คดีคาร์ม็อบพิษณุโลก ผู้จัดยันกิจกรรมไม่เสี่ยงโควิด สถานที่เปิดโล่ง อยู่แต่บนรถ ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากาก ไม่มีเหตุวุ่นวาย

ในวันที่ 16 ก.พ. 2566 นี้ ศาลแขวงพิษณุโลกนัดฟังคำพิพากษาในคดีคาร์ม็อบพิษณุโลก “CARPARK Phitsanulok” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 ซึ่งมี ปุณณเมธ อ้นอารี หรือ “เกมส์” นักกิจกรรมกลุ่มคณะราษฎรภาคเหนือตอนล่างวัย 32 ปี และเป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงออกให้ชาวพิษณุโลกร่วมติดตามการจัดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีการลงมติไปในวันที่ 4 ก.ย. 2564 และวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานการจัดการวัคซีนโควิด–19 รวมถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ โดยเป็นการร่วมกันขับรถแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไปรอบตัวเมืองพิษณุโลก

คดีนี้มีการสืบพยานไประหว่างวันที่ 16 -17 พ.ย. 2565 โดยอัยการนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 3 ปาก ได้แก่ ตำรวจผู้กล่าวหา, ตำรวจชุดสืบสวน และพนักงานสอบสวน ด้านฝ่ายจำเลยมีพยานเบิกความจำนวน 3 ปาก ได้แก่ จำเลย, หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม และอาจารย์ด้านนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร

ประเด็นการต่อสู้ของฝ่ายจำเลย คือจำเลยรับว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมจริง โดยตนยืนปราศรัยบนรถกระบะส่วนตัว แต่สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยสถานที่จัดกิจกรรมนั้นเป็นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และตัวกิจกรรมไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 โดยเส้นทางที่ใช้ในการจัดกิจกรรมเป็นถนนทั้งหมด ในส่วนของผู้ที่เข้าร่วมมีทั้งใช้จักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัวประมาณ 30 – 40 คัน โดยทุกคันขับเรียงต่อกันเป็นขบวนและเว้นระยะห่างกัน ซึ่งทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยและติดตามรถของพยานตลอดกิจกรรม ไม่มีกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมต้องลงมารวมตัวกัน ทั้งกิจกรรมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวายใดๆ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

.

พยานตำรวจระบุ ระหว่างกิจกรรม ไม่ได้มีตำรวจเข้าเตือนหรือห้าม รับผู้ชุมนุมไม่มีการยุยงให้เกิดความวุ่นวาย

พยานเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ บุญเยี่ยม รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ผู้กล่าวหา, ร.ต.อ.ยงค์ยุทธ ชางฉิ่ง รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก, ร.ต.อ.สุรพงศ์ เหมือนศรีชัย รองสารวัตรสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก เบิกความถึงเหตุการณ์ในทำนองเดียวกัน

พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุไม่กี่วัน ได้ติดต่อจำเลยเพื่ออธิบายว่าหากจะจัดกิจกรรมนี้อาจมีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 และจะเป็นการผิดต่อกฎหมายด้วย ทั้งนี้เป็นการแจ้งให้ทราบเท่านั้น ต่อมาในวันเกิดเหตุจึงให้ทีมสืบสวนแบ่งกำลังเพื่อทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลหลักฐาน ทั้งภาพถ่ายและวิดีโอในที่ชุมนุม โดยมีตำรวจประมาณ 10 นาย แต่งกายนอกเครื่องแบบ เพื่อส่งข้อมูลหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมได้กลับ สภ.เมืองพิษณุโลก

ร.ต.อ.ยงค์ยุทธ เบิกความต่อว่า ได้รับมอบหมายตามคำสั่งจาก พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ให้ตนพร้อมเจ้าหน้าที่ชุดสืบเดินทางไปที่หน้าถนนมหาวิทยาลัยนเรศวร เวลาประมาณ 16.00 น. พยานพบเห็นจำเลยอยู่ที่จุดนับพบ ตามโพสต์ของจำเลยตรงบริเวณประตูหน้ามหาวิทยาลัย และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 30 – 40 คน และมีรถยนต์ 10 คัน รถจักรยานยนต์ 7 คันโดยประมาณ

