เดือนสุดท้ายของปี 2566 สถานการณ์การดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองยังดำเนินต่อไป โดยไม่ได้มีคดีใหม่เพิ่มขึ้นเท่าใดนัก แต่คดีที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากช่วงปี 2563-65 ยังมีการสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษาทั้งเดือนอย่างน้อย 12 คดี ซึ่งผลคำพิพากษามีทั้งที่ยกฟ้องและเห็นว่ามีความผิดสลับกันไป ส่วนคดีชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคดีตามมาตรา 116 พบว่าทั้งเดือนมีคำพิพากษาอย่างน้อย 9 คดี โดยศาลยกฟ้องทั้งหมด
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,938 คน ในจำนวน 1,264 คดี ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 3 คน คดีเพิ่มขึ้น 2 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน)
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,944 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 262 คน ในจำนวน 287 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 138 คน ในจำนวน 44 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 664 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 179 คน ในจำนวน 91 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 195 คน ในจำนวน 214 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 42 คน ใน 24 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี
จากจำนวนคดี 1,264 คดีดังกล่าว มีจำนวน 469 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 795 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ
.
.
สถานการณ์การดำเนินคดีในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
สถานการณ์คดี ม.112 นับกรณีที่ถูกแยกฟ้องจากคดีเดิม เพิ่ม 2 คดี ส่วนศาลมีคำพิพากษาทั้งเดือนอีก 12 คดี
ในเดือนธันวาคม สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้น 2 คดี โดยไม่ได้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นใหม่ แต่เป็นการนับจำนวนคดีจากคดีเดิมที่มีการแยกฟ้องจากกัน ได้แก่ คดีของนารา ที่ศาลพิจารณาและมีคำพิพากษาแยกจากคดีของจำเลยคนอื่น ๆ และคดีของ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว หลังเขาเป็นจำเลยรายเดียวที่ให้การรับสารภาพและศาลมีคำพิพากษาออกมา ศาลจึงให้แยกฟ้องคดีของคนอื่น ๆ เข้ามาใหม่ ทำให้ต้องนับจำนวนคดีแยกออกจากกัน
ส่วนคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล เดือนที่ผ่านมา ศาลยังมีคำพิพากษาออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเดือนอย่างน้อย 12 คดี โดยแยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 10 คดี และในศาลอุทธรณ์ 2 คดี
ผลคำพิพากษา มีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา ที่น่าสนใจ ได้แก่ คดีของนารา กรณีร่วมถ่ายทำและเผยแพร่คลิปวิดีโอโปรโมทแคมเปญลดราคาสินค้าของลาซาด้า ศาลอาญาเห็นว่าคลิปยังไม่ได้มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้าย ทั้งยังอธิบายถึงมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ว่าถ้อยคำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นั้น กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ไม่สามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะการกระทำใด ๆ ของพระมหากษัตริย์จะเป็นความผิดไม่ได้ เพราะไม่ได้กระทำเองโดยตรง
นอกจากนั้น ยังมีคดีของสุปรียา ใจแก้ว กรณีถูกกล่าวหาวางป้ายข้อความ “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” ซึ่งศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณแผ่นดิน ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และการจัดการงบประมาณแผ่นดินนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่พระราชอำนาจ
อีกทั้งในคดีของ “เก็ท” โสภณ และ “โจเซฟ” ศาลอาญาธนบุรียกฟ้องจำเลยรายหลัง เนื่องจากเห็นว่าเพียงปราศรัยกล่าวถึงรัชกาลที่ 1 และเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง แต่ศาลก็พิพากษาว่าเก็ทมีความผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่าปราศรัยถึงกษัตริย์รัชกาลปัจจุบันด้วย ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี
.
.
ขณะที่เดือนที่ผ่านมายังมีคำพิพากษาที่ลงโทษจำคุกจำเลยอย่างค่อนข้างรุนแรง ทั้งคดีของจิรวัฒน์ กรณีแชร์โพสต์ข้อความ 3 โพสต์ และคดีของ “ไอซ์” รักชนก กรณีทวีตและรีทวีตข้อความ ซึ่งศาลลงโทษจำคุกทั้งสองคดีเหมือนกันคือ 6 ปี โดยจำเลยรายแรกไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
รวมถึงคดีของอติรุจ กรณีตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” ระหว่างมีการเสด็จ ซึ่งศาลลงโทษจำคุกรวม 1 ปี 8 เดือน โดยยังให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ส่วนคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ มีคดีทั้งที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้อง ได้แก่ คดีของ “ชัยชนะ” ผู้ป่วยจิตเวชจากลำพูนที่ถูกฟ้องคดีที่นราธิวาส และทั้งคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษ คือคดีของ “ปณิธาน” กรณีคอมเมนต์โพสต์ข้อความในกลุ่มรอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส ศาลอุทธรณ์ได้ลดโทษจากศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปี เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญาเช่นเดิม แต่เขายังได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา
สถานการณ์คำพิพากษาในคดีมาตรา 112 จึงเป็นไปอย่างหลากหลาย มีทั้งศาลที่ยกฟ้องในคดีที่เห็นได้ชัดว่าไม่ควรเป็นความผิดตามข้อหานี้ และคดีที่ศาลลงโทษโดยไม่รอลงอาญา และวินิจฉัยตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางก็ยังมีสลับกันไป ขณะที่การสั่งประกันตัวก็ไม่ได้มีมาตรฐานที่แน่นอน
จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม มีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ระหว่างพิจารณาเท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 15 ราย โดยรายที่ศาลไม่ให้ประกันตัว ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งตลอดเดือนที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามยื่นประกันตัวเพิ่มเติม หลังศาลอนุญาตให้จำเลยหลายรายที่ถูกพิพากษาในศาลชั้นต้นด้วยโทษใกล้เคียงกัน ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
.
