วันที่ 28 ธ.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “แซน” สุปรียา ใจแก้ว อดีตนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย และทีมงานพรรคเพื่อไทย ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” บริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย อำเภอเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564
คดีนี้อัยการฟ้องแยกเป็น 2 กระทง คือ การกระทำที่เกี่ยวกับการวางป้ายผ้าดังกล่าวใกล้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย ในข้อหาตามมาตรา 112 และการโพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก “Free Youth CEI-เชียงรายปลดแอก” โดยนำภาพถ่ายป้ายข้อความดังกล่าวมาโพสต์ประกอบคำว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชนเชียงราย ส่งเข้าประกวดค่ะ” โดยกล่าวหาว่าเป็นความผิดตาม #พรบคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2)
คดีนี้ ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้วางป้ายข้อความตามฟ้อง ขณะเดียวกัน ยังต่อสู้ว่าข้อความในป้าย ไม่ได้เข้าข้ายตามมาตรา 112 แต่อย่างใด โดยข้อความไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าหมายถึง “สถาบันฯ” ใด แม้จะมีผู้ตีความไปว่าข้อความสื่อถึงว่า “งบประมาณสถาบันกษัตริย์มากกว่างบประมาณเยียวยาประชาชน” ก็ไม่ได้เข้าข่ายมาตรา 112 ทั้งจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว
ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยาน บันทึกสืบพยานคดี ม.112 วางป้ายผ้า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” ที่เชียงราย ก่อนฟังคำพิพากษา
.
.
เวลา 9.00 น. ก่อนอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ของศาลให้ย้ายห้องพิจารณา จากเดิมนัดที่ห้องพิจารณาคดีที่ 8 ซึ่งอยู่ชั้นบนของศาล ลงมาที่ห้องพิจารณาที่ 13 ที่อยู่ด้านล่างของศาล ซึ่งอยู่ติดกับห้องขังบริเวณใต้ถุนศาล ซึ่งปกติจะใช้ในกรณีฝากขัง ระหว่างนั่งรอเพื่อฟังคำพิพากษาเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลแจ้งให้ผู้มาฟังคำพิพากษาในคดีอื่น ๆ ออกไปจากห้องก่อน เนื่องจากศาลกำลังจะอ่านคำพิพากษาคดีนี้
ผู้พิพากษาองค์คณะออกนั่งพิจารณาเวลา 10.00 น. และเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ความว่า โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงได้ว่า วันที่ 4 ม.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุมีผู้นำป้ายผ้า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” ไปวางทับป้ายคำว่า “ทรงพระเจริญ” บริเวณด้านหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย จึงทำการยึดไว้เป็นของกลาง
จากการตรวจสอบภาพเคลื่อนไหวกล้องวงจรปิดพบว่ามีชาย 2 คน หญิง 1 คน นั่งรถยนต์มาจอดและเดินไปทางจุดเกิดเหตุ โดยมีหญิงใส่แจ็คเก็ต กางเกง และรองเท้าผ้าใบสีดำ หน้ากากอนามัยสีดำ
ต่อมาวันที่ 6 ม.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กเพจ “Free Youth CEI – เชียงรายปลดแอก” ได้โพสต์รูปภาพแผ่นป้ายผ้าข้อความดังกล่าว ที่แขวนไว้บริเวณป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ และพิมพ์ข้อความประกอบภาพแคปชั่นว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชนเชียงราย ส่งเข้าประกวดค่ะ” โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นเพจเกี่ยวกับการเมือง คดีมาตรา 112 และการชุมนุมทางการเมือง
ต่อมาวันที่ 25 ก.พ. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยได้บริเวณหอพักของจำเลยและได้ตรวจค้นหอพัก พบเสื้อแจ็คเก็ต รองเท้าสีดำ และรถยนต์ ซึ่งตรงกับรูปพรรณสันฐานตามภาพเคลื่อนไหวกล้องวงจรปิด จึงทำการตรวจยึดไว้ และพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ส่วนจำเลยให้การปฏิเสธว่าในวันเกิดเหตุจำเลยอยู่หอพักเพียงผู้เดียว และไม่ใช่ผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว แต่รู้จักกับผู้ดูแลเพจในงานชุมนุมทางการเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณสามารถทำได้
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นที่ยุติว่า มีบุคคลจำนวน 3 คน นำป้ายผ้าข้อความ “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” ไปติดตั้งไว้บริเวณป้าย “ทรงพระเจริญ” ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 อยู่บริเวณด้านบน
ต่อมาในวันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก “Free Youth CEI – เชียงรายปลดแอก” ได้โพสต์ภาพป้ายผ้าดังกล่าว และจากนั้นเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้และทำการตรวจยึดเสื้อแจ็คเก็ตสีดำ กางเกงและรองเท้าสีดำ พร้อมอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของจำเลยไว้
