บันทึกสืบพยานคดี ม.112 วางป้ายผ้า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” ที่เชียงราย ก่อนฟังคำพิพากษา

ในวันที่ 28 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “แซน” สุปรียา ใจแก้ว อดีตนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย และทีมงานพรรคเพื่อไทย ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” บริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย อำเภอเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564

.

ตำรวจชุดจับกุมลงชื่อกว่า 52 นาย จำเลยโดยไม่เคยได้หมายเรียก ตำรวจอ้างจะไม่ปล่อยตัว ขอตรวจค้นห้องพัก ยึดโทรศัพท์ โดยไม่มีหมาย

สำหรับความเป็นมาในคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 16.10 น. สุปรียาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบบุกเข้าจับกุมตัวจากหอพักในจังหวัดเชียงราย ไปยัง สภ.เมืองเชียงราย โดยบันทึกจับกุมระบุชื่อชุดตำรวจที่เข้าทำการจับกุม ทั้งจากสภ.บ้านดู่, สภ.เมืองเชียงราย และตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย กว่า 52 นาย และระบุว่าการจับกุมอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 

ตำรวจมีการแสดงออกหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดเชียงราย โดยที่สุปรียาไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน สุปรียาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวน 

โดยที่ระหว่างการสอบปากคำ พนักงานสอบสวนยังได้ระบุว่าตำรวจได้ขอออกหมายค้นของศาลจังหวัดเชียงราย เพื่อตรวจค้นห้องพักของสุปรียา แต่ว่าหมายค้นดังกล่าวเลยกำหนดระยะเวลาที่สามารถเข้าตรวจค้นได้แล้ว แต่จะไปขอออกหมายค้นใหม่อีกครั้ง แต่หากสุปรียาต้องการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนในคืนที่ถูกจับกุมเลย จะต้องนำเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นห้องพัก ทำให้เธอตัดสินใจยินยอมพาตำรวจไปตรวจค้นห้อง (ต่อมาพนักงานสอบสวนรับในการเบิกความชั้นศาลว่า ทางตำรวจไม่เคยมีการขอออกหมายค้นมาก่อน) 

ต่อมา หลังการตรวจค้น ทางตำรวจยังขอยึดโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นของกลางทางคดีอีกด้วย แม้ไม่ได้มีคำสั่งศาลสำหรับยึดเครื่องมือสื่อสารโดยเฉพาะแต่อย่างใด โดยได้ลงในบันทึกการตรวจยึดไว้ว่าผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้ตรวจยึดและเข้าถึงข้อมูลภายในอุปกรณ์ จากนั้นจึงอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนโดยให้วางหลักทรัพย์ 150,000 บาท ในเวลาเที่ยงคืนเศษของวันที่ถูกจับกุม

หลังจากนั้น ตำรวจได้นัดหมายส่งสำนวนให้อัยการเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2564 คดีใช้เวลาพิจารณาในชั้นอัยการกว่า 1 ปี โดยอัยการกำหนดให้ผู้ต้องหาไปรายงานตัวทุกเดือน กระทั่งมีคำสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565

การฟ้องของอัยการได้แยกเป็น 2 กระทง คือ การกระทำที่เกี่ยวกับการวางป้ายผ้าดังกล่าวใกล้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย ฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการโพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ “Free Youth CEI-เชียงรายปลดแอก” โดยนำภาพถ่ายป้ายข้อความดังกล่าวมาโพสต์ประกอบคำว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชนเชียงราย ส่งเข้าประกวดค่ะ” โดยกล่าวหาว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2)

.

ภาพจากเพจ “Free Youth CEI”

.

จำเลยต่อสู้ พยานหลักฐานโจทก์ระบุไม่ได้ว่าใครเป็นผู้แขวนป้าย ข้อความไม่เข้าข่าย ม.112

คดีนี้ ศาลจังหวัดเชียงรายนัดสืบพยานในวันที่ 4-6 ก.ค. 2566 และ 26-27 ต.ค. 2566

ก่อนการสืบพยาน อัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่า เนื่องจากเพิ่งเข้ามารับผิดชอบในคดีนี้ จึงขอยื่นบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 8 ปาก จากเดิมที่อัยการคนก่อนได้ยื่นบัญชีพยานไว้จำนวน 6 ปาก รวมเป็น 14 ปาก แม้ศาลจะพยายามพูดคุยให้ฝ่ายจำเลยรับปากคำพยานบางปาก โดยไม่ต้องนำมาสืบ แต่ฝ่ายจำเลยยืนยันปฏิเสธ

ระหว่างสืบพยานในช่วงสุดท้าย ศาลได้เร่งให้การสืบพยานเสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยฝ่ายอัยการไม่สามารถติดตามพยานโจทก์มาตามกำหนดนัดได้ 2 ปาก ทำให้ศาลสั่งตัดพยานออก โดยเห็นว่าเป็นเพียงพยานความคิดเห็น ได้แก่ เชิดชาติ หิรัญโร อาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ กิตติพงษ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ซึ่งปากหลังนี้ เป็นนักวิชาการที่มาเป็นพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112 ในหลายสิบคดี

นอกจากนั้น ในวันสุดท้าย ศาลยังให้สืบพยานจำเลยถึงเวลาประมาณ 19.30 น. จนเสร็จสิ้น ก่อนกำหนดนัดฟังคำพิพากษา โดยต้องส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจก่อน

คดีนี้จำเลยต่อสู้ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้วางป้ายข้อความตามฟ้อง ขณะเดียวกัน ยังต่อสู้ว่าข้อความในป้าย ไม่ได้เข้าข้ายความผิดตามมาตรา 112 แต่อย่างใด โดยข้อความไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าหมายถึง “สถาบันฯ” ใด 

แม้จะมีผู้ตีความไปว่าข้อความสื่อถึงว่า “งบประมาณสถาบันกษัตริย์มากกว่างบประมาณเยียวยาประชาชน” ก็ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ เพราะข้อความไม่ได้หมายถึงบุคคลใด  “สถาบัน” มีองค์ประกอบที่กว้างกว่าตัวบุคคล และข้อความไม่ได้มีถ้อยความเป็นการบ่งบอกว่าดีหรือไม่ดี ทั้งหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานต่าง ๆ เป็นของรัฐบาล ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ โดยพยานความคิดเห็นของฝ่ายโจทก์เองจำนวน 2 ปาก ทั้งด้านกฎหมายและภาษาไทย ก็เห็นว่าข้อความไม่ได้เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 แม้จะติดอยู่ใกล้พระบรมฉายาลักษณ์ก็ตาม

สำหรับการพิจารณาคดี พบว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลอยู่ร่วมในห้องพิจารณาตลอดการสืบพยาน นอกจากนั้นยังมี Court Martial แวะเวียนมาสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาเกือบตลอดด้วย

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีคดีลักษณะเดียวกัน คือกรณีแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” ที่ศาลจังหวัดลำปางเคยมีคำพิพากษายกฟ้องคดี โดยศาลเห็นว่าข้อความในป้าย ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์หรือพระราชินีโดยเฉพาะ จึงไม่ใช่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ตามมาตรา 112 แต่คดีนี้อัยการโจทก์ยังอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา

.

