ชีวิตที่ผูกพันกับการเมือง กฎหมาย และการเคลื่อนไหว ของ “เกมส์ ปุณณเมธ” ผู้ต่อสู้คดีคาร์ม็อบพิษณุโลก

ท่ามกลางคดีจากการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อปี 2564 ที่กระจายไปในหลายจังหวัด ไม่น้อยกว่า 41 จังหวัดทั่วประเทศไทย แม้จะผ่านไปเกือบสองปี แต่คดีจำนวนมากก็ยังไม่ได้สิ้นสุดลงไป นักกิจกรรม นักศึกษา หรือประชาชนอีกหลายคนยังต้องวนเวียนกับการต่อสู้ภายในกระบวนการยุติธรรม ที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกควบคุมทางการเมืองอย่างเข้มข้น

ปุณณเมธ อ้นอารี หรือ “เกมส์” หนุ่มนักกิจกรรมจากจังหวัดพิษณุโลกในวัย 32 ปี เป็นอีกคนหนึ่ง ที่เผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อเขาถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมคาร์ม็อบถึงสองคดี

ในคดีแรก เกมส์ถูกกล่าวหาจากการไปร่วมคาร์ม็อบ #นครสวรรค์บีบแตรไล่หมา ที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยตำรวจ สภ.เมืองนครสวรรค์ แจ้งข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ พร้อมกับเพื่อนนักศึกษาคนอื่นๆ รวม 5 คน เนื่องจากข้อหาแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ และแม้เกมส์จะไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว แต่พวกเขาก็ยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับคนละ 1,000 บาท เพื่อให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว

แต่อีกคดีหนึ่ง เกมส์ถูกตำรวจ สภ.เมืองพิษณุโลก แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดกิจกรรม “CARPARK Phitsanulok” ในจังหวัดพิษณุโลก เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 คดีนี้ไม่ได้จบง่ายดายแบบในคดีแรก เพราะข้อหามีอัตราโทษจำคุก

พูดตรงตรงมา เกมส์รับว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมขึ้นตามที่ถูกกล่าวหา แต่มันก็ดูไม่ได้จะมีความเสี่ยงต่อโรค เป็นเพียงการนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์มาเคลื่อนเป็นขบวนต่อกัน พร้อมผู้เข้าร่วม 30-40 คน การปราศรัยก็เกิดขึ้นบนรถ ผู้เข้าร่วมไม่ได้มีลงมารวมตัวกัน แต่คดีก็ยืดเยื้อจากตำรวจ มายังอัยการ และไปถึงชั้นศาล กระทั่งศาลแขวงพิษณุโลกกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ก.พ. นี้

ในฐานะลูกชายนักการเมืองท้องถิ่น ผู้จบการศึกษาทั้งด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เริ่มลงสนามในการทำงานการเมือง เป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ กระทั่งเริ่มเรียนรู้การจัดชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมือง ซ้ำยังต้องเรียนรู้การเป็นจำเลยในศาลโดยไม่ตั้งใจ ชวนทำความรู้จักเรื่องราวของ “เกมส์ ปุณณเมธ” ให้มากขึ้น ก่อนคำพิพากษาในคดีของเขาจะถูกอ่าน

.

.

ลูกชายนักการเมือง ผู้เรียนรู้ความไม่เป็นธรรมจากการรัฐประหาร

“ผมเป็นคนอำเภอเมือง พิษณุโลกโดยกำเนิด ที่บ้านทำงานค้าขาย ปัจจุบันไปประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปลูกทุเรียนด้วย พ่อเป็นอดีตนักการเมืองเก่า เป็นรองนายก อบต. ตอนนั้นเป็น อบต.อรัญญิก แล้วก็มีบทบาททางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนมาไทยรักไทย มาเพื่อไทย เป็นประธานสาขาพรรคของจังหวัดพิษณุโลก แล้วก็เป็นเลขาฯ ส.ส. พิทักษ์ สันติวงษ์สกุล แล้วก็ไปเป็นผู้ช่วย ส.ส. นพพล เหลืองทองนารา พักหนึ่ง ก็เคยมีบทบาททางด้านการเมืองค่อนข้างเยอะ

“เราเห็นเรื่องการเมืองที่บ้านค่อนข้างเยอะ ตอนเด็กๆ ก็จะติดตามพ่อไปหาเสียง อยู่ในแวดวงทางการเมือง  แต่เราไม่รู้ว่าพรรคการเมืองมีอุดมการณ์แบบไหน มีทัศนคติแบบไหน เราทำหน้าที่แค่ไปติดตาม 