ต่อมาเวลา 16.46 น. ขบวนเริ่มเคลื่อนตัวออก โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการติดตามขบวนอยู่ตลอด เส้นทางที่ขบวนเคลื่อนนั้นจะวิ่งรอบตัวเมืองพิษณุโลก เมื่อขบวนรถเคลื่อนตัวแล้วก็ไม่สามารถนับจำนวนได้ เนื่องจากมีรถของชาวบ้านเข้ามารวมอยู่ในขบวนด้วย ต่อมาเวลาประมาณ 18.30 น. ผู้จัดสิ้นสุดการชุมนุมที่หน้าห้างโลตัส ท่าทอง ก่อนแยกย้ายกันกลับ

พยานโจทก์ทั้งสองต่างเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านตรงกันว่า ตอนที่จัดกิจกรรม ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดเข้าไปห้าม ทั้งก่อนที่จะมีการเริ่มและขณะเคลื่อนขบวน เหตุที่ตำรวจยังไม่เข้าจับกุมจำเลยในตอนนั้น เนื่องจากยังไม่แน่ชัดว่าการกระทำของจำเลยผิดกฎหมายหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาก่อนว่าจำเลยนั้นผิดหรือไม่ผิด

ทั้งนี้ พยานโจทก์ทุกปากตอบทนายจำเลยถามค้านตรงกันว่า กิจกรรมไม่มีเหตุวุ่นวาย จำเลยไม่มีการยุยงให้ผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวายทั้งในขณะชุมนุมและภายหลังยุติการชุมนุม

.

.

พยานตำรวจสองปากเบิกความขัดกันเอง ว่าหัวหน้าชุดสืบมาในที่ชุมนุมหรือไม่

ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ บุญเยี่ยม เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานเป็นหัวหน้าชุดสืบ ก่อนที่กิจกรรมจะเริ่มต้นจึงมีคำสั่งให้จัดแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนเพื่อรวบรวมหาข้อมูลต่างๆ ในกิจกรรม โดยตนจะคอยควบคุมและสั่งการอยู่ที่หน้าจอมอนิเตอร์อยู่ที่ สภ.เมืองพิษณุโลก และในขณะจัดกิจกรรมไม่มีตำรวจคนใดเข้าไปห้ามปรามหรือให้ยุติการชุมนุม

ขณะที่ ร.ต.อ.ยงค์ยุทธ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ มาร่วมการติดตามกิจกรรมกับตนด้วย ซึ่งต่างคนต่างมา

.

ตำรวจเคยเปรียบเทียบข้อหาใช้เครื่องขยายเสียง แต่ปรับผิดมาตราไปแล้ว

ร.ต.อ.สุรพงศ์ เหมือนศรีชัย พนักงานสอบสวน ยังเบิกความว่า ได้ส่งหมายเรียกและแจ้งข้อกล่าวหาต่อจำเลยฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง จำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้เปรียบเทียบปรับจำเลย 500 บาท ตามมาตรา 7 ประกอบมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493

เมื่อทนายจำเลยถามค้านว่า พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 ระบุว่าต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 9 ใน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว โดยมีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท แต่หากเป็นมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวนั้น ระบุไว้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นการโฆษณาโดยใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยถึงจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อมาตรานี้ หากเป็นการโฆษณาเป็นภาษาไทยปกติ จะไม่ผิดตามมาตรา 7 ใช่หรือไม่

เมื่อ ร.ต.อ.สุรพงศ์ เหมือนศรีชัย ขอดูตัวบทอีกครั้งหนึ่งแล้วเบิกความว่า เปรียบเทียบปรับจำเลยผิด เข้าใจว่าจำเลยทำความผิดตามมาตรา 7 เลยเปรียบเทียบปรับจำเลย 500 บาท

.

ผู้จัดประกาศให้ทุกคนสวมใส่หน้ากาก และผู้ชุมนุมต่างสวมหน้ากากอนามัย สถานที่เปิดโล่ง  

พยานโจทก์ตำรวจทั้ง 3 ปาก ต่างตอบทนายจำเลยถามค้านตรงกันว่า สถานที่กิจกรรมด้านหน้าม.นเรศวรเป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ในตอนที่เริ่มเคลื่อนขบวนรถ ก็มีการเคลื่อนที่ไปบนถนนตลอดเวลา ขณะเคลื่อนขบวนมีรถจักรยานยนต์ขับขี่โดยเว้นระยะห่างกันและตำแหน่งสับหว่างรถยนต์เป็นระยะๆ กัน และผู้ร่วมชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัย

ทั้งนี้ตำรวจยังรับว่าจำเลยมีการประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมสวมหมวกนิรภัยหากเป็นขับขี่รถจักรยานยนต์ และหากผู้ที่อยู่ในรถยนต์ก็ให้อยู่ในรถ และให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎจราจร พร้อมให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดกิจกรรม

.