สืบพยานโจทก์ วันที่ 4 ก.ค. 2566

พยานโจทก์ปากที่ 1 ผู้ดูแลที่พัก

อัจฉรา กันจินะ ผู้ดูแลหอพักที่จำเลยเคยพัก เบิกความโดยสรุปว่า พยานเป็นลูกจ้างของบริษัทดูแลจัดการที่พักที่จำเลยในคดีนี้เคยพัก โดยรู้จักกับจำเลยมาในช่วงปี 2563 ที่จำเลยต้องมาจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ แต่ไม่ได้สนิทสนม และไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง

พยานเบิกความว่าสุปรียาเป็นผู้ใช้รถยนต์ที่มีแผ่นป้ายทะเบียนตรงกับรถยนต์ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้เป็นยานพาหนะในคดีนี้ แต่เมื่ออัยการนำภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดจากสถานที่เกิดเหตุมาให้ดู พยานยืนยันได้เพียงว่าเป็นรถเก๋งสีเทาเหมือนกันเท่านั้น แต่ไม่สามารถระบุได้ว่ามีแผ่นป้ายเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากภาพถ่ายดังกล่าวเป็นเวลากลางคืนแสงสว่างไม่เพียงพอ 

เมื่ออัยการนำภาพผู้ก่อเหตุให้พยานดู พยานไม่สามารถยืนยันได้ว่าบุคคลในภาพคือสุปรียา เนื่องจากบุคคลดังกล่าวสวมเสื้อกันหนาว และสวมใส่หน้ากากอนามัย โดยในช่วงเกิดเหตุเป็นฤดูหนาว และยังมีสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนทั่วไปก็จะสวมใส่เสื้อแขนยาว และหน้ากากอนามัยเป็นปกติวิสัย

.

.

พยานโจทก์ปากที่ 2 ตำรวจหญิงผู้ร่วมจับกุม-ค้นห้องพัก

ร.ต.อ.หญิง วัลลภา มูลเมือง พนักงานสอบสวนหญิงที่เข้าร่วมในการตรวจค้นจับกุมสุปรียา เบิกความโดยสรุปว่า ช่วงเวลาที่มีการจับกุมและตรวจค้นห้องพัก พยานดำรงตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย 

พยานอ้างว่า ในวันที่ 25 ก.พ. 2564 สุปรียาประสงค์ให้ไปตรวจค้นห้องพักในเวลาประมาณ 21.00 น. ซึ่งเป็นเวลากลางคืน และตำรวจได้ตรวจยึดของกลาง ได้แก่ เสื้อกันหนาวสีดำ รองเท้าผ้าใบ และ หน้ากากอนามัยสีดำสกรีนตัวอักษร “ผนงรจตกม” จากห้องพัก นอกจากนั้นยังยึดโทรศัพท์มือถือซึ่งสุปรียานำติดตัวมาด้วย โดยในการตรวจค้นห้องพักมี พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในคดีเข้าร่วมด้วย

พยานระบุว่า สิ่งของที่ตรวจยึดนั้น เมื่อนำไปเทียบกับภาพถ่ายผู้ก่อเหตุจากกล้องวงจรปิด เห็นว่ามีลักษณะตรงกัน แต่พยานรับว่า หลังการจับกุม ตำรวจไม่ได้มีการเข้าไปค้นห้องพักในทันที แต่กลับนำตัวสุปรียามาควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองเชียงราย ก่อน แล้วจึงไปตรวจค้น โดยพยานก็ไม่ทราบว่าการค้นดังกล่าวมีหมายค้นหรือไม่ แต่เข้าใจว่าสามารถเข้าไปตรวจค้นในยามวิกาลได้ เนื่องจากผู้ต้องหายินยอม 

นอกจากนั้นในการตรวจค้นก็ไม่พบป้ายผ้า เศษผ้า แปรงทาสี หรือร่องรอยการเขียนป้าย รวมทั้งที่เสื้อผ้า รองเท้า หน้ากากอนามัย ก็ไม่ได้มีร่องรอยเปื้อนสีแต่อย่างใด

.

พยานโจทก์ปากที่ 3 ตำรวจฝ่ายสืบสวน ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

ร.ต.อ.ศุภากร ภัทรสุขเกษม เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน เป็นผู้ร่วมจับกุมและรวบรวมพยานหลักฐานในคดี เบิกความโดยสรุปว่า พยานดำรงตำแหน่งเป็นรองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงราย ในปี 2563-66

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 เวลาประมาณ 06.00 น. พยานได้รับแจ้งว่ามีผู้นำป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” มาวางไว้บริเวณพุ่มไม้ ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย พยานได้ไปถ่ายภาพและตรวจยึดไว้ โดยเห็นว่าข้อความดังกล่าวมีลักษณะ “หมิ่นเหม่” จะเป็นความผิดตามมาตรา 112 จึงได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาและได้รับคำสั่งให้ดำเนินการสืบสวนต่อไป

พยานระบุว่า ป้ายผ้าดังกล่าววางไว้ในลักษณะพาดบนพุ่มไม้ ไม่มีเชือกมัด ห่างจากพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ประมาณ 1 ศอก และบริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งรายตามปกติมีรถสัญจรไปมาคับคั่ง แต่ในวันที่ 4 ม.ค. 2564 เวลา 06.00 น. นั้นการจราจรเบาบาง และไม่มีรถคันใดสนใจจอดดูป้ายดังกล่าว