“จนวันหนึ่งพ่อผมผันตัวกลายเป็นแกนนำม็อบเสื้อแดงที่พิษณุโลก ก็มีผลต่อเนื่องมา ช่วงวันที่ 22 พฤษภา 2557 พ่อเขาเป็นหนึ่งในคนที่ถูกทหารจับตัวไปประมาณอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ ผมจำระยะเวลาไม่ได้ ทหารไปจับจากบ้านด้วยรถฮัมวี  มีทหารถือปืนเต็มไปหมด พ่อเล่าให้ฟังนะ ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์  

“ในมุมของผม ตอนนั้นผมเรียนนิติศาสตร์ ที่ มน. (มหาวิทยาลัยนเรศวร) เพิ่งจบแล้วก็พยายามจะสอบตั๋วทนาย   อ่านหนังสือไป ก็ยังมีความรู้สึกที่มันเจ็บปวด และก็รู้สึกว่าทำไมพ่อผมโดนแบบนั้น พ่อผมทำอะไรผิด สภาวะแบบนั้นเป็นตัวจุดความสนใจทางการเมืองจริงจัง เริ่มตั้งแต่ปี 57 ตอนเป็นนักศึกษา ผมก็ไม่ได้เคลื่อนไหว แต่ก็ติดตามข่าวสารบ้านเมือง มีความสนใจอยู่ระดับหนึ่งแล้ว

“จนกระทั่งพอมีพรรคอนาคตใหม่ มันเป็นประกายเรื่องทัศนคติทางการเมืองและความคิด ซึ่งมันตรงกับความสนใจเราพอดี  มันก็เลยเกิดการชักชวนกับทีมงานในพื้นที่พิษณุโลก ผมไปร่วมเป็นคณะทำงานจังหวัดของพิษณุโลก มันก็เลยเริ่มเป็นบทบาทที่เราได้มาสัมผัสทางการเมืองโดยตรง

“หลังเลือกตั้ง 2562 เราเข้าไปช่วยเป็นเลขาของ ส.ส. เกษมสันต์ มีทิพย์ (อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ก่อนย้ายไปพรรคภูมิใจไทย) แล้วก็ถูกปลดด้วย ส.ส. เขามีทัศนคติการเมืองที่เปลี่ยนไป ก็เลยถูกปลดออกมา

“ในมุมมองเรา ชัดเจนเรื่องทัศนคติทางการเมืองตั้งแต่ก้าวแรกที่เรามาอนาคตใหม่แล้ว ก็คือเราอยากทำงานทางการเมือง คือมันเป็นความเจ็บปวดตรงที่ว่าพ่อเราโดนกระทำ การรัฐประหาร พ่อถูกกระทำ เรารู้สึกว่าทำแบบนี้มันไม่แฟร์ คุณจับเราด้วยกฎหมายอะไร อำนาจอะไร แล้วความเป็นอยู่ของพ่อผมจะเป็นยังไง เราไม่รู้เลย มันก็เลยผูกเป็นความเจ็บปวดนั้นไว้”

.

.

สู่สนามของการเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังยุบพรรคอนาคตใหม่

“ตอนแรกผมจะเรียนรัฐศาสตร์ แต่ด้วยผมไปติดมหาลัยต่างจังหวัดในภาคใต้ ผมก็ไม่สามารถที่จะไปได้ หรือจะไปเรียนวิศวะรอบโควต้าที่กรุงเทพฯ พ่อผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวมีการชกต่อย ก็เลยมาเรียนภาคพิเศษนิติศาสตร์ที่ มน. แล้วผมก็มาต่อ ป.โท รัฐศาสตร์ที่รามคำแหง วิทยาเขตสุโขทัย ตอนนี้ก็จบ ป.โท

“หลังกระแสการเคลื่อนไหวในปี 2563 หลังมีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญที่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่  ตอนแรกเราสร้างเป็นกลุ่มคณะราษฎรภาคเหนือตอนล่าง เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นเสียงสะท้อนของพวกเขา แล้วเห็นว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุติธรรม ก็เลยเริ่มเกิดม็อบ ม็อบแต่ละพื้นที่ ออกมาร่วมกันแสดงจุดยืน แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เริ่มมีประสบการณ์การจัดชุมนุมหลายๆ ครั้ง และเกิดเครือข่ายนี่แหละ

“ในพิษณุโลก หน่วยทหารจะเยอะ แต่ผมยังไม่ได้สัมผัสกับมุมมองของทหารโดยตรง ก่อนหน้านั้นอย่าง นปช. หรือคนเสื้อแดง ค่อนข้างจะชัดเจนเรื่อง กอ.รมน. ที่เข้าไปพูดคุยโดยตรง แต่ในมุมผม จะสัมผัสกับเจ้าหน้าที่รัฐในมุมของสันติบาลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า