.

จำเลยรับว่าเป็นผู้จัด กิจกรรมไม่เสี่ยงโควิด เป็นเพียงการนำรถมาเคลื่อนเป็นขบวนต่อกัน ไม่มีกิจกรรมที่ต้องสัมผัสตัวกัน การแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

ทางฝั่งพยานจำเลย ปุณณเมธ อ้นอารี ขึ้นเบิกความที่มาของความสนใจจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากในปี 2564 เป็นช่วงที่มีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 41 จังหวัดทั่วประเทศไทย ประกอบกับในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 เป็นช่วงก่อนหน้าที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสภา จึงมีความคิดที่อยากจะจัดกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในประเด็นดังกล่าว และอยากเชิญชวนให้พี่น้องชาวพิษณุโลกติดตามการจัดอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะมีการลงมติในวันที่ 4 ก.ย. 2564  รวมทั้งการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ด้วย จึงได้โพสต์ประกาศในเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันที่ 25 ส.ค. 2564 ประกาศจัดกิจกรรม “CARPARK พิษณุโลก เมื่อราษฎรอยากอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

หลังจากที่ได้โพสต์ประกาศ มีตำรวจ 2 นาย ติดต่อมาเพื่อขอนัดพูดคุยกับตน สาระสำคัญคือมาเพื่อแจ้งให้ทราบว่าหากจะจัดกิจกรรมครั้งนี้จะมีโอกาสทำผิดกฎหมายได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีการห้ามปรามใดๆ ต่อมาในวันที่ 29 ส.ค. 2564 ช่วงเช้า ตนได้โพสต์ข้อความอีกครั้งเพื่อแสดงจุดยืนว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้เป็นการชุมนุม เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น และได้แนะนำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนปฏิบัติตามกฎจราจร และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

เหตุที่ทำให้คิดว่าสามารถจัดกิจกรรมนี้ได้ เพราะสถานที่จัดกิจกรรมนั้นเป็นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงแดดส่องถึง และไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 โดยเส้นทางที่ใช้ในการจัดกิจกรรมเป็นถนนทั้งหมด ในส่วนของผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมมีทั้งใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยและติดตามรถของพยานตลอดการชุมนุม อาจมีการใกล้ชิดกันบ้างเนื่องจากต้องมีการติดไฟแดง แต่ก็เป็นเหมือนการขับขี่รถทั่วๆ ไป บนท้องถนน

ในวันที่ 29 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 16.00 น. พยานมาถึงฝั่งตรงข้ามหน้า ม.นเรศวร พบเห็นรถยนต์ประมาณ 10 คัน จอดเว้นระยะห่างกันตามแนวฟุตบาท และจักรยายนต์ 5 คัน พยานไม่สามารถแยกได้ว่ารถที่อยู่ตรงนั้นเป็นของประชาชนทั่วไปหรือเป็นของผู้ร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ไม่มีตำรวจคนใดเข้ามายังจุดตั้งขบวน รวมถึงไม่ห้ามปรามไม่ให้มีการจัดกิจกรรมแต่อย่างใด

ผู้ร่วมชุมนุมที่นำรถยนต์มาส่วนใหญ่รออยู่บนรถของตนเอง ส่วนผู้ที่นำจักรยานยนต์มาจะลงมาหลบแดดตามต้นไม้เป็นกลุ่มย่อยๆ ต้นละ 2-3 คน ซึ่งแต่ละจุดของต้นไม้แต่ละต้นห่างกันประมาณ 3-4 เมตร โดยพยานไม่พบเห็นว่ามีการรวมกลุ่มกันหรือมาอยู่ใกล้ชิดกันของแต่ละกลุ่มย่อย

เนื่องด้วยพยานอยู่บนท้ายรถกระบะตอนขบวนเริ่มเคลื่อนตัว พยานสามารถเห็นถึงสภาพการจราจรของรถด้านหลัง โดยรูปขบวนมีลักษณะที่มีการเว้นระยะห่างขณะมีการขับร่วมขบวนกัน และเคลื่อนที่ไม่มีการหยุดปราศรัย หรือมีกิจกรรมที่ต้องมีการสัมผัสตัวกันตลอดกิจกรรม ทั้งนี้ไม่มีการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ต่อมาเมื่อพยานเห็นว่าไม่มีรถผู้ร่วมกิจกรรมตามมาแล้ว จึงยุติการจัดกิจกรรมลง กิจกรรมใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง

หลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้นลง พยานได้ติดตามข่าวสารของการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ก็ไม่พบการติดเชื้อโควิดหลังจากที่ได้จัดกิจกรรม

เนื่องจากการจัดกิจกรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกิจกรรมที่จัดขึ้นไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ตลอดกิจกรรมพยาน รวมถึงผู้เข้าร่วมทุกคนสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างตลอดเวลา ทำให้เห็นว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องแต่อย่างใด

ในการตอบคำถามค้าน อัยการถามว่า ก่อนมีการจัดกิจกรรมได้มีเจ้าหน้าที่ 2 นาย โดยมี พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ เป็นหนึ่งในนั้นเข้าพูดคุย โดยแจ้งถึงการฝ่าฝืนกฎหมายหากมีการจัดกิจกรรมใช่หรือไม่ จำเลยเบิกความว่า ใช่ โดยให้เหตุผลตอนทนายจำเลยถามติงว่า คิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ แต่ไม่เข้ามาห้าม พยานเลยมองว่าน่าจะจัดกิจกรรมได้ ทั้งกิจกรรมเป็นการขับรถตามปกติ และไม่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค

อัยการถามว่า พยานไม่ได้อยู่บนรถปราศรัยเพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอื่นอีก 2 คนยืนอยู่ด้วย ใช่หรือไม่ จำเลยเบิกความว่า ใช่ แต่ทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัย

.

ขณะที่ตัวแทนผู้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบหนึ่งราย ได้ขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลย โดยเบิกความถึงการพบข้อความประชาสัมพันธ์ในเฟซบุ๊ก และเห็นว่าเป็นรูปแบบการขับรถแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาล เนื่องจากพยานเห็นว่าตนได้รับผลกระทบด้านรายได้ในช่วงดังกล่าว โดยรัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยาความเสียหายมากพอ จึงตัดสินใจเข้าร่วมเพื่อส่งเสียงถึงรัฐบาล และไปร่วมถ่ายภาพในกิจกรรม

พยานยังเบิกความว่าในกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายนายมาสังเกตการณ์ ระหว่างขบวนรถเคลื่อนตัว ก็ไม่สามารถแยกได้ว่ารถที่มาร่วมเป็นประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ แต่พยานเห็นว่าผู้เข้าร่วมเกือบทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และในการเคลื่อนขบวนรถ ตามภาพถ่ายที่พยานถ่ายไว้ ก็มีการเว้นระยะห่างตลอดทาง และไม่ได้มีผู้เข้าร่วมลงจากรถมาจับกลุ่มใกล้ชิดหรือสัมผัสกันแต่อย่างใด แต่เป็นการขับรถที่มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ไม่มีการหยุดหรือชุมนุมแบบปราศรัยรวมกลุ่ม

พยานจำเลยปากสุดท้าย ได้แก่ ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เข้าให้ความเห็นเกี่ยวกับการตีความ และบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพยานได้จัดทำคำเบิกความเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่น แต่ศาลให้เบิกความด้วยตนเอง

ผศ.ดร.ยอดพล ได้เบิกความโดยสรุปถึงความเห็นทางกฎหมาย ที่แม้จะมีการออกประกาศสถานการ์ฉุกเฉิน แต่รัฐเองก็ไม่สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากแต่ยังต้องคงไว้ซึ่งความสมดุลในการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์มหาชนกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยรัฐเองมีทางเลือกในการใช้มาตรการอื่นที่นอกเหนือจากการสั่งห้ามการชุมนุมได้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคัดกรอง หรือมาตรการอื่นทางสาธารณสุข โดยรัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ไม่ใช่การสั่งห้าม

ด้วยเหตุนี้ แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐก็ไม่อาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกในลักษณะทั่วไปและอย่างสิ้นเชิงจนถึงขนาดที่ประชาชนไม่สามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ หากแต่ต้องกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยที่ประชาชนยังคงใช้เสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้ การห้ามการชุมนุมจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เฉพาะกรณีอย่างเพียงพอว่าการชุมนุมสามารถทำได้หรือไม่ (ดูคำเบิกความโดยละเอียดคล้ายคลึงกับในคดีคาร์ม็อบอุตรดิตถ์)

.

อ่านบทสัมภาษณ์ของจำเลยในคดีนี้

ชีวิตที่ผูกพันกับการเมือง กฎหมาย และการเคลื่อนไหว ของ “เกมส์ ปุณณเมธ” ผู้ต่อสู้คดีคาร์ม็อบพิษณุโลก

.

X