พยานได้ทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิดของร้านค้าในบริเวณดังกล่าว พบว่าในช่วงเช้ามืด มีรถยนต์สีเทา ซึ่งมีสติ้กเกอร์สีเหลืองติดอยู่ที่กระจกหลัง ไม่เห็นแผ่นป้ายทะเบียน ขับมาจอดในซอยเล็ก ๆ ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 200 เมตร จากนั้นมีบุคคล 3 คน ซึ่งดูจากรูปร่างน่าจะเป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน นำป้ายผ้าดังกล่าวมาวางไว้ จากนั้นกลับไปที่รถและขับไป

แต่พยานรับว่า ไม่ได้ขอไฟล์วิดีโอจากกล้องวงจรปิดไว้ และไม่ได้สอบปากคำเจ้าของร้านค้าด้วย และไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิดใดเลยที่มีภาพจำเลย หรือภาพแผ่นป้ายทะเบียนรถอย่างชัดเจน

ร.ต.อ.ศุภากร ยังเบิกความด้วยว่าในตอนแรก มีแหล่งข่าวซึ่งเป็นสื่อมวลชนในจังหวัดเชียงรายได้ส่งภาพถ่ายป้ายดังกล่าวมาให้ แต่พยานรับว่าไม่ได้เรียกสื่อมวลชนดังกล่าวมาสอบปากคำ เนื่องจากเป็นสายลับ และไม่สามารถติดต่อได้

พยานยังเบิกความว่า เพจเฟซบุ๊ก “Free Youth CEI-เชียงรายปลดแอก” เป็นกลุ่มกิจรรมที่สุปรียาเคยร่วมกิจกรรมด้วย ก็มีการโพสต์ภาพถ่ายป้ายดังกล่าว แต่เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่าไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของเพจ แต่ได้รับมอบหมายให้ติดตามเพจดังกล่าวเป็นระยะ ก่อนหน้านี้ ไม่เคยดำเนินคดีกับเพจฯ ดังกล่าว เนื่องจากไม่เข้าข่ายความผิดใด

พยานได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วขอออกหมายจับจากศาลจังหวัดเชียงราย หมายจับดังกล่าวออกในวันที่ 20 ก.พ. 2564 และดำเนินการจับกุมในวันที่ 25 ก.พ. 2564 ในช่วงเย็น ก่อนนำตัวสุปรียาไปที่ สภ.เมืองเชียงราย จากนั้นเวลาประมาณ 20.00 น. ตำรวจนำตัวไปค้นห้องพักและตรวจยึดสิ่งของ

พยานยืนยันว่ารถยนต์ที่สุปรียาใช้เป็นคันเดียวกันกับรถที่ใช้ก่อเหตุจากภาพในกล้องวงจรปิด เนื่องจากมีสติ้กเกอร์สีเหลืองที่มีข้อความเดียวกันติดอยู่คล้ายกัน แม้จะไม่เห็นแผ่นป้ายทะเบียนชัดเจนก็ตาม เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่าไม่ได้ยึดรถคันดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐาน เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเป็นรถคันเดียวกันหรือไม่

หลังการสืบสวน ร.ต.อ.ศุภากร รวบรวมพยานหลักฐานและส่งสำนวนให้คณะกรรมการคดีความมั่นคง ตำรวจภูรธรภาค 5 คณะกรรมการมีความเห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 112 พยานจึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษตามคำสั่งของคณะกรรมการ โดยการตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีใดหรือไม่ พยานไม่มีอำนาจตัดสินใจ ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา

พยานเบิกความถึงข้อความในป้าย เข้าใจว่าเป็นการสื่อว่า “พระมหากษัตริย์ใช้เงินเกินตัวในสถานการณ์การเกิดโรคระบาดโควิด” แต่เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ตัวพยานเองเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความผิด หากป้ายผ้าดังกล่าวไม่ได้ติดที่จุดเกิดเหตุดังกล่าว พยานจะไม่ดำเนินคดี

ร.ต.อ.ศุภากร ยังระบุว่า ในวันที่ 4 ม.ค. 2564 นั้น ยังมีการติดป้ายผ้าที่มีข้อความในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก 2 แห่ง ในเขตอำนาจสอบสวน สภ.บ้านดู่ จ.เชียงราย แต่ไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดี

.

พนายโจทก์ปากที่ 4 ตำรวจฝ่ายสืบสวน

ด.ต.สินชัย ศรีมณเทียร เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สภ.เมืองเชียงราย เบิกความโดยสรุปว่า ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้รวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ โดยมี ร.ต.อ.ศุภากร เป็นหัวหน้าชุดสืบสวน 

พยานได้ทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิดจากร้านค้าบริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย และพบว่า วันที่ 4 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 03.00 น. มีรถยนต์มาจอดในซอยหน้าร้านค้า ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 500 เมตร มีชาย 1 คน หญิง 1 คน ออกมาจากรถ จากนั้นไปพักที่ศาลาริมทาง ก่อนจะนำป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” มาติดไว้ที่จุดเกิดเหตุแล้วถ่ายรูป จากนั้นเดินกลับไปที่รถโดยใช้เส้นทางอีกทาง ในลักษณะเป็นวงกลม แล้วขับรถออกไป

จากนั้นผู้ก่อเหตุนำป้ายไปแขวนที่บริเวณหน้าสนามบินจังหวัดเชียงราย และบริเวณสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามเมื่อทนายจำเลยถามค้าน พยานกลับเบิกความว่า ไม่ได้ทำการบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดในขณะที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวกำลังวางป้ายผ้าและถ่ายภาพ แม้จะมีภาพเคลื่อนไหวในช่วงเวลาดังกล่าวก็ตาม และไฟล์ภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิด ก็เก็บไว้ที่ สภ.เมืองเชียงราย ไม่ได้นำส่งให้อัยการด้วย

นอกจากนั้นเพจเฟซบุ๊ก “Free Youth CEI” ที่โพสต์ภาพถ่ายป้ายผ้าดังกล่าว พยานเชื่อว่าเป็นของจำเลยในคดีนี้ เนื่องจากสุปรียาเคยปรากฏตัวในการไลฟ์สดของเพจเป็นประจำ เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พยานให้การว่าไม่มีพยานหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว

