วันที่ 12 ธ.ค. 2566 ศาลแขวงพิษณุโลกนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีของปุณณเมธ อ้นอารี หรือ “เกมส์” นักกิจกรรมกลุ่มคณะราษฎรภาคเหนือตอนล่างวัย 33 ปี กรณีจัดกิจกรรมคาร์ม็อบพิษณุโลก “CARPARK Phitsanulok” เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 โดยศาลอุทธณ์ได้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่เคยเห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นยกฟ้องจำเลย เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอยู่
.
ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยผิดตามฟ้อง ไม่สามารถอ้างเสรีภาพการชุมนุมได้
คดีนี้ จำเลยต่อสู้คดีเรื่อยมา โดยยอมรับว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมและโพสต์ชักชวนให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมขับรถแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้ชาวพิษณุโลกร่วมติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานการจัดการวัคซีนโควิด–19 แต่ยืนยันว่ากิจกรรมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ผู้จัดประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามกฎจราจร รูปแบบกิจกรรมไม่มีการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างผู้เข้าร่วม ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ทั้งกิจกรรมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีเหตุวุ่นวายแต่อย่างใด
แต่เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566 ศาลแขวงพิษณุโลกได้มีคำพิพากษาเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องโดยเห็นว่าเห็นว่าการใช้สิทธิของจำเลย ที่อ้างว่าได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 มีข้อยกเว้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน การรวมกลุ่มดังกล่าว อาจเป็นอันตรายต่อผู้ร่วมชุมนุมหรือผู้สัญจรใช้รถใช้ถนน และศาลเห็นว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าไม่อาจควบคุมให้บุคคลที่มาร่วมชุมนุมนั้นใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างได้อย่างทั่วถึง
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 9,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษหนึ่งในสาม คงโทษจำคุก 4 เดือน และปรับ 6,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี
จากนั้นฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา
ย้อนอ่านประมวลการสืบพยาน คดีคาร์ม็อบพิษณุโลก ผู้จัดยันกิจกรรมไม่เสี่ยงโควิด สถานที่เปิดโล่ง อยู่แต่บนรถ ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากาก ไม่มีเหตุวุ่นวาย
.
.
ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา เห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าชุมนุมเสี่ยงต่อโรค
วันนี้ จำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษาอีกครั้ง ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีเนื้อหาโดยสรุปเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุม ในวันที่ 29 ส.ค. 2564 โดยเมื่อเริ่มกิจกรรม จำเลยยืนอยู่บนท้ายรถกระบะ กล่าวคำปราศรัยและร่วมชุมนุมกับผู้ชุมนุมอื่น ๆ ชูสามนิ้ว และวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของนายกรัฐมนตรี
จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า กิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด จะต้องพิจารณาคำว่า “เสี่ยง” ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า “มีโอกาสได้รับทุกข์หรืออันตราย” โดยในกิจกรรมตามฟ้องไม่ได้มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน และเกิดขึ้นในพื้นที่เปิดโล่ง ย่อมไม่ใช่สถานที่เสี่ยงหรือแออัดต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-2019 ทั้งไม่มีการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การใช้และตีความข้อกำหนดที่มีโทษทางอาญา ต้องเป็นไปโดยเคร่งครัดและด้วยความระมัดระวัง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรีประกาศและขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คราวที่ 13 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ฉบับที่ 30 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-2019 ที่ 11/2564 และคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องการห้ามชุมนุม การทำกิจกรรมการมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ และคำสั่งจังหวัดพิษณุโลก ข้อที่ 5 ห้ามจัดกิจกรรมชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโลก จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติไว้
อย่างไรก็ตามการชุมนุม ณ ที่ใด ๆ ที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทำให้ประชาชนตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง อันเป็นภัยที่กระทบต่อความมั่นคงตามนัยยะแห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ข้อเท็จจริงคดีนี้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นคราวที่ 13 ซึ่งเป็นเวลาหลังการประกาศใช้ครั้งแรกถึง 1 ปีเศษ แม้ว่าคำสั่งศูนย์บริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ 11/2564 ให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม และพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้สอบสวนถึงความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคดังกล่าว
พิจารณาพฤติการณ์การขับรถไปตามท้องถนนซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง ผู้ชุมนุมต่างใส่หน้ากากอนามัย โดยขับรถไปดังเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป เห็นว่าโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้ออยู่ในระดับที่ต่ำ ทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เช่น การรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ อีกทั้งจังหวัดพิษณุโลกก็ไม่ใช่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเช่นเดียวกันกับจังหวัดอื่น ๆ
ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยชุมนุมทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค ทั้งการชุมนุมดังกล่าวก็ไม่ได้ปิดกั้นถนน หรือมีการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อันจะละเมิดสิทธิของประชาชนคนอื่น
อีกทั้งจำเลยนำสืบว่า จำเลยใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมของจำเลยย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรและความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิพากษายกฟ้อง
คดีนี้ นับเป็นคดีคาร์ม็อบคดีที่สองซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ก่อนหน้านี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้กลับคำพิพากษาในคดี “คาร์ม็อบอุตรดิตถ์” ที่เดิมศาลชั้นต้นเคยพิพากษาลงโทษจำคุก 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เป็นยกฟ้องจำเลยทั้งสองคนในคดีนี้ โดยเห็นว่ากิจกรรมเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน
ขณะที่ยังเหลือคดี “คาร์ม็อบกำแพงเพชร” ที่คดีขึ้นไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 สองครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ทั้งสองครั้ง
.
อ่านบทสัมภาษณ์ของ “เกมส์” ปุณณเมธ
ชีวิตที่ผูกพันกับการเมือง กฎหมาย และการเคลื่อนไหว ของ “เกมส์ ปุณณเมธ” ผู้ต่อสู้คดีคาร์ม็อบพิษณุโลก
.