มีปัญหาต่อมาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ เห็นว่าการจะวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่นั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยให้ได้ความเสียก่อนว่ามีความผิดเกิดขึ้น อันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือไม่
เห็นว่า ข้อความคำว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” คำว่า “งบ” หมายถึง วงเงิน และ คำว่า “งบประมาณ” หมายถึง งบที่ต้องกันไว้สำหรับการบริหารจัดการ ส่วนคำว่า “สถาบัน” เป็นคำกลาง ๆ ไม่ชัดเจน ซึ่งจะต้องมีคำให้ครบถ้วนจึงจะเข้าใจได้ว่าหมายถึงสถาบันใด ดังนั้น “งบสถาบันฯ” คือสถาบันใด สถาบันหนึ่ง ซึ่งไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าหมายถึงสถาบันใด
แต่การนำป้ายผ้าดังกล่าวไปติดไว้บริเวณพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 จึงถือได้ว่าหมายความถึงงบสถาบันพระมหากษัตริย์ และ “งบเยียวยาประชาชน” หมายถึงงบประมาณที่ใช้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงแพร่ระบาดโรคไวรัสโคโรนา-2019 ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดสรรงบประมาณดังกล่าวเพื่อเยียวยาประชาชน เมื่อนำไปติดบริเวณที่เกิดเหตุจึงหมายถึง “งบสถาบันพระมหากษัตริย์>งบจัดการสถานการณ์ไวรัสโคโรนา”
แต่จะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาจากภาวะวิสัยตามวิญญูชน โดยการหมิ่นประมาทนั้น คือการใส่ความหรือยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งจะต้องสามารถระบุตัวบุคคลหรือระบุได้ว่าหมายถึงบุคคลใด
เห็นว่า ใจความของข้อความคำว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” เป็นการวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณแผ่นดิน ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และการจัดการงบประมาณแผ่นดินนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ข้อความดังกล่าวจึงไม่เป็นการใส่ความหรือให้ร้ายพระมหากษัตริย์
แม้จะมีพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทนายความ จะเบิกความว่าข้อความดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ใช้เงินฟุ่มเฟือยมากกว่างบประมาณที่ใช้สำหรับดูแลประชาชน หรือข้อความตามป้ายดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะอาจทำให้เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ใช้งบประมาณมากกว่างบเยียวยาประชาชน รวมทั้งเห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด
แต่ก็มีพยานโจทก์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์บางส่วนให้ความเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นเป็นความผิด โดยงบสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งการตีความกฎหมายอาญาจะต้องตีความอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้พยานโจทก์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยยังเบิกความให้ความเห็นว่าการตีความถ้อยคำ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ของแต่ละบุคคล เมื่อไม่ได้ติดตามการเมืองจึงไม่เข้าใจว่าข้อความดังกล่าวหมายถึงอะไร
จึงเห็นได้ว่าพยานโจทก์แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เห็นว่าเป็นความผิดกับไม่เป็นความผิด ซึ่งการตีความจะต้องพิจารณาจากภาวะวิสัย ไม่ใช่พิจารณาลงโทษจำเลยตามอัตวิสัยตามความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล จึงยังไม่เพียงพอฟังได้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112
ส่วนการโพสต์รูปภาพและข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก โดยลักษณะความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) จะต้องเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ดังนั้นองค์ประกอบภายนอกที่โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จอย่างไร แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าเป็นข้อความอันเป็นเท็จ การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2)
เมื่อพยานที่โจทก์นำเข้าสืบไม่เพียงพอฟังได้ว่าเป็นความผิด โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 1 ให้ศาลวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ไมพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีคดีลักษณะเดียวกัน คือกรณีแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” ที่ศาลจังหวัดลำปางเคยมีคำพิพากษายกฟ้องคดีในลักษณะนี้เช่นกัน แต่คดีนี้อัยการโจทก์ยังอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา
.