พยานยังเป็นผู้ตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยใช้งาน แล้วพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของญาติจำเลย และรถยนต์คันดังกล่าวมีสติ้กเกอร์สีเหลืองติดที่กระจกหลังรถยนต์ในลักษณะเดียวกับรถยนต์ที่ปรากฏในภาพจากกล้องวงจรปิด เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่าหมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่นำไปตรวจสอบนั้น ไม่ได้นำมาจากภาพที่ปรากฏในกล้องวงจรปิด แต่ไม่ได้ระบุว่านำมาจากที่ใด

หลังรวบรวมพยานหลักฐาน ได้จัดทำรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชา และพยานยังเข้าร่วมในการจับกุมในวันที่ 25 ก.พ. 2564 แต่ไม่ได้ร่วมตรวจยึดของกลางในห้องพักของจำเลยด้วย

พยานให้ความเห็นต่อข้อความว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 มีงบประมาณมากกว่างบเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยพยานเองก็ไม่ทราบว่างบประมาณใดมากหรือน้อยกว่ากัน แต่ข้อความดังกล่าวน่าจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่างบสถาบันกษัตริย์มีมากเกินไป

.

.

สืบพยานโจทก์ วันที่ 5 ก.ค. 2566

พยานโจทก์ปากที่ 5 ตำรวจสันติบาล

ร.ต.อ.ณพ วงศ์ชัย เป็นตำรวจสันติบาล ทำหน้าที่ด้านการข่าว เบิกความโดยสรุปว่า ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรกองบังคับการ 3 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล แต่มาปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดเชียงราย ทำหน้าที่สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับพรรคการเมือง และกลุ่มเห็นต่างทางการเมือง 

พยานเป็นผู้จัดทำรายงานเกี่ยวกับประวัติการมีส่วนร่วมในการชุมนุมทางการเมืองของสุปรียา โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า สุปรียาเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “Anti Dictatorship-CEI” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “Free Youth CEI” ทั้งยังเป็นผู้ถอดเทปคำปราศรัยของสุปรียาในการชุมนุมที่สวนตุง ในช่วงปี 2563 ที่ถูกนำมาเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้อีกด้วย

พยานเบิกความว่าป้ายข้อความว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” นั้นหมายความว่า งบของรัฐบาลที่จัดสรรให้สถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่างบเยียวยาประชาชนในช่วงโควิด แต่เห็นว่าการนำป้ายผ้าดังกล่าวมาติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ ทำให้ “งบสถาบันฯ” ย่อมหมายถึงรัชกาลที่ 10 โดยตรง เนื่องจากสามารถนำไปติดที่อื่นได้ แต่กลับนำไปติดบริเวณดังกล่าว การนำป้ายผ้ามาติดบริเวณดังกล่าว คิดว่าเนื่องจากต้องการให้ประชาชนเห็นเป็นจำนวนมาก

เมื่อทนายจำเลยถามค้าน ในเรื่องที่เห็นว่าสุปรียาเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊กนั้น พยานรับว่าไม่เคยตรวจสอบไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เพียงแต่ได้รับรายงานมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น

พยานไม่ทราบว่าคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมคดีอื่นของจำเลย ศาลชั้นต้นมีพิพากษายกฟ้องไปแล้ว แต่ทราบว่ารัฐธรรมนูญรับรองสิทธิในการเข้าร่วมการชุมนุม และสุปรียามีสิทธิเข้าร่วมการชุมนุมได้

ในการถอดเทปการปราศรัยของจำเลยระหว่างการชุมนุมที่สวนตุง จ.เชียงราย ซึ่งพยานเป็นผู้ถอดเทปนั้น ไม่มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์เลย

ส่วนในประเด็นลักษณะการติดป้ายผ้าใต้พระบรมฉายาลักษณ์มีลักษณะใดนั้น พยานไม่ทราบ เนื่องจากเมื่อพยานไปถึงจุดเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เก็บป้ายผ้าไปแล้ว

.

พยานโจทก์ปากที่ 6 ทนายความให้ความคิดเห็น

อภิชัย พรหมมินทร์ ประกอบอาชีพทนายความ เบิกความโดยสรุปว่า พนักงานสอบสวนได้เรียกพยานเข้าพบเพื่อให้ความเห็นในฐานะนักกฎหมาย เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

พนักงานสอบสวนให้พยานดูรูปถ่ายป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” พยานเห็นว่าคำว่า “สถาบันฯ” นั้นเข้าใจว่าหมายถึงสถาบันสูงสุด จะหมายถึงตัวกษัตริย์หรือไม่ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ ส่วนคำว่า “งบเยียวยาประชาชน” นั้นหมายถึงงบที่รัฐบาลจัดสรรเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เมื่อนำป้ายผ้าไปวางใต้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ทำให้พยานเห็นว่าสื่อได้ว่า งบที่รัฐบาลใช้เยียวยาประชาชนน้อยกว่างบที่จัดสรรให้ใช้ส่วนพระองค์ ป้ายผ้าจึงหมายถึงการกล่าวถึงตัวบุคคล

พยานเบิกความว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ระบุว่ากษัตริย์ล่วงละเมิดมิได้ น่าจะหมายความรวมถึงการตำหนิติเตียนไม่ได้ด้วย

เมื่อทนายจำเลยถามค้าน อภิชัยเบิกความว่าไม่ได้เป็นเจ้าของสำนักงานทนายความ เป็นเพียงทนายประจำสำนักงาน ส่วนที่พยานให้การว่าคำว่า “สถาบันฯ” หมายถึง “สถาบันกษัตริย์” เนื่องจากไม่ได้ดูความหมายตามพจนานุกรม ซึ่งหมายถึง “สถาบันที่สังคมสร้างขึ้น”

พยานไม่ทราบว่าคำว่า “งบ” หมายถึง “งบประมาณแผ่นดิน” หรือไม่ ไม่ทราบว่ามีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ในช่วงดังกล่าวหรือไม่ และไม่ทราบว่างบของสถาบันกษัตริย์ คือการจัดสรรให้หน่วยงาน ไม่ใช่งบที่จัดสรรให้ส่วนพระองค์ รวมทั้ง พยานยังไม่ทราบว่าหลักการ The King can do no wrong คืออะไร

อภิชัยไม่เคยว่าความในคดีตามมาตรา 112 แต่เคยให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนในหลายคดี และเคยเป็นพยานในคดี 112 อีก 1 คดีด้วย แต่ไม่สามารถให้ความเห็นว่าป้ายผ้าในคดีนี้เป็นความผิดหรือไม่ ต้องให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัย

.

