เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 64 ผู้ช่วยเลขาธิการแห่งองค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่รายงานประจำปี 2564 เรื่อง การคุกคาม การข่มขู่ หรือ การตอบโต้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ ให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ ระบุประเทศที่มีวิธีปฏิบัติที่น่าละอาย ดังกล่าวกว่า 38 ประเทศรวมประเทศไทยด้วย มี 29 ประเทศ ที่ถูกขึ้นบัญชีจากกรณีใหม่ๆ ที่พบเจอ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลและประณามการคุกคาม ข่มขู่ และการตอบโต้เหล่านี้อย่างต่อเนื่องทั้งจากรัฐบาลและบุคคลหรือกลุ่มที่มิใช่รัฐด้วย
ในรายงานได้ระบุถึงกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและเคยอยู่ในรายงานฉบับก่อนๆ มาตั้งแต่ปี 2561 ได้แก่ ในกรณีของ อังคณา นีละไพจิตร ซึ่งถูกข่มขู่ทางอินเตอร์เน็ตอย่างต่อเนื่องจากการรับเงินทุนจากกองทุนสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมาน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาไทย (ยุยงปลุกปั่น) และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 (ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน5คน) จากการเข้าร่วมการประชุมกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 33 ในเดือนก.ย. 59 และกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือน มี.ค. 60 และกรณีของ อ๊อด ไชยวงศ์ ผู้ลี้ภัยชาวลาว “กลุ่มเสรีลา” ที่ถูกบังคับให้สูญหายไปหลังจากเข้าติดต่อประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญพิเศษเมื่อเดือน มี.ค. 62
การคุกคาม ข่มขู่ และใส่ร้ายทางออนไลน์ นักปกป้องสิทธิฯ และอดีตคณะกรรมการสิทธิฯ “อังคณา” อย่างต่อเนื่อง
ในรายงานช่วงระหว่างปี 2560 ถึง 2563 ระบุถึงข้อกล่าวหาที่มีการคุกคาม ข่มขู่และการใส่ร้ายทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ต่ออังคณา นีละไพจิต นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เก็บข้อมูลการซ้อมทรมานและการปฏิบัติไม่ชอบของทหารในภาคใต้และเป็นผู้รับเงินทุนจากจากกองทุนสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมาน (UN Voluntary Fund for Victims of Torture)
ซึ่งวันที่ 4 พ.ย. 63 อังคณาได้ยื่นฟ้องเอาผิดสำนักนายกรัฐมนตรีและกองทัพบก ในฐานะที่มีความเชื่อมโยงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ต่อศาลแพ่ง กรณีมีข้อเท็จจริงที่ได้อภิปรายในรัฐสภา ว่ามีการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ทางโลกออนไลน์โดยงบประมาณรัฐ ผ่านทางเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com เพื่อให้มีการลบข้อมูลต่างๆ ออก โดยมีกำหนดการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 12 ต.ค. 64 หลังจากเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
ในกรณีของอังคณานั้น ในเอกสารสื่อสารขององค์กรสหประชาชาติออกโดยผู้เชี่ยวชาญพิเศษและคณะทำงานสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 60 ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2560 มีเฟซบุ๊คเพจเผยแพร่โพสต์ที่มีเนื้อหาใส่ร้ายและโจมตีอังคณาว่า ทรยศประเทศชาติ และมีการแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ในลักษณะข่มขู่คุกคาม โจมตีการทำงานในฐานะที่เป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือในกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 60 หลังจากองค์กรถูกลดระดับลงจากสถานะ A เป็นสถานะ B ที่มีความหมายในเชิงว่า มีคณะกรรมการบางคนเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการลดระดับสถานะลงเนื่องจากทำงานให้กับต่างชาติซึ่งเป็นบ่อนทำลายประเทศชาติ ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏชื่อของอังคณา แต่เธอก็ตกเป็นเป้าหมายในแถลงการณ์นี้
รวมถึงระบุว่าเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 60 บางสำนักข่าวรายงานว่า อังคณาได้แสดงความคิดเห็นให้กำลังใจผู้ต้องหาคดีฆ่าและอำพรางศพ โดยมีประชาชนทั่วไปทำการแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ในเชิงข่มขู่ ซึ่งในภายหลังเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 60 อังคณาได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทำให้มีการลบรูปและข่าวดังกล่าวออกไป
การดำเนินคดีต่อทนายสิทธิฯ “ศิริกาญจน์” ด้วย ม. 116-คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 หลังเข้าประชุมกับคณะมนตรีสิทธิฯ ที่ยูเอ็น
รายงานในช่วงระหว่างปี 2561 ถึง 2563 ระบุถึงการที่รัฐดำเนินคดีต่อ “ทนายจูน” ศิริกาญจน์ เจริญสิริ นักกฎหมายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ด้วยข้อหามาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 จากการเข้าร่วมการประชุมกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 33 เมื่อเดือน ก.ย. 59 และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือน มี.ค. 60 ซึ่งมีการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในช่วงการบังคับใช้คำสั่ง คสช. กฎอัยการศึก และกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมอย่างสันติ เมื่อเดือน มิ.ย. 58 ซึ่งเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วหลังจากที่พนักงานสอบสวนเริ่มดำเนินคดี