“ก่อนหน้านี้อย่างพ่อผมก็มีนะ มีหน่วยของ กอ.รมน. เข้ามาพูดคุยที่บ้าน และเหมือนทำสัญญาว่าแบบไม่ให้มีการเคลื่อนไหวกี่ปีอะไรอย่างนี้ ผมรู้สึกไม่แฟร์ ว่าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ ตอนนี้พ่อก็เป็นเกษตรกรเต็มตัว ไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองแล้ว เหมือนส่งมาที่ลูกแทน

“ในเรื่องการถูกคุกคามจากการทำกิจกรรม ผมเข้าใจในบทบาทของเจ้าหน้าที่ ผมก็เลยไม่ได้มีทั้งมิติที่ต่อต้าน แต่เป็นการเจรจาและพูดคุยในประเด็นมากกว่า แต่เราก็มีระยะห่าง มีจุดยืน ทุกอย่างที่ผมทำ ผมก็จะบอกว่าอันนี้ยอมไม่ได้ อย่างกิจกรรมต่างๆ ก็มีที่เจ้าหน้าที่จะปรามไม่ให้ผมทำหรือให้เลื่อนกิจกรรม แต่ผมก็ยังยืนว่าถ้าไม่ทำตอนนี้มันไม่ได้ มันเป็นโอกาสที่เราจะแสดงจุดยืนหรือรักษาหลักการไว้  

“แล้วมันจะมีทุกครั้งที่คนสำคัญผ่านมา ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่มาหาผมที่บ้าน มาถ่ายรูปหน้าบ้านก่อนล่วงหน้า ก็คือเจ้าหน้าที่เขาก็สะท้อน บอกผมก็รู้สึกอึดอัด เหมือนกับว่าไปรบกวนอะไรอย่างนี้ด้วยนะ เขาก็สะท้อนแบบนี้เหมือนกัน แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นคำสั่งจากข้างบน เป็นระบบบังคับบัญชา”

.

.

ราคาที่ต้องจ่าย กับความหวังที่ยังคงอยู่

“สำหรับคดีนี้ อาจจะเพราะเรายังไม่รู้คำพิพากษาว่ามันจะเป็นแบบไหน แต่มันก็กลายเป็นราคาที่ต้องจ่าย คือทุกครั้งที่เราเคลื่อนไหวหรือคิดที่จะเคลื่อนไหว ผมเชื่อว่านักกิจกรรมทุกคนก็ต้องประเมินราคาที่ต้องจ่ายไหว ก็คือเรื่องที่ว่าเราต้องยอมรับผลกระทบ มันก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วที่เราทุกคนจะต้องแบกรับราคาที่ต้องจ่าย หากออกมาเคลื่อนไหว

“เมื่อก่อน เราก็ใฝ่ฝันว่า เออ เรียนนิติศาสตร์ อยากไปเป็นอัยการ ผู้พิพากษา สุดท้ายเราก็ได้มีโอกาสกลับกัน ในฐานะ ‘จำเลย’ ผมเลยมองว่ามันเป็นยุทธวิธีในการปราบหรือปราบปรามกลุ่มนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวไม่ให้มาสะท้อนถึงปัญหาหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่มาจากกระบวนการสืบทอดอำนาจ 

“ในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือแบบนี้ ตอนนี้เราก็เห็นว่ามันก็ใช้มาเรื่อยๆ แล้วก็ดูจะใช้ต่อไปถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร คือต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาการตรวจสอบผู้มีอำนาจจริงๆ ผู้มีอำนาจของเรากลายเป็นคนที่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร คนที่อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร คือวิธีการเหล่านี้ มันทำให้ระบบการตรวจสอบไม่ทำงาน การถ่วงดุลไม่เกิด กลายเป็นทุกอย่างถูกควบคุมและกดดันโดยผู้มีอำนาจ ประชาชนก็โดนคดีไป มันกลายเป็นวนลูปที่ยากต่อการแก้ไข 

“แต่ผมก็ยังเชื่อมั่น เวลาพูดมันก็ดูอุดมคติ แต่ยังเชื่อมั่นในความยุติธรรม ที่มันอาจจะเลือนราง แต่ผมยังเชื่อมั่นว่าหลักการมันก็ยังเป็นหลักการที่เป็นเจตนาร่วม ที่เรียกว่าอำนาจอธิปไตยโดยตรงของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ผมก็ยังเชื่อมั่นว่ามันยังมีหลัก ศักดิ์ที่มากกว่า และก็สามารถที่จะทำได้