สืบพยานโจทก์ วันที่ 6 ก.ค. 2566

พยานโจทก์ปากที่ 7 อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ราชภัฏเชียงราย

ผศ.สุรชัย อุฬารวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เบิกความว่าพนักงานสอบสวนได้มาพบพยานที่มหาวิทยาลัย และให้ดูภาพถ่ายป้ายผ้าในคดีนี้ 

พยานให้ความเห็นว่าข้อความดังกล่าวหมายถึง งบประมาณที่สถาบันนิติบัญญัติจัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ มากกว่างบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้เยียวยาภัยพิบัติโรคโควิด-19 เนื่องจากในช่วงปี 2564 มีข่าวการประท้วงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ นอกจากนั้นการนำป้ายผ้าดังกล่าวไปติดใต้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ก็ยิ่งทำให้คนทั่วไปเห็นว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์ และทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์ได้รับงบประมาณมากกว่างบเยียวยาประชาชน นอกจากนั้นบริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งรายมีประชาชนสัญจรผ่านไปผ่านมาเป็นจำนวนมาก ประชาชนย่อมเห็นป้ายดังกล่าวได้

เมื่อทนายจำเลยถามค้าน สุรชัยรับว่าเป็นอาจารย์สอนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะเดินทางมาพบ ก็ไม่ทราบมาก่อนว่าต้องให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ

พยานไม่เคยค้นคว้าความหมายในทางภาษาศาสตร์ของคำว่า “สถาบัน” มาก่อน ในความหมายถึงสถานบันทางสังคม ไม่ใช่ตัวบุคคล

พยานรับว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมีการถกเถียงกันในสังคมอย่างปกติเรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ และพยานทราบว่าสำนักข่าวประชาไทเคยทำข่าวเกี่ยวกับงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ด้วย โดยพยานทราบว่า งบประมาณเหล่านี้เป็นงบประมาณที่หน่วยงานต่าง ๆ ขอในการจัดสรร ไม่ใช่งบประมาณที่พระมหากษัตริย์ขอส่วนพระองค์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ The King can do no wrong 

ป้ายผ้าดังกล่าวเมื่อนำไปติดใต้พระบรมฉายาลักษณ์ พยานจึงเห็นว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์ และหากนำไปติดสถานที่อื่นย่อมไม่เป็นความผิด นอกจากนั้น พยานรับว่าการวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ ก็เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สืบพยานโจทก์ วันที่ 26 ต.ค. 2566

พยานโจทก์ปากที่ 8 อาจารย์นิติศาสตร์ ม.แม่ฟ้าหลวง

สุชิน กฤตลักษณ์วงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เบิกความว่า ในเวลาที่พยานให้การกับพนักงานสอบสวน ยังดำรงตำแหน่งเป็นรองคณบดี โดยทางตำรวจมีหนังสือไปยังมหาวิทยาลัย ว่าจะมาขอพบเพื่อขอความเห็น และคณบดีในเวลานั้นได้มอบหมายให้พยานไป พยานจึงเดินทางไปที่ สภ.เมืองเชียงราย เนื่องจากสะดวกกว่า

พนักงานสอบสวนให้ดูรูปภาพป้ายผ้าข้อความในคดีนี้ สุชินให้ความเห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวในสังคมมีการถกเถียงในประเด็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณของสำนักงานทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ คำว่า “งบสถาบันฯ” จึงมีความหมายว่า “งบประมาณของสำนักงานทรัพยสินส่วนกษัตริย์” ส่วนคำว่า “งบเยียวยาประชาชน” คือ “งบประมาณในการเยียวยาสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19” 

ป้ายผ้าดังกล่าวจึงหมายถึง “งบประมาณของสำนักทรัพย์สินส่วนกษัตริย์มากกว่างบประมาณในการเยียวยาประชาชน” แม้ว่าจะนำป้ายไปติดไว้ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ ก็ไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป

ในกรณีนี้ไม่เป็นความผิดเนื่องจากต้องพิจารณา 2 ประเด็น ได้แก่

  1. ไม่มีการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย
  2. คำว่า “งบสถาบันฯ” หมายความถึงงบประมาณของสำนักทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ ไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์

พยานเห็นว่า แม้ว่าจะสามารถระบุตัวบุคคลได้ ก็ไม่เป็นความผิด เนื่องจากการกระทำไม่เป็นความผิด พยานเห็นว่า นอกจากนั้นการตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด ดังนั้นพยานจึงตีความเฉพาะข้อความในแผ่นป้าย ไม่นำบริบทสถานที่ที่ติดป้ายผ้ามาตีความประกอบ

แม้ว่าผู้นำป้ายผ้าไปติดที่ห้าแยกพ่อขุนเม็งราย เนื่องจากต้องการให้ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาเห็น แต่พยานไม่อาจให้ความเห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ ปัจเจกบุคคลย่อมมีความเห็นแตกต่างกันไป พยานรับว่าในภาพถ่าย ป้ายผ้าไม่ได้วางไว้ชิดติดกับพระบรมฉายาลักษณ์ แต่วางบนแปลงดอกไม้ข้างทางเท้า

สุชิน เบิกความว่าการจัดสรรงบประมาณเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ องค์พระมหากษัตริย์ไม่สามารถของบประมาณเองได้ ดังนั้นป้ายผ้าดังกล่าวย่อมหมายความถึงการเปรียบเทียบว่าหน่วยงานได้มากกว่าหรือน้อยกว่า ซึ่งไม่ได้มีความหมายว่าดีหรือไม่ดี

พยานเบิกความรับว่า อำนาจในการจัดสรรงบประมาณเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลได้

.