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ก.ค. 63 ทางรัฐบาลไทยได้มีการส่งจดหมายตอบผู้เชี่ยวชาญพิเศษว่า การดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญาต่อ ศิริกาญจน์ นั้นไม่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมประชุมกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของเธอเมื่อปี 59 พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าว่าคดีที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหา ปลุกปั่น ยุยง ถูกส่งต่อจาก สน. สำราญราษฎร์ไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อเดือน เม.ย. 63 ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา และทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังรอการตอบกลับจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ว่าจะมีการดำเนินคดีในข้อหาอื่นๆ อีกหรือไม่
ทั้งนี้ ศิริกาญจน์ ถูกดำเนินคดีดังกล่าวหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ เข้าติดตามสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยก่อนหน้านี้เธอถูกแจ้งความดำเนินคดีมาแล้ว ในข้อหากระทำความผิดฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 142 และมาตรา 368 ในประมวลกฎหมายอาญา จากการทำหน้าที่ทนายความปกป้องสิทธิของลูกความโดยการไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นรถของตน โดยไม่มีหมายค้น เพื่อยึดโทรศัพท์มือถือของนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 คน ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 62 อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี คดีนี้จึงยุติไป
นายอ๊อด ไชยวงศ์ มีรายงานถูกบังคับให้สูญหาย หลังเข้าพบผู้เชี่ยวชาญพิเศษยูเอ็น ยังไม่มีความคืบหน้า
ในรายงานปี 2563 มีการระบุถึงรายงานการถูกบังคับสูญหายของ อ๊อด ไชยวงศ์ ผู้ลี้ภัยชาวลาวที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพและเป็นสมาชิก “กลุ่มเสรีลาว” หลังจากการเข้าพบกับผู้เชี่ยวชาญพิเศษเรื่องความยากจนแร้นแค้นและสิทธิมนุษยชน (UN special rapporteur on extreme poverty and human rights) เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 62
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 63 มีการรายงานโดยคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญพิเศษว่า ยังไม่มีความคืบหน้าในการค้นหาและสืบสวนสอบสวนในกรณีนี้ โดยรัฐบาลไทยรายงานว่าคดีนี้ถูกส่งต่อจากสถานีตำรวจบึงกุ่มไปยังทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 63 กรมสอบสวนคดีพิเศษเชิญให้ครอบครัวและญาติของนายอ๊อด เดินทางเข้าพบเพื่อขอเก็บดีเอ็นเอ และเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 63 ทางรัฐบาลได้ตอบกลับคณะทำงานและผู้เชี่ยวว่า ได้ดำเนินการเพียงส่งต่อคดีนี้ให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้องแล้ว
องค์การสหประชาชาติยังกังวลการไม่ทราบที่อยู่และชะตากรรมของอ๊อด ไชยวงศ์ โดยคณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติยังคงติดตามการหายตัวไปของนายอ๊อดไว้ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม
และจากข้อมูลที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับ เมื่อเดือน พ.ค. 64 เผยว่า ตำรวจยังไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนหาความจริงและยังไม่มีหลักฐานใหม่ๆ ปรากฎขึ้น รวมถึงการที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยขาดมาตรการการคุ้มครองพยาน จึงทำให้ทางครอบครัวของนายอ๊อดไม่ได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการสิทธิฯ ของไทย แม้ว่าคณะกรรมการสิทธิฯ จะมีหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศก็ตาม
องค์การสหประชาติติดตามพฤติกรรมประเทศน่าละอายเพื่อประกันความปลอดภัยของภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
การรายงานของสหประชาชาติ เรื่องการคุกคาม การข่มขู่ หรือ การตอบโต้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ ในประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยระบุลักษณะที่ถูกละเมิดและประเทศที่มีวิธีปฏิบัติที่น่าละอายนี้ เป็นกลไกส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความร่วมมือระหว่างพลเมืองโลกกับสหประชาชาติผ่านกลไกสิทธิมนุษยชนในทุกระดับ
หัวหน้าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวในงานเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า “การให้ข้อมูลของภาคประชาสังคมเป็นการสนับสนุน การช่วยเหลือ และการทำให้สมบูรณ์ในภารกิจของคณะมนตรีฯ และเป็นการรับประกันว่าการปรึกษาหารือในกลไกสิทธิมนุษยชนมีขึ้นอย่างครอบคลุมทุกประเด็น” การเฝ้าติดตามวิธีปฏิบัติที่น่าละอายของประเทศสมาชิกนี้ถือเป็นภารกิจหนึ่งของสหประชาชาติ “เพื่อรับประกันความปลอดภัยต่อพื้นที่ของภาคประชาสังคม และเพื่อป้องกันสิทธิขององค์กรพัฒนาเอกชน/ องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่แสวงหาความร่วมมือกับสหประชาชาติและกลไกสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติ”