6 นักกิจกรรมเชียงใหม่ถือป้าย “ปฏิรูปสถาบันตุลาการ” เข้าปฎิเสธข้อหา “ดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ” จากกิจกรรมประท้วงตัดสิน 8 ปี ประยุทธ์

วันที่ 22 พ.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ 6 นักศึกษา-นักกิจกรรม ได้แก่ สิทธิ์พร ดิษฐเจริญ, ณัฏฐชัย ศรีเจริญ, พิชญ์สินี ชัยทวีธรรม, วิทยา ไชยคําหล้า, ธีราภรณ์ พุดทะสี และ ธนาดล จันทราช ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกข้อกล่าวหา “ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ในคดีที่มีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายมนตรี แดงศรี เป็นผู้กล่าวหา จากการทำกิจกรรมประท้วงศาลรัฐธรรมนูญกรณีวินิจฉัยคดี 8 ปี การดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ 

บรรยากาศก่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาได้มีกลุ่มประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจประมาณ 20 คน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางแผงเหล็กกั้นโดยรอบตึก สภ.เมืองเชียงใหม่ พร้อมวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในและนอกเครื่องแบบราว 30 คนไว้โดยรอบ 

ด้านผู้ต้องหาบางส่วน เมื่อเดินทางมาถึง สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้ทำการกางแผ่นป้ายข้อความว่า “ปฎิรูปสถาบันตุลาการ” แต่ทางตำรวจได้เข้าไปห้ามโดยแจ้งว่าไม่ให้กางภายในเขตสถานีตำรวจ จนเกิดการยื้อแย่งกันอยู่ช่วงหนึ่ง และผู้ต้องหาอีกส่วนหนึ่งได้ทำการแสดงสดโดยการลากศาลพระภูมิที่ผูกติดกับโซ่เข้ารายงานตัว แต่ทางตำรวจไม่ให้นำเข้าไปภายในสถานี ผู้ต้องหาจึงทำการทุบทำลายศาลพระภูมิบริเวณหน้าสภ.เมืองเชียงใหม่ และยังมีการแสดงโดยนำสีแดงมาทาบนร่างกาย จุดเทียน และกางป้ายข้อความดังกล่าว ก่อนทั้งหมดเข้าไปในอาคารสถานี

.

.

ในการแจ้งข้อกล่าวหา ร.ต.ท.อภิวัฒน์ กุลดี พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี และคณะพนักงานสอบสวนอีก 5 นาย ได้ทำการแจ้งพฤติการณ์ต่อผู้ต้องหา มีเนื้อหาโดยสรุปว่า 

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยการดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบวาระ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 กลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยได้มีการจัดกิจกรรม “ รามาตุลาการ ” บริเวณลานสังคีต อ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการกล่าวปราศรัยถึงการไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 

ต่อมาในวันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก “กลุ่มทะลุ มช. Thalu CMU” และ “ชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ได้เผยแพร่ภาพกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ที่สวมใส่หน้ากาก นําหุ่นผ้าสีขาว โดยใช้รูปภาพใบหน้าของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกระดาษพิมพ์ข้อความแสดงออกต่อการตัดสินคดีของศาล และแขวนหุ่นผ้าสีขาว บริเวณตรงข้ามภาควิชาเวชศาสตร์และครอบครัว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ตรงข้ามปั้มน้ำมันสาขาวัดโลกโมฬี และลานเอนกประสงค์ประตูท่าแพ 

ตำรวจจึงได้ตรวจยึดหุ่นผ้าสีขาวดังกล่าวจํานวน 17 ตัวไว้ และทําการตรวจสอบผู้ร่วมกันกระทำการดังกล่าว ซึ่งทําให้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงความน่าเชื่อถือขององค์กร ทําลายความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรที่ใช้อํานาจฝ่ายตุลาการ ในระบบการยุติธรรมของประเทศสําหรับการพิจารณา พิพากษา หรือวินิจฉัยคดี อันถือเป็นหลักสําคัญในการดํารงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคมและประเทศชาติ

ตำรวจได้แจ้งข้อหา “ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1–7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000–140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ด้านผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ได้ให้การปฎิเสธข้อกล่าวหา ก่อนที่ทั้งหมดจะถูกให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม โดยใช้เครื่องพิมพ์ลายนิ้วมืออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่ต้องพิมพ์กับหมึกพิมพ์อีก หลังจากนั้นตำรวจจึงปล่อยตัวกลับ พร้อมนัดหมายเพื่อส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 22 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ต่อไป 

เมื่อเสร็จสิ้นการรับทราบข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนได้ออกมาอ่านแถลงการณ์ “ศาลที่ไม่อาจเคารพ” บริเวณหน้า สภ.เมืองเชียงใหม่ มีเนื้อหาโดยสรุปกล่าวถึงความอยุติธรรมภายหลังการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นเวลา 9 ปีที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีและตัดสินคดีของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพจำนวนมาก ก่อนตะโกนคำว่า “ปฎิรูปสถาบันตุลาการ” แล้วเดินทางกลับ 

.

.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเมื่อปี 2563 เป็นต้นมา มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นศาล ตามมาตรา 198 ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองนี้ ไปแล้วจำนวนอย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

คดีโดยส่วนใหญ่เป็นข้อพิพาทกับศาลยุติธรรม แต่มีอยู่ 1 คดีที่มีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กล่าวหามาก่อนแล้ว ได้แก่ คดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากกรณีโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ 2 ข้อความในช่วงเดือนธันวาคมปี 2563 คดีนี้มี มนตรี แดงศรี รับมอบอำนาจสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นผู้กล่าวหาเช่นกัน โดยพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว เนื่องจากพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ข้อหาดูหมิ่นศาลฯ เดิมนั้น เคยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท แต่อัตราโทษได้ถูกแก้ไขเพิ่มขึ้นโดยคณะรัฐประหารหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 เช่นเดียวกับมาตรา 112

>> ย้อนอ่าน 10 เรื่องควรรู้ว่าด้วยข้อหา “ดูหมิ่นศาล”

.

X