พยานโจทก์ปากที่ 9 นายทหารการข่าว มทบ.37

พ.อ.อิสระ เมาะราษี ปัจจุบันพยานเป็นข้าราชการบำนาญ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าการข่าวของมณฑลทหารบกที่ 37 มีหน้าที่หาข่าวเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

ช่วงเช้าวันที่ 4 ม.ค. 2564 พยานได้รับแจ้งจากหน่วยงานข่าวของตำรวจ ว่ามีป้ายข้อความมาติดที่ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย ป้ายดังกล่าวมีข้อความว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” พยานไปยังสถานที่เกิดเหตุ และสั่งให้ตำรวจนำป้ายดังกล่าวออก

พยานเห็นว่าคำว่า “งบ” หมายถึง “งบประมาณ” คำว่า “สถาบัน” หมายถึงตัวองค์กษัตริย์ เพราะไปติดใต้พระบรมฉายาลักษณ์ “งบเยียวยาประชาชน” หมายถึงงบประมาณของรัฐบาลที่เอามาเยียวยาประชาชนในภาวะฉุกเฉิน และในช่วงเวลานั้นมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข้อความดังกล่าวน่าจะหมายถึงงบประมาณในการเยียวยาโควิด-19

พยานเห็นว่าบริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งรายมีประชาชนสัญจรผ่านไปมามาก และป้ายผ้าดังกล่าวมีขนาดใหญ่มากพอให้สามารถเห็นได้ชัดเจน พยานให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนว่าป้ายผ้าดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 112

เมื่อพยานได้ดูภาพถ่ายผู้ก่อเหตุจากกล้องวงจรปิด เบิกความว่า “คลับคล้ายคลับคลา” ว่าคือสุปรียาโดยดูจากรูปร่าง เนื่องจากพยานเคยติดตามในฐานะหัวหน้าข่าว ซึ่งสุปรียาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประชาธิปไตย และเรื่องสถาบันกษัตริย์

พ.อ.อิสระ เบิกความว่าสุปรียาเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2562 โดยต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แต่ไม่ทราบว่านอกจากคดีนี้แล้ว สุปรียายังถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมอื่น ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว

ขณะเกิดเหตุ พยานซึ่งทำงานด้านการข่าวได้รับรู้ข่าวสารบ้านเมือง และทราบว่ามีการจัดสรรงบประมาณประจำปีในสภาผู้แทนราษฏรซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ จะได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล แต่พยานไม่ทราบว่างบสถาบันฯ หมายถึงงบประมาณของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และไม่ทราบว่างบประมาณของสำนักทรัพย์สินฯ จะถูกจัดสรรให้พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์หรือไม่อย่างไร

ส่วนที่พยานอ้างว่าติดตามจำเลยในหน้าที่ ก็ไม่ได้มอบพยานหลักฐานใดให้พนักงานสอบสวน เพียงแต่เล่าให้ฟังเท่านั้น

พ.อ.อิสระ เบิกความว่า ในการรับราชการทหารได้ปฏิญาณตนที่จะปกป้องสถาบันกษัตริย์ และหลังจากที่พยานได้เห็นป้ายผ้าดังกล่าวแล้ว ยังคงรักและเคารพสถาบันกษัตริย์ไม่เสื่อมคลาย

.

พยานโจทก์ปากที่ 10 นักวิชาการภาษาไทย

สุกัญญา ขลิบเงิน อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เกี่ยวกับคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้หนังสือไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อขอความเห็นทางวิชาการ โดยได้เดินทางมาพบพยานที่มหาวิทยาลัย

เมื่อพยานได้ดูป้ายข้อความในคดีนี้ ได้ให้ความเห็นว่า คำว่า “สถาบัน”, “งบเยียวยา” ไม่สื่อความหมายใด ๆ เป็นเพียงคำนามวลี จนกว่าจะนำไปใช้ประกอบกับคำอื่น เมื่อพิจารณาเฉพาะข้อความตามภาพถ่ายแล้วย่อมสามารถสื่อความหมายไปในทางใดได้ ต้องดูบริบทอื่นประกอบ

การดูบริบทประกอบก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละบุคคล การตีความอยู่ที่พื้นฐานความรู้ของแต่ละคน ในฐานะนักวิชาการ พยานจะไม่ชี้นำว่าข้อความดังกล่าวสื่อไปในทางใด ทางการเมือง ศาสนา หรือเศรษฐกิจ

คำว่า “สถาบัน” ต้องไปบวกกับคำอื่นจึงจะมีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น ตามพจนานุกรมคำว่า “สถาบัน” หมายถึงการจัดตั้งทางสังคม มีความหมายกว้างไม่ได้เฉพาะเจาะจง ต้องนำมาบวกกับคำนามจึงจะมีความหมาย

คำว่า “งบ” หมายถึง “เงิน” ในกรณีนี้จะหมายถึงงบอะไรก็ขึ้นอยู่กับพื้นประสบการณ์ของผู้รับสาร ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากคนที่ไม่ติดตามข่าวสารการเมืองเห็นข้อความดังกล่าวก็จะไม่สามารถตีความได้ว่าหมายถึงอะไร และข้อความดังกล่าวไม่สามารถสื่อถึงเกียรติยศชื่อเสียงได้

นอกจากนั้น พยานเบิกความว่าในการให้เห็นกับตำรวจ พนักงานสอบสวนได้ใช้คำถามนำว่าข้อความดังกล่าวเป็นความผิดหรือไม่ ทำให้พยานให้การว่าไม่เป็นความผิด เพราะไม่มีถ้อยคำหยาบคาย

.

พยานโจทก์ปากที่ 11 ข้าราชการบำนาญให้ความเห็น

ระพล สภารัตน์ ข้าราชการบำนาญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เบิกความว่าประมาณปี 2564 ขณะพยานไปติดต่อราชการที่ สภ.เมืองเชียงราย พนักงานสอบสวนได้ขอความเห็นในคดีนี้ 

พนักงานสอบสวนได้ถามพยานว่า “งบเยียวยา” หมายถึงอะไร พยานตอบว่าขึ้นอยู่กับบริบท เช่น งบเยียวยาโควิด-19 หรืองบเยียวยาภัยพิบัติ และถามว่า “สถาบัน” หมายถึงอะไร พยานตอบว่าหมายถึงสิ่งที่สังคมจัดตั้งขึ้น ส่วนจะหมายถึงสถาบันใดนั้นขึ้นอยู่กับคำต่อท้าย

จากนั้นพนักงานสอบสวนให้ดูภาพถ่ายป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” ที่ติดอยู่กับใต้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และถามนำว่าเหมาะสมหรือไม่ พยานจึงตอบว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากพระบรมฉายาลักษณ์เป็นสิ่งที่เคารพบูชา การนำป้ายผ้าดังกล่าวไปติดย่อมไม่เหมาะสม