ศาลแขวงนนทบุรีมีคำพิพากษยกฟ้องคดีชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ท่าน้ำนนทบุรี เหตุเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564
.
ไม่มีคดีใหม่จากการชุมนุม แต่คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งเดือน ศาลยกฟ้อง 7 คดี ไม่มีคดีที่เห็นว่ามีความผิด
เดือนธันวาคม ไม่ได้มีคดีจากการชุมนุมคดีใหม่เพิ่มขึ้น แต่ในคดีเดิม ศาลได้มีคำพิพากษาคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ซึ่งจำเลยต่อสู้คดี ออกมาอีก 7 คดี (เป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นยกฟ้องคดี 1 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบพิษณุโลก) โดยพบว่าทุกคดีศาลยกฟ้องทั้งหมด
แนวทางคำพิพากษาเป็นไปในลักษณะใกล้เคียงกัน ว่าหากการชุมนุมเกิดขึ้นในพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเท ผู้ชุมนุมไม่หนาแน่น มีมาตรการกมารป้องกันโรคในระดับหนึ่ง ไม่ถึงขนาดแออัดเสี่ยงต่อการแพร่โรค รวมถึงบางคดีไม่ได้มีพยานหลักฐานว่ามีลักษณะเป็นแกนนำผู้จัดกิจกรรม ก็ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
ในจำนวนคดีที่ศาลยกฟ้อง มีคดีที่น่าสนใจ คือคดีของประชาชน 4 คน กรณีชุมนุม #11สิงหาไล่ล่าทรราช เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งศาลอาญาเห็นว่าเป็นเพียงการชุมนุมเรียกร้องการทำงานของรัฐบาล ทั้งพยานหลักฐานไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดชุมนุม การชุมนุมยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่โรค
หากแต่คดีจากเหตุการณ์เดียวกันก่อนหน้านี้ ส่วนของจำเลย 8 คน ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ศาลอาญาคนละบัลลังก์ เห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยลงโทษจำคุกสูงถึง 1 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ ทำให้น่าตั้งคำถามถึงแนวทางคำพิพากษาที่ไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกันของศาลต่อคดีที่ควรจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน
.
.
จับตาสถานการณ์การใช้ข้อหา ม.116 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ส่วนคดีชุมนุมที่ถูกกล่าวหามาตรานี้ ศาลยกฟ้องอีก 2 คดี
เดือนที่ผ่านมา ยังมีสถานการณ์การดำเนินคดีข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามมาตรา 116 คดีใหม่เกิดขึ้น ได้แก่ กรณีมีผู้ทำบัตรแสดงความเห็นประชามติจำลอง เรื่องสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชนปาตานี ไปแจกจ่ายสอบถามความเห็นระหว่างกิจกรรมใน มอ.ปัตตานี เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2566 โดยพบว่ามีนักกิจกรรมและผู้เข้าร่วมถูกแม่ทัพภาค 4 มอบอำนาจไปกล่าวหา จำนวน 5 รายในข้อหานี้ และได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองปัตตานี เมื่อเดือนที่ผ่านมา
แต่เดือนที่ผ่านมา ในคดีตามมาตรา 116 ก่อนหน้านี้ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องอีก 2 คดี ได้แก่ คดีของ 13 อดีตนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) กรณีชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 หลังต่อสู้คดีมากว่า 4 ปี ศาลอาญากรุงเทพใต้เห็นว่าการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เนื้อหาการปราศรัยมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. โดยเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศเลือกตั้งโดยเร็ว ไม่ปรากฏว่าเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพนอกเหนือจากกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไร
และคดีของ “ครูใหญ่” อรรถพล และ “จัสติน” ชูเกียรติ กรณีปราศรัยที่จังหวัดอุดรธานีเมื่อปี 2563 ศาลจังหวัดอุดรธานีเห็นว่าคำปราศรัยของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่ามีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ หรือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่มีอาวุธ ไม่ปรากฏความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ หรือเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จึงไม่อาจฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์พิเศษหรือมีมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดตามมาตรา 116
สถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 116 จึงยังมีทั้งคดีใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่ มีประเด็นเรื่องระบบการปกครอง หรือความเป็นอิสระในการปกครองตัวเอง และมีคดีเดิมจากการชุมนุมของนักกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมา ที่ผ่านการต่อสู้คดี แล้วศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเป็นส่วนใหญ่
.