“คือประเทศไทยมันมีปัญหาเรื่องหลักการ เพราะว่าตัวรัฐธรรมนูญเอง มันไม่เคยเป็นหลักให้กับประเทศชาติจริง มันถูกฉีกอยู่เรื่อยๆ มันเป็นการไม่สามารถสร้างบรรทัดฐานหลักการได้ แต่กฎหมายลูกที่ออกตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนกลับยังอยู่ มันไม่สามารถคงสถานะหรือความเชื่อมั่นจากสิ่งใด มันเป็นความรู้สึกที่ว่าของสิ่งนี้มันไม่ได้มีบรรทัดฐานที่เป็นหลักการอันเกิดจากเจตนารมณ์ร่วมของประชาชนจริง เพียงแต่กลายเป็นบรรทัดฐานของผู้มีอำนาจที่ไม่อยากให้อำนาจไปอยู่กับมือประชาชน

.

.

“แต่มันก็มีความหวัง ถ้าเราสามารถที่จะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเราหวงแหนมัน แล้วออกมาปกป้องและใช้ต่อต้านรัฐประหารได้จริงๆ รวมถึงเรื่องของการปฏิรูปกองทัพให้มันมีอิสระไม่ผูกขาดอำนาจอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญให้ไม่ได้มีอำนาจตัดสิน แต่เป็นเพียงอำนาจวินิจฉัยในข้อกฎหมายเท่านั้นที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

“ผมก็ต้องมองว่าเป็นลำดับบันได คือถ้าเรามองภาพใหญ่ มันยากต่อการแก้ไข ที่จะล้มทั้งกระดาน แต่ผมมองว่าอะไรที่มันทำได้ก่อน แล้วค่อยเป็นค่อยไป อย่างการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น อันนี้ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้ประชาชนรู้สึกเข้มแข็งในภาวะที่รัฐเผด็จการกำลังผูกขาดทางเศรษฐกิจ และก็สร้างความเหลื่อมล้ำที่เป็นระยะห่างมาก สุดท้ายมันก็จะเกิดระบบชนชั้น ระบบศักดินาขึ้นมาในสังคมไทยต่างๆ มันพยายามจะทำแบบนั้นตลอด

“ในมุมมองของผู้มีอำนาจ เขาอาจจะมองเป็นภัยคุกคามหรือเป็นการขัดความมั่นคงของเขา แต่ในมุมเรา ผมเชื่อแบบนั้นว่าไม่มีใครคิดไม่ดีกับประเทศ ไม่มีใครปฏิปักษ์หรือเป็นอะไร คือทุกคนพยายามจะออกแบบให้มันอยู่ยังไง อยู่ในสังคมร่วมกันได้ภายใต้หลักการที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน หลักการเดียวกันโดยที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือ เพราะสุดท้ายมันจะส่งผลถึงความไม่เสมอภาค ส่งผลถึงระบบอุปถัมภ์เส้นสาย อันนี้มันเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยอยู่แล้ว 

“คือถ้าเรามองในระยะยาว แน่นอนมันบั่นทอนกำลังใจ จิตใจและขบวนการต่อสู้อยู่แน่นอน แต่เรามองในเรื่องของความสุขในแต่ละวัน ความสุขในแต่ละจังหวะ ความประสบความสำเร็จในสิ่งเล็กๆ หรือแม้แต่เราพูดคุยกับประชาชน 1 คน แล้วทำให้รู้สึกถึงความหวังได้ มันอาจจะไม่ได้เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ แต่มันเป็นการหล่อเลี้ยงกำลังใจที่จะทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย ประเทศนี้มันสามารถจะเปลี่ยนแปลงไปได้ โคตรแบบอุดมคติ แต่มันต้องใช้วิธีการนี้หล่อเลี้ยง

“อย่างผมได้ลงพื้นที่เดินทางไปพูดคุยเรื่องประชาธิปไตย ได้กินกาแฟ ได้พูดคุย พบปะกัน เราก็เห็นสังคมมันก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ เราเชื่อว่าสุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้เกิดเพียงในสภา แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของประชาชนจริงๆ  ทำในกลุ่มคนเล็กๆ ไปพูดคุย เคลื่อนย้าย ไปให้กำลังใจในกลุ่มเครือข่ายด้วยกัน หรือไป support กัน เพียงแต่อาจจะยังไม่สามารถชนะทางเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาต่อไป”

.

อ่านบันทึกการสืบพยานในคดีคาร์ม็อบพิษณุโลก

คดีคาร์ม็อบพิษณุโลก ผู้จัดยันกิจกรรมไม่เสี่ยงโควิด สถานที่เปิดโล่ง อยู่แต่บนรถ ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากาก ไม่มีเหตุวุ่นวาย

.

X