พยานเห็นว่า เมื่อนำป้ายไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ย่อมหมายถึงงบสถาบันกษัตริย์ เมื่อเอาไปติดที่วัดย่อมทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึงงบเกี่ยวกับวัด ดังนั้นเมื่อนำป้ายผ้าไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ ย่อมทำให้ประชาชนธรรมดาเข้าใจผิดว่างบสถาบันกษัตริย์มากกว่างบเยียวยาประชาชน

พยานไม่ทราบว่างบสถาบันกษัตริย์มากกว่างบเยียวยาประชาชนจริงหรือไม่ และไม่ทราบว่าป้ายดังกล่าวถูกติดไว้บริเวณใด จนกระทั่งอัยการให้ดูรูปภาพ และชี้นำว่าอยู่บริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย

พยานรับว่าได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาตลอด และทราบว่าการจะจัดสรรงบประมาณให้แต่ละหน่วยงานต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของรัฐสภา

ในความเข้าใจของพยาน สถาบันกษัตริย์หมายถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ แต่เมื่อป้ายผ้าดังกล่าวอยู่ใต้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ย่อมหมายถึงรัชกาลที่ 10 ไม่ได้หมายถึงพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น

เมื่อทนายจำเลยถามค้านว่า พยานให้การกับพนักงานสอบสวนว่างบประมาณก้อนหนึ่งมากกว่าก้อนหนึ่งไม่ได้หมายความว่ามีผลดีหรือไม่ดีอย่างไร ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ และเมื่อพยานได้เห็นป้ายผ้าดังกล่าวแล้ว ก็ยังเคารพรักสถาบันกษัตริย์ไม่มีเสื่อมคลาย

.

.

สืบพยานโจทก์และจำเลย วันที่ 27 ต.ค. 2566

พยานโจทก์ปากที่ 12 พนักงานสอบสวน

ร.ต.อ.ศรีเดช สุวรรณ์ พนักงานสอบสวน เกี่ยวกับคดีนี้พยานได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการพิจารณาคดีความมั่นคงของตำรวจภูธรภาค 5 ให้เป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนร่วมกับ พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ และผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย

คณะกรรมการฯ มีคำสั่งให้ ร.ต.อ.ศุภากร ภัทรสุขเกษม มาร้องทุกข์กล่าวโทษ พยานได้สอบปากคำ ร.ต.อ.ศุภากร และ ด.ต.สินชัย ศรีมณเทียร เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน และเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนดังกล่าวได้ส่งมอบรายงานการสืบสวนให้กับพยาน

พยานและคณะพนักงานสอบสวน ได้สอบปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญและประชาชนทั่วไปเพิ่มเติมรวม 11 ปาก หลังรวบรวมพยานหลักฐาน ได้ขอออกหมายจับต่อศาลจังหวัดเชียงรายในวันที่ 19 ก.พ. 2564 และได้รับอนุมัติหมายจับในวันที่ 20 ก.พ. 2564 จากนั้นนำหมายจับดังกล่าวไปจับกุมตัวสุปรียาในวันที่ 25 ก.พ. 2564

เมื่อจับกุมจำเลยแล้ว ก็นำตัวมาควบคุมไว้ที่ สภ.เมืองเชียงราย ก่อนดำเนินการสอบสวนโดยมีทนายความ และผู้ไว้วางใจเข้าร่วม จากนั้น พยานอ้างว่าทางตำรวจจึงกลับไปตรวจค้นห้องพักของจำเลยในเวลากลางคืน เนื่องจากจำเลยอนุญาตให้ตรวจค้น โดยพยานรับว่า ไม่เคยขอออกหมายค้นและหลังการจับกุมก็ไม่ได้ขอออกหมายค้น 

พยานรับว่าระหว่างการควบคุมตัวสุปรียาที่ สภ.เมืองเชียงราย ก่อนไปค้นห้องพัก มีการสื่อสารกับจำเลยผ่านทางทนายว่าหากจำเลยไม่ยินยอมให้ค้นห้องพัก จะควบคุมตัวจำเลยไว้ก่อนเพื่อไปขอหมายค้นในภายหลัง

หลังจากค้นห้องพักได้ตรวจยึดเสื้อกันหนาวสีดำ รองเท้าผ้าใบ หน้ากากผ้าสีดำ และโทรศัพท์มือถือ แต่พยานไม่ทราบว่าสิ่งของที่ยึดมา จะเป็นชิ้นเดียวกันกับของคนร้ายหรือไม่ มีเพียงคำให้การของชุดสืบสวนเท่านั้นที่ยืนยันว่าเป็นเสื้อผ้าชุดเดียวกันกับที่ผู้ก่อเหตุ 

พยานส่งโทรศัพท์มือถือไปตรวจสอบการสื่อสารจากเครือข่ายโทรศัพท์ พบว่าในวันเกิดเหตุมีการใช้สัญญาณในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แต่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์ได้เนื่องจากจำเลยไม่ยินยอมให้เข้าถึงข้อมูล พยานทราบว่าสามารถขอคำสั่งศาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์มือถือได้ แต่พยานไม่เคยดำเนินการ

หลังจากค้นห้องพักสุปรียา ทางตำรวจได้ดำเนินการสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง สุปรียาได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกการสอบสวนครั้งแรก และในบันทึกตรวจยึด

นอกจากนั้นพยานยังส่งป้ายผ้าไปตรวจร่องรอย DNA ที่หลงเหลือ แต่ไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้ และตรวจสอบไปยังบริษัทเฟซบุ๊กและกระทรวงดิจิทัลฯ ว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊กที่โพสต์ภาพป้าย แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของ มีเพียงคำให้การจากชุดสืบสวนเท่านั้นที่ยืนยันว่าเพจดังกล่าวเป็นของสุปรียา อีกทั้ง พยานไม่สามารถยืนยันได้ว่ารถยนต์ที่สุปรียาใช้งานจะเป็นรถยนต์คันเดียวกันกับที่ใช้ก่อเหตุหรือไม่ 

นอกจากนั้นระหว่างการสืบพยาน อัยการได้นำภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นภาพรถยนต์ที่ใช้ในการก่อเหตุมาแสดงต่อศาล แต่ก็ไม่สามารถระบุหมายเลขแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ได้

จากหลักฐานที่พยานรวบรวม ร.ต.อ.ศรีเดช ระบุว่า สุปรียาเคยเคลื่อนไหว #ยกเลิก112 ซึ่งหมายถึงการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่การพูดถึงสถาบันกษัตริย์

นอกจากนั้นพยานยังได้สอบปากคำนักวิชาการด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ที่อยู่ไกลออกไป ทั้งที่ได้สอบปากคำนักวิชาการด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงรายไว้แล้วสองปากในคดีนี้

พยานไม่ทราบว่าคดีจากการชุมนุมอื่นของสุปรียา ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว

.

