL 

นอกจากนี้ เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นหน้าเพจเฟซบุ๊กนั้น เป็นการเรียงลำดับแสดงความคิดเห็น หากไม่ได้ไปตั้งค่าใดๆ ลำดับความเห็นก็จะเรียงตามความนิยม ไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา ผู้ที่เข้าไปอ่านหน้าเพจเฟชบุ๊ก ผู้ใช้จะต้องตั้งค่าเอง หากไม่ได้ตั้งค่า เฟซบุ๊กก็จะเรียงลำดับคอมเมนท์ตามความนิยม ซึ่งสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา 

หลังเสร็จสิ้นการเบิกความของพยานโจทก์เสร็จ ศาลนัดฟังพิพากษาในวันที่ 17 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ กรณีที่มีการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ของบริษัทบุญรอดฯ ขณะที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณใกล้อาคารรัฐสภา #ม็อบ17พฤศจิกา ดังกล่าว มี สุรสิทธิ์ ทองจันทร์ เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้บริหารของบริษัทบุญรอดฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องประชาชน 4 ราย ได้แก่ ธนากร ท้วมเสงี่ยม, งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม, มนต์ทิพา วิโรจน์พันธ์ุ และสรญา ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และ ฟ้องมนต์ทิพา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เพิ่มอีก 1 ข้อหา 

ก่อนหน้านี้ ศาลได้รับฟ้องไปทั้งหมดรวม 3 คดี ได้แก่ คดีของสรญา, งามแสนหลวง, มนต์ทิพา ทั้งหมดต้องไปสู้คดีในชั้นศาลต่อไป โดยมีเพียงคดีของธนากร ที่ศาลมีคำวินิจฉัยยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แต่ขณะนี้ทางฝ่ายโจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลต่อมา

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรับฟ้องคดี ‘บ.บุญรอดฯ’ กล่าวหา ‘สรญา’ โพสต์บิดเบือน ทำให้คนเชื่อว่า แก๊สน้ำตายิงมาจาก บ.บุญรอดฯ

บ.บุญรอดฯ ฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ 4 ประชาชนโพสต์วิจารณ์ให้ ตร.ใช้พื้นที่ยิงแก๊สน้ำตาใน #ม็อบ17พฤศจิกา

.

X