เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีอย่างเด็ดขาดของพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ในคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกกล่าวหาในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” กรณีโพสต์วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอัยการวินิจฉัยว่าคดีพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหา
คดีนี้มี นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มอบอำนาจให้ ส.ต.ท.มนตรี แดงศรี มาเป็นผู้กล่าวหาพริษฐ์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 “ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือการกระทำการขัดขวางพิจารณาหรือพิพากษาของศาล” จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กเพจมีข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ 2 ข้อความ ในช่วงวันที่ 2 ธ.ค. 2563 หลังจากศาลมีคำวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรี จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไปแล้ว
ต่อมา พริษฐ์ถูกพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เข้าแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างถูกคุมขัง เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 โดยเขาเพิ่งทราบว่าถูกศาลอาญาออกหมายจับ โดยที่ตำรวจไม่เคยเดินทางเข้ามาแจ้งข้อกล่าวหาจนกระทั่งมีรายงานว่าเขาจะได้รับการประกันตัว
>> ตร.ทุ่งสองห้อง เข้าแจ้งข้อหา “เพนกวิน” คดีดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ ถึงในเรือนจำ
.
.
ล่าสุด พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้อย่างเด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 แจ้งมายังพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง
เนื้อหาคำวินิจฉัยที่เห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ ระบุว่าคดีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำให้การของ พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร สารวัตรกองกำกับการ 3 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้ทำการสืบสวนและทำรายงานผลการตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” ให้การยืนยันว่า IP Address ที่ใช้โพสต์ข้อความดังกล่าวนั้น มีผู้ใช้งานในเวลาเดียวกันจำนวน 232 ราย แต่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ลงชื่อเข้าใช้งานและหมายเลข IP Address ของบัญชีดังกล่าวได้ เนื่องจากผู้ให้บริการเป็นของ Facebook ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ ประกอบกับบัญชีเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว มีผู้ดูแลเพจหลายคน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นบัญชีของผู้ใดบ้าง จึงไม่สามารถยืนยันว่าบัญชีใดเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว และมีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาอย่างไร การตรวจสอบดังกล่าว ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาเป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าว คดีพยานหลักฐานไม่พอพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหา
ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่พริษฐ์เริ่มทำกิจกรรมทางการเมือง เขาถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปรวมแล้ว 55 คดี (มีจำนวน 12 คดีที่สิ้นสุดไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีอัตราโทษปรับ) โดยแยกเป็นคดีหลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา จำนวน 44 คดี
ล่าสุดพริษฐ์เพิ่งถูกย้อนแจ้งกล่าวหาในข้อหาดูหมิ่นศาลในอีกคดีหนึ่งที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี จากกรณีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวมีเนื้อหาวิจารณ์เงื่อนไขการประกันตัวของศาล ระหว่างชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 โดยคดีมีสำนักงานศาลยุติธรรมมอบอำนาจให้ศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
>> สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564-65
.