สืบพยานจำเลย

สุปรียา ใจแก้ว จำเลยอ้างตนเป็นพยาน เบิกความโดยสรุปว่า พยานทราบเรื่องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 16.00 น. ขณะกำลังจะออกจากที่พักไปทางอาหาร สุปรียาถูกแสดงหมายจับที่บริเวณลานจอดรถที่พัก เมื่อถูกจับก็ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ

ขณะถูกจับมีเจ้าหน้าที่มาประมาณ 52 คน และถูกนำตัวไปยัง สภ.เมืองเชียงราย ระหว่างนั้นสุปรียาไม่ได้ให้การใด ๆ จนกว่าจะมีทนายความ ทั้งก่อนที่ทนายความจะมาถึง พยานถูกให้พิมพ์ลายนิ้วมือและถูกเก็บตัวอย่าง DNA จากกระพุ้งแก้ม หลังจากนั้นจึงได้พบทนายความ และผู้ไว้วางใจ ในเวลาประมาณ 18.00 น.

ระหว่างถูกควบคุมตัวที่ สภ.เมืองเชียงราย สุปรียารู้สึกกังวลหวาดกลัวและแสดงอาการอารมณ์เสีย ทนายความจึงแยกสุปรียาออกมานั่งห่างจากตำรวจ การสอบสวนดังกล่าวจึงเป็นการสื่อสารผ่านทางทนายความ

สุปรียาสื่อสารว่าจะไม่ให้การใด ๆ และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสื่อสารผ่านทนายว่าต้องการจะไปค้นห้องพักของสุปรียา โดยอ้างว่ามีหมายค้น แต่เลยเวลาค้นไปแล้ว สุปรียาต้องลงลายมือชื่อยินยอมให้ไปค้นห้องพัก ไม่เช่นนั้นจะควบคุมตัวไว้ตั้งแต่วันพฤหัสบดี และจะไปออกหมายค้นในวันจันทร์ เนื่องจากติดวันหยุด สุปรียาจึงยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกให้ตรวจค้น

ขณะไปค้นเวลาประมาณ 21.00 น. มีเจ้าหน้าที่มากกว่า 10 นาย โดยมีทนายความ และผู้ไว้วางใจของพยาน เข้าร่วมด้วย ก่อนค้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งว่าจะค้นเพื่อพบอะไร เจ้าหน้าที่ได้แยกกันไปค้นโดยที่สุปรียาไม่ได้ไปด้วยทุกจุด ก่อนมีการตรวจยึดของกลางอ้างว่าเพื่อนำไปตรวจสอบ เธอไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบัญชีตรวจยึดของกลาง

หลังจากจากค้นห้องพัก สุปรียาถูกนำตัวมายัง สภ.เมืองเชียงราย พนักงานสอบสวนขอยึดโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ เมื่อสุปรียาปฏิเสธ พนักงานสอบสวนก็ข่มขู่ว่าจะควบคุมตัวไว้จนถึงวันจันทร์ เพื่อขอหมายศาล สุปรียาจึงยินยอมให้ตรวจยึด แต่ไม่ยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลในในโทรศัพท์

หลังจากยอมให้ค้นห้องและตรวจยึดสิ่งของ พนักงานสอบสวนจึงยอมให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน สุปรียาจึงได้รับการปล่อยตัวในคืนนั้น

ระหว่างถูกแสดงหมายจับ สุปรียาได้อัปเดตสถานการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังมีเพื่อนฝูงโทรศัพท์เข้ามาสอบถามเป็นระยะด้วย

เกี่ยวกับเพจเฟซบุ๊ก “Free Youth CEI” สุปรียาเบิกความว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของเพจ แต่รู้จักกับผู้ดูแลเพจ เนื่องจากพบกันตามสถานที่ชุมนุม นอกจากนั้นในคดีจากการชุมนุมคดีอื่น สุปรียาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเพจดังกล่าว ศาลได้มีคำพิพากษาความว่า “พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นผู้ดูแจเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว” การที่สุปรียาถูกสันนิษฐานเช่นนั้นเนื่องจากอยู่ในที่ชุมนุมและร่วมกิจกรรม จึงถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่สุดท้ายศาลก็พิพากษายกฟ้อง

ภาพถ่ายป้ายผ้าที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ก็มาจากการโพสต์เพจเฟซบุ๊กหลายเพจ และมีการแชร์ภาพดังกล่าวกันอย่างกว้างขวางในเวลานั้น

เมื่อสุปรียาได้อ่านข้อความในภาพแล้ว รู้สึกเฉย ๆ เนื่องจากช่วงเวลานั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์การจัดการวิกฤตโรคระบาดโควิดของรัฐบบาล และการจัดสรรงบประมาณอย่างไม่เป็นธรรมในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้นยังมีการดำเนินจากการแขวนป้ายผ้าวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ที่จังหวัดลำปาง โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว

หลังถูกดำเนินคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ไปคุกคามยายของเธอในจังหวัดเชียงรายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยายได้รับผลกระทบทางสุขภาพ ป่วยจนถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล ตัวพยานเองต้องย้ายไปอยู่กับแม่ที่กรุงเทพฯ และได้รับผลกระทบเช่นกัน

เมื่อย้ายที่อยู่ก็ต้องยุติการเรียนที่มหาวิทยาลัย จึงไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และไปสมัครงานที่พรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

ในการถามค้านของอัยการ สุปรียาให้การรับถึงบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวที่เธอใช้ มาตั้งแต่ปี 2553 แต่เพิ่งนำมาผูกบัญชีกับโทรศัพท์มือถือ และเธอได้ใช้บัญชีดังกล่าวไลฟ์สดเหตุการณ์ระหว่างถูกจับกุมเป็นระยะด้วย

.

X